Skip to main content
sharethis

 

คำสารภาพของจอน
 
เมื่อวานนี้ผมได้พูดถึงผลของสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแบ่งแยก ทางความคิดของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยออกเป็น สองฝ่าย
 
นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง (ขอเรียกว่า "ฝ่าย ก.") กำลังมีอารมณ์โกรธและมีความเสียใจอย่าง ยิ่งกับรัฐประหาร ไม่มีความเชื่อใจไว้ใจต่อผู้ที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ว่าจะนำ ระบอบประชาธิปไตยมาสถาปนาโดยเร็ว เพราะมองว่าผู้สนับสนุนการรัฐประหารนั้นรวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่น่าจะแสวงหา อำนาจไม่ต่างกับการแสวงอำนาจของกลุ่มทักษิณ (รวมไปถึง "กลุ่มอำนาจเก่า" ที่สูญเสียอำนาจในยุค รัฐบาลทักษิณและตอนนี้มีโอกาสฟื้นคืนชีพ) ทั้งยืน หยัดในด้านหลักการที่จะคัดค้านการรัฐประหาร การฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าในกรณีใด แม้พวกตนจะไม่ชอบรัฐบาลทักษิณและเคยต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทักษิณที่ ละเมิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมมาตลอด แต่ก็ไม่สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหาทั้งปวงที่ก่อโดยรัฐบาลทักษิณด้วยวิธี การนอกระบอบประชาธิปไตย
 
นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยอีกฝ่ายหนึ่ง (ขอเรียกว่า "ฝ่าย ข.") กำลังมีอารมณ์ดีใจโล่งใจเพราะดูเหมือนว่าระบอบทักษิณที่ทำลายระบอบ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม สามารถถูกโค่นล้มไปได้ในที่สุด แม้พวกตนจะไม่ชอบการรัฐประหารและเคยต่อต้านการรัฐประหารมาตลอด แต่ในครั้งนี้มองไม่เห็นทางออกที่เป็นทางอื่น เพราะการออกมาชุมนุมต่อต้านตามระบอบประชาธิปไตยมากเท่าไรก็ไม่ได้ผล ความจริงต้องมองว่ารัฐบาลทักษิณเองก็ได้ก่อรัฐประหารมาก่อนหน้านี้แล้ว รัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นรัฐประหารซ้อนเพื่อคืนอำนาจแก่ประชาชน แน่นอนไม่ใช่ทางออกที่พึงปรารถนา แต่เราควรให้โอกาสผู้นำรัฐประหารแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเขาในเจตนาที่ เขาประกาศ และเราควรจะร่วมมือกับเขาในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นระบอบประชาธิปไตย และการส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน
 
แล้วผมได้ย้ำว่ายังมีคนในแวดวงภาคประชาชนอีกไม่น้อย ที่มีแนวคิดและมุมมองกระจายอยู่ระหว่างสองขั้วนี้ (แต่ก็คงไม่มีใครสามารถยืนอยู่บนคมมีดได้ ถึงที่สุดทุกคนก็จะล้มไปข้างใดข้างหนึ่งอยู่ดี)
 
ความจริงนี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ขบวนการภาคประชาชนที่ เกิดการแบ่งขั้วที่ยืนอยู่แทบจะฝั่งตรงกันข้ามกันเลย (ยิ่ง ถ้า "ฝ่าย ข." ไปร่วมมือใกล้ชิดกับคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลที่เป็นผลผลิตจากรัฐประหารครั้ง นี้)  สมัย 14 - 6 ตุลา 2516-2519 มีขั้วที่เอากับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กับไม่เอา พคท.เถียงกันรุนแรง แต่ก็ยังมีจุดร่วมต่อต้านอำนาจมืดฝ่ายขวาอยู่ หลัง 6 ตุลา ขบวนการภาคประชาชนแทบจะสามัคคีกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้นระหว่างฝ่าย เข้าป่ากับฝ่ายสันติวิธี ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 เกิดความร่วมมือกันในวงกว้าง (ความขัดแย้งมีแค่มุมมองเกี่ยวกับจำลอง)  ส่วนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใน ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวใหม่ แต่ยังมีจุดร่วมกันในการต่อต้านทักษิณดำรงอยู่ จุดต่างอยู่ที่วิธีการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม (เหมือนทุกครั้ง)  แต่บัดนี้ขั้วทั้งสองกำลังหันกระบอกปืนของจุดยืนใส่กัน และกันโดยตรง เพราะไม่มีเรื่องการต่อต้านทักษิณเป็นจุดร่วมอีกแล้ว
 
ผมอยากเสนอว่าใน ความขัดแย้งปัจจุบันเรากำลังลืมนึกถึงรากหญ้าแห่งอุดมการณ์ภาคประชาชนอัน ได้แก่ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน สันติภาพและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งผมเชื่อว่ายังคงเป็นอุดมการณ์ร่วมกันทั้งของนักเคลื่อนไหว "ฝ่าย ก." และ "ฝ่าย ข."
 
ผมยืนยันในสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออก ทางอื่นต่อรัฐประหารครั้งนี้ตามความเชื่อของตน ไม่ว่าจะประณามหรือปกปัองคณะรัฐประหาร แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการประณามกันเองอย่างรุนแรงด้วยความสะใจในอารมณ์ เพราะยังมีภารกิจมากมายที่จะต้องทำงานร่วมกันต่อไป  โดย เฉพาะในด้านการปฏิรูปสังคมและการเมือง และถ้าต่อไปปรากฏว่าความกลัวของ "ฝ่าย ก." กลายเป็นจริง เราก็จะต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายในการต่อต้านอำนาจเผด็จการต่อไป  แม้ในขณะนี้เองเราควรจะต้องสร้างแนวร่วมภาคประชาชนเพื่อ รณรงค์เรียกร้องการเลิกปิดกั้นเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบโดย เร่งด่วน และเรียกร้องธรรมนูญชั่วคราวที่ประกันสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน และเสรีภาพของสื่อ ไม่น้อยไปกว่าระดับที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2540
 
ส่วนระหว่าง "ฝ่าย ก." กับ "ฝ่าย ข." มุม มองของใครจะถูกหรือผิดนั้น กาลเวลาย่อมจะต้องพิสูจน์ ผมอยากเสนอว่าเราควรจัดสัมมนาร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และสรุปบทเรียน ครั้งแรกในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ (หนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร) และครั้งที่สองในวันที่ 19 กันยายน 2550 (หนึ่งปีหลังรัฐประหาร) ถ้าไม่มีใครอื่นจัดผมเสนอให้ประชาไทจัดเอง เพราะฉะนั้นแทนที่จะด่ากันไปด่ากันมา เราร่วมกันประเมินสถานการณ์จากความเป็นจริงและหาทางออกร่วมกันไม่ดีกว่าหรือ ?
 
ผมมีความเห็นว่าจุดยืนและมุมมองที่ต่างกัน ระหว่าง "ฝ่าย ก." กับ "ฝ่าย ข." มาจากการประเมินที่ต่างกันในเรื่อง
(ก) ระดับความเสียหายต่อสังคมไทยและต่อระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลทักษิณได้ก่อ ขึ้น และ 
(ข) โอกาสแก้ไขวิกฤติของรัฐบาลทักษิณโดยวิถีทางประชาธิปไตยก่อนที่ความเสียหายจะ กลายเป็นความหายนะ 
(ค) ระหว่างการดำรงต่อไปของอำนาจทักษิณกับการรัฐประหารระยะสั้นเพื่อฟื้นโครง สร้างประชาธิปไตย อันไหนเลวร้ายน้อยกว่ากัน (lesser evil)  
(ง) ประชาธิปไตยงอกมาจากกระบอกปืนเป็นไปได้หรือไม่
(จ) เป็นไปได้หรือที่กลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ (คงไม่ใช่แค่คนที่เป็นหัวหน้าโดยตำแหน่ง) จะไม่แสวงอำนาจแก่ตนเองและพวกพ้องต่อไปเหมือนพวกทักษิณ
 
และอีกประการหนึ่งมีความแตกต่างที่สำคัญ ระหว่างผู้ที่พร้อมจะยืดหยุ่นหลักการในสถานการณ์ที่เห็นว่ามีความจำเป็น ("realistic") ซึ่งย่อมถูกสงสัยและ กล่าวหาได้ว่าเป็นผู้ไร้หลักการ กับผู้ที่ยึดถือหลักการว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไรก็ตาม ตนก็จะยังยืนหยัดในวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น ("principled") ซึ่งแน่นอนเป็นผู้ที่ยึดพื้นที่คุณธรรม ("high moral ground") แต่ไม่รู้ว่าจะหลง "ความ ถูกต้อง" ของตัวเอง ("righteousness") มากไปหรือเปล่า
 
คราวนี้ก็มาถึงคำสารภาพของผม เพราะผมได้บอกไว้ในบทความผมตอนที่แล้วว่าผมจะพยายามเปิดเผยจุดยืนของตัว เองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จะบอกให้ !
 
ผมมีความรู้สึกว่าผมได้หลอกลวงเพื่อนผมเช่นคุณแหม่มหรืออาจารย์ธง ชัยที่ผมนับถือแต่ไม่รู้จักโดยส่วนตัวว่าผมอยู่ฝ่ายคัดค้านรัฐประหาร เพราะผมรีบออกมาเรียกร้องการคืนสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งโดยด่วนที่สุด (ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าเราต้องร่วมกันเรียกร้องอย่างหนักแน่น)
 
บอกให้ก็ได้ว่าผมอยู่ "ฝ่าย ข."
 
ที่รู้ตัวตรงนี้เป็นเพราะว่า เมื่อผมรู้ว่าเกิดรัฐประหารโค่นทักษิณ ผมรู้สึกโล่งใจถึงที่สุดเลย ทั้งยังตื่นเต้น และรู้สึกมีความหวังสำหรับอนาคต อย่างนี้ผมคงไม่สามารถบอกใครได้ว่าผมอยู่ "ฝ่าย ก." ทั้งๆ ที่ ถ้าถามผมก่อนนั้นว่าผมเห็นด้วยกับการรัฐประหารล้มทักษิณหรือไม่ ผมก็จะตอบว่าผมไม่เห็นด้วย
 
ผมมีความรู้สึกละอายคล้ายเพื่อนของผมที่เขียนไว้ในอีเมล์ว่า
 
"ผมขอแสดงความรู้สึกส่วนตัวว่า รู้สึกโล่งใจในระดับหนึ่งที่มีกระบวนการหยุดอำนาจบ้าคลั่งภายใต้เสื้อ ประชาธิปไตยของอดีตรัฐบาลทักษิณ แม้ว่ากระบวนนั้นจะดูไม่สร้างสรรค์ต่ออายตนะทั้ง ๖ ของนักประชาธิปไตยสุดขั้ว ผมเองก็ขอเรียนว่าไม่ชอบเผด็จการทหารเลย แต่ก็ทุกข์ใจกับเผด็จการประชาธิปไตยของทักษิณมาหลายปีเช่นกัน และแม้ใจจะอยากให้สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายตัวเอง แต่เมื่อติดตามเหตุการณ์ภาคใต้มาตลอด (และคลุกคลี กับปัญหาภาคใต้มาตั้งแต่เตรียมตัวจบจาก จปร จนเป็นว่าที่ร้อยตรีที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี สะพายเป้ลงรถไฟที่สถานีโคกโพธิ์) จนล่าสุดระเบิดที่หาดใหญ่ ผมตั้งคำถามกับตัวเองทันทีว่าเอาไงดี ปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายตัวเองหรือ มันต่างกับสถานการณ์ใน กทม. หรือภูมิภาคอื่นที่อาจ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยที่คนไทยกำลังเรียนรู้ แต่เหตุการณ์ภาคใต้ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยครับ ไม่สามารถเสี่ยงให้คลี่คลายตัวเองได้ จะเอาไงกันดี (แล้ว ลองวิเคราะห์ท่าทีทักษิณกับคนในรัฐบาลด้วยว่าแคร์ปัญหาภาคใต้เพียงใด)
 
ผมจึงนึกละอายเหมือนกันที่บอกว่ารู้สึกดี ขึ้นเมื่อมีการหยุด (ระบอบ) ทักษิณ (ด้วยการรัฐประหาร) แต่ผมหาคำตอบอื่นไม่ได้ ณ เวลานั้น"
 
ผมเองก็เป็นคนที่ประเมินความเสียหายที่ก่อโดยรัฐบาลทักษิณสูงมาก เช่นเดียวกับเพื่อนของผม (ผมจะอธิบายเหตุผลของผมในตอนต่อไป) ผมถือว่าทักษิณได้วางยาพิษสังคมไทยทั้งสังคมมายาวนานแล้ว ในรูปแบบของรัฐประหารที่มองไม่เห็น ทั้งยังได้สร้างความแตกแยกความขัดแย้งความรุนแรงในสังคมไทยที่ยากจะเยียวยา ได้ (หัวหน้าคณะปฏิรูปพูดถูก)
 
ดังนั้น ผมรู้สึกว่ารัฐประหารโค่นทักษิณก็คงไม่สามารถก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้าย ไปกว่านั้น แต่เราพอจะหวังได้ว่าอาจนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น  เสมือน รัฐบาลเปรมในอดีตที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ก็ยังดีกว่ารัฐบาลธานินทร์   (แต่ในยุคนี้ผมไม่เอารัฐบาล "เปรม" อีกนะ)
 
อย่างไรก็ตามผมมีสันดานเป็นคนเจ้าชู้ และตอนนี้ผมรู้สึกหลงรักและผูกพันกับ "ฝ่าย ก." มากกว่า "ฝ่าย ข." (ทั้งๆ ที่ค่อนข้างหมั่นไส้กับโวหารของ "ฝ่าย ก.") เพราะผมผิดหวังกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพสื่อมวลชนโดยคณะ รัฐประหาร รวมทั้งการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญทั้งดุ้นที่เกิดขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่มาตรการที่จำเป็นสำหรับการรักษาความสงบ
 
ผมรู้สึกผิดหวังต่อสื่อมวลชนที่ไม่ยอมทำหน้าที่ของสื่อ และผมรู้สึกผิดหวังต่อคนใน "ฝ่าย ข." ที่อยู่นิ่งเฉย ไม่ออกมาเรียกร้องอะไรเลยจากคณะรัฐประหาร และกลัวว่า "ฝ่าย ข." บางคนจะกลายเป็น "พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช" และ "ภูมิธรรม เวชยชัย" แห่งอนาคต บอกตรงๆ ว่าผมไว้ใจคนใน "ฝ่าย ก." มากกว่า"ฝ่าย ข." ในแง่ของการไม่ทรยศต่อหลักการ แต่ก็มีหลายคนที่อยู่ใน "ฝ่าย ข." ร่วมกับผมที่ผมไว้ใจเชื่อใจ นับถือเช่นเดียวกันกับ คนใน "ฝ่าย ก."
 
ผมพร้อมจะมองผู้ทำรัฐประหารครั้งนี้ (โดยเฉพาะหัวหน้า) ในแง่ดีและพร้อมที่จะให้โอกาสเขาพิสูจน์เจตนารมณ์ที่เขาประกาศโดยฉับไว นี่เป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจไม่ร่วมการประท้วงรัฐประหารเมื่อวานนี้(22ก.ย.) แต่ระหว่างนี้ถ้าจะให้ผมอยู่เฉยๆ ไม่เรียกร้องการคืนประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน ผมก็ยอมไม่ได้ และผมขอเรียกร้องพวกเราใน "ฝ่าย ข." ทุกคนที่มีความจริงใจในหลักประชาธิปไตยให้ออกมาเคลื่อนร่วมกับ "ฝ่าย ก." เพื่อการคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว และผมขอเรียกร้องคนใน "ฝ่าย ก." ไม่ให้เรียกร้องแค่รูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้นแต่ให้สนใจและใส่ใจในการเรียก ร้องการปฏิรูปทางสังคม เช่นการสร้างหลักประกันในสิทธิชุมชนและความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งการเสริมอำนาจต่อรองของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการเมือง
 
จอน อึ๊งภากรณ์
23 กันยายน 2549
  
  
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net