บทความ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ : ธงชาติไทยสามผืนในกระแสโลกาภิวัฒน์

 

หมายเหตุ : บทความนี้ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนขึ้นก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และได้ใช้นำเสนอในงานมหกรรม ตุลาประชาธิปไตย ในวาระ 30 ปี 6 ตุลา ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 7 ตุลาคม 2549 บนเวทีเสวนา 'พัฒนาการสังคมไทยจากวิกฤต 6 ต.ค.19 จนถึงวิกฤตกุมภาพันธ์ 2549 สังคมไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง'

 

 
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
...............................................................................................
 
 
1.
การมาถึงของโลกาภิวัฒน์ยุคที่สอง
 
กระแสโลกาภิวัฒน์ ที่กำลังดำเนินไปทั่วโลกในปัจจุบัน คือการประสานเกี่ยวเนื่องกันของระบบเศรษฐกิจสังคมของนานาประเทศโดยอาศัยความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพลังหลัก ลดต้นทุนธุรกรรม การสื่อสารและการขนส่ง กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ เงินทุน ผู้คน และทรัพยากรระหว่างประเทศในจำนวนมหาศาลต่อวัน การขยายการแข่งขันทางธุรกิจที่ข้ามพ้นกำแพงรัฐชาติ การแพร่หลายของการผลิตแบบห่วงโซ่ข้ามชาติเมื่อสินค้าเพียงชิ้นเดียวมีส่วน ประกอบที่ผลิตในหลายประเทศต่าง ๆ การไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลและวัฒนธรรมที่รวดเร็ว การเผยแพร่ความเข้าใจระหว่างสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน รวมทั้งการแพร่ขยายของระบอบประชาธิปไตยไปในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ซึ่ง อดีตเคยเป็นระบอบเผด็จการในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
 
นี่ไม่ใช่ครั้ง แรกที่ระบบทุนนิยมโลกเข้าสู่ระยะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระดับสากล กระแสโลกาภิวัฒน์ยุคที่หนึ่งนั้นเกิดขึ้นในระหว่างทศวรรษ 1870 ถึงปี 1914 เป็นผลมาจากการปฏิวัติการสื่อสารและคมนาคม
 
ประการแรกคือ การใช้รถไฟเครื่องจักรไอน้ำและเรือกลไฟข้ามสมุทร ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้สินค้า เงินทุนและผู้คนสามารถเดินทางไปได้ระยะไกลในเวลาที่สั้นลงและค่าใช้จ่ายที่ ต่ำลง
 
ประการที่สองคือ การสร้างโครงข่ายระบบโทรเลขสากลที่ทำให้ข่าวสารข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกรรมการ ค้าสามารถไหลเวียนข้ามประเทศได้อย่างรวดเร็วทันที นี่คือยุคที่ระบบทุนนิยมได้แผ่ขยาย ก้าวกระโดด และพัฒนาเป็นระบบโลกเป็นครั้งแรก โดยมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอังกฤษเป็นเสาหลักที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ตราคงที่ในมาตรฐานทองคำและนโยบายการค้าการลงทุนเสรี
 
โลกาภิวัฒน์ยุค ที่หนึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทุนนิยมเข้าสู่ระยะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ การกีดกันการค้า ระบอบเผด็จการ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประชากรหนึ่งในสามของโลกเข้าสู่ระบบสังคมนิยม ส่วนระบบทุนนิยมในยุโรปก็พัฒนาเป็นระบบทุนนิยมแห่งรัฐที่เรียกว่า "ระบบ เศรษฐกิจแบบผสม" ซึ่งรัฐเข้าควบคุมแทรกแซงระบบตลาดอย่างเหนียวแน่น เป็นระบบทุนนิยมสวัสดิการที่เน้นรัฐวิสาหกิจ หรือ "ระบบ ทุนนิยมที่ถูกกำกับโดยรัฐ" ในสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็เดินตามแนวทางสังคมนิยมหรือทุนนิยมที่เน้นอุตสาหกรรม ทดแทนการนำเข้าและกีดกันการค้า กระทั่งทุนนิยมแห่งรัฐในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ทศวรรษ 1970 ตามมาด้วยวิกฤตหนี้ต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาในทศวรรษ 1980 ท้ายสุดคือการล่มสลายของระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกในปี 1989-91 จึงเป็นการเปิดฉากโลกาภิวัฒน์ยุคที่สองอย่างเต็มที่
 
การมาถึงของโลกา ภิวัฒน์ยุคที่สองกลายเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตนให้สอดรับและแสวงหาประโยชน์จากการแข่งขัน การไหลเวียนอย่างรวดเร็วของสินค้า เงินทุน ทรัพยากร มนุษย์ และข่าวสารข้อมูลในปริมาณมหาศาล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจให้สามารถเผชิญกับการแข่งขันข้าม ชาติ รวมทั้งดำเนินมาตรการลดผลกระทบทางลบของโลกาภิวัฒน์ โดยทั้งหมดเป็นการดำเนินนโยบายปฏิรูประบบตลาด ลดการแทรกแซงของรัฐ เสริมสร้างระบบตลาดและการแข่งขัน และการปฏิรูประบบสวัสดิการประกันสังคม ประเทศที่นำร่องการปฏิรูป เช่น นิวซีแลนด์ ชิลี เป็นต้น
 
แต่กรณีที่ กระตุ้นให้เกิดกระแสปฏิรูประบบตลาดทั่วทั้งยุโรปและทั่วโลกคือ การปฏิรูปเศรษฐกิจอังกฤษของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมที่นำโดยนายกรัฐมนตรีมา ร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ในช่วง 1979-1990 โดยมีธงนำคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน กระตุ้นการแข่งขัน และลดการแทรกแซงอุดหนุนของรัฐ ในขณะที่สหรัฐอเมริกานำโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนช่วง 1980-1988 ก็ดำเนินนโยบายลดการแทรกแซงควบคุมและอุดหนุนของรัฐในกิจการของเอกชน ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษและสหรัฐฯก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่เน้นการ แข่งขันมากขึ้น และพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ที่กำลังจะมาถึงในทศวรรษ 1990
 
การปฏิรูป เศรษฐกิจของอังกฤษและสหรัฐอเมริกากลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศทุนนิยมพัฒนา แล้วในยุโรปเร่งดำเนินการปฏิรูปไปในแนวทางเดียวกัน แต่ประเทศจำนวนมากมิได้มีการเตรียมตัวรับการมาถึงของโลกาภิวัฒน์ เมื่อระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการควบคุมแทรกแซงของรัฐ รัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ ธุรกิจเอกชนที่สมคบและแบ่งปันผลประโยชน์กับข้าราชการและนักการเมือง มีการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมและธุรกิจภายในประเทศอย่างแน่นหนา เป็นธุรกิจผูกขาดที่ปลอดพ้นจากการแข่งขันมายาวนานหลายสิบปี เมื่อเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์ การแข่งขันจากต่างประเทศ และเงินทุนไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว ระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ก็เผชิญวิกฤตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งกู้ยืมหนี้สินต่างประเทศล้นพ้นตัว ธุรกิจล้มละลาย ลูกหนี้เสียในระบบธนาคาร หนี้สาธารณะท่วมท้น เป็นต้น เช่น เม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา โบลิเวีย เปรู ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศไทย เป็นต้น
 
2.
วิกฤตเศรษฐกิจไทย 2540 กับรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง
 
หลังการต่อสู้ ครั้งใหญ่ของนิสิตนักศึกษาและประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วง 2516-2519 เศรษฐกิจ การเมืองไทยยุค 2520-2534 ก็เข้าสู่ระยะ "ระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้น" และ "ทุนนิยมขุนนาง" ซึ่งก็คือ ในทางการเมือง อำนาจรัฐยังคงอยู่ในมือของชนชั้นขุนนางจำนวนน้อยที่สืบทอดอำนาจผ่านสถาบัน ประเพณีและระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพ แต่ก็ให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง และมีสภาผู้แทนราษฎร ทว่าสถาบันเลือกตั้งเหล่านี้มีบทบาทจำกัดภายในกรอบอำนาจของชนชั้นขุนนางผ่าน วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ระบบราชการ กองทัพ และอำนาจนอกระบบที่คอยกำกับ ประกอบกับลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กที่อ่อนแอ ไม่มีนโยบายการเมือง ถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนภูธรและอยู่ภายใต้การบงการของชนชั้นขุนนาง
 
ในทางเศรษฐกิจ ก็เป็นทุนนิยมล้าหลัง ระบบเศรษฐกิจถูกครอบงำด้วยทุนขุนนาง เต็มไปด้วยการผูกขาดตัดตอน ข้าราชการและนักการเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจเอกชนผ่านการเลือก บังคับใช้กฎหมาย โครงการของรัฐ สัมปทาน และรัฐวิสาหกิจ ในด้านต่างประเทศ ก็ดำเนินนโยบายจำกัดการแข่งขันจากต่างประเทศด้วยมาตรการกีดกันการค้า กำแพงภาษี ปกป้องคุ้มครองธุรกิจใหญ่ของทุนขุนนางภายในประเทศให้ปลอดพ้นจากการแข่งขันใน ระดับสากล ในขณะที่สาขาธุรกิจสมัยใหม่ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้า อาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม สารสนเทศ เป็นต้น ก็มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ สนองความต้องการทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออกในต่างประเทศ
 
การขยายตัวของภาค เศรษฐกิจใหม่นำมาซึ่งการพัฒนาเติบโตของกลุ่มทุนใหม่ที่ค่อย ๆ เข้มแข็งขึ้นในทางเศรษฐกิจ และเริ่มเรียกร้องอำนาจทางการเมือง กลุ่มทุนใหม่มีทวิลักษณะคือ ด้านหนึ่งก็เติบโตขึ้นมาในสภาวะของทุนนิยมขุนนาง พวกเขาสมยอมกับชนชั้นขุนนาง ผ่านการประกอบธุรกิจและสะสมทุนด้วยวิธีการประนีประนอม ผูกขาด สัมปทาน และแบ่งปันผลประโยชน์กับชนชั้นขุนนางและกลุ่มทุนเก่า แต่อีกด้านหนึ่ง พวกเขาอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับสูง มีความเกี่ยวพันกับทุนต่างชาติในเศรษฐกิจไทย ผูกพันกับการไหลเวียนของทุนและสินค้าระหว่างประเทศ มีผลประโยชน์อย่างใกล้ชิดกับการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างลึกซึ้ง มีความเข้าใจถึงจุดอ่อนและปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในกระแสทุน นิยมใหม่ของโลก
 
เหตุการณ์เดือน พฤษภาคม 2535 เป็นการปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างชนชั้นขุนนางที่กุมอำนาจในกองทัพ กับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งมีผลเป็นความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ของชนชั้นขุนนางและอำนาจกองทัพ ทำให้พวกเขาจำต้องถอยออกไปจากการใช้อำนาจรัฐโดยตรง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขจัดช่องทางการแทรกแซงและใช้อำนาจของชนชั้นขุนนางในระบบประชาธิปไตยแบบ รัฐสภา บั่นทอนอำนาจของชนชั้นขุนนางอย่างมีนัยสำคัญ และเปิดทางในขั้นตอนแรกไปสู่การปฏิรูปการเมืองเพื่อนำมาซึ่งประชาธิปไตย
 
ระบบเศรษฐกิจไทย ที่เป็นทุนนิยมขุนนาง ไม่เคยมีการปรับโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญมาตลอด 40 ปี ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถต่อสู้แข่งขันและแสวงหาประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ได้ ประกอบกับความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายอัตราแลก เปลี่ยน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค และนโยบายวิเทศธนกิจในช่วง 2532-2536 กระแสเงินทุน ระยะสั้นไหลบ่าเข้าสู่เศรษฐกิจไทยที่ยังเต็มไปด้วยระบบผูกขาด วิสาหกิจล้าสมัยขาดประสิทธิภาพ ระบบราชการและการเมืองที่ทุจริต เป็นผลให้แทนที่เงินทุนจะถูกใช้ไปในการปรับโครงสร้าง วางรากฐานเศรษฐกิจ ยกระดับเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของระบบ ปรับตัวเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์ เงินทุนเหล่านั้นกลับถูกใช้ไปในการเก็งกำไรหุ้นและอสังหาริมทรัพย์และการ ทุจริตในภาคธุรกิจ นำมาซึ่งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งที่รุนแรงที่สุด
 
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แสดง ให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยยังคงล้าหลังและอ่อนแออย่างยิ่งในการเผชิญกับกระแส โลกาภิวัฒน์ และเป็นการเปิดโปงให้เห็นถึงความผิดพลาดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบอบอำนาจ นิยมแฝงเร้นที่เป็นพันธมิตรของชนชั้นขุนนาง กลุ่มทุนขุนนาง และทุนภูธรในการปกครองบริหารประเทศ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อจำกัดอำนาจชน ชั้นขุนนางและนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของปวงชน
 
รัฐธรรมนูญปี 2540 ก้าว หน้าไปอย่างสำคัญด้วยการขยายขอบข่ายสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปอย่างกว้าง ขวาง กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐที่เป็นเศรษฐกิจแบบเสรีที่อาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ให้รัฐมีหน้าที่ให้บริการการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการประชาชน กระจายอำนาจ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดช่องทางให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม มีกลไกการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสาม มีองค์กรอิสระและกระบวนการตรวจสอบองค์กรและนักการเมืองอย่างกว้างขวาง ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่ยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นสูงสุดมีความชัดเจนเป็น รูปธรรม ประชาชนมีการตื่นตัวในสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ และความสำคัญของการปกครองด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทย และเป็นก้าวแรกไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
 
3.
การต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทาง     
 
วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้ เปลี่ยนดุลอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มทุนเก่ากับกลุ่มทุนใหม่อย่างสำคัญ เมื่อกลุ่มทุนเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารพาณิชย์ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มทุนใหม่ได้รับความเสียหายน้อยกว่ามาก ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการเมืองด้วย การให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีวินัยพรรคสูง สามารถกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองและกลุ่มการเมืองในพรรคได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ทำให้รัฐสภามีเสถียรภาพและรัฐบาลมีความมั่นคง นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอาจมีดุลอำนาจเหนือชนชั้นขุนนางได้เป็น ครั้งแรก สามารถดำเนินนโยบายบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระจากชนชั้น ขุนนาง เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนได้เข้าสู่อำนาจผ่าน การเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 จัดตั้งรัฐบาลที่เข้ม แข็ง แล้วนำนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเข้ามาบริหารประเทศ กำกับให้ระบบราชการดำเนินตามมาตรการของพรรคไทยรักไทย ผลักไสชนชั้นขุนนางให้ถอยออกไป
 
นโยบายปฏิรูป เศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยมีสองด้านคือ ด้านหนึ่ง ดำเนินมาตรการประชานิยมที่แจกจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนชั้นล่างทั้งใน เมืองและชนบท เช่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน โครงการสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ธนาคารประชาชน ปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล ทุนการศึกษาจากกองทุนหวยบนดิน การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีผลสะเทือนทางการเมืองอย่างถึงราก บั่นทอนความสัมพันธ์เชิงพึ่งพาที่ประชาชนชั้นล่างมีมายาวนานต่อนักการเมือง ท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพล และทุนภูธร ทำให้ประชาชนชั้นล่างเข้าใจได้เป็นครั้งแรกว่า ประชาธิปไตยอาจให้ประโยชน์แก่พวกเขาได้จริง ผลก็คือ ชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทได้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองอย่างไม่เคยเป็น มาก่อนและกลายเป็นฐานพลังที่เข้มแข็งและสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย
 
ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มทุนใหม่ที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนก็ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ มุ่งผลักดันให้ระบบทุนนิยมไทยก้าวเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มที่ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดเสรีการค้าและการลงทุน จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทยอยลดอัตราภาษีศุลกากร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ปฏิรูปกฎหมายและระบบราชการ ปฏิรูปการศึกษา และลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งระบบ เป็นต้น ให้เศรษฐกิจไทยมีการปฏิรูปโครงสร้าง ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ในระบบโลกาภิวัฒน์ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการไหลเวียนของสินค้าและเงินทุนจำนวนมหาศาล
 
นโยบายดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนดุลทางชนชั้นครั้งใหญ่ ชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทเกิดการตื่นตัวทางการเมืองที่สนับสนุน ประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน ในขณะที่กลุ่มทุนใหม่ที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ บงการแนวนโยบายแห่งรัฐและบั่นทอนอำนาจของชนชั้นขุนนางลงเรื่อย ๆ ส่วนในทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุนใหม่ก็เติบโตเข้มแข็ง ยึดโยงกับระบบทุนนิยมโลกอย่างเหนียวแน่น มีพลังทั้งเงินทุน เทคโนโลยีใหม่ ขณะที่นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์กลับทำให้กลุ่มทุนเก่าซึ่งบอบช้ำ อย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ต้องสูญเสียประโยชน์ ถูกบั่นทอนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองลงเรื่อย ๆ จากกลุ่มทุนใหม่และทุนสากล
 
นโยบายปฏิรูปของ รัฐบาลไทยรักไทยยังทำให้ปัญญาชนชั้นกลางในเมืองส่วนหนึ่งไม่พอใจ ประกอบด้วย ข้าราชการ นักวิชาการ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ราษฎรอาวุโส นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นอนุรักษ์นิยมและปฏิเสธโลกาภิวัฒน์ พวกเขาคัดค้านนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมของรัฐบาลไทยรักไทยและตระหนักว่า ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองทำให้สถานะอภิสิทธิ์ชน ในสังคมและอำนาจต่อรองทางการเมืองของพวกตนถูกบั่นทอน พวกเขาริษยานโยบายประชานิยม เกลียดชังการโอนย้ายทรัพยากรและงบประมาณจากส่วนกลางไปยังประชาชนชั้นล่าง ทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ
 
พันธมิตรอำนาจ นิยมจึงได้ก่อตัวขึ้น เป็นแนวร่วมของชนชั้นขุนนาง กลุ่มทุนเก่า และปัญญาชนชั้นกลางบางส่วนในเมือง เพื่อล้มการเลือกตั้ง โค่นล้มผู้นำรัฐบาลไทยรักไทย ฉีกรัฐธรรมนูญ จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขดุลอำนาจให้กลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้นซึ่งชนชั้นขุนนางและกลุ่ม ทุนขุนนางกุมอำนาจรัฐ มีพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และรัฐสภา แต่รัฐบาลอ่อนแอ ถูกควบคุมด้วยอำนาจของชนชั้นขุนนางในราชการ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ก็ยุตินโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ยึดโยงให้เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระบบทุนนิยมขุนนางล้าหลังต่อไป แนวร่วมชนชั้นขุนนาง-ทุนเก่า-ปัญญาชนชั้นกลางบางส่วน จึงเป็นปฏิกิริยาและถอยหลังเข้าคลอง ความเป็นขวาจัดของพวกเขายังแสดงออกผ่านวิธีการทางการเมืองที่ใช้สถาบันจารีต ประเพณีเป็นเครื่องมือ ใส่ร้ายป้ายสี กุข่าวสร้างเรื่องเท็จอย่างต่อเนื่อง ปลุกปั่นอารมณ์ความเกลียดชังอย่างสุดขั้ว ยั่วยุให้เกิดการปะทะนองเลือดและความรุนแรงระหว่างกลุ่มมวลชน กระทั่งเรียกร้องให้มีการยึดอำนาจรัฐประหาร ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นวิธีการเดียวกับพวกขวาจัด 6 ตุลาคม 2519
 
ในด้านเศรษฐกิจ กลุ่มทุนใหม่และพรรคไทยรักไทยอันเป็นตัวแทนยังคงยึดโยงอยู่กับเครือข่ายทุน ขุนนางและมีการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับอำนาจทางการเมือง จึงกลายเป็นจุดอ่อนทางการเมืองในการต่อสู้กับพันธมิตรอำนาจนิยม แต่ในด้านการเมือง พวกเขาอิงฐานพลังและความตื่นตัวทางการเมืองประชาธิปไตยของชนชั้นล่างในเมือง และชนบท พวกเขาเป็นผู้ได้รับประโยชน์ทางการเมืองโดยตรงจากระบอบประชาธิปไตย พวกเขาจึงต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อผลประโยชน์ตน อีกทั้งพวกเขามีแนวนโยบายชัดเจนในการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นการพัฒนาเติบโต ส่งเสริมระบบตลาด มีการแข่งขัน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเน้นประสิทธิภาพและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเกื้อหนุนต่อการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
 
เศรษฐกิจการเมือง ไทยปัจจุบันจึงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างพันธมิตรอำนาจนิยมของชนชั้นขุน นาง กลุ่มทุนขุนนาง และปัญญาชนชั้นกลางบางส่วนในเมืองด้านหนึ่ง กับกลุ่มทุนใหม่ที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนและมีฐานพลังการเมืองที่ชนชั้น ล่างในเมืองและชนบท อีกทั้งยังเป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างระบอบอำนาจนิยมกับระบอบประชาธิปไตย ระหว่างระบบทุนนิยมขุนนางกับระบบทุนนิยมปฏิรูปโลกาภิวัฒน์
 
4.
ชูธงชาติไทยสามผืนไปสู่ประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์
 
ในยามนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องชูธงชาติไทยสามผืน และโบกสะบัดให้สูงเด่นคือ ธงประชาธิปไตย ธงโลกาภิวัฒน์ และธงความเป็นธรรมทางสังคม ธงสามผืนนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เกื้อกูลสนับสนุนและเป็นเงื่อนไขให้แก่กัน เพราะไม่อาจมีประชาธิปไตยถ้าไม่มีโลกาภิวัฒน์ และไม่อาจมีโลกาภิวัฒน์ถ้าไม่มีประชาธิปไตย แต่ทว่า ทั้งประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและก่อเป็นดอก ผลแห่งการพัฒนาก้าวหน้าที่ยั่งยืนได้นั้น ก็จะต้องสามารถสนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของประชาชนได้ สามารถแจกจ่ายประโยชน์ของประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์ไปในหมู่ประชาชนอย่าง ทั่วถึงและเป็นธรรมได้
 
ธงประชาธิปไตยหมายถึง การต่อสู้ปกป้องระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเอาไว้ให้ได้ ต้านทานการเคลื่อนไหวที่มุ่งทำลายประชาธิปไตยและฟื้นระบอบอำนาจนิยม ธงประชาธิปไตยประกอบไปด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปรับปรุงรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อเพิ่มมาตรการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ระบอบประชาธิปไตย
 
·         พิทักษ์รัฐ ธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง 2540
·         ปรับปรุงรัฐ ธรรมนูญ ขจัดข้อจำกัดการมีส่วนร่วมกิจกรรมการเมืองของประชาชนบางประการ เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีวุฒิอย่างต่ำปริญญาตรี เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียวต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยร้อย ละ 20 ของผู้มาใช้สิทธิ์ เป็นต้น
·         ปรับปรุงขั้นตอน วิธีการเข้ามีส่วนร่วมเสนอกฎหมายหรือตรวจสอบโดยประชาชนให้ง่ายและตรงไปตรงมา มากขึ้น เช่น การเข้าชื่อกันเสนอและแก้ไขกฎหมายหรือถอดถอนนักการเมือง การลงประชามติ เป็นต้น
·         เสริมสร้างกลไก การถ่วงดุลและตรวจสอบองค์กรของรัฐและพฤติกรรมนักการเมืองให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น เช่น ขั้นตอนวิธีการคัดสรรบุคคลเข้าสู่องค์กรอิสระต่าง ๆ
·         คัดค้านการแก้ไข รัฐธรรมนูญที่มีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง ที่จะทำให้พรรคการเมืองนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลอ่อนแอ ตกเป็นเป้ากดดันของกลุ่มการเมืองได้โดยง่าย เช่น การยกเลิกข้อกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างน้อย 90 วัน ก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้ง การลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อกันให้มีการอภิปรายนายกรัฐมนตรี การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ เป็นต้น
 
ธงโลกาภิวัฒน์ คือ การดำเนินนโยบายและมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ชดเชยจุดอ่อนและความเปราะบางในบางสาขาการผลิต สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพและก่อ ประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยั่งยืน หลีกเลี่ยงผลกระทบที่บั่นทอนเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและแสวงผลประโยชน์ของประเทศไทยในเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วยมาตรการปฏิรูปดังนี้
 
·            การเปิดเสรีการ ค้า
o      ทยอยลดอัตราภาษี ศุลกากร ลดการบิดเบือนของอัตราการปกป้องด้วยภาษีศุลกากรที่มีต่อสินค้าขั้นปฐม ขั้นกลาง และขั้นปลาย
o      ปฏิรูปขั้นตอน และกฎระเบียบการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้ง่ายขึ้น รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ลดการใช้อำนาจในทางมิชอบและทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ
o      จัดทำและพัฒนา มาตรฐานสินค้าและมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อควบคุมสินค้าเข้าที่อาจก่อให้เกิด ปัญหากับผู้ใช้หรือผู้บริโภค ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกการตรวจสอบชนิดและมาตรฐานของสินค้า เข้าและออก
 
·            การเปิดเสรีการ ลงทุนและภาคบริการ
o      ลดอุปสรรคและข้อ จำกัดในการเข้ามาประกอบธุรกิจของทุนต่างชาติในสาขาเศรษฐกิจไทยที่มีความ พร้อม
o      ดำเนินมาตรการ และจัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อพัฒนาส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับสาขาเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมที่เปิดรับการลงทุน และการแข่งขัน
o      ให้มีมาตรการและ กองทุนชดเชยให้กับสาขาเศรษฐกิจและธุรกิจที่อ่อนแอ ไม่สามารถแข่งขันได้ และต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการประกอบธุรกิจ
o      ปฏิรูปกฎหมาย เศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนให้โปร่งใส ลดข้อจำกัดการนำเงินทุนเข้าและออกในกรณีประกอบธุรกิจปกติและในภาวะเศรษฐกิจ ที่มีเสถียรภาพ
 
·            การเปิดเสรีทาง การเงิน
o      ลดอุปสรรคและข้อ จำกัดของการเข้ามาแข่งขันให้บริการของสถาบันการเงินต่างประเทศให้มี การแข่งขันและการปฏิบัติต่อสถาบันการเงินต่างประเทศและสถาบันการเงิน ไทยอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเพิ่มทางเลือกให้กับธุรกิจในการแสวงหา แหล่งและรูปแบบเงินกู้ ขยายทางเลือกให้กับประชาชนในแหล่งและรูปแบบการออมเงินเพื่อผลตอบแทนสูงสุด ด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม
o      เพิ่มความโปร่ง ใสในการบริหารจัดการเงินทุนและความเสี่ยงโดยสถาบันการเงินให้สุจริตและตรวจ สอบได้
o      ปฏิรูปบทบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทยจากองค์กรที่ทั้งรับผิดชอบเศรษฐกิจมหภาคและกำกับดูแล สถาบันการเงินด้วยการควบคุมจำกัดจำนวน ชนิด ประเภทของบริการทางการเงินและสถาบันการเงิน ให้เป็นองค์กรที่รับผิดชอบเศรษฐกิจมหภาคเป็นสำคัญ จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่เน้นการวางกฎเกณฑ์มาตรฐาน และดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างชาติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
 
·       การเปิดเสรีโทร คมนาคม
o           ดำเนินการเปิด เสรีอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (2549-2551) ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) ที่ให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม โดยยังคงรักษาหลักการให้บริการทั่วถึง ปรับเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาตที่โปร่งใส ภายใต้การกำกับดูแลของ กทช.
 
·       การแปรรูปรัฐ วิสาหกิจ
o           ปฏิรูปโครงสร้าง รัฐวิสาหกิจในภาคสาธารณูปโภค แยกโครงสร้างพื้นฐานออกจากการขายบริการ ให้โครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงข่ายไฟฟ้าและเขื่อน โครงข่ายท่อประปา โครงข่ายโทรศัพท์ ยังคงอยู่ในความควบคุมของรัฐผ่านบริษัทจำกัดที่รัฐถือหุ้นส่วนข้างมาก ให้วิสาหกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเป็นบริษัทจำกัดแต่รัฐถือหุ้นส่วน ข้างมากเข้ามาแข่งขันกันให้บริการแก่ผู้ใช้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ภายใต้การกำกับดูแลด้านต้นทุน ราคา และคุณภาพโดยองค์กรกำกับดูแลกิจการสาธารณูปโภคอิสระของแต่ละสาขา
o           รัฐวิสาหกิจใน กิจการที่มิใช่สาธารณูปโภคและความมั่นคงของรัฐ หากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ยังมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้และเพื่อคงไว้ซึ่งการแข่ง ขัน ก็ให้แปรรูปเป็นบริษัทจำกัดที่รัฐถือหุ้นส่วนข้างมาก แล้วให้ทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐลงรัฐวิสาหกิจที่แข่งขันไม่ ได้ ขาดทุนเรื้อรัง ให้แปรรูปขายให้นักลงทุนเอกชนเข้ามาดำเนินงานแทนหรือให้ยุบเลิก
o           ให้รัฐมีมาตรการ และกองทุนชดเชยเพื่อช่วยเหลือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น การฝึกอบรมใหม่ การเปลี่ยนตำแหน่งงานในวิสาหกิจ การบรรจุงานใหม่ การเปลี่ยนกิจการ การปลดเกษียณก่อนเวลาพร้อมค่าชดเชย เป็นต้น
o           วิธีการแปรรูป และกระจายหุ้นให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยไม่เน้นแต่เพียงการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และเฉพาะผู้ลงทุนในตลาด หลักทรัพย์ แต่ให้กระจายหุ้นไปสู่มหาชนอย่างแท้จริง
 
·            การปฏิรูปกฎหมาย เศรษฐกิจและระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมการประกอบธุรกิจและการดำเนินชีวิตที่มีเสถียรภาพ ยึดหลักกฎหมาย ให้มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดจริงจัง ยกระดับระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ขยายการคุ้มครองประเภทของผลผลิตทางปัญญาตามการพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ ค้นคว้าและวิจัยของประเทศ และเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ รับการถ่ายทอด และต่อยอดการวิจัยเทคโนโลยีของต่างประเทศในประเทศไทย
 
ธงความเป็นธรรม ทางสังคม เน้นสร้างระบบประกันสังคม การแก้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้เพื่อให้ดอกผลของประชาธิปไตยและโลกา ภิวัฒน์กระจายไปสู่ประชาชนส่วนข้างมากของประเทศ ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมและลดความยากจน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์มีความชอบธรรม มั่นคงและยั่งยืน
 
·         พัฒนาและขยาย ระบบประกันสังคมแบบทั่วด้าน ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชยการว่างงานและชราภาพ โดยเน้นให้มีการออมโดยปัจเจกชนเป็นหลัก เสริมด้วยการสมทบจากรัฐในปริมาณที่เหมาะสม
·         ขยายและเสริม ความแข็งแกร่งให้กับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) ให้มีงบประมาณ จำนวนยาและบุคลากร ประเภทของโรค ชนิดของยาในบัญชียาหลัก เป็นต้น รวมทั้งขยายไปสู่สวัสดิการสาธารณสุขของแม่และเด็กเล็กถ้วนหน้า
·         ขยายและเสริม สร้างมาตรการแก้ไขความยากจนที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็ง เช่น พัฒนาให้กองทุนหมู่บ้านที่เข้มแข็งไปเป็นธนาคารหมู่บ้าน ตรวจสอบ แก้ไขปัญหาและปรับปรุงกองทุนหมู่บ้านที่อ่อนแอให้เข้มแข็ง เสริมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนาคุณภาพและหีบห่อ ส่งเสริมเครือข่ายการตลาดทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งหรือขยายกองทุนส่งเสริมสหกรณ์เกษตรที่มีอยู่เดิม ให้ฝึกบุคลากร การจัดการ และระบบบัญชีให้ทันสมัย
·         เพิ่มและพัฒนา มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ ได้แก่ ภาษีที่ดินที่มิได้ใช้ประโยชน์โดยเจ้าของและภาษีมรดก พัฒนาจากขอบเขตประเภทภาษีเล็กแคบไปสู่ขอบเขตประเภทภาษีกว้าง และจากอัตราภาษีต่ำค่อย ๆ ยกสูงขึ้น โดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเวลายาวนาน เพื่อลดผลกระทบและแรงเสียดทานทางการเมือง
·         ดำเนินการบังคับ ใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ส่งเสริมและใช้มาตรการจูงใจให้ธุรกิจและประชาชนเข้าร่วมคุ้มครองแรงงานและ สิ่งแวดล้อมโดยสมัครใจ ค่อย ๆ ยกระดับมาตรฐานกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากลเพื่อ ปรับปรุงยกระดับคุณภาพชีวิตในที่ทำงานและในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานและ ประชาชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยรวม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท