สัมภาษณ์พิเศษ: รักษาการนายกสมาคมนักข่าวฯ ปรับโครงสร้าง 'ศูนย์ข่าวอิศรา' 'เปลี่ยนม้ากลางลำธาร'

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

'ศูนย์ข่าวอิศรา' ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์ที่ 'สื่อมวลชนไทย' ถูกตั้งคำถามอย่างมากจากพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ถึงความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าว จนเกิดเป็นแนวคิดแก้ปัญหาในรูปแบบการตั้งกองบรรณาธิการข่าวอิสระในพื้นที่ที่มาจากการร่วมมือกันของสื่อมวลชนจากส่วนกลางและสื่อมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อมารองรับการนำเสนอข่าวที่เป็น 'ความจริงอีกด้าน' ออกมา

 

ภายใต้การนำเสนอข่าวแบบนี้ การยอมรับของคนในพื้นที่ก็มีมากขึ้นจนอาจเรียกได้ว่า 'ศูนย์ข่าวอิศรา' กลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยนำสันติภาพกลับมาสู่ 3 จังหวัดภาคใต้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการสื่อสาร 'เสียง' จากในพื้นที่ได้ชัดเจนกว่าสื่อมวลชนแบบปกติที่ยังถูกตั้งคำถามจนวันนี้ บางครั้งในพื้นที่ที่สื่อทั่วๆ ไปไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าว แต่สำหรับ 'ศูนย์ข่าวอิศรา' คือการยกเว้น และด้วยการทำหน้าที่จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ 'ศูนย์ข่าวอิศรา' ก็ได้รับการยกระดับเป็น 'สถาบันข่าวอิศรา' ในเวลาต่อมา

 

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ 'สถาบันข่าวอิศรา' กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกันสถานการณ์ภาคใต้ตอนนี้กลับกำลังคุกรุ่นรุนแรงมากขึ้นอย่างเป็นลำดับ การตัดสินใจ 'ผ่าตัด' องค์กรครั้งนี้ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจึงเป็นสิ่งท้าทายต่อสถานการณ์ ดังนั้น คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ผลที่ตามมาคือ 'ประสิทธิภาพ' ที่สูงขึ้น หรือจะเป็นเพียงการหยุดนิ่งและถอยหลัง

 

นาตยา เชษฐโชติรส รักษาการนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับ 'ประชาไท' ถึงข้อสรุปในการปรับโครงสร้าง 'สถาบันข่าวอิศรา' ครั้งนี้ จะมีทิศทางและวิสัยทัศน์อย่างไร กรุณาติดตาม

 

000

 

สาเหตุสำคัญที่ต้องมีการปรับโครงสร้างสถาบันข่าวอิศราคืออะไร

สาเหตุสำคัญที่คนนอกอาจจะคิดว่ามันไม่สำคัญ แต่ในฐานะที่เป็นองค์กรสื่อที่ต้องทำงานภายใต้ความเชื่อถือของสาธารณะก็ไม่อยากให้มันเกิดกรณีวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถึงแม้สถาบันข่าวอิศราจะบริหารโดยไม่ใช้เงินของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ตาม แต่โครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราก็ต้องการที่จะทำให้มันโปร่งใสทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตัดปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด ก็เลยจะเลือกตัวบุคคลที่เชื่อว่าจะทำงานให้ได้ประโยชน์และได้คุณภาพเท่ากับที่เคยมี และจะเพิ่มความเข้มข้นของข่าวและการบริหารข่าวที่เป็นระบบมากขึ้นด้วยคนที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

 

เราก็เลยเชิญคุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตหัวหน้าข่าวฝ่ายความมั่นคงของบางกอกโพสต์มาช่วยเป็นบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ จะมารับหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป ซึ่งบรรณาธิการใหม่จะมีการลงพื้นที่และไปประชุมข่าวกับนักข่าวที่ได้เลือกไว้ทั้ง 3 จังหวัด และจะมีผู้ประสานงานก็คือบรรณาธิการภาคใต้คนเดิมคือ คุณมูฮัมหมัดอายุป ปาทาน แต่จะกลับไปทำงานที่จังหวัดยะลา และจะให้ คุณสุเมธ ปานเพชร ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปัตตานีช่วยเป็นทั้งผู้สื่อข่าวและช่วยบริหารศูนย์ด้วย

 

และจะมีคุณมัทนี จือนารา เป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่จังหวัดปัตตานีอีกคน ส่วนที่นราธิวาสจะมีคุณตูแวดานียา มือรีงีง สำหรับที่เหลือไม่ใช่ไม่ทำประโยชน์หรือเราไม่เห็นคุณค่า แต่เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่ไม่มากนักให้อยู่ได้นานที่สุด และหากเป็นไปได้ด้วยดี สถาบันอิศราจะไม่จบไปแค่ที่เงินหมด คงจะต้องมีการทำเสนอโครงการไปหาทุนเพิ่ม จะคงศูนย์ข่าวนี้ไว้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเป็นการมองไปข้างหน้าอีกไกลๆ ว่าปัญหาคงจะไม่จบในช่วงเวลาอันสั้น

 

แสดงว่าที่ผ่านมาแหล่งทุนมองว่าการใช้เงินของสถาบันข่าวอิศรามีปัญหา

ไม่ใช่ เจ้าของทุนไม่ได้ว่าในส่วนนั้นเลย เป็นคำยืนยันของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานช่วยประสานไปขอทุนมาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มาทำศูนย์ข่าวอิศรา และช่วยดูแลบัญชี แต่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายที่จะรับเงินจากรัฐบาล กรรมการในบางองค์กรไม่เห็นด้วย อีกแหล่งทุนหนึ่งก็มาจากกองทุนสมานฉันท์ที่นายอานันท์ ปันยารชุน ก่อตั้งขึ้น ก็หล่อเลี้ยงศูนย์ข่าวมาถึงปัจจุบัน

 

ความจริงแล้วโครงการจะต้องสิ้นสุดสิ้นปีนี้ แต่สมาคมฯเห็นความจำเป็นของการมีศูนย์ข่าวอิศราก็เลยพยายามบริหารเงินที่มีอยู่ไม่มากนัก ให้ใช้ไปได้ยาวนานที่สุด เพื่อมีทุนรอนสำหรับการทำงานต่อไปในระยะยาว แต่วาระกรรมการชุดนี้เหลืออีกแค่ 3 เดือนนิดๆ เท่านั้น ทว่าเนื่องจากมีพันธสัญญาเก่าว่าจะต้องจ่ายเงินในการบริหารศูนย์ข่าวอิศราเท่าเดิมจนถึงสิ้นเดือน ดังนั้นการควบคุมงบประมาณจะต้องเริ่มต้นเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม คิดว่าโครงการคงจะไม่เสร็จสิ้นแค่ 3 เดือนนี้ ก็จะสานต่อไปจนกว่าปัญหาภาคใต้จะมีความชัดเจนและคลี่คลายไปทางใดทางหนึ่ง

 

สมมติว่าถ้าจะทำข่าวในทิศทางเดิม ทีมเดิม มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการทำโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนอีกครั้ง

เป็นไปได้

 

โครงสร้างใหม่นี้ กองบรรณาธิการภาคใต้เห็นว่าอย่างไร

จะมีการประชุมกันที่ปัตตานีพรุ่งนี้ (25 พ.ย.) ได้ประสานผ่านคุณไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมนักข่าวภาคใต้ไปแล้ว และคุณอายุปก็เป็นอุปนายกอยู่ คุณไชยยงค์ก็เต็มใจร่วมมือกับสมาคมนักข่าวฯ เต็มที่เพื่อจะสานต่อให้งานเดินต่อไปได้ คุณไชยยงค์จะเป็นประธานในที่ประชุม ส่วนตัวได้โทรไปคุยกับคุณอายุปแล้วก็มีท่าทีตอบรับทีดี แล้วก็ดีใจที่เรายังคงสถานที่ศูนย์ข่าว (ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) เอาไว้เป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เวลาคุณเสริมสุข บรรณาธิการกรุงเทพฯ ลงไปก็จะได้พบกันที่นั่น

 

การที่เสริมข่าวด้านความมั่นคงมากขึ้น จำนวนนักข่าวน้อยลง ทิศทางข่าวจะคงเจตนารมณ์เดิมที่เน้นไปทาง 'ความจริงอีกด้าน' ที่มักไม่ถูกนำเสนอจะยังอยู่หรือไม่

น่าจะยังคงอยู่ เพราะเป็นส่วนที่ดี คิดว่าไม่มีผลกระทบ นี่คือจุดขายของศูนย์ข่าวอิศราอยู่แล้ว และเนื่องจากบรรณาธิการคนนี้เป็นคนที่มีไอเดีย มีความรู้ในเรื่องของพื้นที่มาก คิดว่าจะช่วยเสริมในส่วนที่ยังไม่แข็งได้ภายใต้คำแนะนำ การกำหนดกรอบทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ขอให้ติดตามต่อไปแล้วกันว่าข่าวจะดีขึ้นจริงหรือไม่ภายใต้การบริหารโมเดลใหม่ และจะมีการกันงบประมาณไว้สำหรับการซื้อเรื่องจากสติงเกอร์

 

จำนวนคนที่ลดลง และการซื้อเรื่องจากสติงเกอร์ ข่าวจะมีเฉพาะเรื่องที่ขายได้หรือไม่ จะไม่ถูกตั้งคำถามเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน และจะมีการนำเสนอข่าวได้ทันท่วงทีหรือ

ก็อยู่ที่การบริหารจัดการของบรรณาธิการ สมาคมฯ เพียงให้นโยบายเท่านั้นเอง แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์สำคัญใหญ่ๆ เราก็จำเป็นต้องให้แขนขาเขาด้วย คนที่มันน้อยเกินไปอาจจะไม่ได้ ตรงนี้ก็อยู่ที่วิธีการบริหารจัดการ และก็มีงบประมาณส่วนหนึ่งที่จะขอความช่วยเหลือจากคนที่จะร่วมมือกับเราได้ คิดว่าน่าจะแก้ปัญหาไปได้ในบางสถานการณ์ เราได้บรรณาธิการใหม่แล้วให้ทำงานไปสักระยะหนึ่งก็ขอให้คอยตรวจสอบกัน

 

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างในช่วงนี้ซึ่งเป็นสถานการณ์เปลี่ยนผ่านบางอย่างและล่อแหลม มันจะทำให้เกิดช่องว่างทางการสื่อสารหรือไม่

ก็ไม่อาจจะคาดการณ์ได้ พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ถ้าไม่ปรับสิ้นเดือนนี้ก็ต้องปรับสิ้นเดือนหน้าเพราะโครงการจริงๆ มันสิ้นสุดสิ้นปี แต่นี่คือเจตนารมณ์ของเราที่ต้องการต่ออายุของศูนย์ข่าวอิศราต่อไป เพราะเรารู้ว่าปัญหาไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่นี้ จึงมีโมเดลนี้ออกมาและพยายามที่จะให้อยู่ต่อไปได้นานที่สุด ที่บอกว่าสถานการณ์กำลังงวด กำลังเปลี่ยนผ่าน การทำตอนนี้มันเหมือนเปลี่ยนม้ากลางลำธารมันจะเกิดช่องว่าง แต่ไม่ปรับตอนนี้ก็ต้องปรับอยู่ดี

 

ทำไมไม่ค่อยๆ ปรับ

เราต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเพราะกรรมการบางส่วนสะท้อนมา เสียงคนในพื้นที่ว่าอย่างไร เสียงนักวิจัยที่ลงพื้นที่เห็นว่าอย่างไร ก็คือการที่เราเอาเสียงสะท้อนทุกอย่างมากรองแล้วว่าต้องหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าแล้วสานต่องานของเราไปได้

 

จำนวนข่าวทราบมาว่าจะลดลงด้วย

ยังไม่แน่ใจ ก็อยู่ที่บรรณาธิการใหม่

 

การบริหารเครือข่ายที่กองบรรณาธิการชุดเดิมทำไว้ต่อไปจะเป็นอย่างไร

ไม่น่าจะกระทบ ปัญญาชนท้องถิ่นในพื้นที่ก็ยังช่วยเรื่องบทความ หรือภาคีต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือสมาคมนักข่าวภาคใต้ก็ยังอยู่ ไม่มีความขัดแย้งที่จะไม่ร่วมมือกัน

 

ทราบมาว่าจะมีการนำสถาบันอิศราไปรวมกับสถาบันพัฒนานักสื่อสารมวลชน หน้าตาจะเป็นอย่างไร

โครงสร้างยังไม่เสร็จ จะมีคณะทำงานเรื่องการศึกษาปรับโครงสร้างก่อน คิดว่าน่าจะเริ่มประชุมปรับโครงสร้างใหม่เดือนหน้า

 

 

 

000

 

อ่านประกอบ

รายงานพิเศษ : "ศูนย์ข่าวอิศรา" กองบ.ก.ส่วนหน้า กู้ศักดิ์ศรีสื่อไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท