Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มอญดูดาว


 


 


 


"รัฐบาลทหารพม่าขอแสดงความยินดีต่อคณะปฏิวัติไทยที่ได้กระทำการปฏิวัติสำเร็จและได้ดำเนินการบริหารประเทศสืบต่อไป โดยมิได้กระทบกระเทือนถึงประชาชนแต่อย่างไร รัฐบาลทหารพม่าขอให้ความร่วมมือด้วยความสัมพันธไมตรีต่อประเทศไทยต่อไป และด้วยความเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศยังคงมีสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น สมเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีสัมพันธไมตรีกันมาช้านาน จากความสำเร็จของคณะปฏิวัติในครั้งนี้ คงจะเพิ่มความปลอดภัยต่อประเทศภาคพื้นอาเซียยิ่งขึ้น"


 


เปล่า นี่หาใช่จดหมายล่าสุดจากรัฐบาลพม่ามาสู่มือผู้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.แต่อย่างใดไม่ หากแต่เป็นจดหมายที่ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิตค้นพบจากการสำรวจเอกสารในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเอกสารเมื่อปี 2501 รัฐบาลของนายพลเนวินซึ่งรักษาอำนาจชั่วคราวให้กับนายพลอูนุ ของพม่า ได้ส่งโทรเลขแสดงความยินดีกับการปฏิวัติของสฤษดิ์ ธนะรัชต์


 


นี่คือเอกสารที่แสดงความชิดใกล้ระหว่างไทยพม่าในอีกมิติหนึ่ง นอกเหนือความทรงจำเรื่องการชนช้าง


 


ขณะที่หนังฟอร์มยักษ์ พระนเรศวรมหาราช กำลังเข้าโรงฉายอย่างยิ่งใหญ่กึกก้องสยามประเทศอยู่ขณะนี้ ภาพการรับรู้อันคุ้นชิน การรบพุ่งระหว่างอาณาจักรอยุธยาและหงสาวดี เวียนกลับมาทำหน้าที่ย้ำเตือนประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของแผ่นดินอยุธยา ซึ่งต่อมากลายเป็นสยามและประเทศไทยในที่สุด ราวกับศัตรูในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้นมีเพียงมิตรประเทศที่อยู่ใกล้ชิดเพียงแม่น้ำสาละวินกั้นเท่านั้น


 


ในช่วงเวลาแห่งการปกครองพิเศษแบบไทยๆ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน อาจบางทีเราคงต้องกลับไปมองพม่าอีกครั้งด้วยสายตาที่คุ้นเคยและเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งกว่าเคยเป็นมา อย่างน้อยในฐานะมิตรประเทศที่ไม่ทำการ "ทรยศ" และไม่แทรกแซงกิจการใน "รัฐไทย"


 


"รัฐในพม่า" เป็นงานเขียนของนักวิชาการด้านทหารในอุษาคเนย์ นาม โรเบิร์ต เทย์เลอร์ พิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงษ์ และศศิธร รัชนี ณ อยุธยา


 


ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริเขียนไว้ในคำนำของหนังสือ ให้คำอธิบายว่า "หนังสือ "รัฐในพม่า" นี้ก็คือการให้ภาพของสังคมพม่าในสมัย "ระบอบกษัตริย์" อันเป็น "รัฐ" ก่อนยุคอาณานิคม ที่สังคมยังอยู่กับความสัมพันธ์ของ "กษัตริย์-เจ้า-ไพร่" และ "ที่ดิน" และเมื่อลัทธิอาณานิคมอังกฤษคืบคลานเข้ามาครอบครองพม่าทีละเล็กทีละน้อย รัฐในพม่าก็กลายเป็น "พหุสังคม" การนำแรงงานต่างชาติเข้ามาสนองนโยบาย "แบ่งแยกและปกครอง" สร้างฐานะและบทบาทของ "ชาติพันธุ์" เช่น กระเหรี่ยง ไทใหญ่ (เจ้าฟ้า) กำเนิดของ "ชนชั้นใหม่" เรื่องราวของ "ชนชาติ" ที่ทั้ง "ต่อต้าน" และ "หนี" รัฐ บทบาทของชนชั้นกลาง นักกฎหมาย ทนายความของนักศึกษา ของพระสงฆ์ และของ "ขบวนการชาตินิยม" ที่มีเป้าหมาย "เอกราช" ในที่สุด"


 


ในฐานะมิตรประเทศอันมีพรมแดนชิดใกล้ นอกเหนือจากศึกชนช้างแล้ว เราอาจพอจะรับรู้เรื่องราวผู้อพยพลี้ภัยชมกลุ่มน้อยอยู่บ้างประปราย กระทั่งบางคนอาจจะกล่าวว่า เพราะพม่ามีชาติพันธุ์ที่หลากหลายจึงวุ่นวายเช่นนี้ แต่หนังสือเล่มนี้จะบอกว่า ไม่ใช่เพียงเหตุผลของความหลากหลาย แต่ การถูก "หยิบใช้" เป็นองคาพยพแห่งอำนาจต่างหากที่ทำให้เรื่องราวความขัดแย้งอันยาวนานของชาติพันธุ์ในพม่ากำเนิดขึ้นและดำเนินมาไม่ขาดตอน


 


บางเรื่องราวที่ประวัติศาสตร์ไทยอาจจะขาดหายไป ไม่เหมือนดังประเทศเพื่อนบ้านมี ในช่วงของการตกเป็นอาณานิคมการรวมตัวกันต่อสู้ในรูปลักษณ์ต่างๆ ความสำเร็จ ล้มเหลว และหลงทิศหลงทาง รวมถึงหลงชาติพันธุ์ของตัวเองดูจะเป็นเรื่องราวคล้ายๆ กันในหลายประเทศที่ผ่านประสบการณ์อันขมขื่นเช่นกัน บางช่วงของหนังสือฉายภาพให้เห็นขบวนการคนหนุ่มสาวที่จัดตั้ง ขัดแย้งและสับสนในทิศทาง


 


กระนั้นก็ตาม แม้ไม่มีสิ่งเร้าเป็นความขื่นขมจากการกดขี่ แต่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็มิได้แปลกแยกจากมิตรประเทศแถบอุษาคเนย์เท่าใดนัก


 


ผศ. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้จะว่าไปก็เสมือนภาพเหมือนของประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว เพียงอ่านแล้วแทนคำว่า "หงสาวดี" ลงด้วยคำว่า "อยุธยา" แล้วเรื่องราวการผลัดแผ่นดินในสมัยรัฐก่อนอาณานิคม ก็แทบไม่ต่างกัน เมื่ออังกฤษเข้ามาแทรกแซง ก็เหมือนกับการปฏิวัติ 2475 ที่มีการบิดเบนออกไป แต่ในที่สุดทหารก็เข้ามาคุมอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน พร้อมกันนี้ ก็ยังตั้งคำถามต่อไปว่า ระบอบทหารในพม่าจะเป็นตัวแบบแห่งความเข้าใจระบอบทหารในอุษาคเนย์ด้วยหรือไม่


 


และส่วนหลังๆ ของหนังสือนี่เอง ที่เราอาจจะหยิบหามาอ่านกันอีกครั้งในโมงยามของการพักผ่อนจากบรรยากาศประชาธิปไตยไทย พร้อมๆ กับหาคำตอบจากข้อมูลของ ดร.โรเบิร์ต เทเลอร์ ว่าทำไมอำนาจทหารจึงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งยาวนานในรัฐพม่า เมื่อต้องการการเมืองนิ่งๆ ประเทศสงบๆ และระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือนมันช่างวุ่นวายและจัดการกับความขัดแย้งไม่ได้เอาเสียเลย


 


ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนมายาวนาน อาจจะพยายามตอบคำถามว่า ที่กองทัพพม่าอยู่กับรัฐพม่ามายาวนาน ก็เพราะประชาสังคมพม่านั้นถูกตีแตกไปแล้วตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ และขณะนี้ พม่าไม่มีชนชั้นกลาง แต่สำหรับสังคมไทยที่มีชนชั้นกลางเล่า นี่น่าสนใจว่า เราจะอยู่ได้ไหมกับรัฐบาลเผด็จการทหาร-เอ๊ย!! รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร-เราจะอยู่กันไปยาวนานเพียงไร และ "อย่างไร"


 


หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ให้คำตอบ แต่อ่านไว้เพื่อทำความเข้าใจเพื่อนบ้าน


 


แล้วค่อยย้อนกลับมาทำความเข้าใจตัวเองอีกที...


 


หมายเหตุ


เนื้อหาบางส่วนจากการแนะนำหนังสือ "รัฐในพม่า" โดย ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ห้องประชุม อดุล วิเชียรเจริญ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net