Skip to main content
sharethis

จรัญ โฆษณานันท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
29 พฤษภาคม 2550


 


30 พฤษภาคม 2550....ในที่สุด สังคมไทยก็ต้องเผชิญกับวันแห่งการพิพากษาคดีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการยุคพรรคการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดและอารมณ์ทางสังคมที่กระวนกระวายด้วยความวิตกต่อความรุนแรง หรือกระทั่งสภาพมิคสัญญีที่อาจเกิดขึ้น ทั้งที่หากใคร่ครวญโดยหลักธรรมและหลักการทางนิติศาสตร์แล้ว วันแห่งการพิพากษาคดีเช่นนี้เป็นเรื่องไม่พึงบังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่


ต้องยอมรับว่าการตัดสินคดียุบพรรคการเมืองห้าพรรค ภายใต้คำวินิจฉัยของ "คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ" มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนอย่างมากทั้งในแง่ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และการตัดสินต้องอาศัยระดับการรับรู้อย่างมากในปรัชญาทางกฎหมาย /ทัศนคติทางนิติศาสตร์หรือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์อันถูกต้อง รวมทั้งความเข้าใจสภาพปัญหาทางการเมืองอันซับซ้อนที่มีทั้งการเมืองระดับบนของชนชั้นนำ/อภิชน และการเมืองระดับล่างในหมู่นักการเมือง/ประชาชนทั่วไป


แม้กระนั้นประเด็นพิจารณาเบื้องต้นสุดน่าจะอยู่ที่ปัญหาสถานภาพ-ความชอบธรรมของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ สืบแต่การตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการตั้งองค์กรในลักษณะนี้ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน


ระบบศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พศ.2489 และสืบเนื่องเรื่อยมา แต่ในช่วงที่มีการทำปฏิวัติรัฐประหารนับจากปี พศ.2490 ,2502, 2519 หรือ 2534 ธรรมนูญการปกครอง/รัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารไม่เคยบัญญัติเรื่องศาล/ตุลาการรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลยุติธรรมจะเข้ามาแสดงบทบาทแทนศาลรัฐธรรมนูญในช่วงดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 21/2492 ,766/2505)


กำเนิดที่ไม่ปกติ ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ส่งผลสืบเนื่องต่อสถานะอันชอบธรรมของตัวองค์กร/การใช้อำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ในทางทฤษฏี กำเนิดที่มาขององค์กรที่เรียกว่าศาล/ตุลาการรัฐธรรมนูญผูกพันใกล้ชิดกับหลักคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยม(Constitutionalism) ที่ยืนยันความสำคัญสูงสุดของรัฐธรรมนูญที่ละเมิดมิได้ โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรค้ำประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกับที่หลักคิดรัฐธรรมนูญนิยมซึ่งเป็นต้นตอของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับอิทธิพลหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติที่ให้กำเนิดหลักความเป็นโมฆะของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแยกไม่ออกจากระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เมื่อพิจารณาจากกรอบทฤษฏีอันเป็นรากฐานของศาลรัฐธรรมนูญ


กำเนิดที่มาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ผูกติดกับอำนาจคณะรัฐประหารจึงส่งผลให้สถานภาพขององค์กรนี้มีปัญหาความชอบธรรมอย่างยิ่งภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยม ความพร่ามัวในสถานะของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังถูกสำทับด้วยภาวะหมิ่นเหม่ต่อการเป็นศาลพิเศษที่จงใจตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองเพียงคดีเดียว หาใช่ศาลรัฐธรรมนูญทั่วไปที่อาจรับพิจารณาคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญใดๆ อย่างน้อยก็ไม่สามารถพิจารณา/ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศ/คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองฯ ตามที่มีบทบัญญัติในมาตรา 36ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2549 ยืนยันความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้าแล้ว ใช่หรือไม่ ที่หลักความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมาย หรือหลักการไม่เลือกปฏิบัติซึ่งล้วนเป็นแก่นสำคัญของ "หลักนิติธรรม"-หลักสิทธิมนุษยชน ล้วนตกอยู่ในภาวะสั่นคลอนจากสภาพการณ์ดังกล่าว


ประเด็นการละเมิดหลักนิติธรรมที่น่าจะสร้างความกระอักกระอ่วนทางจิตสำนึกเชิงนิติศาสตร์ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญข้างต้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ กลับเสริมต่อด้วยประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 27 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องคำสั่งให้ยุบ มีกำหนด 5 ปี อันมีสภาพเป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีบทลงโทษย้อนหลังที่กระทบต่อสิทธิพื้นฐานอย่างยิ่งของความเป็นพลเมือง


เท่าที่ผ่านมาในวงการนิติศาสตร์ไทยต่างเชื่อมั่นในหลักการที่ห้ามการออกกฎหมายที่มีโทษย้อนหลัง ขณะเดียวกันก็มีการแยกออกเป็นสองขั้วความคิด ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าหลักการดังกล่าวใช้ได้เฉพาะกฎหมายที่มีโทษทางอาญา การตัดสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่โทษอาญาจึงสามารถย้อนหลังได้ แต่อีกฝ่ายกลับยืนยันว่าหลักการนี้มิได้จำกัดเพียงเฉพาะโทษทางอาญาเท่านั้น การตัดสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเสมือนพรากความเป็นพลเมืองจึงมิอาจกระทำได้


ในความเป็นจริงหลักการห้ามตรา/ใช้กฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นหลักการทางนิติศาสตร์ที่มีมานับพันปีตั้งแต่สมัยโรมัน และพัฒนาสืบเนื่องมาจนเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในหลักนิติธรรมสมัยใหม่ที่ใช้บังคับกับกฎหมายทุกๆเรื่อง (All law should be prospective) โดยยึดโยงกับความเชื่อมั่น-คุ้มครองความเป็นมนุษย์/ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่เชื่อว่าสามารถกำหนดเจตจำนง/วิถีชีวิตตนเองตามกรอบกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่ประกาศใช้เปิดเผยทั่วไปและรับทราบล่วงหน้าก่อนการกำหนดตัดสินการกระทำใดๆอย่างมีเสรีด้วยตัวเอง (Self-direction)


อย่างไรก็ตาม ความที่หลักดังกล่าวจัดเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม/ความเที่ยงธรรม การปรับใช้หลักการนี้จึงมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอยู่ในตัวโดยมีการแปลความในเรื่องข้อยกเว้นเข้ามาเกี่ยวข้อง


นักนิติศาสตร์แนวอนุรักษ์นิยมบางฝ่ายถึงขนาดยืนยันว่าหลักการนี้อาจมีข้อยกเว้นได้เสมอหากมีเหตุผลความจำเป็นโดยอาจย้อนหลังได้ทั้งกฎหมายที่มีโทษทางอาญาหรือมิใช่โทษทางอาญา ดังคดีอาชญากรสงครามที่ Nuremberg หลังสงครามโลกครั้งที่สองอาจถูกหยิบยกเป็นตัวอย่าง


น่าสังเกตว่าศาลฏีกาของไทยกลับไม่ยอมรับหลักข้อยกเว้นนี้ในคดีอาชญากรสงครามคล้ายคลึงกัน(คำพิพากษาคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489) แต่กระนั้นในอีกหลายๆ กรณีศาลไทยกลับหลีกเลี่ยงการบังคับใช้หลักการห้ามออกกฎหมายย้อนหลัง โดยอ้าง/ตีความอย่างแคบว่าหลักนี้ไม่อาจใช้กับกฎหมายสบัญญัติ (คำพิพากษาฏีกาที่ 771-772/2506) หรือตีความอย่างแคบว่าใช้ไม่ได้กับเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยในกรณีกฎหมายบุคคลอันธพาลในยุคเผด็จการ (คำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญ ลงวันที่5 มกราคม2513)


น่าสังเกตว่าความยืดหยุ่นหรือการปรับใช้ข้อยกเว้นของหลักการนี้อย่างง่ายๆ ดูเหมือนแยกไม่ออกจากทัศนคติเชิงอนุรักษ์นิยม, จุดยืนทางการเมืองหรือความไม่จริงจังต่อหลักสิทธิมนุษยชน แน่นอนว่าหลักการต่างๆในหลักนิติธรรมล้วนไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์แต่การปรับใช้ข้อยกเว้นใดๆ จำต้องอาศัยเหตุผลรองรับในท้ายสุดเพียงเฉพาะที่จักส่งเสริมคุณค่าพื้นฐานของหลักนิติธรรม การยกเว้นจำกัดหลักการนี้จะเป็นไปได้ต่อเมื่อการจำกัดดังกล่าวเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการค้ำประกัน/ยืนหยัดต่อสถานภาพและศักดิ์ศรีของบุคคลโดยองค์รวมเท่านั้น


ในกรณีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นปัญหา ความไม่ชอบธรรมของการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยหลักการเบื้องต้น ย่อมถือเป็นการละเมิดต่อหลักนิติธรรมดังกล่าว จริงอยู่ข้อพิจารณาต่อพฤติกรรมของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรค อาจดูมีความซับซ้อนฉ้อฉลโดยรวม แต่การแปลความบทกฎหมายอันเป็นฐานความผิด กล่าวคือมาตรา 66ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พศ.2541 ตามตัวอักษร (กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางในรัฐธรรมนูญ) โดยจดจ่อต่อประเด็นวิธีการต่อสู้แบบปลีกย่อยเชิงยุทธวิธีของแต่ละพรรคเพื่อเอาตัวรอดทางการเมืองเฉพาะหน้า แทนที่การใส่ใจต่อจุดหมายแห่งกฎหมายที่มุ่งขัดขวางกลุ่มบุคคลที่ยึดอำนาจรัฐแบบเผด็จการหรือล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่เพียงอาจสร้างปัญหาคับข้องเรื่องการบิดเบือนกฎหมายเพื่อการทำลายล้างทางการเมือง แต่ยังอาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อมโนธรรมลึกๆ ของผู้วินิจฉัยว่า ในความเป็นจริงแล้ว ผู้กระทำการยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารอย่างชัดแจ้ง ได้กระทำสิ่งที่ต้องตรงยิ่งกว่ากับความผิดที่บัญญัติในบทกฎหมายดังกล่าวใช่หรือไม่


หากคำนึงถึงพัฒนาการของความขัดแย้งทางการเมืองของทุกฝ่ายในสังคมก่อนหน้าการรัฐประหาร มองโดยภาพรวมอย่างเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยง ท้ายสุดแล้วเราอาจต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นมูลฐานความผิด แท้จริงกลับเป็นเสมือนกรรรมร่วมของสังคมที่ทุกฝ่ายในสังคม ไม่เว้นแม้ในภาคประชาชนต่างดิ้นรนต่อสู้เพื่อช่วงชิงชัยชนะเฉพาะหน้ากันในทุกรูปแบบจนเกิดเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาดังกล่าวขึ้น "เหตุผล" ในการออกกฎเกณฑ์ลงโทษย้อนหลังประหนึ่งเป็นข้อยกเว้น จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ


ประเด็นสำคัญเพิ่มเติมคือการออกกฎเกณฑ์ย้อนหลังนี้ ยังปรากฎในรูปประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯที่มิได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพทางกฎหมายของประกาศดังกล่าวจึงเป็นข้อบกพร่องซ้ำสองที่ยิ่งทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมทางนิติศาสตร์ในการปรับใช้ แม้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอาจรู้สึกมั่นใจที่รัฐธรรมนูญ (ม.36) ของฝ่ายรัฐประหาร รับรองความชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็สมควรฉุกคิดด้วยว่า ถ้ากฎเกณฑ์นี้มีความมั่นคงทางกฎหมายจริงๆ เหตุใดในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ จึงมีผู้พยายามบัญญัติร่าง ม.299 (รับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของบรรดาการใดๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2549) ค้ำประกันความมั่นคงอีกชั้นหนึ่ง


หรือแม้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะอุ่นใจที่ในอดีตมีแนวคำพิพากษาศาลฏีกาหลายๆฉบับ (อาทิ คำพิพากษาฏีกาที่ 45/2496, 1662/2505) รับรองความเป็นกฎหมายของบรรดาประกาศ/คำสั่งคณะปฏิวัติ หากจริงๆ แล้วคำพิพากษาฏีกาเหล่านี้ ล้วนตกอยู่ใต้ข้อวิจารณ์ทางนิติศาสตร์มาตลอด และปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพทางกฎหมายของบรรดาประกาศ/คำสั่งคณะรัฐประหาร โดยภาพรวมก็มิใช่มีข้อยุติยอมรับเช่นนั้นเสมอไป


ตัวอย่างความกล้าหาญยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยของศาลสูงสุดไนจีเรีย (คศ.1970) , ศาลสูงสุดปากีสถาน (ค.ศ.1972) หรือศาลสูงสุดอาร์เจนติน่า (คศ.1984) ที่ปฏิเสธความชอบด้วยกฎหมายของประกาศคณะรัฐประหาร ย่อมเป็นสิ่งที่พึงพิจารณาอย่างมากหากหวังสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่เข้าลักษณะการพิพากษาคดีอย่างก้าวหน้า ยึดมั่นในความเป็นธรรมทางสังคม(Judicial Activism)


คำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ยุบพรรคการเมือง จักมีการประกาศในช่วงสัปดาห์แห่งวันวิสาขปุณณมีบูชา ในวาระแห่งการน้อมรำลึกถึงการกำเนิดแห่งพุทธะและการดับสิ้นซึ่งกิเลสอย่างสมบูรณ์


มีเพียงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตระหนักถึงข้อจำกัดในกำเนิดองค์กรและข้อจำกัดทางกฎหมายทั้งปวง


ประกาศคำพิพากษาที่เสมือนไม่มีคำพิพากษา คำพิพากษาที่ไม่มีการพิพากษาลงทัณฑ์รุนแรงแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สังคมไทยจึงอาจกำเนิดใหม่ เริ่มต้นก้าวข้ามวิกฤติการณ์สังคม และกลับตื่นสู่ความมีสติ -ปัญญารวมทั้งความหวังในการสมานฉันท์ร่วมสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net