Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมของทีไอทีวี หรือ "ไอทีวี" เดิม เมื่อวันที่ 13 มี.ค.50  ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะนักวิจัย และนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย ได้เปิดแถลงข่าวความเป็นไปได้และแนวทางการจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะ โดยเฉพาะโทรทัศน์สำหรับเด็กและครอบครัว โดยมีการนำเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยองค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะซึ่งทีมของดร.สมเกียรติได้จัดทำเสร็จสิ้นและได้รับฟังความคิดเห็นไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตอบรับกับเรื่องนี้อย่างดียิ่ง ขนาดที่ดร.สมเกียรติยืนยันว่ามีสมาชิกจำนวนไม่น้อยพร้อมเข้าชื่อผลักดันเรื่องนี้หากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการ


 


ที่น่าสนใจยิ่งคือ การนำเสนอครั้งนี้นอกจากจะยกร่างกฎหมายให้เห็นรูปธรรมเสร็จสรรพ โดยมีที่มาจากฐานของการศึกษาวิจัยซึ่งจัดทำกันมากว่า 7-8 เดือนแล้ว ยังมีการนำเสนอโมเดลทางการเงิน และทางเลือกในการผลักดันด้านนโยบายในสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย


 


(รายละเอียดดังปรากฏด้านล่าง)


 


ในบรรดาทางเลือกในการผลักดันเรื่องนี้ มีการเรียงลำดับความเป็นไปได้ไล่เรียงจากระดับบนสุด คือ การผลักดันผ่านนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงเรียกร้องให้ประชาชนรวมพลังกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ แม้ว่าประชาชนจะอยู่ลำดับสุดท้ายของความเป็นไปได้ที่ผู้วิจัยจัดเรียง แต่ทั้งดร.สมเกียรติและนพ.ชูชัย ยืนยันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับความเข้มแข็งในระยะยาว ทั้งนี้ ทางมสช. จะทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นอีกครั้งในเร็วๆ นี้ว่า สังคมไทยคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้


 


"กระบวนการเกิดทีวีสาธารณะ อาจเกิดจากข้อ 1 2 3 ซึ่งเป็นแบบ top-down แต่กระบวนการในส่วนของประชาชนเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก เพราะระยะยาวทีวีสาธารณะอาจอยู่ไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่รับรู้ และไม่ร่วมเป็นเจ้าของ" ดร.สมเกียรติกล่าว


 


"นี่เป็นรูปธรรมหนึ่งที่จับต้องได้ที่รัฐบาลซึ่งเน้นความดีควรจะทำ แต่ถ้าไม่ทำสิ่งดีๆ นี้ ก็คงต้องตอบคำถามต่อสาธารณะมากว่า เราจะหวังอะไรกับรัฐบาลนี้กันได้บ้าง" นพ.ชูชัยกล่าว


 


เรื่องที่สำคัญและเฉพาะหน้ากว่าการผ่านกฎหมายฉบับนี้คือข้อควรระวังที่ผู้วิจัยระบุว่า หากรัฐบาลเลือกที่จะแปลงสภาพ TITV เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะตามข้อเสนอ ก็ต้องไม่ให้มีการจัดองค์กรของ TITV เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือ เอสดียู (SDU) ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมประชาสัมพันธ์ในสมัยรัฐบาลที่แล้วผลักดัน เพราะเสี่ยงที่ TITV จะกลายเป็นหน่วยงานถาวรภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นอุปสรรคต่อการแปลงสภาพดังกล่าว


 


0000


 


 เอกสารประกอบการแถลงข่าว


ข้อเสนอการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ


 


สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


 


            ตามที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กและครอบครัว  และยกร่างกฎหมายว่าด้วยองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะนั้น  บัดนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้วและได้มีกลไกในการจัดเวทีหลายครั้งเพื่อรับฟังความเห็นของภาคีที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ   จนสามารถได้ข้อสรุปในประเด็นหลักๆ ในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะขึ้นในประเทศไทย


 


1. สรุปผลการศึกษา


 


1.       สถานีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทยควรให้บริการหลักในรูปแบบของโทรทัศน์ภาคพื้นดินในลักษณะ "ฟรีทีวี"  เนื่องจากสามารถให้บริการครอบคลุมครัวเรือนได้มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเรื่อง "การบริการอย่างทั่วถึง" (universal service) และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าในระยะยาว    ส่วนการกระจายสัญญาณภาพโดยใช้เทคโนโลยีอื่น เช่น ไอพีทีวี โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี ควรเป็นเพียงช่องทางเสริมช่องทางหลักดังกล่าว


 


2.    ต้นทุนในการตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือการลงทุนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ ค่าใช้จ่ายในช่วงก่อนการเปิดใช้บริการจริง และค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการและกระจายสัญญาณเพื่อให้บริการ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มเติมหลังเริ่มแพร่ภาพออกอากาศแล้ว ต้นทุนดังกล่าวข้างต้นจะแตกต่างกันตามแนวทางการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะว่า จะเป็นการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ใหม่ขึ้นมาให้บริการในย่านความถี่ UHF หรือแปลงสภาพสถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่น สทท 11 หรือ  TITV เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ


 


 


3.    การตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะขึ้นมาใหม่ จะมีต้นทุนในการลงทุนสูงกว่าการแปลงสภาพสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้วเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนตั้งต้นและค่าใช้จ่ายเตรียมการในช่วงก่อนการดำเนินงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,200-3,400 ล้านบาท  แต่มีข้อดีในแง่การไม่มีต้นทุนที่สืบเนื่องมาจากอดีต (legacy cost)  และสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับพันธกิจของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ในขณะที่การแปลงสภาพสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่แล้วเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ มีข้อดีที่ไม่ต้องเสียงบประมาณในการลงทุนใหม่ แต่จะมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่น ต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรและฝึกอบรมบุคลากรของ สทท. 11  ใหม่  หรือดำเนินการแปลงสภาพของ  TITV ให้ราบรื่น


 


4.    การขาดเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ในระดับท้องถิ่น และการขาดผู้ผลิตรายการอิสระ จะทำให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทยต้องผลิตรายการส่วนใหญ่เอง อย่างน้อยในช่วงแรก    ในระยะยาว ควรมีกลไกทางการเงินในการสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ในระดับท้องถิ่น และผู้ผลิตรายการอิสระกลุ่มต่างๆ 


 


 


5.       การประมาณการต้นทุนในด้านรายการในกรณีศึกษา ซึ่งสมมติว่าสถานีโทรทัศน์สาธารณะออกอากาศทุกวัน วันละ 18 ชั่วโมง  โดยมีการผลิตรายการข่าวประมาณร้อยละ 22 ของเวลาในการออกอากาศ  พบว่า ต้นทุนในการผลิตรายการอยู่ในระดับประมาณปีละ 1,700 ล้านบาท ในกรณีรายการคุณภาพสูง และประมาณปีละ 1,100 ล้านบาท ในกรณีรายการคุณภาพปานกลาง     นอกจากนี้ คาดว่า จะมีต้นทุนในการสนับสนุนผู้จัดทำรายการอิสระและการพัฒนาศักยภาพในการใช้สื่อของภาคประชาชนและชุมชนประมาณปีละ 300 ล้านบาท


 


6.       ควรสร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวของสถานีโทรทัศน์สาธารณะโดยอาจให้มีรายได้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้ 


ก.  ภาษีสรรพสามิตหรือภาษีพิเศษที่จัดเก็บจากอบายมุข  หรือ กิจกรรมที่กระตุ้นการบริโภคของประชาชน โดยกันไว้ให้เป็นรายได้ของสถานีโทรทัศน์โดยตรง (earmarked tax)


ข.  เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตามพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อผลิตรายการด้านการศึกษา


ค.  เงินอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อผลิตรายการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและรายการสำหรับเด็กและครอบครัว


ง.   เงินอุดหนุนที่ได้รับจากผู้สนับสนุนรายการ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน โดยการสนับสนุนรายการนั้นต้องไม่ใช่การโฆษณาสินค้า


จ.   เงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป


ฉ.  รายได้อื่นๆ เช่น รายได้จากการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา


 


ในกรณีของ ง. และ จ.   ผู้สนับสนุนรายการหรือผู้บริจาคจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายหรือเงินบริจาคนั้น  แต่จะไม่สามารถแทรกแซงเนื้อหารายการ และการจัดทำผังรายการของสถานีฯ นอกเหนือจากการแสดงความคิดเห็นผ่านกลไกในการรับฟังความคิดเห็นที่มีอยู่ตามปรกติของสถานีฯ


 


2. การผลักดันให้เกิดโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทย


 


การผลักดันให้เกิดโทรทัศน์สาธารณะในประเทศไทยประกอบด้วยการดำเนินการใน  2 ขั้นตอนใหญ่คือ หนึ่ง การผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ และสอง การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะขึ้นใหม่หรือแปลงสภาพสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่เดิมให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ    ทั้งนี้ ทางเลือกในการผลักดันให้เกิดการออกพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะมีอย่างน้อย 4 ทางเลือกดังต่อไปนี้


 


1)      นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโทรทัศน์สาธารณะประกาศ "วาระแห่งชาติด้านการปฏิรูปสื่อ" และตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาดำเนินการ โดยให้การจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งในการปฏิรูปสื่อ 


2)      คณะรัฐมนตรีด้านสังคม นำร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี  เพื่อนำสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป


3)      สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะต่อรัฐบาล


4)      ประชาชน (รวมทั้งผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเช่น เยาวชน) รวมตัวกันอย่างน้อย 1 แสนคนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะต่อรัฐบาล


 


ส่วนทางเลือกในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะมีอย่างน้อย 6 ทางเลือกคือ ก) ตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ โดยใช้คลื่น UHF ที่เหลืออยู่  ข) แปลงสภาพจากสทท. 11 ค) แปลงสภาพจาก TITV ง) ตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จ) ผลิตรายการป้อนเคเบิลทีวี  และ ฉ) ผลิตรายการป้อน  IPTV     อย่างไรก็ตาม ทางเลือก ง) - ฉ) ควรเป็นทางเลือกเสริม เนื่องจากไม่สามารถให้บริการครอบคลุมครัวเรือนได้อย่างทั่วถึงดังกล่าวข้างต้น   นอกจากนี้ ทางเลือก ก) เป็นทางเลือกที่ใช้เวลานาน และใช้เงินลงทุนสูง  และไม่น่าจะเสร็จสิ้นทันรัฐบาลนี้   ทางเลือกหลักที่เหลืออยู่จึงได้แก่   การแปลงสภาพช่อง 11 หรือ  TITV ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ


 


            เมื่อพิจารณา 2 ทางเลือกนี้ โดยพิจารณาถึงสภาพการณ์ในปัจจุบัน จะพบว่า การเลือกแปลงสภาพ TITV ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะน่าจะมีความเหมาะสมกว่า เนื่องจากรัฐบาลกำลังแสวงหาแนวทางในการแปลงสภาพเพื่อแก้ปัญหา TITV    การแปลงสภาพ TITV ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะสามารถเป็นคำตอบของปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และจะช่วยสร้างหลักประกันความเป็น "ทีวีเสรี" ของสถานีดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว     


 


            หากรัฐบาลเลือกที่จะแปลงสภาพ TITV ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะตามข้อเสนอข้างต้น   ก็ควรระวังไม่ให้การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านเฉพาะหน้าในช่วงนี้เป็นอุปสรรคต่อการแปลงสภาพ TITV ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ  เช่น ไม่ควรจัดองค์กรของ TITV ให้เป็น SDU ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นหน่วยงานถาวรภายใต้กรมประชาสัมพันธ์       แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลอาจพิจารณาดำเนินการก็คือ การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง TITV ให้เป็นองค์กรในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้พระราชบัญญัติการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2496 โดยระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นการจัดตั้งองค์กรชั่วคราว ก่อนที่จะแปลงสภาพเป็นองค์กรมหาชนตามกฎหมายพิเศษ ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง          


 


           


-----------------------------


 


 


สถานีวิทยุ-โทรทัศน์สาธารณะคืออะไร?


 


สถานีวิทยุ-โทรทัศน์สาธารณะแตกต่างจากสถานีวิทยุ-โทรทัศน์เชิงพาณิชย์ และสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ การมีปรัชญาและแนวทางในการดำเนินการที่ถือว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเป็นพลเมือง  และสื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ  และมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ดังตารางต่อไปนี้ 


 
























 


สื่อสาธารณะ


สื่อเชิงพาณิชย์


สื่อของรัฐ


ฐานะของประชาชน


พลเมือง


ผู้บริโภค


ผู้ถูกปกครอง


ฐานะของสื่อ


พื้นที่สาธารณะ


ตลาด


กระบอกเสียง


เป้าหมายในการดำเนินงาน


ประโยชน์สาธารณะ


การทำกำไรสูงสุด


การโฆษณาชวนเชื่อ


 


จากปรัชญาและแนวคิดดังกล่าว  สถานีโทรทัศน์สาธารณะจึงควรมีลักษณะดังต่อไปนี้


 


1.             มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน จากกการมีหลักประกันทางกฎหมายที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง และให้ความมั่นคงทางการเงินควบคู่ไปกับการห้ามโฆษณา เพื่อให้ปลอดจากถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน  


2.             ผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะที่มีคุณภาพสูง เช่น รายการข่าว และรายการเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งให้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้านในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ  รายการการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนและรายการที่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน


3.             ผลิตและเผยแพร่รายการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมจากการมีข้อกำหนดด้านมาตรฐานของรายการ (programming standard) และจริยธรรมทางวิชาชีพ  (code of conduct)


4.             มีกลไกให้สังคมมีส่วนร่วม เช่นการสนับสนุนผู้จัดทำรายการโทรทัศน์และวิทยุอิสระ ทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการสื่อสารเพื่อเรียนรู้ระหว่างกัน และมีกลไกสำรวจความพึงพอใจของประชาชนเป็นประจำ ตลอดจนมีกลไกที่ประชาชนสามารถให้คำแนะนำและข้อคิดเห็น ร้องเรียน และการตรวจสอบการดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์สาธารณะได้โดยง่าย


 

เอกสารประกอบ

ตารางเทียบต้นทุน ข้อดี-ข้อเสีย ของทางเลือกต่างๆ ในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net