Skip to main content
sharethis

เรื่อง : พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ, มุทิตา เชื้อชั่ง


ภาพ : ณภัค เสรีรักษ์


 


 


 






ปรากฏการณ์สื่อในห้วงเวลาเดือนเมษายน ที่ทั้งอุณหภูมิ "อากาศ" และอุณหภูมิ "การเมือง" ร้อนระอุ น่าสนใจยิ่ง ทั้งการชุมนุมเคลื่อนไหวของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวีที่ถูกห้ามการออกอากาศ ซึ่งผู้บริหารพีทีวีก็ถามหาเหตุผลว่า ทำไมถึงห้ามพีทีวีออกอากาศ ทั้งที่เคเบิลทีวี สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหลายสถานี ที่มีวิธีออกอากาศในลักษณะเดียวกันกลับออกอากาศได้


 


การแปรรูปสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรีให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ ท่ามกลางกระแสปฏิรูปสื่อ ที่อยากให้มีทีวีสาธารณะ มีทีวีของประชาชน แต่ก็ระคนไปกับความกังวลใจของผู้จัดรายการโทรทัศน์ในไอทีวีที่มองว่า "ทีวีสาธารณะ" จะตอบรับกับความต้องการของ "ตลาด" ได้จริงหรือ


 


หรือเพื่อนำเสนอข่าวการชุมนุมประท้วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สื่อมวลชนกระแสหลักได้พร้อมใจกันเลือกใช้คำว่า ผู้ชุมนุม "จาบจ้วง" หรือ "เหิมเกริม" ต่อ "ป๋า" ในพาดหัวข่าว พร้อมๆ ไปกับการมีข้อถกเถียงในสังคมว่า สามารถวิจารณ์องคมนตรีได้หรือไม่ และพร้อมๆ ไปกับข้อกังวลที่ว่า การนำเสนอของสื่อมวลชนเช่นนี้ จะให้การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง กลาย "เป็นอื่น" สำหรับสังคมไทย และอาจเป็นชนวนจะนำไปสู่ความใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามการชุมนุมหรือไม่


 


โอกาสนี้ "ประชาไท" จึงชวนคุยสถานการณ์สื่อกับ อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเคยได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กร


 


จากการสนทนา อาจารย์รุจน์ กล่าวว่า อย่าแปลกใจถ้าสื่อจะนำเสนอเช่นนั้น เพราะสื่อคือพวกอนุรักษ์นิยมตัวจริงเสียงจริง สื่อไม่เคยเป็นกลาง และสื่อก็มี "วาระ" ที่สำคัญอย่าได้แปลกใจกับการนำเสนอของ "ข่าวภาคค่ำ" เพราะจิ๊บๆ มากเมื่อเทียบกับการผลิตซ้ำความรุนแรงของ "ละครหลังข่าว" เสียอีก!


 


นอกจากนี้ อาจารย์รุจน์ยังเสนอว่าการปฏิรูปสื่อสามารถเริ่มต้นที่ "โต๊ะข่าว" หรือ "กองบรรณาธิการ" ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอการมีทีวีสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และหวังว่าการปฏิรูปสื่อคงจะทำให้มีทางเลือกในการชมโทรทัศน์สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกความสนใจ ที่มากกว่าการฉายซ้ำ "บ้านทรายทอง" ให้คนชม


 


และต่อไปนี้คือบทสนทนากับอาจารย์รุจน์ โกมลบุตร...


 


 


 


 


 




 


 


"ข้อเสนอผมคือ เอาสื่อลงมาจากหิ้งได้แล้ว ไม่ต้องมาบอกว่า "ฉันจะเป็นกลาง" "น่าเชื่อถือ" อย่างนู้นอย่างนี้ "หมดสิ้นแล้วซึ่งอคติ" มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่จริง สื่อต้องตื่นได้แล้ว เอาสื่อลงมาถอดหัวโขนฐานันดรที่สี่ ที่ห้าได้แล้ว แล้วว่ากันเป็นรายชิ้น งานชิ้นนี้ใช้ได้ ชิ้นนี้ไม่ได้เรื่อง ว่ากันตามเนื้อผ้าจริงๆ ไม่เช่นนั้นมันก็มีแต่ภาพลวงตา"


 


 


0 0 0


 


คิดอย่างไร กรณีการนำเสนอของสื่อมวลชนทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อแบบหนังสือพิมพ์ ที่เวลานำเสนอข่าวการชุมนุมในช่วงนี้ มีความพยายามอธิบายว่า การชุมนุมเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีการใช้คำในการนำเสนอภาพม็อบ เช่น ม็อบนี้เป็นคลื่นใต้น้ำ ม็อบนี้มีท่อน้ำเลี้ยง ม็อบนี้ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง


มองได้ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ผมเห็นว่า มันก็เป็นการทำงาน ถ้าเราเชื่อ มันเป็นการทำงานแบบหนึ่งของสื่อเขา เวลาสื่อทำงาน เขาจะคิดว่า หรือเขาถูกคาดหวังว่า ต้องมีการพยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเบื้องหลัง เป็นที่มาที่ไป


 


ประการแรก ผมรู้สึกว่า ถ้าเขาทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็เหมือนกับตอนที่เนชั่นถูกล้อม บางหนังสือพิมพ์ก็พยายามนำเสนอ ไอ้นี่ไม่ใช่การล้อมปกติ มันมีคนนั่งรถตู้อยู่ที่ปั๊ม เยื้องๆ กับเนชั่น ในแง่หนึ่งคือการทำงานของเขาที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์อะไรบางอย่างที่บังเอิญทุกสื่อมันพูดออกมาในแนวทางเดียวกันหมด


 


ประการที่สอง อาจจะเป็นไปได้ว่า 6 ปีที่ผ่านมาที่อยู่กับคุณทักษิณ มันเป็นโศกนาฏกรรมของวงการสื่อมวลชนไทย ผมรู้สึกว่าคนมันอึดอัด ตัวหนังสือพิมพ์หรือสื่อเขาก็อึดอัด เพราะมีการแทรกแซงอย่างพิลึกพิลั่น มโหฬาร พิสดาร อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในนามของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ


 


คือถ้าเกิดเราพูดถึงยุค พ.ศ.2500 นะ เรายังพอรับได้ ทำด้วยท็อปบู๊ต แต่นี่ทำด้วยประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งรองรับ ก็คงเป็นไปได้เหมือนกันว่า สื่อเขาก็เข็ด ประมาณว่า ถ้าทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันการที่เขาจะกลับมา ผมว่าลึกๆ เขาอาจมี Agenda (วาระ) แบบนี้อยู่ในใจ


 


อีกอันหนึ่งคือมองให้สุดขั้วเลย ผมรู้สึกว่าสื่อมี Agenda กันทุกคน ไม่เฉพาะสื่อ คนทุกคนก็มี Agenda เป็นของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า Agenda นั้นมีที่มาที่ไปแบบไหน


 


เวลาเราเรียนทางด้านนิเทศศาสตร์ ก็จะถูกบอกต่อๆ กันมาว่า คุณต้องพยายามทำตัวเป็นอิสระ ทำตัวเป็นกลาง ไม่เข้าใครออกใคร ในความเป็นจริง ผมไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีนี้เท่าไหร่ คนไม่ใช่พระพุทธเจ้า มันมีอคติ มีรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีรู้สึกเข้าข้างไม่เข้าข้างอยู่ระดับหนึ่ง คือสื่อมี Agenda ของตัวเอง เพียงแต่ว่าเราอาจจะได้รับการสร้างภาพว่า เราต้องเป็นกลางอย่างโน้นอย่างนี้


 


 


ทีนี้ การที่สื่อมี Agenda แบบนี้ การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใดก็ตามเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อการชุมนุมถูกนำเสนอให้ "เป็นอื่น" สื่อจะเป็นตัวให้เกิดความรุนแรงตามมาหรือไม่ นึกถึงกรณีการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ดาวสยามหรือเหตุการณ์ช่วงปี 2519


จริงๆ มีบทเรียนเยอะ ไม่ใช่แค่ 6 ตุลา 2519 ผมเชื่อว่าเรื่องความรุนแรงเป็นประเด็นอันหนึ่งที่คนไทย ... โดยเฉพาะกับตัวผมก็ได้ ไม่ค่อยคุ้นเคย คือเราไม่ได้ศึกษาเรื่องตรงนี้อย่างเอาจริงเอาจัง


 


ถ้าถามว่าสื่อมีส่วนมากน้อยแค่ไหน มันก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว อาจจะเหมารวมนะ สื่อมันก็เป็นประมาณนี้มาตลอดไม่ใช่หรือ


 


คือคุณดูโทรทัศน์ ไม่ต้องดูข่าวด้วยซ้ำ ดูรายการที่เรียกว่า "รายการทั่วไป (ท)" มันก็มีความรุนแรงในนั้นตลอดเวลา ซึ่งในความเห็นผม การที่หล่อหลอมคนให้ซึมซับ ให้เข้าใจ ให้ยอมรับความรุนแรงผ่านสื่อภาคบันเทิง มันอันตรายมากกว่าอีก คือคุณไม่รู้สึกว่ามันรุนแรง แต่คุณรับมันเข้าไปเรียบร้อยแล้ว และมันก็ถูกฟอร์มให้เป็นทรรศนะและพฤติกรรมออกมา


 


ที่ว่าการนำเสนอข่าว สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงหรือเปล่า? ในความเป็นจริง ผมว่ามันน่าจะมีอยู่นะ คือในอดีตนั้นมีอยู่แล้ว แต่กรณีที่เราพูดถึงในปัจจุบัน เอาเข้าจริงก็คงมี แต่อาจไม่มีหลักฐานปรากฏชัด


 


ประเด็นผมคือว่า เงื่อนไขบนความจริงของ "สิ่งที่เรียกว่าข่าว" ในความเห็นผมเป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับสื่อภาคบันเทิงที่มันหล่อหลอมทำให้คนคุ้นชินกับความรุนแรง ถ้าจะมีการจัดการ จัดการตรงนั้นน่าจะดีกว่า น่าจะมีผลอะไรมากกว่าด้วยซ้ำ ให้คนรู้สึกว่าความรุนแรงเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้


 


แต่ทุกวันนี้เราเห็นความรุนแรงเราก็เฉยๆ ถามความรู้สึกว่า การที่เราเห็นความรุนแรงแล้วเฉยๆ นั้นเป็นเพราะอะไรหรือมาจากไหน? ผมว่ามาจากภาคบันเทิงเยอะกว่า


 


 


หมายความว่า ความรุนแรงที่ผลิตจากสื่อ ไม่ใช่แค่ข่าว แต่คือชีวิตประจำวันของเราด้วย?


(พยักหน้า) มันมาแบบเนียนๆ มองไม่ค่อยเห็น


 


ในละครอาจจะชัดที่สุด ที่เราเห็นบ่อยๆ แล้วคนก็คิดว่า คนนี้ชั่ว สมควรแล้วที่จะถูกประชาทัณฑ์ ซึ่งไม่มีหรอก มันเป็นไปได้อย่างไรในในโลกแห่งความเป็นจริง มันไม่ควรเป็นแบบนั้น คนที่ทำไม่ดีก็ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ว่าไปตามกระบวนการ หรือมีประชาทัณฑ์นิดหน่อยๆ


 


หรือที่เราเห็นในข่าวกรณีพาผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีประชาทัณฑ์ มีเบิ้ดสักทีสองที ผมว่าเรื่องนี้มันน่าอันตราย เพราะคนซึมซับแบบนั้นไปเรื่อยๆ


 


แต่พูดถึงประสบการณ์ปี 2519 ก็ชัดจริงๆ ว่ามันเคยมีเรื่องราวแบบนั้นเกิดขึ้นจริงๆ และอีกประเด็นหนึ่งทำให้นึกถึงเหตุการณ์ภาคใต้ ผมว่าชัดเลย สื่อที่เล่นข่าว ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หรือมี Agenda อย่างไรก็แล้วแต่ ส่งผลให้เกิดความรุนแรงที่ภาคใต้จริงๆ ทุกอย่างถูกตัดสินใจ พูดภาษาบ้านๆ คือ มีไทยพุทธ-ไทยมุสลิม มีขาวมีดำ มีถูกมีผิด เอ็งก่อการร้าย-ข้าก่อการดี อย่างที่คุณพูดถึงความ "เป็นอื่น" ในภาคใต้ชัดมาก ชัดเจนต้องมี "ศูนย์ข่าวอิศรา" ในที่สุด


 


 


กับกฎเกณฑ์หรือระเบียบที่มีอยู่ สะท้อนว่ารัฐบาลใช้ทวิมาตรฐานกรณีพีทีวีหรือไม่


(ถามคนสัมภาษณ์) แล้วคุณคิดว่ายังไงล่ะ …


 


ผมก็กำลังหาข้อมูลอยู่ว่า เอเอสทีวีนี่เป็นข้อยกเว้นหรือเปล่า … กรณีพีทีวี มุขนี้ก็เป็นมุขที่ต่างประเทศใช้กัน เช่นในอังกฤษ อันนี้ออกอากาศไม่ได้ ก็ไปยิงมาจากฝรั่งเศส แล้วคนก็สอยดู มีกฎแบบหนึ่งก็เลี่ยงบาลีไปทำอีกแบบ แต่ในกรณีของอังกฤษมันมีกฎระบุว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าของสื่อหนึ่งชนิดแล้วก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของสื่ออีกชนิดหนึ่งได้ แต่เขาก็ทำแบบที่ว่า


 


กรณีเลือกปฏิบัติที่ว่า ไม่ว่าจะใครทำก็ไม่ดีทั้งนั้น พีทีวี ไอทีวี ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น เราสู้กันมาทั้งชีวิตก็เรื่องนี้ไม่ใช่หรือ เราอยากจะอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน ใต้กฎระเบียบเดียวกัน ไม่มีใครเหนือใคร แต่มันก็เป็นแบบนี้ทุกรัฐบาล สมัยทักษิณก็มีการปิดวิทยุชุมชนเยอะ ถ้าเป็นสถานีที่ไม่เข้าข้างรัฐบาล รัฐบาลนี้ก็ทำไม่ต่างกัน


 


ในเรื่องสื่อสาธารณะ กรณีไอทีวี มีข้อถกเถียงกันว่า หลังจากนี้ควรปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร คนทำทีวีก็เสนอว่าอยากให้เป็นทีวีเสรี เป็นกิจการของเอกชนที่สัมปทานกับรัฐเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคมก็รณรงค์ให้เป็นสื่อสาธารณะที่ประชาชนเข้ามามีบทบาททำทีวีเอง


 


การปฏิรูปมันมีหลายระดับ คำมัน "คำใหญ่" ทั้งนั้น สื่อเสรี สื่อสาธารณะ แต่ผมเห็นว่ามันลงมือทำได้เลย ไม่ต้องรอกฎหมาย เช่น ถ้าเราอยากได้กองบรรณาธิการข่าวที่ดี ก็เริ่มที่สถานี สถานีก็สร้างกฎระเบียบของตัวเองขึ้นมาได้ ทิศทาง นโยบาย สไตล์การทำข่าวจะเป็นอย่างไร แล้วประกาศอันนี้ให้สาธารณชนได้รับรู้ อย่างนี้ก็ทำได้เลย ถ้าสถานีประกาศตัวเองออกมาให้ชัด เช่น ถ้าจะมีข่าวรัฐบาลต้องมีข่าว คมช. ข่าวฝ่ายค้าน ข่าวนักวิชาการ มีทุกฝ่าย แล้วประกาศมาให้ชัดว่า นี่คือสไตล์การทำข่าวของ กอง บก.ของเรา และถ้าเกิดมีใครมาบังคับ โทรศัพท์มาสั่งมันก็ทำได้ลำบากขึ้น เพราะได้ประกาศให้ประชาชนรับรู้แล้ว ถ้าวันไหนทำข่าวออกมามีองค์ประกอบไม่ครบ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่ประกาศ มันก็จะเป็นการฟ้องไปในตัว


 


ถ้าให้ผมเดา คนในกอง บก. ไม่ใช่ ขี้เหร่ ทำข่าวได้ทุกวันนี้ก็คงต่อสู้อะไรมาเยอะ แต่บรรยากาศที่ผ่านมาที่มันเย็นๆ ไป มันก็ทำให้คนขาดความกระตือรือร้นที่จะต่อสู้ มันไม่ใช่เวลาน้อยๆ มันอาจหล่อหลอมให้เขาเนือยๆ ไปบ้าง แต่มันเริ่มได้โดยไม่ต้องรอ กสช. กทช. อะไร มันเริ่มต้นได้


 


ถ้าทีไอทีวีประกาศความสมดุลในการทำงาน ช่องอื่นๆ ก็จะทำตาม


 


คือถ้าเป็นภาคเนื้อหาอื่นๆ มันเป็นเรื่องใหญ่แล้ว เพราะมันมีเรื่องผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และคนไทยก็ถูกฝึกมาให้คุ้นเคยกับการทำยอด ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นชัดตอนตั้งไอทีวีว่าใครจ่ายมากที่สุดได้ไป หัวสมองคิดเรื่องทีวีเสรี แต่สุดท้ายการปฏิบัติก็ไปพิงกับผลกำไร ตกลงมันเอาอย่างไรก็แน่ มันอิหลักอิเหลื่อ ถ้าจะเอาเนื้อหามาดู อาจต้องมีพระราชกฤษฎีกาหรืออะไร ตั้งสถานีใหม่ขึ้นมา ต้องใช้โมเดลอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้คิดเรื่องสตางค์เป็นใหญ่ ซึ่งภาคประชาชนทำคนเดียวไม่ได้ ต้องไปอิงแอบกับรัฐบางระดับ แม้จะอยากบอกว่ากรุณาอยู่ห่างๆ รัฐเอาไว้ แต่เรื่องนี้มันทำเองไม่ได้แน่ๆ เพราะว่ารัฐมันเป็นเจ้าของคลื่นอยู่ในข้อเท็จจริง


 


ถามว่าโมเดลคืออะไร ถ้าเราเชื่อว่าคนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน พูดคำหยาบๆ ว่าคนมีชนชั้นต่างกัน ชนชั้นปกครอง ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน คนเหล่านี้มีรสนิยมในการเสพเนื้อหาต่างกันอยู่แล้ว ถ้าเราไม่คิดแต่เรื่องกำไรเป็นหลัก เราก็ต้องคิดถึงการบริการคนทั้งสามกลุ่มนี้ให้ได้รับบริการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สมน้ำสมเนื้อกัน


 


 


การปฏิรูปสื่อกับการมีทางเลือกในการรับสื่ออย่างที่อาจารย์เสนอนั้น คือเป้าหมายเดียวกันหรือไม่


ไม่รู้เรียกปฏิรูปหรือเปล่า แต่มันคือการบอกว่าอยากเห็นอะไร โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะที่ผ่านมามีหลายๆ ช่องก็เหมือนมีช่องเดียว ถ้าจะตั้งช่องใหม่โดยใช้โมเดลเดิม คือผู้ได้สัมปทานคือผู้ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุด เจ้าของคลื่นยังเป็นรัฐเหมือนเดิม มันก็ไม่รู้จะตั้งช่องใหม่ไปทำไม ต้องทำเป็นโมเดลแบบใหม่ไปเลย ต้องสร้างกลไกให้ภาคประชาชนเป็นเจ้าของมากขึ้น ซึ่งกลไกที่ว่าก็มีคนพูดหลายหนแล้ว คือโมเดลที่ประชาชนต้องจ่าย อยากเป็นเจ้าของต้องจ่าย และในความเห็นผมก็ไม่ควรจ่ายเป็นรูปภาษีด้วยซ้ำ เพราะมันอาจอยู่ในกำกับของรัฐ น่าจะเป็นทุกคนจ่ายตรงให้กับสถานีที่ว่านี้ สถานีก็มีหน้าที่ กลายเป็นหน้าที่แล้วว่า ต้องให้บริการเขา เพราะเขาเป็นคนจ่ายเงินให้คุณ ผมอยากดูรายการปาลูกดอก ทุกวันนี้มีรายการปาลูกดอกระดับโลกแต่หาดูไม่ได้ เพราะบริการทุกวันนี้มันผูกไว้กับเรทติ้งและกำไรสูงสุด


 


 


ใครอยากดูอะไรคนนั้นจ่าย ก็กลับไปเรื่องเงินอีก


ทุกคนจ่ายเท่ากัน มีสิทธิเท่ากัน


 


 


แล้วจะเลือกเนื้อหากันอย่างไร


ก็ต้องจัด ทุกวันนี้จัดตามเรทติ้งเพราะสถานีต้องขายเวลาให้กับเอเจนซี่โฆษณา รายการ "ปาลูกดอก" ของผมไม่มีทางได้ดู แต่ถ้าเป็นโมเดลที่ว่านี้ผมต้องได้ดู เพราะผมก็จ่ายเหมือนกัน หรือจะพูดสุดขั้วก็ได้ คนรักเพศเดียวกัน เป็นรสนิยมแบบหนึ่งใช่ไหม เขาต้องมีรายการของเขา คุณไม่ชอบ คุณก็ดูส่วนของคุณไป ผมก็เลยคิดว่า ต้องแก้วิธีคิดเรื่องเรทติ้งกันใหม่ คนชอบคิดว่าเรทติ้งเยอะแปลว่ารายการดี ไม่ใช่ เรทติ้งเยอะแปลว่าคนดูเยอะ แค่นั้นเอง แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะดี เรทติ้งน้อยจึงไม่ได้แปลว่าเลว


 


 


เนื่องจากอาจารย์จุดประเด็นเรื่องโทรทัศน์ที่ไม่มีทางเลือก ทีนี้กลุ่มทางสังคมมีหลายกลุ่ม เพศที่สาม วัยรุ่น ฯลฯ แต่ทุกวันนี้ไม่สามารถสนองตอบให้กับทุกกลุ่ม มันอาจไม่ใช่เพราะมีเรทติ้งกำกับ แต่เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า กบว. กำกับ กรณีเอมี่ก็ชัดเจนว่ามันมีการพิพากษาเขาผ่านสื่ออย่างไร


มันก็เป็นเรื่องประกอบกันไป เรทติ้งก็เป็นตัวตั้งอยู่ แต่มันก็มีเรื่องศีลธรรมอันดีมาประกอบด้วย ฉะนั้น ผมสบายเลย ไม่ต้องทำอะไรนอกจากทำ "บ้านทรายทอง" รอบที่ 8 อีกไม่นานเราก็จะได้ดู "คู่กรรม" อีก แต่ถ้าเราคิดโมเดลอย่างที่ว่า ทุกคน ทุกรสนิยมต้องจ่ายภาษีให้ สถานีก็มีหน้าที่จะต้องจัดสรรให้ตามนั้น สมมติรายการ "คนรักเพศเดียวกัน" คนดูน้อยก็ไปอยู่ตี 2 ไม่เป็นไร คนกลับบ้านมาเหนื่อยๆ อยากดู "บ้านทรายทอง" รอบ 5 ก็ย่อมได้ ต้องมาจัดสรรให้ได้ครบทุกรสนิยม เพราะคุณเกิดมาเพื่อรับใช้คนที่จ่ายเงินให้คุณไม่ใช่หรือ


 


อีกประเด็นคือ ในอนาคตเทคโนโลยีจะไม่ใช่อุปสรรคแล้ว เราจะมีช่องที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เกิดขึ้นได้เลย ขยายช่องไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีความสามารถในการทำเนื้อหาขึ้นมา


 


 


วิธีการนำเสนอเรื่องพาดหัว กรณีที่สื่อมวลชนบางฉบับใช้คำในการพาดหัว หรือเนื้อข่าวที่เหมือนกับ "จาบจ้วง" แต่ใช้กับคนธรรมดา เช่น ประธานองคมนตรี พาดหัวแบบนี้มันมีรสนิยมไหม กับการที่สื่อมวลชนให้ความหมายกับการดำเนินการทางการเมือง อย่างการวิจารณ์องคมนตรี หรือการล่ารายชื่อ การประท้วง สื่อใช้คำว่า "จาบจ้วง" มันจะมีผลสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ทำให้พื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะลดลงหรือไม่


อาจจะมองได้หลายมุม ถ้ามองแบบบริสุทธิ์ใจ ผมคิดว่ามีงานวิจัยสนับสนุนหลายเล่มพบว่า กลุ่มที่ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ที่สุดในสังคมก็คือ สื่อมวลชนนั่นแหละ มันไม่ค่อยเขยิบหรือยอมปลดปล่อยอะไรสักเท่าไร อาจจะเป็นไปได้ว่า มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทางที่ดีที่สุดที่คุณจะอยู่ได้ก็คือ Play safe (รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี) ซึ่งทำให้ความเป็นอนุรักษ์นิยมของสื่อมวลชนดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น มันเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศไม่เฉพาะประเทศไทย ผมจึงคิดว่าเขาอาจไม่ได้ตั้งใจก็ได้ หมายถึง เขาเชื่อในสิ่งที่เขาทำอยู่จริงๆ


 


อันที่สอง ก็เป็นไปได้ที่มันเป็น Agenda เพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่างทางการเมือง เป็นไปได้ที่สื่อมวลชนบางสำนักมีจุดมุ่งหมายเฉพาะของเขาในทางการเมือง ดังนั้น การเอา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มาเป็นส่วนหนึ่งในกระดานหมากนี้ด้วย มันก็อาจสะท้อนออกมาจากคำว่า "จาบจ้วง" ทำให้เรื่องราวที่กำลังดำเนินไปพุ่งไปในทิศทางที่เขาต้องการได้เหมือนกัน แต่เรื่องนี้อย่างที่ผมคุยตั้งแต่ต้นว่าทุกคนมันมี Agenda ทั้งสิ้น ไม่เฉพาะเรื่องสถาบันฯ แต่ในทุกๆ เรื่อง


 


สื่อเองก็เป็นเช่นนั้น กรณีเอมี่ก็ชัดเจนว่า สื่อเขาคิดว่าเขามีมีหน้าที่รักษาศีลธรรม ฉะนั้น เขาก็ด่าไปก่อนเลย แม้แต่ธรรมศาสตร์ซึ่ง Claim (อ้างว่า) ตัวเองมีเสรีภาพ ผู้บริหารก็สะดุ้งเฮือกเมื่อสังคมสนใจ มีการเรียกมาสอบ ทั้งๆ ที่มันไม่จำเป็น ศีลธรรมมันจึงมองได้หลายมุม


 


ฉะนั้น ผมมองว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะเซ็ท Agenda แบบนี้ขึ้นมา ซึ่งมันปลอดภัยสำหรับสื่อเอง แต่ในความเห็นผม ก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เล่นบทแบบนี้มาอยู่นานแล้ว คือไม่ต้องประหลาดใจหรอกที่สื่อเป็นแบบนี้ สื่อมันเลือกข้าง มันมีอคติ ไม่ใช่เฉพาะในคอลัมน์ ในตัวข่าวเองด้วยหลายๆ กรณี ทั้งหมอประกิตเผ่า เอมี่ การระเบิดกรุงเทพฯ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเนื้อหาในข่าวอย่างชัดเจน


 


ข้อเสนอผมคือเอาสื่อลงมาจากหิ้งได้แล้ว ไม่ต้องมาบอกว่า "ฉันจะเป็นกลาง" "น่าเชื่อถือ" อย่างนู้นอย่างนี้ "หมดสิ้นแล้วซึ่งอคติ" มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่จริง ที่ผมเห็นชัดคือ ตอนที่สื่ออยู่ในยุคคุณทักษิณ ชินวัตร มา 6 ปี เป็นช่วงที่พิสูจน์ว่าคุณสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นสื่อของคุณได้จริงไหม ซึ่งปรากฏว่าไม่ค่อยแน่ใจ มันจัดระเบียบได้เรียบร้อย เพราะสื่อมันก็มนุษย์กลัวอด กลัวออกจากตำแหน่ง กลัวสารพัด


 


ดังนั้น สื่อต้องตื่นได้แล้ว เอาสื่อลงมาถอดหัวโขนฐานันดรที่สี่ ที่ห้าได้แล้ว แล้วว่ากันเป็นรายชิ้น งานชิ้นนี้ใช้ได้ ชิ้นนี้ไม่ได้เรื่อง ว่ากันตามเนื้อผ้าจริงๆ ไม่เช่นนั้นมันก็มีแต่ภาพลวงตา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net