Skip to main content
sharethis

หลังจากที่นิตยสารไทม์เปิดให้ประชาชนทั่วโลกโหวตบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกผ่านทางเว็บไซต์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น 1 ใน 200 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี


 


เมื่อวันที่ 25 เม.ย.50 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลง ว่า ได้ขอความร่วมมือไปยังนิตยสารไทม์ให้แก้ไขข้อมูลในเว็บไซต์ของไทม์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้


 


1.การนำเสนอข้อมูล ควรใส่คำว่า "King" หน้าพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


2.ข้อเท็จจริงที่ปรากฏภายใต้หัวข้อ "Pro" (จุดเด่น) ควรต้องแก้ไขให้ถูกต้อง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงมีบทบาทเกี่ยวข้องใดๆ กับการการปฏิวัติในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่ตามรัฐธรรมนูญไทยนั้น พระมหากษัตริย์ในฐานะพระประมุข ทรงจำเป็นต้องได้รับการกราบบังคมทูลให้ทรงทราบในกิจการสำคัญ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) จึงขอพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับปฏิบัติการของ คปค.ตลอดจนสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น



โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า "พระองค์ทรงเพียงรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการดำเนินการของ คปค.ซึ่งเป็นบทบาทของพระองค์ ในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะตีความว่า พระองค์ทรงให้การรับรองหรือสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด"


 


หลังจากนั้น วานนี้ (26 เม.ย.50) เว็บไซต์นิตยสารไทม์ ได้แก้ไขถ้อยความจากเดิม โดยเปลี่ยนเป็น


 


PRO: Oversaw Thailand's transition to democracy, and is hugely popular in his country -- so beloved, indeed, that the military coup last year would not have succeeded has he not asked the populace to obey the country's new rulers.


(ด้านที่หนึ่ง : พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการกำกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และทรงได้เป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรในราชอาณาจักรของพระองค์เป็นอย่างมาก และทำให้การรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา สามารถยึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยเป็นที่เข้าใจว่า พระองค์ได้ทรงวิงวอนให้พสกนิกรเชื่อฟังคณะผู้ปกครองประเทศคณะใหม่)


 


CON: Not well known outside Thailand, but inside Thailand it remains a crime to insult or merely criticize him in any way, though in a 2005 speech the King announced that he was not above criticism and asked for citizen feedback.


(ด้านที่สอง : พระองค์มิได้รับการกล่าวถึงภายนอกพระราชอาณาจักรของพระองค์ แต่ภายในราชอาณาจักรมีกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ใช้เอาผิดกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ แม้ว่าในพระราชดำรัสของพระองค์เมื่อปี 2005 จะทรงกล่าวว่า พระองค์สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ก็ตาม


 


ประเด็นน่าสังเกตหนึ่ง ซึ่ง พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความเรื่อง "Lost in Translation : รัฐประหาร "ในประเทศไทย" กับ รัฐประหาร "แบบไทย"?" เผยแพร่ลงใน ประชาไท และ โอเพ่นออนไลน์ ว่า การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายา 2549 ที่ผ่านมานั้น ทำในนามของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" โดยมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy


 


จากนั้น ในวันที่ 26 กันยายน 2549 (หลังการรัฐประหารหนึ่งสัปดาห์) กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ก็ทำหนังสือขอความร่วมมือถึงสื่อมวลชน ขอแก้คำแปลชื่อภาษาอังกฤษของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เป็นคำว่า "Council for Democratic Reform (CDR)"


 


เหตุผลในการแก้ไขนั้น กรมสารนิเทศระบุไว้ว่า ชื่อภาษาอังกฤษเดิมทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การแก้ไขก็ทำเพียงในคำแปลภาษาอังกฤษเท่านั้น ขณะที่ชื่อภาษาไทยยังเป็นชื่อเดิม


"ผมเองยังไม่แน่ใจว่า ฝรั่งเขาจะเข้าใจคลาดเคลื่อนคำว่า monarchy เหมือนที่คณะรัฐประหารกังวล หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว ฝรั่งเขาสนใจว่าทำไมคณะรัฐประหารถึงใช้คำว่า constitutional monarchy ในการแปลจากภาษาไทยว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คำที่หายไปคือคำว่ารัฐธรรมนูญครับ บอกให้ก็ได้)


ไม่นับว่าภาษาไทยนั้นไม่ได้เปลี่ยนหรือตัดคำในชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" และไม่ได้ลบย้อนหลังเหมือนคำภาษาอังกฤษในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารเองในเว็บไซต์ของคณะรัฐประหาร" พิชญ์กล่าว


 


อ่านเรื่องก่อนหน้า :


รายงาน: ไทม์จัดอันดับบุคคลผู้มีอิทธิพลแห่งปี 2007


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net