Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


ในวงเสวนาวิชาการของคนธรรมดา ในหัวข้อ "การปฏิรูปการเมืองของชาวนาและกรรมกร" ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2-3 ธ.ค. ที่ผ่านมา หัวข้อของประสบการณ์การต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ตัวแทนจากสหภาพแรงงานต่างๆ ได้มาเล่าถึงประสบการณ์ของสหภาพแรงงาน การจัดตั้ง การต่อสู้ และการตีโต้จากบริษัท ดังต่อไปนี้ ...


 


 


ฉัตรชัย ไพยเสน - สหภาพแรงงานไทยอินดัสเทรียลแก๊ซ


 


ผมเป็นอดีตประธานสหภาพแรงงานไทยอินดัสเทรียลแก๊ส เป็นประธานสหภาพแรงงานได้ 10 วัน แล้วก็ถูกเลิกจ้าง ถูกเลิกจ้างในขอหาลักทรัพย์กระดาษถ่ายเอกสาร เขาเลิกจ้างผมโดยข้อหาผู้ใช้วานในการลักทรัพย์ วันนั้นผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ผมอยู่บ้าน ก่อนหน้านั้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสหภาพ เขาก็ให้ผมอยู่นอกโรงงานตลอดจนเลิกจ้าง คือผมไม่มีโอกาสเข้าไปเหยียบในโรงงานของเขา เขาไม่ให้เข้าเลย


 


หลังจากที่ผมถูกเลิกจ้าง สหภาพแรงงานของเราหลังจากที่มีคนเริ่มต้น 27 คน ก็เหลือเพียงคน 4 คน เขาใช้วิธีงดจ่ายโบนัสสำหรับคนที่มีส่วนร่วม และก็เลิกจ้างแกนนำ โดยแกนนำถูกเลิกจ้างไปทั้งหมด 4 คน สุดท้ายได้กลับเข้าทำงาน 2 คน


 


ในช่วงที่แตก ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะโตมาได้ ตอนนั้นคือทุกคนเชื่อว่าแตก เหลือแค่คนเพียง 4 คนที่กล้าจะทำงานตรงนี้ต่อ เราก็เริ่มฟื้นฟูจากคน 4 คน จนมาวันนี้เรามีสมาชิก 252 คน ใน 12 สาขา 7 จังหวัด สมาชิกที่ไกลที่สุดเราอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา การทำงานของสหภาพมันค่อนข้างจะลำบาก คล้ายๆ สหพันธ์ เพราะเราต้องไปทุกที่ที่เรามีสมาชิกอยู่เวลามีปัญหาจึงค่อนข้างลำบาก


 


ในการเคลื่อนไหวครั้งแรกเลย ผมได้ฉายาว่านักร้องเสียงทอง คือไปทุกที่ นักการเมืองระดับ สจ. สส. รัฐมนตรี ไปหมด กรรมาธิการก็ไปทั้งสองสภา ไปยื่นเรื่องผ่านกรรมการสิทธิ์ ไปผู้ตรวจการแผ่นดิน คือไปทุกที่ ในช่วงนั้นเหมือนกับว่ามันเคว้งคว้าง เพราะว่าสหภาพแรงงานของพวกเรามันเหมือนรวมตัวกันมาเอง และทำการศึกษากันเอง ซึ่งการตั้งสหภาพครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ก่อนหน้านั้นความพยายาม 3 ครั้งที่ผ่านมา แต่ก็โดนเลิกจ้างออกทั้งหมด ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ในช่วงเวลา 8 ปีในการพยายามตั้งสหภาพแรงงาน


 


นอกจาดที่ผมจะถูกตั้งข้อหาลักทรัพย์แล้ว เขายังไปแจ้งความจับ แต่ตำรวจไม่รับแจ้งเนื่องจากมันเป็นแค่กระดาษ ตำรวจรู้อยู่แล้วว่าหาเรื่องก็เลยไม่รับแจ้ง แต่เขาก็ยังไปยื่นเรื่องฟ้องศาลผมก็เลยต้องไปสู้คดีในศาลด้วย แต่พอคณะกรรมการสิทธิชี้ออกมาว่าเป็นการกระทำที่ขัดขวางการรวมตัว ที่แรกเมื่อเราไปยื่นเรื่องเขาบอกว่ายังไงคุณก็แพ้ แค่ขโมยถุงขยะอะไรพวกนี้ก็ถือว่าเป็นการลักทรัพย์แล้ว


 


แต่พอเราเอาเรื่องจากกรรมการสิทธิไปยื่น ปรากฎว่าเขาขอขยายเวลา ยังไม่ยอมชี้มูลความผิด สุดท้ายก็คือพลิก กลายเป็นว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้รับกลับ บริษัทก็ไปยื่นเรื่องเพื่อเพิกถอนคำสั่งนี้ กลายเป็นว่าผมต้องต่อสู้คดีถึง 2 คดีในช่วงนั้น


 


คนที่ถูกเลิกจ้างพร้อมกัน 4 คน คนนึงไปเป็นพยานให้นายจ้าง แต่พอช่วงนั้นช่วงที่ไปศาล สมาชิกของเราเริ่มรู้เริ่มเข้าใจ สมาชิกของเราเลยไปกันเยอะมาก ทำให้พยานไม่กล้าเข้าไปในศาล สุดท้ายก็เลยไม่มีพยาน คดีอาญาผมถูกยกฟ้อง ว่าผมไม่มีความผิดไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง


 


ส่วนที่ศาลแรงงานก็จะมีการไกล่เกลี่ยกันอยู่ตลอดเวลา ให้ผมแสนสอง เพิ่มเป็นสี่แสน เป็นหกแสน เป็นแปดแสน แล้วสุดท้ายมาจบที่หนึ่งล้านห้าหมื่น ณ วันนั้นแม้แต่ศาลเองก็บอกว่าทำไมคุณถึงไม่รับเงิน เขาก็ถามผมเงินล้านคุณจะสามารถเก็บได้ไหม? ผมก็บอกว่าไม่ได้ เขาถามผมว่าผมอยากได้ไหม? ผมก็บอกว่าอยากได้ แต่ ... ถ้าเราจบตรงนั้นคือ สหภาพต้องล่มสลายแน่ๆ


 


ในส่วนของบทเรียนความสำเร็จ ก็คงอาจจะไม่ถือว่าสำเร็จ 100% เพราะว่าตอนนี้ผมสามารถกลับเข้าไปทำงานได้แต่ก็โต๋เต๋ๆ ไม่มีการมอบงาน ไม่มีการให้ทำอะไร คือผมก็ต้องเดินไปเดินมาวันๆ เขาก็สั่งให้ผมเข้างาน 2 ทุ่ม ถึง ตี 4 บ้าง ซึ่งช่วงนั้นไม่มีใคร มีแต่ผมคนเดียว เวลาสิ้นเดือนมาเราก็รับเงิน เราไม่ได้คิดอะไรเพราะมันมีในฎีกาแล้วว่านายจ้างสามารถทำตรงนี้ได้


 


ทุกวันนี้ก็คือ .. ความจริงตำแหน่งจริงๆ ของผมคือหัวหน้ากะ แต่ตอนนี้คือไม่ได้ทำงานในกะ ช่วงที่ออกไปเขาก็มีตัวอยู่แล้ว เรากลับเข้าไปก็คล้ายๆ กับว่าเป็นส่วนเกิน พอเดินไปเดินมา เดินไปต่างแผนกก็โดนร้องเรียนอีกว่าก้าวก่ายหน้าที่แผนกอื่น สุดท้ายก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่อะไรในทุกวันนี้ เขาก็สั่งไปเข้ากะ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น


 


ณ วันนั้นถ้าเราหยุดเคลื่อนไหวและไม่มีการฟื้นฟู สหภาพก็คงจะล่มไปแล้ว ในตอนนั้นทุกคนเชื่อว่าล่ม เราต้องค่อยๆ เข้าไปคุยทีละคน ค่อยๆ ดึงสมาชิกกลับมาทีละคน ซึ่งคนที่เป็นสมาชิกแล้วถอยออกไปนั้นคนเหล่านี้จะดึงยากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นสมาชิกเพราะว่าใจพวกเขาถอดไปแล้ว ก็เลยต้องเปลี่ยนวิธีไปทางหลังบ้าน ไปทางแม่บ้าน เวลาจัดสัมมนาแทนที่เราจะสัมมนาสมาชิก เราสัมมนาครอบครัวแทน เราเอามาทั้งครอบครัว ลูก เมีย สามี คือเอามาคุยด้วยกัน แล้วสุดท้ายให้พวกเขาเอาไปคุยกันเอง


 


ตอนนี้คล้ายกับว่าคนที่เคลื่อนไหวตัวจริง กลายเป็นว่าเป็นหลังบ้าน แม่บ้านของสหภาพเราทำด้วยใจ ช่วยเราบางทีเสียเงินส่วนตัว บางครั้งต้องมาทำอาหารให้สมาชิกกินเองด้วยต่างหาก ... ตอนนี้มันก็กลายเป็นอะไรที่มันลงลึกถึงครอบครัว


 


ในช่วงที่ผมไม่ได้ทำงาน ผมก็ได้มีโอกาสที่จะได้ไปเป็นนักจัดตั้งสหภาพแรงงานให้หน่วยงานหนึ่ง ปรากฎว่าแนวทางการทำงานของผมไปขัดแย้ง เนื่องจากประสบการณ์ที่เคยทำมา เขาให้ผมไปตั้งสหภาพ แต่ผมกลับกลายไปยับยั้งไม่ให้เขาตั้ง อย่าพึ่งตั้งเลย ให้คุณพร้อมก่อนแล้วค่อยตั้ง เพราะว่าเราเห็นมาแล้วว่าตั้งได้ไหม? ตั้งได้แต่ตั้งแล้วเขาอยู่ไม่ได้จะตั้งไปทำไม? เขาต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง? ก็ต้องชะลอไว้ก่อน คุณพร้อมรึเปล่า?


 


ผมถามเขาว่าคุณมีคนกี่คน? เขาบอกว่ามี 10 คน ผมบอกขอ 20 ได้ไหม? เขาก็ตอบว่ามี 10 คนก็ตั้งได้แล้วไม่ใช่เหรอ? ผมบอกเขาว่าผมเคยมีประสบการณ์ ผมเคยมีคน 20 กว่าคนแต่สุดท้ายผมเหลือแค่ 4 คน ผมบอกว่าถ้าคุณหาคน 20 กว่าคนมาคุยกับผมไม่ได้ก็ชะลอไว้ก่อนดีกว่า ถ้าคุณจะตั้งแบบสำเร็จรูปแบบที่ผ่านๆ มา ผมบอกว่าในวันเดียวผมสามารถทำให้คุณได้เลย ผมสามารถพาไปจดทะเบียนได้


 


ผมว่าตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพใหม่ๆ ที่ว่าที่ผ่านๆ มาทำไมสหภาพของเราจึงอ่อนแอ ผมมองปัญหาไปที่นักจัดตั้ง ประสบการณ์สูง ความรู้สูง เขาจะมองเป็นว่ามันสำเร็จรูป ผมก็ทำได้ ผมสามารถตั้งสหภาพได้ภายในวันเดียว พาไปจดทะเบียนได้เลยเอกสารทุกอย่างผมเตรียมพร้อม คุณคิดแค่ชื่อสหภาพมา ตราผมยังทำให้ด้วย คือผมทำได้จริงๆ ... แต่ผมคิดว่ามันผิดหลัก มันขึ้นมาแบบหลวมๆ ซึ่งกลายเป็นว่าคุณตั้งขึ้นมาเพื่อ ณ เวลาตรงนั้น แต่ในอนาคตข้างหน้าอีก 1 เดือน อีก 2 เดือน คือถ้าคุณเจอปัญหาคุณจะแก้ไม่ได้ --- นี่คือปัญหาของสหภาพแรงงานส่วนหนึ่ง


 


แล้วก็เมื่อมีสหภาพแล้ว เมื่อเจอปัญหาภายใน ก่อนที่เราจะออกไปขอความช่วยเหลือจากภายนอก ภายในของพวกเราควรที่จะเข้มแข็งก่อน ถ้าเราไม่เข้มแข็ง วันหนึ่งเราไปบอกกับเขา แล้วเขาก็จะถามกลับว่าข้างในคุณทำอะไรบ้าง? มีหลายที่ที่เคยเห็นคือ เมื่อประธานสหภาพถูกเลิกจ้าง ก็มีเพียงประธานคนเดียวที่วิ่งตะลอนๆ แต่สหภาพไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย สมาชิกไม่ออกมาช่วยเลย ครอบครัวไม่ออกมาช่วยเลย กลายเป็นว่าเขาต้องวิ่งอยู่คนเดียว --- เขาก็จะยิงคำถามใส่ว่าคุณมาขอความช่วยเหลือ แล้วพวกพ้องของคุณออกมาช่วยอะไรคุณบ้าง?


 


หลายๆ สหภาพ พอประธานถูกเลิกจ้างหรือกรรมการถูกเลิกจ้าง กิจกรรมของสหภาพก็หยุดเคลื่อนไหวชั่วขณะ แต่สหภาพไทยอินดัสเทรียลแก๊สก็ได้นำบทเรียนจากสิ่งเหล่านี้ มาปรับปรุงโดยใช้ประสบการณ์จริงมาแก้ไข.


 


 


สมพงศ์ พัฒภูมิ - สหภาพแรงงานอัลมอนด์



จะขอเท้าความไปก่อนว่า ทำไมเราต้องมาทำงานตรงนี้? ทำไมเราต้องมาทำงานสหภาพ? โดยแรกเริ่มเดิมทีเลย เราคนงานไม่ได้รู้จักคำว่าสหภาพแรงงานมาก่อน จากการรวมตัวกันขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้ได้สวัสดิการที่เราเคยได้ เป็นสวัสดิการที่เราเคยได้แต่นายจ้างค่อยๆลดของเราลงไปทีละอย่างสองอย่าง จนกระทั่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 ความอดทนของพวกเราก็ถึงที่สุด ...


 


ลืมบอกไปว่าบริษัทอัลมอนด์เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเครื่องประดับ ทองเค และก็ซิลเวอร์ เป็นของนายจ้างคนอเมริกันสัญชาติยิว แต่โอนมาเป็นอเมริกัน ซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งอเมริกาและก็ญี่ปุ่น แต่แหล่งผลิตรายใหญ่จริงๆ นั้นอยู่ในประเทศไทย อยู่เขตมีนบุรี นิคมอุตสาหกรรมบางชัน


 


จนในปี พ.ศ. 2543 ปลายปีเดือนธันวาคม นายจ้างเขาบอกว่าเขาไม่จ่ายโบนัสในปีนี้ ทั้งๆ ที่เคยได้มาตลอดสองเดือน ซึ่งใกล้ปีใหม่คนงานจะกลับบ้านแล้วก็เกิดความสับสนว่าจะได้ตังค์กลับบ้านกันรึเปล่า เพราะส่วนมากก็เป็นคนต่างจังหวัดกันเกือบทั้งหมด คราวนั้นจึงทำให้เกิดมีการรวมตัวกันประท้วง แต่เป็นการประท้วงโดยที่ไม่รู้หลักของกฎหมายว่าเราต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง แต่บังเอิญว่ามีพี่ๆ จากสหพันธ์กระดาษเขาได้มาให้ความช่วยเหลือ โดยแนะนำว่าต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างว่าเราหยุดงานเพื่ออะไร ก็เลยยื่นข้อเรียกร้อง และก็ตั้งตัวแทนในการเจรจาเข้าไปคุยกับนายจ้าง ในปลายปี พ.ศ. 2543 จนกระทั่งว่าได้บรรลุข้อตกลงสภาพการจ้าง นายจ้างยอมจ่ายตามข้อเรียกร้องและก็ไม่เอาผิดกับคนที่นัดหยุดงาน ในวันที่ 5 - 6 ธันวาคม พ.ศ.2543


 


เสร็จจากนั้น คนงานกลับเข้าทำงานแล้ว เมื่อเคยรวมตัวกันมาแล้วก็จะต้องตั้งให้เป็นสหภาพแรงงาน ทำให้เราเข้าสู่กระบวนการการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2544 นายจ้างก็ไล่คนงานออก 45 คน โดยเอาความผิดของการนัดหยุดงานเมื่อปลายปี พ.ศ. 2543 นั่นแหละว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการเสียหายของบริษัท จากนั้นก็มีการต่อสู้ระหว่างบริษัทและสหภาพแรงงาน เพื่อให้รับคนงานทั้ง 45 คนกลับเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นเวลาถึงอีก 1 ปีที่เราต้องต่อสู้กัน 45 คนอยู่ข้างนอก สหภาพแรงงานอยู่ข้างใน ดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงานอยู่ข้างใน


 


ในระยะเวลา 4-5 ปีนี้ มันเป็นระยะเวลาที่ลำบาก กว่าที่เราจะได้มาซึ่งคำว่า "สหภาพแรงงาน" เราต้องมีการศึกษา เราต้องทำความเข้มแข็งภายในภายนอก เพราะว่าเป็นช่วงที่ก็ตั้งใหม่ มันเป็นอะไรที่เราบาก เพราะคนงานเองไม่เข้าใจ แม้แต่แกนนำเองก็ไม่เข้าใจ ว่าสหภาพแรงงานมันคืออะไร เพราะอย่างที่รู้กันว่าเขาไม่ได้บรรจุไว้ว่าสหภาพแรงงานมันคืออะไร ... ทำให้การทำงานครั้งแรกๆ มันยากลำบากมาก เมื่อแกนนำสหภาพ คนทำงานสหภาพพยายามไปคุยกับแรงงานคนอื่นๆ เขาก็บอกว่าให้คุยเรื่องอื่นๆ ได้ไหม? เพราะนายจ้างไม่ต้องการ นายจ้างจะปิดกั้น


 


เข้าสู่เรื่องกระบวนการทำลายสหภาพ นั่นคือว่าการใช้กระบวนการต่างๆ ทั้งหมา* ทั้งแมว* ทั้งไม้เรียว* ที่เขาเรียกกัน หมานั่นคือพวกผมโดนตั้งแต่ว่าออกจากหน้าโรงงานมีการลอบทำร้าย มีการดักตี มีการจ้างวัยรุ่นอะไรมาทำกับแกนนำสหภาพ


 


นอกจากนี้ยังมีการทำให้สหภาพมีการแตกแยกภายใน มีการทำให้แตกแยกเป็นสองฝ่าย ทำให้มองว่าคนนี้เข้าข้างนายจ้าง คนนี้ไปอีกอย่าง คนนี้ไปตกลงกับนายจ้างไว้แล้ว ทำให้ข้างในคนงานมองแล้วเกิดการแตกแยก


 


หนักสุดซึ่งตอนนี้กำลังใช้กันทั้งภายในกรุงเทพแล้วก็ในระยอง มากที่สุดนั่นก็คือการเอาระเบียบข้อบังคับ หรือมาตรการไม้เรียว กระบวนการต่างๆ นายจ้างจะนำสู่ศาลให้ศาลเป็นคนตัดสิน โดยเฉพาะที่สหภาพแรงงานโรงงานอัลมอนด์ที่สิ้นปีนี้เราจะยื่นข้อเรียกร้อง แต่นายจ้างก็ตัดกำลังเราก่อนคือจะต้องทำให้คนงานเห็นว่ามันเองก็ยังเอาตัวไม่รอด นั่นคือ ประธานสหภาพพึ่งโดนเลิกจ้าง ถ้าคุยกันมันเหมือนเป็นข้อหาที่มันน่าหัวเราะแต่มันก็เกิดมาแล้ว คือ ห้อยพระเข้าอาคารผลิต ซึ่งไม่มีที่ไหนเขามีคดีแบบนี้มาก่อน เราก็อยากที่จะให้รู้ไว้เนี่ย ว่าเมืองไทยมันเป็นเมืองพุทธ เราห้อยพระมาเป็นกว่าสิบกว่าปี แต่วันนี้มาจู่ๆ มาบอกว่านายจ้างต่างชาติเขาไม่ให้ห้อย ทั้งๆที่เขาก็รู้ว่าที่นี่นับถือศาสนาพุทธ


 


นอกจากนี้ยังมีคดีตามมาอีกไม่หยุดหย่อน ตอนนี้ผมกับเลขาเองก็กำลังขึ้นศาลกันอยู่ตลอด วันที่ 20 ธันวาคมนี้ผมต้องขึ้นศาลในข้อหาของการขาดงานละทิ้งหน้าที่ทำให้บริษัทต้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนงาน --- นี่คือว่าเรื่องบางสิ่งบางอย่างเขาจะนำเข้าสู่กระบวนการของศาลหมด ทั้งๆที่เราทำถูกต้อง จะเสียหายได้อย่างไรในเมื่อเราไม่ได้อยู่กับเครื่องจักร เราลาล่วงหน้าถึง 2-3 อาทิตย์ แล้วลาตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่ว่าสามารถลาเพื่อดำเนินกิจกรรมสหภาพได้ปีนึง 40 วัน ... แต่ว่านายจ้างเขาก็เล่นไว้ก่อน


 


ทุกอย่างที่เขาใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เรื่องของการนำกระบวนการสู่ศาล การฟ้องร้อง ปี พ.ศ. 2544 คณะกรรมการสหภาพ 19 คน โดนฟ้องคนละ 43 ล้านบาทต่อคน คือโดนกันมาตลอด แต่เราก็ชินกันบ้างแล้ว คือพวกเราไม่รู้หรอกว่าเงินล้านมันเป็นอย่างไร? แต่ก็รู้ว่าพวกเขาฟ้องให้กลัวเฉยๆ คณะกรรมการสหภาพทำงานอยู่ในบริษัท ทำงานอยู่ในกรุงเทพ แต่บางทีหมายศาลก็ถูกส่งกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด ทำให้พ่อแม่มีความกังวลใจ "มึงไปทำงานอะไรของมึงวะ ทำไมหมายศาลมา" --- เหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาใช้อยู่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เลวร้ายมาก แต่พวกเราเองก็ไม่ได้ท้อถอย


 


ตอนนี้มีกระบวนการที่ร้ายแรงกว่าที่ได้กล่าวไปก็คือ การใช้ sub-contract (แรงงานจ้างเหมาค่าแรง) เข้ามา ในโรงงานอัลมอนด์ของเราเองตอนนี้มีคนงานประมาณ 900 คน พนักงานประจำประมาณ 600 นอกนั้นก็ sub-contract (ทั้งนี้นายจ้างได้ใช้เอาไว้สำรองแรงงานหากเกิดการนัดหยุดงานโดยสหภาพแรงงาน และเป็นการประหยัดงบประมาณสวัสดิการที่แรงงานควรได้รับ ... แต่แรงงานแบบ sub-contract นั้นก็มิได้รับสวัสดิการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับแรงงานประจำ โดยความเห็นของพี่สมพงศ์เอง จากการที่ได้สัมภาษณ์ แกก็อยากให้แรงงานจ้างเหมาช่วงได้ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับแรงงานประจำ ไม่ใช่ให้ถูกกดขี่โดยนายจ้าง หรือโดยสัญญาทาสอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน - ผู้เรียงเรียง)


 


ที่ได้เคยคุยกันว่าไม้เด็ดของคนงานก็คือการนัดหยุดงาน แต่ถ้าหากนัดหยุดงานแล้วนายจ้างสามารถดำเนินกิจการได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งถ้านัดหยุดงานแล้วเราก็จะไม่ได้ค่าจ้าง แล้วค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ไหนจะค่าบ้าน ค่าลูกไปโรงเรียน เงินค่าใช้จ่ายจิปาถะ ทีนี้มันลำบาก และถ้าเราทำตรงนี้ไม่ได้ก็เท่ากับว่าเราแพ้.


 


 


* ปฏิบัติการหมา : คือการใช้มาตรการกดดันที่รุนแรง และเป็นการคุกคามเพื่อให้คนงานไม่กล้าตั้งสหภาพแรงงาน ไม่กล้าเป็นสมาชิกสหภาพโดยมุ่งเป้าที่การคุกคามแกนนำเป็นหลัก


 


·         โทรศัพท์ขู่ หรือดักฟังโทรศัพท์


·         ไม่ให้ทำโอที (กดดันทางเศรษฐกิจ)


·         เรียกไปคุยในสำนักงานตามลำพัง เพื่อข่มขู่หรือบีบให้ลาออก


·         ใช้คน/นักเลงท้องถิ่นยาม ทำร้ายร่างกาย


·         ใช้ตำรวจข่มขู่ มาจับไปขัง โดยพยายามยัดเยียดข้อหา ขโมย การพนัน ยาบ้า


·         บางประเทศรุนแรงถึงขั้นสังหารผู้นำ


 


* ปฏิบัติการไม้เรียว : การใช้วิธีทางกฎระเบียบ บีบให้คนงานละเมิดกฎระเบียบบริษัท และหาเหตุลงโทษรุนแรง ทั้งการปรับ ให้ใบเตือน หรือโดนไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชย


 


ลงโทษทางวินัย (พยายามให้ใบเตือน)


·         ออกกฎระเบียบไร้มนุษยธรรมมากมาย ถ้าทำผิดปรับมหาโหดหรือให้ใบเตือนหรือเลิกจ้าง


·         จ้างบริษัทรับเหมาช่วง เพื่อลดอำนาจต่อรอง (และไว้รองรับเวลาสไตรค์)


·         พักงานเมื่อผิดระเบียบโดยไม่จ่ายค่าจ้าง


·         โดดเดี่ยวแกนนำ คณะกรรมการโดยให้ทำงานคนเดียว จับแยกออกจากสมาชิก


·         บีบให้ทนไม่ได้แล้วให้ลาออกไปเอง ด้วยกระบวนการต่างๆ อาทิย้ายงานให้ไปทำในที่แย่กว่า เก็บขยะ ทำห้องน้ำ ทำงานที่ไม่ถนัด


·         ใช้กฎระเบียบที่ไร้มนุษยธรรม เสื้อ รองเท้า กางเกง ตอกบัตร ที่มุ่งเป้าไปที่กรรมการและสมาชิกจากสหภาพ


สร้างความกดดันต่างๆ


·         ใช้กล้อง ยาม หัวหน้า เฝ้าดูแกนนำ ทำให้แกนนำกลัว และอึดอัด


·         บีบให้คนงานคนอื่นๆ ที่กลัวถูกเลิกจ้างช่วยกดดันคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพหรือแกนนำ


·         บีบให้ภรรยา / สามี (กรณีที่ทำงานด้วยกัน) ให้กดดันอีกฝ่ายหนึ่ง


·         ไม่ให้ลาป่วย ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์ แม้เพียงใน 1 วัน


·         ไม่ให้ลากิจ ถ้าไม่มีหนังสือเชิญของกระทรวงหรือทางราชการ


·         ตามไปตรวจสอบถึงบ้านว่าลาป่วยจริงหรือไม่


·         จ้างที่ปรึกษานับ 10 ล้านเพื่อให้ล้มสหภาพ


·         ตั้งสหภาพเหลือง (สหภาพที่ควบคุมได้)


 


* ปฏิบัติการแมว : ใช้ยุทธวิธีแบ่งแยกและทำลาย ด้วยการพยายามเสนอแรงจูงใจให้ผู้นำเพื่อให้ถอนตัวออกจากสหภาพแรงงาน หรือสร้างให้เกิดการแตกแยกในหมู่กรรมการและสมาชิก


 


·         ซื้อตัวผู้นำ ด้วยวิธีการให้เงินจูงใจ หรือจ้างให้ลาออกจากบริษัท


·         เลื่อนตำแหน่งงานให้มาเป็นหัวหน้า ทั้งมีและไม่มีเงื่อนไข ว่าจะต้องให้ลาออกจากการเป็นกรรมการ/สมาชิกสหภาพ


·         พาแกนนำไปเลี้ยง พาไปเที่ยวยังต่างประเทศ ให้ของขวัญราคาแพง รถยนต์ ทอง เป็นต้น


·         พยายามโน้มน้าวใจให้คนงานเชื่อว่า "เป็นครอบครัวเดียวกัน และอย่านำปัญหาไปบอกหรือปรึกษาคนอื่น หรือ คนนอก"


·         เลือกปฏิบัติกับคนที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพ ด้วยการให้ค่าแรง โบนัส เบี้ยขยัน ค่าครองชีพที่สูงกว่าที่คนเป็นสมาชิกสหภาพ


·         อ้างว่าบริษัทขาดทุน และขอร้องให้กรรมการและสมาชิกเห็นใจ และช่วยบริษัท


·         สัญญา-รับปากก่อนเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญา


·         ใช้เจ้าหน้าที่รัฐเกลี้ยกล่อมให้คนงานยุติการต่อรอง การสไตร์ค หรือไม่ให้เรียกร้อง


 


* ปฏิบัติการตาชั่ง : ใช้กระบวนการกฎหมายและศาล เพราะเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลาและเงิน ซึ่งลูกจ้างมักจะเสียเปรียบ ส่วนมากก็คิดเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแล้วให้ลูกจ้างไปฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยเอง หรือ ไม่ก็ฟ้องลูกจ้างในคดีต่างๆ โดยเฉพาะฟ้องขออำนาจศาลเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง (แกนนำสหภาพ)


           


·         ฟ้องร้องไว้ก่อน (ส่งหมายศาลไปบ้านที่ต่างจังหวัด หวังให้ครอบครัวหวาดกลัว และเรียกแกนนำคนนั้นกลับบ้าน)


·         ฟ้องศาลฎีกา


·         ฟ้องศาลแรงงาน


·         ฟ้องศาลแพ่ง


·         ฟ้องศาลอาญา


·         แจ้งตำรวจจับคนงานเข้าคุก แล้วแต่จะคิดข้อหา


·         ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้พิพากษาช่วยไกล่เกลี่ยไปในทิศทางที่นายจ้างต้องการ


·         ย้ายโรงงานหนี ไม่จ่ายค่าชดเชย ไปที่ที่ค่าแรงถูกและคนงานไม่รู้สิทธิ ไปจังหวัดชายแดน หรือ ต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม


 


: ที่มา "พอกันที Enough : Time to fight back" โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net