Skip to main content
sharethis

เมื่อครั้งที่มีข่าวว่า "นวมทอง ไพรวัลย์" โชเฟอร์ที่ขับแท๊กซี่ชนรถถังฆ่าตัวตาย มีเพียงสถานีโทรทัศน์ ITV เท่านั้นที่นำเสนอรายละเอียดของบทสนทนาก่อนที่ลุงนวมทองจะตัดสินใจทำในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันว่า-สิ่งที่ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งทำลงไปนั้น เป็นไปเพื่อพิสูจน์อุดมการณ์ประชาธิปไตย และมิได้เกิดจากความฟั่นเฟือนตามที่คนบางกลุ่มกล่าวหา


 


หลังจากที่ข่าวเจาะเรื่องคุณลุงนวมทองออกอากาศได้สักพัก จดหมายเตือนจาก "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" ก็ถูกส่งถึงไอทีวีทันที


 


พิธีฌาปนกิจคุณลุงนวมทอง ผู้พลีชีพเพื่อพิสูจน์อุดมการณ์ประชาธิปไตย ผ่านพ้นไปเป็นเวลา 30 วันแล้ว...


 


แต่ความเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ทิศทางแห่งประชาธิปไตยยังไม่มีอะไรให้พูดถึงมากนัก หากปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมด ความคิดคำนึงถึงประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่กล้ายืนยันความคิดของตัวเองด้วยชีวิต อาจถูกลบเลือนไปด้วย


 


ประชาไทตามไปสัมภาษณ์ "จอม เพชรประดับ" นักข่าวไอทีวีผู้เป็นคนสุดท้ายที่ได้รับฟังความจริงจากปากลุงนวมทอง พร้อมเปิดใจพูดถึงการทำงานของนักข่าวโทรทัศน์ ในวันที่กฏอัยการศึกถูกต่ออายุอย่างไม่มีกำหนด…


 



 


"อุดมการณ์ประชาธิปไตยของลุงนาวมทอง ไพรวัลย์ - ข่าวเด่นที่ต้องนำเสนอ"


...มีคำถามว่าเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าคุณลุงเป็นคนที่มีอุดมการณ์บริสุทธิ์ เราก็ดูจากการพูดคุย ดูจากการสัมภาษณ์ ดูจากครอบครัวแล้ว ผมเชื่อว่านี่คือการกระทำจากความคิดและความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของคุณลุง…


 000


"วันที่ 14 ตุลาคม 2549 ผมไปรายงานสดรำลึก 33 ปี ของเหตุการณ์ ตุลา 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คุณลุงนวมทองก็เข้ามาแนะนำตัวกับผมว่า เขาคือคุณลุงนวมทองที่เป็นคนขับรถแท๊กซี่ที่ชนรถถัง ผมก็ถามคุณลุงว่าออกจากโรงพยาบาลมาเมื่อไหร่ เป็นยังไงบ้าง แกก็บอกว่าเพิ่งออกมาได้ 2 วัน ผมบอกคุณลุงไปว่าผมชื่นชมในความสามารถของคุณลุงที่กล้าหาญ กล้าออกมาแสดงความรู้สึกนึกคิดในขณะที่ทุกคนกำลังกลัว


 


ผมขอเบอร์คุณลุงไว้ เผื่อจะไปสัมภาษณ์ทีหลัง แต่ระหว่างที่ผมกำลังรอสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนหนึ่งซึ่งยังอยู่ในห้องบรรยาย ผมเห็นว่าคุณลุงยังวนเวียนอยู่แถวนั้น ผมก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นผมสัมภาษณ์คุณลุงเลยดีกว่า


 


ผมถามว่าทำไมคุณลุงถึงตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย หรือว่าขับรถไปชนรถถัง คุณลุงก็อธิบายให้ฟังและบอกเหตุผล คุยกันประมาณสัก 20 นาที จากนั้นผมบอกคุณลุงว่าอันที่ผมสัมภาษณ์ไป ผมยังไม่ได้ออกอากาศนะครับ เพราะคุณลุงก็คงทราบว่ายังอยู่ในระหว่างกฏอัยการศึก ผมคงไม่สามารถออกอากาศได้ในตอนนี้ ผมจะออกให้คุณลุงได้ก็ต่อเมื่อยกเลิกประกาศกฏอัยการศึกแล้ว ผมบอกคุณลุงอย่างนั้น แล้วเราก็ลากัน


 


เทปที่คุยกันวันนั้นผมก็เก็บไว้ แต่หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน คุณลุงก็โทรมาผม บอกว่าคุณจอมครับ เทปนั้นเก็บไว้ให้ดีๆ แต่ผมคิดว่าคุณลุงคงไม่ได้โทรหาผมเพื่อจะบอกให้ผมรีบออกอากาศหรือว่าอะไร เพราะคุณลุงก็ทราบดีว่าผมยังทำไม่ได้ ผมก็บอกคุณลุงว่าแน่นอน ผมจะเก็บไว้ให้ดี


 


พอรุ่งเช้า ผมเช็คข่าวถึงได้รู้ว่าคุณลุงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทางไอทีวีก็เลยปรึกษาว่าเราควรจะเอาเทปของคุณลุงออกอากาศดีไหม หลังจากปรึกษากับบรรณาธิการบริหาร เขาก็บอกให้ลองพิจารณากันดู มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และคุณลุงก็โทรมาหาเราเป็นที่แรก แล้วอีกอย่างเรื่องนี้เป็นการรักษาอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย ไม่ได้เกี่ยวกับการปลุกระดม


 


ตอนที่คุณลุงขับรถชนรถถัง นายทหารบางคนออกมาปรามาสว่าไม่มีใครหรอกที่คิดฆ่าตัวตายเพียงเพราะอุดมการณ์ทางการเมือง คุณลุงต้องการแสดงให้เห็นว่านั่นเป็นการปรามาสเขามากเกินไป มีคนอีกมากมายที่ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย นั่นคือบทหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่ามีคนไม่น้อยที่พร้อมจะตายเพื่อรักษาอุดมการณ์ ซึ่งเราจะไม่ค่อยเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย


 


คนลักษณะนี้มีไม่มากในสังคมไทย ทีนี้มีคำถามว่าเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าคุณลุงเป็นคนที่มีอุดมการณ์บริสุทธิ์ เราก็ดูจากการพูดคุย ดูจากการสัมภาษณ์ ดูจากครอบครัวแล้ว ผมเชื่อว่านี่คือการกระทำจากความคิดและความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของคุณลุงมากกว่าจะเป็นการว่าจ้างจากใคร หรือว่าจะเป็นบุคคลวิกลจริต


 


เมื่อเรามอง เราวิเคราะห์อะไรต่างๆ แล้ว ทางไอทีวีก็เลยตกลงใจว่าเราจะออกอากาศ เพราะว่าเราต้องการสะท้อนภาพของคนที่มีความเชื่อมั่นในลัทธิทางการเมือง และเป็นลัทธิทางการเมืองที่เราก็ต้องการด้วย นั่นก็คือประชาธิปไตย"


 


"เหตุการณ์คร่าวๆ เมื่อข่าวการฆ่าตัวตายของลุงนวมทองจี้ใจดำรัฐบาลทหาร"


...ต้องบอกก่อนว่าทหารเขาไม่ได้บุกมาปิดไอทีวี...แต่มีหนังสือมาเตือนว่าไม่ควรที่จะเผยแพร่ข่าวนี้ หรืออาจจะเผยแพร่ได้ในลักษณะของข่าวทั่วไป คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร...


 000


"เมื่อเราออกข่าวไปตอนภาคเที่ยง เราก็เล่าให้ฟังเป็นข่าวอ่าน พูดถึงเหตุการณ์ที่คุณลุงเสียชีวิตด้วยการผูกคอตาย จากนั้นก็เป็นสกู๊ปที่ผมทำขึ้นมา เพื่อจะบอกถึงเหตุผล ซึ่งก็คือคำสัมภาษณ์ของคุณลุงนั่นแหละว่าทำไมคุณลุงถึงเลือกที่จะสละชีวิตตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย จากนั้นพอได้ออกอากาศข่าวเที่ยงเสร็จแล้ว เราก็ออกอากาศอีกทีในช่วงข่าวภาคค่ำ คือ 6 โมงเย็น ก็ทำแบบเดียวกัน โดยมีคำบรรยายมากขึ้น


 


แน่นอนว่าอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย ย่อมขัดแย้งกับแนวทางของทหารที่ทำรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ความตั้งใจหลักๆ ของคุณลุงนวมทอง คือต้องการรักษาอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยเอาไว้อย่างแท้จริง เราก็พิจารณาว่า ถ้าเป็นอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์แบบนี้ เรื่องนี้ก็น่าจะออกได้ และเราก็เป็นที่เดียวที่มีบทสัมภาษณ์ และเป็นที่เดียวที่มีเหตุผลในการฆ่าตัวตายของคุณลุงว่าเพราะอะไร ถ้าเอาออกไปแล้ว มันก็เหมือนเป็นการเปิดข้อเท็จจริงว่าเป้าหมายของคุณลุงคืออะไร


 


คุณลุงไม่ได้ถูกฆาตกรรม คุณลุงไม่ได้เป็นคนสติไม่ดี และคุณลุงไม่ได้ถูกจ้างจากใคร แต่คุณลุงทำด้วยเจตนาของตัวเอง และเป็นความสมัครใจที่จะตาย เพราะต้องการที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ายังมีคนอย่างคุณลุงคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองที่มาจากการปฏิรูป-ปฏิวัติ ตรงนั้นคือสิ่งที่เขาต้องการจะบอก นั่นก็คือว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องรักษาไว้ด้วยชีวิต


 


หลังจากที่ข่าวเที่ยงออกไป เราประเมินสถานการณ์แล้วว่าไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ทหารไม่ได้โทรมา ไม่มีการเตือนมาว่าไม่ให้ออกอากาศ เราก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็เลยเอามาเสนอต่อในข่าวภาคค่ำ แต่พอข่าวภาคค่ำออกไปปุ๊บ มันดูเหมือนว่ากระแสมันแรงขึ้น คนดูที่ดูมาตั้งแต่ตอนเที่ยง พอตอนค่ำเขาดูอีก เขาก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันแรง พอมันแรงปั๊บ ทหารก็ตักเตือน ต้องบอกก่อนว่าทหารเขาไม่ได้บุกมาปิดไอทีวี แต่มีหนังสือเตือนมาว่าไม่ควรเผยแพร่ข่าวนี้ หรืออาจจะเผยแพร่ได้ในลักษณะของข่าวทั่วไป คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร


 


ตอนที่ทหารเตือนมา ข่าวภาคค่ำได้ออกอากาศไปแล้ว เขาจึงเตือนมาเพื่อไม่ให้เราออกอากาศอีกในช่วงฮอทนิวส์ มันก็เลยไม่มีข่าวนี้ออกอากาศในช่วงฮอทนิวส์ ซึ่งที่จริงเราจะเสนอข่าวนี้ในช่วงฮอทนิวส์ก็ได้ แต่เขาไม่ให้เราเอาบทสัมภาษณ์ของคุณลุงออกอากาศ แต่อาจจะออกเป็นข่าวพิธีการหรือพิธีกรรมก็ได้


 


ผมไม่ได้ดูในหนังสือที่ทหารส่งมา แต่ได้ยินมาว่ามีการพูดถึงข่าวของคุณลุงนวมทองว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยก หรือเป็นชนวนของการไม่สมานฉันท์ของคนในชาติ นั่นคือเหตุผลที่ใช้ แต่ถ้าคำพูดชัดๆ ตรงๆ ในจดหมาย ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เหตุผลหลักก็คือเขาอยากให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง อยากให้เกิดความสมานฉันท์ ไม่เพิ่มความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาอีก


 


หลังจากนั้นในไอทีวีก็มีการคุยกันว่ามีการเตือนเกิดขึ้น ก็ขอให้ระมัดระวังในการเสนอข่าว เพราะเขาเองก็จับตาดูอยู่อย่างเป็นห่วงเหมือนกันว่าเราจะเล่นอะไรต่อ และเราก็กลัวว่าใครจะเอาเรื่องราวของคุณลุงไปประท้วง ไปคัดค้าน หรือไปใช้ประโยชน์ในการอื่น เราก็ไม่เห็นด้วย เราก็ถือว่าเราทำหน้าที่ของสื่อที่บอกถึงคนที่ต้องการจะพิสูจน์ความเชื่อมั่น ศรัทธา และก็ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แล้ว


 


หลังจากที่มีคำเตือนมา เราก็คิดว่าเราจบได้ เพราะทำหน้าที่ไปแล้ว ส่วนใครจะเอาเรื่องนี้ไปขยายผลในด้านต่างๆ ก็ต้องแล้วแต่องค์กรที่เอาไปใช้"


 


"กรอบเหล็กชื่อ "กฏอัยการศึก" ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อหรือไม่ - อย่างไร"


...กฏอัยการศึกส่งผลถึงเสรีภาพสื่อแน่ๆ เพราะมันสร้างกรอบขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มขึ้นมาจากกรอบเดิมที่เราใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเสนอข่าว ทำให้เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ความหลากหลายของความคิดเห็นก็อาจจะลดลง...


  000


"กฏอัยการศึกในประเทศไทยอาจเกิดขึ้นหลายช่วง หลายสถานการณ์ และหลายความเคลื่อนไหว แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้ง ผมไม่ได้มองว่านี่คือความคิดของคนทำสื่อทั้งหมด และการออกกฏอัยการศึกในครั้งนี้มันไม่ได้เกิดจากความชอบธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่มันอาจจะมีเหตุมีผลว่าทำไมเราถึงต้องมีกฏอัยการศึก


 


เราเห็นวิวัฒนาการของความแตกแยกที่สร้างความร้าวฉานแก่สังคมรุนแรงขึ้นจนต้องมีการปฏิวัติ-ปฏิรูปเมื่อเราเห็นว่าไม่มีทางอื่น สื่อเองก็เห็นว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น เราก็คิดว่าการปฏิรูปก็เป็นทางออกทางหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะมีทางออกทางอื่น ทางออกอาจจะมีหลายทาง แต่การแก้วิกฤตความขัดแย้งของคนในชาติยังไม่มีวิธีไหนถูกหยิบมาใช้ และมันก็สายเกินไปที่จะหยิบมาใช้


 


แล้วจู่ๆ ก็มีคนยื่นทางออกให้ด้วยการปฏิวัติ (รัฐประหาร) แล้วสื่อควรจะทำอย่างไร ถ้าค้านต่อ หรือต่อสู้ต่อโดยไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ แล้วถามว่าปัญหามันจะแก้ไขได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งก็เห็นใจและเข้าใจถึงการมีอยู่ของกฏอัยการศึก แต่ก็ "ส่วนหนึ่ง" เท่านั้นนะครับ ในบางเรื่องราวที่พิจารณาแล้วเห็นว่าถ้าเกิดมีแล้วมันจะยิ่งแตกความสามัคคีมากเกินไป ก็ต้องระวังเหมือนกัน


 


ถ้าถามว่ากฏอัยการศึกมีผลต่อไอทีวีมากไหม ก็ต้องบอกว่ามีผลในระดับหนึ่ง เราต้องคิดให้มากขึ้นก่อนที่จะนำเสนอ แต่ถึงขั้นที่จะกลัวจนไม่กล้านำเสนอเลยก็น้อยมาก เหตุการณ์สำคัญๆ เรายังต้องนำเสนออยู่ แต่ถ้าเราไปสัมภาษณ์บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่อาจจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น และเราก็วิเคราะห์แล้วว่าคนๆ นี้เป็นบุคคลที่ไม่ใช่คนกลางจริงๆ ไม่ใช่คนที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ เราก็จะพยายามกันออกไปจากพื้นที่ข่าว เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่ากฏอัยการศึกมีผลยังไง มันทำให้เราเลือกคนที่จะสัมภาษณ์ หรือเลือกมุมมองที่จะนำมาเสนออย่างระมัดระวังมากขึ้น


 


ในการให้น้ำหนักของคนที่ออกมาพูดในสื่อ ต้องมีการคิดด้วยว่าเราจะให้น้ำหนักแต่ละกลุ่มอย่างไร เพราะในความเป็นทีวี เราไม่สามารถเปิดพื้นที่ได้มากขนาดนั้น เราต้องเลือกบุคคลที่คิดว่า "น่าจะ" มีเจตนาที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราใช้คำว่า "น่าจะ" เท่านั้นนะครับ ในบางแง่มุมเขาอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ แต่อย่าลืมว่าคนที่ออกมาเสนอความคิดในเวลานี้มีความเป็นกลุ่มมากกว่าจะเป็นบุคคล เมื่อกลายเป็นกลุ่มแล้ว มันก็ต้องมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามา แต่จะเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มหรือผลประโยชน์ของตัวเองก็เท่านั้น


 


จะเห็นได้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเพราะที่ผ่านมา เรามีคนหลายกลุ่มออกมาเรียกร้องมากมาย แต่ละกลุ่มก็มีเป้าหมายของตัวเอง แน่นอนว่าเป้าหมายบางอันคือการเสริมสร้างประชาธิปไตย แต่บางกลุ่มก็อิงอยู่กับกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่ม และบางกลุ่มก็ไม่ได้สะอาดสะอ้านเสียทีเดียว เราจึงต้องระมัดระวังว่าเราควรจะฟังใครมาก ฟังใครน้อย ให้น้ำหนักใครมาก ให้น้ำหนักใครน้อย โดยดูทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง ดูจากผลงานการกระทำในอดีต


 


กลุ่มบางกลุ่มหรือคนบางคน บางทีเราก็เห็นได้ชัดว่าเขาเองก็เคยทำในสิ่งที่เขาด่าคนอื่นนั่นแหละ แล้วเราจะให้น้ำหนักแก่เขาสักกี่เปอร์เซ็นต์ ในหน้าจอไอทีวีที่มีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะให้เขาห้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยเหรอ ก็คงไม่ แต่อาจจะให้สัก 2 หรือ 3 ก็พอ ให้มันเกิดความหลากหลายทางความคิดเห็น แต่กลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือ เราอาจจะให้สัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ นี่คือเกณฑ์การเฉลี่ยเพื่อให้น้ำหนักของไอทีวี


 


ในกรณีของคุณลุงนวมทอง สิ่งที่เราคิดก่อนนำเสนอข่าวก็คือ "นี่แหละคือพัฒนาการของสังคมไทย" เพราะขนาดคุณลุงนวมทองที่เป็นคนขับแท๊กซี่ ยังเป็นคนที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยจนถึงขั้นที่จะพลีชีพได้ มันหายากมาก และเราก็ต้องการพิสูจน์ว่านี่คือคนจริง แต่เราไม่ได้ขยายผลต่อ เพราะเราได้รับจดหมายเตือน ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในปัญหา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คิดว่าเราได้ทำแล้ว ถ้ายังเสนอข่าวต่อไป เราคงได้รับผลกระทบจากกฏอัยการศึกแน่ๆ เพราะเราคงไม่มีอะไรไปคัดง้างกฏอัยการศึกได้ นี่คือความไม่ดีของกฏอัยการศึกในความคิดผม


 


กฏอัยการศึกส่งผลถึงเสรีภาพสื่อแน่ๆ เพราะมันสร้างกรอบขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มขึ้นมาจากกรอบเดิมที่เราใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเสนอข่าว ทำให้เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ความหลากหลายของความคิดเห็นก็อาจจะลดลง จะเป็นในลักษณะนั้นมากกว่า ส่วนจะแก้ปัญหากันอย่างไร เราคงต้องรอไปจนกว่ากฏนี้จะถูกยกเลิก แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ เวลาเรามีการประชุมข่าว เราซีเรียสกับกฏอัยการศึกตัวนี้ไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ เรายังพูดคุยกันตามปกติ เสนอประเด็นกันตามปกติ แต่ถ้ามีเรื่องอะไรล่อแหลมออกมา เราถึงจะคิดกันอีกทีว่าจะนำเสนอได้หรือเปล่า"


 



"ทิศทางการเสนอข่าวของ ITV และ "เสรีภาพ" ที่ถูกรุกราน"


...ด้วยข้อจำกัดของการมีรัฐบาลทหาร ทำให้เราทำงานลำบากเหมือนกัน ถึงแม้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์จะมีท่าทีสมานฉันท์ แต่จะดูที่นายกฯ อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูท่าทีของ คมช.ด้วย...


  000


"เสรีภาพคือสิ่งที่เราต้องการและความหลากหลายก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่เสรีภาพที่ไม่มีเป้าหมายว่าจะไปในทิศทางไหน มันก็ไม่มีประโยชน์สำหรับผม เสรีภาพที่ผมต้องการคือเสรีภาพที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ถ้าเสรีภาพคือการปล่อยให้ทุกคนมีอิสระด้วยกันทั้งหมด คงจะนำไปสู่ภาวะอนาธิปไตย มันก็เป็น Chaos เป็นวิกฤตไม่ต่างกัน เพราะต่างคนต่างก็ออกมาเรียกร้องตามใจ


 


การระดมความคิดเห็นของเราว่าจะวิเคราะห์คนแต่ละกลุ่มเพื่อเสนอข่าว เราจึงพยายามฟังจากหลายๆ ฝ่าย ฟังจากนักข่าวในพื้นที่ ฟังจากคนที่เกี่ยวข้อง ฟังจากข่าวที่ผ่านมา หรือฟังจากปากนักวิชาการ เพราะบางทีนักข่าวอาจจะถูกใช้ก็ได้เช่นกัน


 


เราต้องยอมรับว่าในความเป็นเสรี ถ้าคนเป็นสื่อไม่เข้าใจหรือตามเกมไม่ทัน คุณก็อาจตกเป็นเครื่องมือได้ง่ายๆ เพราะที่ผ่านมาเราพูดได้เลยว่ามันเป็นเกม ถ้ามีคนถามว่าเราจะตกเป็นเครื่องมือได้ยังไง ในเมื่อนี่คือเสรีภาพ ใครๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอความคิดเห็นได้ มีสิทธิ์ที่จะออกมาพูดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเสนอข่าวให้หมด เอาให้มันเต็มที่ แล้วถามว่าเป้าหมายของคนทำสื่อคืออะไร? ทฤษฎีแห่งความเป็นเสรีอย่างเดียวโดยที่ไม่รู้ว่าเรามีเป้าหมายเลย มันจะเป็นไปได้อย่างไร


 


หรือถ้าจะบอกว่าให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสิน เพราะประชาชนจะรู้เองว่าเขาต้องการอะไร ก็อาจใช่ แต่อย่าลืมว่าเราต้องถามกลับไปถึงคุณภาพของประชาชนเราว่าอยู่ในระดับไหน พร้อมที่จะแยกแยะหรือยัง เพราะถ้าคนของเรามีวิจารณญาณในการแยกแยะ มันคงไม่เกิดวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้


 


ถึงอย่างไรผมก็ยังเชื่อมั่นและยืนหยัดในหลักการว่าเสรีภาพสื่อจะต้องมี และจะต้องมีต่อ แต่สื่อจะประยุกต์เรื่องเสรีภาพสื่อมาใช้กับแนวหรือนโยบายของแต่ละองค์กรหรือบริษัทได้อย่างไร ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งซึ่งขึ้นกับแนวคิดหรือแนวทางนโยบายของแต่ละที่


 


แต่ด้วยข้อจำกัดของการมีรัฐบาลทหาร ทำให้เราทำงานลำบากเหมือนกัน ถึงแม้ว่า พล.อ.สุรยุทธ์จะมีท่าทีสมานฉันท์ แต่จะดูที่นายกฯ อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูท่าทีของ คมช.ด้วย ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาอะไร แต่ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น


 


ถ้าทหารจะเข้ามาและบอกว่าต้องทำตามกฏอัยการศึก เราก็ไม่ยอม เราจะคิดของเราเอง เรายอมเซ็นเซอร์ตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีกฏอัยการศึกก็ได้ ซึ่งการเซ็นเซอร์ของเราเองจะมาจากกฏ กรอบ และแนวทางการพัฒนาของแต่ละองค์กร ถ้าถามว่านี่คือการเซ็นเซอร์ตัวเองไหม ก็ใช่แน่นอน


 


อย่างเรื่องของการประชุม มีม็อบวันที่ 10 ธันวาคม ไอทีวีก็บอกว่าเราจะรายงานข่าว ถ่ายทอดสดตามปกติ แต่ถามว่ามีเรื่องที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้างไหม ก็มี ง่ายๆ ก็คือปัญหาการทุจริตในแวดวงทหาร อย่างงบประมาณที่ถูกส่งไปแก้ปัญหาภาคใต้ มันมีเรื่องไม่โปร่งใสเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ยังไม่มีใครยิงประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะมันดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วจนถึงรัฐบาลชุดนี้ แต่ยังไม่มีโอกาสทำ เพราะติดกับเรื่องกฏอัยการศึกนี่แหละ


 


บรรยากาศการทำงานของไอทีวีโดยรวมยังเหมือนเดิม แต่ที่ผมคิดจะทำเรื่องคอรัปชั่นในแวดวงทหาร คงต้องเลื่อนไปก่อน เรื่องของปัญหาภาคใต้ เรายังมีปัญหาเรื่องการขาดเอกภาพ แต่เราไม่เคยมาคุยกันเลยว่าจะทำยังไงกันต่อไป ทำไมเรื่องความมั่นคงมันถึงได้แย่ขนาดนี้ ซึ่งเราคงยังพูดไม่ได้ผ่านสื่อตอนนี้ หรือปัญหาเรื่องการเอาทหารเข้าไปมีบทบาทบริหารในส่วนต่างๆ ก็ควรจะมีการเปิดเวทีให้พูดถึงกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามันมีข้อดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ถ้าเราจะพูดผ่านสื่อก็คงลำบาก"


 


"บทเรียนที่ผ่านมาสามารถผลักดันให้ไอทีวีเป็นสื่อสาธารณะเต็มรูปแบบได้หรือไม่"


...ถ้าจะทำให้ทีวีบ้านเรานำเสนอแต่สิ่งที่มีความรู้ ให้สาระ ให้ความคิด ก็ต้องถามสังคมก่อนว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทีวีประเภทนี้หรือยัง และเรามีตัวอะไรมาชี้วัดความพร้อมนั้น...


  000


"ที่มาของไอทีวีเกิดจากพลังประชาชน แต่พอถูกผลักเข้าสู้ระบบราชการ ก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังกันมาถึงทุกวันนี้ กลายเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้ไอทีวีพัฒนาไปได้ และเป็นการเปิดช่องให้ใครต่อใครที่ต้องการตักตวงเข้ามาแสวงหาประโยชน์ พอได้ประโยชน์แล้วก็ถอยไป อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ เพราะฉะนั้นคนในไอทีวีก็เลยชาชินกับไอ้เรื่องพวกนี้อยู่ส่วนหนึ่งเหมือนกัน


 


อันที่จริง เราอาจจะไม่ถึงกับชาชิน แต่มันไม่มีความแน่นอน ไม่มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจน แต่เราต้องการเป้าหมายที่ชัดเจนว่าไอทีวีจะเอาอย่างไร เราต้องการให้อะไรแก่สังคม ในความคิดของคนทำงาน เราต้องการอย่างนั้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนผู้ถือหุ้น มันก็ทำให้เราต้องเปลี่ยนทิศทางการทำงาน


 


อย่างเมื่อก่อนบอกว่าสัดส่วนการนำเสนอสาระกับบันเทิงคือ 70:30 พอครั้งต่อมา คนที่มาซื้อหุ้นใหม่บอก 60:40 พอนโยบายเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เลยกลายเป็นว่าแล้วแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้วแต่ใครจะเข้ามาซื้อ พอซื้อเสร็จแล้วจะให้ทำยังไง เราก็ต้องทำตามไปอย่างนั้น มันก็เป็นปัญหาเรื่องการคุกคามสื่อด้วยทุนที่ชัดเจนที่สุด


 


ภาพของทีวีที่ผมเห็นในบ้านเราทุกวันนี้ จึงเป็นทีวีที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์เป็นหลัก การจะทำให้ทีวีเป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริงได้ คงต้องขอแรงให้สังคมช่วยสนับสนุน มันถึงจะอยู่ได้ อย่างในต่างประเทศ ทีวีสาธารณะเขาอยู่ได้ เพราะเขามีทางเลือกที่หลากหลายกว่าเรา ถ้าคุณอยากดูรายการทีวีที่มีสาระ ให้ความจรรโลงใจ คุณเลือกได้ว่าคุณควรจะดูช่องนี้ ในขณะเดียวกันถ้าคุณสนใจจะดูเรื่องบันเทิง ละคร หรือเกมโชว์ คุณก็มีตัวเลือกอื่นต่างหาก


 


ในประเทศไทย เราไม่มีตัวเลือกมากมายอย่างนั้น และด้วยลักษณะทั่วไป คนเรามักต้องการความรื่นเริงบันเทิงใจมากกว่าเรื่องหนักๆ ความนิยมของทีวีที่นำเสนอรายการบันเทิงก็ย่อมจะสูงกว่าทีวีสาธารณะที่นำเสนอรายการดีๆ แต่จริงจังเพียงอย่างเดียว รายการที่ว่าดีๆ ก็สู้รายการพวกนี้ไม่ได้ ทีวีบ้านเราจึงมีแต่เรื่องประโลมโลกเป็นส่วนมาก


 


ถ้าจะทำให้ทีวีบ้านเรานำเสนอแต่สิ่งที่มีความรู้ ให้สาระ ให้ความคิด ก็ต้องถามสังคมก่อนว่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทีวีประเภทนี้หรือยัง และเรามีตัวอะไรมาชี้วัดความพร้อมนั้น แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องของสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงระบบโครงสร้างของรัฐบาลที่ต้องเอื้อให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นด้วย


 


คนที่อยากทำงานเพื่อสังคม คนที่อยากจะบริจาคเงินเพื่องานส่งเสริมสังคมพวกนี้ เขาจะได้รับการลดภาษีให้หรือเปล่า และอะไรที่จะทำให้คนไทยตื่นตัวในการสนับสนุนเรื่องแบบนี้ มันต้องมีการกระตุ้นให้คนในสังคมรู้จักแบ่งปันกันเสียก่อน ถ้าถามว่าเรื่องแบบนี้ผลักดันกันได้ไหม เราก็น่าจะผลักดันได้ แต่ผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหนดี แต่พลังประชาชนนี่แหละที่จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะเราไม่อาจหวังพึ่งหน่วยงานรัฐได้อยู่แล้ว


 


จะทำอย่างไรให้คนไทยคิดได้ว่าต่อไปนี้เราไม่ควรหวังพึ่งรัฐ ในหลวงเองก็ทรงพูดตลอดว่าอย่าให้รัฐบาลมาแก้ปัญหา แต่ว่าประชาชนต้องจับมือกัน ทีนี้การร่วมมือกันเราก็ต้องดูด้วยว่าใครจะมาเป็นแกนให้เรา มันไม่ควรมีหัวคะแนนหรือนักการเมืองมาช่วยให้พวกเราจับมือกัน ปัญหาก็คือเมื่อองค์กรภาคประชาชนรวมตัวกันได้ถึงจุดหนึ่ง มันก็จะอ่อนแอลงไปเองเพราะถูกแทรกแซงจากการเมือง


 


ผมคิดว่าภาคประชาชนจะต้องเข้มแข็งและชัดเจนด้วย เพราะเวลาเราเรียกร้องอะไรขึ้นมา เราต้องการการสนับสนุนจากประชาชน ถ้าประชาชนปล่อยให้การตัดสินใจอยู่กับนักการเมือง เราก็เห็นอยู่ว่าแทบทุกเรื่องถูกนักการเมืองทำให้มันป่นปี้ได้ทุกครั้ง


 


นอกจากนี้ ผมว่ามันต้องรณรงค์เรื่องการใช้แรงจูงใจในเรื่องของทุนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่อาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นการแข่งขันทางการตลาด อย่างบริษัทฟอร์ดในสหรัฐอเมริกาให้ทุนทีหนึ่ง งบมันสามารถครอบคลุมได้ทั้งสถานีโทรทัศน์เลย แต่ก็เข้าใจได้ว่าที่สหรัฐอเมริกามีแหล่งทุนที่จะสนับสนุนเรื่องเหล่านี้มากกว่าบ้านเรา และกลไกต่างๆ มีความโปร่งใสมากกว่า แต่ถามว่าคนไทยทุกวันนี้ต้องเสียภาษีไปแล้วรู้สึกว่ามันคุ้มค่ากันไหมกับรายได้ที่เราต้องเสีย ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ต้องทำ แต่ระบบตรวจสอบก็ไม่โปร่งใส คนที่เกี่ยวพันกับการตรวจสอบก็หาความชอบธรรมไม่ได้ และเราคงต้องวางระบบกฏหมายให้ชัดเจนกว่านี้


 


ผมมองว่าถ้าจะให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะก็ย่อมได้ แต่องค์กรภาคประชาชนต้องการันตีได้ชัดเจนพอว่าเราต้องการให้ไอทีวีมีเป้าหมายเพื่อการเป็นสื่อสาธารณะที่ให้สาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ไหม ผมเชื่อว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้ และเราก็ต้องการเห็นมันด้วย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net