Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาเรื่อง เศรษฐธรรมในยุคโลกาภิวัตน์


 


ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์


ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


งานสวนโมกข์เสวนาสัญจรครั้งที่ 11  "ระบบเศรษฐกิจที่มีศีลธรรม ฝันไปหรือเปล่า?"


 


18 พฤศจิกายน 2549 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


 


 


                                                                    1                                                 


มันไม่ได้อยู่ที่ไหน? มันอยู่แล้วที่นี่?


 


มีคำพูดคำหนึ่งที่พูดกัน แล้วผมรู้สึกทึ่งมาก คำนั้นน่าจะมาใช้กับหัวข้อเสวนาเราได้เป็นอย่างดี ประโยคนั้นบอกว่า Utopia is no where สังคมพระศรีอาริย์ หรือสังคมอุดมสุขไมได้อยู่ที่ไหน


 


ถ้ายึดคำนี้ ระบบเศรษฐกิจที่มีศีลธรรม ก็คงเป็นฝันเกินไป แต่ว่าถ้าเราเปลี่ยนประโยคเมื่อกี๊ จาก Utopia is no where ตัดคำใหม่ เป็น Utopia is now here ซึ่งก็คือ สังคมพระศรีอาริย์ สังคมอุดมคติ อยู่กับท่านแล้วที่นี่


 


นั่นก็แปลว่า ของที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลย บางทีทำอะไรนิดเดียวก็ดูเป็นของที่เป็นไปได้


 


ที่ผู้จัดตั้งโจทย์เรื่องเศรษฐกิจที่มีศีลธรรม ซึ่งเป็นซีรีส์ต่อเนื่องจากเรื่อง สื่อมวลชน ต่อเนื่องจากเรื่องกระบวนการเรียนรู้ และต่อเนื่องจากเรื่อง การเมือง ก็คงเห็นว่า เศรษฐกิจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กระทบกับเราเยอะ


 


คำถามก็คือ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบทุนนิยมเสรี มีศีลธรรมได้หรือไม่


 


ถ้าเอาเฉพาะลำพังระบบเศรษฐกิจมีศีลธรรมได้หรือไม่ ก็คงมีคำตอบได้ว่า มีได้แน่นอน เพราะเศรษฐกิจมีได้หลายรูปแบบ ในหัวข้อที่จะพูดกันต่อไปในช่วงการเสวนา จะเห็นว่ามีผู้อภิปรายจากสันติอโศก ซึ่งเป็นตัวอย่างของการทำให้ระบบเศรษฐกิจของชุมชนอโศกเป็นเศรษฐกิจที่มีศีลธรรม หรือตัวอย่างในสมัยพุทธกาล การสร้างชุมนุมสงฆ์ขึ้นมา ก็มีวัตถุประสงค์ชัดว่าเป็นชุมนุมตัวอย่าง เป็นชุมชนในอุดมคติ ซึ่งมีศีลธรรมเป็นหลักแก่นกลาง


 


แต่ชุมชนแบบนี้ในปัจจุบัน ดูเหมือนเป็นชุมชนที่เป็นส่วนน้อย ชุมชนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่าระบบทุนนิยมเสรี เพราะฉะนั้น คำถามที่อาจจะเฉพาะเจาะจงกับพวกเราส่วนใหญ่มากกว่าก็คือ เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี มีศีลธรรมได้หรือไม่


 


ผู้จัดตั้งคำถามเป็นระบบมาก คือ


 



  • ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน แบบทุนนิยมเสรี มีศีลธรรมได้หรือไม่ในทางแนวคิด
  • ถ้าแนวคิดมีศีลธรรมได้ ในทางปฏิบัติในความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันกัน ต้องสร้างตลาด สร้างกำไรสูงสุด จะมีศีลธรรมได้จริงหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องเอาอะไรมากมาย เอาแค่ระดับศีล 5 ก็พอ
  • ระบบทุนนิยมเสรี จะพัฒนาศีลธรรมให้คนในสังคมได้หรือไม่อย่างไร ต้องอาศัยเงื่อนไขอะไร
  • ระบบเศรษฐกิจที่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐาน หรือให้ความสำคัญกับศีลธรรม ควรเป็นอย่างไร ทำได้อย่างไร และเราจะสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันให้มีศีลธรรมมากขึ้นได้อย่างไร

 


 


2


ทุนนิยมมากับความเคลือบแคลงทางศีลธรรม ?


 


ทำไมจึงเกิดคำถามกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีว่า จะมีศีลธรรมได้หรือไม่


 


ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจกันส่วนหนึ่งว่า รากฐานของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ไมได้มีศีลธรรมเป็นแกนกลางเลย


 


คำกล่าวที่ยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นประจำก็คือ คำที่อดัม สมิธ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบิดาของวิชาการเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวถึงเศรษฐกิจแบบตลาด หรือทุนนิยมเสรี ในหนังสือ The wealth of the nation เมื่อสองร้อยปีก่อน แปลเป็นไทยได้ว่า


 


ไม่ใช่เพราะความใจดีของพ่อค้าเนื้อ หรือคนต้มสุรา หรือคนอบขนมปังที่ทำให้เราสามารถรับประทานอาหารเย็นของเราได้ แต่เป็นเพราผลประโยชน์ส่วนตัวของคนเหล่านั้น


 


เวลาเราจะแก้ปัญหา เราจึงไม่มุ่งไปถึงมนุษยธรรม แต่เราต้องมุ่งไปถึงความรักตัวเอง และเราจะไม่สื่อสารกับคนที่ทำให้เราอยู่ได้ด้วยความจำเป็นของเราเอง แต่ด้วยผลประโยชน์ของเขา


 


นี่ถือเป็นฐานแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ของอดัม สมิธ ซึ่งตอนหลังก็มีคนถกเถียงกันว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงหรือไม่ อดัม สมิธ ได้สรุปหรือไม่ว่า คิดว่าเศรษฐกิจไม่มีศีลธรรม หรืออย่างน้อยก็ไม่มีศีลธรรมเป็นแกนกลาง เพียงแต่ให้แต่ละคนทำตามผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วกลไกตลาดจะทำให้ผลรวมของสังคมเกิดขึ้นมาได้ดี


 


ตามหลักฐานการศึกษาประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ มีการไปค้นดูว่า ก่อนที่อดัม สมิธจะเขียนหนังสือเรื่อง The wealth of the nation ก็เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งพูดเรื่อง Theory of Moral Sentiments ก็คือพูดเรื่องศีลธรรมโดยตรง ในเรื่องนั้น เขาได้เขียนถึงความเห็นอกเห็นใจ สงสารซึ่งกันและกันไว้มากมาย คนก็สงสัยว่า อดัม สมิธ มีความสับสนหรือเปล่า เพราะเรื่องหนึ่งก็พูดเรื่องความสงสารเห็นอกเห็นใจ แต่พอมาเขียนเรื่อง The wealth of the nation กลับคิดว่า Self Interest หรือผลประโยชน์ของแต่ละคนเท่านั้นที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้


 


หลักฐานทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ไปค้นกันมา พบว่า หลังจากอดัม สมิธ เขียนหนังสือเรื่อง Theory of Moral Sentiments แล้วมาเขียน The wealth of the nation อดัม สมิธ ก็มีโอกาสไปแก้ไขหนังสือเล่มแรกที่เขาเขียนไว้ แล้วออกมาเป็นรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น คนที่ศึกษาแล้วเป็นลูกศิษย์อดัม สมิธ ก็คิดว่า ไม่น่ามีความสับสน


 


โลกนี้ไม่มีของฟรี และลัทธิเสรีนิยมใหม่


เศรษฐศาสตร์ยุคถัดมามีการตอกย้ำเรื่องความเสรี กลไกตลาดว่าสามารถทำสิ่งดีๆ ให้สังคมได้ เมื่อสองวันก่อน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากของสหรัฐอเมริกา และของโลก แห่งสำนักชิคาโก คือ Milton Friedman เพิ่งเสียชีวิตไป เขาเป็นคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2519 ก็คือ 30 ปีก่อนหน้านี้


 


เขาพูดว่า โลกนี้ไม่มีของฟรี ความคิดของเขาซึ่งบอกว่า เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างดี ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่หลายคนเรียกว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือ Neo Liberalism ซึ่งว่ากันว่าเป็นฐานคิดที่ทำให้คนอย่างประธานาธิบดีเรแกนของสหรัฐอเมริกา หรือนายกรัฐมนตรีแธตเชอร์ของอังกฤษ ในยุค ค.ศ. 1980 นำไปปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา


 


ตัวอย่างของอังกฤษ ก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดบทบาทของรัฐ ทางสหรัฐก็คล้ายๆ กัน และที่มามีอิทธิพลต่อเรามากที่สุดก็คือ แนวคิดที่เรียกว่า Washington Consensus หรือฉันทานุมัติวอชิงตัน ซึ่งก็ถือเป็นทายาททางปัญญาที่ต่อเรื่องมาจากอดัม สมิธ ต่อเนื่องจากมิวตัน ฟรีดแมน สถาปนาขึ้นมาพร้อมกับกลไกของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ แล้วก็กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา คือทั้งหมดอยู่ที่กรุงวอชิงตัน


 


แล้วก็มีการให้แนวนโยบายที่ประเทศต่างๆ ควรนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ นั่นก็คือ แนวคิดว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ Privatization เรื่องของการเปิดเสรีทางการค้า Liberalization และเรื่องของการลดผ่อนเบากฎระเบียบเพื่อให้ประกอบธุรกิจง่าย หรือ Deregulation


 


อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการ ทางแนวคิด มันได้มีหลายกระแสแนวคิด ระยะหลังมีสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็อธิบายว่า ปัจจัยที่ต้องอยู่ควบคู่กับสังคม มันต้องมีกลไกสถาบัน และกลไกทางสถาบันเหล่านี้ มันก็เกิดขึ้นมาและช่วยหนุนเสริมให้ระบบเศรษฐกิจไปได้ ไม่ได้แปลว่าคนเราต้องเห็นแก่ตัวเสมอไปที่จะทำให้สังคมอยู่ได้ มันมีเรื่องเห็นแก่ผู้อื่น


 


เศรษฐกิจฐานกว้างส่งเสริมศีลธรรม


ล่าสุด อีกกระแสหนึ่ง นำโดยเบนจามิน ฟรีดแมน ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เขียนหนังสือเล่มหนึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ ชื่อก็น่าสนใจ คือ The moral consequences of economic growth นั่นก็คือ ผลกระทบทางศีลธรรมของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


 


เล่มนี้มีแนวความคิดซึ่งท้าทายมาก คือไปไกลกว่าการบอกว่า เศรษฐกิจตลาดจะดีถ้าไม่มีการเข้ามาแทรกแซง แต่พูดไปว่า การเจริญเติบโตซึ่งมีฐานอย่างกว้าง คือโตแบบมีคนในสังคมจำนวนมากได้รับประโยชน์ ไม่ใช่โตแบบกระจุกตัว นอกจากจะช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในทางวัตถุดีขึ้นแล้ว ยังไปช่วยหลายๆ เรื่องทีเป็นเรื่องทางสังคมด้วย เช่น เรื่องของประชาธิปไตย เรื่องของความอดทนอดกลั้นต่อผู้อื่นที่มีความแตกต่าง


 


เขายกตัวอย่างมากมาย ข้อสรุปสุดท้ายเขาบอกว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบฐานกว้าง คือคนได้รับประโยชน์ในสังคมอย่างทั่วถึงจะมีผลดีต่อลักษณะทางศีลธรรมของคนในสังคมด้วย


 


เขายกตัวอย่างจากระดับศีลธรรมในปัจเจกชน มาสู่ศีลธรรมของสังคม ตัวอย่างที่อธิบายแล้วเข้าใจง่ายก็คือ เขาบอกว่า ถ้าไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน จะเกิดปรากฏการณ์ที่ความอดทนของคนในแต่ละชาติ ต่อคนที่แตกต่างกัน เช่นคนต่างเชื้อชาติ ความอดทนจะน้อย ยกตัวอย่างเช่น เกิดเหตุการณ์ในสหรัฐอเมริกา กลางทศวรรษที่ 1970 และ 1990 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เกิดการเหยียดผิวกันอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา และแนวคิดเรื่องการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มน้อย ก็ถูกปฏิเสธไป หรือตัวอย่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1992 และ1996 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำ ก็มีการต่อต้านคนต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในอเมริกา เพราะถือว่าเข้ามาแย่งงาน ต่อต้านนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนคนกลุ่มน้อย และเกิดกลุ่มที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังกลุ่มคนต่างๆ เข้าไปทำร้ายคน เข้าไปแย่งชิงกัน


 


และปรากฏการณ์นี้ก็เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่นในเยอรมัน ก่อนจะเกิดพรรคนาซี ที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในอินโดนีเซีย จะเห็นว่าหลังการตกต่ำทางเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ มีการแย่งชิง มีการปล้นกัน ของไทยเราก็จะเห็นว่า ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มันก็มีความระส่ำระส่าย แล้วก็เกิดนักการเมืองพันธุ์ใหม่ เกิดคุณทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาในสภาพสังคมแบบนี้


 


ฉะนั้น เขาพูดว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลักดันโดยกลไกตลาดเสรี ตามมาด้วยหลายอยางนั้น มีผลอย่างมากต่อศีลธรรมของคน ซึ่งไม่ใช่ศีลธรรมในระดับปัจเจก แต่เป็นศีลธรรมของสังคมเลย คือ ลักษณะของสังคมนั้นมันสะท้อนออกมาเลยว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัว คนก็จะสดใสร่าเริง แล้วก็มีความอดทนอดกลั้น มีความเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ คนไม่มีความหวัง ก็จะเกิดการเกลียดชังกัน เกิดการล้มล้างประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงการปกครองต่างๆ นั่นเป็นสิ่งที่เบนจามิน ฟรีดแมนพูดเอาไว้


 


ฉะนั้น ในแนวคิด จะเห็นว่ามีแนวคิดที่หลากหลายมาก ตั้งแต่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยระบบตลาดล้วนๆเป็นสิ่งที่ดี อย่าง อดัม สมิธ แล้วก็ต่อยอดด้วยมิวตัน ฟรีดแมน นำไปสู่การปรับอย่างแท้จริง จนมาถึงเศรษฐศาสตร์กระแสใหม่ ซึ่งอาจมีความเห็นแตกต่างว่า เศรษฐศาสตร์ไม่จำเป็นต้องยึดถือความเห็นแก่ตัวหรือผลประโยชน์เฉพาะตัว แต่มีฐานคิดกว้างไปกว่านั้นได้ ยึดเอาบรรทัดฐานของสังคม ฉะนั้น เศรษฐกิจไม่ใช่ตลาดอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมด้วย


 


สุดท้าย งานของเบนจามิน ฟรีดแมน บอกว่า สังคมที่ระบบเศรษฐกิจไปได้ ลักษณะทางศีลธรรมของสังคมก็ไปได้ด้วยเช่นเดียวกัน


 


ทุนนิยมแบบของใครของมัน


ในกรณีของไทย ก็มีงานมากมายที่พูดว่า ระบบเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับหลักธรรมะ ก็มีงานสำคัญของท่านพุทธทาส เรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม ผู้ที่ติดตามเครือข่ายธรรมโฆษณ์คงได้รู้จักงานนี้อยู่แล้ว และอีกงานคืองานของอ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ท่านเขียนไว้มากมาย แต่มีความคิดรวบยอดสรุปในบทความที่เรียกว่า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งสรุปว่า ลักษณะของระบบเศรษฐกิจที่มีศีลธรรมเป็นอย่างไร และเป็นศีลธรรมที่กินได้ หมายความว่ามีศีลธรรมแล้วคนได้รับอานิสงค์จริง ได้รับการดูแล เติบโตมาศึกษาไป ก็ได้รับการดูแล มีสวัสดิการสังคม และเมื่อเสียชีวิตไป ไปถึงเชิงตะกอนก็ได้รับการดูแล นี่ก็เป็นแนวความคิดที่มีรูปธรรมชัดเจน


 


เพราะฉะนั้น ถ้าตอบคำถามแรกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบศีลธรรมมีหรือไม่ มีแน่นอน เพราะมีตัวอย่างแนวคิดชัดเจน ตั้งแต่แนวคิดในศาสนาล้วนๆ อย่างสังคมสงฆ์


 


แต่ถ้าไปผนวกโจทย์ว่า ทุนนิยมเสรีมีศีลธรรมได้หรือไม่ในทางแนวคิด ก็คงก้ำกึ่ง บางแนวคิดก็บอกว่าศีลธรรมเป็นของที่เกิดขึ้นมา ความอยู่ดีมีสุขสวัสดิการ เกิดขึ้นมาเพราะเห็นประโยชน์ของแต่ละคน โดยที่แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรม แบบที่อดัม สมิธพูด ว่าพ่อค้าเนื้อ คนต้มสุรา คนขายขนมปัง ไม่ได้เห็นอกเห็นใจเรา แต่ทำให้เรามีบริโภคได้


 


ไปจนถึงแนวคิดสมัยใหม่ ที่เชื่อว่าจำเป็นต้องมีศีลธรรม และจะทำให้เศรษฐกิจอยู่ได้ ดังนั้นมันเป็นแนวคิดผสมผสาน ไมได้มีอะไรที่เด็ดขาดไป


 


โจทย์สำคัญไม่ใช่การถกเถียงกันทางทฤษฎี มันอยู่ที่ทางปฏิบัติ


 


กำไรสูงสุดมันทำให้ธุรกิจแต่ละแห่งต้องแข่งขันกัน ใครมีศีลธรรมจะแข่งขันกับเขาได้ยังไง พูดภาษาง่ายๆแบบนั้น


 


ผมคิดเราคงต้องดูว่า ว่าทุนนิยมในโลกไมได้มีแบบเดียว มันมีตัวอย่างทุนนิยมในโลกหลายแบบ อย่างทุนนิยมของสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ที่เรียกว่าทุนนิยมแบบแองโกลแซกซอนนั้น ก็มีลักษณะเฉพาะตัว  เช่น เน้นกลไกตลาดมาก เน้นตลาดหลักทรัพย์มากๆด้วย เน้นให้ตลาดแรงงานมีความเคลื่อนไหวได้ดี โยกย้ายงานได้ง่าย และเชื่อว่าจะนำไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทุนนิยมพวกนี้ ต่อต้านเรื่องสินบน คอรัปชั่น


 


ถ้ามาดูทุนนิยมที่ใกล้ตัวเรา ทุนนิยมอย่างสิงคโปร์ ซึ่งใกล้ตัวเราจากการที่นายทุนของประเทศเหล่านั้นมาลงทุนในประเทศไทย ทุนนิยมของสิงคโปร์ ก็จะมีหน้าตาลักษณะที่แตกต่างจากทุนนิยมที่อื่น รัฐบาปเงินมาก ทำให้เกิดการเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศเยอะ ทุนนิยมของสิงคโปร์นั้น ถ้าอยู่ในประเทศก็จะบอกว่าจะไม่เอาการทุจริตคอรัปชั่น ลีกวนยูพูดเองว่า อย่ามาทุจริตในประเทศ และเมื่อนักธุรกิจต้องไปลงทุนต่างประเทศ ลีกวนยูก็พูดว่า นักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ให้รู้ไว้เสียว่าในต่างประเทศ มีคอรัปชั่นมากมาย ไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว อย่าเอาคอรัปชั่นกลับมาสิงคโปร์ แต่ท่านไมได้บอกว่าอย่าไปคอรัปชั่นในต่างประเทศ


 


ทุนนิยมในเยอรมันในญี่ปุ่นก็แตกต่างกัน ทุนนิยมในเยอรมันให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานมาก และเป็นการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ กรรมการบริษัทในหลายบริษัทมีสหภาพแรงงานด้วย ทุนนิยมของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างกลุ่มธุรกิจมาก และให้ความสำคัญกับการกู้ยืมเงินจากธนาคารมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ ถ้าไปถึงทุนนิยมแบบใหม่ ทุนนิยมแบบรัสเซีย ก็คือทุนนิยมแบบมาเฟีย


 


 


กำไรสูงสุด ไปกันได้กับ ศีลธรรม ?


คำถามถัดมาคือ ทุนนิยมมันต้องแข่งขันกัน สร้างกำไรสูงสุด แล้วจะมีวิธีอย่างไร ทำให้มีศีลธรรม


 


ทุนนิยมไม่ใช่ของที่ลอยอยู่ในสุญญากาศ ทุนนิยมแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญคือทุนนิยมอยู่ภายใต้โครงสร้างทางวัฒนธรรมด้วย ถ้าโครงสร้างทางวัฒนธรรม ทางสังคม เอื้อต่อการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา เอื้อต่อการทำคอรัปชั่นอย่างโจ๋งครึ่ม เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มีการห้ามกัน มีกฎหมายปราบปรามคอรัปชั่นค่อนข้างร้ายแรง อันนี้ไมได้แปลว่าไม่ได้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากหน้าที่ทางการเมือง แต่รูปแบบการคอรัปชั่น ติดสินบนแบบตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้


 


และด้วยเหตุผลแบบนี้ ค่านิยมของสังคมแบบนี้ ก็ทำให้ลักษณะของทุนนิยมของสังคมอเมริกาก็มีหน้าตาแบบหนึ่ง ทุนนิยมของสังคมรัสเซียก็หน้าตาแบบหนึ่ง ทุนนิยมของสิงคโปร์ก็มีหน้าตาแบบหนึ่ง และแน่นอน ของไทยก็มีหน้าตาอีกแบบหนึ่ง คือทั้งหมดล้วนอยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรมและทางสังคม ตามปทัสถาน หรือตามบรรทัดฐานของสังคม


 


ผมคิดว่า ที่ผู้จัดตั้งคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจต้องมีการแข่งขัน มีคู่แข่ง ต้องสร้างตลาด สร้างกำไรนั้น จะมีศีลธรรมได้ยังไง ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของทุนนิยม ไม่ว่าทุนนิยมสัญชาติไหน มันมีจุดร่วมกัน เมื่อเป็นบริษัท ตั้งชื่อมา หน้าที่คือแสวงหากำไรสูงสุด แล้วนำไปมอบให้แก่ผู้ถือหุ้น จัดสรรแก่ผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะมีลักษณะต่างกันยังไงในรายละเอียด หน้าตาโดยรวมเหมือนกัน คือต้องแสวงหากำไรสูงสุด และความที่ต้องแสวงหากำไรสูงสุดนั้น ทำให้ทุนนิยมมีโอกาสสร้างบาปทางเศรษฐกิจมากขึ้น


 


บาปของทุนนิยมคืออะไร


บาปที่เด่นชัดมากที่สุด คือ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ ถือเป็นบาปร้ายแรง เป็นบาปที่มาไกล ถือเป็นบาปพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม อดัม สมิธ ก็เคยพูดไว้ในหนังสือว่า คนที่ทำธุรกิจในอาชีพเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มาเจอกันหรอก แต่พอมาเจอกันแล้ว คุยกันทีไร ก็จะจบด้วยการสมคบกันเพื่อหาประโยชน์จากสาธารณะ เช่น การรวมหัวกันขึ้นราคา อันนี้ก็ชัดเจนว่ามีมาแต่ไหนแต่ไร การสมคบ ผูกขาด ฮั้ว ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมมานาน ไม่ว่าทุนนิยมแบบไหน


 


นี่ถือเป็นบาปขั้นพื้นฐาน และในวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการผูกขาดเป็นบาป เพราะว่าการผูกขาดนั้นทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ไปน้อย ทำให้เสียประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ศีลธรรมของวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ มันก็จะมีแง่มุมของมัน มันไม่ได้เป็นศีลธรรมแบบทางศาสนาที่เราเชื่อกัน ยกเว้นแต่มีการตีความเชื่อมโยงกัน


 


ทำนองเดียวกัน บาปอีกตัวหนึ่งของลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ก็คือ การเก็งกำไรโดยใช้ข้อมูลภายใน เช่น ไปซื้อหายหุ้น ซื้อขายหลักทรัพย์ แล้วไปอาศัยข้อมูลวงในจากผู้บริหารบริษัท กรรมการบริษัท รู้ว่าบริษัทนั้นมีแนวโน้มประกอบธุรกิจจะกำไรขาดทุนยังไง แล้วใช้ข้อมูลวงในนี้ไปซื้อหุ้นขายหุ้นก่อนล่วงหน้า แบบนี้ถือว่ายอมรับไม่ได้ แต่ในทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ ถ้าลำพังการเก็งกำไร ถือว่าเป็นสิ่งที่หลายกรณียอมรับได้ เพราะทำให้ระบบตลาดมีประสิทธิภาพดี ทำให้ราคามันอยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนกับความเป็นจริง


 


แต่หลายๆ เรื่อง เช่น การโฆษณาให้คนบริโภค จะไม่ถือเป็นบาปทางเศรษฐกิจ เพราะถือว่าผู้บริโภคมีสิทธิ์ มีสิทธิ์ตัดสินใจได้ด้วยตัวเขาเอง การโฆษณาก็ไม่ถือเป็นบาป ยกเว้นถ้าเป็นโฆษณาผิดจรรยาบรรณ หลอกลวง


 


ระดับของบาป หรือระดับของสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในทางศาสนา กับในทางโลก มันมีความแตกต่างกันเยอะมาก คำถามที่ว่า ถ้ามีแนวคิดด้านศีลธรรมอยู่จริง แต่ระบบตลาดต้องแข่งขันกัน ทำกำไร ทำโฆษณา ศีลธรรมมันจะอยู่ได้ยังไง คำถามนี้ ถ้าตอบในทางธรรม ก็ตอบว่าคงมีได้ยากจริงๆ ในระบบทุนนิยมเสรี แต่ถ้าเป็นศีลธรรมในระดับศีลธรรมทางโลกนั้น มันมีกลไกหลายอย่างที่ทำได้


 


 


ระบบทุนนิยมเสรี พัฒนาให้คนมีศีลธรรมได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขใด


 


อันนี้ก็คงต้องตอบว่า มันมีความหมายในทางศีลธรรมบางแบบที่มันถือได้ว่าเป็นศีลธรรมทางโลก แล้วมันเหมาะกับทุนนิยม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักสังคมวิทยาได้ศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว อย่างงานเก่าแก่ร้อยปีก่อนของแมกซ์ เวเบอร์ ซึ่งเขียนหนังสือเรื่องจริยธรรมของพวกโปรเตสแตนท์ ก็เขียนไว้ชัดว่า มีลักษณะหลายอย่างของชาวโปรเตสแตนท์ที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของทุนนิยม เช่น ความอุตสาหะ ความขยันขันแข็ง อดทนในการทำงาน มีวินัย การประหยัดอดออม


 


ได้ยินแบบนี้อาจแปลกใจ เพราะมักได้ยินบ่อยๆ ว่า ลัทธิทุนนิยมส่งเสริมให้เกิดการบริโภคเยอะๆ เพื่อจีดีพีจะได้โตๆ ซึ่งในแง่มุมนึงก็ถูก แต่ถ้ามองในเชิงการเติบโตทางวัตถุล้วนๆ การเติบโตในระยะยาวให้ไปได้ไกล การบริโภคเฉพาะหน้ามากๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี ต้องมีสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการบริโภคกับการออม


 


แมกซ์ เวเบอร์ เองก็บอกว่า การประหยัดอดออมเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกิดเงินทุนสะสม และทำให้เงินทุนนั้นไปลงทุนประกอบกิจการต่างๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการเกื้อหนุนต่อทุนนิยม


 


และแน่นอนว่า ลักษณะที่พูดมา ขยัน ขันแข็ง อดทน มีวินัย ต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่ลักษณะของคนโปรแตสแตนท์ แต่ยังอยู่ในคนหลายกลุ่มด้วย ถ้าจะไปดูคนจีน คนยิว ก็มีลักษณะวัฒนธรรมหลายอย่างที่เหมาะสมกับทุนนิยม


 


3


เศรษฐกิจศีลธรรม ฝันกลางวันหรือฝัน(ที่อาจ)เป็นจริง?


 


 


คำถามใหญ่คือ ฝันเกินไปหรือไม่ที่จะมีระบบเศรษฐกิจแบบมีศีลธรรม


มันมีตัวอย่างระบบเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่ามีศีลธรรมเป็นศูนย์กลาง เช่น ภูฏาน ซึ่งเราสนใจกันมากในช่วงหลัง ไม่ว่าเรื่อง GDH ความสุขมวลรวมประชาชาติ และที่นั่นยังยึดหลักศาสนาเป็นแกนกลาง


 


เพื่อนของผมที่ไปเที่ยวที่ภูฏานบอกว่า รับประทานเนื้อที่ภูฏานไม่อร่อย เพราะคนพยายามหลีกเลี่ยงจากการฆ่าสัตว์ จะฆ่าสัตว์ก็ต่อเมื่อมันแก่ใกล้จะตาย ฉะนั้นเนื้อมันเหนียว แต่ทั้งหมดไม่ได้แปลว่าคนภูฏานไม่ได้สนใจอบายมุขเลย มีบาร์สำหรับคนภูฏาน มีเหล้าแบบหนึ่งที่คนภูฏานไม่ถือว่าเป็นเหล้า แต่กินแล้วเมา ส่วนวิสกี้คนภูฏานถือว่าเป็นเหล้าเมื่อต้มแล้วจึงไม่บริโภคในประเทศ แต่ส่งออกไปขายต่างประเทศแทน


 


แปลว่า สังคมที่ดูเป็นอุดมคติอย่างภูฏานก็มีแง่มุมของความเป็นมนุษย์อยู่เยอะ แต่นับว่ายังมีแง่มุมใกล้เคียงอุดมคติมากที่สุด สังคมอย่างสันติอโศกก็เป็นสังคมที่เป็นอุคมคติไปในทางนั้น


 


แต่ตัวอย่างรูปการของทั้งสองแห่งก็คือ การยอมรับมาตรฐานการครองชีพหรือระดับรายได้ของประชาชนในระดับที่ไม่สูง โดยเชื่อว่ามาตรฐานทางวัตถุไม่ใช่มาตรฐานเดียว ถ้าสังคมยอมรับแบบนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจมีศีลธรรมเป็นศูนย์กลางได้ไม่ยาก และมีการควบคุมสูง


 


อย่างภูฏานส่วนหนึ่งทำได้เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ด้วย การมีภูเขามากๆ ปิดกั้นตัวเองได้ดีพอสมควร และยังมีนโยบายปิดกั้นด้วย เช่น คนจะไปเที่ยวภูฏานต้องขออนุญาต เพราะแต่ละปีมีโควตาจำกัดนักท่องเที่ยว อินเตอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม เพิ่งมีเมื่อไม่กี่ปีมานี้


 


ถ้าคนในสังคมมีควาเห็นพ้องต้องกันว่านี่คือวิถีชีวิตที่พึงปรารถนาก็จะทำกันได้ แน่นอน มันมีปัจจัยที่ซับซ้อน โลกในยุคโลกาภิวัตน์มันทำให้ประเทศที่อยากทำแบบนี้ถ้าไม่มีเจตจำนงมุ่งมั่นก็จะทำได้ยาก


 


ประเทศที่สมาทานเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบประเทศไทยมานานพอสมควร มีการพึ่งการส่งออก การลงทุนต่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ถ้าร่วมยอดส่งออกนำเข้าเทียบกับสัดส่วนจีดีพี มันจะเกิน 100% ถ้าประเทศอยู่ในภาวะแบบนี้ คงไกลเกินไปที่จะดึงมาหาอีกดุลยภาพหนึ่ง


 


โจทย์ของประเทศไทยที่เป็นโจทย์ขั้นต้นคือ ทำอย่างไรให้เป็นสังคมทุนนิยม คล้ายทุนนิยมเสรี แต่มีระดับของศีลธรรม ซึ่งทำให้ทุนนิยมแบบนี้ไม่เบียดเบียนชีวิตของคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ หรือเอารัดเอาเปรียบกันมากเกินไป


 


บาปมีหลายระดับ กิเลสมีหลายระดับ ไม่ว่าจะเห็นพ้องกันหรือไม่ว่าจุดหมายปลายทางไปทางไหน แต่สำหรับบาปหลายประเภท ผู้คนคงเห็นด้วยว่าต้องจัดการ เช่น บาปแห่งการผูกขาด บาปแห่งการเก็งกำไร บาปแห่งการเอาเรื่องทางเพศมาหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ


 


พูดง่ายๆ คือกลับไปสู่พื้นฐานของศีล 5 ที่อย่างน้อยเป็นปทัสถานของสังคมไทยว่า ยอมรับไม่ได้ แล้วตีความขยายจุดนั้นไป  เช่น ลักทรัพย์ก็คงต้องตีความขยายต่อไปว่า มันมีลักทรัพย์แบบคอรัปชั่น ผูกขาด เก็งกำไร อะไรที่สร้างฉันทามติได้ง่ายว่านี่คือ บาป สังคมก็สามารถวางกลไกทางสถาบัน กฎระเบียบ วัฒนธรรมเพื่อแก้ปัญหาได้ง่าย


 


การฆ่าสัตว์ มีงานของลูกศิษย์อาจารย์พุทธทาสตีความไว้แล้ว ในบทความ "อริยสัจ 4 แห่งธรรมิกสังคมนิยม" ตีพิมพ์ในหนังสือพุทธศาสนาปีที่ 66 เล่มที่ 2 ฉบับพิเศษ มีการขยายความเรื่องพวกนี้ไว้ละเอียดว่า ถ้าจะขยายความศีล 5 มรรค 8 ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันต้องทำอย่างไร


 


พูดปด ในปัจจุบันอาจจะออกมาในการใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ได้เป็นการพูดปดแบบบอกขาวเป็นดำแบบเดิม


 


ถ้าจะก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คงต้องมีการประยุกต์คำสอนหลักทางศาสนาเข้ามาตีความใหม่ให้เข้ากับบริบททางสังคม


 


ถ้าเราจะพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับศีลธรรมเราต้องทำยังไง โดยสรุป 1.ต้องมีการแปรความทางศีลธรรมคำสอน ตีความให้เข้ากับสภาพการณ์ทางสังคมแบบใหม่ และเมื่อตีความแบบใหม่ว่าสิ่งที่เป็นความชั่วร้าย เป็นบาป ในเศรษฐกิจทุนนิยมแบบใหม่คืออะไร


สิ่งที่จะพบก็คือ ลำพังการแก้เทศนา สั่งสอน ให้ปัจเจกชนแต่ละคนเป็นคนดีมีศีลธรรม จะมีข้อจำกัดจากสิ่งที่ท่านเห็น เช่น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจผูกขาด ไม่คิดว่าเศรษฐกิจผูกขาดคือการลักทรัพย์ และสังคมก็ยังนับถือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจผูกขาด ธุรกิจสัมปทานที่แสวงหาประโยชน์จากรัฐและประชาชน


 


2.มีการแปรการตีความไปสู่การสร้างกลไกสถาบันทางสังคม ซึ่งมีหลายแบบ ตั้งแต่กลไกที่เกี่ยวข้องกับตลาด รัฐ สังคม เวลาเราจะตอบโจทย์เรื่องทุนนิยมเสรีในยุคโลกาภิวัตน์ เราต้องดูว่า 3 ส่วนนี้จะทำอะไรได้บ้าง


 


 


กลไกกำกับที่เกี่ยวข้องกับตลาด


ในส่วนของตลาด มีแรงกดดันหลายเรื่องที่พยายามจะสร้างปทัสถานใหม่ในวงการธุรกิจกันเอง เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาหลักเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในวงการธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ เรื่องธรรมภิบาล


 


ธรรมาภิบาลเป็นระบบศีลธรรมในการจัดวางความสัมพันธ์ของคนในบริษัท ทำอย่างไรไม่ให้ผู้จัดการโกงเงินผู้ถือหุ้น ทำอย่างไรไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งในประเทศไทยทำกันบ่อย โดยการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท ในวงการตลาดหลักทรัพย์เองก็ถือว่ายอมรับกันไม่ได้แล้ว


 


ทำไมมันเป็นบาปที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มเล็กนัก อันที่จริงก็มีบาปอีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มถือแล้วว่าเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม คือ ปรากฏการณ์ที่มีการเคลื่อนไหว Cooperate Social Responsibility บรรษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็สนใจล้นหลาม


 


หลักการนี้เป็นกาขยายความหลักธรรมาภิบาลให้กว้างขึ้น มันจะดูไปถึงว่าเอาเปรียบแรงงาน ซัพพลายเออร์ ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมหรือไม่ เรื่องพวกนี้มีแรงกดดันจากโลกาภิวัตน์ด้วย เช่น ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่จะส่งไปขายยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะใช้แรงงานเด็กไม่ได้เลย เพราะบริษัทแบรนด์เนมทั้งหลายไม่ต้องการให้ชื่อของตัวเองไปแปดเปื้อนกับการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส


 


 ในต่างประเทศไม่ได้แปลว่าระบบธรรมาภิบาลของเขาไม่มีปัญหา ประเทศทุนนิยมแนวหน้าที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาก็เต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาว แต่งบัญชี ทั้งหมดเป็นแรงกดดันให้วงการธุรกิจต้องเข้มงวดกันเอง


 


แต่ถ้าเราจะหวังให้ตลาดหรือวงการธุรกิจรับผิดชอบตัวเองโดยลำพังก็จะมีข้อจำกัด เพราะจะมีการกำกับพฤติกรรมที่ถือว่าเป็นบาปร้ายแรงของวงการที่บั่นเซาะการเติบโตของทุนนิยมเท่านั้น จะไม่ไปไกลกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม


 


ฉะนั้น กลไกทางสถาบันของสังคมที่จำเป็นต้องมีอีกสองเรื่องคือ บทบาทภาครัฐ


 


 


กลไกกำกับในภาครัฐ


เกี่ยวข้องกับการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่มีบทลงโทษ เช่น การผูกขาด ถ้าจะหวังให้ธุรกิจด้วยกันไม่ยอมรับการผูกขาดก็คงจะมีเฉพาะบริษัทที่เสียผลประโยชน์จากการผูกขาดเท่านั้นที่จะโวยวาย ถ้าภาระมันมาตกกับผู้บริโภค บริษัทเหล่านั้นก็จะไม่สนใจ รัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทป้องกันการผูกขาด ซึ่งสิ่งนี้ยังเป็นโจทย์ที่สำคัญของประเทศไทย เพราะการผูกขาดทำให้ทุนนิยมของไทยเป็นทุนนิยมที่อัปลักษณ์มาก


 


การที่จะเกิดกฎระเบียบในการป้องปรามการหาประโยชน์จากเศรษฐกิจเหล่านี้ แปลว่าระบบการเมืองต้องตอบสนองต่อการไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบนี้


 


กลไกกำกับทางสังคม


นำเรามาสู่จุดที่สามคือ สังคมเองมีบรรทัดฐานอย่างไร ในการยอมรับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งกลับไปสู่สิ่งที่พูดมาตอนต้นคือการแปรความหมายทางสังคมโดยใช้หลักศีลธรรมแบบใหม่ นอกจากศีล 5 แบบเดิมที่เป็นสิ่งพื้นฐาน เหมาะสำหรับสังคมยุคที่ระบบเศรษฐกิจไม่สลับซับซ้อน มาสู่ยุคที่สลับซับซ้อนต้องขยายความออกไปอย่างไร จะเป็นตัวที่มีส่วนช่วยในการสร้างปทัสถานทางสังคม


 


ยกตัวอย่างอีกเรื่อง เป็นหัวข้อที่เครือข่ายธรรมโฆษณ์ได้จัดการเสวนากันมา คือ เรื่องสื่อมวลชน วิถีทางทางศีลธรรม จะยกมาดูว่าการจะให้สื่อมวลชนมีศีลธรรมนั้น ต้องมีการผสมผสานในภาคีทั้ง 3 คือ รัฐ ตลาด และสังคม เข้าด้วยกัน โดยมีการแบ่งพื้นที่สื่อให้กับ 3 กล่ม


 


สื่อมวชนโดยเฉพาะวิทยุ-โทรทัศน์ของไทย มีแค่ 2 รูปแบบ สื่อของรัฐและสื่อเพื่อการพาณิชย์ สื่อทั้งสองแบบนี้มีปัญหากับระบบเศรษฐกิจที่มีศีลธรรม เพราะสื่อในเชิงพาณิชย์ ถ้าจะมีรายการอะไรให้ใครดู ต้องอาศัยเงินจากโฆษณา ถ้าเป็นเคเบิลทีวีก็ต้องจ่ายเป็นรายเดือนในราคาไม่ต่ำ ถ้าเป็นสื่อของรัฐก็เต็มไปด้วยการยัดเยียด ความน่าสนใจของผู้นำ นโยบายของรัฐบาลนั้นๆ


 


สื่อจึงเป็นเครื่องมือในการสร้างบรรทัดฐานทางศีลธรรมที่เหมาะสมกับทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจำเป็นต้องมีสื่อเกิดขึ้น


 


รูปแบบหนึ่งที่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทย ในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ คือ สื่อโทรทัศน์สาธารณะ กำลังมีแนวคิดจะตั้งโทรทัศน์ในประเทศไทยที่ไม่ได้หารายได้จากโฆษณา และไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐในการชวนชื่อ เช่น บีบีซีในอังกฤษ มันจะมีส่วนเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจด้วย และท้องถิ่นจะได้สะท้อนปัญหาขึ้นมา ซึ่งแต่เดิมไม่มีพื้นที่เลย


 


อีกแบบหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันคือ สื่อที่ชุมชนหรือภาคสังคมเป็นเจ้าของเดียวกันอย่างวิทยุชุมชน มันเคยเกิดมาแล้วแต่ขณะนี้แม้เกิดขึ้นแล้วแต่ถูกตีความว่าผิดกฎหมาย ด้วยความคิดของรัฐบาลที่ยึดนโยบายความมั่นคง กลัวคลื่นใต้น้ำกลัวการใช้ประโยชน์ของสื่อโดยประชาชนด้วย


 


ผมไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องมีสื่อทั้งหมดเป็นสื่อสาธารณะหรือสื่อชุมชน กลไกตลาดเองในรูปของสื่อเชิงพาณิชย์ได้ทำให้เกิดความน่าสนใจในหลายรูปแบบ หลายรายการก็ประโยชน์อย่างน้อยในแง่ของความบันเทิง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net