Skip to main content
sharethis

พฤกษ์  เถาถวิล


 


 


ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญและรูปแบบการเมืองการปกครอง ที่สังคมไทยกำลังสนใจอยู่ในเวลานี้ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้เขียนใคร่จะกล่าวถึงปัญหาในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะสำคัญไปกว่าเรื่องที่เรากำลังสนใจ ในบทความนี้ผู้เขียนขอเรียกว่า "การเมืองบ้านนอก" ไม่ใช่เพราะการอ้างอิงความเป็นไปในจังหวัดห่างไกลศูนย์อำนาจ แห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีนัยที่แสดงถึงความห่างไกลความเป็นประชาธิปไตย อย่างที่เราหวังไว้เมื่อ 15 ปีก่อน ดังนี้


 


การเมืองท้องถิ่น


รัฐบาลคนดีวิตกกังวลอย่างมากกับเรื่อง "คลื่นใต้น้ำ" และ "การใส่เกียร์ว่าง" ของข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่มาของมาตรการผิดยุคผิดสมัย เช่น การคิดจะแต่งตั้งทหารเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายความมั่นคง การจะต่ออายุกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงการลงดาบโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ฯลฯ แต่มาตรการเหล่านี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลประเมินทั้งสองเรื่องนี้ผิดไป


 


ในช่วง 10 ปีกว่ามานี้ การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนไปมาก ในตอนนี้การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. เทศบาล หรือ อบจ. มีนัยสำคัญต่อท้องถิ่นมากขึ้น และมันได้กลายเป็นเวทีเชื่อมต่อระหว่างการเมืองระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่น


 


ขอเน้นไปที่ อบจ. กับเทศบาล จะชั่วจะดีอย่างไร องค์กรทั้งสองนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดมากขึ้น ทั้งนี้โดยผ่านอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาจังหวัด ซึ่งกำหนดไว้อย่างกว้างขวางครอบคลุม ทั้งสององค์กรนี้มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณทั้งที่เป็นรายได้ของท้องถิ่น และรายได้จากการอุดหนุนของรัฐบาลปีละหลายพันล้านบาท


 


ในทำนองเดียวกับที่ประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้าแบ่งอำนาจรัฐในระดับชาติ ผู้เขียนเสนอว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นผลพวงของเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็เป็นกระดานหกในลักษณะเดียวกัน ให้กลุ่มพ่อค้าและนักธุรกิจ นักเลง มาเฟีย ฯลฯ เข้าสู่อำนาจรัฐในท้องถิ่น


 


ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในยุคที่รัฐบาลไทยรักไทยเข้มแข็งเป็นพิเศษ ก๊วนการเมืองของไทยรักไทยก็หยั่งรากลึกลงในการเมืองท้องถิ่น เห็นได้จากเกือบทุกเขตเลือกตั้งเป็นพื้นที่ของไทยรักไทย เทศบาล และ อบจ. ที่ผลัดหน้ากันเข้ามาก็เป็นเส้นสายของไทยรักไทย อาจพิจารณาแผนพัฒนาจังหวัด 3 ปี ของ อบจ. ในช่วงในปี 2549-2551 มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 4,000 ล้านบาทโดยประมาณ ไม่น่าประหลาดใจว่าแผนงบประมาณจะผ่านความเห็นชอบจากจังหวัดอย่างสะดวกโยธิน ไม่น่าแปลกใจว่า โครงการจะเน้นไปที่การตัดถนน ก่อสร้างและปรับผังการใช้ที่ดิน ซึ่งจะตามมาด้วยการเก็งกำไรที่ดิน การก่อสร้างโรงแรม การแปรที่ดินสาธารณให้เป็นย่านธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่พวกพ้อง และทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นบนการแย่งยึดที่ดินจากคนจนเมือง


 


สาระสำคัญคือ การที่นักการเมืองท้องถิ่นเหล่าคือผู้กุมความเปลี่ยนแปลงของจังหวัด ผ่านการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง และสอดคล้องสนับสนุนไปกับผลประโยชน์และการเมืองระดับชาติ แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันหากพรรคการเมืองใหญ่ที่ให้ความคุ้มครองมีอันเป็นไป ก็คงยากที่จะทำให้เครือข่ายอำนาจในจังหวัดถอยร่นกลับไปเหมือนเมื่อทศวรรษก่อน เพราะโดยธรรมชาติเครือขายผลประโยชน์พร้อมจะฟอร์มตัวใหม่ตราบที่ยังแบ่งผลประโยชน์กันได้ อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันพ่อค้านักธุรกิจไม่ใช่ลูกไล่ของข้าราชการในพื้นที่ แต่พวกเขาอยู่ในฐานะ ผู้กำหนดวาระการพัฒนา และเศรษฐกิจการเมืองของจังหวัด


 


ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่พ่อค้าประชาชนจะแห่แหนมาฝากเนื้อฝากตัวกับพ่อเมือง แต่คือยุคที่ผู้ว่าราชการจะต้องเกรงใจ ผู้ยิ่งใหญ่ของจังหวัด สำหรับข้าราชการส่วนกลางและส่วนผู้มิภาคที่อยู่ในท้องถิ่น ที่คิดจะมีชีวิตที่สงบสุขในจังหวัดนั้น ก็คงต้องคิดหนักว่าจะวางเนื้อวางตัวอย่างไร


 


นี่คือสถานการณ์ใหม่ในท้องถิ่น คือโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางอำนาจในท้องถิ่น และระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ถ้าเช่นนั้น "คลื่นใต้น้ำ" และ สาเหตุ "การใส่เกียร์ว่าง" คืออะไร? คมช. ท่านกำลังต่อสู่กับอะไร ?


 


โลกาภิวัตน์


โลกาภิวัตน์ไม่อาจหลีกเลี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร จะทำให้มันเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดในสังคม โลกาภิวัตน์อ้างว่า จะนำสิ่งดีๆมาสู่สังคมอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง ประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นผลจากการแข่งขันเสรี สอง ธรรมาภิบาล คือ การบริหารจัดการ/การปกครอง ที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงเชียร์ระบอบทักษิณ ซึ่งเอาโลกานุวัตน์อย่างตรงไปตรงมา ย่อมดีกว่าทุนนิยมในคราบศักดินา/อำนาจ/อุปถัมภ์นิยม อย่างที่เป็นอยู่


 


แต่พวกเขาลืมไปว่า ทักษิณรับมือกับโลกาภิวัตน์ด้วย "ทุนนิยมพวกพ้อง" (crony capitalism) การรับมือในเงื่อนไขนี้ ทำให้ด้านบวกของโลกาภิวัตน์ไม่ปรากฏในสังคมไทย มีแต่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่สมัครพรรคพวกมากขึ้น ในขณะที่กีดกันกดขี่ชาวบ้านคนยากคนจนเป็นทวีคูณ


 


โลกาภิวัตน์ที่อุบลฯ แสดงให้เห็นในโครงการพัฒนาด่านพรมแดนช่องเม็กให้เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยวของอีสานตอนใต้สู่อินโดจีน ซึ่งมีเป้าหมายคือทำให้ด่านพรมแดนเป็นประตูที่เปิดกว้างที่สุด ให้มีการผ่านแดนได้สะดวกรวดเร็วที่สุด ขณะนี้กำลังดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนสากลในระยะที่ 1 โครงการนี้แสดงให้เห็นความเป็นไปที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ


 


ประการแรก วิถีคิดในการพัฒนาของรัฐไทยผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับโลกาภิวัตน์ ก็คือต้องสร้างการเชื่อมโยงทางการค้าและการท่องเที่ยวไว้ก่อน จังหวัดไหนๆก็ต้องแย่งชิงตำแหน่งนี้ให้ได้ โลกาภิวัตน์ กลายเป็นเป้าหมายในตัวเอง (เหมือนที่การพัฒนาเคยเป็น คือยังไงก็ต้องพัฒนาไว้ก่อน) ไม่ต้องถามว่า จะทำมาค้าขายอะไร ท่องเที่ยวแล้วจะเป็นยังไง ใครจะได้ ใครจะเสีย ใครมาขวางทางก็กลายเป็นพวกก่อความวุ่นวาย


 


ประการที่สอง ทุนท้องถิ่นก็สามารถปรับตัวไปกับโลกาภิวัตน์ เรามักเชื่อว่าทุนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนมาเฟีย หากินกับของเถื่อน ทรัพยากร การใช้อิทธิพล จะไปกันไม่ได้หรือถูกกวาดล้างไปในกติกาโลกาภิวัตน์ แต่กรณีอุบลฯกลับไม่เป็นอย่างนั้น


 


ทุนท้องถิ่นกลับเปลี่ยนรูปแปลงกาย สร้างเครือข่าย สร้างตัวแทน อาศัยเวทีการเมืองท้องถิ่นเข้าสู่อำนาจ ในกรณีโครงการด่านพรมแดนสากลช่องเม็ก ถูกผลักดันอย่างแข็งขันโดย อบจ. งบประมาณนับพันล้านส่วนหนึ่งมาจากการเสนอโครงการของ อบจ. ส่วนหนึ่งมาจากราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนการสร้างสถานที่ราชการ


 


ประเด็นนี้นอกจากเห็นการใช้โลกาภิวัตน์เป็นช่องทางหากินของทุนท้องถิ่น (ผ่านอำนาจ อบจ.) ยังแสดงกรณีเฉพาะของการจับมือของทุน/นัก การเมืองท้องถิ่น กับข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ที่ได้ประโยชน์ไปตามๆกัน


 


ประการที่สาม โลกาภิวัตน์จึงเป็นเครื่องมือบดขยี้คนจน กรณีด่านพรมแดนสากลช่องเม็ก เกิดขึ้นพร้อมกับการใช้หลักการผ่านแดนตามหลักสากล โดยอิงกฎหมายอย่างเคร่งครัด ผลก็คือบรรดาผู้ค้าขายรายย่อยและแรงงานไทย-ลาวในพื้นที่พรมแดนนับพันนับหมื่น ซึ่งเคยเป็นกลไกเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคการเชื่อมต่อทางการค้าไม่สมบูรณ์ พวกเขาประกอบอาชีพโดยการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย (เช่นการผ่านพรมแดนไปมาตามประเพณี การลักลอบขายของหนี้ภาษี) ไม่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ในขณะที่กลุ่มทุนใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าภายใต้ระเบียบการค้าใหม่ก็เข้ามาแทนที่ ผู้ค้ารายย่อยและคนจนที่ช่องเม็กจึงมีทางเลือกไม่มากนัก คือกลับบ้านเก่า หรือเข้าสู่อาชีพผิดกฎหมาย เช่น ค้าแรงงานเถื่อน ค้าบริการทางเพศ ค้าของเถื่อน


 


การควบคุมชนบท


ในมุมของชนชั้นกลางและกลุ่มอนุรักษ์นิยมมองว่า "ประชานิยม" คือเครื่องมือในการแย่งชิงมวลชนในชนบท แต่ผู้ปกครอง/นโยบายใดเล่าไม่ต้องการควบคุมมวลชน เมื่อประชานิยม ปะทะ sufficiency economy ทำให้ชาวชนบทอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก


 


ปฏิบัติการทางอุดมการณ์ของรัฐในชนบททุกยุคสมัย มีผลในทำนองเดียวกันคือทำให้มวลชนเป็น passive agent ในทางการเมือง ประชานิยม ก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านกลายเป็นผู้คอยรับส่วนบุญ อย่างไรก็ตามยังมีข้อดี ชนชั้นล่างได้มีตัวตนในนโยบายของรัฐ เพราะมันเปิดมิติใหม่ของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง และอย่างน้อยชาวบ้านก็ยังมีเงินใช้คล่องมือ (แม้จะเป็นหนี้ก็ตาม เพราะยังไงชีวิตชาวบ้านก็มีแต่หนี้อยู่แล้ว ในมุมของชาวบ้านจึงไม่ใช่ปัญหา)


 


ในยุครังเกียจประชานิยม การควบคุมคลื่นใต้น้ำในต่างจังหวัด กระทำโดยกลไกรัฐ ได้แก่ทหาร และฝ่ายปกครอง โดยในหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เป็นกลุ่มที่รัฐพยายาม ควบคุมและใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมวลชน การไปไหนมาไหนของชาวบ้านต้องอยู่ในสายตา และอธิบายได้ว่ากำลังทำอะไร ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวจะถูกตักเตือน ถ้ายังไม่ยุติก็ถูกสอบสวนหรืออาจถูกจับกุม ในแง่นี้หมู่บ้านจึงกลายเป็นพื้นที่แห่งการควบคุมไม่ต่างกับในยุคสงครามเย็นหรือในยุคจอมพลสฤษดิ์


 


ในขณะที่ sufficiency economy ถูกใช้เป็นปฏิบัติการเชิงรุกในการแย่งชิงมวลชน กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหักหอกสำคัญของภารกิจนี้ กรมฯมีแผนยุทธศาสตร์ จัดตั้งหมู่บ้านต้นแบบ โดยมีจำนวนหมู่บ้านเป็นตัวชี้วัด ความสำเร็จ การดำเนินการเกิดขึ้นโดยผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้าน และสนับสนุนงบประมาณแก่กลุ่มชาวบ้านที่สนใจจะหันมาสู่การผลิตแนวใหม่


 


ในกรอบของการควบคุมชนบท sufficiency economy มีผลทางการเมืองมากกว่าผลในทางเศรษฐกิจ (จริงๆก็ไม่มีใคร- ทั้งชาวบ้าน ทั้งเจ้าหน้าที่ - เชื่ออยู่แล้วว่าทฤษฎีนี้จะประสบผลสำเร็จทางเศรษฐกิจ) ในด้านหนึ่งมันกลายเป็นเครื่องมือในการจำแนกกลุ่มชาวบ้านที่ "อยู่ข้างรัฐ" และ "ไม่อยู่ข้างรัฐ" (พวกคลื่นใต้น้ำ) ในอีกด้านหนึ่ง sufficiency economy ที่ไม่พูดถึง/ไม่อนุญาตให้พูดถึง ปัญหาหนี้สิน ที่ดินทำกิน การถูกแย่งชิงทรัพยากร หรือค่าแรง ฯลฯ ที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ (เมื่อใดก็ตามที่คุณพูดถึงเรื่องเหล่านี้คุณก็จะเป็นคนไม่รู้จักพอ) ได้เบี่ยงเบนปัญหาความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ให้ชาวบ้านหันมาโทษความไม่รู้จักพอของตนเอง


 


ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านอยู่ในยุคที่ย่ำแย่มากที่สุด ทั้งถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วม (และส่วนได้) ทางเศรษฐกิจการเมือง ถูกควบคุมสอดส่องพฤติกรรม ไม่ต่างกับยุคสงครามเย็น และถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ที่ทำให้ไม่อาจแม้แต่จะพูดว่า ตัวเองเดือดร้อนเรื่องอะไร ต้องการสิ่งใด กลับไปโทษเวรโทษกรรม รอคอยผู้มีบุญบารมีมาช่วยเหลือ ไม่ต่างจากสังคมยุคไพร่


           


คนชั้นกลาง


อุบลราชธานีเป็นเมืองราชการ คือ เป็นที่ตั้งหน่วยงานที่เป็นศูนย์ราชการของอีสานตอนล่าง ประชากรในตัวจังหวัดมากกว่าครึ่งเป็นข้าราชการ หรือมาจากครอบครัว หรือมีญาติเป็นข้าราชการ อุบลฯเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคอีสานตอนใต้ และยังเป็นจังหวัดที่มีวัดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย (โดยเฉพาะในตัวจังหวัด) คนเมืองอุบลฯยังถือตัวเป็น "เมืองนักปราชญ์" และภาคภูมิใจในการเป็นหัวเมืองสำคัญของรัฐบาลกลางมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์


 


อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่รุ่มรวยงานประเพณีและงานเฉลิมฉลอง ตามวาระโอกาสต่างๆ ทุ่งศรีเมืองของจังหวัดเป็นศูนย์กลางของการจัดพิธีกรรมต่างๆ ข้าราชการ นักศึกษา นักเรียนถูกเกณฑ์ไปรวมงาน จนบางสถาบันต้องจัดคิวการเข้าร่วม อุบลฯอาจจะคนมีสวมเสื้อสัญลักษณ์พร้อมเพรียงที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ตามสถานที่ราชการ ในเวปไซด์ ในย่านสาธารณะ เต็มไปด้วยรูปสัญลักษณ์ การสดุดี การประกาศเชิญชวน


 


โดยสอดคล้องกันไป งานที่ราชการจังหวัดหวัดอุบลฯ ทำได้ดี มีประสิทธิภาพ และกระตือรือร้นที่สุด ก็คือการจัดงานประเพณีและการเฉลิมฉลอง เป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจ เพราะงานแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อย่างอื่นมีแต่นำไปสู่ความยุ่งยาก ในขณะที่การจัดงานเฉลิมฉลอง (หรือจัดงานประเภทแข่งแรลลี่ ประมูลทะเบียนรถเลขสวยที่ท่านผู้ว่าฯอุตสาห์ไปเป็นประธาน) จะได้ทั้งหน้าตา ได้ทั้งงบประมาณ แถมไม่ต้องไปทะเลาะกับใคร ดังนั้น งบประมาณ ทรัพยากร สติปัญญา พลังสร้างสรรค์ ทั้งของรัฐและสังคมจึงหมดไปกับกิจกรรมอันต่อเนื่องไม่รู้จบ อันเป็นที่มาของความหลง ความมืดบอด และความคลั่งแบบรวมหมู่


 


คนเมืองอุบลจึงเป็นแบบฉบับแห่งอนุรักษ์นิยมขนานแท้ พวกเขาเกลียดชาวบ้านปากมูลเข้ากระดูกดำ เกลียดพวกชุมชนแออัด พวกแม้ค้าที่เรียกร้องที่ขายของ เกลียดพวกม๊อบสนามหลวง ฯลฯ และคงเดาไม่ผิดว่า พวกเขาคงสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นายกฯไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง ฯลฯ ศัตรูของพวกเขาก็คือ พวก จน/เครียด/เมา พวกไม่รักชาติทั้งหลาย


 


15 ปีหลังพฤษภา 35


ที่กล่าวมานี้คือปัญหาสำคัญๆที่จังหวัดอุบลฯ ซึ่งคงไม่ต่างกับจังหวัดอื่นๆในประเทศไทยนัก ถ้าเช่นนั้นสังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไร ?


 


เวลาที่ผ่านมาสังคมไทยเปิดรับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ แน่นอนสรรพสิ่งมีด้านบวกและด้านลบ แต่สังคมไทยกลับปล่อยแต่ด้านลบเติบโต โดยไม่อนุญาตให้ด้านบวกของความเปลี่ยนแปลงงอกงามในสังคมไทย


 


การเติบโตของการเมืองท้องถิ่น แทนที่การเมืองจะเป็นของภาคประชาชน กลับตกเป็นช่องทางทำมาหากินของกลุ่มธุรกิจการเมือง ประชาชนจึงได้แต่เป็นลูกหาบและคอยรับส่วนบุญ โลกาภิวัตน์ที่เปิดพื้นที่และโอกาสให้กับชนทุกหมู่เหล่า กลับกลายเป็นแบบแผนใหม่ของการหาประโยชน์ของกลุ่มทุน และกลายเป็นเครื่องมือขูดรีดกีดกันชาวบ้านหนักหนาสาหัสขึ้น ชาวชนบทยิ่งถูกควบคุมและเฉื่อยเนือยทางการเมืองเป็นทวีคูณ ขณะที่พลังสร้างสรรค์ของรัฐ สังคม และชนชั้นกลางก็ได้แต่หมกมุ่นกับชาตินิยมคับแคบ


 


โลกและสังคมไทยเปลี่ยนไป แต่มีพลังบางอย่างฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลง คนไทยไม่ได้รับอนุญาตให้ฉลาด คนไทยไม่ถูกปลดปล่อยจากการเป็นไพร่ทาส อะไรแน่คือวาระสำคัญของสังคมไทยในเวลานี้?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net