Skip to main content
sharethis

ศักดินา มือเศรษฐกิจ ขุนคลัง และ แคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ?

 

 

อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา

 

เขาคือ…

"ชาย" ซึ่งกุมนโยบายการเงินของประเทศไทยในรัฐบาลที่แล้ว...รัฐบาลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

"ชาย" ซึ่งติดโผรายชื่อผู้ที่อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย...หลังจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณถูกรัฐประหาร  

ปัจจุบัน เขาคือ "ชาย" ซึ่งกุมนโยบายการคลังของประเทศไทย ทั้งยังควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร

 

ยังมีเสียงร่ำลือกันอีกว่า "ชาย" ผู้ซึ่งโดดเด่นในฐานะมือเศรษฐกิจผู้เก่งกาจ คือแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป

 

ชื่อของเขากลายเป็นที่จดจำตราตรึงมากยิ่งขึ้น เมื่อโค้งเดือนสุดท้ายของปีนี้ "ชาย" ถูกกล่าวขานชื่อมากที่สุด ในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกรณี Black Tuesday ที่ตลาดหุ้นโกลาหล

 

ที่ทำให้หลายต่อหลายคนพูดกันไปว่า ดูท่าแล้วเส้นทางการเมืองของเขา อาจะคงไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

ชายอุ๋ย - ม.ร.ว. ปรีดิยาธร  เทวกุล หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า "หม่อมอุ๋ย"

 

0 0 0

 

 

 

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ "หม่อมอุ๋ย" ในวัย 60 ปี อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2544 - 2549) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ชีวิตการทำงานของเขา เริ่มต้นที่ธนาคารกสิกรไทย (2514 - 2533) เคยเป็นผู้บริหารคนสำคัญของธนาคารกสิกรไทยจนได้รับตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการอาวุโสก่อนลาออก จากนั้น เป็นผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) (2536 - 2544) และรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2544 - 2549) ซึ่งได้รับรางวัลผู้ว่าธนาคารกลางแห่งเอเชีย 2006 หรือผู้ว่าการแบงก์ชาติดีเด่นแห่งทวีปเอเชีย

 

แม้เส้นทางชีวิตของคุณชายผู้นิยมหูกระต่ายผู้นี้จะมาจากสายการเงินการธนาคาร แต่เขาไม่ได้อ่อนประสบการณ์ด้านการเมือง เขาเคยเป็นโฆษกรัฐบาลสมัย พล..ชาติชาย ชุณหะวัณ (2533 - 2534) เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็เกิดรัฐประหารโดย รสช.จนเกิดรัฐบาลใหม่ หม่อมอุ๋ยไม่ได้ทิ้งบทบาททางการเมืองไปกับการรัฐประหาร เพราะได้กลับเข้ามารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ถึงสองสมัย คือ เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2534 - 2535) และสมัย พล..สุจินดา  คราประยูร (2535) และยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (2535 - 2536)

 

สมัยรัฐบาลทักษิณ เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หลายคนกล่าวว่าเขาคือที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร และเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศควบคู่กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

เมื่อย้อนดูที่มาที่ไป ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าแบงค์ชาติในยุคของหม่อมอุ๋ย ผู้ว่าการฯ คนก่อนคือ ม.ร.ว. จตุมงคล โสณกุล ผู้ซึ่งเป็นที่ไม่โปรดปรานของอดีตนายกฯ ทักษิณ จนต้องออกจากตำแหน่งไป หม่อมอุ๋ยจึงขึ้นมาแทนที่ เป็นผู้ว่าการฯ ที่ประกาศรักษาความเป็นอิสระของแบงค์ชาติ และว่ากันว่า "อยู่ได้" ในข้อตกลงที่ว่า ถ้ามีการตัดสินใจใดๆ ก็จะกระซิบบอกนายกฯ และขุนคลังก่อนล่วงหน้า

 

...เป็นคำสัญญาที่ดีที่สุดเท่าที่ให้ได้ ก่อนจะรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ไม่ต้องแปลกใจ แม้จะเห็นภาพด้านหนึ่งของหม่อมอุ๋ยว่าเป็นขุนคลังอย่างไม่เป็นทางการ แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นภาพที่เด่นชัดว่า เป็นปฏิปักษ์กับนายกฯ ทักษิณ

 

เพราะนั่นคือเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเขา ที่นอกจากจะเป็นมือฉมังด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีคุณสมบัติของบุคคลผู้ซึ่ง "อยู่ได้" ในทุกสถานการณ์

 

 

เปิดฉาก คุณชายผู้ "อยู่ได้" ในทุกสถานการณ์

จากตำแหน่งขุนคลังอย่างไม่เป็นทางการในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อเกิดรัฐประหาร หม่อมอุ๋ยมิได้ห่างหายไปจากเวทีทางการเมือง แต่กลับเข้ามาอย่างเต็มตัว ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

สิ่งที่ผลักดันให้เขาโดดเด่น เป็นเพราะเขาคือผู้ที่รู้ตื้นลึกหนาบาง และสามารถสะสางสานต่อระบบเศรษฐกิจต่อจากรัฐบาลที่แล้วได้ดีที่สุด

 

ที่สำคัญ ภาพความไม่ค่อยจะลงรอยกันระหว่างเขาและทักษิณ ก็มาให้ดอกผลกันในคราวนี้

 

จนพูดได้ว่า ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นใหญ่มีอำนาจ ไม่พ้นต้องเห็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลก้าวเข้ามาในตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศเสมอ

 

หม่อมอุ๋ยอยู่ไ่ด้กับทุกคน แม้จะเต็มไปด้วยคู่ขัดแย้ง แต่อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นศัตรู เขาได้ชื่อว่าเป็นนักแก้ปัญหา และมักเสนอทางออกที่ทำให้คู่ขัดแย้งพึงพอใจได้

 

เมื่อราวต้นปี 2548 หม่อมอุ๋ยเปิดศึกกับคนในรัฐบาลที่แล้ว เพราะไปทุบโต๊ะขวางไม่ให้ วิโรจน์ นวลแข กลับเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย เพราะปรากฏชัดว่า วิโรจน์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยสินเชื่อจนทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์ และก่อให้เกิดหนี้เสียจำนวน 46,000 ล้านบาท

 

วิโรจน์ นวลแข สนิทสนมกับคนในรัฐบาล โดยเฉพาะกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นช่องทางเงินของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เพราะรัฐบาลที่แล้วต้องการใช้ธนาคารกรุงไทยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นไม่ยอมปล่อยกู้ เพราะกลัวหนี้เสีย ไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่า วิโรจน์  นวลแข คือความหวังสำคัญว่าจะเป็นช่องทางเงินกู้ของสนธิ  ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เจ้าของค่ายผู้จัดการ ในภาวะที่สื่อในมือต้องการเงินทุน

 

การขวางทางเพื่อนเก่าอย่างวิโรจน์  นวลแข ในคราวนั้น ทำให้หม่อมอุ๋ยเสียความสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำในสังคมที่เคยคบหากันมานาน

 

ไม่แปลกที่ทักษิณและสมคิดจะไม่สบอารมณ์ที่หม่อมอุ๋ยคัดค้านการกลับมาของวิโรจน์  นวลแข จนทำให้ออกใบสั่ง ที่จะพยายามจะปฏิรูปกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อดึงอำนาจออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไปอยู่ที่ FSC (Financial Supervisory Commission - FSC หรือ คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงิน)

 

เป็นความพยายามที่จะปฏิรูปกระทรวงเศรษฐกิจ โดยปรับโครงสร้างแบงค์ชาติเสียใหม่ ดึงสายกำกับการดูแลการเงินออกจากแบงค์ชาติไปอยู่กับคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงิน (Financial Supervisory Commission - FSC) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงการคลัง

 

ครั้งนั้น คนในแบงค์ชาติคัดค้านอย่างแรง โดยผู้ใหญ่สองคนของแบงค์ชาติ คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย..ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล  และ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย.. ธาริษา  วัฒนเกส ออกมากอดคอเป็นแนวร่วมกัน แสดงจุดยืนชัดเจนคัดค้านรัฐบาลในการผ่าตัดใหญ่แบงค์ชาติ

 

แม้จะมีคู่กรณีมากมาย แต่ในวันนี้ ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร หม่อมอุ๋ยยังคงโดดเด่นในเวทีการเมือง ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

 

แล้วฮันนีมูนพีเรียดก็ผ่านไป

ดูเหมือนเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาลำบากของหม่อมอุ๋ย ที่ถูกจับตาจากคณะรัฐประหาร ว่าจะทำงานได้เข้าตากรรมการแค่ไหน

 

3 เดือนผ่านไปนับจากที่มีการรัฐประหาร จบสิ้นภาวะฮันนีมูนพีเรียดแล้ว รัฐบาลก็เริ่มถูกตั้งคำถามและถูกคาดหวังว่า จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้า

 

ทว่านอกจากการเข้ามาบริหารประเทศ โดยเปลี่ยนชื่อโครงการเดิมๆ ที่เกิดในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียใหม่แล้ว นอกเหนือจากนี้ ดูจะไม่มีอะไรใหม่

 

ตรงกันข้าม สิ่งที่ค้างคาและน่าเป็นห่วงที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจปีหน้า ที่เวลานี้ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง เมื่อค่าเงินบาทแข็งโป๊ก การส่งออกมีปัญหา ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูง กำลังซื้อของผู้คนลดน้อยลง

 

แต่ในภาวะที่ถูกคาดหวังให้ต้องตามล้างตามเช็ดของเก่า โดยเฉพาะการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองนั้น หม่อมอุ๋ยได้สร้างทอล์กออฟเดอะทาว์นขึ้น เมื่อเขาประกาศว่า จะแก้ปัญหาหวย

 

แต่สิ่งที่เขาประกาศ บังเอิญตรงกันข้าม คนละขั้ว กับภาพลักษณ์ที่รัฐบาลชุดนี้สร้างไว้ ว่าจะดำรงอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม …bla..bla..bla…

 

เพราะหม่อมอุ๋ยไม่ได้พูดว่า ไม่เอาการพนัน ไม่เอาสิ่งมอมเมา แต่หม่อมอุ๋ยพูดว่า จะยื่นแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สลากกินแบ่ง เพื่อทำให้เอาหวย 2 ตัว 3 ตัว ถูกกฎหมาย

 

รายได้จากหวยจะได้เข้าสู่ระบบงบประมาณของรัฐ เพื่อนำมาจัดสรรอย่างเป็นระบบเสียที

 

เพราะหวย 2 ตัว 3 ตัว ที่ออกมาตามมติ ครม.เมื่อ 8 กรกฎาคม 2546 ไม่ถูกต้องตาม พ...สลากกินแบ่ง พ.. 2517 แถมยังไม่มีการจัดสรรและนำรายได้เข้าสู่ระบบรายรับของแผ่นดินอย่างเป็นระบบ

 

ทว่า รายได้ของหวยบนดินประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น ทำให้รัฐบาลที่แล้วมีเงินใช้ในมือ เงินเหล่านี้ถูกนำไปใช้สร้างชื่อเสียงทางการเมืองของทักษิณ ผ่านทุนการศึกษา (ทุนเรียงความ ทุน 1 อำเภอ 1 ทุน จัดสรรทุนสนับสนุนแก่บุตรผู้ทำประโยชน์แก่สังคม โครงการแก้ปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส) และตอบแทนให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังที่เป็นข่าว

 

เมื่อการออกหวย 2 - 3 ตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีทางเลือก 2 ทางคือ ต้องยกเลิกมติ ครม.เมื่อ 8 กรกฎาคม 2546 หรือ แก้ไข พ... สลากกินแบ่งเสียใหม่

 

ซึ่งทางเลือกที่หม่อมอุ๋ยเลือกคือ แก้ไข พ... สลาก ให้นำรายได้ที่เหลือจากการนำจ่ายเงินรางวัลและหักค่าบริหารจัดการให้แก่เอเย่นต์แล้วนำเข้าเป็นรายได้ของรัฐ

 

หม่อมอุ๋ย ดูจะเบนความสำคัญไปที่การปรับร่าง พ... ให้หวย 2ตัว 3 ตัวเข้าสู่ระบบกฎหมายก่อน มากกว่าจะเชือดผู้กระทำความผิด

 

เรื่องนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้คนหลายฝ่าย ฝ่ายแรกบอกว่า รับไม่ได้ที่จะทำหวยให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เพราะนอกจากมอมเมาแล้ว ยังขัดต่อศีลธรรมอันดี ฝ่ายที่สองบอกว่า ต้องการให้ดำเนินคดีกับนักการเมืองที่ทำผิดโดยเร็ว

 

หม่อมอุ๋ย ไม่ได้สนองใคร แต่ก็ถูกก่นด่าจากทุกฝ่าย จนท้ายที่สุดเขาประกาศถอนเรื่องทำหวยให้ถูกกฎหมาย

 

 

หวยหวย หุ้นหุ้น

หากยังจำกันได้ บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ก่อนปี 40 แบงค์ชาติในฐานะหน่วยงานที่ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ดูแลระบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการปกป้องค่าเงินบาท มีหน้าที่แตกต่างจากภาระของกระทรวงการคลัง ที่ต้องสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยอิสระ ไม่มีอิทธิพลของการเมืองเข้าแทรก

 

แต่ทอล์กออฟเดอะทาว์นกรณีถัดมาซึ่งจะเป็นที่จดจำไปยาวนาน คือในวัน Black Tuesday เมื่อ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่หุ้นตกกว่า 108 จุด อันเป็นผลมาจากมาตรการป้องกันการเก็งกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ธาริษา  วัฒนเกส ผู้ว่าการฯ ธปท. ประกาศออกมาตรการกันเงินสำรองร้อยละ 30 ของเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น

 

มาตรการแบบนี้ถือเป็นยาแรงเกินสำหรับคนที่คิดจะลงทุนในตลาดหุ้นไทย จนถูกเรียกว่า นี่เป็นมาตรการเหวี่ยงแห เพราะทำเอานักลงทุนที่ไม่น่าจะถูกลงโทษ โดนกระทบไปตามๆ กัน

 

แต่ที่อาจจะหนักหนาและสร้างความเสียหายยิ่งกว่าก็คือ หลังจาก ธปท.ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในช่วงเช้า จนตลาดหุ้นปั่นป่วน นักลงทุนขวัญหาย ช่วงหัวค่ำวันเดียวกันนั้น หม่อมอุ๋ยกลับเป็นผู้ที่ออกมาแถลงข่าวผ่อนปรนมาตรการกันเงินร้อยละ 30 ไปเสียดื้อๆ

 

จนเกิดความไม่น่าเชื่อถือสองประเด็น

 

ว่าประเทศไทย จะยังหลงเหลือความเชื่อมั่นในระบบบริหารการเงินได้เพียงไหน เพราะกรณีตัดสินใจเช้า แล้วยกเลิกเอาตอนค่ำ เป็นการส่งเสริมความไม่น่าเชื่อมั่นยิ่งนัก

 

แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย ยังหลงเหลือความเป็นอิสระในฐานะผู้กุมนโยบายการเงินของประเทศหรือไม่ หรือเป็นเพียงตัวแทนของ "นายเก่า" ที่ปัจจุบันย้ายซีกไปคุมนโยบายการคลังเสียแล้ว

 

สมัยที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศชัดเจนว่า แบงค์ชาติในยุคของเขา จะเป็นยุคที่แบงค์ชาติมีความอิสระ บริหารสถาบันการเงินให้แข็งแรงโดยปลอดการแทรกแซงใดๆจากการเมือง

 

คู่ชกของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชัดเจนที่สุด ก็คือกระทรวงการคลัง

 

มาวันนี้ เขาก้าวเข้ามาเป็นแขนขารัฐบาล ควบสองตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ายซีกจากการคุมนโยบายการเงิน มาดูแลการคลังแทน

 

นโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ จึงมีหม่อมอุ๋ยคุมการคลัง ส่วนด้านการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คุมโดย ธาริษา  วัฒนเกส … ลูกน้องเก่าของหม่อมอุ๋ย

 

 

"ชาย" ผู้ไม่แพ้

นอกจากเรื่องหวยบนดินกับหุ้นดิ่งนรกแล้ว หม่อมอุ๋ยยังมีเรื่องสวนกระแสคนในรัฐบาลไม่ใช่น้อย

 

ไม่ว่าจะกรณีปรับเปลี่ยนข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่ในช่วงแรก หม่อมอุ๋ยไม่ปรับเปลี่ยนเก้าอี้ของอธิบดีกรมสรรพากร ที่กุมโดยศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ ซึ่งตกเป็นจำเลยว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ป

 

อีกกรณีที่อาจจะเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็คือกรณีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อที่ดินบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากกองทุนฟื้นฟูฯ

 

เพราะเรื่องนี้ ทั้งหม่อมอุ๋ยและธาริษา ก็อาจจะมีความผิดร่วมด้วย เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ระบุความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ากระทำผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 100(1) ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือภริยาดำเนินธุรกรรม หรือสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

 

เป้าจึงตกไปที่หม่อมอุ๋ย ในฐานะผู้ดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองหน่วยงานในขณะนั้น คือธนาคารแห่งประเทศไทยและกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะความผิดร่วมที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้ ย่อมรวมถึงคู่สัญญาซื้อขายในขณะนั้นด้วย

 

เส้นทางการเมืองของหม่อมอุ๋ยในเวลานี้ จึงมีแต่แรงเสียดทาน

 

แต่คุณชายอุ๋ยก็เป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นมาตลอด มีทั้งคู่ขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็ทำตัวสวนกระแสตลอดมา

 

ทำไมคุณชายอุ๋ยจึงดำรงอยู่ได้ในเส้นทางการเมือง ความเป็นไปได้มีสองอย่าง คือ

 

คุณชายอุ๋ย มีจุดยืนมั่นเหมาะ ที่จะเป็นตัวของตัวเอง และตั้งใจอาศัยผลงานในการพิสูจน์คุณค่า ซึ่งดูเหมือนเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวคุณชายมาแต่ไหนแต่ไร

 

หาไม่เช่นนั้นแล้ว การที่คุณชายอุ๋ยใจกล้า เดินหน้าสวนกระแส ชนกับอุปสรรคมากมายได้นั้น มีอะไรเสริมความมั่นใจ

 

อย่าลืมว่า คุณชายอุ๋ย มีบารมีถึงขั้นที่ในคืนรัฐประหาร ชื่อของคุณชายติดอยู่ในโผรายชื่อบุคคลที่อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี และเขายังโดดเด่นถึงขั้นเป็นแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลในอนาคตด้วย

 

หรือเพราะมี "ใคร" เป็นเบื้องหลังที่ทำให้คุณชายอุ๋ยมั่นใจได้ว่า

 

ยังไง เขาก็ไม่มีทางล้ม.

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 

รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

……………………………..

 

 

  

 

โครงการ Visibleman 2006

 

ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป

โดย รุจน์ โกมลบุตร

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net