รายงานเสวนา โจทย์ปฏิรูปการเมือง การเมืองไทยยังไม่บรรลุโจทย์เดิม

วันที่ 29 พ.ย. 2549 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 เรื่อง "โจทย์ปฏิรูปการเมือง 2550" โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย, .รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ผศ.สิริพรรณ นกสวน, ดำเนินรายการโดย อ.ปกป้อง จันวิทย์ ทั้งนี้ตามกำหนดการเดิม ระบุชื่อวิทยากรอีก 2 คนได้แก่นายพิภพ ธงไชยและนายสุริยะใส กตะศิลาแต่ทั้งสองได้ปฏิเสธที่จะร่วมการเสวนาดังกล่าวอย่างกะทันหัน

 

เพื่อให้ได้อรรถรสจากงานนี้เต็มที่ ประชาไท ขอสรุปประเด็นเพียงสั้นๆ พร้อมทั้งเปิดคลิปเสียงให้ฟังประกอบแบบเต็มๆ ดังนั้น การสรุปย่อนี้ จึงเป็นการสรุปประเด็นสั้นๆ ที่เรียงตามลำดับเวลา

 

000

 

 

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้มีโจทย์สองเรื่องที่ซ้อนกัน คือ การปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ซึ่งโจทย์แรก เรื่องการปฏิรูปการเมือง เป็นเรื่องใหญ่และยากกว่า เหมือนการเขยื้อนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งการปฏิรูปการเมืองก็คือการรวบอำนาจใหม่ทางการเมือง คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่

 

เรื่องใหญ่ของการปฏิรูปการเมือง คือเรื่องใต้ภูเขาน้ำแข็ง เช่น ระบบราชการในหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการครู หมอ เกษตร ฯลฯ ซึ่งในประเทศไทยมีภาครัฐที่มีองค์กรที่มีบุคลาการจำนวนเกินสามแสนคนอยู่หลายหน่วยงาน แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่องค์กรหนึ่งๆ มีบุคลาการไม่เกินห้าหมื่นคน

 

แล้วเราก็ปล่อยให้องค์กรในรัฐ มีขนาดใหญ่ ซับซ้อน รวมศูนย์ เทอะทะ ไม่มีประสิทธิภาพ การปฏิรูปการเมืองจึงไปอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง แล้วการปกครองท้องถิ่นจะทำอย่างไร?

 

จริยธรรมและความรับผิดชอบ เป็นเสมือนน้ำที่มาหล่อลื่นของระบบการเมืองสมัยใหม่ของไทย แต่ที่ผ่านมา นักการเมืองคิดกันแต่ว่า ถ้ามีเรื่องอื้อฉาว อย่าลาออก เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดของตนถูกเปิดโปงออกมา ทั้งนี้ ประชาธิปไตยก็เละ ส่วนหนึ่งเพราะสื่อไม่มีอิสระ ไม่มีการรายงานตรวจสอบใดๆ จากสื่อ ตัวอย่างประเด็นสำคัญหนึ่งคือเรื่องเงินทางการเมือง ที่ไม่เคยมีการรายงานจริง ซึ่งก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่เราปล่อยให้คนมีเงินมาเล่นการเมือง ทั้งที่คนคนหนึ่ง ให้รับราชการทั้งชาติก็ไม่มีทางที่จะมีเงิน 20 - 30 ล้านได้

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องใหญ่ คือ เรื่องทัศนคติของคน รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้รัฐทำงานเยอะมาก หลายๆ กรณี คาดหวังจากรัฐ แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?

 

รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวต่อว่า แต่หากพูดเฉพาะเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งแคบลงกว่าโจทย์การปฏิรูปการเมือง มีประเด็นคำถามสามประเด็นคือ เข้าสู่อำนาจอย่างไร ขอบเขตการใช้อำนาจเป็นอย่างไร และออกจากอำนาจอย่างไร

 

เรื่องแรก การเข้าสู่อำนาจนั้น หมายถึงกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตร แต่พูดถึงกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น กติกาการแข่งขันระหว่างพรรคที่มีเงินกับพรรคที่ไม่มีเงิน การเข้าสังกัดพรรค ที่มาของผู้นำฝ่ายบริหาร ฯลฯ

 

เรื่องที่สอง เรื่องการใช้อำนาจ คือ เขตอำนาจของคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ไหน การตรากฎหมายว่าด้วยองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ไหน จะมีหรือไม่ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ต้องคิดว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยยอมไปสภาเลยนั้น มันแปลว่าอะไร เป็นนายกรัฐมนตรีที่อ้างได้ว่ามีเสียง 15-16 ล้านเสียง แต่ไม่ได้เป็นส..

 

คำถามเรื่องสุดท้ายคือ ออกจากอำนาจอย่างไร ในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ไม่ค่อยพบผู้นำพ้นจากอำนาจอย่างสวยงาม เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ปี จากนั้นใช้ชีวิตอยู่ที่ปีนัง 14 ปี

 

รศ.ดร.นครินทร์กล่าวว่า การออกจากอำนาจประเภทหนึ่งคือ การออกโดยมติของพรรค เมื่อเราไม่มีทางจัดการระบบประชาธิปไตยที่ไม่มีพรรคได้ แล้วถ้าสมาชิกของพรรคไม่สามารถคุมหัวหน้าตัวเองได้ แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?

 

(ฟังคลิปเสียง)

 

000

 

รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย กล่าวว่าต่อไปนี้การเมืองไทยจะมีลักษณะ 3 ประการก็คือ เป็นการเมืองเชิงพื้นที่ เป็นการเมืองเรื่องการออกแบบประชาธิปไตย และเป็นการเมืองแห่งการเล่าเรื่อง

 

รศ.ดร.สุวินัย กล่าวว่าแต่เดิมที่การเมืองไทยเป็นการเมืองเชิงสถานที่นั้น จากนี้จะเปลี่ยนไปสู่การเมืองเชิงพื้นที่โดยกล่าวเชื่อมโยงกับเรื่อง "ระดับจิต" ของคนที่แตกต่างกันแม้จะอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ก็อาจจะอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองที่แตกต่างกันได้

 

โดย รศ.ดร.สุวินัย กล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งหลายฝ่ายมั่นใจว่าออกแบมาดี แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเพราะผู้ออกแบบรัฐธรรมนุญนั้นคิดจากโครงสร้างของมีมสีเขียวในขณะที่คนเอารัฐธรรมนูญมาใช้กลับเป็นคนที่อยู่ในสังกัดของมีมสีน้ำเงิน

 

สำหรับการเมืองแห่งการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นวิถีหลักแห่งการสร้างความรู้สึกร่วมและสร้างวาทกรรม มันสร้างขุมพลังที่เรียกว่า "พวกเรา" ที่รวมตัวกันเป็นพันธมิตรได้ก็ด้วยการเล่าเรื่อง หากไม่เชื่อ พลังก็ไม่เกิด

 

อย่างไรก็ดี ถ้าการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีกลไกพัฒนาการเรียนรู้ ถ้าระดับจิตใจไม่สอดคล้องกัน ก็ล้มเหลวแน่นอน ทั้งนี้ ข้อเสนอของรศ.ดร.สุวินัย คือ ต้องผลักดันสภาพัฒนาทางการเมืองให้ได้

 

(ฟังคลิป)

หมายเหตุ

อ่านบทความประกอบเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม

พักรบการเมือง ค้น "ระดับจิต" สังคมไทย กับ "สุวินัย ภรณวลัย"(ตอนที่ 1)

พักรบการเมือง ค้น "ระดับจิต" สังคมไทย (ตอนที่ 2) : สัมภาษณ์ สุวินัย ภรณวลัย

 

 

 

000

 

.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ตั้งประเด็นว่า รัฐธรรมนูญที่จะปฏิรูปการเมืองนั้น ปฏิรูปเพื่ออะไร เจตนารมย์ของการปฏิรูปการเมืองคืออะไร ซึ่งหากย้อนมองดูรัฐธรรมนูญ 17 ฉบับ พบว่ามีเพียง 2 ฉบับที่บอกเจตนารมย์เรื่องการปฏิรูปการเมือง คือ ฉบับ 2502 และ 2540 นอกจากสองฉบับนี้แล้ว ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญอีก 15 ฉบับ ไม่เคยคิดเรื่องการปฏิรูปการเมือง

 

.รังสรรค์กล่าวว่า เมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ปรากฏคำปรารภ 3 หัวข้อใหญ่ ว่า ให้มีการเมืองสีขาว ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และให้มีระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพเข้มแข็ง

 

ทั้งนี้ การประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องอิงกับบริบททางประวัติศาสตร์ คือ เรื่องระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพเข้มแข็งนั้น ไม่สำเร็จในยุครัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีฯ และทำได้ในยุคของพ...ทักษิณ ชินวัตร แต่สองเรื่องที่เหลือคือ ทำการเมืองสีขาว และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น รัฐบาลพ...ทักษิณสอบตก

 

.รังสรรค์กล่าวว่า การเติบโตของภาคประชาชน ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มาจากการขยายตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพในไทย รัฐบาลไม่เคยสนับสนุนการเมืองภาคประชาชน ซึ่งนี่คือเป้าหมายที่ชัดเจนว่า อำนาจผูกขาดในตลาดการเมืองมีมากขึ้นในช่วง 9 ปี ของการใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งสังคมการเมืองที่ถูกผูกขาดมีข้อเสีย และการออกแบบรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่เอื้อต่อการผูกขาด

 

ที่ผ่านมา กลไกของการตรวจสอบถูกทำลาย เป็นผลเสียที่เราเผชิญตลอดระยะเวลาของรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งนำไปสู่เผด็จการประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นตลาดการเมืองแบบผูกขาด

 

เราต้องการรัฐบาลที่ผลิตบริการสาธารณะด้วยต้นทุนต่ำ แต่สิ่งนี้ขาดหายไปภายใต้ตลาดการเมืองแบบผูกขาด หากตลาดการเมืองมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ ประชาสังคมก็จะได้รับบริการที่ดี ต้นทุนต่ำ

 

(ฟังคลิปเสียง ศ.รังสรรค์ พร้อมประเด็นถกเถียงต่อ โดยรศ.นครินทร์ ผศ.อภิชาต และรศ.สุวินัย)

 

หมายเหตุ

อ่านบทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2549 โดยรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2549

 

 

 

000

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตั้งประเด็นเรื่องตลาดการเมืองไว้อย่างน่าสนใจว่า ตลาดการเมืองไม่ได้มีการแบ่งส่วนตลาดในเวลาเดียวกัน แต่เป็นการแบ่งอำนาจ และการแข่งขันในตลาดการเมืองไม่ใช่ระบบตลาดเสรี แต่เป็นการแข่งขันที่จำกัดอยู่เพียงไม่กี่ราย

 

ซึ่งการแข่งขันที่มีผู้แข่งน้อยราย ย่อมต้องหาวิธีสร้างความเป็นธรรม สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีระบบตรวจสอบด้วยหลักนิติรัฐ

 

(ฟังคลิปการถกเถียงต่อยอด โดยรังสรรค์ สุวินัย สิริพรรณ นครินทร์ )

 

000

 

รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ ทั้งสามเป้าหมายเดิม (การเมืองสะอาด ประชาชนมีส่วนร่วม ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพเข้มแข็ง) จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเรายังไม่บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นเลย แม้ที่ผ่านมาจะยังทำได้ไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องคงไว้ และที่ต้องพูดถึงเพิ่มคือ ระบบตรวจสอบที่มีปัญหา

 

แต่ทำไมระบบตรวจสอบถึงมีปัญหานั้น มีคนพูดกันมากว่าเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไปลอกจากฝรั่งมา ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่ และทัศนคติแบบนี้อาจทำให้เราหลงทาง รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็น "ไทย" มากเกินไป และความเป็นไทยนั้นก็ขาดการไตร่ตรอง เช่น เรามีองค์กรอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกนี้มี

 

ปัญหาที่เราเผชิญและต้องเร่งแก้คือ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างระบบตรวจสอบ จะทำยังไงให้ระบบตรวจสอบมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางภาวะที่ทุกๆ ฝ่ายต่างก็บิดใช้กฎหมาย

 

.รังสรรค์ กล่าวย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยอย่างแน่นอน และการปฏิรูปการปกครอง 2549 ก็ยังแย่งส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ออกจากระบบราชการ และมันจะย้อนรอยกลับไปเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2534

 

"ผมไม่ทราบว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มันแปลว่าอะไร" รศ.ดร.วรเจตน์ ตั้งประเด็นคำถามนี้เอาไว้

 

ด้านดร.อภิชาต สถิตนิรามัย กล่าวต่อว่า เวลานี้ รัฐธรรมนูญเป็นเนื้อในอันสมบูรณ์ให้กับอำนาจนิยม และลูกหาบ แล้วทำอย่างไรประชาธิปไตยจึงจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ จะแก้ปัญหาทวิลักษณ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่า การปฏิรูปรัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบโจทย์ข้อนี้

 

 

000

 

 

คำถามหนึ่งจากนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ถามขึ้นในช่วงเปิดวงของการเสวนาคือ เศรษฐกิจพอเพียงที่นิยมพูดกันนั้น รับประกันความเท่าเทียมกันทางสังคมหรือไม่ หรือทุกคนพูดคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดทางการเมือง

 

รศ.ดร.สุวินัย แสดงความเห็นว่า วาทกรรมจากฝ่ายยึดอำนาจ ประเด็นแรกคือ การปกครองที่เป็นอยู่ เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประเด็นถัดมา คือ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

 

ทั้งนี้ หากคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นมายาคติแล้ว โจทย์การปฏิรูปการเมืองคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้มายคตินั้น "จริง" ขึ้น และบอกเลยมาเลยว่าเรื่องไหนเป็นมายาคติ กล้าพูด แล้วพูดอย่างจริงใจ

 

ด้านศ.รังสรรค์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาในสังคมไทยเป็นแบบทวิลักษณ์ คือขณะที่ชนชั้นปกครองใช้ฉันทามติวอชิงตัน ชุมชนเลือกใช้ท้องถิ่นพัฒนา เหมือนดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า ทางใคร ใครเลือก

 

แต่ปัญหาคือ เมื่อนายกรัฐมนตรีพยายามอธิบายว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ขัดแย้งกับเสรีนิยมนั้น ทั้งที่ระบบเสรีนิยมนั้น คือการเอาความไดเปรียบเชิงเปรียบเทียบ มาใช้ผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เน้นความชำนาญพิเศษ แต่เป็นการผลิตตามความต้องการของตนเองและชุมชน ซึ่งไม่เน้นการขาย แต่เน้นที่การดำรงชีวิต

 

.รังสรรค์ ยืนยันว่า เศรษฐกิจพอเพียงไปด้วยกันไม่ได้ในขั้นรากฐานของตลาดเสรี

 

(ฟังคลิป!)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท