เผด็จการทหารทั้งหลายจ๋า ... ดูปากีสถาน แล้วก็มองย้อนกลับมาดูที่บ้านท่านบ้าง !

วิทยากร  บุญเรือง

 


กองกำลังรักษาความปลอดภัยปากีสถานเตรียมตัวรับมือกลุ่มผู้ประท้วงบนท้องถนน และยังได้รับไฟเขียวให้ยิงผู้ประท้วงทันทีที่พบเห็น [ ที่มาภาพ : AFP/Rizwan Tabassum ]

 

ความวุ่นวาย

 

40 กว่าศพคือจำนวนผู้เสียชีวิตในปากีสถาน จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลปะทะกันบนท้องถนนที่เมือง Karachi เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ท้องถนนในเมือง Karachi ต้องเงียบยังกะเป่าสาก ร้านรวงห้างขายข้าวของรวมถึงโรงเรียนต้องปิดพักทำการไว้ก่อน ยังคงแต่มีชายชุดลายพรางตรึงกำลังไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยจากการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชน และพวกเขาได้รับคำสั่งให้สามารถปฏิบัติการรุนแรงได้ทันทีหากพบเห็นผู้ประท้วง ออกมาเต้นเย้วๆ บนท้องถนน

 

โดยสาเหตุของการปะทะกันของมวลชนการเมืองครั้งนี้ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการของปากีสถาน โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2007 ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ปฏิบัติการโหดด้วยการปลด นายอิฟติคาร์ มูฮัมหมัด ชอร์ดรี้ (Iftikhar Muhammad Chaudhry) ประธานศาลสูงสุดของปากีสถาน (Supreme Court of Pakistan) ออกจากตำแหน่ง

 

ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีของประเทศปากีสถาน ที่ประธานาธิบดีได้ก้าวล่วงไปยุ่มย่ามปลดประธานสูงสุดของฝ่ายตุลาการ --- โดยมูชาร์ราฟได้ให้เหตุผลในการก้าวก่ายฝ่ายตุลาการครั้งนี้ ด้วยการอ้างว่านายชอร์ดรี้ได้ใช้อำนาจโดยมิชอบ , เล่นพวกพ้อง , ขาดจริยธรรม ด้วยการพยายามทำให้บุตรชายตัวเองได้รับตำแหน่งในระดับสูง

 

แต่เหตุผลของฝ่ายต่อต้านมูชาร์ราฟ ได้ให้ไว้เกี่ยวโยงถึงเรื่องการเมืองและการคงอยู่ในอำนาจของมูชาร์ราฟ  โดยการปลดนายชอร์ดรี้ครั้งนี้ เป็นการเปิดทางให้ตนสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยเป็นเวลา 5 ปี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ซึ่งภายหลังถูกปลดออกจากตำแหน่ง ก็ทำให้นายชอร์ดรี้ต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมูชาร์ราฟและเป็นแนวร่วมจะกลับมุม , มุมกลับ , หรือมุมเดียวกัน กับขบวนการต่อต้านรัฐบาลของมูชาร์ราฟไปเสียแล้ว

 

นายอิฟติคาร์ มูฮัมหมัด ชอร์ดรี้ (Iftikhar Muhammad Chaudhry) ประธานศาลสูงสุดของปากีสถานในรอบ 50 ปีที่ถูกประธานาธิบดีปลดออก และขณะนี้กลายเป็นหนามยอกอกคนสำคัญของประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) [ ที่มาภาพ : AFP/File/Farooq Naeem ]

 

และไม่ใช่แค่เป็นการต่อสู้ของเขาคนเดียว สำหรับฝ่ายตุลาการและนักกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม หลังจากที่เขาโดนปลดได้ 3 วันฝ่ายตุลาการและนักกฎหมายในเมืองใหญ่ๆ อย่าง Islamabad Lahore, Karachi และ Quettaก็ได้เริ่มบอยคอตศาล รวมถึงฝ่ายตุลาการและนักกฎหมาย หลายร้อยคนได้แต่งชุดดำเดินขบวนประท้วงเพื่อสนับสนุนนายชอร์ดรี้ --- และก็ได้รับบาดเจ็บไปหลายคนในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

ความรุนแรงมาปะทุขึ้นอีกครั้งที่เมือง Karachi กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลของมูชาร์ราฟขัดขวางไม่ให้นายชอร์ดรี้เดินทางออกจากสนามบินในเมือง Karachi เพื่อร่วมปราศรัยกลุ่มผู้สนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านและร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งศาลสูงสุดแห่งปากีสถาน

 

ทันทีที่นายชอร์ดรี้ได้เดินทางไปถึงสนามบินในเมืองการาจี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ผู้สนับสนุนรัฐบาลของมูชาร์ราฟ ได้ปิดเส้นทางจากสนามบินเข้าตัวเมือง มีการเผายางรถยนต์ตลอดเส้นทางเพื่อขัดขวางไม่ให้นายชอร์ดรี้เดินทางไปปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน --- ทำให้ฝ่ายสนับสนุนนายชอร์ดรี้และผู้สนับสนุนฝ่ายค้านไม่พอใจ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น

 

โดยมวลชนสำคัญสองกลุ่มที่ทำการปะทะกันนี้ ก็คือมวลชนของพรรค Muttahida Qaumi Movement (MQM) ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ กับฝ่ายตรงข้าม คือมวลชนของพรรคฝ่ายค้าน Pakistani People's Party (PPP) และพันธมิตรกลุ่มศาสนาปีกขวาอย่างกลุ่ม Muttaheda Majlis-e-Amal (MMA)

 

เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก โดยสัดส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจะอยู่ฝ่ายที่ต่อต้านประธานาธิบดีมูชาร์ราฟเสียมากกว่า

 

กลุ่ม  Human Rights Watch ได้ออกมาประณามความรุนแรงครั้งนี้โดยกล่าวว่า ความรุนแรงครั้งนี้เกิดจากการไร้ความสามารถของรัฐบาลปากีสถาน หรือไม่ก็เกิดการสมรู้ร่วมคิดของรัฐบาลเอง --- ส่วนประธานาธิบดีมูชาร์ราฟก็ได้ออกมาโต้ตอบ กล่าวหาว่านายชอร์ดรี้นั้นได้รับคำเตือนไม่ให้เดินทางไป Karachi อยู่ก่อนแล้ว แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านและกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ได้ใช้นายชอร์ดรี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและยุให้เดินทางไป ซึ่งเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ต่างหาก

 

ฝ่ายตุลาการ + ฝ่ายค้าน + ประชาชน เป็นสมการที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ นักสำหรับบางประเทศ และขอแสดงความยินดีด้วยสำหรับชาวปากีสถานผู้รักประชาธิปไตย-ความยุติธรรม  ที่สถาบันหลักอย่างสถาบันแห่งความ "ยุติธรรม" ยังคงยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชน , สู้เพื่อประชาธิปไตย --- ซึ่งเทียบไม่ได้กับบางประเทศ ที่สถาบันที่ควรรับใช้ประชาชน อย่างสถาบันแห่งความ "ยุติธรรม" นั้น กลับไม่เคยสู้เพื่อประชาชน สู้เคียงข้างประชาชนแม้แต่ซักครั้งเดียว  พวกเขามีแต่สู้เพื่อตัวเองและชนชั้นนำ ซึ่งเป็นชนชั้นที่พวกเขาสังกัดอยู่ ... เท่านั้น!

 

เผด็จการคนสุดท้ายของศตวรรษที่ 20

 

ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ประธานาธิบดีผู้ซึ่งปูทางอำนาจของตนด้วยการทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1999 ซึ่งเป็นเผด็จการทหารคนสุดท้ายในศตวรรษที่ 20 ( ค.ศ. 1900 - 1999 ) [ ที่มาภาพ : http://www.dictatorofthemonth.com ]

 

เช่นเดียวกันกับบางประเทศ  การทำรัฐประหารของมูชาร์ราฟเมื่อปี ค.ศ. 1999 นั้นสามารถอวดอ้างได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ เหมือนกับที่บางประเทศอวดอ้าง --- และเช่นเดียวกันอีก ในครั้งที่เขาทำการรัฐประหารนั้น เขาก็กล่าวอ้างถึงการคอรัปชั่นของนักการเมือง

 

สมาชิกหลายร้อยคนในคณะบริหาร , รัฐมนตรี  และที่ปรึกษาทางการเมืองจำนวนมาก ของนายนาวาซ  ชารีฟ (Nawaz Sharif) นายกผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เขาได้ทำการรัฐประหารนั้น ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศหลังจากที่บัญชีในธนาคารของพวกเขาถูกสั่งอายัด มีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนถูกจับหรือถูกควบคุม

                  

ในการทำรัฐประหารยึดอำนาจในครั้งนั้นเขาได้รวบอำนาจเกือบทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองทัพ (ซึ่งมีเขาเป็นผู้นำสูงสุด) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับรัฐและประเทศ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีประธานและรองประธานวุฒิสภาถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งหมด

 

คงเหลือแต่ศาล ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ไม่มีอำนาจคัดค้านผู้บัญชาการกองทัพที่อยู่ในฐานะผู้นำสูงสุด เนื่องจากเกรงว่ากองทัพอาจถูกตัดสินว่ากระทำผิดกฎหมายฐานโค่นล้มรัฐบาล ส่วนอำนาจทั่วไปที่ไม่ขัดกับประกาศภาวะฉุกเฉินจะยังคงอยู่ต่อไป --- ซึ่งสถาบันศาลนี้แหละที่เหมือนกับว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาของมูชาร์ราฟมาตั้งแต่ครั้งนั้น

 

แต่เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุด ของประธานาธิบดีที่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารด้วย นับตั้งแต่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาเมื่อปี 8 ปีก่อน --- ในตอนนี้มีการกล่าวถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่มูชาร์ราฟก็ยังไม่ได้ใช้มัน ซึ่งจะให้ว่าก็ว่าเถอะว่า ขณะนี้มันก็เหมือนกลายๆ ว่ามันถูกบังคับใช้แล้ว เพราะกองทัพอยู่ในมือเขาหนิ!

 

แต่หากอยู่กับอำนาจนานไป ถูไถอย่างไม่มีเหตุผลและไม่มีอะไรดีขึ้น  ก็เหมือนกับรอให้ประชาชนลุกขึ้นมาโค่นนั่นแหละครับ ... มูชาร์ราฟจ๋า! อย่าดันทุรังอยู่เลย ชวนพลพรรคทหารหาญทั้งหลาย ถอยกลับกรมกองเหอะ ( ฝากบอกพวกเดียวกันที่อยู่ในต่างประเทศด้วย ;-)

 

..........................

 

ประกอบการเขียน :

 

1999 Pakistani coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/1999_Pakistani_coup_d%27%C3%A9tat

 

Iftikhar Muhammad Chaudhry

http://en.wikipedia.org/wiki/Iftikhar_Chaudhry

 

Pervez Musharraf  

http://en.wikipedia.org/wiki/Pervez_Musharraf

 

Tension and violence rock Karachi

http://news.bbc.co.uk/2/hi/south_asia/6650445.stm

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท