รายงาน 15 ปีพฤษภา : สนนท.และขบวนนักศึกษา (ถ้ามี) หากเราจะยังแสวงหากันต่อไป?

นพพล  อาชามาส

 

 

15 ปีที่แล้วสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มีบทบาทเป็นองค์กรแรกๆ ในการออกมาต่อต้านรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) 15 ปีผ่านไป สนนท.ถูกมองว่าอยู่ในความเงียบหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เกิดอะไรขึ้นใน 15 ปีที่ผ่านมา? แล้วขบวนการนักศึกษาละ คนเลิกพูดถึงมันแล้วใช่ไหม?

 

 

มรดกที่ตกทอดมา

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 จากการจัดสัมมนาองค์การนักศึกษาทั่วประเทศขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีองค์การนักศึกษาเข้าร่วม 14 สถาบัน ภายใต้คำขวัญ 3 คำ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"  โดยหวังจะให้เป็นองค์กรกลางของนักศึกษาที่คล่องตัวในการเคลื่อนไหวและทำการประสาน ร่วมมือกับสถาบัน องค์กรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงหนุนเสริมบทบาทของนักศึกษาต่อสังคมให้มากขึ้น

 

การก่อเกิดของ สนนท. นับได้ว่าเป็นมรดกตกทอดจาก ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (ศนท.) ที่มีบทบาทการเคลื่อนไหวอย่างสูงในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ต้องถูกยุบไปภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมถึงมรดกในการแสวงหาบทบาทของตัวนักศึกษาเองต่อสังคม ซึ่งเป็นคำถามที่ท้าทายนักศึกษาเรื่อยมา

 

การเคลื่อนไหวของ สนนท. ในช่วงแรกเป็นประเด็นสาธารณะต่างๆ เช่น การรณรงค์งดใช้สินค้าฟุ่มเฟือย คัดค้านการขึ้นค่ารถเมล์ การเคลื่อนไหวคัดค้านการซื้อเครื่องบิน F-16 การคัดค้านการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ การผลักดันพรบ.ประกันสังคม เคลื่อนไหวกรณีรัฐบาลทหารพม่าสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน

 

 

พฤษภาประชาธรรม

จากนั้นบทบาทของ สนนท.ก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นก่อนการรัฐประหารของรสช. ในปี 2534 มีการรณรงค์ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลชาติชาย จัดมหกรรมโกงบ้านกินเมือง  แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือการเคลื่อนไหวในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นนี้ เป็นที่มาของการรัฐประหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 

 

ดังที่ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คนทำงาน สนนท.ช่วงนั้น และเป็นเลขาธิการ สนนท.หลังการรัฐประหาร เคยให้สัมภาษณ์ว่า "พูดได้ว่าการเคลื่อนไหวของเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมให้รสช.ยึดอำนาจด้วย คือช่วยสร้างกระแสว่ารัฐบาลชาติชายโกงกิน พอมีรัฐประหารเรารู้เลยว่าความเข้าใจทางการเมืองของเรายังอ่อนอยู่มาก ประเมินสถานการณ์ผิด ไม่คิดว่าเราจะกลายเป็นเครื่องมือของรสช.โดยไม่ตั้งใจ" [1]

 

แต่จากนั้น สนนท.ก็มีบทบาทเป็นกลุ่มแรกๆ ในการคัดค้านการรัฐประหาร ร่วมกับพันธมิตรภาคประชาชนอื่นๆ เช่นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ คัดค้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การสืบทอดอำนาจของรสช. และการรับตำแหน่งนายกฯ ของพล..สุจินดาโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  แม้หลังจากนั้นบทบาทนำในการเคลื่อนไหวจะถูกแย่งชิงไปอยู่ในมือของกลุ่มพล..จำลอง ศรีเมือง  แต่ก็ถือได้ว่า สนนท. มีบทบาทอย่างมากในการเคลื่อนไหวก่อนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภา 35

 

 

รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การเคลื่อนไหวหลักของ สนนท.ไปอยู่ที่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง มีการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ เช่น ประเด็นการขยายสิทธิเลือกตั้งแกผู้มีอายุ 18 ปี ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบเขตละ 1 คน การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง เป็นต้น

 

และการเคลื่อนไหวกดดันเรียกร้องรัฐบาลบรรหารให้มีการปฏิรูปการเมือง และเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลพล..ชวลิต ภายใต้การชูธงสีเขียวร่วมกับหลายๆ ภาคส่วนของสังคม จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด

 

หลังจากนั้น วาระการปฏิรูปการเมืองก็ยังมีการขับเคลื่อนโดย สนนท.อยู่ เช่นการกดดันให้มีการออกกฎหมายลูก เพื่อรองรับกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมา การรณรงค์เผยแพร่ความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือจัดอบรมนักศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ

 

นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อนปี 2540  สนนท.ยังมีการเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น เคลื่อนไหวประเด็นที่ดินสปก. 4-01 (2537-38) คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น (2538-39) คัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน (2539) เคลื่อนไหวเรียกร้องการจัดสร้างอนุสาวรีย์ 14 ตุลา 6 ตุลา (2540) และการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ สนนท.เคลื่อนไหวเกือบทุกปี

 

 

การลงพื้นที่และปัญหาคนจน

พร้อมๆ กับการขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปการเมืองที่ต่อเนื่องมานั้น บทบาทของ สนนท.หลังปี 2540 ได้เน้นไปที่การลงพื้นที่ ทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ที่เกิดปัญหาจากโครงการหรือนโยบายการพัฒนาของรัฐ เช่น โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า (2541) เขื่อนปากมูน ซึ่งมีการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านทั้งที่สันเขื่อนและหน้าทำเนียบรัฐบาล เคลื่อนไหวร่วมกับสมัชชาคนจน (2543,2545) โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา (2543-46) การสังหารฆ่าแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ (2544-45) การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด (2545) การสลายการชุมนุมชาวนาที่ลำพูน (2545) การเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชน (2545)

 

"การเคลื่อนไหวเป็นไปในลักษณะของการเรียนรู้ปัญหาและสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่พอทำได้ของชาวบ้าน เวลาลงพื้นที่ก็พาน้องไปด้วย โบกรถกันไป ไปร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวกับชาวบ้าน กลางคืนมานั่งสรุป นั่งวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด ภาพรวม จากนั้นก็รณรงค์นำเสนอปัญหาของชาวบ้าน" อุเชนทร์ เชียงเสน อดีตเลขาธิการ สนนท.เมื่อปี 2542 เล่าถึงบรรยากาศการทำงานในช่วงนั้น

 

น่าสังเกตว่าในช่วงนี้ คำขวัญ "คนจนไม่ใช่คนอื่น" มีที่มาจากกิจกรรมของ สนนท.ก่อให้เกิดเป็นกระแสสังคมได้ ในการรณรงค์ให้มีการหันมาสนใจปัญหาของคนจน และผลกระทบของโครงการพัฒนาของรัฐหรือทุนซึ่งส่งผลต่อคนจน  การเคลื่อนไหวในประเด็นชาวบ้านในช่วงเวลานั้นจึงได้รับการจับตาและถือได้ว่าอยู่ในช่วงกระแสขึ้น

 

และในช่วงนี้เอง (หลังปี 2543 เป็นต้นมา) องค์การนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทยอยกันออกจากการเป็นสมาชิกและแนวร่วมของ สนนท. บทบาททางการเมืองขององค์การหรือสภานักศึกษาก็ค่อยๆ ลดลง ส่งผลกระทบให้ฐานองค์กรสมาชิกของ สนนท.กลายเป็นกลุ่มอิสระ ชุมนุม ชมรม ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ยังพอสนใจและทำกิจกรรมด้านสังคมการเมืองอยู่

 

 

สนนท.กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หลังจากนั้น สถานการณ์การเมืองในช่วงไล่รัฐบาลทักษิณ นำไปสู่การเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่ง สนนท.เป็นหนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมด้วย และเมื่อภายหลังมีการขอนายกฯ พระราชทาน และนำไปสู่การรัฐประหาร 19 .. 2549  สนนท.ที่ไม่ได้ถอนตัวออกมาก็ถูกโจมตีอย่างมาก

 

"มีการคุยกันในที่ประชุมของพันธมิตรฯ มาโดยตลอดว่าจะไม่มีการขอนายกฯพระราชทาน แต่การปราศรัยบนเวทีกลับมีการพูดเรื่องนี้ขึ้นมา โดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อน ตอนนั้นหลายส่วนก็อยากจะถอนตัว แต่บทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภา ทำให้หลายคนวิเคราะห์ว่าอาจเป็นความตั้งใจของใครบางคนที่พยายามจะดีดให้พวกเราออกไปจากขบวนพันธมิตรฯ เพื่อที่เขาจะได้นำพามวลชนเอง หลายคนก็ปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปว่าจะต้องอยู่ต่อไปเพื่อที่จะเสนอความคิดเห็นได้บ้าง อย่างน้อยก็ขัดขาไม่ให้เกิดความเสียหาย" กชวรรณ ชัยบุตร อดีตเลขาฯ  สนนท.ในตอนนั้น เล่าความในใจส่วนหนึ่งให้ฟัง

 

กชวรรณยังเล่าถึงความพยายามของ สนนท.ในการเปิดพื้นที่และเสนอชุดความคิดหนึ่งต่อมวลชนและสังคมในตอนนั้นด้วยการรณรงค์แคมเปญสีชมพู ที่จะรณรงค์ในอีกประเด็นหนึ่งต่างหากจากพันธมิตรฯซึ่งกำลังขอนายกฯพระราชทาน การรณรงค์เรื่อง No vote ในช่วงแรกขัดแย้งกับแกนนำพันธมิตรซึ่งเป็นจุดแตกหักถึงขึ้นห้าม  สนนท.ขึ้นเวทีปราศรัย รวมทั้งมีการพยายามทำธงมารณรงค์ แต่ก็ถูกเก็บ ซึ่งในส่วนภายใน สนนท.เอง เธอก็ยอมรับว่าก็มีการแตกแยกกันอยู่บ้าง

 

"หลายคนอาจมองว่าเราเออออกับพันธมิตร หรืออยากที่จะอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ อยากขึ้นเวที แต่สิ่งนั้นคือสิ่งที่คนภายนอกคิด และจริงๆมันไม่ใช่ เราก็แตกหักพอสมควร จนถูกรังเกียจจากแกนนำพันธมิตรฯบางคน เราจำเป็นต้องอยู่ และเราก็พยายามทำดีที่สุด ในการหยุดชะลอความรุนแรง ซึ่งคนอื่นอาจมองว่ามันไม่มีผล แต่เรากลับคิดว่ามันมีผลอยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีการปิดล้อมทำเนียบ แล้วนำไปสู่การปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างในอดีต ใช่ แม้จะบอกไม่ได้100%ว่าจะมีคนตายหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจจะไม่มี แต่อารมณ์และบรรยากาศตอนนั้นมันห้าสิบห้าสิบเลยนะ เราจึงคิดว่าสิ่งที่เราทำไปมันพอจะมีคุณค่าอยู่บ้าง

 

"อย่างน้อยที่สุดเราได้เคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับประชาชน และพยายามอย่างที่สุดไม่ให้เกิดการนองเลือดในการเคลื่อนไหวที่บริสุทธิ์ของประชาชน ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราบรรลุภารกิจระดับหนึ่ง" กชวรรณกล่าว

 

คงไม่ผิดถ้าหากมีใครจะเห็นว่าการเข้าร่วมกับพันธมิตร เป็นก้าวที่ผิดพลาดของ สนนท.  แต่อย่างน้อยมันก็เป็นบทเรียนชิ้นสำคัญ ที่ต้องถูกสรุปและเรียนรู้ข้อผิดพลาดร่วมกัน หากหวังที่จะเดินหน้าและก้าวต่อไปได้ เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์พฤษภา 35

 

 

หลังรัฐประหาร 19 ..

แรงสะเทือนจากการเคลื่อนไหวร่วมกับพันธมิตร ทำให้หลังรัฐประหาร การเคลื่อนไหวของ สนนท.แทบจะหยุดนิ่ง กระนั้นก็มีการเคลื่อนไหวออกแถลงการณ์ต้านรัฐประหาร มีการเคลื่อนไหวร่วมกับองค์กรแรงงานอยู่บ้างโดยคนทำงานชุดใหม่ แต่ก็ดูเหมือนจะตกอยู่ในความเงียบมากกว่าการเคลื่อนไหว

 

แต่การเคลื่อนไหวในประเด็นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่ง สนนท.ทำมาตั้งแต่ปี 2544 ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทั้ง สนนท.และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเกี่ยวกับนักศึกษาโดยตรง  กระทั่งล่าสุด สนนท.กำลังเตรียมเคลื่อนไหวรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญ และจัดงานรำลึก 15 ปีพฤษภาทมิฬ

 

น่าสังเกตว่าตั้งแต่ราวปี 2546 เป็นต้นมา  สนนท.เคลื่อนไหวในประเด็นชาวบ้านค่อนข้างลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นทั้งสถานการณ์การเมืองโดยรวม ที่กระแสเรื่องชาวบ้านลดความสำคัญลง แต่ไม่ได้หมายความว่าความเดือดร้อนและขัดแย้งของชาวบ้านหมดไป  รวมถึงการเลือกจับประเด็นของคนทำงานเองด้วย

 

และในช่วงรัฐประหารนี้เอง ที่ สนนท.การปรับโครงสร้างการทำงาน โดยยกเลิกตำแหน่งเลขาฯ ให้มีคณะกรรมการตัดสินใจร่วมกัน อันมีสาเหตุมาจากทั้งบทเรียนการเคลื่อนไหวพันธมิตร และการขาดคนที่พร้อมจะรับตำแหน่ง  แต่ก็เป็นไปได้ที่ในปีต่อๆ ไปอาจกลับมามีเลขาธิการอีกครั้ง ถ้าที่ประชุมสมัชชามีมติเช่นนั้น

 

กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ อดีตคณะกรรมการ สนนท.เมื่อปี 2547 ให้ความเห็นต่อการปรับโครงสร้างว่า "แม้จะมีเลขาฯหรือไม่มีก็ตาม ก็ตัดสินใจเป็นหมู่คณะอยู่แล้ว แต่ภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองมายัง สนนท. พอมีเลขาฯ มันเหมือน สนนท.นำเดี่ยว ทำงานมีแค่คนๆ เดียว แต่จริงๆ สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นตอนนี้คือระบบตรวจสอบ Check & Balance ที่ดี ไม่ได้มอบความไว้ใจให้คนใดคนหนึ่ง มีการถ่วงดุล ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันได้"   

 

ต่อประเด็นนี้อุเชนทร์ก็มีความเห็นว่าการควบคุมตรวจสอบกันเองมีความสำคัญ แม้แต่ในภาคประชาชนด้วยกันเอง "เมื่อก่อนเวลาประชุมกรรมการ บางเรื่องเราเสนอ ทุกคนไม่เห็นด้วย เราก็ถูกล้ม มีมติยังไงเราก็ต้องทำตามนั้น เราเป็นเลขาฯก็จริง แต่เราก็ถูกควบคุมจากองค์กร จากเพื่อน เพื่อนก็ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ เช่น วันนี้สัมภาษณ์ไม่ดี หลุดประเด็น เพื่อนก็เอามาด่าได้"

 

 

ปัญหาและข้อจำกัด

มีบทความ และความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หลายชิ้น[2] ที่กล่าวถึงปัญหาของ สนนท. รวมถึงขบวนการนักศึกษาโดยรวม ปัญหาที่น่าสนใจและพอที่จะประมวลได้เช่น

 

ปัญหาภายในองค์กรเอง นอกจากเรื่องการควบคุมตรวจสอบแล้ว ยังมีเรื่องการขาดวินัยของคนทำงาน การจับประเด็นไม่ต่อเนื่อง โดดไปเรื่องนู่นทีนี่ทีตามกระแส โดยได้แต่ภาพไม่ได้เนื้อ การประสานงานสื่อสารก็ไม่ชัดเจน การขาดฐานความรู้และข้อมูล ขาดการเชื่อมตัวกับนักศึกษาหรือองค์กรแนวร่วมใหม่ๆ ขาดความเป็นอิสระเพราะใกล้ชิดและถูกชี้นำจาก NGO  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่พูดซ้ำกันเรื่อยมา

 

อีกปัญหาหนึ่งคือปัญหาสภาพองค์กรฐานและกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ  กิจกรรมที่องค์การหรือสภานักศึกษาจัดก็มีแต่เรื่องประจำและเป็นด้านบันเทิงเสียมากกว่า เช่นงานรับน้องใหม่ งานประเพณีต่างๆ  กลุ่มที่ทำกิจกรรมด้านสังคมการเมืองก็ค่อยๆ ล้มหายตายจาก กลุ่มที่มีอยู่ก็อ่อนแอ และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

 

" สนนท.เป็นสหพันธ์ ฉะนั้นโดยโครงสร้างมันก็ต้องอิงกับองค์กรฐาน ถ้าอย่างนั้น สนนท.จะเข้มแข็งได้ คำตอบก็คือองค์การฐานต้องเข้มแข็ง แต่ตอนนี้ปัญหาคือองค์กรฐานเองก็อ่อนแอ แค่หาน้องใหม่ เพื่อนใหม่ แต่ละปี ก็เหนื่อยมากแล้ว ความสัมพันธ์กับ สนนท.กับองค์กรฐานก็ค่อยๆน้อยลง" กิตติศักดิ์เล่าถึงปัญหานี้

 

แต่ปัญหาที่มีการโทษกันมากอย่างหนึ่งคือ สภาพสังคม สังคมทุน บริโภคนิยมทำให้นักศึกษาสนใจแต่ตนเอง สนใจคนอื่นสังคมน้อยลง คนทำกิจกรรมจึงค่อยๆ หายไป หรือความซับซ้อนของสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การวิเคราะห์ยากขึ้น และกิจกรรมไม่ก่อให้เกิดผลสะเทือน  รวมถึงการเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเคลื่อนไหวได้ทรงพลัง และเกาะติดปัญหาได้มากกว่าองค์กรแบบนักศึกษา

 

 

สงครามความทรงจำ

นอกจากปัญหาจำนวนมากดังกล่าวแล้ว ปัญหาของแย่งชิงและต่อสู้บนพื้นที่ความทรงจำของสังคม ในเรื่องบทบาทของนักศึกษาต่อการเมืองก็มีความสำคัญ[3] ที่มีส่วนในการกำหนดความคิด ข้อเสนอเกี่ยวกับนักศึกษาในปัจจุบัน

 

ความทรงจำที่ว่าคือการต่อสู้ระหว่างความทรงจำเชิงลบ ที่มองบทบาทของนักศึกษาในอดีตว่าเป็นเรื่องของความวุ่นวาย ก้าวร้าว หัวรุนแรง และมีแต่ความผิดพลาด ทำให้บทบาทของนักศึกษาไม่ควรจะยุ่งกับการเมือง และนักศึกษาเพียงไม่กี่คนไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ 

 

ความทรงจำชนิดนี้เอง ที่มีส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ของนักศึกษา ว่าทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร และกำหนดความคิดของผู้คนในสังคมต่อบทบาทของนักศึกษาอย่างมาก ดังคำกล่าวหาที่พบอยู่บ่อยๆ ว่า "เป็นนักศึกษากลับไปนั่งเรียนในห้องเหมือนเดิมดีกว่า…"

 

ในทางตรงกันข้าม ความทรงจำอีกชนิดหนึ่ง คือความทรงจำเชิงบวก ที่มองภาพขบวนการนักศึกษาในอดีตอย่างยิ่งใหญ่  ซึ่งแม้จะสามารถมีอิทธิพลและส่งเสริมแรงบันดาลให้คนทำกิจกรรมหลายคน ได้มุ่งมั่นแสวงหา และทำกิจกรรมด้านสังคมการเมือง  แต่มันกลับกลายเป็นแอกที่หนักอึ้ง และหลายครั้งเป็นเหมือนมายาภาพที่สร้างให้ขบวนการนักศึกษากลายเป็นเทวดาที่ใหญ่โตเกินจริง

 

ความทรงจำที่ใหญ่โตเกินจริงนี้เองมันลดทอนพลังสร้างสรรค์ กำหนดกรอบในการทำกิจกรรม ทำให้คิดว่าขบวนการนักศึกษาทุกวันนี้ซบเซา เพราะไม่มีหัวขบวน ไม่มีความแหลมคม ไม่มีความสามารถเหมือนยุคก่อน  ดังที่อุเชนทร์ก็ตั้งข้อสังเกตไว้ "หลายคนติดกับมายาคติบางอย่าง เช่น สนนท.จะต้องเป็นผู้นำแบบอดีต 14 ตุลา เป็นผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทำให้คิดว่าตนเองต้องเป็นผู้นำคนอื่นเสมอ ซึ่งอาจไม่รู้ตัวก็ได้ แต่มันแสดงออกไปเอง"

 

ความคงอยู่?

"คำถามถึงการคงอยู่ ท้าทายคนทำงานมาเกือบทุกรุ่น สมัยก่อนจะมีองค์กรเครือข่าย คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.) ทำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการเมือง ซึ่งมันยุบไปแล้ว (เมื่อปี 2545) ถามว่าตอนนี้ชมรมอนุรักษ์มหาลัยไหนบ้างที่มีความคิดเรื่องนี้? คำตอบคือแทบจะไม่มีเลย ผลสะเทือนของกิจกรรมอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่มันก็เชื่อมโยงคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้" กิตติศักดิ์ ออกความเห็นต่อคำถามเรื่องความคงอยู่และจำเป็นขององค์กรอย่าง สนนท.

 

กชวรรณ ก็เห็นเช่นเดียวกัน "ความเป็น สนนท.มันไม่ใช่แค่มีคนทำงาน แต่มันเป็นเรื่องของชุดความคิดชุดหนึ่งที่จะมีอยู่ในสังคม เป็นความคิดและกระบวนการที่มันควรมีอยู่ สมมติยุบล้มเลิก ไปตั้งกลุ่มก... ใช่ มันก็ทำงานได้ แต่ในสาธารณะมันไม่ได้มีความชัดเจนมากขนาดนั้น เหมือนว่าชุดความคิดตรงนั้นมันจะหายสาบสูญไป"

 

ชุดความคิดที่ถูกกล่าวถึง อาจกล่าวได้ว่ามันคือชุดความคิดของบทบาทนักศึกษาที่มีต่อการเมือง ต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งดูเหมือนเป็นภารกิจที่ต่อเนื่องกันมาและไม่เคยจบสิ้น

 

ตรงกันข้ามอุเชนทร์กลับเห็นว่า "ถ้าความเป็น สนนท.ที่มันมีความต่อเนื่อง มันทำให้คุณทำในสิ่งที่คุณอยากทำไม่ได้ แล้วมันบีบบังคับความเป็นอิสระของคุณ แล้วคุณโดนใครต่อใครมากดดัน เพราะคุณเป็น

 สนนท.ก็ยุบมันไปเถอะ ไปทำในสิ่งที่คุณเชื่อ"

 

ถ้าความทรงจำเชิงลบยังมีอิทธิพลต่อสังคมและปัญหาเดิมๆ ของ สนนท.ยังคงอยู่ บางทีคำถามนี้อาจเป็นคำถามที่คนทำงานต้องตอบกันอยู่ร่ำไป

 

บางข้อเสนอเพื่อไปต่อ...

"ขบวนการภาคประชาชนหรือกิจกรรมที่มีอยู่ มันก็ไม่ดึงดูดที่คุณจะไปร่วมเลย หลายคนที่สนใจ อ่านข่าว ติดตาม แต่เลือกที่จะนิ่ง ภาพลักษณ์ของการเมืองพวกนี้มันก็ไม่ต่างจากการเมืองในระบบเลย  เมื่อก่อนปัจจัยแวดล้อมในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ กระแสนักศึกษามันก็ไป แต่ตอนนี้ขบวนการภาคประชาชนที่มีอยู่มันก็ไม่เวิร์ค" อุเชนทร์พูดถึงสภาพเงื่อนไขที่เพื่อนหลายคนเลือกที่จะยืนดูมากกว่าลงไปทำอะไรกับมัน

 

แต่เขาก็ชี้ให้เห็นว่ายังมีความพยายามหลายอย่างที่น่าสนใจอยู่ เช่น หลังรัฐประหารมีเพื่อนนักศึกษา 2-3 คน นำการ์ตูน นำกลอนต่อต้านรัฐประหารมาติดบอร์ดในมหาวิทยาลัย หรือคอยมาร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมต้านรัฐประหารบ้าง  ซึ่งแม้จะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่อาจไม่มีใครมองเห็น อาจไม่ได้สังกัดกลุ่มกิจกรรมใดๆ แต่พวกเขาหาช่องที่ตัวเองพอมีแล้วทำสิ่งที่เห็นว่าสมควรภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของตนเอง

 

ดังนั้นแล้ว บางทีโจทย์ที่น่าสนใจของ สนนท. คือการกลับไปหาเพื่อนนักศึกษา เพื่อนกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ หลายกลุ่ม หรือจะไม่เป็นกลุ่มก็ตาม ที่ต่างพยายามทำกิจกรรมตามแนวทางของตนเองอยู่ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมการเมืองในความหมายเดิม และช่วยสร้างโอกาสหรือช่องทางการเคลื่อนไหวให้พวกเขาเหล่านั้นอย่างหลากหลาย ให้เพื่อนๆ แม้จะ 2-3 คน มีพื้นที่ และมีที่ทางในการแสดงออกด้วยตนเอง โดยมี สนนท.คอยหนุนเสริม

 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ก็เห็นว่าขบวนนักศึกษาควรขยายปริมณฑลการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมออกไป ขยายการให้ความหมายแก่ "การเมือง" ออกไปสู่การเมืองของระบบคุณค่า ความหมาย และขับไล่ผีหรือมายาภาพของนักศึกษาในอดีตออกไป[4]

 

ไปสู่ "การคืนพื้นที่ให้แก่ความหลากหลายและเป็นไปเอง รวมทั้งการให้เสรีภาพแก่ปัจเจกชนที่จะแสดงปัจเจกภาพออกมาในกระบวนการต่อต้านอำนาจได้อย่างเต็มที่ บุคลิกของนักกิจกรรมในแนวทางเช่นนี้จึงต้องมีความเป็นปัญญาชนสูง ช่างคิดช่างเขียน มีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเครือข่ายการต่อต้านอำนาจที่ไม่สิ้นสุดออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยตนเอง"[5]

 

กชวรรณเองก็เห็นว่า " สนนท.จำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้เข้ากับบริบทสังคมตอนนี้ การฟื้นฟูองค์กรฐานต่างๆ อาจให้มีสมาชิก 2 รูปแบบคือแบบองค์กร และแบบปัจเจก และเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้นสำหรับนักศึกษา ที่จะเข้ามาร่วมคิด นำเสนออะไรต่างๆ นอกจากนั้นต้องให้ความสำคัญกับงานวัฒนธรรมด้วย ถ้าสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม การเคลื่อนไหวจะถูกเผยแพร่ได้รวดเร็วขึ้น"

 

นอกจากนี้เธอยังเสนอให้ลองมีการศึกษาโมเดลขององค์การนักศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งหลายองค์กรน่าสนใจ และมีความเข้มแข็ง เช่น SSU (Swedish Social Democratic Youth League) ที่สามารถมีส่วนในการกำหนดนโยบายการศึกษาในระดับชาติของสวีเดนได้ หรือ องค์กรเยาวชนระดับโลก เช่น IUSY (International Union of Socialist Youth) ซึ่งเป็นองค์กรเยาวชนสังคมนิยม ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก

 

 

ถ้าเราจะยังแสวงหากันต่อไป?

แน่นอนว่าการกล่าวถึงแต่เพียงองค์กรอย่าง  สนนท.เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถให้ภาพของกิจกรรมนักศึกษาทั้งหมดได้ และอย่าลืมว่า  สนนท.ก็ไม่ใช่ตัวแทนของนักศึกษาทั้งหมด เป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาที่เห็นร่วมกันในภารกิจบางอย่าง  แต่ภาพของ สนนท.ก็พอจะสะท้อนการดิ้นรนแสวงหาของขบวนการนักศึกษาโดยรวมได้อยู่บ้าง

 

ถ้าหากการแสวงหาหมายถึงภาวะของความคับข้องใจและไม่พอใจตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีอยู่เดิม และความปรารถนาจะผลักดันให้สภาพเช่นนั้นเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ดีขึ้น[6] สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยหมดไป ยังมีคำถามและความคับข้องที่วิ่งพล่านอยู่ในใจของคนทุกยุคสมัย เพียงแต่รูปแบบและคำถามมันอาจแตกต่างกันไป แม้แต่ในยุคที่ไร้คำถามและการแสวงหา ก็ยังมีคำถามว่า ทำไมถึงไม่มีคำถามและการแสวงหา?

 

เพียงแต่การแสวงหา นั่นไม่จำเป็นต้องปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ สะเทือนฟ้าสะเทือนดิน มันสามารถหลากหลายกระจัดกระจายได้ ต่างคนต่างค้น ต่างคนต่างหา ตามวิถีทางของตนเอง  ถกเถียงแลกเปลี่ยนสับสนหลงทางกันบ้าง แต่ก็หวังจะไปกันต่อ โดยมีบทเรียนและข้อผิดพลาดให้เรียนรู้  ดังนั้นต่อให้บทบาทของ สนนท.จะเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียกว่าการแสวงหาก็ไม่เคยจบสิ้นเลย

 

บางทีถ้า 75 ปีที่ผ่านมาเราเดินทางกลับมาสู่จุดเดิม การแสวงหามันก็กำลังเริ่มต้นใหม่อีกครั้งมิใช่หรือ?

 

            เราฝันเราใฝ่จะไปถึง                      เราจึงยังหาความหมาย

ยังหวังสิ่งใดไว้มากมาย                  ทั้งที่เคยล้มละลาย-สลดใจ

            ยอดอนุสาวรีย์ยังชี้ฟ้า                    ฐานยังทานศรัทธาดูยิ่งใหญ่

เพียงรอการแสวงหาจะฝ่าไป                        เพื่อความหมายร่วมสมัยแห่งชีวิต[7]

 

 

 





[1] นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนพฤษภาคม 2535 หน้า 99


[2] ดูตัวอย่างได้ใน จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ.ขบวนการนักศึกษาไทย ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย.สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน,2549

วานนี้ วันนี้ และพรุ่งนี้ของสนนท.,สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) บนเส้นทางแห่งการยุบตัว,


[3] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ.สงครามความทรงจำกับปฏิบัติการทางการเมือง ขบวนการนักศึกษาไทยหลัง 6 ตุลา-ปัจจุบัน ในวารสารการเมืองใหม่ ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2543


[4] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์.คิดนอกกรอบ:วิวาทะว่าด้วยบทบาทของขบวนการนักศึกษาไทย ในประชาภิวัตน์:บทเรียน 25 ปี 14 ตุลา.โครงการวิถีทรรศน์,2541


[5] ศิโรตม์,อ้างแล้ว หน้า 185


[6] ศิโรตม์,อ้างแล้ว หน้า 179


[7] ไพวรินทร์ ขาวงาม.คำใดจะเอ่ยได้ดั่งใจ.สำนักพิมพ์เทียนวรรณ,2529

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท