Skip to main content
sharethis

แปลจากรายงานพิเศษเรื่อง Graffiti reveals Thai royal fears  


โดย โจนาทาน เฮด จากสำนักข่าวบีบีซี


วันที่ 12 มีนาคม 2550 เชียงใหม่ ประเทศไทย 


 


 


ชายชาวสวิส "โอลิเวอร์ จูเฟอร์" ต้องเผชิญกับการตัดสินจำคุก 75 ปี จากการที่เขาพ่นสีทำลายโปสเตอร์บางแผ่น...


 


ผมบอกได้เลยว่าเจ้าหน้าที่ของทางศาลไม่อยากให้พวกเราอยู่ที่นั่น ตามปกติแล้วศาลไทยเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างจะผ่อนคลาย นักข่าว-นักหนังสือพิมพ์เดินไปเดินมาเพื่อสังเกตขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาคดีได้


 


แต่ไม่ใช่ครั้งนี้...


 


เจ้าหน้าที่หลายคนเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ และพวกเราก็ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ข้อมูลที่เราได้รับเกี่ยวกับคดีของนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ วัย 57 ปี มีน้อยมาก แต่ข้อหาที่เขาได้รับกลับเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเลย เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนธันวาคม หลังจากที่เขาถูกจับได้ว่าเป็นคนทำลายโปสเตอร์หลายแผ่นด้วยการพ่นสีสเปรย์สีดำทับลงไป


 


ความผิดพลาดของเขาก็คือว่า โปสเตอร์ที่เขาทำลาย เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ


 


การวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทำการจาบจ้วงแก่ราชวงศ์เป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรงและผิดกฎหมายของไทย นายจูเฟอร์จึงต้องรับข้อหาที่มีโทษจำคุกถึง 75 ปี


 


เราได้ยินมาว่าเขาแสดงอารมณ์กราดเกรี้ยวเมื่อแรกที่โดนจับกุม เขาตั้งใจจะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำความผิด แต่เห็นได้ชัดว่าเขาได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนท่าทีเสียใหม่ บางทีอาจจะเป็นคำแนะนำจากทนายของเขา หรือไม่ก็อาจจะเป็นคำแนะนำจากสถานฑูตสวิส


 


 


สื่อมวลชนถูกปิดข่าว


ณ วันนี้ โอลิเวอร์ จูเฟอร์ เปลี่ยนคำให้การเพื่อยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดจริง และเขาก็ถูกนำตัวออกจากศาลในสภาพช็อก สองขาของเขาถูกล่ามโซ่ในฐานะนักโทษของไทย


 


ความหวังอันสูงสุดของเขาตอนนี้ก็คือว่า ผู้พิพากษาจะยอมผ่อนผันโทษให้ หรือไม่ก็อาจจะคำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง และอาจมีการพูดถึงข้อตกลงเพื่อรักษาหน้าของแต่ละฝ่าย และส่งตัวเขาออกนอกประเทศไป


 


หาไม่แล้ว ทนายความของโอลิเวอร์กล่าวว่า เขาจะต้องโทษจำคุกต่ำสุดประมาณ 7 ปีครึ่ง


 


แต่คดีของโอลิเวอร์ จูเฟอร์ ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ของไทยต้องการถกเถียงหรืออภิปรายใดๆ ตอนที่เขาถูกจับกุมตัวได้นั้น ทางการกีดกันไม่ให้หนังสือพิมพ์ไทยฉบับใดรายงานข่าวดังกล่าว มีแค่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเท่านั้นที่ได้รายงานข่าวนี้


 


อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันพิจารณาคดีของนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ (12 มี.ค.2550) คือ พนักงานอัยการรายหนึ่ง ออกมาบอกแก่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่รออยู่ว่า คดีถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป และจะนัดพิจารณาคดีในเร็วๆ นี้อีกครั้งหนึ่ง


 


"เราไม่ต้องการสื่อ" พนักงานอัยการรายนั้นกล่าว "เราไม่ต้องการให้คนไทยรู้เรื่องนี้ ถ้าพวกพวกเขารู้ว่าคดีนี้เกี่ยวพันถึงในหลวง คงไม่มีผลดีใดๆ ตามมา"


 


นั่นคือคำโกหก คดีไม่ได้เลื่อนการพิจารณา พนักงานอัยการรายนั้นคงหวังว่าการพูดเช่นนั้นจะทำให้พวกเราแยกย้ายกันไป


 


ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐของไทยถึงต้องหวาดวิตกถึงเพียงนั้น? และทำไมถึงต้องลงโทษอย่างรุนแรงกับชายคนหนึ่งที่ทำความผิดเพียงแค่ทำลายภาพบนโปสเตอร์ด้วยความเมามาย?


 


 


อนาคตที่ไม่แน่ไม่นอน


ไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างจากไหนมาอ้างอิงก็รู้ได้ว่า ประชาชนชาวไทยแทบทั้งประเทศ ที่พากันมาเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครองราชย์ครบ 60 ปี เมื่อปีที่ผ่านมา พวกเขามารวมตัวกันอย่างมืดฟ้ามัวดินด้วยความรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของพวกเขา ชนิดที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน


 


เวลา 9 เดือนหลังจากนั้น คุณยังคงเห็นผู้คนมากมายสวมใส่เสื้อสีเหลือง อันเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวไทยใช้สื่อถึงพระมหากษัตริย์ เพื่อไปทำงาน ออกสังคม หรือแม้กระทั่งสวมใส่อยู่กับบ้าน


 


ชาวไทยบางส่วนค่อนข้างวิตกถึงอนาคตของสถาบันอันเป็นที่รักของพวกเขา ความจงรักภักดีที่คนไทยได้มอบให้กับผู้นำราชวงศ์ของตนนั้นเป็นสิ่งที่ออกมาจากใจและเต็มไปด้วยความรู้สึก น้อยคนนักที่จะกล้าพูดอะไรไม่ดีไม่งามเกี่ยวพระมหากษัตริย์ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทำไมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงเกิดขึ้นน้อยมาก


 


ดูเหมือนว่ากฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะไม่มีความจำเป็นเลยด้วยซ้ำ


 


แต่ถ้าหากได้พูดคุยกับชาวไทยที่มีการศึกษา คุณจะได้ยินความคิดเห็นแตกต่างออกไปบ้าง คนส่วนใหญ่ยังคงเทิดทูนพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ แต่พวกเขากังวลถึงอนาคตของราชวงศ์มากกว่า


 


....


....


....


 


ปัญหาก็คือว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ว่าประเทศไทยจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมากมายหลายฉบับก็ตาม แต่สถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ในจิตใจของคนไทย ในฐานะ "หนึ่งเดียว" ที่สามารถกอบกู้ชาติบ้านเมืองได้ในยามวิกฤติ


 


 


ความแตกแยกทางการเมือง


การเมืองของไทยเป็นเรื่องวุ่นวายเสมอ และนักการเมืองก็ถูกมองว่าเป็นพวกฉ้อฉลทุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และทำอะไรเพื่อประเทศชาติน้อยมาก ความพยายามจะปรับปรุงวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยให้ดีขึ้นก็มีน้อยมากเช่นกัน เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองสามารถพึ่งพาใบบุญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงปราศจากข้อบกพร่อง และทรงเป็นผู้เดียวที่จะนำพาพวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาที่เกิดปัญหาวิกฤตได้


 


และช่วงเวลาที่เป็นปัญหาหนักหนาที่สุดเช่นปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย ผู้คนที่มอบดอกไม้ให้กับทหารอาชีพที่ทำรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มจะกลายเป็นความทรงจำที่เลือนลางเสียแล้ว


 


รัฐบาลทหารที่มาจากการแต่งตั้งได้รับความนิยมน้อยลงทุกวัน แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะนำพาประเทศกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตาม


 


คนไทยจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวังในประเทศชาติของตัวเอง ซึ่งบัดนี้แตกแยกออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย นั่นก็คือผู้ที่มีความคิดว่า ระหว่างรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลทหาร อย่างไหนจะเป็นตัวเลือกที่เลวร้ายที่สุดกันแน่


 


แม้แต่ในเวลาเช่นนี้ ก็ยังไม่มีใครต้องการคิดตรึกตรองอยู่ดีว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไรใน "อนาคตข้างหน้า" และไม่ว่าพวกเขาจะวิตกกังวลอย่างไร ก็ไม่มีใครอยากจะถกเถียงกันถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ดี ไม่มีแม้แต่การคิดจะซ่อมแซมแก้ไขกฏหมายที่ห้ามไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้


 


"อยู่แบบนี้มันปลอดภัยกว่า" พวกเขากล่าว การปล่อยให้กฏหมายเป็นอย่างที่มันเป็น และปล่อยให้คนไม่มีความสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงไม่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม มันดีกว่าที่เห็นราชวงศ์ไทยดำเนินไปเช่นเดียวกับราชวงศ์อังกฤษ


 


ความคิดเช่นนี้เองที่ โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ฉุกคิดว่า เขาน่าจะจดจำให้ขึ้นใจ ก่อนที่จะทำอะไรลงไปในคืนอันเลวร้ายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net