Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 


 


ชื่อของ Mukhtaran Bibi หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า Mukhtar Mai กลายเป็นที่กล่าวถึงในแวดวงสิทธิสตรีสากลอีกครั้งหนึ่ง เมื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "Shame" ที่ถ่ายทอดชีวิตจริงของเธอได้ออกฉายสู่สายตาสาธารณชนในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่แคนาดา เมื่อวันที่ 31 กันยายน 2549


 


เมื่อสารคดีเรื่องนี้จบลง ผู้ชมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฯ ต่างลุกขึ้นยืนปรบมือเป็นเวลายาวนานให้สิ่งที่เพิ่งได้รับรู้รับชมกันไป...  


 


เนื้อหาของ Shame บอกเล่าถึงรอยแผลในชีวิตที่มุกห์ตารันได้รับจากการถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกาย แต่สาระสำคัญอยู่ที่การรับมือและจัดการกับชีวิตของเธอหลังจากเหตุการณ์อันเลวร้ายมากกว่าการฟูมฟายถึงความเจ็บปวดที่มี


 


ในโลกยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทางเลือกของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนก็ยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะในบ้านเมืองที่มีกรอบความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณีอันเคร่งครัดสืบทอดกันมายาวนานอย่างประเทศ "ปากีสถาน"


 


หนทางที่หนึ่งซึ่งผู้หญิงปากีสถานโดยมากเลือกใช้ คือการทำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และบอกตัวเองว่านั่นคือ "ชะตากรรม" ของชีวิต จากนั้นก็ดำเนินกิจวัตรต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าบาดแผลทางกายและจิตใจที่ติดมากับเธอนั้นสาหัสสากรรจ์แค่ไหน


 


หนทางที่สอง คือ การหลบหนีไปจากความเป็นจริงอันโหดร้าย ซึ่งมีอีก 2 ข้อย่อยให้เลือกคือ การอพยพย้ายบ้านไปอยู่ในที่ไกลๆ จนไม่มีข่าวคราวหรือใครตามไปถึง และ "ความตาย"


 


เช่นเดียวกันกับ "มุกห์ตารัน บีบี" หรือ "มุกห์ตาร์ ไม" ที่ถูกตัดสินให้ผู้ชาย 14 คน ในหมู่บ้าน Merrwala ซึ่งเธออาศัยอยู่ "ข่มขืน" เพื่อเป็นการลงโทษแทนน้องชายของเธอที่ไปลวนลามหญิงสาวผู้มาจากตระกูลสูงกว่า และคนในชุมชนบางส่วนเห็นว่านั่นคือการรักษา "เกียรติยศ" ของครอบครัวตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกัน


 


นั่นคือธรรมเนียมที่ให้คุณค่ากับของเพศหญิง "ต่ำกว่า" เพศชาย และยังไม่หมดไปจากสังคมปิดหลายแห่ง


 


เมื่อต่อสู้กับการข่มขืนหมู่อย่างยิบตา มุกห์ตารันจึงถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงเพิ่มมาด้วย...


 


เหตุการณ์สะเทือนใจนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2545 หากมุกห์ตารันไม่เลือกวิธีใดๆ ที่ว่ามา แต่เธอเลือกที่จะตอบโต้ด้วยการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องใช้เวลาต่อสู้ในชั้นศาลนานถึง 2 ปี กว่าจะมีการตัดสินผู้กระทำความผิด


 


การแข็งขืนและลุกขึ้นต่อต้านค่านิยมของชุมชน ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดายนัก แต่การลงโทษที่เธอได้รับ เป็นเรื่องสะเทือนใจเกินกว่าที่ผู้หญิงในชุมชนจะยอมทนได้เช่นกัน เธอได้รับการสนับสนุนจากโต๊ะอิหม่ามและผู้หญิงบางกลุ่มในชุมชน แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับแรงต่อต้านและการคุกคามอย่างรุนแรงจากชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ไม่ต้องการให้วิธีลงโทษแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" (Zani) ถูกลิดรอนอำนาจลงไป


 


ในระหว่างที่การพิจารณาคดีในชั้นศาลดำเนินไปอย่างเชื่องช้า สื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงหน่วยงานที่ส่งเสริมสถานภาพสตรีซึ่งเป็นองค์กรสากลก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้มากเช่นกัน ด้วยการผลักดันเรื่องของมุกห์ตารันให้กลายเป็นที่สนใจในระดับโลก


 


การกดดันและเรียกร้องให้พิจารณาคดีของมุกห์ตารันจึงเป็นเรื่องของการเมืองด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับอยู่ดีว่าการลากเอาธรรมเนียมเก่าๆ มาสะสางใหม่ในชั้นศาล ช่วยสร้างความตื่นตัวทางด้านสิทธิมนุษยชนกับชาวปากีสถานเป็นจำนวนมาก


 


แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว ผู้กระทำความผิดทั้ง 14 คน จะรอดพ้นจากการตัดสินว่ามีความผิดไปได้ถึง 8 คน และอีก 6 คนที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตก็ได้รับการลดโทษเหลือแค่การจำคุกตลอดชีวิต แต่การต่อสู้ของมุกห์ตารันและผู้หญิงคนอื่นๆ ยังไม่จบแค่นี้แน่ๆ


 


กระบวนการถ่ายทอดภาพลงบนแผ่นฟิล์มจนกลายเป็นหนังสารคดีเรื่อง Shame จึงบอกเล่าความยากเย็นที่มุกห์ตารันต้องเผชิญ และเป็นการฉายทับซ้อนไปกับการต้อนรับจากนานาประเทศที่มอบรางวัลนักต่อสู้ให้แก่เธอเป็นมากมาย รวมทั้งเงินรางวัลอีกเป็นจำนวนไม่น้อย


 


Muhammad Naqvi ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้ใช้เวลาติดตามมุกห์ตารันอยู่นานเป็นปี และได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมสารคดีเรื่องนี้เห็นว่าการเผชิญหน้ากับปัญหาของเธอมีราคาที่ต้องจ่ายสูงเอาการ


 


เริ่มจากการถูกตัดช่องทางการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งลาย และคนที่ทำเช่นนั้นก็ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน แต่เป็นตำรวจในท้องถิ่นที่ไม่ต้องการให้เรื่องอื้อฉาวใหญ่โตเกินไปนัก เพราะการสูญเสียอำนาจควบคุม "ผู้หญิงในหมู่บ้าน" อาจเป็นรสชาติที่ขมปร่าเกินกว่าจะทนได้


 


และเธอยังต้องรับมือกับความไม่ไว้วางใจจากภาครัฐที่ไม่พอใจนักกับการเอาเรื่องวุ่นวายในประเทศออกสู่สายตาสาธารณชนที่จับตาดูความเคลื่อนไหวของปากีสถานอยู่เงียบๆ


 


นอกจากนี้มุกห์ตารันยังต้องจัดการกับชื่อเสียงที่มาพร้อมกับฐานะ "วีรสตรี" ผู้เปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมอีกประการหนึ่งด้วย


 


หากจะบอกว่าไม่หวั่นไหวอะไรกับสิ่งเหล่านี้ก็คงจะเป็นเรื่องเกินเลยไปหน่อย แต่ท้ายสุดก็ดูเหมือนว่าเธอสามารถจัดการกับมันได้ และใช้เวลาที่เหลือจากการพบสื่อและเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมาในหมู่บ้าน ให้เด็กหญิงและเด็กชายได้ร่ำเรียนเขียนอ่านกันต่อไป


 


เพราะมุกห์ตารันเชื่อว่าการจะ "ปลูกฝัง" สิ่งใหม่ๆ ต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่ช่วงวัยแรกของชีวิต เพื่อที่ว่า อย่างน้อยที่สุด เมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้โดยไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาหรือ "อำนาจเหนือหัว" ที่กดทับอยู่ คงจะมีโอกาสเติบโตและงอกงามขึ้นมาได้บ้าง...


 


อ่านบทสัมภาษณ์ มุกห์ตารัน บีบี เพิ่มเติมได้ที่: http://www.islamicamagazine.com/content/view/158/59/


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net