Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


"เหตุผลที่ทำไมท่าน "ควร" พิจารณาตัวเองในฐานะอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"


 


สิ่งที่ผมจะพูดในจดหมายฉบับนี้มีสองส่วน ส่วนแรกซึ่งแยกออกเป็นสามประเด็น ถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตยในขณะเดียวกันก็เป็นการวิเคราะห์ ตลอดจน วิพากษ์วิจารณ์ถึงความคิด ท่าที และปฏิบัติการ (practice) ของท่านต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ส่วนที่สองเป็นข้อเรียกร้องให้ท่านทบทวนสถานภาพของตนเองในฐานะการเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


           


ส่วนแรก การแลกเปลี่ยน การวิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์


ประเด็นแรก เป็นประเด็นที่ว่าด้วยเรื่อง "จิตวิญญาณประชาธิปไตย" ซึ่งผมคิดว่าท่านเองตระหนักในส่วนนี้ดี โดยเฉพาะในบทสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 "อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ที่ท่านเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เช่นเดียวกับคำชี้แจง ในเรื่องการไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้กำลังทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย หรือกระทั่งการเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้คืนระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกกฎอัยการศึก ฯลฯ


 


จากคำให้สัมภาษณ์ตรงส่วนนี้ดูเหมือนว่าท่านกำลังจัดวางตัวเองบนฐานคิดแบบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตลอดบทสัมภาษณ์รวมไปถึงวิธีคิดและอัตวินิจฉัยของท่านเองให้ถ้วนถี่ ก็จะเห็นได้ว่า ท่านกำลังนำพาตัวเอง (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ให้ก้าวข้ามธรณีประตูไปยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งที่ไม่ใช่กระบวนการและครรลองประชาธิปไตย การที่ท่านเองตอบรับคำเชิญให้ไปมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว กระทั่งการตอบรับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มาตามวิถีทางหรือกระบวนการของประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างที่ดี


 


ใช่แน่ ผมเห็นด้วยกับท่านในแง่ที่ว่า หากพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญ"40 เป็นสิ่งที่ถูกเพิกถอนและยกเลิกไป และเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ในอดีตได้ ทว่า ดูเหมือนว่าท่านเองก็กำลังเสนอให้เว้นวรรควิธีคิดแบบประชาธิปไตยมิเพียงแค่ลำพังความเห็นส่วนตัว แต่ยังรวมไปถึงในฐานะวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนอื่นๆ ในสังคมรวมไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน


 


มิพักต้องพูดท่าทีของท่านต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลาก่อนการทำ "รัฐประหาร" ที่ท่านได้ทำ "จดหมายเปิดผนึกถึง (อดีต) นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน" เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 อันมีหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การขอ "นายกพระราชทาน" ซึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตย(แม้ว่าในจดหมายเปิดผนึกฯ ฉบับดังกล่าว ท่านจะไม่ได้พูดถึง มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ"40 อย่างที่ท่านพยายามที่จะกล่าวแก้ในช่วงหลังๆโดยตรง) สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วท่านก็ไม่ได้มี "จิตวิญญาณประชาธิปไตย" อย่างที่ท่านพยายามกล่าวอ้างในบทสัมภาษณ์แต่อย่างใด


 


ประเด็นที่สอง ซึ่งสืบเนื่องมาจากประเด็นแรก ว่าด้วยสัมพันธภาพระหว่างเวลากับประชาธิปไตยในวิธีคิดและตรรกะคำอธิบายของท่านเอง กล่าวคือ อาจจะเป็นการด่วนสรุปและไม่เป็นธรรมต่อความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองของท่านในปัจจุบันมากจนเกินไปว่า ท่านไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย ในหลายๆที่ของบทสัมภาษณ์ท่านได้พูดถึงสถานภาพของตัวท่านเองทั้งในฐานะนักวิชาการกฎหมายมหาชน และในฐานะอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการผลักให้ท่าน "ควร" ที่จะเข้าไปทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมไทยในวัน "พรุ่งนี้" หากพิจารณาถ้อยคำเหล่านี้ให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า ความรับรู้เรื่องประชาธิปไตยของท่านในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในอนาคตตลอดเวลา อุปมาก็เหมือน ว่าท่านหวังจะได้เห็นต้นประชาธิปไตยงอกงามเบ่งบานในวันข้างหน้า แต่ท่านกลับไปรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ให้กับต้นไม้เผด็จการ แล้วเราจะได้กินดอกผลจากต้นประชาธิปไตยได้อย่างไรกัน


 


ประเด็นที่สาม ว่าด้วยเรื่อง "มโนธรรมสำนึก" ซี่งท่านได้พูดไว้ในหลายที่มิเพียงเฉพาะในบทสัมภาษณ์เท่านั้นว่า แรงผลักดันที่ทำให้ท่านเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ก็คือ มโนธรรมสำนึกของตัวท่านเอง ทว่า นี่เป็นมโนธรรมสำนึกที่ตกอยู่ภายใต้ตรรกะวิธีคิดแบบเผด็จการไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ท่านยังให้สัมภาษณ์ว่า การวางเฉย การไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ อย่างที่นักวิชาการหลายคนทำจะทำให้สถานภาพปลอดภัย ไม่ถูกกระทบกระเทือน ไม่ถูกด่า จะเป็นทางที่ง่ายที่สุดในการรักษาภาพลักษณ์ หน้าตา แต่เมื่อมโนธรรมสำนึกของท่านได้ตกอยู่ภายใต้ตรรกะวิธีคิดแบบเผด็จการไปเรียบร้อยแล้วต่างหาก (และไม่ได้วางอยู่บนฐานของประชาธิปไตย) ที่ผลักให้ท่านตัดสินใจลำบาก (?) กับเรื่องนี้


 


 


ส่วนที่สอง เป็นข้อเรียกร้องให้ทบทวนสถานภาพของตนเองในฐานะการเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ซึ่งในส่วนนี้จะขอแบ่งเป็นสองประเด็นย่อย กล่าวคือ


ประเด็นแรก สัมพันธภาพระหว่างท่านกับประชาคมธรรมศาสตร์ กล่าวคือ การที่ท่านตัดสินใจตอบรับทั้งรับคำเชิญให้ไปมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว กระทั่งการตอบรับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มาตามวิถีทางหรือกระบวนการของประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากสัญญาที่ท่านให้ไว้กับประชาคมธรรมศาสตร์ก่อนเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี ในขณะเดียวกัน การตอบรับตำแหน่งดังกล่าวก็กระทำในนามส่วนตัวหาได้ผ่านกระบวนการของประชาคมธรรมศาสตร์ไม่


 


ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องว่าด้วยการพิจารณาลาออกจากการเป็นอธิการบดีของตัวท่านเอง ซึ่งท่านได้พูดอย่างชัดเจนในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ว่า "หากผมไปเสนอตัวรับเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่างหาก...ที่ต้องพิจารณาลาออกจากการเป็นอธิการบดี" ซึ่งหมายความตรงนี้ว่า เงื่อนไขเดียวที่ท่านจะพิจารณาลาออกจากการเป็นอธิการบดี คือ การรับตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทว่าสำหรับผมแล้ว หากท่านพิจารณาให้ถ้วนถี่ นี่เป็นเรื่องของความแตกต่างในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ (different in degree, but not in kind) เพราะไม่ว่าอย่างไร ท่านก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองความชอบธรรมของการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยไปเรียบร้อยแล้ว


 


อย่างไรก็ตามทั้งสองประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ผมสามารถยอมรับ เคารพ และขอสงวนสิทธิ์อัตวินิจฉัยในทางการเมืองของท่านในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง หรือในฐานะศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนที่มีสิทธิ์เสรีภาพที่จะเลือกจุดยืนทางการเมืองตามครรลองพื้นฐานของประชาธิปไตยไว้ ทว่าข้อเรียกร้องที่เสนอให้ท่านพิจารณาและทบทวนเป็นการเร่งด่วนในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ หากท่านจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ขอให้ท่านลาออกจากการเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยทันที


 


ด้วยความเคารพ


นายสุรัช คมพจน์


อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ปัจจุบันศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net