Skip to main content
sharethis

มุทิตา เชื้อชั่ง


 


หากจะมองหา "สื่อ" ที่มีบทบาทยิ่งต่อสังคมการเมืองของไทย ใครเลยจะกล้าปฏิเสธ "ผู้จัดการ"


เส้นทางเดินของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้โลดโผน ยอกย้อน ไม่แพ้เจ้าของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่ในชั่วเวลาสิบกว่าปี เขาได้สัมผัสทั้งจุดสูงสุดและต่ำสุดของธุรกิจ สัมผัสจุดสูงสุดและจุดยากลำบากที่สุดของชีวิต


หากเปรียบ "ผู้จัดการ" เป็นคน มันคงเป็น "แอคทีฟ ซิทิเซ่น" ที่มีบทบาทนำเสมอในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยเฉพาะครั้งหลังสุดที่ "สนธิ" พาสื่อในเครือผู้จัดการทั้งหมดดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และอาจจะพูดได้ว่าเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมไทยภายในชั่วเวลาไม่ถึงปี ให้หลุดจาก "ระบอบทักษิณ" โดยกระบอกปืนและรถถัง


ขณะที่มีคำถามว่าด้วยหลักการของ "ประชาธิปไตย" หลายประการถาโถมสู่ "สนธิและคณะ" หรือ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หลังจากมีการนำเสนอมาตรา 7 และเชื้อเชิญทหารออกมาจัดการกับความวุ่นวายทางการเมือง คนรุ่นหลังๆ อาจไม่รู้ว่า 15 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อสู้กับเผด็จการทหาร!!!


"เราจะสู้เพื่อ....ประชาธิปไตย"



สนธิ ลิ้มทองกุล สมัยก่อตั้งนิตยสารผู้จัดการ (รูปจากหนังสือ 1 ทศวรรษผู้จัดการ,2536)


ใครหลายคนมักพูดกันว่า "ผู้จัดการ" ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2526 นั้นแจ้งเกิดอย่างก้าวกระโดดจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ


ในช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับนี้ดูระห่ำเกินเพื่อนๆ ที่กล้าต่อกรกับคณะทหารที่เข้ามาปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการชุมนุมใหญ่ขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535


ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นได้จารึกไว้ว่าสื่อมวลชนของไทยเกิดอาการ "อัมพาต" ชั่วขณะ ทำให้โทรศัพท์มือถือ เพจเจอร์ แฟกซ์ หรืออะไรก็ตามที่ประชาชนมีในตอนนั้น ทำหน้าที่เป็นตัวกระจายข่าวความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ความรุนแรงแทนวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งทั้งหมดเป็นของรัฐ และเอาแต่ฉายละครน้ำเน่าแทนที่จะเสนอข่าวการเข่นฆ่าประชาชนอีกครั้งหนึ่งของผู้ปกครองไทย



หน้าปกนิตยสารผู้จัดการฉบับแรก สิงหาคม 2526 (รูป-อ้างแล้ว)


บัณฑิต จันทศรีคำ หรือ "แคน สาริกา" บรรณาธิการบริหารเนชั่น สุดสัปดาห์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ เซ็กชั่นปริทรรศน์ที่กำลังโด่งดัง เล่าว่า เมื่อเกิดรัฐประหาร ผู้จัดการตกเป็นเป้ากลายๆ อยู่แล้วในสายตาทหาร เพราะสนธิ ลิ้มทองกุล มีความสนิทสนมกับทีม "บ้านพิษฯ" (ทีมบ้านพิษณุโลก ทีมที่ปรึกษาของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกรัฐประหาร) ไม่ว่าจะเป็น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร


ถึงขนาดที่สำนักงานของผู้จัดการถูกทหารล้อมและบุกค้นทันทีในคืนวันรัฐประหาร 24 ก.พ.2534 โดยทหารเชื่อว่า พล.ต.มนูญกฤต หลบอยู่ภายใน


"นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนธิรู้สึกว่า ตัวแกเองเป็นศัตรูกับ รสช.แล้ว แล้วยิ่งเมื่อมีปัญหาการปิดกั้นข่าวสาร ก็ยิ่งทำให้โทนของผู้จัดการอยู่ตรงข้าม รสช."


มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อดีตผู้สื่อข่าวโต๊ะการเมืองหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผู้ซึ่งเคยเป็นนายกองค์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ปี 2532 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า วิเคราะห์บทบาทของผู้จัดการที่อยู่ตรงข้าม รสช.ว่า มาจากเหตุผลทางผลประโยชน์ที่ต้องหยุดชะงักขาดหายไปเมื่อเกิดรัฐประหาร บวกกับแนวคิดทางการเมืองของคนทำงานช่วงนั้น และที่สำคัญ "ได้รับไฟเขียวจากหัวขบวนให้ชนกับ รสช.ได้เต็มที่"


"พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของผู้จัดการคือชนชั้นกลาง มันก็สอดคล้องกับแนวของหนังสือพิมพ์ด้วย เห็นได้จากการ์ตูน หรือคอลัมนิสต์ที่เสนอผ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันในช่วงนั้นก็จะไปในทิศทางเดียวกัน สอดรับกับกระแสอารมณ์คน โดยเฉพาะคนเมือง หรือคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจฟองสบู่ และโดนชะงักไปเนื่องจากมี รสช. พวกเล่นหุ้น เก็งกำไร ก็แย่ มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาด้วย ขณะเดียวกันมันก็มีเรื่องแนวคิดอุดมการณ์ด้วย"


มานะยืนยันว่า ถ้าพลิกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการช่วงนั้นดูจะเห็นว่า เนื้อหาเป็นทิศทางดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว แต่ช่วง "แหลม" ที่สุดเป็นช่วงที่โยนหมดหน้าตัก โดยการพิมพ์ฉบับพิเศษเฉพาะกรอบบ่ายในขนาดแทบลอยด์ นำมาขายกึ่งแจกกันในม็อบ เพื่อพูดถึงเรื่องคน สีสันของม็อบ รวมถึงการยิงกันที่เกิดขึ้น



ผู้จัดการ "ฉบับพิเศษ" ขนาดแทบลอยด์ ออกวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 (รูป-อ้างแล้ว)


บัณฑิตในฐานะบก.เซคชั่นปริทรรศน์ ผู้จัดการรายสัปดาห์ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า ปกติผู้จัดการรายวันจะมีหน้าการเมืองอยู่หน้าหลัง แต่ก็เริ่มเปิดหน้าหนึ่งสำหรับข่าวการเมืองเต็มที่แบบ "ชูธงไล่สุจินดา" เป็นฉบับแรก ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ขณะนั้นเริ่มมีการชุมนุมแล้ว แต่สิ่งที่ฮือฮาที่สุดคือ การที่คุณสนธิมีไอเดียให้ออกขนาดแทบลอยด์ในวันที่ 8 พฤษภาคม สำหรับการเมืองล้วนๆ ตีพิมพ์เป็นแสนเล่ม เพื่อขายเล่มละ 5 บาท แต่ส่วนใหญ่จะแจกจ่ายตามย่านใจกลางธุรกิจ


"ผมจำได้ฉบับแรกขึ้นปกว่า ..."สุ" อยู่หรือไป ชี้ชะตาวันนี้… เรียกว่าชักธงรบกันเลย และออกแทบลอยด์เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ 14 พฤษภาก็มีข่าวมาว่า ทหารเตรียมดำเนินคดีกับคุณสนธิ แต่มันก็ยังไม่มีอะไร จนกระทั่งเกิดเหตุนองเลือด" บัณฑิตว่า



บัณฑิตยังย้ำถึงปัจจัยสำคัญที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนผู้จัดการไปบนเส้นทางประชาธิปไตย นั่นคือ คนรุ่นใหม่ไฟแรง กับคนรุ่นเก่า-เถ้าแก่ใจกล้า ท่ามกลางบริบทสังคมที่ดอกประชาธิปไตยบานสะพรั่งแม้ในวันฟ้าหม่น


"บังเอิญช่วงนั้นมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเยอะ โดยเฉพาะที่จบจากธรรมศาสตร์ และเป็นกลุ่มที่สนใจการเมือง แน่นอน มันก็ว่ากันไปตามกระแส ซึ่งออกมาเคลื่อนกันเป็นขบวนใหญ่ ทั้งปีกนักวิชาการในมหาวิทยาลัย องค์กรประชาธิปไตย องค์กรแรงงาน ผู้จัดการก็เป็นเวทีหนึ่งของกลุ่มเหล่านี้ คอลัมนิสต์แห่กันมาเขียน เพราะพื้นที่หนังสือแนวนี้ที่เป็นรายวันเข้าใจว่ามีกรุงเทพธุรกิจและผู้จัดการรายวันนี่แหละ"


"แต่พอถึงวิกฤตจริงๆ มันก็ไปทางเดียวกันหมด โดยธรรมชาติของสื่อที่ยืนอยู่ข้างประชาชน เพียงแต่ผู้จัดการมันเด่นขึ้นมา เอาง่ายๆ ว่ามันคือบุคลิกคุณสนธิ เวลาแกจะประกาศรบกับใคร แกรบของแกเต็มที่ ที่แกรบกับทักษิณก็เหมือนที่แกรบกับสุจินดา เป็นการเดิมพัน ถ้าสุจินดาหรือทักษิณไม่ไป แกก็ฉิบหาย แกเป็นแบบนี้มาตลอด ไม่น่าแปลกใจ"


ยังจำได้ไหม ถึงใครคนหนึ่ง....


"คุณสนธิลงมาช่วยเอง ตอนนั้นใช้วิธีโทรส่งข่าว เมื่อก่อนมือถือใหญ่มาก แทบจะเท่ากระติกน้ำ แบตเตอรี่ก็เป็นรุ่นเก่าที่หมดเร็วมาก ใช้ได้ซักครึ่งชั่วโมง เลยมีถ่านชาร์ตวางอยู่ยี่สิบสามสิบก้อน เรียงเป็นตับเลยในออฟฟิศ พอเข้ามาเปลี่ยนแบตที่ออฟฟิศ ก็เห็นเลยว่าสนธิจะยืนรับแบตจากนักข่าว เอาแบตใหม่ให้ เราจะเห็นสนธิในมุมนี้ ไม่ได้ออกสนาม แต่ก็ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักข่าวพอสมควร"


เสียงสะท้อนจากนักข่าวใหม่แกะกล่องในช่วงนั้น--สมเกียรติ จันทรสีมา—อดีตนายก อมธ.ปี2535 และปัจจุบันเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวชาวบ้าน (www.thaipeoplepress.com) และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง "ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้" (www.deepsouthwatch.org)


 
หลังเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม"35 สื่อต่างๆ ต่างก็อดไม่ได้ที่จะออกหนังสือเพื่อรำลึกถึงวีรชนและจารึกการสูญเสียครั้งนี้ แม้แต่นิตยสารสาระบันเทิงอย่างแพรว
(ในภาพจากซ้ายไปขวา-หนังสือฉบับพิเศษของ กรุงเทพธุรกิจ, แพรวสำนักพิมพ์ และผู้จัดการ)


เขาเล่าว่าในช่วงของการชุมนุม นักข่าวผู้จัดการตั้งกองบัญชาการที่สนามหลวง กินนอนกันที่นั่น ทำข่าวกันทั้งวันทั้งคืนเลยก็ว่าได้ รวมทั้งมีการเสริมทีมจากโต๊ะอื่นๆ มาช่วยนอกเหนือจากทีมการเมืองที่มีอยู่ 10 กว่าชีวิต


นี่เป็นการปักธงของทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ แปลกแต่จริงว่า ท่ามกลางเอกภาพนั้น ผู้น้อยกลับไม่มีความรู้สึกว่าถูกครอบงำและแทรกแซงจากผู้นำ


"สื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยมันยังหนีไม่พ้นที่จะมีบุคลิกของเจ้าของ ตอนนั้นก็มีคนมองว่าผู้จัดการออกจะก้าวร้าวด้วยซ้ำ เล่นประเด็นหวือหวา เป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ถ้าเป็นพนันก็เรียกว่าเทหมดหน้าตัก เลือกข้างชัดเจน แต่เลือกข้างก็อยู่บนเงื่อนไขที่น่าสนใจ เพราะเราไม่รู้สึกว่าเราถูกแทรกแซงจากผู้บริหาร อาจจะอย่างที่บอกว่า สังคมมันมีดำขาวชัดเจน ทุกอย่างเห็นชัด ดังนั้น วันที่ 17 พฤษภาคม ถ้าจำไม่ผิด หนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งไม่ได้เสนอข่าว แต่ใช้สีดำเป็นหน้าปก"


ฉันหรือเธอที่เปลี่ยนไป....


ถึงวันนี้ เส้นทางสาย "ผู้จัดการ" ผ่านเรื่องราวมามากมาย หัวขบวนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ทั้ง "จูบปาก" และ "เจ็บปวด" จากผู้มีอำนาจมาแล้ว เมื่อเส้นทางความสูญเสียในชีวิตเขาทาบทับกับเส้นทางความเสียหายของสังคม จึงถึงวาระของการประกาศท้ารบขับไล่ผู้อำนาจอีกครั้ง


หากแต่ครั้งนี้เขาและองค์กรของเขาผงาดขึ้นมา "กล้าเล่น" มิใช่แค่เพียง "กล้าเล่า" อย่างในอดีต


หากแต่ครั้งนี้เขาและองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรและผู้คนที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยมาช้านานได้สร้างข้อเสนอการแก้ปัญหาต่อสังคมแบบที่ย้อนแย้ง สวนทางจาก 15 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง


 


 "ถามว่าวันนี้ทำไมถึงมีความแตกต่าง ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะมีความแตกต่าง มันก็ยังคงคล้ายกันทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน อย่าลืมว่ามันมีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจขององค์กร และแนวคิดเองด้วย มันไม่มีมาตรวัดว่าอะไรถูก ผิด ดี เลว ถามว่าตอนนั้นทำไมค้าน ตอนนี้ทำไมไม่ค้าน ผู้จัดการตอนนี้อาจจะมี ต้องใช้คำว่า "อาจจะ" มีชุดความคิดชุดหนึ่งที่เห็นว่าระบอบทักษิณทำลายประเทศมากกว่า นี่คือชุดคำตอบที่พยายามสื่อสารออกมา" มานะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


"เปรียบเทียบกับปัจจุบัน 15 ปีโจทย์มันซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ความจริงชุดเดียวมาอธิบาย ถ้าจะอธิบายมันย้อนหลังไม่ว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์ 19 กันยายนก็ตาม จะอธิบายเรื่องจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องผลประโยชน์ของชนชั้นเข้ามาด้วย และครั้งนี้ยังมีเรื่องอื่น มันเลยยิ่งซับซ้อนคลุมเครือ เรื่องคอร์รัปชั่นของทักษิณ พอลงรายละเอียดก็ยังไม่ชัด บางมุมก็มองว่าแม้คอร์รัปชั่น แต่ก็กระจายเงินให้คนอื่นมากกว่าที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดกลายเป็นเรื่องสถาบัน มันเลยทำให้กรณีล่าสุดนี้ ดูเบลอๆ มันไม่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ" ทัศนะของสมเกียรติสำหรับเส้นทางบทบาทนำของผู้จัดการ


"วันนี้ของผู้จัดการกับ 15 ปีที่แล้วก็คล้ายๆ กัน มันไม่มีอะไรที่เป็นกลไก เพราะเราต้องเห็นอย่างหนึ่งว่า หนังสือพิมพ์คือธุรกิจสื่อ ฉะนั้น มันก็มีนายทุน มันไม่ใช่องค์การเอ็นจีโอ"


"เขาก็ทำในสิ่งที่เขาเชื่อ เขาเชื่อว่าเผด็จการของทุนมันน่ากลัวกว่า มันอันตรายกว่า มันอยู่ที่ใครจะตีความอย่างไร เขาก็ตีความว่า นี่เป็นการต่อสู้กับเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปักธงแบบนี้ มันก็ต้องเดินไปสู่จุดนั้น แต่ถึงที่สุดมันก็มีคำตอบอยู่ เขาอยู่ได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่มวลชน ถ้ามวลชนสนับสนุน เอาด้วย มันก็ไปได้ ถ้าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง คนไม่ซื้อ ไม่สนับสนุน มันก็เจ๊ง แค่นั้นเอง" บัณฑิตว่า


 










พฤษภาคม 2535


กันยายน 2549


"จำลอง" ขอตายไล่คนไร้สัตย์
ผู้จัดการรายวัน 5 พ.ค.35


คลื่นมหาชนกว่า 2 แสน ประชามติต้านเผด็จการ
ผู้จัดการรายวัน 5 พ.ค.35


วันนี้ไล่ "สุ" พร้อมกันทั่วประเทศ
ผู้จัดการรายวัน 6 พ.ค.35


ยกพลยึดสนามหลวงไล่ "สุ เสียสัตย์"
ผู้จัดการรายวัน 8 พ.ค.35


ตระบัดสัตย์ ! ไม่แก้ รธน.
ผู้จัดการรายวัน 13 พ.ค.35


ม็อบเพจเจอร์ระงมทั่วกรุง บิ๊กเต้สั่งเบรกผู้จัดการรายวัน 14 พ.ค.35


เดือด ! ปะทะกลางผ่านฟ้าฯ
ผู้จัดการรายวัน 18 พ.ค.35


กรุงเทพฯ วันนี้ .. อนาธิปไตย !
ผู้จัดการรายวัน 19 พ.ค.35


ภาพเหตุการณ์วัน "พฤษภาวิปโยค"
ผู้จัดการรายวัน 20 พ.ค.35


ฝันสลาย "สุ" เป็นนายกฯ ต่อ
ภาพพจน์ไทยพังยับเยิน ต่างชาติถอนการลงทุน
ผู้จัดการรายวัน 21 พ.ค.35


มธ. ค้นความจริงยอดคนตาย
ผู้จัดการรายวัน 22 พ.ค.35


5 จิ้งจกเปลี่ยนสียอมแก้ รธน.
ผู้จัดการรายวัน 23-24 พ.ค.35


องค์กรโลกงง ก.ม.ไทย ฆ่าคนได้นิรโทษกรรม
ข่าวทีวี 5-7 หมดสภาพ โฆษณาถอยแสนต่อวัน

ผู้จัดการรายวัน 25 พ.ค.35


สุจินดา ผ่านเงียบงบทหาร 3 พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน 29 พ.ค.35


"สนธิ" ยื่น จม. "ป๋าเปรม" วันนี้ ขอให้นำความบังคมทูลยุติ "ระบอบทักษิณ"
ผู้จัดการออนไลน์ 6 ก.ย.49


"สนธิ" เตรียมแฉความลับช็อกสังคม ปัดข้อครหาดึง "ป๋า" ยุ่งเกี่ยวการเมือง
ผู้จัดการออนไลน์ 14 ก.ย.49


"สนธิ"แฉกระบวนการสุดชั่ว-ผลิตเวบ "มนุษยดอตคอม" ล้มสถาบัน
ผู้จัดการออนไลน์ 16 ก.ย.49


พันธมิตรฯ ย้ำชุมนุมยืดเยื้อไล่ "แม้ว" ไม่ให้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทย
ผู้จัดการออนไลน์ 17 ก.ย.49


พันธมิตรฯลั่นพร้อมชุมนุมยืดเยื้อไล่ "แม้ว" - ไม่ไปไม่เลิก
ผู้จัดการออนไลน์ 18 ก.ย.49


"สนธิ" หนุนคณะปฏิรูปเช็กบิลทักษิณ
ผู้จัดการรายวัน 20 ก.ย.49


ชี้ปฏิรูปฯไม่ถอยหลังเข้าคลอง ระบุยุคแม้วปชต.จอมปลอม
ผู้จัดการรายวัน 20 ก.ย.49


ทั่วทุกภาคพอใจทหารล้มระบอบแม้ว จี้เร่งล้างบาง "ทรราช"-คืนอำนาจปชช.
ผู้จัดการรายวัน 20 ก.ย.49


"สนธิ" ประกาศยุติชุมนุมวันนี้/ยืนยัน "พล.อ.สนธิ" ทำเพื่อประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง
ผู้จัดการออนไลน์ 20 ก.ย.49


"สนธิ" บุกให้กำลังใจ "คณะปฏิรูป" ที่ บก.ทบ.
ผู้จัดการออนไลน์ 20 ก.ย.49


พันธมิตรฯ ยุติภารกิจ - จี้คณะปฏิรูปฯ ล้างทุจริต "เครือข่ายทักษิณ"
ผู้จัดการออนไลน์ 21 ก.ย.49


คณะปฏิรูปฯเปิดเสรีภาพสื่อลั่นไม่เซ็นเซอร์แต่ต้องเสนอข่าวตามจริง
ผู้จัดการรายวัน 21 ก.ย.49


 


พออับโชคตกลงกลางทะเลใจ….


บรรยากาศทางการเมืองดูเหมือนจะบีบให้ทุกอย่างเหลือเพียง 2 ข้าง แต่ไม่ว่าจะอยู่ข้าง "ฉัน" หรือ "เธอ" ไม่ว่าจะตีความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการถอยหลัง หรือการหลุดจากหลุมพรางประชาธิปไตย มันก็ได้เปลือยสังคมไทยเสียจนล่อนจ้อน กวนสิ่งที่อยู่ก้นบึ้งให้ขุ่นครั่กจนแทบมองไม่เห็นหนทางข้างหน้า


มันอาจจะเป็นตลกร้ายสำหรับใครหลายคน เมื่อพบว่า 15 ปีที่ผ่านมาแต่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลายชีวิตที่จมหายไม่ได้เป็นปุ๋ยให้กับดอก "ประชาธิปไตย" อย่างที่เคยรับรู้และเชื่อมั่น


ถึงที่สุดแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอันยอกย้อนของคนคนหนึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ และไม่ได้มีความหมายสำคัญอะไรนัก


ความเปลี่ยนแปลงอันยอกย้อนของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเป็นเรื่องน่าขบคิดถึงการนิยามการทำความเข้าใจ "สื่อมวลชน" แบบใหม่


แต่ความเปลี่ยนแปลงอันยอกย้อนของสังคม จะอธิบายมันอย่างไร


บนเส้นทางประชาธิปไตย หากสังคมไทยจะต้องเผชิญกับความ "อับโชค" อีกครั้งหรืออีกหลายครั้ง เราจะยังเหลือความสามารถในการหาคำตอบที่ดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่ และจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันโฉดเขลาอย่างที่บทนำของ ผู้จัดการฉบับพิเศษ หลังเหตุการณ์พฤษภาว่าไว้อย่างไร


.....เพราะเราคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้รุนแรง โหดเหี้ยมโฉดเขลาที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อมองจากแง่มุมที่ผู้นำทหารกระทำต่อประชาชน เพราะเราคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้แสดงธาตุแท้ที่ฉ้อฉลเห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนอย่างหน้าด้านๆ ของนักการเมืองที่อยากจะพูดว่า "ส่วนใหญ่" อย่างชัดเจนที่สุด....


จึงอาสาขอเป็นสื่อหนึ่งที่จะบันทึกประวัติศาสตร์หน้าที่ดำที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยไว้เป็นบทเรียนและอนุสรณ์สืบไป


...และขออย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย


สำนักพิมพ์ผู้จัดการ


ผ่านมา 15 ปี เพลง "ทะเลใจ" ที่เคยดังหลังเหตุการณ์พฤษภาดังขึ้นอีกหนท่ามกลางสภาวะอึดอัด สิ้นหวัง และหวาดระแวงต่ออนาคตข้างหน้า


.... ช่วยไม่ได้ที่ใครหลายคนจะรู้สึกเจ็บปวดกว่าเคย .....


---------------------------


*ขอขอบคุณ คิม ไชยสุขประเสริฐ และ "จิ๊บ" ที่ช่วยค้นหาเอกสารเก่า รวมถึง ปกป้อง พงศาสนองกุล ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่าย


หนังสือแนะนำ


-ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า โดย คำนูณ สิทธิสมาน


-รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net