ต้านเคอร์ฟิวคนงานข้ามชาติ!

ประชาไท - 1 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพมหานคร องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายแรงงานนำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทย แถลงข่าวคัดค้านกรณีที่มีประกาศของจังหวัดระนอง เรื่อง "กำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวบางจำพวก" และประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง "การจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว" เช่น ห้ามแรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติออกนอกที่พักอาศัยหลังเวลา 20.00 น. ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เป็นต้น

 

โดยเครือข่ายดังกล่าว เห็นว่าเป็นนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของแรงงานข้ามชาติ และจะเป็นช่องทางทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้

 

โดยทางเครือข่ายเสนอให้มีการยกเลิกประกาศจังหวัดและนโยบายที่มีการละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติทั้งหมด และต้องบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยรายละเอียดของข้อเรียกร้องปรากฏในแถลงการณ์ท้ายข่าว

 





 

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

วันที่ 29 เมษายน 2550

 

กรณีที่มีประกาศของจังหวัดระนอง เรื่อง "กำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวบางจำพวก" และประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง "การจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว" เช่น ห้ามแรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้ามมิให้แรงงานข้ามชาติออกนอกที่พักอาศัยหลังเวลา 20.00 น. ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เป็นต้น

 

พวกเราในฐานะกลุ่ม องค์กรของแรงงานข้ามชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ มีความเห็นว่าประกาศจังหวัดดังกล่าวนั้น ขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและอนุสัญญาต่าง ๆ ที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและเป็นสมาชิก เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือคนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว คือ พม่า ลาวและกัมพูชา เป็นแนวคิดในการป้องกันสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของแรงงานไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริงที่สามารถพิสูจน์ได้เรื่องความมั่นคง  เป็นการแยกแรงงานข้ามชาติออกจากการอยู่ร่วมในสังคม โดดเดี่ยวจากสังคม ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัว ชุมชนของตนเองได้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิต การทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางประเภทกิจการที่ต้องทำงานในเวลากลางคืน ทำให้แรงงานข้ามชาติ เสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน แรงงานไม่สามารถที่จะรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานที่ตนพึงได้รับตามกฎหมาย  ทั้งยังส่งผลต่อการเข้าถึงการบริการสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และเป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมเรื่องสุขภาพ ความร่วมมือของนายจ้างจะลดลง อุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาและการจัดการศึกษาของชุมชนแรงงานข้ามชาติ รวมถึงไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือประเพณีตามวิถีปฏิบัติของแรงงานข้ามชาติได้

 

นอกจากนั้นยังทำให้เกิดแนวโน้มในการจะหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และมีการทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถที่จะใช้ช่องทางของระเบียบเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากแรงงานที่ต้องอยู่ในความหวาดกลัวต่อระเบียบนี้ ขณะเดียวกันระเบียบและวิธีคิดดังกล่าวจะสร้างทัศนคติในแง่ลบและความหวาดกลัวต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยมากขึ้น  เรามีความห่วงใยว่าการออกประกาศจังหวัดดังที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะเป็นประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับจากชุมชนระหว่างประเทศ

 

            พวกเราได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว และมีความกังวลใจอย่างยิ่ง ต่อสถานการณ์และแนวนโยบายที่เกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินการ ดังต่อไปนี้


  1. ยกเลิกประกาศจังหวัดและนโยบายที่มีการละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติทั้งหมด และต้องบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

  2. ยอมรับและตระหนักว่าแรงงานข้ามชาติมีคุณูปการต่อการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย จึงควรที่สังคมไทยจะต้องปฏิบัติและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในฐานะของมนุษย์ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน

  3. รัฐจะต้องส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจอันดีต่อแรงงานข้ามชาติ ขจัดความเกลียดชัง ความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ

  4. การบริหารจัดการในเรื่องแรงงานข้ามชาติ ในทุกระดับจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ เข้าไปมีบทบาทในการกำหนด และเสนอในเชิงนโยบาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คณะกรรมการบริการแรงงานต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง"

 

ผู้ร่วมแถลงข่าว


  1. วิไลวรรณ แซ่เตีย คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทย

  2. แสง ตัวแทนกลุ่มแรงงานทำงานในบ้าน

  3. ลิซ คาเมรอน จาก เครือข่ายพนักงานบริการ

  4. สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.)

  5. ปรานม สมวงศ์ จากเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ANM

  6. เสถียร ทันพรม จากเครือข่าย ฟ้ามิตร PHAMIT

  7. อดิศร  เกิดมงคล จาก เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศด้านแรงงานข้ามชาติ

 

หมายเหตุ

คำว่า "แรงงานต่างด้าว" เป็นคำที่รัฐใช้ในทางกฎหมาย แต่เครือข่าย ฯ ใช้คำว่า "แรงงานข้ามชาติ "เพราะคำว่า แรงงานต่างด้าว เป็นคำที่แสดงถึงทัศนคติในทางลบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท