Visible Man 2006#4 : "จาตุรนต์" ที่ "ฉายแสง"

นาม "จาตุรนต์ ฉายแสง" ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดด้วยการรับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในวันที่ 16 ตุลาคม 2549 การรับตำแหน่งนี้เปลี่ยนภาพของพรรคไทยรักไทยจากที่เคยโดดเด่นด้านประชานิยม อำนาจนิยม ให้กลายเป็นพรรคที่ดูมีอุดมการณ์ "ประชาธิไตย" อย่างนี้แล้วบุคคลแห่งปีของปีนี้จะขาดชื่อของ จาตุรนต์ ฉายแสง ไปได้อย่างไร

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

หากสังเกตกันดีๆ ระยะนี้ตามลำตัวของ "จาตุรนต์ ฉายแสง" เหมือนจะมีแสงแผ่เรืองๆ ออกมา  โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549  ที่ทำให้ "นายใหญ่" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระเด็นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและต้องประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา

 

จากนั้นนาม "จาตุรนต์ ฉายแสง" จึงปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดด้วยการรับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคแทนในวันที่ 16  ตุลาคม  2549

 

อาจด้วยสภาพการณ์หรือความพยายามคงภาพลักษณ์ทางการเมืองก็แล้วแต่ ทำให้การรับตำแหน่งนี้เปลี่ยนภาพของพรรคไทยรักไทยจากที่เคยโดดเด่นด้านประชานิยม อำนาจนิยม ให้กลายเป็นพรรคที่ดูมีอุดมการณ์ "ประชาธิไตย" ต้านรัฐประหารไปโดยปริยาย

 

การนำพรรคในภาวะระส่ำระสายนี้ของจาตุรนต์ด้วยการชูธงประชาธิปไตยท้าทายอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กลายสภาพมาจากคณะก่อการรัฐประหาร เป็นการกระทำที่ดูโดดเด่นที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีในประเทศไทย

 

เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ เมื่อนาม  "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" แห่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยถูกมองว่าคลื่นลูกใหม่และหนึ่งในตัวเลือกทางการเมืองที่กำลังได้รับการจับจ้องจากสังคมถูกยกมาเปรียบเทียบโดยทันที และถูกมองอย่างลดชั้นจนดูเป็นรองไปถนัดตา

 

อย่างนี้แล้วบุคคลแห่งปีของปีนี้จะขาดชื่อของ จาตุรนต์ ฉายแสง ไปได้อย่างไร

 

การรับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอย่างเดียวคงไม่ได้ทำให้ จาตุรนต์ กลายเป็นนักการเมืองที่เริ่มฉายแสงอย่างไม่ธรรมดาออกมาได้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาน่าสนใจมากในปีนี้คือความโดเด่นที่ต้องเดิมพันอันมี "ความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด"

 

เพราะการหมดอำนาจของนายใหญ่แห่งพรรคไทยรักไทยมีผลต่อความอยู่รอดของพรรคโดยตรง ที่ผ่านมาคดียุบพรรคจากข้อหาจ้างวานพรรคเล็กลงเลือกตั้งยังคงรอการตัดสิน ก่อนนี้ตราบใดที่นายใหญ่ยังมีเงินและอำนาจ แม้แต่ผีก็อาจซื้อได้ การการยื้อเวลาให้กับพรรคเพื่อรอไปถึงการเลือกตั้ง และจบคดีโดยไร้มลทินย่อมเป็นไปได้มาก

 

แต่ผลกระทบของการรัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้เหตุการณ์กลับกลาย อำนาจที่เคยมีย้ายไปสู่มือขั้วตรงข้ามที่จ้องฟันไม่ยั้งมานมนาน ตัดหวายย่อมไม่ต้องการไว้หน่อ ดังนั้นเมื่อโค่นนายใหญ่ได้ คดียุบพรรคจึงเหมือนเป็นการจับพรรคไทยรักไทยเป็น  "ตัวประกัน" ไม่ต่างอะไรกับลูกไก่ตัวน้อยในกำมือ บีบทีไรเหล่าขุนพลไทยรักไทยก็ต้องเสียวจนหาทางดิ้นเอาตัวรอด หลายขุนพลจึงไม่ยอมเลือก "เสี่ยงตายทางการเมือง" ไปพร้อมกับคดียุบพรรคที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

 

ความดื้อด้านอยู่รักษาพรรคของนายจาตุรนต์ จึงเป็นการ "เสี่ยง" ที่ "กล้าหาญ" อย่าง "ท้าทาย" แต่หากรอด "วิกฤติ" นี้ไปได้ มันคือ "โอกาส" ในการยืนหยัดในยุทธจักรการเมืองระยะยาว นับจากนี้แต่ละก้าวของจาตุรนต์จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

 

โดยเฉพาะในสังคมที่ "ดื่มชาไม่ดีปาทิ้งไปทั้งภาชนะ" แบบนี้ เมื่ออยากดื่มชาย่อมต้องคิดถึงภาชนะ ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกฉีกไปพร้อมกับความเกลียดชัง "ระบอบทักษิณ" ทั้งที่เป็นภาชนะคอยประคองสังคมประชาธิปไตยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนมีอาภรณ์ทางกฎหมายห่อหุ้ม สักวันสิ่งเหล่านี้จะถูกเรียกหาอย่างโหยหา เพราะวันข้างหน้า ไม่แน่ว่าความน่าหวาดกลัวของอำนาจที่มาจากกระบอกปืนอาจจะย้อนกลับมาอีกเมื่อไหร่ วันนั้นชื่อของ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ใช้พรรคไทยรักไทยต่อสู้ทางอุดมการณ์คงจะถูกเรียกขานถึงเป็นแน่

 

ดังนั้น การที่วันนี้พรรคไทยรักไทยภายใต้การรักษาการของนายจาตุรนต์ ฉีกกระแสการเมืองออกมาเป็นหัวหอกโดดเดี่ยวหาญกล้าต่อต้าน วิจารณ์คัดค้านรัฐบาลที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้งและการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตยอย่างตรงๆ ไม่อ้อมไปมา ในวันข้างหน้าพรรคไทยรักไทยยังไม่เปลี่ยนแนวทางคงจะสามารถกลายเป็น  "สถาบัน" ได้อย่างที่เคยหวัง ส่วนพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งในวันนี้ที่ถูกมองว่าเป็นสถาบันไปแล้ว อาจค่อยๆ ถูกมองอย่างเสื่อมศรัทธา

 

ยิ่งการแสดงตัวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม อันเป็นวันระลึกถึงรัฐธรรมนูญ ยิ่งย้ำภาพที่สวยงามทางประชาธิปไตยแบบได้ผลทางการเมืองไปเต็มๆ  เพราะเป็นการใช้วันดังกล่าวส่งสัญญาณทวงถามประชาธิปไตยด้วยการปล่อยนกพิราบสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ 74 ตัว หลังการสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 แทน 74 ปี ที่เสรีภาพยังไม่เคยสมบูรณ์ จากนั้นก็อ่านแถลงการณ์ที่ชวนคิดตาม

 

"ที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับ แต่กำลังจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ซึ่งความจริงแล้วรัฐธรรมนูญหลังวันที่ 10 ธันวาคม ส่วนใหญ่เป็นเพียงรัฐธรรมนูญปกครอง เป็นธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่ได้ยืนยันอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หรือมาจากประชาชน และไม่ได้ยืนยันสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของประชาชน และอำนาจอธิปไตยของประชาชน  ดังนั้น เรายังไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ

 

ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่พรรคไทยรักไทยให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญตามความหมายที่แท้จริงกลับมาหรือไม่ ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันหรือไม่ และอำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชนหรือไม่ พรรคไทยรักไทยได้เสนอไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างควรจะใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นจุดเริ่มต้น และไม่ควรถอยหลังไปกว่านั้น แต่ในขณะนี้ก็มีบรรยากาศที่ทำให้น่าวิตกว่ามีความพยายามที่จะทำให้รัฐธรรมนูญถอยหลังไปกว่าปี 2540 มีการพูดกันเป็นกระแสข่าวลือชนิดที่ว่าปิดกันให้แซด ว่าต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียบางส่วนให้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังคงมีอำนาจมากไว้

 

"มีการพูดถึงรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ ก็ไม่รู้หมายความว่าอะไร แต่สุดท้ายเท่าที่ติดตามก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการพยายามให้รัฐธรรมนูญถอยหลังไปกว่าปี 2540 แน่นอน ไม่แน่ใจว่าจะย้อนไปถึงปี 2521 หรือ 2400 กว่าๆ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นปีไหน จากประสบการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเราจะพบว่า รัฐธรรมนูญเมื่อร่างโดยผู้ที่มีอำนาจจะออกมาในสิ่งที่ไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจริง ประชาชนต้องช่วยกัน ดูแลเรียกร้องผลักกันให้ได้รัฐธรรมนูญนั้นมา

 

"เพราะฉะนั้นในส่วนนี้พรรคไทยรักไทย ยืนยันที่จะร่วมเรียกร้องในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ทั้งหมดนี้ต้องทำโดยสันติวิธี วันนี้เรามาปล่อยนกพิราบที่มีสัญลักษณ์ว่าสันติภาพ และเสรีภาพ เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ทั้งหมดต้องทำด้วยสันติวิธีเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง"

 

หลายคนที่ไปสักการะร่วมในวันนั้น หากฟังแล้วไม่สะท้อนในอก คงไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร  ป่านนี้เสียงที่ได้ยินวันนั้นอาจจะยังดังก้องหลอกหลอนถามจิตสำนึกที่เคยบอกใครต่อใครเสมอว่าเป็นนักประชาธิปไตยอยู่ก็ได้

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ปีนี้ จาตุรนต์ โดดเด่นขึ้นมาอีกชั้นคือวิกฤติรัฐประหาร 19 กันยายน เหมือนเป็นสิ่งพิสูจน์ระดับอุดมการณ์ของคนเดือนตุลา หลายคนถูกมองว่าสอบตกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กลับเหมือนว่า จาตุรนต์สอบผ่านอย่างเหนือ ใครอีกหลายๆ คนในยุคเดียวกัน ลองไปเลียบๆ เคียงๆ ถาม "ธีรยุทธ บุญมี" ดูเองแล้วกันว่าคิดอย่างไร 

 

เหนือชั้นไปกว่านั้นที่ จาตุรนต์ เหมาะกับการกล่าวถึงในปีนี้ คือความสามารถในการใช้ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์อย่างชาญฉลาด แม้จะแข็งกร้าวในจุดยืนต้านรัฐประหาร แต่กลับอ่อนน้อมร่วมมือในปัญหาที่สังคมมีความอ่อนไหวทำให้ได้ภาพบวกกลับมาอย่างไม่เปลืองตัว

 

นับแต่ พ.ศ.2547 จาตุรนต์ เป็นบุคคลแรกๆ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สนใจเรื่องปัญหาภาคใต้ ช่วงนั้นรัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา จาตุรนต์กลับทำในสิ่งที่ต่างด้วยการลงไปศึกษาปัญหาในหลากมิติจนได้เสนอแนวทางแก้ไขตามแนวทางสมานฉันท์

 

แม้แนวทางนี้จะถูกปฏิเสธจากแนวทางกระแสหลักในรัฐบาลหลายครั้ง แต่บทบาทและภาพลักษณ์ที่ดูสันตินี้กลับได้รับการขานรับทางสังคม ในภายหลังเมื่อความรุนแรงขยายตัวตัวขึ้นมากจนควบคุมสถานการณ์ได้ยาก รัฐบาลจึงต้องเปลี่ยนทิศมาสู่ท่าทีสมานฉันท์ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ขึ้น

 

แน่นอนว่า จาตุรนต์ ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนี้และทำหน้าที่เป็นข้อต่อระหว่างพื้นที่ กอส.และคณะรัฐมนตรีได้อย่างน่าสนใจ ต่อมาจึงได้นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภายหลังเมื่อนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แนวทางสมานฉันท์ได้รับการนำมาปรับใช้ในนโยบายการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยเปิดทางให้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้

 

ความอ่อนหยุ่นนี้ แม้ไม่ใช่แนวทางที่รัฐบาลในเวลานั้นชอบ แต่ได้รับการตอบรับที่ดีจากพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิความรุนแรงไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

 

ความสามารถในการอ่อนหยุ่นแบบนั้นถูกนำมาปรับใช้กับความแกร่งกร้าวอย่างเหมาะสมลงตัวในปีนี้ด้วย นั่นคือการประกาศเจตจำนงกลางเวทีสัมมนาวิชาการ "ชายแดนใต้หลังรัฐบาลใหม่ อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ" เมื่อวันที่ 7  ธันวาคม 2549 ว่าพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ทุกกรณี แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับอำนาจที่ไม่ได้มาตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

 

"ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องใหญ่ แม้จะต้องสู้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รวมทั้งสู้เรื่องประชาธิปไตย แต่จะขอยกเว้นในเรื่องภาคใต้ ถ้ามีเวทีที่ไหนก็พร้อมจะเข้าร่วมเพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่สังคมไม่เข้าใจ ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่เข้าใจมาตลอด ปัจจุบันก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

 

"หลายคนพูดว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่ มีกฎอัยการศึกที่ขยายตัว คิดว่าจะปราบผู้ก่อการในพื้นที่ให้สิ้นไปได้ แสดงว่าไม่ได้เข้าใจปัญหาพื้นฐาน ดังนั้นสังคมไทยและผู้มีอำนาจต้องอาศัยปัญญาชนในการทำความเข้าใจ หากจะพูดโดยสรุปคือ สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมใหญ่คือคนไทยส่วนใหญ่ กับสังคมเล็ก ซึ่งก็คือใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีความแตกต่างอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่สังคมเล็กก็รู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของไม่เพียง 3 จังหวัดเท่านั้น แต่เป็นเจ้าของทั้งประเทศ การรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่จริงจะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงปัญหาได้ เพราะเขามีสิทธิมีเสียงจริงๆ และประชาชนใน 3 จังหวัดเองจะเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหา"

 

อีกทั้งจาตุรนต์ยังแสดงความเห็นด้วยกับการขอโทษแทนสิ่งที่รัฐบาลก่อนกระทำด้วยท่าทีที่ยอมรับว่า  "บางอย่าง" ผิดพลาด

 

หากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ไม่ว่าจะหวังผลทางการเมืองหรือไม่ คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่การพูดสั่วๆ แต่คงต้องมาจากการศึกษาและคลุกคลีกับ "คน" และ "ข้อมูล" อย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะไม่มีหน้าที่ใดๆ แล้วก็ตาม ความใส่ใจนี้  บางทีอาจจะดูเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนกว่าประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่ที่ยังดูไม่มีอะไรชัดเจนเสียอีก

 

อย่างไรก็ตาม คนเราไม่ใช่จะมีแต่ด้านดีเสียทีเดียว ความเป็นบุคคลแห่งปีสำหรับเขาก็มีด้านลบแห่งปีเช่นกัน เพราะในปีนี้เขาก็มีภาพลักษณ์ของผู้สร้างรอยด่างพร้อยให้กับการศึกษาไทยอย่างที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก เนื่องจากภายใต้การบริหารสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งแรกในการศึกษาไทยที่การประกาศผลการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีกหลายครั้งจนสร้างความไม่เชื่อมั่นในระบบการคัดเลือกใหม่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแบบใหม่ที่นำมาใช้แทนการสอบเอ็นทรานซ์ ความผิดพลาดที่กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อระบบการศึกษานี้เป็นความถอยหลังอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

แผลนี้จึงอุกฉกรรจ์เพราะเป็นตราบาปที่แสดงถึงการนำระบบที่ยังไม่พร้อมมาใช้กับเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ของประเทศ และก่อนนี้แม้จะมีเสียงทัดทานมาแล้วหลายครั้ง จาตุรนต์ก็ยังตัดสินใจเดินหน้าจนไปสู่บาดแผลที่ต้องจดจำ การเสื่อมศรัทธาสำหรับวงการศึกษาครั้งนี้คงต้องได้รับการเยียวยาเช่นกัน

 

ถึงตอนนี้คงพูดได้ว่า มีรุ่งก็ต้องมีดับ ร่วงกลางปี สว่างปลายปี จึงขออนาคตมองทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ปีนี้ จาตุรนต์ จะฉายแสง มากก็ตาม แต่ปีหน้าคงหนักหนาเอาการ ลองหลับตานึกดูว่า หากการเสี่ยงผิดพลาด พรรคไทยรักไทยถูกยุบ ผลจะเป็นอย่างไร หรือถ้าไม่ถูกยุบแต่นายใหญ่กลับมามีอำนาจอีกครั้งไม่ว่าจะโดยตรงหรือคนนอมมินีจะเป็นอย่างไร

 

แน่นอนแม้จะช่วยเหลือประคับประคองกันมา แต่ก็ต้องยอมรับว่า 2 คน นี้ต่างแนวทางต่างสไตล์ ดังนั้นต่อไปสถานะในพรรคคงไม่โดดเด่นแบบตอนนี้แน่ เนื่องจากการกลับมาของนายใหญ่ก็หมายถึงการกลับมาของบรรดาขุนพลที่เอาตัวรอดไปแล้วที่คอยส่งสัญญาณชัดเจนมาตลอดว่า "กลับมาแน่นอน" เนื่องจากไม่ว่าอย่างไรชื่อของนายใหญ่ยังคงมีราคาสูงที่มีประโยชน์ทางการเมือง และคนอย่างนายใหญ่ก็คงพร้อมจะอ้าแขนรับหากต้องการกลับมามีบารมีคับประเทศอีกครั้ง

 

ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรทางเดียวของจาตุรนต์ที่ต้องทำต่อไป คือ "คงอุดมการณ์ " สำหรับเขาถึงไม่โตวันนี้แต่ก็เก็บไว้โตในระยะยาวได้อีกนาน

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 

รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

……………………………..

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป

โดย รุจน์ โกมลบุตร

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท