จาก อ.ดร. ถึง ศ.ดร. กรณีตำแหน่ง สนช.: "ถ้าคุณไม่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี สำหรับผม ไม่มีปัญหาอันใด"

อ.ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ จากภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ออกมาพูดอีกครั้ง หลังลงชื่อเป็นคนที่ 2 ในจดหมายเรียกร้องให้ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ. พิจารณาเลือกระหว่างการดำรงตำแหน่งอธิการบดี กับ สนช. ระบุไม่ได้ล้างครู แต่นี่คือวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่เขายืนยันว่า "สอนกันไม่ได้ แต่เรียนรู้ได้"

 

 
ดร.เกษม เพ็ญภินันท์
ภาพจากศูนย์ข่าว อิศรา
 
อ.ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ จากภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ออกมาพูดอีกครั้ง หลังลงชื่อเป็นคนที่ 2 ในจดหมายเรียกร้องให้ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ. พิจารณาเลือกระหว่างการดำรงตำแหน่งอธิการบดี กับ สนช. ระบุไม่ได้ล้างครู แต่นี่คือวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่เขายืนยันว่า "สอนกันไม่ได้ แต่เรียนรู้ได้"
 
สัมภาษณ์โดยศูนย์ ข่าวอิศรา ประชาไทขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง
 
000
 
"เราจะได้ เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ครรลองของประชาธิปไตยคืออะไร นี่คือสิ่งที่ประชาคมจะได้มากกว่า"
 
ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
แนว คิดหลักในการคัดค้านการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของอาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์คืออะไร
ผมคิดว่าประเด็น นี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือสถานะของนักวิชาการและสถาบันทางวิชาการเองว่าต้องมีความชัดเจนใน แง่ของความเป็นกลางและความเหมาะสม ที่สถาบันทางวิชาการจะเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยพันธกิจแล้ว สถาบันทางวิชาการเป็นแหล่งความรู้ ดังนั้นหน้าที่หลักคือการให้การบริการด้านศึกษาแก่สังคม ดังนั้น หลักการเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สถาบันทาง วิชาการจะแสดงบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ ทั้งการให้การเรียนรู้ การวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นเวทีกลางของการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันบนครรลองประชาธิปไตย โดยปราศจากการครอบงำ หรือชี้นำทางการเมืองผ่านผู้บริหารมหาวิทยาลัย
 
 ส่วน ที่สอง สถานะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ทั้งมหาวิทยาลัยเองหรือผู้บริหารย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทาง อ้อม บทบาทของประชาคมธรรมศาสตร์ควรให้การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี แต่ในกรณีการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมันแตกต่างกัน
 
ปัจจุบันเราไม่ ได้มีชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งที่มีตรายางของบุคคลเร้นรัฐรับรองเท่านั้น ดังนั้น สถานภาพของอาจารย์สุรพลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ จึงไม่ได้เป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย หากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองความชอบธรรมของระบบใหม่ที่จะสถาปนาขึ้น ภายใต้ชื่อ ประชาธิปไตย แต่ไม่มีรากฐานหรือรากเหง้าทางประชาธิปไตยเลย การ restore a political order เป็นสิ่งสำคัญ แต่มันไม่น่าใช่วิธีการนี้
 
นอกจากนี้ ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ มีสถานภาพทางสังคมและบทบาททางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะทรรศนะและจุดยืนทางการเมือง ที่สังคมให้ความสนใจและใส่ใจ ยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ ที่องค์กรทางเมืองไม่ได้มาจากกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย
 
อาจารย์สุรพลใน ฐานะที่เป็นอธิการบดีควรวางบทบาทที่เหมาะสมกว่านี้ คือ เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอธิการบดี หรือสมาชิก สนช. เพราะว่า อาจารย์สุรพลคงไม่ไดัเป็นเพียงแค่นายสุรพล นิติไกรพจน์ พลเมืองคนหนึ่งของรัฐไทยเท่านั้น หากรวมไปถึงหัวโขนที่สวมอยู่ ในนามของ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการทับซ้อนของตำแหน่งหน้าที่และสถานภาพส่วนบุคคล
 
ด้วย แนวคิดเดียวกัน จะมีการนำไปเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ลาออกด้วยไหม
ใช่ครับ สถาบันทางวิชาการต้องเป็นอิสระจากขั้วอำนาจการเมือง ไม่ใช่อิงอยู่กับอำนาจทางการเมือง ถ้าคุณเลือกอยู่กับการเมือง ความผันผวนของสถาบันและบทบาททางสังคมของสถาบันจะขาดการยอมรับ นั่นจะส่งผลระยะยาวต่อสถาบันทางวิชาการที่ไม่สามารถทำหน้าที่ชี้นำ หรือ วิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่แล้วในกรณีของอาจารย์สุรพลเอง ที่เสนอเรื่อง ม. 7 ที่เป็นข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งที่มีต่ออาจารย์สุรพล ที่ไม่ได้เป็นเพียงทรรศนะส่วนบุคคล หากเลยเถิดไปถึงจุดยืนของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การที่มหาวิทยาลัยถูกวิจารณ์เช่นนี้ ก็เพราะว่า อาจารย์สุรพลแยกไม่ขาดกับตัวองค์กร ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สุรพลได้รับบทเรียนที่สำคัญมาแล้ว เมื่อตอนต้นปี ที่กลุ่มจัดตั้งที่เรียกว่าคาราวานคนจนเดินทางมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเข้าใจต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในเวลานั้น ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณชน มิใช่แต่ความแตกต่างทางทรรศนะทางการเมืองของอาจารย์สุรพลกับบุคคลที่ไม่เห็น ด้วยกับอาจารย์ หากรวมไปถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัย คืออะไรกันแน่ จนมีการล้อว่า ธรรมศาสตร์ที่มีอธิการบดีที่เป็นศาสตราจารย์ แต่กลับสอบตก ม.7 ดังนั้น ความเป็นอิสระของสถาบัน และการไม่อิงกับขั้วอำนาจทางการเมืองจึงมีความสำคัญอย่างมาก ต่อการยอมรับในบทบาทสถานภาพ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มีบทบาททั้งการให้การศึกษา ความรู้ และร่วมชี้นำทิศทางของสังคมด้วย
 
ถ้า เป็นอาจารย์ท่านอื่นในธรรมศาสตร์ จะคัดค้านไหม
เป็นเรื่องของ สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของบุคคล ที่จะเลือกข้างหรือมีจุดยืนทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมเคารพและยอมรับ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านความคิดความเชื่อทางการเมือง นี่เป็นครรลองพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
 
กรณีของอาจารย์สุ รพลมันเป็นการทับซ้อนจุดยืนทางการเมืองส่วนบุคคล กับสถานภาพผู้บริหารของ มหาวิทยาลัย ตราบใดก็ตามที่คุณมีตำแหน่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัย หัวโขนที่สวมอยู่สะท้อนถึงบทบาทที่เด่นชัด สิ่งนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับกรณีที่ตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนเข้าไปนั่งในสภา ในแง่ความชัดเจนทางจุดยืนทางการเมือง บุคคลกับองค์กรเป็นคนละส่วนกัน ผมแสดงความนับถือและเคารพในการตัดสินใจในการลาออกจากการเป็นผู้นำองค์กรสื่อ เพื่อเป็นสมาชิก สนช. ผมเชื่อว่าอาจารย์สุรพลก็น่าจะทำเช่นนั้น เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีต่อคนในประชาคม ผมไม่ได้ไล่อาจารย์สุรพลนะครับ แต่ต้องการเห็นความกล้าหาญอาจารย์ต่อการใช้วิจารญาณอันความเหมาะสมว่า ตนเองสมควรที่จะทำหน้าที่ในบทบาทไหน
 
เพราะ ฉะนั้นเหตุผลที่อาจารย์สุรพลไม่ควรเข้าไปเป็น สนช. คือ "นักวิชาการต้องดำรงความเป็นกลาง" ไม่ใช่ ว่า "การเข้าไปสนับสนุนสภาที่มาจากคณะรัฐประหารเป็น เรื่องผิด" ใช่ไหม
ถ้าคุณไม่ได้ดำรง ตำแหน่งอธิการบดี การที่คุณเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สำหรับผม ไม่มีปัญหาอันใด ยังคงให้ความเคารพอาจารย์ในฐานะอาจารย์ นักวิชาการ นักกฎหมายมหาชน และอดีตอธิการบดี
 
จะ เห็นว่าคนหลายคนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็เข้าไปร่วมใน สนช. ด้วย
มันเป็นความไม่ ชัดเจนของความเข้าใจในปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่มายาคติใหญ่คือเรื่องระบอบทักษิณ ผมไม่คิดว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า การบริหารงานรัฐบาลทักษิณสร้างปัญหาแก่ระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ที่ขั้นตอน กระบวนการ และองค์กรอิสระ ไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล และปัญหาเรื่องทางจริยศาสตร์ กับจรรยาบรรณของนักการเมือง ซึ่งทำให้เกิดการยอมรับไม่ได้ของคนชั้นกลาง ปัญญาชน และนักวิชาการ นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข แต่ไม่ใช่การทำรัฐประหาร เหมือนคุณรู้ว่าบ้านมีปัญหา ก็หาทางแก้ไขกัน ไม่ใช่เผาบ้านทิ้ง แล้วสร้างบ้านใหม่ เริ่มต้นใหม่ด้วยระบอบใหม่ เป็นการคิดสั้นกับประชาธิปไตยมากไปหน่อย
 
ผมอาจจะไม่พอใจ กับแนวทางในการบริหารประเทศในหลายๆ ด้าน ของทักษิณ แต่ทั้งหมดก็เข้าใจได้ เพราะแนวโน้มของกระแสโลกเป็นเช่นนั้น สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำคือปรับตัวตามกระแสโลก สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ก่อนหน้าเรา เพียงแต่ว่าเราไม่เห็นกระบวนการที่เป็นปัญหา และทางออกของปัญหา ทักษิณไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย ปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในระบอบประชาธิปไตย คือเราไม่มีทางเลือกที่แท้จริงที่สามารถเลือกได้ จากแนวทางการทำงานของรัฐบาลทักษิณและพรรคไทยรักไทย ดังนั้น เมื่อมีคนเสนอทางเลือก และสามารถชักจูงความคิดของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตร หรือสื่อบางสื่อ มันทำให้เกิดการยอมรับกับทางเลือกในส่วนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกระบบ เพื่อมาจัดการกับระบอบประชาธิปไตย นี่คือปัญหาที่คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถแยกแยะได้ ระหว่างปัญหาภายในระบบที่ต้องแก้ไขด้วยกลไก กระบวนการของระบบ และ ปัญหาการคุกคามระบอบประชาธิปไตย
 
คาด หวังอะไรจากการรณรงค์ครั้งนี้
ผมไม่คิดว่า อาจารย์สุรพลจะลาออกจากตำแหน่งอย่างเด็ดขาด! แต่บรรยากาศและความรู้ความเข้าใจในสังคมจะมีมากขึ้น คนจะเข้าใจบทบาทและสถานภาพของตัวเองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาคมในธรรมศาสตร์จะได้บทเรียนจากกิจกรรมนี้ ความสำเร็จของการรณรงค์ครั้งนี้คงไม่อยู่ที่การลาออก การลาออกเป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล เป็นเรื่องทางจรรยาบรรณ จริยธรรม และระดับคุณธรรมของอาจารย์สุรพลเอง สิ่งนี้สอนกันไม่ได้ แต่เรียนรู้ได้ แต่สำหรับสังคม เราจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ครรลองของประชาธิปไตยคืออะไร นี่คือสิ่งที่ประชาคมจะได้มากกว่า
 
รู้สึก อย่างไรที่มีคนเรียกการรณรงค์ครั้งนี้ว่า "ศิษย์ล้างครู"
ผมไม่ได้คิดว่า กำลังล้างครู เรายังให้ความเคารพอาจารย์สุรพลในฐานะอาจารย์และนักวิชาการคนหนึ่ง แต่เวลาเราพูดถึงทรรศนะทางการเมือง มันเป็นคนละสิ่งกัน อย่าลืมว่าสิ่งที่อาจารย์สุรพลทำในวันนี้ อาจารย์สุรพลกำลังประกาศจุดยืนทางการเมืองของตนเอง ในฐานะปัจเจกชนคนธรรมดาหนึ่งในสังคม ซึ่งเหมือนกับทุกๆ คนในสังคม ไม่ใช่ในฐานะปรมาจารย์ที่ทุกคนต้องกราบไหว้หรือแตะต้องไม่ได้ หรืออยู่ห่างจากเทวดาแค่คืบเดียว
 
คำว่า "ศิษย์ ล้างครู" คือการไม่ให้ความเคารพ ไม่ให้เกียรติ การไม่ยอมรับในศักยภาพและความสามารถของอาจารย์ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่การล้างครู หรือการด่าทอผู้อื่น เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เป็น กิจกรรมทางปัญญาที่อยู่บนพื้นฐานทางเหตุผล ปัญญา และการแลกเปลี่ยนทรรศนะที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง รวมทั้งชี้ให้เห็นข้อเด่นหรือข้อด้อยเพื่อนำไปปรับปรุง และพื้นฐานที่รองรับการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดขึ้นได้จริง คือ มิตรภาพ
 
สิ่งที่น่าตกใจ คือ การที่คนธรรมศาสตร์ค่อนข้างที่จะเพิกเฉยต่อประเด็นปัญหาพื้นฐานอันสำคัญของ ธรรมศาสตร์ นี่คือโอกาสที่ดีที่จะกลับมาตรวจสอบคนใน โดยเฉพาะตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัย เราวิพากษ์คนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยวิพากษ์คนของเราเอง โดยเฉพาะเรื่องบทบาทและความแน่ชัดในจุดยืนทางการเมือง นี่คือบทเรียนที่สำคัญของประชาคมธรรมศาสตร์ และหวังว่าจะขยายไปถึงการเรียนรู้ของสังคมประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย การสั่งสมประสบการณ์ประชาธิปไตยคือการเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายทางความ คิดจะทำให้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคขั้นพื้นฐานของทุกคน
 
 

อ่านข่าวประกอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท