Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - หลังจากที่นิตยสารไทม์ (TIME) เปิดให้คนเข้าไปโหวตบุคคลที่มีอิทธิพลแห่งปี (The Most Influential People of the Year) โดยหนึ่งในรายชื่อของบุคคลที่นิตยสารไทม์คัดสรรมานั้น รวมถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชด้วย


 


รายละเอียดบุคคล ที่ไทม์นำเสนอ มีสองด้าน คือ


 


PRO: Oversaw Thailand's transition to democracy, and is hugely popular in his country -- so beloved, indeed, that the military coup last year would not have succeeded without his blessing.

CON: Not much known or thought about outside Thailand. But inside Thailand it remains a crime to insult or merely criticize him in any way.


ด้านที่หนึ่ง : พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในกำกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และทรงได้เป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรในราชอาณาจักรของพระองค์เป็นอย่างมาก และทำให้การรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา (ที่ใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข) สามารถทำการยึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จ


 


ด้านที่สอง : พระองค์มิได้รับการกล่าวถึงภายนอกพระราชอาณาจักรของพระองค์ และภายในราชอาณาจักรยังมีกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ใช้เอาผิดกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พระองค์


 


จากนั้น กระแสคนในอินเตอร์เน็ต ต่างพากันส่งลิงก์ เพื่อให้ช่วยกันโหวตให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะผ่านทางข้อความทันใจ (IM - Instant message) เช่นโปรแกรม MSN ฯลฯ บล็อกและกระทู้ต่างๆ แม้กระทั่งในโปรแกรมแคมฟร็อกก็มีคนเอาลิงก์นี้ไปแปะด้วย และยังมีการส่งลิงก์แล้วฟอร์เวิร์ดเมล์ต่อๆ กัน ในหัวข้อที่ว่า Please vote and forward this email (ช่วยกันโหวตพร้อมกับส่งต่ออีเมล์นี้)


 


หลังจากนั้น อีเมล์ดังกล่าวได้รับการส่งต่อจริง แต่ถูกแก้ชื่อหัวข้อเป็น Please don"t vote and forward this email (อย่าโหวต และส่งต่ออีเมล์นี้ด้วย) และมีเนื้อความว่า "อย่าไปกดโหวตเด็ดขาด" โดยระบุว่า รายละเอียดบุคคลที่นิตยสารไทม์กล่าวถึงนั้น หมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


 


"มันเอาในหลวงของเราไปร่วมจัดอันดับกะไอ้เรน ซัดดัม จอร์จ บุช เราต้องต่อต้าน โดยให้มันเอาพระองค์ท่านออกจากการจัดอันดับ ไม่ใช่ไปร่วมโหวตแข่งกะพวกนักร้อง พวกนักการเมือง อันนี้ก็ประเด็นนึงครับ แต่ที่สำคัญคือ Time มันกล่าวหาว่า ไม่ว่าในหลวงจะทรงตรัสอะไรออกไป คนในประเทศก็เออออไปด้วยหมด ไม่มีใครคิดต่อต้าน แม้ว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่พอมีการรัฐประหาร ยึดอำนาจ ก็ไม่มีใครต่อต้าน เพราะมีภาพในหลวงทรงให้ คปค. เข้าเฝ้า และมีพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกคนใหม่ รวมไปถึง การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย ไทม์เลยเอาประเด็นตรงนี้ มาจัดอันดับว่า พระองค์ท่านทรงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลของโลก ที่ทำให้คนนับล้านเห็นด้วย แม้จะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ และไม่มีใครกล้าวิจารณ์" ข้อความในฟอร์เวิร์ดเมล์ ที่ถูกนำไปแปะซ้ำในหลายแห่งระบุไว้เช่นนั้น (อ่านบล็อกที่พูดเรื่องนี้ 1, 2, 3)


 


ข้อความดังกล่าว ทิ้งท้ายว่า ยิ่งคนไทยกดโหวตจัดอันดับ ก็เท่ากับมีคนเห็นด้วยกับ Time และนี่คือการโหวตบุคคลที่มีอิทธิพลต่อโลก ไม่ใช่บุคคลสำคัญของโลก


เช่นเดียวกัน บรรยากาศของกระทู้ในเวบไซต์พันทิบ ก็เปิดประเด็นที่ชักชวนให้ร่วมกันโหวต จากนั้นความเห็นท้ายกระทู้ก็ปรากฏหลายเสียงที่แตกต่าง บ้างว่ารับไม่ได้กับการนำเสนอข้อมูลทั้งสองประเด็นของนิตยสารไทม์ บ้างว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่อยู่ในฐานะที่ควรนำมาจัดอันดับเช่นนี้


 


ด้านของรายการยามเฝ้าแผ่นดิน ในเครือผู้จัดการนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวในรายการเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องย้ำยีหัวใจคนไทย กรณีที่ขึ้นพระนาม โดยไม่ใช้คำว่า King นำหน้า ขณะที่กษัตริย์พระองค์อื่น เช่น กษัตริย์อับดุลลาห์ แห่งซาอุดิอาระเบีย และกษัตริย์จิกมี่ ชิงเว บังชุก แห่งภูฏาน ก็ยังใช้ King นำหน้า


 


เขาเรียกร้องให้รัฐบาล คมช. หรือคนที่เกี่ยวข้อง รีบดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน จะต้องชี้แจงไปที่ไทมส์ ด้วยความสุภาพ เพราะเขาอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์


 


ผู้ดำเนินรายการยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะมองในแง่ดี ก็อาจจะมองได้ว่าไทมส์ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่หากจะมองในแง่ร้าย หรือมองอย่างหาเรื่อง ก็จะเห็นว่านิตยสารไทมส์อยู่ในเครือเดียวกันกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ซึ่งเคยสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สิงคโปร์ และพอฟังได้ว่า การให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นเป็นการทำธุรกิจเพื่อโปรโมต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการทำล็อบบี้ยิสต์อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะมองว่าการจัดโหวตครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโปรโมชั่นหรือเปล่า เพราะข้อมูลในส่วนโปรนั้น เท่าที่ทราบมา เป็นข้อมูลที่กลุ่มของพ.ต.ท.ทักษิณนำไปพูดในต่างประเทศ


 


ล่าสุด ในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 25 เม.ย.นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ได้รับการโหวตอยู่ในอันดับที่ 48 (จาก 200 คน) มีคะแนนร้อยละ 60 จากจำนวนคนโหวต 260,596 คน


 


ขณะที่ อันดับ 1 คือนายสตีเฟ่น โคลแบร์ต (Stephen Colbert) นักแสดงตลก ซึ่งได้ 92 คะแนน มีคนโหวตให้ 187,528


 



 



 


น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นบุคคลที่มีผู้เข้าไปโหวตสูงที่สุด ในบรรดาบุคคล 200 คน แต่ไม่ใช่ผู้ที่ได้อันดับสูงสุด ไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด


 


ข้อสันนิษฐานข้อหนึ่งคือ เพราะวิธีการโหวตของนิตยสารไทม์นั้น เป็นระบบที่ผู้โหวตต้องเลือกคะแนน โดยการเอาเม้าส์ลากคะแนนที่ต้องการก่อนแล้วจึงกดโหวต จากซ้ายสุดที่คะแนนเท่ากับ 1 ไปขวาสุดที่คะแนนเท่ากับ 100 ซึ่งหากไม่ทันได้อ่านวิธีใช้ ไม่ได้เลือกคะแนน แต่กดโหวต (SUBMIT) โดยทันที คะแนนจะมีค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 คะแนน


 


อย่างไรก็ดี ขณะที่การสื่อสารทางออนไลน์ไม่หยุดนิ่ง ผู้คนมีส่วนร่วมในการแสดงออกได้หลายวิธี และเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้คนที่มีความเห็นแตกต่างได้ร่วมแลกเปลี่ยนอันนำไปสู่การพัฒนา แต่ในประเทศไทย กระทรวงไอซีที ยังคงปิดกั้นการเข้าถึงเวบไซต์หลายแห่ง แม้แต่การปิดกั้นโดย "เหมารวม" เช่นที่ทำกับเวบไซต์แลกภาพและเสียงที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก เช่น YouTube


 


 


อ่านประกอบ


The Most Influential People of the Year


กระทู้พันทิบ : Time จัดอันดับบุคคลสำคัญ ช่วย Vote ให้ ในหลวง ของเรากันครับ


กระทู้ประชาไท : เกิดอะไรขึ้นที่ Time กับการ Vote "The Most Influential People of the Year"


ยามเฝ้าแผ่นดิน อัด "ไทม์" จัดโหวตบุคคล มิบังควร-ย่ำยีหัวใจคนไทย


กระทู้จากพันทิบ : อยากให้ยุติเรื่อง TIME ได้ไหมครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net