Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 มี.ค. 2550 เมื่อเวลา 17.00 น.ที่รัฐสภา วันนี้(21 มี.ค. 49)มีการประชุมของอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบสถาบันการเมืองที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน ได้ข้อสรุปให้หมวดจริยธรรมนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เป็นหมวดใหม่ หมวดที่ 13 ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรา ด้วยกัน คือ 1. มาตรานี้จะใช้บังคับบุคคล 3 กลุ่มคือ คือ ข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พนักงานรัฐวิสาหกิจ และผู้มีส่วนในการใช้อำนาจรัฐประเภทอื่นทั้งหมด ซึ่งรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2 . มาตรฐานและเนื้อหาสาระแห่งจริยธรรมของบุคคลเหล่านั้นให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่แต่ละองค์กรจะไปจัดทำขึ้นเอง แต่หากไม่มี ต้องจัดทำภายใน 1 ปี และต้องบัญญัติในวรรค 2 ว่าในประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้นนั้นต้องมีกลไกสำหรับการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพรวมอยู่ด้วย 3.การพิจารณาสรรหาหรือแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งการใช้อำนาจรัฐจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมของบุคคลนั้นๆ ด้วย 4. ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาดูแลในเรื่องของผู้ใช้อำนาจรัฐเหล่านี้คู่ขนานไปกับองค์กรกลางที่รับผิดชอบจริยธรรมในแต่ละองค์กร


 


ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1. รณรงค์สนับสนุนและเผยแพร่ด้านคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ และผู้ใช้อำนาจรัฐทุกประเภท 2. รับเรื่องร้องเรียนการฝ่าฝืนจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวแล้วส่งให้องค์กรเหล่านั้นวินิจฉัยชี้มูลการฝ่าฝืนคุณธรรมจริยธรรมแต่หากส่งไปแล้วองค์กรกลางไม่ไต่สวน 2 ครั้งผู้ตรวจการฯ สามารถไต่สวนได้เองและชี้มูลความผิดกลับไปที่องค์กรได้เองเช่นเดียวกับการชี้มูลข้าราชการผิดวินัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาให้คำแนะนำเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐานแก่องค์กรกลาง และ 4. การฝ่าฝืนจริยธรรมและคุณธรรมของข้าราชการต้องถูกลงโทษตามระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น


 


รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้ถกเถียงกันถึงปัญหาการผิดจริยธรรมของนักการเมือง ข้าราชการประจำ รวมทั้งบุคคลในองค์กรตุลาการ อย่างรุนแรงในหลายกรณี เพื่อเป็นอุทาหรณ์และหาวิธีป้องกัน เช่น มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งไปเอาของคนขับรถมาทำเมีย จนคนขับรถต้องไปขอร้องว่านายอย่าทำเลย สุดท้ายข้าราชการคนนั้นบอกว่าไม่สนขึ้นอยู่กับความสามารถ


 


นอกจากนี้ มีการยกเหตุการณ์ในต่างประเทศว่าเขาเข้มงวดคนที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องไปสืบประวัติถึงครอบครัวต้องดูว่าลูกไปข่มขืนลูกสาวใคร และพ่อใช้อิทธิพลคุ้มครองลูกตัวเองอย่างนี้ก็เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ หรือกรณีที่นักการเมืองคนหนึ่งถูกศาลพิพากษาให้จำคุกแต่รอลงอาญา ในที่สุดก็ต่อสู้จนได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป


 


"เรื่องนี้มันผิดชัดๆ แต่เพราะมันหน้าด้าน วันนี้เรามีคนหน้าด้านอยู่เยอะ ทำให้รัฐธรรมนูญม.77 ปี 40 ที่กำหนดเรื่องจริยธรรมไม่มีน้ำยาเลย เราจึงต้องมีหมวดจริยธรรมกำกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เข้มงวดขึ้น"กมธ.รายหนึ่ง กล่าว


 


นายจรัญ กล่าวว่า เรามีขบวนการวินิจฉัยเรื่องจริยธรรมมาเป็น 100 ปี แต่ไม่เคยเกิดได้เพราะองค์กรวินิจฉัยอยู่ในหน่วยงานของตัวเอง เช่น ส.ส.ก็ให้สภาตั้งกรรมาธิการตรวจสอบก็เป็นพวกตัวเอง หรือศาลก็ใช้กรรมการตุลาการตรวจสอบ ถ้าเรื่องไม่แรงจริงๆ ก็เอาผิดไม่ได้เพราะแมลงวันจะไม่ตอมแมลงวัน


 


"ตอนนี้ประเทศไทยเปรียบเหมือนยุคเรอเนซองส์ เหมือนยุคฟื้นฟูศิลปะ วิทยาการของยุโรป หลังจากตกไปอยู่ยุคมืดแห่งจริยธรรมมานาน ประเทศไทยถึงคราวต้องฟื้นฟูมาตรฐานทางจริยธรรมครั้งใหญ่ หมวดนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับบุคคลที่ทำงานสาธารณะ" นายจรัญ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net