Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ตัวแทนสื่อมวลชน 19 คน จากสมาคมวิชาชีพทั้ง 7 สมาคม ได้เข้าพบ พล.อ. สนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.สนธิได้เสนอว่า อยากให้องค์กรสื่อมวลชนเสนอชื่อตัวแทนมาร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน โดยอาศัยโควต้าของ คปค. ที่สามารถเสนอชื่อได้ทั้งหมด 10 คน


          


หลังจากวันดังกล่าว มีตัวแทนสื่อมวลชนเพียงบางส่วนที่ได้ร่วมประชุมหารือกันว่า การรับแค่เพียงตำแหน่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่น่าจะเกิดประโยชน์ เข้าไปก็ไม่สามารถทำผลงานอะไรได้ จึงมีการเสนอว่า น่าจะขอเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดีกว่า กรรมการจากสมาคมทั้ง 3 บางส่วน จึงมีมติเห็นชอบต่อเรื่องดังกล่าว และได้แจ้งผลไปยัง คปค. ทันที โดยที่กรรมการอีกหลายคน หรือแม้แต่ตัวแทนที่เข้าพบ คปค. เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ก็ยังไม่ทราบมตินี้ ยังคิดว่าเป็นการเสนอชื่อเพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของพล.อ.สนธิ


         


เมื่อ คปค. ได้รับคำร้องขอจากสมาคมวิชาชีพทั้ง 3 ดังกล่าวแล้วจึงได้แจ้งเส้นตายว่า ให้เสนอชื่อบุคคลมาภายในวันที่ 6 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระชัดชิดมาก และในวันขีดเส้นตายนั้นเอง ที่กรรมการเพียงไม่กี่คนของทั้งสามองค์กร ได้นั่งประชุมที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระอีกครั้ง จนสุดท้ายเสนอชื่อนายกฯ ของทั้ง 3 องค์กรต่อ คปค.


         


มีรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมของสมาคมวิชาชีพ 6 สมาคม เพื่อหารือต่อข้อเรียกร้องจากกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่ต้องการให้ตัวแทนทั้งสามผดุงรักษาจริยธรรมวิชาชีพ โดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้บอยคอตไม่เข้าร่วมด้วย นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กองบรรณาธิการและผู้ใหญ่ในโพสต์ทูเดย์ สนับสนุนให้เขาแสดงบทบาทเช่นนี้ ฉะนั้นจึงไม่มีทางปฏิบัติตามข้อเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น


         


ในการประชุมยังมีการนำรายชื่อนักข่าวภาคสนามทั้ง 30 คน มาพิจารณา โดยที่ประชุมเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นนักข่าวเด็กๆ หน้าใหม่ หรือไม่ก็อายุงานน้อยเพียงไม่กี่ปี คงร่วมลงชื่อไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำตามคำชักจูงของคนอื่น ทางองค์กรวิชาชีพจึงวางแผนแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการเดินสายชี้แจงให้นักข่าวแต่ละพื้นที่เข้าใจวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ หรือไม่ก็อาจจะเชิญมาพูดคุยหารือกันที่สมาคมฯ


 


ด้านนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เดิมทีมีการลงมติของคณะกรรมการฯ เสนอให้นายมานิจ สุขสมจิต เข้าไปเป็น 1 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นการเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น มาทีหลัง


         


"ผมหายไปจากการประชุมช่วงหนึ่ง และได้มาเป็น 20 คน หลายคนคงยังไม่หายงงว่า ได้ตำแหน่งมาได้อย่างไร แต่คิดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง อาศัยหลักการของวุฒิสภาเดิม ไม่ใช่วุฒิสภาแบบสหรัฐ ที่ห้ามเด็ดขาด รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ยกเว้นว่าไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เป็นแต่เพียงการควบคุมการออกกฎหมายของรัฐบาล ในส่วนของตัวแทนสื่อมวลชน หากรวมกันได้ 25 คน ก็จะสามารถเสนอกฎหมาย และยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมได้"


         


นายเดชอุดม ซึ่งเป็นกรรมการชุดร่างระเบียบของสภาการหนังสือพิมพ์ด้วย ตอบคำถามถึงความกังวลว่าการเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติจะขัดต่อระเบียบที่เขียนขึ้นเองหรือไม่ ว่า 1.เจตนาของธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์ ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด และ2.ข้าราชการการเมืองหมายถึงฝ่ายผู้บริหาร และสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งต้องเข้าไปวิจารณ์รัฐบาลด้วยซ้ำ ถือว่ายังไม่เสียความเป็นกลางทางการเมือง และขณะนี้การมีตัวแทนเข้าไปได้เป็นมติไปเรียบร้อยแล้ว


 


"ขึ้นอยู่กับว่าเข้าไปแล้วจะรักษาความเป็นกลางไว้ได้หรือไม่ คิดว่าคนที่เข้าไปจะไม่อยู่ในอาณัติใคร เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันแล้ว แต่แน่นอนที่อาจมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยเฉพาะจากต่างประเทศ" นายเดชอุดม กล่าว


         


ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตส.ว.อุบลราชธานี และประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา กล่าวว่า โดยความเป็นจริงแล้วตนเข้าใจจิตใจของทั้ง 3 องค์กรดีว่าต้องการที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภานิติบัญญัติอย่างแท้จริง แต่หากพิจารณาดูจากความเหมาะสมแล้ว ในฐานะที่ตนเคยผ่านงานร่างกฎหมายมาหลายตัวในวุฒิสภา เห็นว่า 3 เสียงจะไปกล่อมให้ 399 เสียงเห็นด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ และโดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่สภานิติบัญญัติ เต็มไปด้วยข้าราชการประจำ ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นการจะผ่านร่างกฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนที่หลากหลาย และเสียงที่สำคัญที่สุด คือเสียงจากภาคประชาสังคม การที่ 3 สมาคมไปอยู่ในนั้น นอกจากจะขาดความเป็นอิสระแล้ว ยังอาจขาดการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมได้ เพราะเท่าถือว่าคุณเป็นฝ่ายอำนาจรัฐไปแล้ว หาก 3 องค์กรออกมาต่อสู้และตรวจสอบข้างนอก จะเป็นศักดิ์ศรีมากว่า เพราะการเข้าไปของทั้ง 3 คนจะทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในการทำงานตรวจสอบรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสื่อมวลชน โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน


 


"ผมคิดว่าถึงแม้ว่า 3 คนเข้าไปแล้ว ก็ยังสามารถถอนตัวออกมาได้ เพราะหากพิจารณาผลได้ผลเสียแล้ว ไม่คุ้มกันเลยสักนิดเดียว และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ การทำงานในการตรวจสอบทั้งสื่อมวลชนทั่วไป จะมีความอึดอัดมากยิ่งขึ้นเพราะ 3 องค์กรที่เป็นองค์กรหลักในวิชาชีพ เข้าไปเป็นอำนาจรัฐเสียเอง"นพ.นิรันดร์ กล่าว


         


ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) กล่าวให้กำลังใจกลุ่มนักข่าวกว่า 50 คนที่ออกมาคัดค้านว่า มีความกล้าหาญในการยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าจะไม่มีใครออกมาเป็นแบ็คอัพให้เลย แม้แต่สื่อมวลชนหลายสำนักด้วยกันเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ถือว่าเป็นบทบาทที่น่ายกย่อง


 


ส่วน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวว่า บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะต้องซ่อมแซม จากการถูกทำลายที่ผ่านมา ใครจะพูดได้เด่นชัดเท่าสื่อมวลชน และนักวิชาการที่ได้ปกป้องเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งจะต้องเข้าไปทำเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพสื่อก็ต้องดูว่าเข้าไปทำหน้าที่นี้แล้วจะสูญเสียความเป็นนักวิชาการ ความเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ เพราะความจริงในสภานิติบัญญัติ ยังไม่มีความหลากหลายในด้านกลุ่มคน เท่าที่เห็นทหาร ตำรวจ เสียเป็นส่วนใหญ่ เท่ากับว่านักวิชาการ และสื่อมวลชน มีภาระเพิ่มขึ้นด้วย


 


ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสวมหมวก 2 ใบ 3 ใบว่า ในความผูกพันกับองค์กรเดิมคงห้ามไม่ได้ แต่อาจจะต้องถอนตัวออกไปเป็นที่ปรึกษา น่าจะถกเถียงกันว่า ทำอย่างไรจะได้ไม่คร่อมกัน ในส่วนที่บางคนยังคงมีบทบาท ต้องกำหนดทิศทางข่าว เรื่องนี้กฎหมายไม่ได้ดูแล ที่ผ่านมาก็พูดกันในส่วนที่บางคนได้เงินเดือนจากงานปกติที่เยอะอยู่แล้ว ยังเป็นโน่นเป็นนี่ได้อีกและได้เงินอีกด้วย ส่วนตัวคิดว่าต้องตั้งข้อสงสัยนี้เข้าไปในองค์กรวิชาชีพนั้น อาจมีข้อเสนอว่า ควรจะต้องไปถอนตัวจากงานที่ต้องสร้างสารเพื่อสื่อออกมา แต่ยังอยู่ในสมาคม หรือชมรมได้ เจ้าตัวเองก็น่าจะวิเคราะห์และประเมินดู


         


 


         


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net