Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 3 ก.พ.2550 ตัวแทนจากองค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงยา ประกอบด้วย องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน, เครือข่ายโลกที่ 3 จากประเทศมาเลเซีย, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า, องค์กรนิเวศน์วิทยานานาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์แห่งประเทศไทย ร่วมตัวกันแถลงข่าวแสดงความสนับสนุนให้ประเทศไทยประกาศใช้ "สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา" หรือ Compulsory Licensing โดยระบุว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นการละเมิดข้อตกลงในปฏิญญาโดฮาตามที่บริษัทผู้ผลิตและผู้ค้ายากล่าวอ้าง

 


การแถลงข่าวขององค์กรนานาชาติครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของไทย ออกประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาในยาต้านไวรัสเอดส์และยาโรคหัวใจ โดยระบุว่า จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง เพราะราคายาจะถูกลง ทำให้บริษัทยาข้ามชาติจำนวนมากออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยกล่าวว่าประเทศไทยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถือเป็นความผิดฐานละเมิดข้อตกลงในปฏิญญาโดฮา ซึ่งจัดโดยองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ตัวแทนจากองค์กรนานาชาติที่จัดแถลงข่าวในครั้งนี้ระบุว่าการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข มิได้ ละเมิดข้อตกลงใดๆ เพราะเนื้อหาในข้อตกลงชี้ชัดว่าประเทศสมาชิกสามารถนำสิทธิบัตรมาผลิตยาสามัญได้ โดยไม่ต้องเจรจากับบริษัทยา โดยมีข้อแม้ว่าการผลิตยาดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ


 


ตัวแทนจากเครือข่ายโลกที่ 3 กล่าวเพิ่มเติมว่าการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ มาแล้วมากมาย และประเทศต่างๆ ที่บังคับใช้สิทธิดังกล่าว ช่วยให้ประชาชนในประเทศเข้าถึงยารักษาโรคได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะละเมิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลก


ทางด้านตัวแทนจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส อ้างถึงประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยกตัวอย่างว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ยังประกาศให้มีการบังคับใช้สิทธิบัตรยามากที่สุด ดังนั้น หากบริษัทยาจากสหรัฐฯ จะออกมาบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของไทย ก็คงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันเอง


 


นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว ได้มีการพูดถึงบทสัมภาษณ์ของ "มากาเร็ต ชาน" ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ที่มีเนื้อความค่อนไปในทางติติงว่าไทยไม่ควรใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาบ่อยนัก เพราะจะทำให้เกิดปัญหากับบริษัทยาในอนาคต โดยนางมากาเร็ตแนะนำว่ารัฐบาลควรจะแก้ปัญหาการเข้าถึงยาด้วยการหันหน้าไปคุยกับริษัทยาด้วย


 


จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้ตัวแทนจากองค์กรนานาชาติลงความเห็นว่าแม้คำกล่าวของนางมากาเร็ตจะเกิดขึ้นด้วยเจตนาที่ดี แต่ก็ไม่น่าจะออกมาจากปากของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ซึ่งควรจะคำนึงถึงสุขภาพและการเข้าถึงยารักษาโรคที่ทั่วถึงของประชากรโลก มากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทยาต่างๆ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net