Skip to main content
sharethis

 


ประชาไท—29 ต.ค. 2549 ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน มธ. ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้เลือกดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งระหว่างอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันร่วมลงชื่อในจดหมายฉบับดังกล่าวด้วย


 


000


 


To:  ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


"เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมายเสียแล้วคนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจของคุณ"


ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


สารคดี ฉบับที่ 240 ปีที่ 21 (กุมภาพันธ์ 2548)


----------------------------------


 


จดหมายเปิดผนึกถึง ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


เรื่อง ขอเสนอและเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือตำแหน่งอธิการบดีอย่างใดอย่างหนึ่ง


 


สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่คณะบุคคลในนามของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.)" ได้กระทำการรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะบุคคลดังกล่าวได้อ้างเหตุผลว่า ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับผู้ที่ไม่ฝักใฝ่เผด็จการอำนาจนิยม เชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องกระทำตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ของบุคคลอื่นๆ ย่อมถือว่า การกระทำของคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น จนส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ด้วยประการทั้งปวง ตลอดจนไม่ได้รับยอมรับจากนานาประเทศที่มีอารยะ


 


จากปัญหาการขาดความชอบธรรมดังกล่าว ทำให้คณะรัฐประหาร จำเป็นต้องระดมผู้คนที่มีชื่อเสียง นักวิชาการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาสู่กลไก กระบวนการ และองค์กรต่างๆ เช่น คณะที่ปรึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ร่วมกันรับรองและสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำการดังกล่าว


 


พวกเราในฐานะศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า อาจารย์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรายชื่อที่แนบท้ายมาด้วยนี้ มีความห่วงใยและปรารถนาดีต่อ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ขอแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อท่านอธิการบดีดังต่อไปนี้


 


1. แม้ว่าการได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของท่าน ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยอิงกับ ตำแหน่งอธิการบดี แต่ได้รับการแต่งตั้งในนามของ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ก็ตาม แต่พึงตระหนักว่า การรับรู้ของสาธารณชน อาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือรับรู้ข้อมูลส่วนนี้ได้ เนื่องจากท่านยังดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งตำแหน่งนี้ก็จะคงยังติดตัวท่านไปตลอดการทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างเลี่ยงเลี่ยงมิได้


 


2. ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกิจและความรับผิดชอบในด้านการบริหารตามที่ให้สัญญาไว้ตอนเสนอตัวเองต่อประชาคมมหาวิทยาลัยซึ่งมีมากพอสมควร ตามที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไว้กรณีการปฏิเสธการถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของท่านย่อมมีผลกระทบต่อการบริหาร และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในประการสำคัญคือ


 


2.1 กระทบต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัยตามที่ได้ให้สัญญาไว้


2.2 การตัดสินใจรับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ซึ่งนำตำแหน่งอธิการบดีติดตัวไปด้วย ไม่ได้เป็นตามเจตจำนงค์และได้รับความยินยอมจากประชาคม แม้ว่าในประชาคมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ก็ตาม ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ท่านควรที่จะเลือกรับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในส่วนของสื่อมวลชน


2.3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่ทางการเมืองและสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย มาตั้งแต่สมัย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ การเข้าร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารไม่ทางใดก็ทางหนึ่งของอธิการบดี ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกพิจารณาได้ว่า มีส่วนสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าท่านจะอธิบายว่า "มันเกิดขึ้นแล้ว" ก็ตาม ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง เกียรติภูมิ และความภาคภูมิใจของประชาคมมหาวิทยาลัย


 


3. ดังนั้นในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จึงขอเรียกร้องต่อท่านในฐานะอธิการบดีให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไม่มีเงื่อนไข หากท่านเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง "สอดคล้องกับมโนสำนึก" ของท่าน ในฐานะ ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ เราขอเคารพในการตัดสินใจของท่านในฐานะปัจเจกบุคล แต่ขอเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรองรับต่อระบอบประชาธิปไตย


 


เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย


 


 


Sincerely,


 


The Undersigned


 


000


 


http://www.petitiononline.com/domedang/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net