Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 5 พ.ย.2549    สถาบันพระปกเกล้าจัดการประชุมวิชาการครั้งที่8 ประจำปี 2549 เรื่อง การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย. โดยในวันนี้มีการนำเสนอกลุ่มย่อยหลายหัวข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "การตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ"


 


จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สาเหตุที่กลไกตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญเดิมทำงานไม่ได้ เพราะไปปะทะกันอย่างรุนแรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง รัฐบาลมีเสถียรภาพ อีกทั้งตุลาการก็แทบจะไม่ได้มีบทบาทอะไรในการตรวจสอบทั้งที่เป็นกลางทางการเมืองและยุติธรรมมากที่สุด


 


สิ่งที่ปรากฏคือฝ่ายบริหารเข้มแข็งถึงขนาดเข้าไปครอบงำฝ่ายอื่นๆ แม้แต่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกบุคคลในองค์กรตรวจสอบต่างๆ ที่ผ่านมาเราใช้ระบบเลือกตั้งส.ว.ขณะที่ยังไม่พร้อม การเลือกตั้งเป็นเขตใหญ่ทั้งจังหวัด และกำหนดไม่ให้หาเสียง ทำให้ส่วนใหญ่ได้คนของพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในพื้นที่อยู่แล้ว วุฒิสภาแทนที่จะเป็นพี่เลี้ยง จึงกลายเป็นบริวารของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็ถูกครอบงำเบ็ดเสร็จโดยฝ่ายบริหาร เมื่อระบบวุฒิสภาล้มเหลว กลไกทั้งหมดก็ล้มเหลว และองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการตรวจสอบกันเองอีก ดังนั้น จึงควรมีการคิดสูตรใหม่ในการได้มาซึ่งส.ว.


 


เขากล่าวต่อว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินไปคือ ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้มีการรวมพรรคการเมืองได้ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง จึงมีการรวมเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียว เพื่อทำให้เห็นว่าเบอร์หนึ่งของพรรคนั้นได้รับการสนับสนุนท่วมท้นจากทั่วประเทศ สามารถนำมาเป็นข้ออ้างปิดปากคนโต้แย้งได้ทั้งหมด


 


"ระบบนี้ ผู้นำเหมือนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ได้มาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งในระดับโครงสร้างทางการเมืองวัฒนธรรมอย่างใหญ่หลวง ในระดับที่ต้องแตกหักอย่างที่เป็นอยู่" จรัญกล่าว


 


เขาระบุว่า ทางแก้ปัญหาคือต้องเสริมความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบเพื่อลดความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารลง องค์กรตรวจสอบต้องมีเขี้ยวเล็บ และการคัดคนจากวงราชการระดับสูงไปดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบนั้นพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ควรต้องเปิดกว้างมากที่สุด รวมทั้งจำกัดภาคการเมืองไม่ให้มีสัดส่วนมากจนสามารถบล็อกโหวตได้ ซึ


 


ทั้งนี้ เขากล่าวว่า การแทรกแซงองค์กรตรวจสอบของฝ่ายบริหารนั้นทำได้ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง หลังเข้ารับตำแหน่ง หรือกระทั้งพ้นจากตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบไปแล้วก็จะเห็นได้ว่ามีการส่งไปดำรงตำแหน่งที่ดีกว่า ค่าตอบแทนสูงกว่า ซึ่งเท่ากับส่งสัญญาณให้กับคนอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันให้มีความประพฤติดีตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ  


 


มีการตั้งคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างประเทศถึงกรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการซุกหุ้นของอดีตนายกฯ ทักษิณว่า อะไรที่ทำให้คิดว่ามีการเมืองเข้าไปแทรกแซง เพราะการตัดสินผิดพลาดของศาลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อยู่แล้ว นายจรัญ ได้ยกตัวอย่างถึงกรณีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์ เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยในครั้งนั้นคณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนต่อวุฒิสภา คนหนึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ในวงการนิติศาสตร์ อีกคนหนึ่งไม่เป็นที่รู้จักแม้แต่น้อย สุดท้ายมีการปล่อยข่าวใส่ร้ายป้ายสีจนทำให้วุฒิสภามีความชอบธรรมที่จะเลือกคนที่ไม่มีใครรู้จักเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งใน 8 ต่อ 7 เสียงที่ชี้ขาดคดีซุกหุ้น



 


รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต สถาบันพระปกเกล้ากล่าวโดยเฉพาะถึงกลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงว่า มาตรการนี้เคยใช้ในอังกฤษแต่ยกเลิกเมื่ออำนาจมาอยู่ที่รัฐสภา ส่วนในสหรัฐซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดียังใช้อยู่ เพราะสภาไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่การยื่นถอดถอนนั้นก็ต้องมีข้อกล่าวหาชัดเจน เช่น รับสินบน ทำความผิดอาญา ทรยศต่อประเทศชาติ ฯ ไม่สามารถใช้ข้ออ้างบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพในการถอดถอนได้


 


สำหรับประเทศไทยนำระบบการถอดถอนมาใช้ในมาตรา 303 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุเหตุที่จะยื่นถอดถอนไว้ว่ามีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติและส่อไปในการทุจริต กระทำผิดในหน้าที่ ซึ่งมีปัญหาในการตีความคำว่า "ส่อ" อยู่พอสมควร นอกจากนี้ผู้ชี้มูลความผิดคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะส่งเรื่องไปให้วุฒิสภาชี้ขาด ตรงนี้มีปัญหาไม่มีความอิสระและเที่ยงตรงเพียงพอ ซึ่งหากจะแก้ไขให้กลไกนี้ให้ใช้ได้จริงก็จำเป็นต้องแก้ทั้งในเรื่องของกฎหมาย การบริหารจัดการ และการเผยแพร่ให้ความรู้ต่อประชาชน นอกจากนี้เขายังเสนอว่าควรให้ส.ว.ได้ดำรงตำแหน่งตลอดชีพเพื่อให้มีความเป็นสถาบันและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง มีลักษณะเช่นเดียวกับในสหรัฐที่ส.ว.มีสังกัดฝักฝ่ายชัดเจนแต่มีความเป็นกลางทางการเมืองพอสมควร


 


นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอบางส่วนของงานวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ความเป็นอิสระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดย ผศ.ดร.ชลัช จงสืบพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ ด้วย โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเสร็จสมบูรณ์ราวเดือนธันวาคมปีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net