Skip to main content
sharethis


 


โดย วิทยากร บุญเรือง


 


 


ในวงเสวนาวิชาการของคนธรรมดา ในหัวข้อ "การปฏิรูปการเมืองของชาวนาและกรรมกร" ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2-3 ธ.ค. ที่ผ่านมา หัวข้อของประสบการณ์การต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ตัวแทนจากสหภาพแรงงานต่างๆ ได้มาเล่าถึงประสบการณ์ของสหภาพแรงงาน การจัดตั้ง การต่อสู้ และการตีโต้จากบริษัท ดังต่อไปนี้ ...


 


สุริยา  นามหงษา -  สหภาพแรงงานคนทำยาง


 


ที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเริ่มทำงาน ผมเข้ามาเป็นกรรมการสหภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2547 ก็ได้รับข้อร้องทุกข์จากสมาชิกส่วนหนึ่ง เรื่องสัญญาจ้างที่เป็นระยะเวลาปีต่อปี จากนั้นเราก็ได้เข้าไปคุยกับนายจ้าง นายจ้างก็ยืนยันว่าลูกจ้างเหล่านี้เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา สหภาพก็ได้ทำการต่อสู้ร้องเรียนให้แรงงานจ้างเหมาเหล่านี้มีสวัสดิการเท่ากับแรงงานประจำ แต่ก่อนที่จะได้รับความเป็นธรรมนายจ้างก็ชิงที่จะมาเลิกจ้างงานไปเสียก่อน โดยได้เลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยให้


 


ประเด็นที่เราต่อสู้คือ เราจะได้ตามสภาพการจ้างรึเปล่า? แต่นายจ้างมาชิงเลิกจ้างก่อน เราได้ไปร้องเรียน ครส. (คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์) เขาก็บอกว่าในกรณีแบบนี้ไม่สามารถเลิกจ้างได้ เนื่องจากเป็นสมาชิกสหภาพด้วย โดยมีการฟ้องศาลจนได้ชี้ออกมาว่าให้รับกลับและให้จ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างจนวันที่รับกลับ  ซึ่งนายจ้างก็ได้ไปอุทรณ์ต่อศาล


 


แต่เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2549 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นก็ได้ตัดสินมาว่า แผนกที่ใช้สัญญาจ้างปีต่อปี ทางนายจ้างจะต้องจ่ายสวัสดิการให้เหมือนกับส่วนอื่นๆ ซึ่งสัญญาที่ทำกับแรงงานแบบนี้ให้เป็นโมฆะ เพราะว่าเป็นสัญญาที่มันขัดกับสภาพการจ้าง ที่ได้มีข้อตกลงไว้กับสหภาพ ...


 


หลังจากที่มีการฟ้องร้องโดยสหภาพครั้งนี้ นายจ้างก็จะจับประเด็นต่างๆ แล้วมุ่งมาที่สหภาพ ว่าคนไหนที่จะเป็นแกนนำที่จะนำเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ไปฟ้องร้อง เริ่มมีการบั่นทอนสหภาพ รวมถึงสมาชิกสหภาพบางส่วนเองก็เข้าไปช่วยเหลือนายจ้าง โดยไปบอกกับสมาชิกว่า ตรงนี้อย่าไปฟ้องร้องนะ หรือ ตอนที่คุณเข้ามาสัญญาที่คุณเซ็นคุณเซ็นอะไรไว้ แบบนี้เป็นต้น


 


ส่วนวิธีการของนายจ้างคือ มักจะเรียกลูกจ้างเหล่านั้น (ลูกจ้างสัญญาปีต่อปีที่กำลังมีการฟ้องร้อง) เข้าไปพบบ่อยๆ ข่มขู่ว่าคุณไม่มีงานทำแน่ แล้วก็เปิดสัญญาที่เขาทำไว้กับคนงาน ว่าข้อตกลงมันเป็นแบบนี้นะ โบนัสจ่ายแค่หนึ่งเดือนนะ เป็นต้น ซึ่งตอนแรกๆ ลูกจ้างก็จะกลัวมาก เพราะเราได้ไปเซ็นไว้แล้ว นายจ้างก็จะบีบกดดันความรู้สึกของแรงงาน ว่านี่ไง คือหลักฐานที่คุณเซ็นไว้แล้ว คุณยอมรับตั้งแต่ต้นแล้ว


 


แต่สิ่งที่สหภาพทำคือ ทำให้เขาเข้าใจว่า กฎหมายจริงๆ การจ้างงานแบบกำหนดระยะเวลาแบบนี้มันควรเป็นงานที่ต้องทำตามฤดูกาล เช่น งานตัดอ้อยที่เป็นฤดูกาล เป็นต้น ตรงนี้เราพยายามทำให้แรงงานเหล่านั้นเข้าใจในสิทธิของพวกเขา


 


โดยแรงงานที่ทำสัญญาจ้างแบบนั้นมีอยู่ 25 คน มี 18 คนที่ยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งทั้ง 18 คนนั้นถูกเลิกจ้างหมด ที่เหลือที่ไม่ฟ้องศาล นายจ้างรับเข้าทำงานหมดโดยให้เป็นผู้รับเหมา แต่ให้ค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งลูกจ้างส่วนนั้นก็ยอมรับในค่าจ้างนั้น เพราะเป็นผู้รับเหมาแต่ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น --- เหล่านี้คือวิธีการของนายจ้าง


 


ที่ได้มีการพูดคุยในกลุ่มย่าน วิธีการของนายจ้างในกรณีของลูกจ้างเหมาค่าแรง ปัจจุบันนายจ้างจะพยายามไม่ให้มีการรวมตัวของลูกจ้างเหมาค่าแรง โดยการใช้ระเบียบข้อบังคับอันรัดกุมกับสมาชิกสหภาพ เพื่อให้แรงงานเหมาค่าแรงเห็นว่า ถ้าคุณเป็นสมาชิกคุณก็จะโดนแบบนี้ รวมถึงการเพิ่มค่าโอทีให้ผู้รับเหมาสูงกว่าแรงงานประจำ เป็นต้น เหล่านี้นายจ้างต้องการที่จะไม่ให้แรงงานเหมาค่าแรงเหล่านั้นมีสำนึกที่อยากจะเป็นแรงงานประจำ


 


และแรงงานเหมาค่าแรงเหล่านี้มีความเกรงกลัวนายจ้างมาก ซึ่งเราก็ไปกระตุ้นว่าทำไมต้องกลัวอย่างที่ไม่มีเหตุผล เพราะในกฎหมายก็มีข้อคุมครองเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประจำ แรงงานเหมาค่าแรง-เหมาช่วง กฎหมายมันก็ใช้ฉบับเดียวกันนะ - แต่เขาก็บอกว่าถ้าผมไปเรียกร้อง ไปแข็งข้อ ผมก็กลัวที่เขาจะเลิกจ้าง เพราะว่านายจ้างเขาเลิกจ้างได้ง่ายๆ


 


สิ่งที่เป็นปัญหาคือ แรงงานยังไม่มีความเข้าใจในกฎหมาย ซึ่งทำให้ไม่กล้าที่จะไปต่อรองกับนายจ้างเมื่อไม่ได้รับความยุติธรรม นายจ้างว่ายังไงก็ต้องปฏิบัติตาม


 


แล้วอีกส่วนหนึ่งคือนายจ้างกำลังพยายามให้คนงานแตกแยกกันด้วยมีวิธีการ เช่น บริษัทผมในโรงงานจะเป็นงานที่เหมาชิ้น เป็นงานรายชิ้นแต่ละแผนกแต่ละจุดค่าชดเชยในการทำงานจะได้แตกต่างกัน เช่นค่าตอบแทนค่าบวกต่อชิ้นซึ่งก็ไม่ใช่ฐานค่าแรงเงินเดือน ของแรงงานใหม่-เก่า ที่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ใช้เครื่องจักรเดียวกันทำงานเหมือนกัน ซึ่งนายจ้างจะใช้เทคนิคแบบนี้ ทำให้เวลาที่แรงงานไปเรียกร้อง คนที่เดือดร้อนไปเรียกร้อง คนที่ได้ผลประโยชน์ดีอยู่แล้วก็จะไม่สนใจกัน ทำให้เกิดการแตกแยก - และทุกวันนี้สหภาพแรงงานของพวกผม กำลังถูกนายจ้างบีบขยี้ทำลาย คือเขาจะให้เครดิตสมาชิกสหภาพที่อยู่ฝ่ายเดียวกับนายจ้าง ใช้กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไม่เท่าเทียมกัน


 


ประสบการณ์ตรงนี้เอง อยากให้มองว่าถึงแม้เราจะมีสหภาพแรงงานในโรงงานแล้ว แต่นายจ้างเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะทำลายพวกเรา มีสมาชิกสหภาพแรงงานที่นายจ้างหนุนอยู่ด้วย และก็ยังมีวิธีการที่นายจ้างจะบีบให้แรงงานแตกแยกกัน พยายามให้แรงงานประจำ - รายวัน - รายชั่วโมง แบ่งแยกกันทำให้รู้สึกว่าเป็นคนละชนชั้นในโรงงาน แต่ความจริงพวกเราก็เป็นกรรมกรด้วยกัน - ซึ่งการแบ่งแยกกันนั้นเป็นตัวอันตรายมาก ผมก็ขอฝากไว้แค่นี้ครับ.


 


 


อนุชา มีทรัพย์ - สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน)


 


ในเรื่องของการจ้างเหมาช่วงเอง บริษัทเราเองก็โดน โดยที่จะเปลี่ยนพนักงานรายวันหรือรายเดือนเป็นการจ้างเหมา แต่พนักงานเองก็ไม่ยอมได้ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนเรื่องของการตัดสวัสดิการ ได้มีการตัดสวัสดิการหลายๆ อย่างออก อย่างเช่นเบี้ยชำนาญงานอะไรพวกนี้เขาก็จะตัดออก โดยอ้างว่าขาดทุน


 


ดังนั้นพวกเราจึงช่วยกันหาทางออกโดยคนประมาณ 20 คนได้คุยกันและหาวิธีการ ซึ่งมันเหลือวิธีการเดียวเท่านั้นคือการรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงาน


 


จากนั้นเราก็เอาไปพูดกับคนหลายๆ คน ซึ่งสิ่งที่เราได้รับกลับมาคือ เขากลับตอบมาว่า "คิดหรือว่าที่จะทำได้ สหภาพแรงงานมันมีแต่ที่ในกรุงเทพ อย่าคิดเลยว่าจะเกิดขึ้นในภาคเหนือ คนโง่เท่านั้นที่จะทำ" คือเราโดนสบประมาทมาตลอด


 


ในการตั้งสหภาพ ตอนแรกเราแบ่งงานกันออกเป็น 3 สาย ประธานสหภาพกับผมไปยื่นข้อเรียกร้องและยื่นขอจดทะเบียนที่กรุงเทพ ส่วนทางโรงงานเราส่งตัวแทนของเราไปยื่นข้อเรียกร้อง แล้วก็ไปยื่นที่สวัสดิการฯ  --- ซึ่งก็ได้รับอุปสรรคและคำสบประมาทพอสมควร แต่เราก็ผ่านมาได้


 


ผมจำได้พอวันเสาร์ หลังจากที่เรายื่นข้อเรียกร้องเสร็จ เรานัดชุมนุมกันทีหนึ่งที่ใกล้ๆ ตลาด ขอเช่าที่เขา 3 ชั่วโมง แต่ได้พูด 15 นาทีเขาก็ไล่ คือเจ้าของที่ไม่ให้ละ ไม่ให้อะไรซักอย่างให้ขนของออกไปให้หมด ... พอถึงวันอาทิตย์ประมาณเที่ยงคืน มีใบประกาศออกมาว่าปิดบริษัท ซึ่งเช้าวันนั้นมีฝนตก พนักงานบางคนที่บ้านห่างจากที่ทำงานมาก ต้องออกจากบ้านมาตีสามตีสี่ แต่พอมาถึงหน้าโรงงานปุ๊บก็เข้าไม่ได้ มีป้ายเขียนติดไว้ว่า "จะปิดโรงงานจนกว่าการเจรจาจะสิ้นสุด" - ซึ่งเราไม่รู้กำหนดเวลาในการเปิดงานและไม่รู้ด้วยว่าจะได้เงินรึเปล่า?


 


เผอิญว่านิคมลำพูน ถ้ามีโรงงานปิดก็จะมีคนมากและรถก็จะติดเพราะคนจะเข้าโรงงานไม่ได้ เพราะคนมาออกันอยู่ที่หน้าบริษัท ซึ่งปกติแล้วทางนิคมฯ เขาจะไม่อนุญาตให้ลงมาอยู่บนพื้นถนน เราก็ยืนอยู่ขอบฟุตบาท เป็นขี้โคลนกันเต็ม ... จนเขายอมให้ใช้ถนนครึ่งหนึ่งที่พวกเราจะเอากางเต้นท์อะไรกันได้ จากนั้นเราก็เชิญสวัสดิการแรงงานมาก็ไกล่เกลี่ยพูดกันเสร็จก็มีการเจรจากันต่อไปอีก


 


หลังจากนั้น การปิดบริษัทปุ๊บ! .. เขาก็เปิดบริษัทใหม่ขึ้นมาทันที คือเป็นบริษัทของเขาอยู่แล้วที่เขายุบตัวลง แล้วก็ไปรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียว  คือต้องอธิบายก่อนว่า บริษัทนี้จะแยกออกมาเป็น 5 บริษัท แต่จะอยู่ที่เดียวกันหมด เขาจึงยุบตัวบริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน แล้วก็ไปเปิดโรงงานที่ ต. อุโมงค์ แล้วก็เปิดรับพนักงานใหม่ ซึ่งก็เป็นพนักงานจากโรงงานที่เขาปิด โดยอายุงาน เงิน ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด แต่รับความสมัครใจ มีรถรับส่ง โดยให้หัวหน้างานเอารถปิ๊กอัพไปรับพนักงานตามบ้านแล้วเอามาที่โรงงาน แต่พวกผม 4-5 คนเข้าไม่ได้ ได้แต่รออยู่หน้าโรงงาน -- ซึ่งนั่นคือเหตุการณ์แรกๆ ที่เราเจอในตอนรวมกลุ่มกันตั้งสหภาพใหม่ๆ


 


นอกจากนี้บริษัทเองก็ยังบอกกับคนงานคนอื่นๆ เช่น คุณอายุงานเป็นสิบๆ ปี แกนนำของพวกคุณอายุงานเท่าไหร่แค่ 4-5 ปี เขาไม่เสียอะไร เขาเรียกร้องเขาทำงานสหภาพเขาได้เงินเดือนอยู่แล้ว - ข่าวแบบนี้จะปล่อยออกมาตลอดว่าพวกผมมีเงินเดือนกิน ว่าพวกผมเอาคนงานมาหาเงินเข้ากระเป๋า ซึ่งพวกผมจะโดนโจมตีตลอด


 


พอมาช่วงหลัง ผมรู้สึกว่าเขาเปลี่ยนวิธีการ เป็นการใช้ไม้อ่อนมากขึ้น คือจะดึงกรรมการหรือส่วนต่างๆ ให้เข้าร่วมกระบวนการของเขา อย่างเช่น กรรมการของเราภรรยาเขาคลอดลูก ก็ถึงบ้านเลย มีของขวัญถึงบ้านเลย พอมีอะไรปุ๊บจะไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือหรือโทรศัพท์ แต่จะเข้าถึงตัวเลย หรืออย่างเช่นเดินเข้ามาในโรงงานเพื่อเข้าไปหากรรมการเรา ทำกะว่าทั้งโรงงานผู้บริหารรู้จักคนๆเดียว ทำให้เพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันเริ่มหมั่นไส้ --- เหมือนทำว่าให้แกนนำอยู่สูงกว่าพนักงานคนอื่นๆ และยังมีอีกหลายวิธีที่ทำให้คนงานเองแตกแยกกัน.


 


ท้ายนี้ก็อยากให้เพื่อนๆ สหภาพแรงงานช่วยกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งเราจะได้ใช้เป็นวิถีทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้พวกเราต่อไป.


 


 


 


 


 


รายงานที่เกี่ยวเนื่อง


 


รายงานพิเศษ : ประสบการณ์การต่อสู้จาก "สหภาพแรงงาน" (ตอนที่ 1)


สัมภาษณ์ : สหภาพแรงงานแรกของภาคเหนือ "ยังอยู่" (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!)


สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดใจรองประธานสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือ


 


 


 


ข่าวแรงงานในรอบเดือน


 


สหภาพฯ เรียกร้อง บ.ลูกฟอร์ด ให้รับคนงานเหมาค่าแรงกลับเข้าทำงาน


วีสทีออนยอมถอย รับคนงานกลับ 12 คนแบบ "มีเงื่อนไข" สหภาพฯ ยันต้องรับทั้งหมด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net