Sleater - Kinney ผู้หญิงก็ร็อคได้!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภฤศ ปฐมทัศน์

 

 

เป็นเรื่องเคยชินไปแล้วที่ว่า เมื่อเอ่ยถึงดนตรีร็อคทีไร ก็ชวนให้นึกถึงวงที่เต็มไปด้วยผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และในทางกลับกัน เรื่องเคยชินอีกเรื่องก็คือ เมื่อพูดถึงดนตรีของผู้หญิงก็มักชวนให้นึกถึงแต่เพลง Pop ฟังสบายๆ Smooth Jazz นุ่มๆ หรือ R&B (ในกรณีที่เป็นสาวผิวสี) อย่างดีที่สุดก็อาจจะนึกถึงวง Euro-pop อย่าง Spice Girls

 

การที่คนส่วนใหญ่จะนึกกันแบบนี้ก็ไม่แปลกนัก เพราะจากประวัติศาสตร์ดนตรีร็อคนั้น ผู้หญิง (รวมถึง "ความเป็นหญิง" ในการให้ความหมายของสังคมสมัยใหม่) ออกจะเป็นสิ่งแปลกแยกสำหรับดนตรี Rock

 

ในช่วงยุคต้นๆ นั้น อาจจะพอมี Janis Joplin, Joan Baez, Carol King, Grace Slick (วง Jefferson Airplane, Jefferson Starship), Nico (Velvet underground) ฯลฯ ให้ได้เห็นกันบ้าง แค่พอดนตรีร็อคเติบโตผ่านเลยมาเรื่อยๆ ด้วยความซับซ้อนขึ้น และหนักหน่วงขึ้น พื้นที่ของผู้หญิงในดนตรีแขนงนี้ก็ดูจะหดหายลงไป ไม่ว่าจะเป็นแนว Progressive, Hard Rock, Heavy Metal แม้กระทั่ง Punk ก็แทบไม่เห็นผู้หญิงในสาขาเหล่านี้เลย

 

แม้ในปัจจุบันเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นว่าวง Rock หรือ Metal หลายวงให้ผู้หญิงอยู่ในฐานะคนร้องนำบ้างแล้ว เช่น Amy Lee จาก วง Alternative Rock (ที่มี look แบบ Gothic) อย่าง Evanescence, Tarja Turunen อดีตนักร้องเสียง Soprano วง Nightwish, Sharon Den Adel นักร้องเสียงหวานจากวง Within Temptation ฯลฯ แต่แฟชั่น Female Front แบบนี้ก็ยังคงนำ "ความเป็นหญิง" (ในความหมายของสังคม Modern คือ ความอ่อนหวาน, ความนุ่มนวล ฯลฯ) มารับใช้ดนตรีที่หนักแน่น มีพลัง ซึ่งหมายถึง ผู้เล่นคนอื่นๆ ในวงก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ดี

 

ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าความสบายๆ ของ Pop หรือ ดนตรีอ่อนหวาน เป็นสิ่งไม่ดีนะครับ ผมแค่กำลังรู้สึกว่าเหตุใด ความหนักแน่น, ดุดัน, ประชดประชัน, มันสุดเหวี่ยง และอีกสารพันคุณสมบัติที่แท้ของความเป็น Rock นั้นถึงได้ถูกกันให้ไกลจากผู้หญิงเหลือเกิน ซึ่ง...คำตอบคงไม่พ้นระบอบปิตาธิปไตยอีกตามเคย เพราะระบอบชายเป็นใหญ่นี้ นอกจากในเชิงสังคมการเมืองแล้ว แม้แต่ในด้านศิลปะ-สุนทรียะ ก็มีการเข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่เหมือนกัน อย่าลืมว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ผลิตออกมาจากสังคม สะท้อนภาพกลับไปสู่สังคม และ ในขณะเดียวกันก็กระทำตอบสังคมด้วย

 

แต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกว่าสตรีนิยม หรือ Feminism นั้นดูจะเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย ในช่วงแรกๆ การเคลื่อนไหวออกจะเน้นไปที่เรื่องของการเมืองในระบบเป็นสำคัญ เน้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รวมถึงนโยบายเพื่อเอื้อให้ผู้หญิงมีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น ยุคต่อๆ มา กระบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมขยับขยายออกจากการเมืองไปสู่วัฒนธรรม ศิลปะ ทัศนคติ รวมถึงคุณค่าความหมายเชิงนามธรรม ทำให้เข้าใกล้กับชีวิตประจำวันมากขึ้น จนทำให้กลุ่มหลังนี้ถูกเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่สองของการเคลื่อนไหวสตรีนิยม

 

แต่คลื่นลูกที่สองนี้ถึงแม้จะมีพลังเคลื่อนไหวที่ถึงพริกถึงขิง รวมถึงมีแนวคิดแตกต่างกันออกมาเป็นหลายขั้วก็จริง แต่บางครั้งแนวคิดที่แตกขั้วออกมาก็ขัดแย้งกันเอง ทำให้ยุคต้นๆ 1990"s คลื่นลูกที่สามของการเคลื่อนไหวสตรีนิยมก็ก่อตัวขึ้นเพื่อรองรับความหลากหลายของแต่ละขั้ว แล้วก็ตั้งคำถามย้อนกลับแนวคิดเหล่านั้นไปในตัว

 

ในฝั่งของดนตรี สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับคลื่นลูกที่สามก็คือดนตรีแนวใหม่ที่เรียกตัวเองว่า Riot Grrrl (น่าจะมาจากคำว่า Riot Girl หรือ สาวขบถ นั่นเอง)

 

Riot Grrrl นี้เป็นทั้งแนวดนตรีและวัฒนธรรมย่อยที่แยกตัวออกมาจาก Punk แน่นอนว่า Sound ดนตรีในช่วงแรกๆ อ้างอิงกับแนว Punk อยู่ไม่น้อย แต่ในยุคต่อๆ มา บางวงก็เริ่มพัฒนาความซับซ้อน กลวิธี และเสริมองค์ประกอบของดนตรียุคใหม่ๆ เข้าไปจนเริ่มเอียงไปทางเป็น Indie Rock มากกว่า

 

วงแนวนี้อาจจะเป็นผู้หญิงกันทั้งวง หรือจะเป็นวงที่มีทั้งหญิงและชาย แต่มีผู้หญิงเป็นแกนนำก็ได้ไม่ว่ากัน เนื้อหาบางวงอาจออกแนว Radical หน่อยอย่าง Bikini Kill แต่ส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับความหลากหลายของแนวคิดคลื่นลูกที่สาม ที่ถึงขั้นตั้งคำถามว่า จริง ๆ แล้ว "ความเป็นหญิง" กับ "ความเป็นชาย" มีอยู่จริง หรือเป็นเพียงนิยาม หรือวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นมารับใช้ระบบกันแน่

 

นอกจากนี้บางวงก็ยังก้าวออกจากขอบเขตเรื่องของสตรีนิยมไปยังเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสังคม บางครั้งก็พูดถึงชีวิตส่วนตัวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย

 

ไม่แปลกเท่าไหร่ที่ในบ้านเราจะไม่รู้จักดนตรีแนวนี้ เพราะนอกจากจะเป็นวัฒนธรรมย่อยของวัฒนธรรมย่อย (ก็คือ Punk) อีกทอดหนึ่งแล้ว แม้แต่ในกลุ่มชาว Punk เองหลายคนที่ยังยึดติดในความเป็น Macho ก็ยังไม่เปิดใจยอมรับดนตรีแนวนี้นัก บางครั้งก็โห่ไล่ บางครั้งก็ขว้างปาสิ่งของ ด่าด้วยคำแรงๆ บางคนก็ตะโกนบอกให้ถอดเสื้อ เผลอๆ ยังเป็นที่เข้าใจผิดอีกว่า พวกนี้เกลียดผู้ชาย ต่อต้านผู้ชาย ทั้งที่จริงๆ แล้ว Riot Grrrl นั้นแค่เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้แสดงออกทั้งทางความคิดและทางดนตรีแบบในร็อคๆ บ้างเท่านั้นเอง (ซึ่งทัศนคติแบบนี้เองนักสตรีนิยมหลายคนก็เคยโดนเข้าใจผิดมาเหมือนกัน) นอกจากกลุ่มคนที่ถูกล้างสมองโดยระบอบปิตาธิปไตยแล้ว บางทีสื่อเองก็ดูถูกและไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขาเท่าที่ควร

 

Corin Tucker นักร้อง-นักดนตรี ที่ผมชอบมากสำหรับแนวนี้ ได้เคยพูดไว้ว่า "...พวกเขาทำกับเราเหมือนเป็นผู้หญิงตัวตลกที่ใส่เสื้อในเดินขบวนไปมา พวกเขาปฏิเสธที่จะสัมภาษณ์เราอย่างจริงจัง พวกเขาเอาสิ่งที่พวกเราบอกไปตีพิมพ์ผิดๆ เอาบทความ, แฟนซีน และความเรียงของพวกเราไปใช้ผิดที่ผิดทาง ฉันเขียนไปเยอะมากเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในหญิงสาวและวัยรุ่น ฉันคิดว่านั่นเป็นแนวคิดที่สำคัญมากที่สื่อไม่เคยได้พูดถึงเลย"

 

สำหรับคำครหาที่ว่า ผู้หญิงเหล่านี้เกลียดผู้ชาย ผมก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า Corin Tucker เธอแต่งงานและมีลูกชายแล้วด้วยหนึ่งคนครับ แต่ความเป็นแม่คนก็ไม่ได้ทำให้ความร็อคของเธอลดน้อยลงไปแม้แต่น้อย ...ก็แหม ดนตรีร็อคมันอยู่ที่ฝีมือ ไม่ใช้แค่การเต๊ะจุ้ย

 

 

นอกจากนี้แล้วเธอยังศึกษามาทางเศรษฐศาสตร์การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากวิทยาลัยรัฐเอเวอกรีนอีกด้วย วีรกรรมเด็ด ๆ ของเธอคือการที่เธอตอกหน้าผู้ชายจอมอคติทั้งหลายที่ตะโกนเย้ยวงผู้หญิงว่า "โชว์หัวนมให้ดูหน่อยสิจ๊ะ" (Show me your tits) ด้วยการใส่เสื้อที่เขียนไว้ว่า "โชว์ริฟฟ์กีต้าร์ให้ดูหน่อยสิจ๊ะ" (Show me your Riff) …จี๊ดไหมเล่าหนุ่ม ๆ

 

Tucker เริ่มเข้าสู่วงการดนตรี Rock ครั้งแรกด้วยการเป็นสมาชิกวง Heaven to Betsy ก่อนที่จะพบปะกับ Carrie Brownstein และร่วมกันก่อตั้งวง Indie Rock สาวขบถชั้นยอด อย่าง Sleater-Kinney ขึ้นมา

 

วงนี้อาจจะมีคุณแม่ลูกหนึ่งอย่าง Tucker แต่ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างสำหรับคนที่รักผู้หญิงด้วยกันอย่าง Carrie Brownstein ด้วย เธอเรียนจบจากสาขาวิชาภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistic) ในวิทยาลัยเดียวกับ Tucker เคยอยู่วงแนว Queercore ที่ชื่อ Excuse 17 ก่อนที่จะมาร่วมก่อตั้งวง Sleater-Kinney

 

น่าเสียดาย...ที่ผมรู้จักวงนี้ช้าไปเสียหน่อย พวกเธอออกอัลบั้มแรกในชื่อตัวเองเมื่อปี 1995 และทำงานต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์ในสาย Indie มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ Website วิจารณ์เพลงสุดเขี้ยวอย่าง Pitchfork media แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใด ทางวงถึงบอกว่าอัลบั้ม The Woods อัลบั้มล่าสุดที่ออกเมื่อปี 2005 นี้ ...จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายแล้ว

 

ซึ่งหากอัลบั้มจะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของพวกเธอจริงๆ ก็คงต้องบอกว่า เป็นการปิดตัวลงอย่างงดงามมาก ไม่รู้ว่าการย้ายค่ายจาก Kill rock star มาอยู่ Sub pop หรือเปล่า ที่มีส่วนในการทำให้ Sound ดนตรีในอัลบั้มนี้ ทั้งแน่นขึ้น ทรงพลังมากขึ้น และไต่ออกจากความเป็น Punk และ Indie ขึ้นไปใกล้ความเป็น Hard Rock มากกว่าเดิม จนหลายคนบอกว่าชวนให้คิดถึงพวกวง Hard Rock ยุครุ่งเรื่องอย่าง Led Zeppelin, Black Sabbath หรือ Deep Purple เลยทีเดียว และนอกจากนี้ในหลายเพลงก็ยังได้กลิ่น Grunge มาไม่น้อย

 

ถึงแม้โปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้ Dave Fridmann จะคอยคุมเนื้อหาให้ฟังดูการเมืองน้อยลง แต่เรื่องแค่นี้คิดหรือว่าจะทำให้พวกเธอจอดได้ Sleater-Kinney จึงแอบตอกกลับแนวคิดที่จะให้พวกเธอเป็นแค่สินค้าบันเทิง ไว้ในเพลง Entertain ได้อย่างมันส์สะใจทั้งเนื้อหาและดนตรี นอกจากนี้ยังแอบประชดเสียดสีวิถีชีวิตที่ถูกครอบงำโดยภาพลักษณ์ "สาวสมัยใหม่" (แต่ก็ยังตกอยู่ใต้บ่วงของ "ชายเป็นใหญ่" อยู่ดี) ไว้ในเพลงฟังสบาย ๆ (แต่สะเทือน) อย่าง Modern Girl

 

"My baby loves me

I'm so hungry

Hunger makes me

A modern girl

Took my money

And bought a donut

The hole's the size of

This entire world."

 

-          Modern Girl

 

พวกเธอได้เตือนสาวๆ ด้วยกันเอาไว้ในเพลง The Fox อีกว่า อย่าปล่อยให้เล่ห์กล คารมคำหวาน (จากหนังสือฮาวทูขายดีทั่วประเทศ?) ของหนุ่มๆ มาลวงพวกเธอให้ชำใจได้ง่ายๆ ผู้ชายพวกนี้บางทีก็เป็นแค่หมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ดีๆ นี่เอง เสียงร้องสุดพลังและเสียงกลองกระหน่ำ ตอกย้ำอารมณ์ต่อต้านได้อย่างเต็มเหนี่ยว

 

"That good looking fox only knew one trick

He could break hearts just lickety-split

The duck knew this game she had to quit

And her own pond she was headed to quick"

 

-          The Fox

 

ตัว Carrie Brownstein เองเคยมีพ่อแม่ที่หย่าร้างกันเมื่อสมัยเด็ก เธอเลยนำเรื่องราวความสัมพันธ์ที่มีปัญหาของพ่อแม่เธอมาใช้ในเพลง Wilderness เสียเลย แต่แทนที่จะเป็นเพลงเศร้าหม่น เพลงนี้กลับเป็นเพลงที่มีเสียงกีต้าร์สนุกๆ เพราะความสัมพันธ์ที่แตกร้าวไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้โลกแตกเป็นเสี่ยงๆ เสียหน่อย เธอมองมันอย่างเข้าใจและไม่โทษใคร

 

และดูเหมือนเนื้อหาเรื่องความสัมพันธ์ประมาณนี้ได้ถูกนำมาใช้ในเพลง Steep air เพลงที่ขึ้นต้นและลงท้ายอย่างเปล่าเปลี่ยว แต่ไม่เซื่องซึม ตัวดนตรีเองแอบสอดแทรกความแข็งแกร่งหนักแน่นเอาไว้

 

ในเพลง What"s your is mine เองก็โจ๊ะใช่ย่อย เสียก็แต่ท่อนโซโล่ที่ฟังเบี้ยวๆ ไปหน่อย เนื้อเพลงขึ้นต้นมาด้วยประโยคชวนให้นึกถึงหนุ่มโจ๋ชวนมาพักในอ้อมอกยามเหนื่อยล้า แต่ผู้หญิงจะเป็น "ฝ่ายกระทำ" บ้างไม่ได้หรืออย่างไร หรือ So-called "มาดชายชาตรี" อะไรนั่นสงวนไว้ให้แต่คนมีดุ้นกัน!?

 

"Sit down, honey, let's kill some time

Rest your head on this heart of mine

Tell me, honey, cause you look so blue...

Just how did they get to you?

Cause I"ve been sold a

Waste of time

I'm gonna spend it

Yours and mine"

 

-          What"s your is mine

 

มาถึงเพลงที่ผมชอบที่สุด Jumpers เพลงที่ผมนิยมเอาไปฟังเวลาเดินทาง เพราะดนตรีมันฟังดูแล้วชวนให้ปลดปล่อยตัวเองไปสู่อิสระเสียเหลือเกิน อีกทั้งยังเรียบเรียงได้ดีมากๆ ทีแรกผมนึกว่า Jumpers ในที่นี้จะเป็นเพลงชวนโดดงาน โดดเรียน อ๊ะ! ไม่ใช่สิ โดดหนีความว้าวุ่นใจธรรมดาๆ แต่จริงๆ แล้ว เนื้อเพลงนี้แอบพูดถึงเหตุการณ์การฆ่าตัวตายที่สะพานโกล์เด้นเกท ของนักเรียนหญิงที่เบื่อหน่ายชีวิตวัยเรียนคนหนึ่ง การโดดครั้งนี้จึงทำให้เธอหลุดพ้น ...จากชีวิตที่ถูกกดทับอย่างโหดร้ายเลยทีเดียว

 

ถึงเพลงในอัลบั้มนี้จะนิยมใช้เสียงกีต้าร์ แบบแตกพร่าสากๆ หู แต่ก็มักจะใช้ได้เข้ากับอารมณ์ของเพลงดี ยกเว้น Rollercoaster ที่กำแพงเสียงแบบแตกพร่า ออกจะฟังขัดกับ Riff สนุก ๆ ไปเสียหน่อย

 

Let"s call it love กับ Night life เป็นสองเพลงสุดท้ายต่อกัน เพลงแรกเป็นเพลงยาว 11 นาที (เท่ากับชื่อหนังสือของเปาโล โคเอลโย) พูดถึงเรื่องเพศโดยใช้สัญลักษณ์กันสักเล็กน้อย แต่แสดงออกตรงไปตรงมา (ยังไงต้องฟังกันเองครับ ฮิฮิ) ซึ่งนอกจากจะใช้การไล่จังหวะช่วยเสริมอารมณ์ของเพลงแล้ว ยังมีทั้งการโหมประโคมเครื่องดนตรีกันอย่างเร้าใจ แต่ใช่ว่าเรื่องเพศจะมีแต่ด้านความสนุกสนานหรือความสวยงามอย่างเดียว เพลง Night life พาไปสำรวจความรู้สึกด้านอื่นๆ ของมัน กับบางทีคนเราก็ต้องการใครสักคน ไม่ใช่เพื่อคอยให้นำ ชักจูง หรือครอบครองเรา แต่แค่อยากให้เป็นแสงสว่างส่องนำทางแก่กันบ้างก็พอ

 

"Oh little light

That shines for me in the dark of night

Oh little sigh

Sometimes I follow you all the way home

I would almost have to ask you

I hate to be led

So give me a spark I can look for instead"

 

-          Night Life

 

งานเพลงอัลบั้ม The Wood ของ Sleater-Kinney นี้เรียกได้ว่า มีทั้งฝีมือ ทั้งอารมณ์ขัน ทั้งขบถอย่างมีกึ๋น และก็ไม่ลืมเติมความรู้สึกของมนุษย์ผู้มีชีวิตจิตใจลงไปด้วย หากคุณๆ ได้ลองฟังอัลบั้มนี้แล้วละก็คงอาจรู้สึกอยากให้ผมเปลี่ยนชื่อบทวิจารณ์นี้เสีย จาก "ผู้หญิงก็ร็อคได้" เป็น...

 

"ผู้หญิงน่ะร็อคได้อยู่แล้ว...ร็อคได้เจ๋งเสียด้วย"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท