บทความ 15 ปี "พฤษภา": 4 ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีต่อขบวนการประชาชนในวาระ 15 ปี พฤษภาประชาธรรม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

 

พฤษภาประชาธรรม 2535 คือการลุกขึ้นสู้ของขบวนการประชาชนเพื่อล้มเผด็จการทหารสุจินดา คราประยูรที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชาย ชุนหะวัณ ในปี 2534 และจบลงด้วยการปราบปรามอันรุนแรงของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชน ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและวิธีคิดโดยทั่วไปของสังคมไทยรวมทั้งภาคประชาชนไทยอย่างมาก ชัยชนะจากการต่อสู้ครั้งนั้นของประชาชนนำมาซึ่งกระแสการปฏิรูปการเมืองจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในที่สุด

 

เราอาจกล่าวได้ว่าผลของการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการประชาชนในปี 2535 ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ "ประชาชน" นี้ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีมาตราที่กำหนดโดยประชาชนมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมา และต่อมารัฐธรรมนูญฉบับนี้เองได้กลายเป็นเงื่อนไขเชิงกติกาทางการเมืองให้รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยสามารถขึ้นมามีอำนาจได้นับตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งต้องล้มไปอันเนื่องมาจากเกิดการรัฐประหารของทหารที่เรียกกันสั้นๆ ว่า คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในเดือนกันยายนปี 2549 และนำไปสู่การตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารของสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในเวลาต่อมา

           

นับเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 15 ปีแล้วที่สิ่งที่พวกเราเรียกแบบหลวมๆ ว่า "ขบวนการประชาชน" หรือ "การเมืองภาคประชาชน" ได้มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญๆ มาจนวันนี้เราอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไร้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของขบวนการประชาชนจำนวนหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า แม้บทบาทของขบวนการประชาชนจะมีสูงขึ้นอย่างไรก็ตามในสังคมการเมืองไทย แต่การที่รัฐประหาร 19 กันยา สามารถเกิดขึ้นได้ก็สะท้อนให้เราเห็นความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

           

บทความนี้มีข้อสังเกตเชิงทฤษฎีเบื้องต้นต่อสิ่งที่เรียกหลวมๆ ว่า "การเมืองภาคประชาชน" ในช่วง 15 ปีนับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถึงปัจจุบัน 4 ประการ ดังนี้

 

1.นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ขบวนการประชาชน เอ็นจีโอ และปัญญาชนทั้ง

ฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม ได้มีฉันทามติร่วมกัน (consensus) ใน "แนวคิดชุมชนนิยม"[2] หรือที่เรียกในชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น "วัฒนธรรมชุมชน" "ชุมชนพึ่งตนเอง" "เกษตรทางเลือก" โดยมีการนำเสนออย่างมากจากหลายแง่มุมจากทั้งปัญญาชนอดีตฝ่ายซ้ายหลายคน ราษฎรอาวุโส เอ็นจีโอ และขบวนการทางสังคมหลายกลุ่มในฐานะที่เป็นทางออกต่อความเลวร้ายของโลกทุนนิยมเสรี แนวคิดชุมชนนิยมนี้เองได้กลายเป็นสนามของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างกลุ่มหรือพลังทางสังคมต่างๆ ในอันที่จะให้ความหมายหรือคำนิยามที่สอดคล้องไปกับผลประโยชน์ของตนเอง แม้แนวคิดชุมชนจะดูหลากหลายและแตกต่างกันไปแล้วแต่คำนิยามของแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้น แต่เราก็กล่าวได้ว่า "แนวคิดชุมชนนิยม" ได้กลายเป็น common sense[3] อันใหม่ของขบวนการประชาชนนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

 

ชนชั้นนำในสังคมเองก็เช่นกันที่พยายามเข้ามาช่วงชิงในการสร้างความหมายของ "แนวคิดชุมชน" และภาคประชาชนเองก็นำมาผลิตซ้ำความหมายดังกล่าวที่ถูกสร้างและถูกช่วงชิงไปโดยชนชั้นปกครองเพื่อเชื่อมโยงถึงฉันทามติแบบชุมชนนิยมอย่างไร้การตั้งคำถาม การพูดถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในความหมายเดียวกับ "เศรษฐกิจชุมชน" ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ นั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่พูดลอยๆ แต่เป็น "ยุทธศาสตร์" ทางชนชั้นที่ต้องการกลบเกลื่อนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ ทุน และประชาชน อันเป็นผลมาจากการกดขี่ขูดรีดทรัพยากรและวิถีชีวิตของคนธรรมดามาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

 

การเติบโตของอุดมการณ์แบบ "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ของขบวนการประชาชนเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้กลายเป็น "ฉันทามติ" อันใหม่ซึ่งทำหน้าที่ครองความคิดจิตใจ (hegemony) ขบวนการภาคประชาชน ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในเชิงพื้นที่นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของการเมืองแบบเอ็นจีโอ ในกระบวนการขยายตัวของขบวนการภาคประชาชนนี้เองในด้านหนึ่งได้ผนวกเอาปัญญาชนฝ่ายรัฐ เช่น ราษฎรอาวุโส และปัญญาชนทั้งฝ่ายขวาและเสรีนิยม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งหรือหลายครั้งกลายเป็นส่วนที่สามารถชี้นำทางความคิดที่สำคัญของขบวนการประชาชนเอง และเราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า นี่คือผลพวงสำคัญจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

การมีสถานะครองความคิดจิตใจอย่างกว้างขวางของ "แนวชุมชนนิยม" ที่ถูกนำไปโยงกับความอ่อนแอและลักษณะประนีประนอมของขบวนการประชาชนนั้นได้นำไปสู่การที่ภาคประชาชนให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อรัฐบาลไทยรักไทยที่หยิบเอาแนวคิดแบบชุมชนของขบวนการประชาชนไปใช้ และต่อมาฉันทามติเช่นนี้เองก็นำพาให้เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา ด้วยข้อกล่าวหาว่า ไทยรักไทยมีนโยบายที่ไม่เดินตาม "เศรษฐกิจพอเพียง" ของในหลวง ซึ่งได้กลายเป็น "ข้ออ้าง" ที่ดูมีความชอบธรรมอย่างสูงในการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมา[4]

 

2.ขบวนการประชาชนไม่เคยแตกหักกับแนวคิดชาตินิยม[5] ไม่ว่าชาตินิยมจะพัฒนาไปสู่รูปแบบที่พยายามรวมเอาประชาชนเข้ามาหรือชาตินิยมที่อิงอยู่กับ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบคับแคบก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของการอ้างอิงการต่อสู้กับแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบก็คือ การล้มทักษิณของขบวนการพันธมิตรฯในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมาก็ยังคงอธิบายว่า การขายหุ้นหรือการซุกหุ้น หรือแม้แต่การทำเอฟทีเอ แปรรูป เป็นเรื่อง "ขายชาติ" "ทรยศชาติ" นำไปสู่การที่แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแข็งขันต่อการนำเสนอมาตรา 7 หรือการเรียกร้องนายกฯ พระราชทานในช่วงที่ขับไล่รัฐบาลไทยรักไทย โดยเรียกขบวนการของตนเองว่า "ขบวนการกู้ชาติ" หรือตัวอย่างก่อนหน้านั้น เราจะเห็นการที่ขบวนการแรงงาน[6]อธิบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ "รัฐ" ไทยในหลาย "รัฐบาล" ว่าเป็นการ "ขายชาติ" ซึ่งหนึ่งในแกนนำของขบวนการแรงงานนั้นก็คือคนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข

 

การใช้แนวทางชาตินิยมของขบวนการประชาชนที่ผ่านมานำไปสู่การที่ผู้นำของขบวนการประชาชนสามารถประนีประนอมกับกลุ่มทุนหรือชนชั้นปกครองบางกลุ่มในแต่ละช่วงเวลาได้ หากเห็นว่า กลุ่มย่อยของชนชั้นปกครองนั้นๆ ไม่ได้ทำอะไรที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของ "ชาติ" มากเกินไป ปัญหาของการไม่แตกหักกับชาตินิยมของขบวนการประชาชนนี้เองนำไปสู่การไม่สามารถสร้างจุดแตกหักทางความคิดกับแนวทางเสรีนิยมหรือทุนนิยมได้อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ขบวนการประชาชนกำลังต่อสู้กลับไม่ใช่ทุนนิยมอีกต่อไป แต่กลายเป็น "ต่างชาติ" "นักการเมืองขายชาติ" ซึ่งหากนักการเมืองหรือชนชั้นนำคนไหนดูเหมือนว่า "รักชาติ" "มีจริยธรรม" มากหน่อยก็สามารถจะให้การสนับสนุนหรือจับมือได้ในที่สุด ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้จากการที่การขึ้นมาของพรรคไทยรักไทย และการเกิดรัฐประหาร 19 กันยาที่ผ่านมาที่ทั้งสองเหตุการณ์ได้รับการสนับสนุนของแกนนำของขบวนการประชาชนอย่างกว้างขวาง

 

3.ผู้เขียนเห็นด้วยกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล[7]ที่เสนอว่า ในสายตาของขบวนการประชาชนนั้น มโนทัศน์ (concept) เรื่อง "รัฐ" (state) ได้ถูกลดทอนให้กลายเป็น "รัฐบาล" (government) โดยเฉพาะนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา สะท้อนความตกต่ำของแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือแนวฝ่ายซ้ายในการเมืองไทย ซึ่งถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเสรีนิยมหรือเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มีลักษณะลดทอนโดยวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า รัฐทุนนิยมสามารถเป็นกลางได้ และทัศนคติแบบลดทอนนี้เองได้นำไปสู่การประสานและร่วมมือ หรือไว้วางใจนักคิดแบบเสรีนิยม (ลดทอน) ไม่ว่าจะเป็น นักกฎหมายมหาชน หรือ นักรัฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีลักษณะเป็นนักเทคนิคทางการเมืองมากกว่าจะเป็นปัญญาชนของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ในความหมายเดิมของฝ่ายประชาชนในอดีต รูปธรรมคือการมอบฉันทะและความไว้วางใจให้นักคิดเสรีนิยมซึ่งเป็นปัญญาชนฝ่ายรัฐได้เป็นผู้ร่างหรือกำหนดกติกาทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่น ที่เกิดขึ้นกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งก็ใช้เนติบริกร และนักเทคนิคทางการเมืองชุดเดิมกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540

 

ภาคประชาชนหลายส่วนสามารถมีฉันทามติกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายมาตราที่ลดอำนาจของประชาชนและเพิ่มอำนาจให้รัฐและกลุ่มทุน เช่น มาตรา 87 ที่ระบุไว้ชัดว่า รัฐไทยจะต้องเป็นรัฐที่เชิดชูทุนนิยมเสรี หรือทุนนิยมกลไกตลาดอยู่ ซึ่งนำไปสู่การรับรองให้รัฐไทยสามารถแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทำสัญญาเอฟทีเอ ได้อย่างชอบธรรม "ตามกฎหมาย" หรือ แม้แต่การที่ขบวนการประชาชนเข้าร่วมโดยมีกรอบคิดที่จำกัดแต่เพียงข้อเสนอเชิงเทคนิคต่อการร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารในปี 2550 โดยไม่นำไปสู่การพูดถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคม หรือการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้ จับต้องได้ นอกเสียจากการพูดถึง รูปแบบขององค์กรอิสระ การเลือกตั้ง หรือการแก้ไขกฎหมายบางมาตราในรัฐธรรมนูญตามกรอบแบบเสรีนิยม[8]

 

นี่เองสะท้อนทัศนะลดทอนของขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ต่อรองแค่ในกรอบของกฎหมายและสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ มากกว่าจะมุ่งไปสู่การตั้งคำถามเชิงโครงสร้างกับ "รัฐทุนนิยม" (capitalist state) ที่มีความหมายมากไปกว่าแค่ "รัฐบาลนายทุน" (capitalist government)[9] ส่งผลให้การต่อสู้ของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา "แทบจะ" ไม่พูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมแบบถอนรากถอนโคน ในฐานะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในขั้นมูลฐานของโครงสร้างการถือครองปัจจัยการผลิต หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมที่สร้างความไม่เท่าเทียมในทุกๆ มิติในปัจจุบัน

 

ทัศนคติแบบลดทอนนี้เองนำไปสู่การหมกมุ่นกับการจับผิดนักการเมืองในระบอบรัฐสภาว่า คนไหนที่คอร์รัปชั่นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากหรือน้อยอย่างไร โดยทำให้การวิพากษ์รัฐทุนนิยมกลายเป็นเรื่องของ "จริยธรรมส่วนตัว" ของผู้นำรัฐบาลแต่ละคน โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการคอร์รัปชั่นทับซ้อนดังกล่าว ส่งผลให้ภาคประชาชนหลายส่วนโดยเฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสามารถทำได้แค่โจมตีทักษิณในประเด็นคอร์รัปชั่น ขายชาติ โดยไม่ได้พูดถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมที่วางอยู่บนการมีความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการประชาชนหลายส่วนสามารถยินดีปรีดาได้กับการมีผู้นำที่ดูมีจริยธรรม "มากกว่า" หรือดู "พอเพียงกว่า" ผู้นำคนที่ตนเองไม่ต้องการ เช่น ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปจับมือกับเผด็จการทหารดังที่เราเห็นในปัจจุบัน[10]

 

4.นับตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขบวนการประชาชน ชนชั้นนำเอ็นจีโอ และปัญญาชนของขบวนการประชาชนไม่เคยไว้วางใจ คนจนหรือชนชั้นล่าง และแม้กระทั่งไม่มีความมั่นใจในการสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชน[11] หรือ การสร้างอุดมการณ์ทางเลือกให้กับภาคประชาชน นำไปสู่การต้องพึ่งพิงหรือหยิบยืม "วิธีการมองโลก" ของปัญญาชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นพวกเสรีนิยม หรือแม้กระทั่งกลุ่มทุนขวาจัด เช่น TDRI[12] หรือแนวชุมชนฝ่ายขวาแบบหมอประเวศในที่สุด เราสามารถเห็นตัวอย่างเหล่านี้ได้ชัดเมื่อ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าไปร่วมกับ สนธิ ลิ้มทองกุล ของภาคประชาชนหลายส่วนได้มีจุดยืนคัดค้านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 2 เมษายน 2549 ด้วยข้ออ้างว่า คนชนบทหรือคนจนที่ไปเลือกทักษิณนั้นเป็นคน "ไร้การศึกษา" "ขาดข้อมูล" "ไม่มีความรู้" และจะทำให้พรรคไทยรักไทย (ซึ่งมีสันดานชอบละเมิดพระราชอำนาจ คอร์รัปชั่น สร้างความแตกแยกให้สังคม) สามารถกลับมาได้อีกครั้ง แทนที่จะมองว่าคนธรรมดาเลือกเพราะมองว่า อย่างน้อยไทยรักไทยก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่มีหรือว่าเลวน้อยที่สุดที่มีในขณะนั้นๆ

 

ลักษณะการดูถูกคนจนของชนชั้นนำของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ในพันธมิตร

ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้เองนำมาสู่การไม่ยอมหันหน้าออกไปสร้างฐานมวลชนที่ตนเองเคยมีหรือเคยทำงานด้วยเพื่อล้มทักษิณ แต่นำไปสู่การจับมือกับ สนธิ ลิ้มทองกุล และหยิบยืมวิธีการมองโลกของฝ่ายที่เป็นศัตรูของคนจนเองมาใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์ไทยรักไทย ซึ่งการสร้างแนวร่วมที่พิกลพิการและไร้จุดยืนที่เคียงข้างชนชั้นที่ถูกกดขี่นี้เองได้นำไปสู่การเรียกร้องนายกพระราชทานไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม[13] ซึ่งในที่สุดกลายเป็นการเปิดทางให้กับการรัฐประหารหรือแม้แต่เมื่อเกิดรัฐประหารแล้วก็ยังเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญกับ คมช. อย่างไร้ความละอาย เช่น ในกรณีของ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นต้น

 

ดังนั้น การที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้ประเด็น "โกงการเลือกตั้ง" "ซื้อเสียง" เพื่อโจมตีไทยรักไทยนั้น เมื่อพูดถึงที่สุดแล้วก็คือการบอกอย่างเป็นนัยว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนโง่ และไม่ (ควรจะสะเออะ) มีสิทธิมีเสียงนั่นเอง

 

โดยสรุปแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวนี้มิได้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสังเกตทั้ง 4 ประเด็นนี้อาจมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจถึงข้อจำกัดของขบวนการประชาชนอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2535 ได้ชัดเจนมากขึ้น และอาจนำมาสู่การแสวงหายุทธศาสตร์ และวิธีการมองโลกของขบวนการประชาชนเอง โดยไม่พึ่งพาวิธีการมองโลกของปัญญาชนฝ่ายที่เป็นศัตรูกับคนจนแบบที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นความหวังในหลายกรณี เช่น ขบวนการแรงงานที่นำโดยคนรุ่นใหม่หลายส่วน[14]ได้ออกมามีจุดยืนอิสระที่คัดค้านรัฐประหาร โดยไม่ร่วมสังฆกรรมกับผู้นำแรงงานเดิมที่ประนีประนอมกับเผด็จการทหาร หรือกรณีที่ขบวนการนักศึกษาคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง[15]ออกมาคัดค้านเผด็จการทหารอย่างแข็งขันตลอดมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ยังคงให้ความหวังกับเราว่า ในไม่ช้านี้ขบวนการประชาชนของเราจะเข้มแข็งเป็นอิสระและสามารถฝ่าฟันกับเพดานทางความคิดใดๆ ก็ตามที่เป็นอุปสรรคอยู่ เพื่อที่เราจะสามารถเสนอภาพของ "โลกใบใหม่" ของเราร่วมกันได้เอง ผ่านการต่อสู้เพื่อสะสมชัยชนะในระยะอันสั้นนี้คือการ คว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 และการสร้าง รัฐสวัสดิการ เป็นชัยชนะระยะยาวของเรา

 

..............................................


[1] บทความขนาดสั้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากการนำเสนอในวาระครบรอบ 15 ปี พฤษภาประชาธรรม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550


[2] บุคคลที่น่าสนใจก็คือ หมอประเวศ วะสี, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, พลเดช ปิ่นประทีป ที่มีบทบาทในสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในช่วงแรกที่เป็นรัฐบาล และมีบทบาทอย่างมากในการขับไล่ทักษิณในช่วงปี 2549 ซึ่งต่อมาไพบูลย์และพลเดชก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลสุรยุทธ์


[3] ผู้เขียนใช้คำว่า Commom sense นี้ในความหมายของ Antonio Gramsci


[4] ดูการอธิบายของ ประเวศ วะสี, พิภพ ธงไชย, ธีรยุทธ บุญมี, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ ในการให้สัมภาษณ์หรือบทความหลายๆแห่งทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร


[5] ปัญญาชนชาตินิยมที่มีอิทธิพลทางความคิด เช่น พิทยา ว่องกุล, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้ก็เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยมาก่อนทั้งสิ้น หรือแม้แต่ คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงาน


[6] ดูได้จากเอกสารหรือสติกเกอร์รณรงค์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งในช่วงที่ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและในวันแรงงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงที่ไล่ทักษิณ


[7] "หลัง 14 ตุลา" ใน ฟ้าเดียวกัน , ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2548, หน้า 168-171.


[8] ดู จดหมายข่าว ครป. ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และเอกสารรณรงค์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


[9] ประเด็นนี้สามารถหาอ่านได้ในงานวิชาการสายมาร์กซิสต์อย่างเช่น Nicos Poulantzas, State, Power and Socialism (London and New York: Verso, 1980)


[10] สุริยะใส กตะศิลา เองก็ชื่นชมว่า สุรยุทธ์เป็นคนดี อย่างน้อยก็ดีกว่าทักษิณ ดูคำสัมภาษณ์นี้ใน ประชาทรรศน์, ปีที่ 1(29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2550),หน้า 4.


[11] ดูที่ พิภพ ธงไชย กล่าวในสารคดีเรื่อง "เหลี่ยมชีวิต ทักษิณ ชินวัตร" ออกอากาศในรายการ คม-ชัด-ลึก วันที่ 28 ธันวาคม 2549


[12] ประธานของ TDRI คือ ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของสุรยุทธ์ โดยแต่งตั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2550


[13] หลายคนในพันธมิตรฯอ้างว่าไม่มีทางเลือกอื่น หรือเจอทางตัน ทำให้ต้องเสนอมาตรา 7 เช่น สุริยะใส กตะศิลา เป็นต้น หรือ เอ็นจีโออาวุโส อย่าง บำรุง บุญปัญญา ก็มองว่า ขบวนการขับไล่ทักษิณถึงทางตันแล้ว จึงจำเป็นต้องเสนอมาตรา 7


[14] เท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสคือ สหพันธ์สิ่งทอแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ที่มีจุดยืนชัดเจนค้านรัฐประหาร


[15] เช่น เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท