"โบเมี๊ยะ" อดีตผู้นำกะเหรี่ยง KNU เสียชีวิตแล้ว

นายพลโบเมี๊ยะอดีตผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 79 ปี ด้านนายทหาร KNU เผยนายพลโบเมี๊ยะถ่ายโอนอำนาจให้ลูกเรียบร้อยแล้ว

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน

 

นายพลโบเมี๊ยะอดีตผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ผู้ล่วงลับ ภาพนี้ถ่ายเมื่อครั้งร่วมงานเฉลิมฉลองปีที่ 57 ของการต่อสู้กับรัฐบาลพม่าที่ฐาน Mu Aye Pu ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ในเดือนมกราคมต้นปีนี้ (ที่มา : AFP/File/Pornchai Kittiwongsakul)

 

เลขาธิการทั่วไปของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) นายพะโด้ มาน ซา (Pado Mahn Sha) เปิดเผยว่านายพลโบเมี๊ยะ (Bo Mya) อดีตผู้นำ KNU ซึ่งเป็นผู้นำทางทหารมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ถึงแก่กรรมแล้วหลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเวลา 2.00 น. ของวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น รวมอายุได้ 79 ปี

 

เลขาธิการทั่วไป KNU กล่าวว่า นายพลโบเมี๊ยะเป็นโรคเบาหวานมาระยะหนึ่งแล้ว และเมื่อสองปีก่อนได้ป่วยเป็นอัมพาต และเมื่อสองอาทิตย์ก่อนอาการของนายพลโบเมี๊ยะทรุดหนักกระทั่งไม่สามารถรับประทานอาหารได้

 

นายพลโบเมี๊ยะเป็นผู้นำทางทหารของ KNU มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ถึงปี พ.ศ.2543 หลังจากนั้นก็ลดบทบาทของตนลงเพราะปัญหาสุขภาพ นายพลโบเมี๊ยะมีบทบาทถึงปี 2547 และในปีสุดท้ายของช่วงชีวิตนายพลโบเมี๊ยะเป็นที่ปรึกษาของ KNU

 

 

เผย"โบเมี๊ยะ"ผ่องถ่ายอำนาจทางทหารให้ลูกก่อนเสียชีวิต

ผู้นำระดับสูงของ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) นายหนึ่งกล่าวว่า การสูญเสีย "นายพลโบเมี้ยะ" อดีตประธานาธิบดี และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถือเป็นการสูญเสียวีรบุรษที่ยิ่งใหญ่ รองจากนายซอบา อูคะยี นักปฏิวัติและวีรบุรุษของชาวกะเหรี่ยงคนแรกที่ระบุว่ากะเหรี่ยงต้องมีเขตปกครองของตนเอง และอาวุธต้องอยู่ในมือกะเหรี่ยงตลอดเวลา

 

ทั้งนี้ 3 ปีที่ผ่านมานายพลโบเมี้ยะ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก และโรงพยาบาลในกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง หลังป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันและหัวใจ ซึ่งครั้งพล.อ.ขิ่นยุ้นต์มีอำนาจ ได้ส่งเครื่องบินมารับผู้เป็นลุงที่สนามบินดอนเมือง เพื่อไปรักษาตัวจากแพทย์ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า

 

นายทหารคนดังกล่าว กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาดูเหมือนว่านายพลโบเมี้ยะ จะทราบดีว่าฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง และฝ่ายทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) มีความขัดแย้งกันในบทบาทการทำงาน ซึ่งฝ่ายบริหารมองดูว่าที่ผ่านมาไม่คอยมีบทบาทเหมือนฝ่ายทหาร

 

ดังนั้นก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและผู้บัญชาการสูงสุดเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา นายพลโบเมี้ยะ จึงผ่องถ่ายอำนาจทางทหารให้ลูกชาย 4 คน ดำรงตำแหน่งทางทหารที่สำคัญคือ พ.อ.นิกอเมี๊ยะ ผู้บังคับการกองพัน 201 พ.อ.เนอดาเมี๊ยะ ผู้บังคับกองพัน 202 ขณะเดียวกันนายพลโบเมี้ยะมี พล.ต.ทินหม่อง ผู้บัญชาการกองพลที่ 7 ซึ่งดูแลพื้นที่ทิศเหนือตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ไปถึงแม่ฮ่องสอน ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติกันคอยหนุนอยู่ รวมถึง พล.ต.มูติ ผู้บัญชาการกองพลที่ 6 ซึ่งรับผิดชอบด้านทิศใต้ของฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด ไปหนุนห่างๆ

 

ทำให้วันนี้ แม้จะสิ้นนายพลโบเมี้ยะ แต่อำนาจในกองทัพ ก็ยังเดินหน้าไปในกำมือของลูกๆ โดยเฉพาะ พ.อ.เนอดาเมี้ยะ ที่ถูกวางตัวเป็นทายาทหมายเลข 1 และลูกน้องคนสนิทคือ 2 นายพลแห่งกองพลที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเห็นด้วยกับการแนวทางทำงานของ พ.อ.เนอดาเมี้ยะ ทำให้ทหารยังอยู่ในมือของลูกหลานนายพลโบเมี๊ยะ

 

 

นักวิเคราะห์พม่าชี้โบเมี๊ยะเสียชีวิตไม่กระทบ KNU

นายวิน มิน นักวิเคราะห์ชาวพม่าที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยกล่าวว่า กองกำลังหลายกลุ่มใน KNU ยังคงภักดีต่อโบเมี๊ยะ และเขาไม่คิดว่าความตายของนายพลโบเมี๊ยะจะส่งผลกระทบกับกลุ่ม KNU

 

"ผมรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริง" นายวิน มินกล่าว "เขาอุทิศเกือบทั้งชีวิตเพื่อการต่อสู้ แต่เขาก็ตายโดยไม่ทันได้เห็นดอกผลของการต่อสู้ของเขา"

 

กองกำลัง KNU เป็นหนึ่งใน 17 กองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ลงนามในสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งปกครองพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505

 

รัฐบาลทหารพม่าและ KNU ยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 5 ทศวรรษด้วยการลงนามอย่างไม่เป็นทางการในเดือนธันวาคมปี 2546 และมี "สัญญาสุภาพบุรุษ" เพื่อหยุดยิงหลังการเจรจารอบที่ 2 ในปี 2547 นี้

 

 

จับตาการเจรจาหยุดยิง ได้ผลจริงหรือ?

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารพม่ายกเลิกการเจรจาในรอบที่ 3 และการเจรจาอย่างเป็นทางการก็ล้มเหลว ผู้แทนการเจรจาจาก KNU ที่เดินทางไปยางกุ้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาทำให้การเจรจาเกิดความคืบหน้าขึ้นเล็กน้อย

 

นายวิน มิน กล่าวว่าผู้แทนเจรจาคณะอื่นอาจเดินทางไปกรุงย่างกุ้งเร็วๆ นี้ แต่ผลของการเจรจาอาจจะไม่มีอะไรมากไปกว่าสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (State Peace and Development Council - SPDC) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่าต้องการส่งสัญญาณเอาใจนานาชาติเท่านั้น

 

สำหรับประเทศพม่าหรือชื่ออย่างเป็นทางการคือเมียนมาร์ ถูกนานาชาติกดดันในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่ล่าช้า ล่าสุดคือปัญหาพม่าถูกกำหนดเป็นวาระอย่างเป็นทางการของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

 

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลทหารพม่าว่าปฏิบัติการโจมตีต่อชาวกะเหรี่ยงในเดือนกุมภาพันธ์ มีการเผาหมู่บ้าน และบังคับให้ผู้คนหลายพันคนละทิ้งบ้านเรือนเข้าไปใช้ชีวิตในป่าเขา

 

Human Rights Watch ซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์ก มีรายงานที่จัดทำเมื่อเดือนก่อนระบุว่าพลเรือนกว่า 27,000 คนต้องอพยพหลังจากเกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลัง KNU เป็นเวลากว่า 1 ปี ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตกว่า 45 คน

 

"ผมสงสัยว่า SPDC จะมีเจตนาดีที่ต้องการหยุดยิงจริงหรือไม่ ถ้าการหยุดยิงนั้นไม่ทำให้เขาเป็นผู้โจมตีอยู่ข้างเดียว" นายวิน มิน กล่าว

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Former leader of ethnic rebel group battling Myanmar junta dies Sun Dec 24, 2:23 AM ET
http://news.yahoo.com/s/afp/20061224/wl_asia_afp/myanmarunrestkaren_061224072304

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท