Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 14 พ.ค. 2550 เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) พร้อมด้วยตัวแทนจากองค์กรพันธมิตรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสลัมสี่ภาค ฯลฯ กว่า 100 คน พร้อมด้วยนักปั่นกิตติมศักดิ์ อาทิ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวรรณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ดร.สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ ได้ร่วมกันขี่จักรยานรณรงค์ จากสวนรถไฟจตุจักร ไปจนถึงหมุดประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ให้มีความโปร่งใส มีการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐสภาต้องได้พิจารณาก่อนการลงนามผูกพัน


 


ทั้งนี้ ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโสได้ให้โอวาทก่อนปล่อยขบวนจักรยาน "ปั่นด้วยแรงวันนี้ ดีกว่าถูกปั่นชีวีวันหน้า" โดยกล่าวว่า "มีความสุขที่เห็นพวกเราลุกขึ้นมาแล้วก็ช่วยกัน ปีนี้ผมอายุ 85 ปี ผมรู้สึกว่ามองปัญหาปัจจุบันน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะพื้นฐานของเราเป็นพื้นฐานการเกษตร ผมพูดว่าเกษตรกรเป็นรี้พลของประเทศ ถ้าเกษตรกรตายประเทศก็จบสิ้นแล้ว เวลานี้ร่วงเลยมาถึงตรงนี้สิทธิเสรีภาพที่คนกำลังต้องการและรักษาเอาไว้พยายามทำท่าจะสูญ


 


คนเราร่างกายอาจมีอิสระ แต่จิตใจถูกมอมเมาเหมือนตกเป็นทาส แต่ไม่ทั้งหมด อย่างน้อยวันนี้ก็มีพี่น้องเราช่วยกัน เป็นส่วนหนึ่งของการกู้ชาติ กู้แผ่นดิน ขอให้รู้ว่าการปั่นจักรยานวันนี้เป็นเกียรติ เราปล่อยเอฟทีเอเข้ามาเกษตรกรป่นปี้หมด ถ้าเกษตรกรตายบ้านเมืองก็สูญ เพราะเกษตรกรถูกอบรมให้รักแผ่นดิน ตอนนี้เกษตรต้องทิ้งบ้านเมือง ทิ้งถิ่นฐาน ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ มีส่วนในการรุกขึ้นมาเพื่อเริ่มต้น ขอให้ทุกคนมีสุขภาพดีแข็งแรง การต่อสู้ยังอีกยาวเราต้องช่วยกัน"


 


ทางด้าน อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวในพิธีเปิดว่า ขณะนี้โลกาภิวัตน์กำลังครอบงำชีวิตของเรา ประชาชนเดือดร้อน เขารู้และกำลังเดือดร้อน แต่เขาไม่รู้ว่ามันมาจากไหน มันมาจากกรกระทำของทุนที่ครอบงำรัฐบาล แล้วก็เอาผลประโยชน์ของชาวบ้านไปให้ต่างชาติ และกลุ่มทุนบางกลุ่มในประเทศไทย มันครอบงำประเทศเรา เราต้องป้องกัน ชีวิตคน และทรัพยากรธรรมชาติ วันนี้เราต้องมาใช้วิธีปั่นจักรยานเพื่อให้มีการเขียนไว้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วม


ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มทุนเข้าไปล็อบบี้ ขายชาติ ขายประเทศ ขายชีวิตพวกเรา เราไม่ยอม"


 


ขบวนจักรยานได้วิ่งบนเส้นทางถนนกำแพงเพชร 2 ผ่านสะพานควาย อนุสาวรีย์ และมีกิจกรรมด้านหน้ากระทรวงต่างประเทศ โดยมีการขึงผ้ากราฟิตี้ ข้อความว่า "สัญญาระหว่างประเทศ ต้องเห็นก่อนเซ็น รัฐสภาพิจารณา ประชามีส่วนร่วม" พร้อมตัวแมสคอท หอม กระเทียม และเม็ดยาทำท่าร้องไห้ จากนั้นขบวนจักรยานได้วิ่งไปหยุดที่หมุดประชาธิปไตย


 


จากนั้น นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้อ่านคำประกาศ ความว่า "พวกเราซึ่งเป็นประชาชนจากหลายภาคส่วนทั้งที่เป็นเกษตรกร แรงงาน พี่น้องสลัมในเมือง ผู้บริโภค ผู้รับบริการด้านสาธารณสุข นักวิชาการ และองค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ใช้แรงกายแรงใจของพวกเราปั่นจักรยานจากสวนรถไฟจนถึงหมุดประชาธิปไตย เป็นระยะทาง ๑๕ กิโลเมตรเพื่อบอกกล่าวกับพี่น้องประชาชนคนไทยว่า พวกเราพร้อมทุ่มแรงกาย แรงใจเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พวกเราไม่ต้องการให้ "ประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ" มาพร่าพลาญทำลายชีวิตผู้คนในสังคม เศรษฐกิจชุมชนทรัพยากรชีวภาพ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น"


 


ที่ผ่านมา การทำความตกลงระหว่างประเทศ ทั้งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ล้วนไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ขาดความโปร่งใส ขาดความรอบคอบ ขาดหลักวิชาการ  ไร้ธรรมาภิบาล และไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้หลายชีวิต หลายชุมชน และอีกหลายๆภาคส่วนรอวันล่มสลายจากการทำความตกลงระหว่างประเทศนั้นๆ


 


นอกจากนี้ ภายใต้บริบทโลกาภิวัตน์ การทำความตกลงระหว่างประเทศ กำลังกลายเป็นการเงื่อนไขบีบบังคับ และพันธนาการให้สังคมไทยให้ไร้ทางออก หมดหนทางในการเยียวยาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น พวกเรา ไม่ต้องการให้ชีวิตใคร หรือ ชุมชนใด ต้องตกเป็นเหยื่อความโลภและความขลาดเขลาเหล่านั้นอีก


ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของความเป็นประชาธิปไตยว่ายังมีลมหายใจอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญว่าสังคมไทยจะเดินต่อไปอย่างไรภายใต้โลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยกระแสทุนที่เชี่ยวกราก


 


ประเด็นหนึ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับเนื้อหาของมาตรา 186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศว่าจะเป็นเสาหลักที่จะเสริมความแข็งแกร่งหรือเป็นเพียงไม้ผุๆที่พร้อมลอยเลื่อนไปกับกระแสทุน โดยข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงมาตรา 186 คือ


 


1.มีบทบัญญัติชัดเจนที่ให้ หนังสือสัญญาที่ "มีผลผูกพันทางการค้าหรือการลงทุน" ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน


 


2.แม้หนังสือสัญญามิได้มีผลให้ต้องแก้กฎหมาย แต่หากพันธกรณีที่เกิดขึ้นมีผลผูกพันต่อรายจ่ายหรืองบประมาณของประเทศอย่างสำคัญ หรือมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประชาชนอย่างกว้างขวาง


หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน


 


3.รัฐบาลจะต้องให้ข้อมูลในการดำเนินการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศกับประชาชนโดยทั่วไป


ทั้งก่อนเริ่มการเจรจา และระหว่างการเจรจา รวมทั้งชี้แจงต่อรัฐสภา และจัดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย


 


การให้ข้อมูลก่อนเริ่มเจรจามีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ประชาชนและรัฐสภาได้รับทราบกรอบและเป้าประสงค์ของการดำเนินการทำหนังสือสัญญาอันจะนำไปสู่การให้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์สูงสุด


โดยที่ไม่ส่งผลเสียหายต่อท่าทีการเจรจา


 


4.ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน เพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะการให้ความคิดเห็นบนข้อมูลจริงจะช่วยให้รัฐบาลและรัฐสภาตัดสินใจในพันธกรณีดังกล่าวอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น


 


5.กรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องหาทางป้องกันเป็นอันดับแรกก่อนการดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วเหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป


 


6.มาตราดังกล่าวจะต้องมีผลบังคับใช้ทันทีพร้อมรัฐธรรมนูญ


 






คำประกาศ ณ หมุดประชาธิปไตย


๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐


 


พวกเรา ซึ่งเป็นประชาชนจากหลายภาคส่วนทั้งที่เป็นเกษตรกร แรงงาน พี่น้องสลัมในเมือง ผู้บริโภค ผู้รับบริการด้านสาธารณสุข นักวิชาการ และองค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ใช้แรงกาย แรงใจของพวกเราปั่นจักรยานจากสวนรถไฟจนถึงหมุดประชาธิปไตย เป็นระยะทาง ๑๕ กิโลเมตรเพื่อบอกกล่าวกับพี่น้องประชาชนคนไทยว่า พวกเราพร้อมทุ่มแรงกาย แรงใจเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


พวกเราไม่ต้องการให้ "ประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ" มาผลาญทำลายชีวิตผู้คนในสังคม เศรษฐกิจชุมชนทรัพยากรชีวภาพ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น


           ที่ผ่านมา การทำความตกลงระหว่างประเทศ ทั้งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ล้วนไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ขาดความโปร่งใส ขาดความรอบคอบ ขาดหลักวิชาการ  ไร้ธรรมาภิบาล และไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้หลายชีวิต หลายชุมชน และอีกหลายๆภาคส่วนรอวันล่มสลายจากการทำความตกลงระหว่างประเทศนั้นๆ


           นอกจากนี้ ภายใต้บริบทโลกาภิวัตน์ การทำความตกลงระหว่างประเทศ กำลังกลายเป็นการเงื่อนไขบีบบังคับ และพันธนาการให้สังคมไทยให้ไร้ทางออก หมดหนทางในการเยียวยาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น


           พวกเรา ไม่ต้องการให้ชีวิตใคร หรือ ชุมชนใด ต้องตกเป็นเหยื่อความโลภและความขลาดเขลาเหล่านั้นอีก ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของความเป็นประชาธิปไตยว่ายังมีลมหายใจอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญว่า สังคมไทยจะเดินต่อไปอย่างไรภายใต้โลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนโดยกระแสทุนที่เชี่ยวกราก


ประเด็นหนึ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับเนื้อหาของมาตรา 186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ว่าจะเป็นเสาหลักที่จะเสริมความแข็งแกร่ง หรือเป็นเพียงไม้ผุๆที่พร้อมลอยเลื่อนไปกับกระแสทุน


           ข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการปรับปรุงเนื้อหามาตรา 186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เป็นบทสรุปที่ได้มาจากการครุ่นคิดไตร่ตรองร่วมกัน มาจากการมองทุกมิติถึงประโยชน์ และทุกข์ร่วมของสังคม โดยมีหลักการสำคัญ ประกอบด้วย การกำหนดอำนาจ บทบาท และสัมพันธ์ ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มีความสมดุลและชัดเจนในการดำเนินการและตัดสินใจทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ สร้างกระบวนการที่โปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายเพื่อให้ได้หนังสือสัญญาที่มีประสิทธิภาพ มีกระบวนการที่มีธรรมาภิบาล และเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้อย่างแท้จริง


 


สัญญาระหว่างประเทศ ต้องเห็นก่อนเซ็น รัฐสภาพิจารณา ประชามีส่วนร่วม


นั่นคือ


๑. มีบทบัญญัติชัดเจนที่ให้ หนังสือสัญญาที่ "มีผลผูกพันทางการค้าหรือการลงทุน" ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน


๒. แม้หนังสือสัญญามิได้มีผลให้ต้องแก้กฎหมาย แต่หากพันธกรณีที่เกิดขึ้นมีผลผูกพัน ต่อรายจ่ายหรืองบประมาณของประเทศอย่างสำคัญ  หรือมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประชาชนอย่างกว้างขวาง หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน


๓. รัฐบาลจะต้องให้ข้อมูลในการดำเนินการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศกับประชาชนโดยทั่วไป ทั้งก่อนเริ่มการเจรจา และระหว่างการเจรจา  รวมทั้งชี้แจงต่อรัฐสภา และจัดให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบาย  การให้ข้อมูลก่อนเริ่มเจรจามีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ประชาชนและรัฐสภาได้รับทราบกรอบและเป้าประสงค์ของการดำเนินการทำหนังสือสัญญา อันจะนำไปสู่การให้ความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์สูงสุด โดยที่ไม่ส่งผลเสียหายต่อท่าทีการเจรจา


๔. ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน  เพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง  เพราะการให้ความคิดเห็นบนข้อมูลจริงจะช่วยให้รัฐบาลและรัฐสภาตัดสินใจในพันธกรณีดังกล่าวอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น


๕. กรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องหาทางป้องกันเป็นอันดับแรกก่อนการดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป


๖. มาตราดังกล่าวจะต้องมีผลบังคับใช้ทันทีพร้อมรัฐธรรมนูญ


การมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามร่างข้อเสนอปรับปรุงนี้จะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองและประสิทธิภาพในการเจรจาของฝ่ายบริหาร และทำให้รัฐบาล รัฐสภา และประชาชน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น ขณะเดียวกันกระบวนการที่ดีสามารถลดความขัดแย้งภายในประเทศได้ และจะเป็นหลักประกันสำคัญของประเทศไทยในการเผชิญกระแสโลกาภิวัตน์


           เราหวังว่า การเสียเหงื่อของพวกเราในวันนี้ จะเป็นการเสียเหงื่อที่คุ้มค่า แลกมาซึ่งความสมานฉันท์ในประเทศ ความเคารพซึ่งพลังประชาชน และการดำรงอยู่อย่างสง่างามของชุมชน และทรัพยากรชีวภาพ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต


 


๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net