Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย  ภฤศ ปฐมทัศน์


 




ปกอัลบัม For Blood and Empire ของวง Anti-Flag (ที่มาภาพ : http://en.wikipedia.org)


 


"Anarcho-Punk"  .. สำหรับคนที่มีความรู้ด้านการเมืองหรือดนตรีคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า มาจากคำสองคำ คือ Anarchism (อนาธิปไตย) และ Punk (ดนตรีพังค์)


 


ในที่นี้จะขอเกริ่นนำให้รู้จักกับ อนาธิปไตย ตามที่ผมเข้าใจสักหน่อย บางคนได้ยินชื่อระบอบนี้แล้วอาจนึกไปถึงความรุนแรง การก่อการร้าย ภาวะน่าสะพรึงกลัวของผู้คน รวมถึงภาวะความวุ่นวายในสังคม ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วระบอบแนวคิดอนาธิปไตย ไม่ได้ดูโหดร้ายขนาดนั้นครับ


 


ความหมายข้างต้นจริง ๆ ของ อนาธิปไตย (Anarchy) นั้น หมายถึง แนวคิดการเมืองแบบไร้ผู้นำ (ผู้นำในความหมายของกรีกที่ใช้คำว่า Archorn) พอไร้ผู้นำแล้ว จะอยู่กันได้ยังไงล่ะ...? ทีแรกผมก็ตั้งคำถามแบบนี้ครับ เพราะความคุ้นเคยกับการเมืองแบบ ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (ที่ผมอยากเปลี่ยนเป็นคำว่า "อำนาจนิยมฉบับผู้แทน" จะเข้ากว่า) ไม่ใช่แค่ผมเท่านั้นที่ไม่คุ้นเคยกับระบอบแบบนี้ ในสังคมไทยเรานั้น แนวคิดนี้เข้ามาได้ยากมาก สาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจาก "วัฒนธรรมการเมืองของคนไทยที่นิยมชมชอบกับการถูกบังคับบัญชา  (Subjective politicalstructure)"


 


เรามาฟังทัศนะของ Peter Kropotkin พูดถึงแนวคิดนี้กันดีกว่า เขาให้ความหมายของอนาธิปไตยว่า "...เป็นหลักการแห่งชีวิต และเป็นแนวทางปฏิบัติของสังคมที่ปราศจาคการปกครอง สันติสุขในสังคมหาใช่เกิดจากการยอมรับในกฏหมายหรือเชื่อฟัง และปฏิบัติตามผู้มีอำนาจใด ๆ ไม่ แต่เกิดจากข้อตกลงโดยเสรี ในระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มเขตแดน และกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มีการผลิตและบริโภคเป็นไปอย่างเสรี และเพื่อสนองตัณหาหรือความต้องการและความมุ่งมาดปรารถนาที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ที่มีความศิวิไลซ์" (อ้างอิงจาก "Anarchism" ใน Encyclopedia Britannica Volume I สำนวนแปลของ สิทธิพันธ์ พุทธหุน)


 


ฟังดูชวนให้คิดว่า แนวคิดลัทธินี้มันจะไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย (chaos) หรือไง ซึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่าภาวะ Chaos เนี่ยมันเลวร้ายน่ากลัวขนาดนั้นเชียวหรือ หรือจริง ๆ แล้วมันก็น่าจะมีความสงบอยู่ในตัวมัน แล้วความวุ่นวายเองก็มีส่วนในการสร้างสรรค์อะไรหลาย ๆ อย่าง เราคงต้องขอเก็บการถกเถียงนี้ไว้ก่อน เพราะ ประเด็นจะเลยเถิดไปเป็น ประเด็นทางปรัชญา


 


ถามว่าวุ่นวายหรือไม่ชาวอนาธิปไตย ตอบว่า "ไม่เสมอไป" ครับ


ถึงแม้แนวคิดอนาธิปไตยจะมีตัวร้ายเป็น อำนาจรัฐหรืออำนาจโดยชอบธรรม (ที่ตอนนี้กลายเป็น "อำนาจโดยชอบทำ"  ประมาณว่าอะไรที่พวกเขาชอบ พวกเขาเห็นว่าดีก็จะทำ ไม่เคยถามคนอื่น ถือว่าพวกเขามีอำนาจชี้ขาด)


 


ครับ...โดยหลัก ๆ แล้ว แนวคิดนี้น่าจะเริ่มมาจากการทำความเข้าใจในความเป็นมนุษย์แล้วเชื่อว่า มนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ความอยากนั้น ก็ยังมีความดีงามบางด้านอยู่ ความเห็นแก่ตัว (อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์) นั้นจะค่อย ๆลดความรุนแรงลงไปเมื่อได้มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยอิสระเสรี ต่อเนื่อง และเท่าเทียม อันจะนำพาไปสู่การจัดระเบียบในตัวมันเองโดยที่อำนาจรัฐไม่จำเป็นต้องมาคอยกำกับควบคุม เพราะการกำกับควบคุมโดยคนบางคนหรือบางกลุ่มนั้น รังแต่จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ลดทอน-ทำลายความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงขัดกับสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ (อันนี้แอบนึกถึงปรัชญา มนุษย์นิยม และ อัตถิภาวะนิยม เล็กน้อย )


 


อเล็กซานเดอร์ เบิร์กแมน กล่าวไว้ในหนังสือ ลัทธิอนาธิปไตยเบื้องต้น ว่า "...เราสามารถอยู่ในสังคมที่ปราศจากข้อบังคับได้ ชีวิตที่ปราศจากกฎข้อบังคับมาคอยควบคุมนั้น ในแง่ของธรรมชาติก็คือชีวิตที่มีเสรีภาพเป็นอิสระจากการถูกบังคับขู่เข็ญ และมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตที่เหมาะสมที่สุด"


 


สรุปคือ แนวคิดการเมืองนี้นั้นเชื่อว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นสามารถจัดระเบียบสังคมกันอย่างหลวม ๆ ขึ้นมาได้เองโดยจะไม่เป็นการลิดรอนเสรีภาพดังเช่น การจัดระเบียบสังคมโดยอำนาจรัฐ (Authority) ซึ่งมีแต่ความแน่นหนา บีบคั้น แต่การจัดระเบียบที่จากมติของกลุ่มคนที่มีความเท่าเทียมกันนั้น จะหลวม ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงง่ายและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับความต้องการของมนุษย์ คือ


 


1.) ได้มาจากความสมัครใจ


2.) ทำหน้าที่ที่สมาชิกกำหนด


3.) มีลักษณะบังคับใช้ชั่วคราว (ข้อนี้ผมเห็นว่าสำคัญมาก !! เพราะผมเชื่อว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โลกก็เปลี่ยนตาม The time ,they're A-changing)


4.) มีขนาดเล็ก


 


นิโคลัส วอลเตอร์ เขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ ว่าด้วยลัทธิอนาธิปไตย ว่า "ผู้คนจำนวนมากอ้างว่ารัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นเพราะคนบางคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่อนาธิปปัตย์จะบอกว่า รัฐบาลเป็นสิ่งอันตราย เนื่องจากไม่มีใครที่เป็นที่เชื่อถือเพียงพอที่จะให้ดูแลผู้อื่นได้" (อ้างจาก About Anarchism , 1969 สำนวนแปลโดย สิทธิพันธ์ พุทธหุน)


 


จริง ๆ อนาธิปไตยนั้น แตกแขนงและหลากหลายออกไปอีกมากมาย แบ่งได้หลัก ๆ ก็คือพวกที่เชื่อในระบบชุมชน(Community) (อันนี้ใกล้เคียงกับ Marx) แล้วก็พวกที่เชื่อในปัจเจก (Individual) และรวมถึงกลุ่มผู้เรียกร้องความเป็นธรรมในด้านอื่น ๆ เช่น กลุ่มนิเวศ (Eco-anarchism) , กลุ่มสตรีนิยม (Anarcha-Feminism) โดยผู้สนับสนุนแนวคิดอนาธิปัตย์ในยุคปัจจุบันนั้น มีแนวคิดที่ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม คืออาจไม่ถึงขั้นล้มล้างขจัดอำนาจรัฐให้สิ้นไป แต่เป็นแค่การลดทอนบทบาทอำนาจรัฐ ให้ประชาชนมีพื้นที่ต่อรองมากขึ้นบ้างเท่านั้น การเคลื่อนไหวของกลุ่ม ซาปาติสต้า เองก็มีคนจัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยแนวคิดอนาธิปไตยใหม่เหมือนกัน


 


มาถึง Anarcho-punk กันเลยดีกว่า คงไม่ต้องอธิบายไปมากกว่านี้ครับว่า แนวดนตรีของกลุ่มนี้คือกลุ่ม Punk ที่สร้างงานดนตรีโดยเสนอเนื้อหาเชิง อนาธิปไตย ซึ่งจริง ๆ แนว Punk ก็เป็นแนวที่ต่อต้านระบอบแบบแผน และต่อต้านสังคมอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว เนื้อหาที่พูดถึง Anarchy นั้นมาจากงาน Single ชุด "Anarchy in the U.K." ของ วงพังค์ยุคต้น ๆอย่าง Sex Pistol ที่เนื้อหาออกแนวทำลายล้างแบบทีเล่นทีจริง โดยวง Sex Pistol เองก็ยังไม่ได้จัดว่าเป็นวงแนวAnarcho-Punk วงที่น่าจะจัดว่าเป็นแนวนี้วงแรกคือ Crass อันมีป้ายฉลากเพิ่มเติมว่าเป็น anarcho-pacifism หรือ เหล่าอนาธิปปัตย์ผู้รักสันติ  เท่าที่ผมได้ฟังมารู้สึกว่าเป็นวงที่เน้นเนื้อหา ส่วนงานดนตรีจะตรงไปตรงมามาก (และแน่นอนใช้ Chord น้อย เมโลดี้เรียบ ๆ ในแบบพังค์) Peter Rimbaud ผู้ก่อตั้งวง Crass ร่วมกับ Steve Ignorant ยังบอกอีกว่า วงพังค์อย่าง Sex Pistols, The Clash, The Damned เป็นแค่หุ่นเชิดของวงการธุรกิจดนตรี


 


Anarcho-Punk ในยุคเริ่มนั้นเป็นการแสดงตัวตนและจุดยืนผ่านวิถีชีวิต และศิลปะอย่างชัดเจนนอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนสโลแกน "DIY not EMI" (DIY = Do It Yourself) อันเป็นเหมือนการปฏิเสธค่ายใหญ่ และแสดงออกทางจุดยืนในการต่อต้านระบบทุนไปในตัว โดยอาศัยเครือข่ายและระบบความสัมพันธ์เป็นหลักในการเผยแพร่งาน ซึ่งDIY ยังแพร่ไปสู่ Punk แนวอื่นที่ไม่ใช่ Anarcho-Punk อีกด้วยรูปแบบทางดนตรีนั้นมีตั้งแต่ที่เหมือน Punk ธรรมดาทั่วไปอย่าง Poison Girls , Conflict พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นแนว Hardcore punk อย่าง Dead Kennedys ไปจนถึง Crust Punk ที่แรงและเร็วอย่าง Nausea


 


มาจนถึงทุกวันนี้ ดนตรี Punk ได้ค่อย ๆ ปรับตัวเข้ามาสู่ผู้คนในดนตรีกระแสหลักมากมายจนกลายเป็น Pop Punk อย่าง Green Day กับ Blink 182 วงที่เรียกว่าเป็น Anarcho-Punk ได้อย่างเต็มปากลดลงเรื่อย ๆ หลาย ๆ วงที่เคยถูกกล่าวขานว่าเป็น ก็พยายามจะบอกว่าเป็นแค่ Political Punk/Leftist Punk อย่าง Propagandhi และ Anti-Flag


 




Anti-Flag (ที่มาภาพ : http://en.wikipedia.org)


 


โดยเฉพาะวง Anti-Flag นี่เองได้ขึ้นมาสู่ "บนดิน" โดยการเซ็นสัญญากับค่าย RCA ในปีที่แล้ว พร้อมกับอัลบั้มที่ชื่อ "For Blood and Empire" เพลงในอัลบั้มนี้มีส่วนชวนให้นึกถึงเพลงประท้วงจากยุค 60's อยู่เหมือนกัน เนื้อหาส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ไม่พ้น Topic ยอดฮิตอย่างการวิพากษ์วิจารณ์ นโยบาย War On Terror ของประธานาธิบดีบุช ซึ่งในปีเดียวกันนี้ลุง Neil Young ก็ออก Concept อัลบั้มชื่อ Living With War เนื้อหาวิพากษ์ประธานาธิบดีคนเดียวกันนี้ออกมา แต่ดูเหมือนประเด็นของอัลบั้ม For Blood and Empire จะกว้างกว่าหน่อย


 


อย่างเพลงที่มีกลิ่น Ska ติดมาอย่าง "The W.T.O. Kills Farmers" เป็นเพลงปลุกเร้าอารมณ์ที่แต่งให้กับ ลี คุง เฮชาวนาเกาหลีใต้ผู้ทำอัตนิวิบากกรรม เพื่อประท้วงองค์กรการค้าโลกในการประชุมที่เม็กซิโก เพลง ที่น่าจะถูกหูชาวพังค์อย่าง "The Press Corpse"ที่พูดถึงการครอบงำสื่อและใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเห็นด้วยกับสงคราม


 


"The press scribble scribble every half-truth spoke


Then shoot it round the country like an April Fools joke


Hype the nation for a Desert Storm love affair


Wave the stars and stripes like you just don't care!"


 


เพลง This is the end (For you my friend) ก็เป็นอีกเพลงที่พูดถึงสื่อในแง่มุมของการถูกครอบงำโดยระบบการเงินและสนับสนุนการบริโภค ในแง่เดียวกับเพลง The Restless Consumer ของ Neil young


 


"Seems every station on the TV


is selling something no one can be


If every page was torn from the magazine


would cash still drive the media machine?


The products, damage and pursuit are endless


identity can leave you selfless"


 


ไปจนถึงเพลง "The Project For A New American Century" ที่วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานชื่อเดียวกันกับเพลง (ชื่อย่อคือ PNAC) โดยหน่วยงานนี้ เป็นหน่วยงานสำนักใหญ่สำหรับแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมใหม่


(Neo-Conservative) นำโดยบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Weekly Standard อย่าง William Kristol


 


ดนตรีในอัลบั้มนี้นั้นมีทำนองที่ Pop ขึ้นกว่าอัลบั้มก่อน ๆ โดยก็ยังคงความหยาบ ดิบ ตรงไปตรงมา ออกทำนองเร้าอารมณ์ในมาตรฐานของวงนี้ไว้ ส่วนเนื้อหาก็ใช้ภาษาสละสลวย มีความตรงไปตรงมา ปนคำสบถบ้างเป็นระยะ ๆ ความตรงไปตรงมาของมันนั้น แม้จะดีตรงที่เข้าใจง่าย แต่ก็ทำให้มันไม่สามารถลงลึกไปในรายละเอียดของตัวปัญหาได้เท่าที่ควร อีกทั้งบางเพลงก็เหมือนบอกให้ทำมากกว่าช่วยให้คิดเองได้ จนบางทีแล้วอาจมีประโยชน์แค่ช่วยทำให้ผู้ฟังรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาชั่วคราว มากกว่าจะช่วยให้เกิดการต่อยอดอะไรได้มากขึ้นกว่านั้น


 


แต่อย่างไรก็ตาม ดนตรีประท้วงแบบพังค์ยุคใหม่ของวงนี้ ก็กรุยทางมาถูก และยังมีหนทางข้างหน้าอีกยาวไกล ตราบใดที่โลกนี้ยังมีอะไรต้องชวนให้ลุกขึ้นมาชูกำปั้นเรียกร้องความเป็นธรรม.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net