Skip to main content
sharethis

"Censored 2007"


The Top 25 Censored Media Stories of 2005-2006



 


0 0 0


 







Project Censored เป็นโครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม รายงานเพียงผิวเผิน หรือไม่ยอมนำเสนอ


 


กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษาและสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ


 


ข่าวที่ไม่เป็นข่าวทั้ง 25 ข่าวจะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Censored : The News That Didn"t Make the News ที่ออกเป็นประจำทุกปี และกลายเป็นประเด็นใหญ่ประจำปีในวงการสื่อมวลชนอิสระของสหรัฐอเมริกา


 


 


 


จากโครงการ Project Censored 2007


มหาวิทยาลัย Sonoma State สหรัฐอเมริกา


www.projectcensored.org


แปลและเรียบเรียงโดย 


 

ภัควดี วีระภาสพงษ์


 



 


 


0 0 0


 


1


อนาคตของเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตไม่อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลัก


 


ตลอดปีที่แล้วและปีนี้ (ค.ศ. 2005-6) มีการโต้แย้งและเชือดเฉือนกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับอนาคตของอินเตอร์เน็ต ทว่าความขัดแย้งทั้งหมดกลับดำเนินไปโดยที่สาธารณชนแทบไม่มีโอกาสรับรู้เลย


 


ในสหรัฐอเมริกา สงครามชักเย่อครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มบริษัทเคเบิลฝ่ายหนึ่งกับผู้บริโภคและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider—ISP) อีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายหลังยืนยันว่าตนคือผู้สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" แม้จะมีกระบวนการทางด้านนิติบัญญัติและมีคำวินิจฉัยออกมาจากศาลสูงสุดตลอดปี ค.ศ. 2005 และต่อเนื่องมาในปี ค.ศ. 2006 แต่ดูเหมือนสื่อกระแสหลัก ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ต่างพร้อมใจกันตกข่าวเรื่องนี้อย่างเหลือเชื่อ


 


สื่อมวลชนกระแสหลักที่ทำข่าวเรื่องนี้ มักตีกรอบว่านี่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับ "การออกกฎข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลอินเตอร์เน็ต" แต่คำว่า "การออกกฎข้อบังคับ" ในที่นี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวไปได้ กลุ่มที่สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" ไม่ได้สนับสนุนการออกกฎข้อบังคับเพื่อกำกับดูแล "เนื้อหา" ของข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การมีข้อบังคับตามกฎหมายให้บริษัทเคเบิลต้องอนุญาตให้ไอเอสพีสามารถเข้าถึงการใช้สายเคเบิลของบริษัทเหล่านี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เรียกว่าข้อตกลง "common carriage") นี่เป็นรูปแบบที่ใช้กันในอินเตอร์เน็ตแบบเรียกเลขหมาย (dial-up internet) และเป็นวิธีการที่ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตต้องการรักษาเอาไว้ รวมทั้งต้องการหลักประกันด้วยว่า บริษัทเคเบิลต้องไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองหรือขัดขวางเนื้อหาใดๆ ในอินเตอร์เน็ตหากไม่มีคำสั่งศาล


 


ฝ่ายที่สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" กล่าวว่า หากปราศจากการออกกฎข้อบังคับของรัฐบาลในเรื่องนี้แล้ว สายเคเบิลก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของบริษัทเคเบิล ไอเอสพีทั้งหลายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้บริการเป็นจำนวนมากเพื่อใช้สายเคเบิล ซึ่งจะทำให้ค่าบริการอินเตอร์เน็ตแพงขึ้น ผู้บริโภคที่มีฐานะการเงินดีจะเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่ดีกว่า ส่วนผู้บริโภคที่ไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ก็ต้องเสียเปรียบ อีกทั้งบริษัทเคเบิลยังสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตได้ตามใจชอบด้วย


 


ส่วนในฝ่ายของบริษัทเคเบิลก็โต้แย้งว่า พวกเขาเสียเวลาและเงินลงทุนไปจำนวนมากในการวางสายเคเบิล รวมทั้งการขยายความเร็วและปรับปรุงคุณภาพ หากปล่อยให้ไอเอสพีใช้สายเคเบิลได้ฟรี บริษัทก็ต้องใช้เวลามากขึ้นในการคืนทุน ดังนั้น บริษัทเคเบิลจึงควรเก็บค่าธรรมเนียมได้ มิฉะนั้นแล้ว มันจะลดทอนศักยภาพในการแข่งขันและนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเคเบิล ส่วนเรื่องการกลั่นกรองเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตตามใจชอบนั้น บริษัทเคเบิลปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง


 


กระนั้นก็ตาม มีตัวอย่างที่ชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม อาทิ ในปี ค.ศ. 2005 บริษัทโทรศัพท์ในนอร์ธแคโรไลนาขัดขวางไม่ให้ผู้บริโภคใช้บริการวอยซ์โอเวอร์ทางอินเตอร์เน็ต (อย่างเช่น Yahoo Messenger, Skype, ฯลฯ) ซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้โทรศัพท์ ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน บริษัทเคเบิลของแคนาดาบล็อคเว็บไซต์ที่สนับสนุนสหภาพแรงงานของบริษัทเคเบิล ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทด้านแรงงานกับบริษัท ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 บริษัท Cox Communications ไม่ยอมให้ผู้ใช้บริการเข้าเว็บไซต์ของ Craig"s List โดย Cox อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของระบบรักษาความปลอดภัย แต่ในภายหลังพิสูจน์ได้ว่า เป็นเพราะเว็บไซต์ Craig"s List ให้บริการประกาศรับสมัครงานที่เป็นคู่แข่งกับ Cox ต่างหาก


 


คำวินิจฉัยของศาลสหรัฐฯ ในการฟ้องร้องระหว่างบริษัทเคเบิลกับไอเอสพี ดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่เอื้อต่อบริษัทเคเบิลมากกว่า โดยมีหลายคดีที่ศาลตัดสินว่า บริษัทเคเบิลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลง "common carriage" ต่อไอเอสพีเหมือนบริษัทโทรศัพท์ ทำให้บริษัทโทรศัพท์อ้างว่า การตัดสินเช่นนี้ทำให้บริษัทเคเบิลได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และเริ่มเรียกร้องขอเป็นอิสระจากข้อตกลงนี้บ้าง


 


ส่วนในสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย Communications Opportunity, Promotion and Enhancement (COPE) Act ออกมาแล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนกล่าวว่า กฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและการวางสายอินเตอร์เน็ตไฮสปีดให้ขยายตัวมากขึ้น แต่ฝ่ายที่สนับสนุน "ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต" มองว่า กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้บริษัทโทรศัพท์และเคเบิลสามารถเลือกเฟ้นเฉพาะลูกค้าในละแวกร่ำรวย และยกเลิกข้อบังคับของส่วนการปกครองท้องถิ่นที่เคยบังคับให้บริษัทเคเบิลทีวีต้องให้บริการแก่ผู้มีรายได้ต่ำและชนกลุ่มน้อยด้วย ปัจจุบัน กฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ


 


แนวโน้มทางนโยบายของคณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Communications Commission—FCC) ดูเหมือนเป็นไปในทางเปิดเสรีและลดข้อบังคับให้แก่บริษัทด้านเทเลคอมและสื่อสารมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาควบคุมอินเตอร์เน็ตได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงในอนาคต ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาที่มีกระเป๋าหนัก (ซึ่งแน่นอน ส่วนใหญ่เป็นบรรษัทธุรกิจ) ย่อมเป็นฝ่ายครอบงำแบนด์วิธไปเกือบทั้งหมด นั่นจะเป็นจุดล่มสลายของการมีเวทีสาธารณะที่มีความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคและเสรีภาพสูงสุดเท่าที่มนุษยชาติเคยสร้างสรรค์ขึ้นมา


(ขอบคุณคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ที่ช่วยอ่านและแก้ไขการแปลข่าว #1 นี้)


 


2


บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันมีส่วนพัวพันกับการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้อิหร่าน


 


นักข่าว เจสัน ลีโอโปลด์ (Jason Leopold) แห่ง Global Research.ca อ้างแหล่งข่าวในบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน (Halliburton) ว่า เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว (2005) นี้เอง ฮัลลิเบอร์ตันเพิ่งขายส่วนประกอบสำคัญของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้แก่บริษัทโอเรียนทอล ออยล์ คิช (Oriental Oil Kish) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน


 


นอกจากนั้น ตลอดปี ค.ศ. 2004-5 ที่ผ่านมา ฮัลลิเบอร์ตันยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไซรุส นัสเซรี รองประธานกรรมการบริหารของบริษัทดังกล่าว นัสเซรีเป็นบุคคลสำคัญในคณะพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย ในปลายเดือนกรกฎาคม 2005 นัสเซรีถูกรัฐบาลอิหร่านสอบสวนในข้อหาให้ความลับด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านแก่ฮัลลิเบอร์ตัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่านตั้งข้อหานัสเซรีว่ารับสินบนถึง 1 ล้านดอลลาร์จากฮัลลิเบอร์ตันเป็นค่าตอบแทน


 


ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทโอเรียนทอล ออยล์ คิชกับฮัลลิเบอร์ตันเปิดเผยออกมาในเดือนมกราคม 2005 เมื่อบริษัทประกาศว่าได้ทำสัญญาเหมาช่วงในโครงการขุดเจาะก๊าซกับบริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันที่จดทะเบียนในหมู่เกาะเคย์แมน ฮัลลิเบอร์ตันอ้างว่าโครงการนี้เป็นโครงการสุดท้ายที่บรรษัทจะลงทุนในอิหร่าน


 


อย่างไรก็ตาม ฮัลลิเบอร์ตันมีประวัติการลงทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ในสมัยที่รองประธานาธิบดีเชนีย์เป็นประธานกรรมการบริหารของบรรษัท โดยใช้วิธีจดบรรษัทสาขาในหมู่เกาะเคย์แมน แล้วใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่ใช่บริษัทสัญชาติอเมริกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ไม่ให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจกับประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาเป็นรัฐผู้ร้าย เช่น ลิเบีย อิหร่าน ซีเรีย เป็นต้น


 


รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีคลินตันมีคำสั่งห้ามไม่ให้เอกชนลงทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 รวมทั้งห้ามมิให้บริษัทธุรกิจสหรัฐฯ ทำธุรกิจด้านบริการที่ "เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่าน" ด้วย ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของฮัลลิเบอร์ตันกับบริษัทอิหร่านจึงเป็นการหลบเลี่ยงกฎหมาย ฮัลลิเบอร์ตันนั่นเองที่แอบขายเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuges) ให้อิหร่าน จนอิหร่านสามารถดำเนินโครงการเสริมสมรรถภาพให้แร่ยูเรเนียมได้


 


เพื่อหาทางสกัดยับยั้งไม่ให้ฮัลลิเบอร์ตันและบรรษัทอเมริกันอื่นๆ ดำเนินธุรกิจกับประเทศที่รัฐบาลกลางคว่ำบาตร วุฒิสมาชิกของสภาคองเกรสจึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษบรรษัทอเมริกันที่หลบเลี่ยงกฎหมายด้วยการไปจดทะเบียนบริษัทสาขาในต่างประเทศ


 


3


มหาสมุทรโลกตกอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต


 


ข้อมูลจากสมุทรศาสตร์, ชีววิทยาทางทะเล, อุตุนิยมวิทยา, ประมงศาสตร์และวิทยาธารน้ำแข็ง ชี้ให้เห็นว่า ท้องทะเลของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและองค์ประกอบทางเคมีของทะเล บวกกับมลภาวะและการทำประมงอย่างมักง่าย กำลังทำให้แหล่งกำเนิดชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง


 


ใน ค.ศ. 2005 นักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์พบหลักฐานชัดเจนว่า มหาสมุทรกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิของน้ำในช่วงครึ่งไมล์จากพื้นผิวทะเลสูงขึ้นมากตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลลัพธ์จากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้น


 


ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการละลายของน้ำแข็งในทวีปอาร์กติก อัตราการละลายของน้ำแข็งก่อให้เกิดวังวนของผลกระทบที่สะท้อนกลับไปกลับมา มันเร่งอัตราการเพิ่มขึ้นของพื้นผิวน้ำที่สะท้อนกลับไปเร่งให้อุณหภูมิสูงขึ้นและการละลายมีมากขึ้น เมื่อน้ำทะเลที่ขั้วโลกจืดลงและน้ำทะเลในเขตร้อนเค็มกว่า วงจรของการระเหยและการตกตะกอนก็เร่งเร็วขึ้น ซึ่งยิ่งกระตุ้นปรากฏการณ์เรือนกระจกมากขึ้นไปอีก วงจรที่เร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ นี้อาจแก้ไขกลับคืนได้ยากหรือไม่ได้เลย


 


มลภาวะที่สั่งสมมากขึ้นยังเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลและทำลายชีวิตสัตว์น้ำ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มหาสมุทรต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 118 พันล้านเมตริกตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังถูกปล่อยเพิ่มสู่บรรยากาศอีก 20-25 ตันทุกๆวัน ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงความสมดุลของค่า PH ในมหาสมุทร การศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เปลือกและโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิด นับตั้งแต่ปะการังไปจนถึงหอยและแพลงก์ตอน จะละลายภายใน 48 ชั่วโมงหากต้องสัมผัสกับสภาพความเป็นกรดของทะเลในปี ค.ศ. 2050 ปะการังคงสูญพันธ์จนหมด และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือแพลงก์ตอน ไฟโตแพลงก์ตอนเป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจก ผลิตออกซิเจนและเป็นผู้ผลิตอาหารปฐมภูมิของห่วงโซ่อาหารในทะเล ปรอทที่เกิดจากของเสียในอุตสาหกรรมเคมีและถ่านหินมีการออกซิไดซ์ในอากาศและตกลงสู่ก้นทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไป สารปรอทจะแทรกเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารเป็นทอดๆ กระทั่งสัตว์ทะเลที่เป็นผู้ล่าเหยื่อ เช่น ปลาทูนาหรือปลาวาฬ มีปริมาณสารปรอทสูงกว่าน้ำทะเลถึง 1 ล้านเท่า อ่าวเม็กซิโกมีปริมาณสารปรอทสูงสุด โดยมีสารปรอทราว 10 ตัน ไหลลงสู่ทะเลทางแม่น้ำมิสซิสซิปปีทุกปี และอีก 10 ตันจากการขุดเจาะนอกชายฝั่ง


 


นอกจากสารปรอทแล้ว แม่น้ำมิสซิสซิปปียังพาไนโตรเจน (ส่วนใหญ่จากปุ๋ย) ลงสู่มหาสมุทรด้วย ไนโตรเจนกระตุ้นให้พืชและแบคทีเรียที่บริโภคออกซิเจนเติบโตในน้ำ ก่อให้เกิดสภาพที่เรียกกันว่า hypoxia หรือ เขตมรณะ เขตมรณะคือพื้นที่ในมหาสมุทรที่ปริมาณออกซิเจนต่ำเกินกว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลจะดำรงชีพอยู่ได้ ในปี ค.ศ. 2001 พื้นที่ทะเลจำนวนมากในอ่าวเม็กซิโกกลายเป็นเขตมรณะไปแล้วเกือบ 8,000 ตารางไมล์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขตมรณะเกือบทั้งหมดจากที่มีอยู่ 150 เขต (และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ในโลก มักอยู่ตรงปากแม่น้ำ ชายฝั่งสหรัฐฯ นั้นมีอยู่เกือบ 50 เขตด้วยกัน แม้ว่าไนโตรเจนส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติในแม่น้ำ แต่ฟอสฟอรัสจากน้ำเสียและไนโตรเจนจากท่อไอเสียรถยนต์ยิ่งซ้ำเติมภาวะนี้ให้สาหัสมากขึ้น


 


พร้อมกันนี้ การประมงสัตว์น้ำทะเลที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2000 เริ่มตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการเดินเรือและการทำประมงแบบเข้มข้นมีความก้าวหน้ามาก "ประสิทฺธิภาพ" ในการทำประมงทะเลทำให้ชีวิตสัตว์ทะเลลดน้อยถอยลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เรือประมงใหญ่ๆ มักจับสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการถึง 25% แล้วทิ้งสัตว์น้ำเหล่านี้ที่ตายแล้วหรือใกล้ตายกลับลงทะเล นอกจากนั้น เรืออวนลากยังกวาดพื้นทะเลเรียบเหี้ยนราวกับรถไถ ทำลายระบบนิเวศท้องทะเลมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่าแต่ละปีถึง 150 เท่า การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลก็ไม่ดีไปกว่า ปลาแซลมอนเลี้ยงน้ำหนักทุก 1 ปอนด์ ต้องกินปลาที่จับมาจากทะเลถึง 3 ปอนด์ ลูกสัตว์ทะเลก็อยู่ในภาวะอันตราย ทั้งนี้เพราะระบบบริบาลตามธรรมชาติถูกทำลายลง


 


ในขณะที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสอนเรามากมายในห้องเรียนเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาและการเกื้อกูลชีวิตในธรรมชาติ แต่การปฏิบัติของมนุษย์ในโลกภายนอกกลับทำลายระบบที่โอบอุ้มมนุษย์เองอย่างไม่บันยะบันยัง


 


4


คนหิวโหยและไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา


 


จำนวนคนอดอยากและไร้ที่พำนักในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นในปี ค.ศ. 2005 แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเศรษฐกิจดีขึ้นก็ตาม รัฐบาลบุชจึงพยายามปกปิดข้อเท็จจริงนี้ ด้วยการวางแผนจะยกเลิก "การสำรวจรายได้และการเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์" (Survey of Income and Program Participation) ของสำนักสำมะโนประชากร โดยอ้างว่าการสำรวจนี้ใช้งบประมาณมากเกินไป


 


กระนั้นก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ทั่วประเทศถึง 415 คน ยื่นจดหมายถึงสภาคองเกรสคัดค้านการยกเลิกการสำรวจนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลบุชพยายามยกเลิกการสำรวจและการจัดทำสถิติที่ฟ้องถึงการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลบุชเคยพยายามยกเลิก "รายงานสถิติการเลิกจ้างคนงาน" และในปี ค.ศ. 2004-5 ก็พยายามไม่ให้มีการเก็บสถิติเกี่ยวกับการจ้างและการไล่คนงานผู้หญิงออก


 


5


คองโกกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อรับใช้ความไฮเทคของชาวโลก


 


โศกนาฏกรรมในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีประชากรตายไปแล้ว 6-7 ล้านคน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นมา เป็นผลจากการรุกรานและสงครามที่มหาอำนาจตะวันตกหนุนหลัง เพื่อเข้าไปควบคุมแร่อันมีค่ามหาศาลของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพชร, ดีบุก, ทองแดง, ทองคำ และที่สำคัญที่สุดคือ โคลแทน (coltan) และไนโอเบียม (niobium) สองแร่ธาตุที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคอื่นๆ และโคบอลท์ แร่ธาตุสำคัญในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์, เคมี, อวกาศและอาวุธ


 


โคลัมโบแทนทาไลท์ (Columbo-tantalite) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า โคลแทน มีอยู่ในผืนดินอายุเก่าแก่กว่าสามหมื่นล้านปีในเขตริฟท์แวลลีย์ของแอฟริกา แทนทาลัมที่สกัดมาจากแร่โคลแทนใช้ผลิตตัวเก็บประจุ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล็กจิ๋วที่จำเป็นอย่างยิ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 80% ของแหล่งแร่โคลแทนในโลกพบอยู่ในประเทศคองโก ส่วนแร่ไนโอเบียมก็เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคเช่นกัน


 


ความเฟื่องฟูของธุรกิจเครื่องใช้ไฮเทคในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาของโคลแทนพุ่งสูงขึ้นเกือบ 300 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ใน ค.ศ. 1996 กองกำลังทหารของประเทศรวันดาและอูกันดา ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง บุกเข้ามาในภาคตะวันออกของประเทศคองโก พอถึงปี ค.ศ. 1998 กองทัพของสองประเทศนี้ก็ยึดครองและควบคุมพื้นที่ทำเหมืองไว้ได้ ในระยะเวลาอันสั้น กองทัพรวันดากอบโกยเงินจากการทำเหมืองได้ถึงราว 20 ล้านเหรียญต่อเดือน แม้ว่าราคาของโคลแทนจะตกลงมาบ้างในระยะหลัง แต่รวันดายังคงผูกขาดการทำเหมืองและการค้าโคลแทนในคองโกเอาไว้ โดยมีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่การทำเหมืองออกมาเป็นระลอก


 


โคลแทนที่นำออกมาขายให้ผู้ซื้อต่างชาติส่วนใหญ่ขนส่งผ่านทางประเทศรวันดา ผู้รับซื้อโคลแทนจะสกัดมันเป็นผงแทนทาลัม แล้วขายผงวิเศษนี้ให้บริษัทโนเกีย, โมโตโรลา, คอมแพค, โซนี ฯลฯ เพื่อใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆ


 


การวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองในประเทศคองโก รวมทั้งเหตุผลที่ชาวคองโกต้องทนทุกข์ยากลำบากในสงครามที่ไม่รู้จักจบสิ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1996 จำต้องเข้าใจถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติที่พัวพันอยู่ในอาชญากรรมทั้งหมดนี้


 


กระบวนการทั้งหมดมีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในทุกระดับ นับตั้งแต่บรรษัทเหมืองแร่ Cabot Corp. และ OM Group ของสหรัฐอเมริกา, HC Starck ของเยอรมนี และ Nigncxia ของจีน การข่มขืน การสังหารหมู่และการติดสินบน เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้คอยหนุนหลัง กระนั้น ในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนกลับไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงบรรษัทเหมืองแร่ข้ามชาติเหล่านี้เลย


 


แซม บอดแมน ซีอีโอของคาบอท ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประธานาธิบดีบุชในเดือนธันวาคม 2004 ระหว่างที่บอดแมนเป็นซีอีโอ คาบอทเป็นบรรษัทที่สร้างมลภาวะมากที่สุดบรรษัทหนึ่งของสหรัฐฯ ส่วนรองประธานฝ่ายบริหารคนปัจจุบันของบรรษัทโซนีก็เคยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของบิล คลินตัน


 


ไม่น่าประหลาดใจที่โศกนาฏกรรมในคองโกย่อมไม่ช่วยส่งเสริมการขายให้แก่โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเพชร อันที่จริง โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องควรมีสติกเกอร์ติดไว้เขียนว่า: "คำเตือน! อุปกรณ์นี้ใช้แร่ธาตุจากแอฟริกากลาง แร่ธาตุเหล่านี้หายาก ใช้แล้วหมดไป เงินที่ได้จากการขายถูกนำไปใช้ในสงครามนองเลือดเพื่อการยึดครอง และทำให้สัตว์ป่าหายาก (ลิงกอริลลา) สูญพันธุ์ ขอให้ทุกท่านใช้อย่างมีความสุข" ผู้บริโภคต้องได้ข้อมูลข่าวสารเพื่อตระหนักว่า มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอุปกรณ์ไฮเทคที่ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายและทันสมัย กับความรุนแรง, กลียุคและการทำลายล้างที่สร้างความหายนะแก่โลกของเรา


 


6


การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานของตน ชักไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเสียแล้ว


 


ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "whistleblower" นั่นคือการคุ้มครองพนักงานหรือลูกจ้างในกิจการและหน่วยงานต่างๆ ที่ร้องเรียนเรื่องการประพฤติทุจริตในองค์กรของตนเอง กฎหมาย "whistleblower" นี้ยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่และข้าราชการในหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เปิดโปงการทุจริตในหน่วยงานที่ตนสังกัด โดยมี "สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษของสหรัฐอเมริกา" (U.S. Office of Special Counsel—OSC) ทำหน้าที่คุ้มครองและสอบสวนคดีที่ข้าราชการร้องเรียนเกี่ยวกับหน่วยงานของตนเอง


 


ทว่าตั้งแต่ประธานาธิบดีบุชแต่งตั้งนายสก๊อต บล็อช เป็นที่ปรึกษาพิเศษเพื่อกำกับดูแล OSC ในปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา มีการร้องเรียนเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นที่มีการส่งต่อให้สอบสวน ส่วนอีกกว่า 1,000 คดี ถูกพับเก็บไปโดยไม่เคยเปิดพิจารณาด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำ บล็อชยังตั้งกฎขึ้นมาใหม่ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้ร้องเรียน หากหลักฐานที่ยื่นประกอบไม่สมบูรณ์เพียงพอ ทำให้ผู้ร้องเรียนในหลายร้อยคดีไม่มีโอกาสแม้แต่ชี้แจงการร้องเรียนของตน


 


เรื่องที่น่าขันก็คือ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 เจ้าหน้าที่ประจำในหน่วยงาน OSC รวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของบล็อช ซึ่งเป็นเจ้านายของตนเอง เจ้าหน้าที่ในสังกัดของบล็อชกล่าวหาว่าเขาละเมิดกฎเกณฑ์ที่ตัวเองควรเป็นผู้รักษา บังคับเจ้าหน้าที่ให้ปิดบังความจริง ตั้งพวกพ้องเข้ามาทำงาน เลือกปฏิบัติ และกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เห็นด้วยกับตน จนมีเจ้าหน้าที่ลาออกไปถึงหนึ่งในห้า แต่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีที่รับคำร้องเรียนนี้ กลับดองเรื่องไว้หลายเดือนกว่าจะดำเนินการต่อ


 


คติสอนใจจากเรื่องนี้คือ "ใครจะเป็นคนเฝ้าสุนัขเฝ้าบ้าน?"


 


7


กองทัพสหรัฐฯ ทรมานนักโทษจนเสียชีวิตในอัฟกานิสถานและอิรัก


 


เอกสารการชันสูตรศพนักโทษของกองทัพสหรัฐฯ จำนวน 44 คนในอัฟกานิสถานและอิรักเมื่อเดือนตุลาคม 2005 มีนักโทษ 21 รายที่ระบุว่าถูกสังหารเสียชีวิต นักโทษเหล่านี้ตายระหว่างหรือหลังจากถูกทหารหรือหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ นำมาตัวมาสอบปากคำ การชันสูตรชี้ให้เห็นว่า มีการทรมานนักโทษอย่างรุนแรง


 


พลตรีเจนิส คาร์ปินสกี ผู้บัญชาการที่รับผิดชอบคุกคุมขัง 17 แห่งในอิรักระหว่างเหตุอื้อฉาวอาบูกราอิบในปี ค.ศ. 2003 ให้การเมื่อเดือนมกราคม 2006 ต่อหน้า "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อสืบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่รัฐบาลบุชเป็นผู้ก่อ" เมื่อถูกถามว่าความรับผิดชอบในการทรมานนักโทษนี้สามารถสาวไปถึงผู้สั่งการเบื้องบนได้ถึงระดับไหน คาร์ปินสกีตอบว่า "รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมย่อมไม่สามารถมอบอำนาจลงมาได้หากปราศจากความเห็นชอบของรองประธานาธิบดี"


 


ตามตัวบทกฎหมายของสหรัฐฯ นั้น ห้ามการทรมานอย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งในระหว่างสงครามก็ตาม


 


8


เพนตากอนได้รับการยกเว้นจากกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร


 


ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่รับรองให้ "เอกสารด้านยุทธการ" ของหน่วยงานข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) ซึ่งหมายความว่า ต่อจากนี้ไป เอกสารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน


 


กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารคือเครื่องมือที่กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนหรือบุคคลใดๆ ใช้เพื่อการเข้าถึงเอกสารของรัฐบาลกลาง กฎหมายนี้เองที่ช่วยเปิดโปงการทรมานนักโทษในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งรวมไปถึงเหตุอื้อฉาวที่อาบูกราอิบด้วย หากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถปกปิดเอกสารเหล่านี้ ย่อมหมายความว่า การทำร้ายนักโทษและพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จะมีมากขึ้นในอนาคต


 


9


ธนาคารโลกสนับสนุนทางการเงินแก่การสร้างกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์


 


ทั้งๆ ที่ศาลโลกมีมติออกมาในปี ค.ศ. 2004 เรียกร้องให้รื้อกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์และชดเชยค่าเสียหายให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แต่การก่อสร้างกำแพงกลับเร่งมือยิ่งขึ้น แนวกำแพงกั้นนี้รุกลึกเข้าไปในดินแดนของปาเลสไตน์ ช่วยให้อิสราเอลผนวกดินแดนไปเป็นของตนได้มากขึ้นและแบ่งแยกดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็นส่วนๆ


 


ในรายงานของธนาคารโลกที่ออกมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึง "การพัฒนาเศรษฐกิจ" ของปาเลสไตน์ โดยไม่เอ่ยถึงการสร้างกำแพงที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมกันนั้น ธนาคารโลกวางเค้าโครงนโยบาย "เขตการค้าเสรีตะวันออกกลาง" (Middle East Free Trade Area—MEFTA) ให้แก่ปาเลสไตน์ โดยธนาคารโลกเสนอให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออกและอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังยึดครองอิสราเอล เขตอุตสาหกรรมนี้จะก่อสร้างบนที่ดินรอบกำแพง ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกักขังอยู่หลังกำแพงและไร้ที่ดินทำกิน สามารถทำงานเพื่อรายได้ต่ำมายังชีพ


 


ธนาคารโลกยังเสนอให้สร้างประตูและด่านตรวจไฮเทคที่ควบคุมโดยกองทัพอิสราเอลตลอดแนวกำแพง เพื่อให้สามารถควบคุมชาวปาเลสไตน์และขนถ่ายสินค้าได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังมีระบบถนนกั้นกำแพงและอุโมงค์สำหรับให้คนงานชาวปาเลสไตน์เดินทางไปทำงานได้ แต่เดินทางไปที่อื่นไม่ได้ โรงงานนรกจะกลายเป็นช่องทางยังชีพที่ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจองจำอยู่ในชุมชนที่ถูกตัดขาดออกจากกันในเขตเวสต์แบงก์


 


ธนาคารโลกระบุชัดเจนว่า ค่าแรงในปัจจุบันของชาวปาเลสไตน์สูงเกินไปสำหรับภูมิภาคนี้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ค่าแรงของชาวปาเลสไตน์ต่ำกว่าค่าแรงเฉลี่ยในอิสราเอลถึงสามส่วนสี่ ดังนั้น นอกเหนือจากการถูกยึดครองและถูกบังคับขับไล่แล้ว ชาวปาเลสไตน์กำลังจะตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจอีกด้วย เขตอุตสาหกรรมนี้ย่อมเป็นผลประโยชน์ของอิสราเอลในการผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อส่งออก


 


ธนาคารโลกมีแผนที่จะให้ปาเลสไตน์กู้ยืมเงินเพื่อนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย MEFTA สาเหตุเบื้องหลังไม่ใช่เพราะความใจดีของธนาคารโลก แต่เป็นเพราะอิสราเอลไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารโลกเพราะมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงเกินไป นั่นหมายความว่า ชาวปาเลสไตน์จะต้องแบกหนี้เพื่อนำเงินมาสร้างด่านตรวจไฮเทคเพื่อกักขังตัวเอง ทั้งๆ ที่พวกเขาต่อต้านการสร้างกำแพงกั้นนี้ด้วยซ้ำ


 


นี่เป็นครั้งแรกที่ธนาคารโลกแสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าไปหนุนหลังอิสราเอลในการยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ อดีตประธานธนาคารโลกคนก่อนคือ นายเจมส์ วูล์ฟเฟนโซน เคยปฏิเสธโครงการนี้มาแล้ว แต่ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบันคือ นายพอล วูล์ฟโฟวิทซ์ ซึ่งมีแนวคิดอยู่ในสายอนุรักษ์นิยมใหม่ตกขอบ คงต้องการมีผลงานชิ้นโบดำระหว่างดำรงตำแหน่ง


 


ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลโลก และสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ในการก่อสร้างประตูตามแนวกำแพง โดยอ้างว่าเพื่อ "ช่วยตอบสนองความจำเป็นของชาวปาเลสไตน์" สหรัฐอเมริกากำลังผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับหลายประเทศในอาหรับ กระทั่งเจ้าชายซาอุด อัล-ไฟซาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย ก็เคยออกมาแสดงความวิตกในเรื่องนี้


 


10


การขยายสงครามทางอากาศในอิรักสังหารชีวิตพลเรือนมากขึ้น


 


มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ประธานาธิบดีบุชอาจจะถอนกองทหารอเมริกันออกจากอิรักในปี ค.ศ. 2006 นี้ สืบเนื่องจากคะแนนนิยมที่ตกต่ำลงและความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในพรรครีพับลิกันของเขาเอง แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงในวงกว้างก็คือ การถอนทหารอเมริกันออกมาจะแทนที่ด้วยกำลังทางอากาศของกองทัพอเมริกัน


 


การสู้รบและยึดครองอิรักสร้างความอ่อนล้าในหมู่ทหารชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก แต่การใช้กำลังทางอากาศเข้าไปแทนที่ทหารราบก็ทำให้กองทัพไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน โดยเฉพาะนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพอากาศคัดค้านเรื่องนี้เสียงแข็ง ทั้งนี้เพราะเกรงจะตกเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันเองของฝ่ายต่างๆ ในอิรัก


 


อย่างไรก็ตาม สถิติจากศูนย์บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Central Command Air Forces—CENTAF) ชี้ให้เห็นปริมาณภารกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของกองกำลังทางอากาศ นอกจากนี้ อากาศยานของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังออกปฏิบัติภารกิจมากกว่า 21,000 ชั่วโมงและทิ้งระเบิดกว่า 26 ตันลงในเมืองฟัลลูจาห์เพียงเมืองเดียวในเดือนพฤศจิกายน 2004


 


ความหายนะที่เกิดจากกองกำลังทางอากาศของอเมริกันในขณะนี้ก็แย่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดลงในเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ยุทธวิธีที่ใช้ระเบิดหนักขนาด 500 และ 1,000 ปอนด์ ถล่มใส่เมืองเพื่อกำจัดกลุ่มนักรบต่อต้านสหรัฐฯ แค่หยิบมือหนึ่ง เป็นปฏิบัติการที่ใช้มานานแล้วในอิรัก The Lancet วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ประเมินไว้ในเดือนตุลาคม 2004 ว่า 85% ของคนที่ถูกฆ่าตายในอิรักเป็นฝีมือของกองกำลังผสมของสหรัฐฯ (ดู "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. 2547-48 อันดับที่ 2) และ 95% ของการถูกสังหารที่มีรายงานบันทึกไว้ เกิดมาจากปืนกลเฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธ และอาวุธทางอากาศอื่นๆ


 


The Lancet ประเมินว่า มีพลเรือนชาวอิรักเสียชีวิตไปในการยึดครองแล้วกว่า 300,000 คน นี่เป็นตัวเลขเมื่อเกือบสองปีก่อน และผู้ประเมินก็ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่ประเมินในขั้นต่ำมาก


 


จากการสำรวจพบว่า ชาวอิรักถึง 82% ต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง ไม่มีอะไรจะผลักดันให้ชาวอิรักเข้าร่วมขบวนการต่อต้านสหรัฐฯ ได้ดียิ่งไปกว่าการทิ้งระเบิดและขีปนาวุธที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ อีกหลายปีข้างหน้าเมื่อสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ ลืมตาตื่นขึ้นมาและยอมรับเสียทีว่า ชาวอิรักมีความรู้สึกต่อต้านชาวอเมริกันอย่างรุนแรง สื่อก็คงจะตั้งคำถามอย่างไร้เดียงสาอีกว่า "ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรานัก?" ยิ่งการยึดครองอิรักล้มเหลวมากเท่าไร สหรัฐฯ ก็จะยิ่งใช้กองกำลังทางอากาศมากขึ้น แล้วสงครามอิรักก็คงจบลงไม่ต่างจากสงครามเวียดนามอันน่าอัปยศในกาลก่อน


 



                                                                    (โปรดติดตามอ่านข่าวที่ 11-25 ตอนต่อไป)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net