Skip to main content
sharethis

นักวิชาการและสังคมไทยจะสร้างและจะมีเสรีภาพทางวิชาการได้จริงหรือ เมื่อเสรีภาพทางวิชาการต้องเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการและทุนเบ็ดเสร็จ รวมถึงบุคคลสาธารณะ กรณีล่าสุดของมรกต  เจวจินดา หนังสือวิชาการเรื่อง "ภาพลักษณ์ปรีดีฯ" กับการถูกฟ้องหมิ่นประมาทโดยอดีตอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง กำลังสั่นคลอนมายาคติของถ้อยคำ "เสรีภาพทางวิชาการ" ว่ามีในสังคมวิชาการเป็นอย่างยิ่ง  


เมื่อบ่ายวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 สองนักวิชาการร่วมเสวนาปัญหา "เสรีภาพในการทำงานวิชาการ" ในเวทีการอบรมการวิจัยที่จัดโดยศูนย์ส่งเสริมวิจัยและการผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก ณ ศูนย์สัมมนากิตติธเนศวร นครนายก


 


 


นักวิชาการจำกัดเสรีภาพของตนเอง?


 ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งประเด็นเชิงประสบการณ์ว่า ตนมีปัญหาเสรีภาพ หรือถูกจำกัดเสรีภาพหรือไม่ในการทำงานวิชาการที่ผ่านมา โดยตอบว่าตนเองไม่มีปัญหานี้ อาจเพราะว่าไม่มีหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานความมั่นคงใดอยากมายุ่งวุ่นวายด้วย แต่อีกปัจจัยหนึ่งก็อาจมาจากการเขียนงานของตนเองในแบบคลุมเครือ ตั้งใจเขียนไม่รู้เรื่อง หรือคนอ่านแล้วอ่านไม่รู้เรื่องก็ได้ แต่บางท่านอาจ "ข้ามเส้น" หรือเขียนในแบบ "ไม่เชื่อแล้วยังหลบหลู่" ดังปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ หากจะวิเคราะห์กันทางสังคมจริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร? หรือกรณีคนใส่เสื้อเหลือง หรือ "ไทยเหลือง"  หากวิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้วหมายความว่าอย่างไร? ถ้าวิเคราะห์ถ้านำเสนอแล้วจะทำได้แค่ไหน? ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการก็มีข้อจำกัดอยู่ในบ้านเมืองของเรา


ดร.ชาญวิทย์สรุปว่า ถ้าบ้านเมืองเราปิดกั้นสังคมปัญญา บ้านเมืองเราก็คงไม่พัฒนา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จำกัดตัวเอง ปิดตาตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ประวัติศาสตร์ของวงวิชาการในบ้านเรา ก็เพิ่งมีสิ่งที่เรียกว่านักวิชาการจริงๆ ก็เพิ่งทศวรรษ 1960 หรือ 2500 หรือ 40 กว่าปีมานี้  เพราะก่อนหน้านั้นเป็นเพียงผู้สอนในสถาบันฝึกงานให้ราชการไทย ซึ่งเท่ากับอายุของความเป็นนักวิชาการในบ้านเมืองเราก็ไม่มากเลย แต่นักวิชาการในปัจจุบันก็ได้รับเชิญเป็นพวกเนติบริกรรัฐศาสตร์บริการ เป็นใหญ่เป็นโต ดังนั้น นักวิชาการจึงอาจจำกัดเสรีภาพของตนเองก็ได้ จึงทำให้วิชาการเจริญงอกงามได้ไม่ง่ายนัก


 


 


อำนาจรัฐเผด็จการกับปัญหาเสรีภาพทางวิชาการ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักประวัติศาสตร์การเมืองไทย วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอและให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ของสังคมไทยไม่มีปัญหาเสรีภาพทางวิชาการ เพราะส่วนใหญ่สนับสนุนกรอบความรู้เดิมของสังคม แต่เมื่อนักวิชาการใดเริ่มวิพากษ์กรอบความรู้หรือวาทกรรมเดิมของสังคม ก็อาจจะต้องเริ่มเผชิญหน้ากับปัญหาเสรีภาพทางวิชาการ เช่น หากมีนักวิชาการวิพากษ์วาทกรรม "สมานฉันท์" ที่ทำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจนั้น ว่าเป็นวาทกรรมที่ทำให้ทหารเป็น "ตาอยู่" ทางการเมือง คว้าอำนาจคว้าพุงปลาไปได้ การวิพากษ์ในแบบนี้ก็อาจมีปัญหากับกลุ่มที่ครองอำนาจรัฐในปัจจุบัน และอาจนำมาซึ่งการเผชิญหน้ากับปัญหาเสรีภาพทางวิชาการด้วยเช่นกัน


ทำไมปัญหาเสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นประเด็นสำคัญในยุคสมัยปัจจุบัน? รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับร่างปี 2550 เขียนไว้ใน "มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ" โดยมาตรานี้ระบุว่า "การศึกษาอบรม การเรียนสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อสำคัญทางกฎหมายก็น่าเพราะว่า การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่ผ่านมา นักวิชาการได้ร่วมต่อสู้ด้วย และอีกสองกลุ่มที่ต่อสู้อย่างทรงพลังคือ หนังสือพิมพ์ และพลังประชาชน ดังนั้น อีกสองพลังนี้ก็จะได้รับเสรีภาพที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน


แต่มาตรา 42 เสรีภาพทางวิชาการนี้ เป็นปัญหาจากการเผชิญหน้าและต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ นั่นคือ อำนาจรัฐไม่สามารถมากำหนดทิศทางการทำงานวิชาการใดๆ หากแต่ยังไม่คุ้มครองในการเผชิญหน้ากับหมายศาลหมายตำรวจหรือหมายของสังคม-นักการเมือง (ดังเช่นในกรณีงานศึกษาเรื่องการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของอาจารย์สายพิน แก้วงามประเสริฐ) หมายความว่า ทุนที่ครอบงำอำนาจรัฐได้ใช้ช่องทางเรื่อง "ละเมิด" และ "หมิ่นประมาท" ฟ้องงานศึกษาทางวิชาการ ซึ่งนี้เป็นวัฒนธรรมใหม่ที่น่าจะกล่าวได้ว่าถูกสร้างขึ้นมาจากยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีที่อ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งใช้ฟ้องผู้คนและนักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก


 


 


กระบวนการยุติธรรมกับเสรีภาพทางวิชาการที่ยังไม่เป็นจริง?


กรณีบุคคลที่ฟ้องหมิ่นประมาทงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการล่าสุดคือ กรณีศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์  ชัยเสรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟ้องอาจารย์มรกต เจวจินดา อาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เรื่อง "ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2526" ที่ตีพิมพ์โดยหน่วยงานราชการในวาระ 100 ปีนายปรีดี พนมยงค์ และที่ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก กรณีผู้ฟ้องได้ไปฟ้องที่สถานีตำรวจ ไม่ได้ไปฟ้องที่ศาล ดังนั้น ในกระบวนการยุติธรรมของไทย ฝ่ายผู้ถูกฟ้องจะต้องทนทุกข์ทรมานมากในระยะเวลาของการรวบรวมข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ราว 6 เดือน หลังจากนั้นเรื่องก็ส่งไปยังอัยการอีกราว 2-6 เดือน กว่าจะจบกระบวนการตัดสินว่าจะฟ้องศาลหรือไม่  หากฟ้องศาลก็อยู่ในกระบวนการศาลอย่างน้อยๆ ก็น่าหนึ่งปี และกว่าจะจบสามศาลก็คงหลายปีทีเดียว


รวมๆ แล้ว การฟ้องโดยวิธีการนี้ กระบวนการยุติธรรมก็ "สั่นคลอน" ความสุขและการดำเนินชีวิตปกติของอาจารย์ผู้หญิงตัวเล็กๆ เช่นอาจารย์มรกตได้ร่วมถึง 6 เดือนถึงหนึ่งปีเป็นเบื้องต้น อาจารย์มรกตต้องวิ่งหาทนาย เพราะใครจะไปคิดว่า งานแบบนี้ของนักวิชาการจะถูกฟ้องได้ ฟ้องหลังการทำวิทยานิพนธ์แล้วเสร็จเกือบสิบปี หรือหลังตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแล้ว 6 ปี ทั้งอาจารย์มรกตต้องเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับทนาย 3 หมื่นบาท หากอัยการส่งฟ้องศาลก็คงมีค่าทนายร่วมหนึ่งแสนบาทหรืออาจมากกว่านั้น


คำถามก็คือ มาตรา 42 ในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพทางวิชาการจะมีประโยชน์อะไร หากกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจและอัยการ และศาลยังไม่เอื้อที่จะทำให้หลักการมาตราที่ 42 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือ ตามข้อความที่ระบุว่า "การเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง" เพราะตามกฎหมายหมิ่นประมาทก็ชัดเจนตามหลักการเรื่องเจตนา เรื่องเพื่อความชอบธรรม เรื่องติชมด้วยความเป็นธรรม ตามมาตรา 329 ของกฎหมายอาญา เมื่อพิจารณารวมกับที่มาของการศึกษาวิจัย ซึ่งในกรณีนี้คือวิทยานิพนธ์ปริญญาโท อันหมายถึงการวิจัย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามหลักการมาตรา 42 เสรีภาพทางวิชาการ


แม้ว่าจริงอยู่ที่งานศึกษาวิจัยย่อมต้องมีขอบเขตเสรีภาพที่จะไม่กระทบต่อชื่อเสียงและหมิ่นประมาทบุคคล ทว่าประเด็นที่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล ก็พึงสร้างหลักเกณฑ์หรือรับแนวความคิดทางสังคมการเมืองประชาธิปไตยด้วยเช่นกันว่า "บุคคลสาธารณะ" ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองและผู้อยู่ในระบบราชการ ผู้เป็นข้าราชการ ย่อมสามารถถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเรื่องราวนั้นมิได้วิพากษ์หรือตรวจสอบเขาในฐานะบุคคลธรรมดา แต่พวกเขาเป็นบุคคลสาธารณะ ถ้ากระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่มีเกณฑ์การพิจารณาเรื่องบุคคลสาธารณะนี้อย่างชัดเจนเพื่อยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมกดค้ำคอนักวิชาการ  กระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่เอื้อหรือยังไม่สนับสนุนการที่จะทำให้มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการก็ยังคงเป็นเพียงถ้อยคำที่สวยหรูอีกหนึ่งถ้อยคำที่อาจไร้สาระที่แท้จริง และนักวิชาการก็ต้องตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเผด็จการทั้งโดยรัฐและโดยบุคคลสาธารณะเช่นเดิม ระยะเวลาที่นักวิชาการต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมและปริมาณเงินทองที่อาชีพจนๆ แบบอาจารย์ต้องเผชิญก็เป็นอุปกรณ์อย่างดีที่บุคคลสาธารณะจะใช้ค้ำคอหลักการเสรีภาพทางวิชาการไว้ไม่ให้เป็นจริงขึ้นมาได้


 


 


วัฒนธรรมเสรีภาพทางวิชาการที่ยังไม่ถูกสร้าง?


            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ชี้ว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่อาจเป็นจริงขึ้นมาได้หากสังคมวิชาการยังไม่ร่วมมือกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวคือ ร่วมมือช่วยกันพิทักษ์และปกป้องนักวิชาการที่ถูกฟ้องในกระบวนการต่างๆ สมาคมวิชาชีพของศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้งทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ที่เป็นศาสตร์ที่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ กล่าวถึงศึกษาถึงบุคคลสาธารณะของสังคม รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ  หาก สมาคมวิชาชีพและสถาบันการศึกษาต่างๆ เหล่านี้ เพิกเฉย เมินเฉย นิ่งเฉย ยอมรับการกดค้ำคอโดยกระบวนการฟ้องร้องของบุคคลสาธารณะต่อนักวิชาการ ไม่ออกมาแสดงตนพิทักษ์ สนับสนุน ช่วยเหลือในทุกด้านทั้งกำลังเงิน ทนาย กำลังใจ  หากสภาพยังเป็นอย่างนี้ เราก็คงต้องเลิกพูดถึงความเป็นไปได้ของเสรีภาพทางวิชาการที่แท้จริง    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net