สัมภาษณ์พิเศษ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ตอนที่ 1 : 30 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยแพ้แล้ว?

 

สัมภาษณ์โดย พิณผกา งามสม

 

 

ประชาไท สัมภาษณ์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์อีกครั้ง แม้ว่าบทสัมภาษณ์ของเขาเมื่อครั้งที่การชุมนุมต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ยังคึกคัก ยังอ่านได้ ด้วยว่าปัญหาเรื่องหลักการพื้นฐานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้เปลี่ยนทิศทางไปแต่อย่างใด กระนั้นภายหลังการรัฐประหาร ดูเหมือนว่าสังคมไทยได้ตอกย้ำคำอธิบายว่าด้วย "ฐานอำนาจที่ชอบธรรม" ของศิโรตม์อย่างหนักแน่นยิ่งขึ้นว่า สังคมไทยนั้นเผชิญปัญหาเรื่อง "ฐานอำนาจที่ชอบธรรม" ระหว่างฐานจากประชาธิปไตยกับฐานอำนาจอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด

 

อาจจะดูเหมือนเสียดเย้ยการครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่คำอธิบายจากบรรทัดนี้ไปอ้างอิงเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาโดยตลอด แต่เพราะเหตุการณ์ในอดีตคือหมุดหมายให้เกิดพลวัตรทางการเมืองสืบเนื่องมา มิได้มีไว้ให้โหยหาอาวรณ์เท่านั้น และที่สำคัญ มันได้ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างที่คุณไม่อาจไม่เรียนรู้

 

0 0 0

 

(1)

รัฐประหาร 2549 -โมเดลรัฐประหารแบบ 6 ตุลา

เริ่มด้วยการต่อสู้ทางอุดมการณ์จบด้วยการรัฐประหาร

 

 

 

การต่อสู้ทางอุดมการณ์คือพื้นฐานของการรัฐประหาร 2549 หรือ

แรงขับเคลื่อนพื้นฐานของรัฐประหารครั้งนี้ คือแรงขับเคลื่อนทางอุดมการณ์ อุดมการณ์ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายอย่างที่คนทั่วไปใช้ อุดมการณ์ไม่ได้หมายถึงความคิดเพื่อส่วนรวม หรือการมีอุดมคติที่ดีงามเพื่อสังคม

 

ในทางรัฐศาสตร์นั้น "อุดมการณ์" หมายถึงความคิดความเชื่อที่เป็นกรอบความคิดให้คนเราตัดสินการกระทำและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทำให้เราเห็นว่า การกระทำบางอย่างถูกต้อง, พฤติกรรมบางอย่างชอบธรรม, และมุมมองบางแบบคือมุมมองที่ถูกต้องกว่ามุมมองแบบอื่น ถึงขนาดที่เราไม่เคยฉุกคิดถึงที่มาที่ไปว่าอะไรทำให้เราตัดสินเรื่องต่างๆ ไปในลักษณะนั้น อุดมการณ์จึงเป็นในกรอบการมองโลกของเรา ซึ่งก็เท่ากับว่าอุดมการณ์ "จำกัด" ให้เราเห็นโลกแต่ในแง่มุมอย่างที่อุดมการณ์นั้นต้องการ

 

ตัวอย่างของอุดมการณ์ คือปัญหาเรื่องความสามัคคี คนไทยมักพูดว่า ความแตกสามัคคีเป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง แต่คำถามที่ไม่ค่อยมีใครคิดก็คือ แล้วการประกาศกฎอัยการศึก, ปิดหูปิดตา และปิดกั้นเสรีภาพประชาชน เป็นปัญหาของชาติบ้านเมืองด้วยหรือเปล่า ความสามัคคีเป็นปัญหาของชาติบ้านเมืองก็ต่อเมื่อเรายึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบที่ถือว่า "ชาติ" สำคัญที่สุด แต่ถ้าเราถือว่า "ประชาธิปไตย" เป็นเรื่องที่สำคัญแล้ว คนในชาติจะสามัคคีกันหรือไม่ ก็อาจไม่ใช่ปัญหาก็ได้

 

มีสังคมประชาธิปไตยไหนบ้างที่คนไม่แตกความสามัคคีกัน ในหลายต่อหลายสังคม คนในครอบครัวเดียวกันที่สนับสนุนพรรคการเมืองต่างกัน ก็แทบไม่คุยกันด้วยซ้ำ แต่เขาก็อยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้ามาล้มกระดานเพื่อบังคับให้คนทั้งหมดคิดและเชื่อเหมือนกัน

 

ในกรอบแบบนี้ การที่บอกว่าการเมืองไทยในปี 2549 ไม่มีทางออกอื่นนอกจากการรัฐประหาร ก็เป็นผลของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งด้วย เพราะว่าในความเป็นจริง เรามีทางออกอื่น แต่อุดมการณ์แบบนี้ทำให้คนมืดบอด มองไม่เห็นทางออกอื่น หลงเชื่อตามที่ผู้มีอำนาจบอกว่า ทางออกของบ้านเมืองมีอยู่แค่การยอมให้ทหารฉีกรัฐธรรมนูญและยึดครองประเทศได้ตามอำเภอใจ

 

รัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่นๆ ตรงไหน

รัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่น 2 ข้อ ข้อแรก รัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารที่ชัยชนะในการยึดอำนาจไม่ได้ชี้ขาดด้วยการเคลื่อนกำลังทหารล้วนๆ แต่ชี้ขาดด้วยการครอบงำทางอุดมการณ์ ข้อสอง รัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อทหารหรือผู้มีอำนาจในกองทัพ จึงเป็นรัฐประหารโดยทหาร แต่ไม่ใช่รัฐประหารเพื่อทหารเอง

 

ขอเริ่มต้นที่เรื่องการครอบงำทางอุดมการณ์ก่อน

 

ถ้าเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย รัฐประหารหลายครั้งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีกับกองทัพ เช่นรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ปี 2534, รัฐประหารบางครั้งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้นำกองทัพด้วยกัน เช่นรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2500, หรือรัฐประหารบางกรณีก็ไม่ได้มีเหตุอะไรเลย นอกจากตัวผู้รัฐประหารนึกอยากรัฐประหารขึ้นมาเอง เช่น กรณีจอมพลถนอมรัฐประหารตัวเองในปี 2514 ขณะที่รัฐประหารในปี 2549 เป็นรัฐประหารที่อิงกับอุดมการณ์หลักของชาติ นั่นก็คือเป็นรัฐประหารที่ความคิดความเชื่อเรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

ขณะที่รัฐประหารส่วนใหญ่มีแบบแผนและสูตรสำเร็จคล้ายคลึงกัน เริ่มต้นจากการสะสมกำลังพลและกำลังรบฝ่ายตัวเองให้มากที่สุด จากนั้นก็ชิงเคลื่อนกำลังอย่างรวดเร็ว ใช้กองทัพยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ให้ได้มากที่สุด แล้วจึงก่อการยึดอำนาจในขณะที่ผู้นำรัฐบาลยังไม่ทันตั้งตัว จนพูดได้ว่าเป็น "รัฐประหารเชิงการทหาร" ล้วนๆ รัฐประหารในปี 2549 กลับเป็นรัฐประหารที่เริ่มต้นด้วย "รัฐประหารทางอุดมการณ์"

 

รัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในปี 2534 เป็นตัวอย่างของรัฐประหารเชิงการทหาร เพราะสิ่งที่ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ทำในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ก็คือการชิงจับตัวนายกรัฐมนตรีชาติชาย ขณะที่กำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเข้าเฝ้าในหลวงที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครคิดว่าทหารจะทำแบบนี้ในเวลานั้น ทำให้คณะรัฐประหารของ พล.อ.สุนทร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย

 

รัฐประหารในปี 2549 เป็นเรื่องของการชิงเคลื่อนกำลังทหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงๆ ในคืนวันที่ 19 กันยายน ได้มีการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์เพื่อปูทางให้การรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง รัฐประหาร 2549 จึงมีมิติทางอุดมการณ์มาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ทำให้รัฐประหารครั้งนี้คล้ายคลึงกับรัฐประหารที่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพราะต่างก็เป็นการรัฐประหารที่ผู้ก่อการอ้างว่าทำเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และก็ใช้ข้ออ้างนี้ไปล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบบรัฐสภาเหมือนๆ กัน

 

ขณะที่ทหารในการรัฐประหารครั้งอื่นๆ ทำการยึดอำนาจและล้มรัฐบาลเพื่อตัวเอง รัฐประหารในกรณี 6 ตุลาคม 2519 และ 19 กันยายน 2549 กลับเป็นรัฐประหารที่ไม่ได้ทำเพื่อกองทัพเองล้วนๆ แต่ทำเพื่อสถาบันบางอย่างที่อยู่นอกกองทัพออกไป

 

พูดอีกแบบก็ได้ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน เป็นรัฐประหารโดยกองทัพ แต่ไม่ใช่รัฐประหารของกองทัพ และยิ่งไม่ใช่รัฐประหารเพื่อกองทัพเอง

 

ถ้าเข้าใจลักษณะเฉพาะของการรัฐประหารครั้งนี้ ก็จะเข้าใจต่อไปว่า ประเด็นสำคัญทางการเมืองในช่วงหลังจากนี้ ไม่ได้อยู่ที่คณะปฏิรูปการปกครองจะสืบทอดอำนาจหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ทหารจะแทรกแซงการเมืองไปอีกนานแค่ไหน แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือคนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารครั้งนี้ กำลังจะเข้ามาออกแบบกติกาของบ้านเมืองให้เป็นอย่างที่ตัวเองได้ประโยชน์ที่สุด

 

แน่นอนว่าไม่มีสังคมประชาธิปไตยที่ไหนที่อนุญาตให้ทหารแทรกแซงการเมืองได้ตามอำเภอใจ แต่รัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้มีความมุ่งหมายแค่นี้ หากมีความมุ่งหมายหลักอยู่ที่การออกแบบสถาบันการเมืองการปกครองเพื่อเป้าหมายบางอย่างในระยะยาว

 

ในแง่นี้ รัฐประหารปี 2549 เป็นรัฐประหารที่ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ขั้นตอนแรกคือการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อครอบงำความคิดของผู้คนในสังคม ขั้นตอนที่สองคือการต่อสู้ทางการเมือง ขั้นตอนที่สามคือการชิงยึดอำนาจทางการทหาร และขั้นตอนที่สี่ คือการยึดอำนาจรัฐและออกแบบกติกาบ้านเมืองให้เป็นอย่างที่ตนเองต้องการ

 

ถ้าเราเข้าใจรัฐประหารครั้งนี้ว่ามันเป็นการรัฐประหารที่มี 4 มิติซ้อนกัน เราก็จะเข้าใจว่าทำไมถึงปรากฏภาพที่มีคนจำนวนมากออกไปถ่ายรูปคู่กับรถถัง เอาดอกไม้ไปให้ทหาร เพราะคนจำนวนมากไม่ได้เห็นทหารในฐานะรั้วของชาติ ไม่ได้เห็นรถถังในฐานะอาวุธในการทำลายชีวิต แต่เขาเห็นว่าทหารและรถถังคือผู้ที่มากอบกู้ชาติบ้านเมืองซึ่งกำลังล่มสลายจากการคุกคามของศัตรูที่แสนจะร้ายกาจและอันตราย

 

ขบวนการสนธิทำให้คนไทยรู้สึกว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรูของสถาบันหลักของชาติ แบบเดียวกับที่คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูหลักต่อสถาบันหลักของชาติในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ที่ผมโยงไปที่เรื่อง 6 ตุลา เพราะว่าการรัฐประหารครั้งนี้มันเริ่มต้นจากการต่อสู้ทางความคิดก่อน เราอาจจะพูดได้ว่าเริ่มต้นจากการพิมพ์หนังสือเรื่อง "พระราชอำนาจ" โดยประมวล รุจนเสรี ที่บอกว่าในสังคมไทยนั้น พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์คือจุดเริ่มต้นของสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา คือจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และพระราชอำนาจ คืออำนาจที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย ไม่ใช่ฉันทานุมัติจากประชาชน

 

การอภิปรายเรื่องพระราชอำนาจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้นกำเนิดสำคัญของขบวนการสนธิ และขบวนการสนธิก็มีความสำคัญมากในการรัฐประหารครั้งนี้ เพราะขบวนการนี้สร้าง, เผยแพร่ และตอกย้ำข้อมูลข่าวสารบางแบบอยู่ตลอดเวลาว่า ปัญหาหลักของประเทศไทย คือการมีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ถ้าเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ความสำเร็จข้อหนึ่งของขบวนการสนธิก็คือ ทำให้คนไทยรู้สึกว่าทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรูของสถาบันหลักของชาติ แบบเดียวกับที่ขบวนการนักศึกษาและคอมมูนิสต์เป็นศัตรูต่อสถาบันหลักของชาติในเหตุการณ์ 6 ตุลา

 

เพราะฉะนั้น ขณะที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ถูกโจมตีว่าเป็นศัตรู เป็นคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในช่วง 6 ตุลา สิ่งที่ขบวนการนี้ทำกับทักษิณก็คือการกระทำแบบเดียวกัน นั่นก็คือ ทักษิณทำลายชาติ จึงมีการพูดกันอยู่ตลอดเวลาว่าทักษิณขายชาติ ผ่านเรื่องเอฟทีเอ ผ่านเรื่องการแบ่งเกาะกูดให้เขมร ผ่านเรื่องการยกดินแดนบางส่วนให้ลาว ผ่านเรื่องการขายหุ้นเทมาเสกให้กับสิงคโปร์ ผ่านเรื่องการแยกดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ ฯลฯ

 

สำหรับเรื่องศาสนา เราก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า ประเด็นที่สนธิใช้ในช่วงแรกๆ ก็คือการมีสังฆราชสององค์ ส่วนอีกเรื่องที่ถูกใช้ในการโจมตีมากก็คือเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ทั้งหมดนี้คือฐานของการรัฐประหารซึ่งเริ่มต้นด้วยการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างหนักหน่วงและเข้มข้นมาเป็นเวลาเกือบปีกว่าๆ และตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์รอบนี้ หลายฝ่ายก็คือตัวละครที่เคยมีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเติบโตทางการเมืองในช่วงหลัง 6 ตุลา ทั้งนั้น

 

คงไม่มีใครลืมว่าจำลอง ศรีเมือง มีบทบาทอย่างไรในวันที่ 6 ตุลา แต่หลายคนคงลืมไปแล้วว่า คนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ในช่วงหลัง 6 ตุลานั้น พิมพ์หนังสือเรื่อง "สิ้นชาติ" ซึ่งมียอดพิมพ์ถึง 80,000 เล่ม ในเวลาแค่ห้าเดือน โดยเขาอ้างอยู่ตลอดเวลาว่า หนังสือเล่มนี้จูงใจให้นายทหารจำนวนหนึ่งเชื่ออย่างฝังจิตฝังใจว่า รัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร คือแนวร่วมมุมกลับที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นเวียดนามแห่งที่สอง ทำให้กรุงเทพตกอยู่ใต้ความยึดครองของคอมมูนิสต์ ผลที่ตามมาก็คือ ทหารกลุ่มนี้เชื่อว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของฝ่ายขวาพลเรือน แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากกองทัพโดยตรง

 

เห็นได้ชัดว่า สนธิมีทักษะในการสร้างความรู้สึกร่วมทางการเมืองแบบนี้มาตั้งแต่หลัง 6 ตุลา และในวาระที่เหตุการณ์ 6 ตุลา เวียนมาครบรอบสามสิบปีในปีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สนธิมีอิทธิพลในการใช้ข่าวสารเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์บางอย่าง ที่ทำให้รัฐประหาร 19 กันยายน มีความชอบธรรมทางการเมือง

 

รัฐประหารครั้งนี้ นอกจากเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์แล้ว มันเกิดเรื่องที่คล้ายๆ กับ 6 ตุลา ก็คือมีการจัดตั้งมวลชนและองค์กรจำนวนมากขึ้นมา

ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจกัน องค์กรอย่าง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ไม่ว่าคนที่เข้าไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ จะจริงใจมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ เป็นคนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบทหารนิยม มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม หรือเป็นคนที่เชื่อว่าการมีสถาบันกษัตริย์ที่เข้มแข็งคือทางออกของประชาธิปไตย ไม่ใช่การสร้างการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยรัฐสภาที่ดี

 

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันก็คือ หลังจากที่ฝ่ายขวาเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง ก็เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มประชาชนขึ้นมาโดยยึดโยงกับอุดมการณ์แบบนี้ แต่พันธมิตรฯ นั้นอาจจะแตกต่างกับกลุ่มมวลชนที่จัดตั้งก่อน 6 ตุลา อยู่บ้าง เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาอย่างเดียว แต่มีคนที่เป็นเสรีนิยม ฝ่ายคนชั้นล่าง ฝ่ายที่รักประชาธิปไตยด้วยความบริสุทธิ์ใจ รวมทั้งฝ่ายที่เป็นกลางจำนวนมากด้วย หรือต่อให้ถึงที่สุดแล้ว พลังฝ่ายเสรีนิยมไม่ใช่พลังหลักที่ชี้นำการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ก็ตามที ถ้าคิดถึงรัฐประหาร 19 กันยายน ในแง่มุมนี้ ก็จะเห็นความคล้ายคลึงกับรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มากขึ้น นั่นก็คือล้วนเป็นการรัฐประหารที่เริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ หลังจากนั้นก็นำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มพลังทางการเมือง

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า สัญลักษณ์ของพันธมิตรฯ นั้นคือสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน และพันธมิตรฯ โดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ประกาศอย่างเปิดเผยว่า ใช้สีเหลืองเพราะต้องการแสดงความจงรักภักดีของฝ่ายพันธมิตร โดยที่สีเหลืองก็คือสีซึ่งทหารใช้เป็นสัญลักษณ์ในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายนด้วยเช่นเดียวกัน

 

การรัฐประหารครั้งนี้มีการอ้างพระมหากษัตริย์มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะนำไปสู่การกำหนดกรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยไหม

ผมคิดว่าสีเหลืองของพันธมิตรฯ กับสีเหลืองที่ทหารใช้ในการรัฐประหารมีความสืบทอดกัน เพราะในที่สุดแล้วทั้งพันธมิตรและทหารก็ล้วนแสดงบทบาทของตัวเองโดยอ้างอิงกับพระมหากษัตริย์ ทำให้รัฐประหารครั้งนี้มีบุคลิกอีกประการหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือการอ้างพระมหากษัตริย์มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการอ้างเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็จริง แต่ไม่ได้เป็นการอ้างลักษณะเดียวกับครั้งนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา เริ่มต้นจากการเผยแพร่ภาพและปล่อยข่าวเพื่อปลุกระดมมวลชนว่า ขบวนการนักศึกษาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ภาพของสถาบันฯ ในความรู้สึกของประชาชนในขณะนั้น จึงเป็นฝ่ายตั้งรับ ขณะที่นักศึกษาเป็นฝ่ายคุกคาม ตรงกันข้ามกับรัฐประหารครั้งนี้ที่มีการอ้างอิงและใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในลักษณะเชิงรุก ที่ท้ายที่สุดแล้วเอื้อต่อชัยชนะของฝ่ายรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง

 

อย่าลืมว่าในคืนวันที่ 19 กันยายน ทหารใช้เพลงพระราชนิพนธ์ ใช้ภาพพระราชกรณียกิจ หรือวันที่ 20 ก็มีการแสดงภาพการเข้าเฝ้าฯ แทนที่จะเป็นการใช้เพลงปลุกใจหรือออกอากาศคำปราศรัยของหัวหน้าคณะรัฐประหารวนเวียนซ้ำซากไปเรื่อยๆ อย่างที่มักจะทำกันในการรัฐประหารทุกครั้ง

 

โดยภาพรวมแล้ว รัฐประหารครั้งนี้เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทางการเมืองที่มีมาก่อนเป็นเวลานาน ได้แก่การปฏิวัติทางอุดมการณ์ การปฏิวัติทางการเมือง และการปฏิวัติด้วยกำลังทางทหาร

 

 

ปัญญาชนจึงต้องรับผิดชอบจากการสร้างวาทกรรมรองรับการรัฐประหารครั้งนี้?

ในช่วงที่ยังมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงนั้น ปัญญาชนหลายคนออกมาเรียกร้องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง บางคนก็ไปไกลถึงขั้นป่าวประกาศอย่างเปิดเผยว่า ทหารไม่จำเป็นต้องปกป้องรัฐบาล นักวิชาการบางคนเขียนบทความยืนยันว่า ทหารมีสิทธิปฏิวัติรัฐบาลได้ ไม่ต้องพูดถึงการยื่นหนังสือครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้องคมนตรีออกมาร่วมขบวนการขับไล่นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ปัญญาชนเหล่านี้รู้ดีว่า องคมนตรีแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภานั้นถูกกำหนดให้ทรงอยู่ "เหนือการเมือง"

 

หลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้น ปัญญาชนจำนวนมากพยายามสร้างคำอธิบายให้รัฐประหารชอบธรรม บ้างก็บอกว่ารัฐประหารครั้งนี้จำเป็น เพราะสังคมไทยไม่มีทางออกอื่น บ้างก็บอกว่าไม่ควรคัดค้านที่ทหารฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะคุณทักษิณเองฉีกรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้ว บ้างก็บอกว่า นี่เป็นการรัฐประหารที่สันติ ไม่มีการนองเลือด หรือบางคนก็บอกว่าไหนๆ รัฐประหารก็เกิดขึ้นแล้ว เรามาช่วยกันทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารที่ดี

 

เรื่องที่น่าเศร้าใจก็คือ ปัญญาชนเหล่านี้ทำลายหลักการร่วมข้อหนึ่งที่เป็น "แกนกลางทางความคิด" ของปัญญาชนแทบทุกฝ่ายในสังคมไทยในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 นั่นก็คือ หลักการที่ไม่ยอมรับการปฏิวัติรัฐประหารทุกชนิด แต่ในปี 2549 ปัญญาชนทำให้การรัฐประหารเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ น่าภาคภูมิใจ ซ้ำปัญญาชนหลายคนยังทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้กับการปกครองของทหารเสียยิ่งกว่าตัวทหารเอง

 

การสร้างวาทกรรมเรื่อง "ระบอบทักษิณ" ก็เป็นเรื่องที่ปัญญาชนสร้างขึ้น คำๆ นี้มันไม่เคยมีมาก่อน มันถูกสร้างขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า คุณทักษิณนั้นมีเครือข่ายทหารฝังแน่นอยู่ในกองทัพ มีเครือข่ายกับตำรวจและข้าราชการระดับสูง มีเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจข้ามชาติและนายทุนใหญ่ด้วยกัน ทำให้คุณทักษิณดูเป็นศัตรูที่อันตรายต่อชาติแบบเดียวกับที่คอมมิวนิสต์เป็น

 

เราจะเห็นว่าช่วงก่อน 6 ตุลานั้น สิ่งที่ฝ่ายขวาทำก็คือ การทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ใหญ่เกินจริง เพื่อรวมความรู้สึกของคนในชาติว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดการกับคอมมิวนิสต์ สิ่งที่ปัญญาชนจำนวนมากทำโดยไม่รู้ตัวใน พ.ศ.2549 คือการสร้างวาทกรรมเรื่อง "ระบอบทักษิณ" ทำให้คุณทักษิณดูใหญ่เกินตัว ดูเหมือนว่าคุณทักษิณมีเครือข่ายกว้างขวาง ทั้งที่จริงๆ แล้วเครือข่ายของคุณทักษิณนั้น เริ่มจะถูกสร้างขึ้นใน 3 ปีหลังจากที่คุณทักษิณขึ้นมามีอำนาจเท่านั้นเอง

 

เวลาเพียง 3 ปี ไม่สามารถทำให้เกิดระบอบอะไรขึ้นมาได้ มันเป็นเวลาที่สั้นเกินไป

 

อย่างเช่น เราบอกว่า ประชานิยมทำให้ระบอบทักษิณฝังรากลึกในหมู่มวลชน คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่า มวลชนจำนวนมากชอบเงินและใครก็ตามที่ช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องที่เป็นรูปธรรมที่สุด ในสมัยที่คุณชาติชาย เป็นนายก มวลชนเหล่านี้ก็รักคุณชาติชาย แต่ก็ไม่ว่าอะไรเมื่อคุณชาติชายถูกยึดอำนาจ เพราะฉะนั้นมวลชนในระบอบทักษิณไม่ได้เป็นมวลชนที่ใหญ่โตอะไร สามารถทำลายได้ถ้าเข้าใจวิธีการ

 

คนเหล่านี้ต้องรับผิดชอบที่เกิดการรัฐประหารครั้งนี้ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ร้องขอให้ทหารออกมาฉีกรัฐธรรมนูญและล้มกระดานทางการเมืองการปกครอง

 

หลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยทั้งหมดพยายามจะตอกย้ำ และเผยแพร่เข้าไปในหัวของคนไทยก็คือ ประชาธิปไตยไม่ใช่การเมืองที่ประชาชนเป็นใหญ่

ในช่วง 3 ทศวรรษหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ชนชั้นนำของไทยแทบทุกฝ่ายพยายามจะเผยแพร่และตอกย้ำความคิดว่า ประชาธิปไตยรัฐสภาไม่ได้หมายถึงระบบการเมืองที่มีประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่การไปหย่อนบัตรเลือกผู้แทนราษฎร ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงแค่การมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยหมายถึงการมีผู้นำที่ดีและมีศีลธรรม

 

ถ้าคิดแบบนี้ ก็เท่ากับว่าการสร้างสถาบันการเมืองที่ดี การสร้างรัฐสภาที่เข้มแข็ง การสร้างระบบการเลือกตั้งที่ดี ไม่ใช่วาระทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ถ้าคิดแบบนี้ ก็หมายความต่อไปว่า ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้นำที่สำคัญที่สุดในประเทศ รวมทั้งอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ไม่ใช่อำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่คือสถาบันไหนหรืออำนาจอะไรก็ได้ที่เป็นคนดีและมีศีลธรรม

 

ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังช่วง 6 ตุลา ชนชั้นนำทั้งหมดพยายามจะบอกว่า สิทธิเสรีภาพของคนไทยเป็นสิทธิเสรีภาพที่มีความหมายแค่ในระดับปัจเจกบุคคล สิทธิเสรีภาพในสังคมไทยหมายถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งในทางปฏิบัติก็ถูกจำกัดด้วยกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่โดยหลักการแล้ว ชนชั้นนำของไทยบอกคนไทยว่า สิทธิเสรีภาพนั้นมีความหมายแค่ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น อาจจะมีสิทธิเสรีภาพในเรื่องความเชื่อ ซึ่งก็ไม่ได้หนักแน่นอะไรมาก เพราะคนมุสลิมก็ยังคงถูกกีดกันอยู่ตลอดเวลา สิทธิในการรวมกลุ่มก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย เพราะว่าคนจำนวนมากในสังคมไทยถูกกีดกันไม่ให้รวมกลุ่มกัน เช่นกรณีของสหภาพแรงงาน

 

ในสังคมไทยนั้น สิทธิเสรีภาพถูกทำให้เป็นแค่คำขวัญที่มีความหมายแคบมาก สิทธิเสรีภาพในความหมายของความเสมอภาค ความยุติธรรม และความเท่าเทียมนั้นมันไม่มีอยู่ในสังคมนี้ รวมทั้งเสรีภาพในความหมายของ "อิสรภาพ" ด้วยเช่นกัน

 

เพราะฉะนั้น จึงง่ายมากที่ชนชั้นนำจะทำให้ประชาธิปไตยเป็นแค่เรื่องของการมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีฐานอะไรในสังคม ทั้งๆ ที่ในทุกประเทศที่เป็นสังคมประชาธิปไตยนั้น ประชาธิปไตยจะเติบโตขึ้นมาได้ในสังคมก็แต่ที่มีฐานบางอย่างมารองรับ เช่น มีกลุ่มทางสังคมที่เข้มแข็ง มีคนที่มีความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างหนักแน่น แต่ในกรณีของเรา ประชาธิปไตยมันถูกตัดตอนให้เป็นแค่เรื่องกระบวนการทางการเมือง กระบวนการที่จะได้มาซึ่งผู้บริหารอย่างเดียว

 

และนี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำทั้งหมดทำร่วมกันในช่วง 30 ปีหลัง 6 ตุลาคม

 

ถ้าเช่นนั้นเราพอจะเรียกอุดมการณ์ในปี 2519 และ 2549 ว่าอะไร

ในการรัฐประหารครั้งนี้ ปัญญาชนมีบทบาทมากในการทำให้การแทรกแซงทางการเมืองการทหาร และการแทรกแซงของสถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรม และนี่ก็จะกลับไปสู่เรื่องอุดมการณ์อีกครั้ง เพราะปัญญาชนแทบทั้งหมดให้ความชอบธรรมกับความไม่เป็นประชาธิปไตยโดยหันไปอาศัยอุดมการณ์ที่สร้างขึ้นโดยพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยม นั่นก็คืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า "ธรรมราชา"

 

เป็นเวลาหลายสิบปีที่ปัญญาชนแทบทั้งหมดโจมตีว่าประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นระบบการเมืองที่ล้มเหลว โจมตีว่าพรรคการเมืองเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้ โจมตีว่าระบบทุนนิยมทั้งหมดเป็นเรื่องเลวร้าย รวมทั้งโจมตีว่าระบบยุติธรรมทั้งหมด ไม่ใช่สถาบันที่จะดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมได้ เช่นเดียวกับระบบราชการที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงและคอรัปชั่น หรือพูดโดยภาพรวมก็คือการสร้างภาพประทับลงไปในจิตใจคนว่า สถาบันการเมืองการปกครองที่เป็นทางการทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงและไร้ศีลธรรม

 

นี่คือปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก เพราะในกรณีสังคมตะวันตก ประชาธิปไตยรัฐสภา พรรคการเมือง ระบบราชการ และหลักนิติธรรม เป็นสถาบันและหลักการที่สำคัญโดยตัวของมันเอง แต่กรณีของสังคมไทย สถาบันและหลักการเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญในตัวมันเอง แต่สำคัญก็ต่อเมื่อมันอ้างอิงหรือพ่วงไปกับหลักการอื่น เช่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือสถาบันยุติธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของพระราชอำนาจ

 

ในช่วงหลัง 6 ตุลา อุดมการณ์แบบนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านกลุ่มปัญญาชนหลายๆ ฝ่าย ทำให้เกิดความคิดความเชื่อที่ในที่สุดแล้วเอื้อต่อการทำลายประชาธิปไตย นั่นก็คือพรรคการเมืองและรัฐสภาไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชน พรรคการเมืองและรัฐสภาคือสถาบันการเมืองของชนชั้นนายทุน ทำให้สมเหตุสมผลที่กองทัพและสถาบันอื่นๆ จะล้มล้างพรรคการเมืองและระบบรัฐสภาได้ตลอดเวลา

 

ในปริมณฑลทางความคิดแบบนี้ สถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการทั้งหมดนั้นพึ่งไม่ได้ ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ ให้ความยุติธรรมไม่ได้ และไม่สามารถที่จะให้ชีวิตที่ดีแก่กับประชาชน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของคนไทยก็คือการถูกโปรแกรมว่า มีแต่ผู้นำที่มีศีลธรรมอย่างยิ่งยวดเท่านั้นซึ่งจะเป็นคนที่นำเราไปสู่ชีวิตที่ดี และจะว่าไปแล้ว ผู้นำที่มีศีลธรรมคือ "วาระทางการเมือง" ที่ปัญญาชนจำนวนมากเชิดชูและร้องหาอยู่ตลอดเวลา

 

ถ้าเราลองนึกดู เราก็จะเห็นภาพของคนอย่าง น.พ.ประเวศ วะสี หรือ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่พยายามจะพูดว่าปัญหาของการเมืองไทยคือการมีผู้นำที่ไร้ศีลธรรม และในบริบทแบบไทยๆ นั้น ผู้นำที่มีศีลธรรมคือ ผู้นำที่ถือว่าเป็นธรรมราชาหรือคนที่มีอุดมการณ์แบบธรรมราชา ซึ่งเป็นการยากมากที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รับการยอมรับว่ามีคุณสมบัติแบบนี้ เพราะคนเหล่านี้ถูกตรวจสอบได้โดยง่าย อยู่กลางแสงสว่างที่ใครก็มองเห็นได้ และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางโลกเกินไป จนแทบไม่มีโอกาสสะสมบารมีเพื่อสร้างภาพความเป็นผู้นำที่ทรงศีลธรรม

 

ในที่สุดแล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองแบบนี้จะนำไปสู่การปฏิเสธความสำคัญของสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการแทบทั้งหมด ตั้งแต่รัฐสภา, รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง, พรรคการเมือง ฯลฯ ทำให้บุคคลหรือสถาบันการเมืองที่ไม่เป็นทางการสามารถแทรกแซงการเมืองอย่างไรก็ได้

 

แน่นอนว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยสร้างแนวความคิดแบบนี้ แต่ในปัจจุบันนี้ ปัญญาชนเสรีนิยม, เอ็นจีโอ หรือนักวิชาการอาวุโสหลายต่อหลายคน ก็ถ่ายทอดความคิดแบบนี้ลงสู่สังคมไทย โดยที่ไม่เข้าใจว่าผลในทางการเมืองของความคิดแบบนี้คืออะไร

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นมา คนเหล่านี้ก็คือคนที่สนับสนุนการรัฐประหาร และเห็นด้วย เพราะเขาเชื่อว่าปัญหาการเมืองในสังคมไทยเกิดขึ้นเพราะผู้นำทางการเมืองที่ไม่มีศีลธรรม และทักษิณคือโมเดลของผู้นำทีไม่มีศีลธรรมและเลวร้ายที่สุด ทำให้ลึกๆ แล้ว คนเหล่านี้เห็นว่า make sense ที่จะเกิดการแทรกแซงโดยพระราชอำนาจหรือการรัฐประหาร เพราะการแทรกแซงนี้จะทำให้ได้ผู้นำที่มีศีลธรรมขึ้นมาปกครองบ้านเมือง

 

ความเป็นคนดีมีศีลธรรมเป็นเรื่องไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาอะไรได้ มันเป็นแค่อุดมคติที่เกิดขึ้นในโลกที่เป็นสังคมชาวนา

ความเป็นคนดีมีศีลธรรมเป็นพื้นฐานของ "ผู้ปกครองที่ดี" ในสังคมเกษตร, ในสังคมโบราณ, หรือในรัฐจารีต เพราะผู้นำในสังคมเหล่านี้แทบไม่มีสายใยยึดโยงพวกเขากับประชาชน จึงต้องสร้างความชอบธรรมทางการเมืองด้วยวิธีการง่ายๆ ว่าตัวเองควรมีอำนาจ เพราะเป็นผู้มีศีลธรรมสูงสุดในสังคม ได้สั่งสมบุญญาบารมีมาแต่ชาติปางก่อน มีวัตรปฏิบัติที่ถูกทำนองคลองธรรมในชาตินี้ ฯลฯ

 

ปัญหาที่สำคัญคือสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมสมัยใหม่ เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่คนแต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดแย้งกันอย่างสลับซับซ้อน เราจะบอกได้จริงๆ หรือว่าใครมีศีลธรรมกว่าใคร

 

นี่ไม่ได้กำลังบอกว่าคนเราไม่ควรมีศีลธรรม แต่ประเด็นที่ต้องการพูดก็คือในโลกสมัยนี้ ผู้นำที่มีศีลธรรมอาจเป็นแค่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการใช้สื่อเพื่อ "ผูกขาด" ภาพความมีศีลธรรมไว้ที่ตัวเองอย่างถึงที่สุดก็ได้

 

อย่าลืมว่าในสังคมไทยนั้น ชนชั้นนำกลุ่มเดียวที่เราจะชี้หน้าด่าอย่างเปิดเผยได้ว่าเป็นคนเลว ไม่มีศีลธรรม คอรัปชั่น โง่ หาประโยชน์ให้พวกพ้อง ฯลฯ ก็คือชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากพรรคการเมือง และรัฐสภา แต่เราทำอย่างนี้ไม่ได้แน่ๆ กับชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กับชนชั้นนำที่มาจากกองทัพ จากศาล หรือจากระบบราชการ

 

ในสังคมไทยนั้น ผู้นำที่เรายกย่องว่ามีศีลธรรม มักได้แก่ผู้นำที่แทบไม่เคยพูดหรือแสดงความเห็นในเรื่องอะไรให้กระจ่างชัด เหตุผลคือยิ่งพูดหรือยิ่งแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ ก็ยิ่งมีโอกาสที่ผู้นำผู้ทรงศีลธรรมจะถูกคนในสังคม "รู้ทัน" ว่ามีผลประโยชน์ผูกพันกับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ คนเหล่านี้จึงพูดน้อย พูดคลุมเครือ พูดในแบบที่คนแต่ละกลุ่มจะตีความอย่างไรก็ได้ พูดถึงเรื่องสังคมในอดีต พูดถึงสังคมชาวนาที่คนจนและคนระดับล่างถูกเงื่อนไขทางเศรษฐกิจบังคับให้ต้องกินอยู่อย่างพอเพียง แต่คนเหล่านี้ไม่เคยพูดถึงสังคมในอนาคต ไม่เคยอภิปรายว่าการเมืองในอนาคตคือการเมืองในโลกซึ่งทุกอย่างเป็น globalization และเป็น urbanization เพราะโลกเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจทางโลกที่สลับซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้นำที่มีศีลธรรมจะทำอะไรได้

 

อันที่จริง ผู้นำที่มีศีลธรรมเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีเสน่ห์แต่ในโลกที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวนา เป็นสังคมเกษตรกร แต่ไม่อาจตอบปัญหาของสังคมสมัยใหม่ได้ในระยะยาว ในที่สุดแล้ว ผู้นำในรุ่นอนาคตจึงไม่สามารถจะอาศัยภาพของความเป็นคนดีมีศีลธรรม หรืออุดมการณ์ธรรมราชา มาเป็นเครื่องมือในการจรรโลงอำนาจทางการเมืองได้

 

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในเงื่อนไขที่มีลักษณะเฉพาะมากๆ และข้อสำคัญก็คือ ไม่ใช่ผู้นำทุกคนที่จะสร้างภาพว่าเป็นผู้มีบารมีลักษณะนี้ได้สำเร็จ

 

แล้วภาคประชาชนที่เติบโตขึ้นนี่ ก็อยู่บนเงื่อนไขทางการเมืองแบบนี้ด้วย

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มเกิดคนกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งมีสถานภาพทางสังคมสูง อย่างเช่น คุณรสนา โตสิตระกูล, วีระ สมความคิด ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีชาติตระกูลหรือความสัมพันธ์กับชนชั้นนำในอดีตกลุ่มไหน เป็นคนที่เติบโตมาจากการรณรงค์เคลื่อนไหวปัญหาทางการเมืองและสังคมแท้ๆ แต่ในปัจจุบันนี้ คนเหล่านี้มีอิทธิพลกับสังคมถึงขนาดที่มีโอกาสจะเลื่อนสถานะของตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ ผ่านการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก, ผ่านสายสัมพันธ์กับทหารและนักการเมือง ฯลฯ

 

ข้อที่น่าสนใจก็คือเงื่อนไขทางสังคมแบบไหนที่ทำให้คนธรรมดาเหล่านี้โดดเด่นขึ้นมาเป็นที่ยอมรับได้กว้างขวางอย่างนี้ ขณะที่หลายสิบปีก่อน คนแบบนี้ไม่มีทางมีอิทธิพลต่อสังคมในระดับนี้ได้อย่างแน่นอน

 

ผมคิดว่าคนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในเงื่อนไขที่การเมืองอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์แบบ "ธรรมราชา" นั่นคือ อุดมการณ์แบบที่มุ่งโจมตีสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภาว่าเป็นที่รวมของคนเลว คนไร้ศีลธรรม และชนชั้นพ่อค้านายทุนทุกระดับ อุดมการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้คนจำนวนหนึ่งเติบโตทางการเมืองได้ หากมีบทบาททางการเมืองในแง่ของการต่อต้านการคอรัปชั่นของนักการเมือง การทุจริตของรัฐมนตรี รวมทั้งการใช้อำนาจอย่างล้นเกินของของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

แน่นอนว่าการควบคุมนักการเมืองนั้นเป็นเรื่องดี แต่ "อำนาจรัฐ" ไม่ได้มีความหมายเท่ากับอำนาจของนักการเมืองและอำนาจของรัฐสภาเท่านั้น คนที่มีอำนาจในสังคมไทยประกอบไปด้วยคนที่อยู่นอกรัฐสภา, อยู่นอกพรรคการเมือง และอยู่นอกการเลือกตั้งอีกจำนวนมาก การตรวจสอบอำนาจรัฐเฉพาะเพียงเสี้ยวที่อยู่กับนักการเมืองจึงไม่รอบด้าน ไม่เพียงพอ และเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้ประโยชน์จากการโจมตีสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างล้นเกิน

 

การเมืองภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์แบบธรรมราชา เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เติบโต แต่ขณะเดียวกัน การเมืองในสภาพการณ์แบบนี้ก็จำกัดบทบาททางการเมืองของคนเหล่านี้ไว้เฉพาะในกิจกรรมบางแบบ ต้นทุนทางการเมืองที่อาจเสียจากการท้าทายข้อจำกัดนี้ คงเป็นเรื่องที่หลายคนทำใจยอมรับไม่ได้ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยทุกวันนี้ จึงใกล้เคียงกันมากกับการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อแสดงบทบาทเฉพาะในแบบที่ผู้มีอำนาจบางกลุ่มต้องการ

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนเหล่านี้เติบโตขึ้นมากับสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นก็คือการเกิดกระแส "การเมืองภาคประชาชน" ที่ทำให้ความเป็น "ภาคประชาชน" กลายเป็นต้นทุนทางการเมืองได้ เพราะ "ภาคประชาชน" ตามนัยนี้วิพากษ์วิจารณ์ความชอบธรรมของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงสอดคล้องกับการเมืองแบบที่อยู่ใต้การครอบงำของอุดมการณ์ธรรมราชา

 

ประเด็นนี้สำคัญ เพราะชนชั้นนำและทุกคนในประเทศไทยนั้นรู้ว่า "ภาคประชาชน" ไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการรวมกลุ่มในหมู่ประชาชนอย่างเหนียวแน่นและกว้างขวาง ในทางตรงกันข้าม "ภาคประชาชน" เกิดขึ้นเมื่อผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่มมีผลงานปรากฎในที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง พูดในเรื่องที่สังคมปัจจุบันต้องการ และแสดงบทบาทเฉพาะในขอบเขตที่การเมืองแบบ "ธรรมราชา" กำหนด

 

หากไม่ระมัดระวังให้ดี การเมืองแบบภาคประชาชนอาจมีฐานะเป็นเพียงส่วนขยายของการต่อสู้ทางการเมืองในหมู่ชนชั้นสูงก็เป็นได้ ส่วนผู้นำภาคประชาชนก็อาจมีสถานภาพเป็นแค่ผงซักฟอกให้ผู้มีอำนาจอ้างได้ว่าพวกเขาฟังเสียงประชาชน

 

ทักษิณทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ globalization ทำให้อุดมการณ์ "ธรรมราชา" อ่อนพลังไหม

ผมเห็นว่าสิ่งที่คนชั้นนำจำนวนหนึ่งใช้ในการโจมตีทักษิณก็คือ ทักษิณทำให้ชาวบ้านระดับรากหญ้าเป็นพ่อค้า คือความเป็นพ่อค้าหรือความเป็นสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่เป็นสิ่งที่คนชั้นนำทั้งหมดรู้ว่า มันไปด้วยกันไม่ได้กับอุดมคติเรื่องธรรมราชา เรื่องผู้ปกครองที่ดีมีศีลธรรม โลกของพ่อค้าโลกของคนที่ทำมาหากินในระบบตลาดมันเป็นโลกคนละแบบกับโลกของสังคมชาวนา

 

อุดมการณ์แบบธรรมราชา อุดมการณ์แบบผู้นำดีมีศีลธรรม มันอยู่ได้แต่สังคมชาวนา ประเด็นสำคัญก็คือว่า ความเป็นอุดมการณ์ธรรมราชาในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เป็นสังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น globalization มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดอุดมการณ์แบบธรรมราชาจะไม่มีพลัง มันจะอยู่ไม่ได้ แล้วอันนี้คือคนที่อยู่ในระบบแบบนี้จะกลัวที่สุด เพราะเขาไม่มีฐานอื่น แล้วเขาไม่สามารถเห็นภาพตัวเองไปเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการค้า เป็นเถ้าแก่ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งได้ ธรรมราชามันเป็นบทบาทที่จำกัดคนไว้เยอะ คุณต้องมีศีลธรรม คุณต้องเป็นคนดี คุณต้องไม่โลภ ต่อให้ในความเป็นจริงแล้วคุณจะมีธุรกิจมีพอร์ตการลงทุนไม่ต่างจากนายทุนทั่วไปก็ตาม

 

อุดมการณ์แบบธรรมราชาไม่มีอาวุธอื่น ไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลของตัวเองได้ สิ่งที่มีคืออาวุธทางอุดมการณ์ และเราก็จะเห็นว่าในช่วงหลัง 6 ตุลา ก็จะเห็นการเล่นเกมทางอุดมการณ์มาโดยตลอด เล่นเกมเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เล่นเกมเรื่องคอมมิวนิสต์ เล่นเกมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เล่นเกมเรื่องธรรมราชา ทั้งหมดนี้คือเกมเดียวกัน

 

ความขัดแย้งของปัญญาชนจากการรัฐประหาร 2549 เป็นผลผลิตของขบวนการฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์ที่ทำมาตลอด 30 ปี

ผมคิดว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในกลุ่มปัญญาชนอย่างเห็นได้ชัด ว่าปัญญาชนฝ่ายหนึ่งต้องการให้เกิดการรัฐประหารและสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร ขณะที่ปัญญาชนอีกฝ่ายหนึ่งต่อต้านการรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือการเรียกร้องเรื่องพระราชอำนาจมาตั้งแต่ต้น

 

ปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยในการเมืองไทยในรอบ 50 ปี หลังจากที่สฤษดิ์ยึดอำนาจ ความขัดแย้งในหมู่ปัญญาชนอย่างกว้างขวางแบบนี้เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อมีปัญหาระหว่างจอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ ในช่วง 2500 และปัญญาชนแตกคอกันว่า จะสนับสนุนจอมพล ป. หรือสนับสนุนสฤษดิ์ให้ยึดอำนาจ แต่หลังจากนั้นผมคิดว่าปัญญาชนในสังคมไทยมีความเป็นเอกภาพในทางการเมือง 1 ข้อ ก็คือต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยม ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คัดค้านการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง

 

ในกรณี 6 ตุลาคม เราก็เห็นภาพที่ชัดเจนว่าปัญญาชนทั้งหมดมีเอกภาพทางความคิดว่าไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหาร ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และพูดอย่างตรงไปตรงมา ก็คือไม่เห็นด้วยกับการที่สถาบันเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างเปิดเผย

 

แต่ในปี 2549 อันเป็นปีที่ครบรอบ 30 ปี 6 ตุลา ได้เกิดความขัดแย้งทางความคิดในหมู่ปัญญาชนอย่างรุนแรง กว้างขวาง และนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในระดับที่ลึกซึ้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน และผมคิดว่าความขัดแย้งนี้เป็นผลจากการต่อสู้ในปริมณฑลของปัญญาชนฝ่ายนิยมเจ้าทำในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

 

ในเชิงประวัติศาสตร์ความคิดแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนอย่างหมอประเวศวะสี และนักวิชาการหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับหมอประเวศทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผลสำคัญมากในการสร้างอุดมการณ์แบบนี้ นั่นก็คืออุดมการณ์ที่บอกว่าปัญหาทางการเมืองในสังคมไทย คือการขาดผู้นำที่มีศีลธรรมแบบธรรมราชา อุดมการณ์แบบนี้ทำให้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเติบโตไม่ได้ ทำให้พรรคการเมืองเติบโตไม่ได้ และไม่มีวันที่สถาบันที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รับความยอมรับว่ามีความชอบธรรมสูงสุดในสังคม

 

ถ้าเราพิจารณาต่อไปอีกนิด เราก็จะเห็นว่าปัญญาชนจำนวนมากที่เข้าไปสนับสนุนการรัฐประหารในทางอ้อมเป็นคนซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน คนอย่างคุณโสภณ สุภาพงษ์ คนเหล่านี้มีกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และในที่สุดแล้วคนเหล่านี้ก็คือคนที่มีบทบาททางความคิดให้การรัฐประหารครั้งนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ทำให้ข้ออ้างต่างๆ ของคณะทหารกลายเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและมีเหตุมีผล ทำให้การยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หรือกระทั่งทำให้การคัดค้านการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ทั้งๆ ที่คณะรัฐประหารชุดนี้ได้อ้างเหตุผลหลายข้อที่ตั้งคำถามได้ทั้งนั้น แต่ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยก็ทำให้เรื่องที่ไม่มีเหตุมีผลนี้ฟังดูดีและยอมรับได้ขึ้นมา

 

อย่างเช่นเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการแตกความสามัคคีของคนในชาติ ในสังคมประชาธิปไตยทั้งหมด ไม่มีสังคมไหนบอกว่าการแตกความสามัคคีเป็นปัญหาทางการเมือง ไม่มี ความสามัคคีเป็นปัญหาทางการเมืองก็ต่อเมื่อเรามองการเมืองจากกรอบของความมั่นคง มองการเมืองจากการเอารัฐและผู้มีอำนาจเป็นศูนย์กลาง นั่นต่างหากที่ทำให้ความสามัคคีเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ

 

ถ้ามองจากมุมประชาธิปไตยแล้ว การแตกความสามัคคีไม่ใช่ปัญหา นอกจากนั้นแล้วเราอาจจะตั้งคำถามต่อไปได้ด้วยซ้ำว่า การสร้างระบบการเมืองที่ปิดปากคนที่ชอบทักษิณ 16 ล้านเสียง มันคือการแตกความสามัคคีทางการเมืองมากขึ้นไปอีกหรือเปล่า และผมคิดว่านี่คือบทบาทที่ปัญญาชน คือการทำให้เหตุผลของการรัฐประหารนั้นมีความชอบธรรมขึ้นมา ทั้งที่จริงๆแล้วมันไม่มีความชอบธรรม

 

ฝ่ายขวา พ.ศ. 2549 พูดจาละมุนละม่อม ทำงานกับประชาชน เข้าใจเอ็นจีโอและเสนอแนวคิดสมานฉันท์

ความเป็นฝ่ายขวาไม่จำเป็นต้องอยู่ในเครื่องแบบสีเขียวอีกต่อไปแล้ว

ความแตกต่างระหว่างการรัฐประหารครั้งนี้กับการรัฐประหาร 6 ตุลาก็คือ พลเรือนที่มีบทบาทในการรัฐประหารช่วง 6 ตุลานั้น มีภาพว่าเป็นพลเรือนที่เลว เป็นพลเรือนแนวอำนาจนิยม เป็นพลเรือนที่เห็นหน้าก็รู้แล้วว่า นี่ต้องเป็นพลเรือนที่เลวแน่ๆ พูดจาแบบคนหลงยุค เป็นฝ่ายขวาแบบสถุลรส (Bad taste) ขณะที่ในการรัฐประหารปี 2549 เราได้พบกับเกิดฝ่ายขวาแบบใหม่ที่ไม่ได้มีหน้าตาแบบเดียวกับฝ่ายขวาสมัย 6 ตุลา แต่เป็นฝ่ายขวาที่พูดจาด้วยภาษาที่นิ่มนวล พูดจาด้วยภาษาแบบประชานิยม ใช้วาทกรรมแบบประชาธิปไตย วาทกรรมว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การปกครองโดยหลักรัฐธรรมนูญ

 

และนี่คือประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในปี 2549 นั่นก็คือ ความเป็นฝ่ายขวาไม่จำเป็นต้องอยู่ในเครื่องแบบสีเขียว ไม่จำเป็นต้องอยู่บุคลิกที่บ้าอำนาจและมุทะลุดุดัน ฝ่ายขวาเป็นพลเรือนได้ พูดจานิ่มนวลและสุภาพอ่อนน้อมได้ แต่หลักใหญ่ทางการเมืองแล้วเหมือนกัน นั่นคือไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยรัฐสภา ไม่ปฏิเสธการรัฐประหาร รวมทั้งไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาได้ด้วยวิถีทางของรัฐสภาและหลักนิติธรรม

 

ฝ่ายขวาแบบนี้เกิดขึ้นและแสดงตัวเองอย่างเต็มที่ในรัฐประหารที่เกิดขึ้น ณ 30 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เหตุผลคือชนชั้นนำในสังคมไทยมีประสบการณ์แล้วว่าพลังฝ่ายขวาแบบ Bad taste ของคุณทมยันตี, คุณธานินทร์, หรือคุณสมัคร ไม่สามารถจะปกครองคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยได้ รัฐบาลของคุณธานินทร์ในช่วงหลัง 6 ตุลา เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากพลังอนุรักษ์นิยมในระดับที่รุนแรงที่สุดในสังคมไทย เป็นรัฐบาลที่นักวิชาการฝรั่งบางคนถือว่า เป็นรัฐบาลในพระราชอำนาจอย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลชุดนี้ปกครองสังคมไทยไม่ได้ ถูกต่อต้านแม้กระทั่งจากฝ่ายขวาด้วยกัน กลายเป็นฝันร้ายของชนชั้นปกครองในเวลานั้นทั้งหมด

 

ในสภาพสังคมที่ซับซ้อนอย่างทุกวันนี้ ผมคิดว่าพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยเข้าใจว่าเขาไม่สามารถปกครองคนโดยใช้พละกำลังและวิธีการที่รุนแรงเพียงอย่างเดียวได้ เขามีบทเรียนว่าแม้การยึดอำนาจจะจำเป็น แต่ในการปกครองประชาชนหลังจากนั้น สิ่งที่จำเป็นกว่าก็คือการมีฝ่ายขวาที่ละมุนละม่อม ทำงานกับประชาชน เข้าใจเอ็นจีโอ พูดจาเรื่องความสมานฉันท์ของคนในชาติ ผลิตวาทกรรมเรื่องความรักความสามัคคี ปิดปากปิดเสียงของคนที่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการยึดอำนาจ

 

ความสมานฉันท์ใน พ.ศ.นี้ ไม่ต่างจากคำว่าว่า "ความเป็นเอกภาพในชาติ" ในปี 2519 หรือ "ความสงบเรียบร้อย" ในปี 2534 นั่นก็คือมันเป็นคำขวัญทางการเมืองที่ล้างสมองให้คนยอมรับอำนาจแบบที่เป็นอยู่ไปตลอดเวลา

 

การเกิดรัฐประหารครั้งนี้พาสังคมไทยย้อนกลับไปถึงไหน 2475 เลยไหม

การเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ถ้าถามว่าถอยหลังกลับไปไกลไหม ผมคิดว่าเราถอยหลังกลับไปก่อน พ.ศ.2475 เพราะว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่เคยมีครั้งไหนที่องคมนตรีแสดงบทบาททางการเมืองอย่างครั้งนี้

 

แน่นอนว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าองคมนตรีสำคัญกับสังคมไทย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องฟังเสียงจากสถาบันอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการเลือกตั้งด้วย แต่การแสดงบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผยในช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน รวมทั้งหลังจากนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ก็เท่ากับว่าการเมืองไทยกำลังเดินย้อนหลังไปไกลหลายสิบปี

 

ถ้ามองรัฐประหารครั้งนี้ในเรื่องของหลักนิติรัฐ หลักการปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่หลักการปกครองโดยอำเภอใจของคนที่มีอำนาจ รัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้หลักการปกครองแบบนิติรัฐถูกทำลายลงไป เพราะในทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารก็ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชน ยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ ยกเลิกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญโดยอำเภอใจ จากนั้นก็ประกาศให้หัวหน้าคณะรัฐประหารสามารถออกกฎหมายได้เทียบเท่ากับรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณประจำปีโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา ประกาศร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนไม่มีส่วนรู้เห็น ฯลฯ

 

แน่นอนว่าชัยชนะในการรัฐประหารทำให้คณะทหารมีอำนาจ แต่พัฒนาการทางการเมืองในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างประเพณีการปกครองแบบใหม่ที่ปฏิเสธการปกครองโดยอำเภอใจในลักษณะนี้ การรัฐประหารครั้งนี้ล้มล้างประเพณีการเมืองการปกครองที่ต่อเนื่องเป็นเวลาพอสมควร หันไปรื้อฟื้นหลักการปกครองแบบที่จอมพลสฤษดิ์เคยใช้ นั่นก็คือคำสั่งของรัฎฐาธิปัตย์คือกฎหมาย ใครที่มีอำนาจย่อมสามารถออกกฎหมายได้โดยชอบ ต่อให้การออกกฎหมายนั้นจะไม่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติหรือการรู้เห็นของประชาชนเลยก็ตามที

 

คิดในแง่หลักนิติรัฐ รัฐประหารครั้งนี้ทำให้การปกครองโดยหลักนิติรัฐของไทยถอยหลังไปราว 50 ปี

 

ถ้ามองรัฐประหารครั้งนี้ในแง่ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ การอาศัยอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจ ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยุบเลิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งประกาศใช้กฎอัยการศึกไปอย่างไม่มีกหนด ทำลายสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภาทั้งหมดโดยอำนาจทหารที่อ้างอิงกับอุดมการณ์หลักของชาติ รัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้การเมืองถอยหลังไปสู่สภาพที่เคยเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหมดอ้างอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไปล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ สถาปนาการปกครองโดยทหาร

 

คิดในแง่อุดมการณ์แบบนี้ รัฐประหารครั้งนี้การเมืองไทยถอยหลังไปราว 30 ปี

 

0 0 0

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (1) : การเคลื่อนไหว 2549 "รัฐประหารของคนชั้นกลาง"  

สัมภาษณ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ตอนที่ 2) : การเมืองไทยในอนาคตอันใกล้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท