แรงงานเตรียมประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐ อาทิตย์นี้ เหตุบริษัทไม่ยอมจ่ายเงินชดเชย

พนักงานโรงงานจิน่า ฟอร์มบรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง นำชุดชั้นในมาผูกต่อกันเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร พร้อมกับชูป้ายประท้วงบนถนน บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการชุมนุมประท้วงการลอยแพและเบี้ยวค่าแรงของนายจ้าง เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ Thai Labour Campaign)

 

 

วานนี้ (6 ต.ค. 2549) สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า สหภาพแรงงานจิน่าสัมพันธ์เตรียมชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ในวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม นี้ โดยนางสาวดวงใจ เมืองทอง ประธานสหภาพแรงงานจิน่าสัมพันธ์ให้เหตุผลของการชุมนุมว่าเป็นเพราะพนักงานกว่า 1,400 คนถูกบริษัทเลิกจ้างและไม่มีความชัดเจนในเรื่องเงินค่าชดเชนการเลือกจ้างให้พนักงาน

 

แม้บริษัทแม่ในฮ่องกงจะมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารสหรัฐอเมริกา สาขาประเทศไทย แล้ว แต่ยังไม่มีการโอนเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง หรือ bank guarantee ที่จะเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจว่าลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชย และสิทธิประโยชน์ตามสภาพการจ้างอย่างครบถ้วน ด้วยเหตุนี้พวกตนจะชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นการฟ้องต่อผู้สั่งซื้อและผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ให้บอยคอตไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตจากบริษัทดังกล่าว

 

โดยนายสมศักดิ์ พลายอยู่วงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานจินาสัมพันธ์ ได้กล่าวว่า ที่จะชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐฯ นั้น เป็นเพราะลูกจ้างจำนวนมากเดือดร้อนและไม่มีทางออก แม้ไม่อยากชุมนุม หรือเคลื่อนไหวในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ทั้งนี้นายสมศักดิ์ กล่าวว่าหวังว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของลูกจ้าง อีกทั้งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง และไม่มีเจตนาที่จะสร้างความเดือดร้อน เสียหายแต่อย่างใด

 

อนึ่ง หลังจากที่ได้มีการรัฐประหารในระยะแรก คณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือ คปค. ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 6 เรื่อง การแก้ไขความเดือดร้อนของบรรดาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่ วันที่ 20 กันยายน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คปค. ทราบว่า บรรดาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่ทั้งหลาย ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับปัญหาการครองชีพ ดังนั้น จะได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของบรรดาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่ทั้งหลาย โดยเร็วต่อไป

 

แต่เนื่องจากขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยของประเทศให้คืนสู่ภาวะปกติ จึงขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่ทั้งหลาย อยู่ในความสงบ อย่าได้เคลื่อนไหวเรียกร้องใดๆ ในขณะนี้ เพราะอาจจะเปิดโอกาสให้บุคคลผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองกระทำการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น และนอกจากนี้ก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 7 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง วันที่ 20 กันยายน โดยห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ซึ่งจนบัดนี้ แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. แล้ว แต่ประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คปค. ก็ยังไม่ถูกยกเลิก

 

สำหรับสหภาพแรงงานดังกล่าวได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิก่อนหน้านี้แล้ว นับตั้งแต่บริษัทดังกล่าวปิดกิจการในวันที่ 4 กันยายน 2549 โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2549 ประธานสหภาพแรงงานดังกล่าวและพนักงานกว่า 500 คน เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขอให้ช่วยแก้ปัญหาการปิดกิจการของบริษัทฯ ที่ไม่มีหลักประกันการเลิกจ้างให้กับพนักงานที่มีกว่า 1,600 คน และในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ย้ายเครื่องจักรผ้าไปยังประเทศจีน รวมทั้งได้ย้ายอุปกรณ์เครื่องจักรไปยังประเทศกัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับพนักงานที่ควบคุมเครื่องจักร เพราะไม่มีงานทำ แต่ทางบริษัทฯ ก็ยืนยันว่าจะจ่ายค่าแรงระหว่างรองานให้

 

ทั้งนี้ นางดวงใจ เมืองทองประธานสหภาพแรงงานจิน่าสัมพันธ์ ได้ขอเจรจากับทางบริษัท และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ ในขณะนั้นแล้วแต่ไม่เป็นผล จึงพากันมาทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเร่งแก้ปัญหาดังนี้

 

1.ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงว่า บริษัท จิน่าฯ ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยจริงหรือไม่ หรือเป็นการปิดโรงงานเพื่อทำลายสหภาพฯ 2.ให้บริษัท จิน่าฯ วางเงินมัดจำไว้ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นหลักประกันว่าลูกจ้างจะได้รับเงินตามสิทธิที่พึงได 3. ขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งระงับการขนย้ายเครื่องจักรออกจากประเทศไทย 4. ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับการเลิกจ้าง 5.ให้มีการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างของพนักงานให้มีขั้นตอนที่รวดเร็ว

 

ในการประท้วงในวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา พนักงานที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงได้นำชุดชั้นในมาผูกต่อกันเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร พร้อมกับชูป้ายประท้วงบนถนนบริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

 

สำหรับโรงงานจิน่า ฟอร์มบรา จำกัด ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 80/8 หมู่ 4 ซอยรามอินทรา 39 ถ.รามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ชัย เขตบางเขน กรุงเทพฯ มี นายเลา ไว ซิงแอนดี้ แดนดี้ ชาวฮ่องกง เป็นเจ้าของกิจการ โดยมีนางสาวแองเจลลา เลา เป็นประธานกรรมการ สำหรับโรงงานดังกล่าวผลิตสินค้าและตัดเย็บชุดชั้นในเพื่อส่งออก หลายยี่ห้อ อาทิ Victoria Secret, Calvin Klein, AB Lindex เป็นต้น โดยจดทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2528 และได้ปิดกิจการหลังจากย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน และกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท