Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 4 ต.ค. 2549 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. เวลา 13.00น. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัชชาคนจนร่วมกับอาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดการเสวนาเรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549: เส้นทางสู่การปฏิรูปสังคมและการเมืองจริงหรือ?


                                 


ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าถูกระบอบธุรกิจการเมืองเข้าแทรกแซงทำให้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้มากนัก จนในที่สุดก็ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ามายึดอำนาจทำให้ระบอบทักษิณถูกแทนที่ด้วยระบอบชั่วคราวที่เรียกได้ว่าเป็น "ระบอบอุปถัมภ์แบบเผด็จการโดยธรรม" อีกทั้งหลังการยึดอำนาจก็มีการสยบนักการเมืองด้วยการประกาศของคปค.และการปิดพื้นที่ขององค์กรประชาชนที่เคยถูกรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540


 


จากนั้นก็มีการออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งร่างเพียงไม่กี่วัน โดยคนไม่กี่คน ไม่มีการถกเถียง ปรึกษาหารือ ทั้งที่ประชาธิปไตย คือกระบวนการที่คนมาเรียนรู้ร่วมกัน สร้างฉันทามติจากความแตกต่าง ดังนั้น จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เน้นคุมอำนาจแทนการมีส่วนร่วมของประชาชน กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญยังตกอยู่บนฐานคิดที่เชื่อผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและกำกับโดยผู้มีอำนาจคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ


 


แม้จะมีข้อเสนอที่น่าสนใจว่าให้รัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง เนื่องจากไม่มีช่องให้แก้ธรรมนูญชั่วคราวได้


 


ฉะนั้น จึงควรทำสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่เลวที่สุดในขณะนี้ นั่นคือ เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่สภาร่างฯ ทำหน้าที่เป็น "ลูกขุน" รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ นำมาปรับแก้สัดส่วนของสภานิติบัญญัติ


 


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เน้น "เนื้อหา" แต่ต้องเน้นที่การสร้าง "กระบวนการ" ที่จะสร้างช่องทางให้คนในสังคมได้ถกแถลง เสนอวาระของตัวเอง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง


 


ศ.ดร.อนสุรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกฉบับมีเหมือนกันคือ การค้ำประกันความปลอดภัยของกลุ่มยึดอำนาจ และระบุอำนาจของผู้ยึดอำนาจ สำหรับในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 นั่นก็คือการเปลี่ยนรูปจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)


 


อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ 1.มีการระบุเรื่องสิทธิ เสรีภาพไว้ในมาตรา 3 ซึ่งธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้ 2.เห็นความพยายามเชื่อมโยงกับประชาชน โดยแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ เช่น สภานิติบัญญัติ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 5 สะท้อนให้เห็นว่า ต้องการให้มีตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาในสภานิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ต้องดูกันต่อไปว่า จะดึงคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาในสภาได้อย่างไร


 


3.ระบุให้มีสมัชชาแห่งชาติเพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีเข้ามาเป็นได้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนร่วม แต่ปัญหาก็คือ ยังไม่ระบุถึงกลไกการสรรหาที่แน่ชัดว่าจะเลือกกันอย่างไร


 


4.ระบุให้มีการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนก่อนลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คมช. ยอมรับความคิดเห็นของประชาชน


 


จาก 3-4 ข้อที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า คมช. เกรงใจประชาชนอยู่พดสมควรและไม่ตั้งใจจะอยู่ในอำนาจนาน อย่างไรก็ตาม ลายลักษณ์อักษรกับการปฏิบัติอาจเป็นคนละเรื่องกันก็ได้ เนื่องจากอำนาจของ คมช.เองที่ระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้คลอบคลุมไปทุกมาตรา โดยเฉพาะมีอำนาจในการถอนถอนแต่งตั้งบุคคลในองค์กรที่ตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งหากมอง ภาพตรงนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ผ่านมาเพราะขอบเขตอำนาจคล้ายๆกัน ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว


ผศ.ดร.ตระกูล มีชัย อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่ระบุในมาตรา 5 วรรค 3 ว่า "ในการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้คำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเหมาะสม" นั้น ไม่เข้าใจว่า ภาคสังคม คือใคร ซึ่งจุดนี้อาจมีปัญหาในเรื่องของการตีความ นอกจากนี้ วิธีการได้มาซึ่งตัวแทนก็ไม่มีการระบุไว้ชัดเจน เท่ากับเป็นอำนาจของผู้ยึดอำนาจที่จะแต่งตั้งเอง


 


ทั้งนี้ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ขอเรียกร้องให้ คมช.ประกาศรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 10 คนที่ คมช.จะแต่งตั้ง เพื่อจะได้รู้ทิศทางของผู้ร่าง ว่าต้องการไปทางไหน


 


นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 29 ซึ่งเขียนไว้ว่า "เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งต้องจัดทำไม่เร็วกว่า 15 วัน และไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว" โดยเป็นห่วงเรื่องระยะเวลาที่ระบุ เนื่องจากมองว่า ระยะเวลาน้อยเกินไป เพราะประชาชนไม่ได้มีเวลาที่จะศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไปหย่อนบัตรจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเพียงการแสดง "รูปแบบ" ว่าประชาชนได้แสดงประชามติ แต่ในเชิงกระบวนการแล้วไม่ใช่


 


ทั้งนี้ หากฝ่ายการเมืองที่มีทุนในมือไม่พอใจหรือปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะระดมเสียงให้รับหรือรับไม่ก็ได้ ทำได้ง่ายมาก ซึ่งจะเข้าทาง คมช.ที่สามารถเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ขึ้นมาประกาศใช้ได้


         


ดังนั้น จึงไม่มีใครกล้ารันตีได้ว่า จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาซึ่งอาจหยิบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ คือฉบับพ.ศ.2501 หรือ พ.ศ.2535เป็นต้น จึงไม่มั่นใจว่า การลงประชามติจะดี เสนอว่า สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการ คือ ให้สถาบันอุดมศึกษาเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง ควบคู่กันไปกับการร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้การลงประชามติมีประสิทธิภาพมากขึ้น  


 


ด้านนายไพโรจน์ พลเพ็ชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า คณะปฎิรูปที่ยึดอำนาจก็เพื่อต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ต้องการตรวจสอบการทุจริต แต่เจตจำนงในการปฏิรูปการเมืองไม่มีเลย ทั้งๆ การต่อสู้เรียกร้องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาต้องการ ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพ้นจาการเมือง และต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองรอบสอง แต่การมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ไม่เห็นเลยว่าจะมีการปฏิรูปการเมือง


         


นอกจากนี้ ยังมีการระบุในหลักการว่าโครงสร้างทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเลย แต่เมื่อดูการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มต้นโดยมีสมัชชาแห่งชาติ ที่มาจาก 4 ภาคส่วนจำนวน 2,000 คน ซึ่งสัดส่วนของสมัชชาแห่งชาติเป็นอย่างไร วิธีการมาจากไหน จนถึงการคัดเลือกก็ไม่ได้ระบุไว้


 


อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นส่วนหนึ่งมาจากส่วนราชการที่มักรับใช้นักการเมือง โดยใช้ความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายเพื่อเข้าสู่อำนาจ ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หากต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงก็ควรเปิดให้ประชาชนและองค์กรทุกฝ่าย ส่งร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญโดยเอาความปรารถนาของประชาชนเป็นหลัก


         


โดยสรุปแล้วรัฐธรรมนูญปี 2549 จะมีลักษณะอนุรักษ์นิยมมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 พื้นที่ของประชาชนจะน้อยลง แต่จะเพิ่มอำนาจของบางฝ่ายมากขึ้น


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net