Skip to main content
sharethis



 


แรกเริ่มเดิมที เรานัดสัมภาษณ์ "สมเกียรติ อ่อนวิมล" เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเกิด "ทีวีสาธารณะ" ในสังคมไทย ในฐานะที่เขาเป็นสื่อมวลชนที่คร่ำหวอดในวงการสื่อมานาน


 


เรื่องทีวีสาธารณะเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่พักหนึ่งช่วงที่มีการทวงคืนไอทีวีจากเทมาเส็กให้มาเป็นทีวีสาธารณะเพื่อประชาชน และหลังจากนั้นมันก็กลายเป็นประเด็นเย็นอย่างรวดเร็วเกือบถึงขั้นแช่แข็ง


 


แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารฉับพลันกลางดึกคืนวันที่ 19 กันยายน การรายงานข่าวของโทรทัศน์ในค่ำคืนนั้นและค่ำคืนต่อๆ มา, การออกประกาศคณะปฏิรูปฯ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนเสนอข่าวสารไปในทางเดียวกัน, การปิดวิทยุชุมชนจำนวนมาก ทำให้เรื่องแช่แข็งนี้กลายเป็นประเด็นร้อนระอุอีกครั้ง และขยับขยายไปสู่การตั้งคำถามถึงบทบาทของสื่อในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมือง รวมถึงอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย


 


ดีหน่อยที่การสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่เกิน 5 คน !


 


000000000


 


ดูจากสถานการณ์รัฐประหารที่ทีวีทุกช่องต้องอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าของที่แท้จริงคือทหารแล้ว มันยังจะเป็นไปได้ไหมเรื่องทีวีสาธารณะในสังคมไทย


 


เราต้องผลักดันให้เป็นไปได้ เพราะเรามีทรัพยากร มีความถี่ที่จัดไว้ให้แล้ว มันเป็นเรื่องนโยบายเฉยๆ เลย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการบริหาร จัดการ ลงทุน ทำงาน มันเป็นเรื่องที่คนทุกประเทศและคนไทยทำได้ทั้งนั้น ถึงตอนนี้คณะปฏิรูปก็ต้องเร่งทำซะ มันเป็นไปได้ ถ้ามีนโยบายให้มันเป็นไปได้ ของเราเคยมีแล้วตามรัฐธรรมนูญเดิม และมีลักษณะพิเศษ คือให้เป็นองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นต่างๆ เพราะเราไม่ไว้ใจรัฐบาล แต่มันเป็นแค่ตัวกฎหมายที่ยังไม่มีใครปฏิบัติตาม


 


สถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่ทราบ เพราะคณะปฏิรูปการปกครองยังไม่ได้แตะประเด็นนี้


 







 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉีกทิ้งแล้วเสียดายไหม เสียดาย พวกเราที่ร่างรัฐธรรมนูญมาก็เสียดาย ผมนั่งนึกมา 2 คืน เสียดายมากแต่คิดอีกทีจะเสียดายมันทำไม ร่างแล้วมันก็ไม่ได้ใช้ มาตรา 40 ได้ใช้ไหม ในรัฐบาลชุดทักษิณมันเหมือนฉีกทิ้งไปแล้ว และถ้าไม่มีคณะปฏิรูปฯ คุณทักษิณก็จะไม่ใช้อยู่


 


แสดงว่าอาจารย์มองเห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้


 


ผมเห็นความหวังถ้าการเมืองบริสุทธิ์ ป่านนี้มันเกิดนานแล้ว แต่มันไม่บริสุทธิ์และจะไม่บริสุทธิ์ตลอดไปถ้าคุณทักษิณยังอยู่ หลอกล่อประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้เป็นจำนวนมากด้วยนโยบายประชานิยม เขาสามารถอยู่ในอำนาจได้อีกนาน เพราะประชาชนไม่ทัน สื่อมวลชนก็จะตกเป็นเครื่องมือของเขาตลอด ภาคประชาชนเขียนกฎหมาย เขียนรัฐธรรมนูญก็ไม่มีวันได้อย่างที่เขียนไว้


 


ตกลงการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งคราวนี้กับการมีทักษิณแล้วมีรัฐธรรมนูญแต่ไม่ใช้ ก็มีค่าใกล้เคียงกัน พูดเฉพาะเรื่องสื่อ เพียงแต่ถ้าคณะปฏิรูปทำอะไรที่ฉับพลัน โดยอาศัยรัฐธรรมนูญที่ฉีกทิ้งไปแล้วแต่นำมาปัดฝุ่นใช้อย่างไม่เป็นทางการก็ทำได้เหมือนประกาศให้มีผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภา ให้ยังอยู่ก็ทำได้  แต่ยังไม่มีประกาศว่าให้ใช้พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ถ้ามีก็แสดงว่าต้องการแก้ แต่จะแก้อย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะให้เดาใจทหารทั้งกะบิคงไม่อยากสูญเสียทีวีซึ่งเป็นแหล่งเงินทองของเขา


 


แล้วเราจะผลักดันยังไงในสถานการณ์แบบนี้


ตอนนี้ไม่ต้องผลักดัน ได้แต่นั่งภาวนาให้คุณสนธิเข้าใจรัฐธรรมนูญ  และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ผมจะทำยังไงได้ ก็เขายึดอำนาจแล้ว จะทำอะไรก็ได้


 


เราต้องรอเขาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว


ถูกต้องเลย สมาคมนักข่าวก็ออกแถลงเมื่อวานแล้ว นั่นเป็นเครื่องมือช่วยภาวนาอันที่หนึ่ง คือประกาศให้รู้จุดยืนว่าอย่าทิ้งมาตรา 39, 40, 41 เพื่อให้รู้ว่าห่วงอะไร แต่ทางฝ่ายรัฐประหารอาจจะพะวงเรื่องอื่นมากกว่าว่าจะยึดอำนาจเบ็ดเสร็จได้อย่างไร  เรื่องคลื่นความถี่มันเป็นเรื่องเชิงปรัชญาทางสังคม ทำได้หลายระดับตั้งแต่เต็มที่หรือผ่อนปรน


 


คืนรัฐประหารผมก็คิดอย่างเดียว รัฐธรรมนูญกู ! โดยส่วนตัวผมก็ร่างมาตรา 40 ชีวิตนี้ไม่ได้มีผลงานอะไรมาก แต่ร่างมาตรานี้เพราะเห็นว่าน่าจะส่งผลที่ดีต่อสังคม ถึงรัฐบาลจะเบี้ยวบ้าง บูดบ้าง ถ้ารัฐธรรมนูญอยู่ แล้วมีมาตรา 40 ที่ผมภูมิใจ เป็นผลงาน ชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีปัญหาแล้ว


 


สังคมไทยเลือกไม่ได้ จะเอารัฐบาลออกก็ต้องฉีกหลักการ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง


เขาไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญเลย เพียงแต่เอาทิ้งบางข้อก็ได้  แต่เอาไว้ทั้งฉบับอาจจะไม่ได้เพราะมีมาตรา 63 ที่ว่าห้ามปฏิวัติ และให้สามารถขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกปฏิวัติได้ ปฏิวัติวันแรกเลยต้องให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญด้วย ก็หมดทางที่ใครจะเล่นแง่กฎหมาย  เป็นปกติที่ต้องทำในการปฏิวัติ แต่อาจจะเลือกใช้เป็นบางมาตรา หรือเลือกกฎหมายบางฉบับกลับมาใช้ใหม่ได้ ขนาดประกาศให้พล.อ.สนธิ เป็นรัฐสภาก็ยังทำได้ ตลกมาก


 


ประเด็นก็คือ สำหรับผมเขาน่าจะทำให้ดีกว่าที่ทักษิณทำ มันไม่มีทางออกเพราะคุณทักษิณไม่ยอมลง ประชาชนก็ยังหนุนเขามากเพราะประชาชนโง่เขลา พูดกันตรงๆ นอกจากนั้นก็ไม่กล้าหาญ มันก็ต้องล้มด้วยอำนาจ


 


อาจารย์ไม่เชื่อในอำนาจประชาชนหรือ


ประชาชนคนไทยไม่เอาไหน รวมทั้งผมด้วย โดยเฉพาะต่างจังหวัดคิดว่าคุณทักษิณทำดี แล้วเราก็ชี้แจงเขาไม่ได้ว่าคุณทักษิณทำไม่ดี


 


มันคือทางออกเดียว


คงเป็นทางออกเดียว ถ้าคุณทักษิณไม่ยอมถอย อันที่จริงเขาไม่ฉลาดเอง ถ้าเขาจะรักษาเงิน ทรัพย์สินและชื่อเสียง ประมาณเดือนเมษายน พฤษภาคม ก็ถอยได้เลยแล้วประกาศเอาคุณความดีไว้ ก็จะไม่มีการปฏิวัติ แค่โดนตรวจสอบทางเทคนิคซึ่งก็คงไม่ผิดอีก   


 


เราเรียนรัฐศาสตร์มา เราก็ไม่ควรพูดว่าเผด็จการดีกว่า แต่ในชีวิตจริง แม้เราเรียนรัฐศาสตร์แท้ ก็ยังพบว่าประชาธิปไตยมีหลายแบบ ประชาธิปไตยแบบที่คุณทักษิณทำ เป็นการอาศัยช่องโหว่แล้วทำประโยชน์ให้ตัวเองได้โดยอาศัยเสียงข้างมาก ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นรุ่นหลังแบบที่คิดกันตะวันตกซัก 20 ปีมาแล้ว น่าจะดีกว่าเดิม เขาเรียกว่าประชาธิปไตยแบบแข็งแรง หรือ Strong Democracy


 


แต่มันก็มีปัญหาต่อไปอีกหรือเปล่า เพื่อกำจัดรัฐบาลทักษิณที่เป็นปัญหา ก็ต้องยอมรับเผด็จการทหาร ซึ่งตรวจสอบไม่ได้


นี่คือข้อไม่ดีไง เราเรียนรัฐศาสตร์มาก็ไม่ควรสนับสนุนการปฏิวัติอยู่แล้ว เราก็ได้แต่หวังว่าเขาจะดี แต่เฉพาะการกำจัดคุณทักษิณออกไปมันเป็นความรู้สึกส่วนตัวว่าโล่งใจ เพราะว่าเราไม่ชอบเขา มันไม่มีหลักทฤษฎีอะไรในการสอนวิชาประชาธิปไตยว่าทำไมเราถึงไม่ชอบผู้นำคนนี้ แต่โดยส่วนตัวเรารู้ว่าเขาทุจริต คดโกง แต่ที่ผ่านมาไม่ผิดทั้งนั้น เพราะทำอย่างเงียบๆ สมรู้ร่วมคิด แก้กฎหมายเอื้อตัวเอง มันเป็นแบบนี้และแก้ไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือยึดอำนาจ คุณทักษิณยังอยู่อีก เพราะต่างจังหวัดจำนวนมากคงเลือกเขา


 


ถ้าเรายึดประชาธิปไตยแบบตะวันตก 100% สังคมของเราก็ต้องเป็นตะวันตกด้วย ประชาชนส่วนใหญ่ต้องมีฐานะความเป็นอยู่แบบชนชั้นกลาง มีการศึกษา มีความรู้เท่าทันการเมือง อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่สังคมเรายังไม่เป็น การรับรู้มันยังไม่ใกล้เคียงกัน ชาวอาจสามารถไม่รู้หรอกว่าที่โบลิเวียเขาทำอะไร เขายึดอำนาจ ยึดโรงกลั่นน้ำมันกลับมาจากฝรั่ง มีใครรู้บ้างว่าฝรั่งเศสมาลงทุนน้ำประปาที่โบลิเวีย บังคับไม่ให้ชาวบ้านกินน้ำฝน รัฐบาลจึงยึดประปาคืนมา แล้วรัฐบาลทักษิณ 6 ปี ก็ไม่ได้ให้การศึกษาประชาชน ไม่ว่าเรื่องประชาธิปไตย การปฏิรูปการศึกษาในระบบให้เด็กรู้จักคิดก็ไม่มี คณะปฏิวัติจะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าทำไม่ได้เดี๋ยวก็จะมีทักษิณใหม่กลับเข้ามา


 


ผมอายุ 58 แล้วบางทีก็เหมือนปลงอนิจจัง สมัยเป็นหนุ่มสาวก็เดินขบวนกับเขาช่วง 14 ตุลา 2516 อยู่จุฬาฯ เป็นอาจารย์ก็ฟังเขาอภิปรายเรื่องเราไม่มีรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นก็เรียกร้องรัฐธรรมนูญ แล้วนี่ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญอีกแล้ว มันเฮิร์ท คนไทยทั้งประเทศต่างคนต่างนั่งคิด ชีวิตมันล้มเหลวหมดเลยเพราะการปฏิวัติ


 


แต่ส่วนใหญ่ก็ตอบรับ


ผมเองก็ตอบรับ แต่โดยส่วนตัวเฮิร์ทมากเลย


 


ตอนนี้มีบางกระแสเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่


ต้องตรวจสอบ


 


แต่ผู้มีอำนาจใหม่มีอำนาจเด็ดขาด แล้วบทบาทสื่อจะต้องเป็นยังไง ตอนนี้มีประกาศออกมาให้สื่อเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน ห้ามนำเสนออะไรที่สร้างความแตกแยก


เราก็ต้องไม่สนใจ ทำหน้าที่ของเราตามปกติ ทั้งหมดนี้โดยส่วนตัวผมโทษคุณทักษิณเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น


 


ทีนี้เราวัดผลพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ด้วยความรู้สึกที่เห็นหน้าและเสียงที่แกพูด มันเป็นการวิเคราะห์ที่แย่มาก แต่ผมไม่รู้จริงๆ ดูเท่านั้นผมก็รู้สึกว่าแกไม่ได้เต็มใจ ไม่ได้กร่างขนาดที่จะเคลียร์ทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ รู้สึกแกลำบากใจด้วยซ้ำ นี่เป็นความรู้สึกจากภาพที่เห็น ก็ถือว่าแกสื่อได้ดี ฉะนั้น สนธิดีกว่าทักษิณอยู่แล้วในอิมเมจที่ออกมา


 


ถ้าพล.อ.สนธิ ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ห้ามเอสเอ็มเอส หรืออะไรต่างๆ ก็ถือว่าก้าวเข้ามาในสิทธิเสรีภาพแล้ว เราก็ต้องใช้วิจารณญาณเอาตามปกติ ไม่ว่าสถานการณ์ปฏิวัติหรือสถานการณ์ทักษิณ


 


พูดกันตรงๆ ไม่ได้เข้าข้างคณะปฏิวัติ ทักษิณน่ะโหดกว่า เพราะใช้ธุรกิจเป็นเครื่องมือ เป็นอำนาจในการว่าจ้างหรือถอดถอน เป็นสิ่งมองไม่เห็น


 


อำนาจทางตรงดีกว่าทางอ้อมหรือ


มันโหดร้ายกว่า อันนี้พูดตามความเป็นจริง ไม่ได้พูดสวยงาม กลัวเสียภาพลักษณ์ ผมเคยไปบรรยายที่รามคำแหงเรื่องบทบาทของสื่อมวลชนกับรัฐ ผมจะพูดถึงประสบการณ์ของผมตลอดรัฐบาลเปรมกับรัฐบาลทักษิณ ผมแฮปปี้มากในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะพอทำรายการเขากั้น เขาห้าม แต่ไม่เคยฟันทิ้ง หรือทุบทิ้งทั้งหมดให้ลำบาก ไม่เคยตกงาน แต่พอมาถึงยุคคุณทักษิณ ถ้าไม่เป็นพวกเขามันไม่ได้ทำงานเลย เขาจะบอกคนที่คุมเราอยู่


 


ยุคพลเอกเปรม เขาจะเตือนเรามา ให้เราหยุด แต่ลูกน้อง ส่วนอื่นๆ ยังทำงานปกติเหมือนเดิม เพียงแต่ผมมันซ่ามากไป เขาก็ขอร้องให้หยุด คุณประสงค์ สุ่นสิริ นี่แหละที่เรียกไปคุย แต่ยุคคุณทักษิณนี่ไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนสั่ง รายการวิทยุผมทำมาเกือบ 20 ปีที่ต่อเนื่องกันมารายการเดียว และเป็นรายได้หลักที่เลี้ยงครอบครัว พอพูดไม่ถูกใจ สถานีก็โทรมาบอกให้หยุด แต่ถามว่าใครสั่ง ไม่รู้ ทั้งๆ ที่เรารู้แต่ก็พูดไม่ได้ เพราะสืบไปไม่ถึง อำนาจมืดแบบนี้มีอยู่ทั่วไป แบบนี้มันโหดร้ายกว่า เพราะมันเป็นธุรกิจและการเมืองปนกันหมด และแก้ปัญหาโดยระบบก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นยุคพลเอกเปรมมันพูดกันตรงๆ


 


พูดแล้วอาจจะดูไม่ดีเลย แต่โดยประสบการณ์ส่วนตัวผมว่าทักษิณแย่กว่าประสบการณ์ทหารที่ผมเคยเจอมาในอดีต ส่วนพล.อ.สนธิ ผมไม่ทราบ


 


แต่เขาคุมเนื้อหาการนำเสนอ


เขาคุมเฉพาะข่าว ไม่ได้เข้ามาคุมทั้งผังรายการ หรือเอาพวกเขาเข้ามาผลิตรายการ เพียงแต่ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ยังไม่ได้มาสั่ง


 


 


แต่ก็มีการล้มสัญญาณบางช่วงของบีบีซี ที่รายงานเกี่ยวกับรัฐประหาร


ผมก็นั่งดูอยู่ วันแรกจะล้มไปหมดทั้งรายการ


 


นี่เป็นความจำเป็นที่ควรจะยอมรับของการทำรัฐประหาร


เขาไม่ควรทำ ผมก็รับไม่ได้ แล้วที่เขาทำก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ผมก็ยังนั่งดูได้เพราะมันมาจากดาวเทียม แล้วเราก็รับรายการเขาด้วยเพื่อออกอากาศทุกเช้า เมื่อเช้าผมก็ออกอากาศที่ซีเอ็นเอ็นด้วยประมาณ 3-4 นาที เขาว่ายังไงผมเอาออกอากาศหมด


 


มีคำสั่งไม่เป็นทางการแว่วๆ มาเหมือนกันว่าถ้ามีอะไรเกี่ยวกับไทยให้เอาให้ทหารดูก่อน ทหารเขาก็นั่งอยู่ที่ห้องคอนโทรลที่จะส่งสัญญาณออกอากาศ 24 ชั่วโมง เขาก็นั่งดูเฉยๆ รายการผมเป็นรายการข่าวต่างประเทศเล็กๆ มักเอารายงานข่าวต่างประเทศมาให้คนไทยดูทั้งกะบิเพื่อให้รู้ว่าฝรั่งคิดยังไงกับเรา ถ้าเขาสังเกตว่าผิดปกติเขาก็อาจจะตัดภาพทิ้ง แต่เมื่อเช้าก็ไม่เห็นเขาทำอะไรผม บอกให้ส่งตรวจก่อน ผมก็ไม่ส่ง ออกอากาศไปเลย


 


ฉะนั้น จะสั่งห้ามมันตลก ในโลกปัจจุบันคุณทำไม่ได้อยู่แล้ว คุณทำได้จุดหนึ่งแต่อีกหลายจุดคุณทำไม่ได้ สิ่งที่เขาทำนี่มันเชย ทำให้เสียภาพพจน์ การรังเกียจทักษิณ ทำให้คนยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย เขาอุตส่าห์ยอมรับก็เกรงใจกันก็พอแล้ว ไม่ต้องขนาดไม่ให้ดูซีเอ็นเอ็น


 


ข้อเสียคือเชยอย่างเดียวหรือ


เชย ไม่เวิร์คด้วย แต่เขาไม่เด็ดขาดหรอก เชื่อเถอะ เพียงแต่เขาทำให้เราหงุดหงิด อุดมการณ์ส่วนตัวเราผ่อนปรนมากแล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าคณะปฏิวัติรู้จักจิตวิทยาเสียหน่อยรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่าไปแตะส่วนที่เป็นเสรีภาพ ถ้าแถลงตั้งแต่วันแรก "ขอให้ทุกฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์พวกกระผมได้เต็มที่ เพราะพวกผมไม่ได้มาแสวงหาอำนาจ ช่วยตรวจสอบผมด้วย ที่มาเพราะเห็นว่าประชาชนไม่พอใจกับการปกครองของนายกฯ คนที่เราล้มไป เราจะมาช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญที่ช่วยกันร่างมา แต่บางมาตราเขาขอยกเว้นไว้..." หัดพูดกันหน่อย


 


มันมีประเด็นว่า ตามบริบทสังคม ประวัติศาสตร์การเมืองของเรานั้น พอทหารรัฐประหารยึดอำนาจ มันไม่เคยจบลงด้วยการลงจากอำนาจอย่างสงบตามสัญญา เราจะวางใจได้อย่างไร


ใช่ เมื่อเช้าดูอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ซึ่งเราก็เอามาออกอากาศ อาจารย์ใจก็พูดอย่างนี้ แต่แกก็บอกว่า เราไม่เคยไว้ใจทหาร ประวัติศาสตร์มันเป็นอย่างนั้นเสนอ แต่มันอาจจะมีครั้งแรกก็ได้ที่ทหารยอมลงจากอำนาจตามที่สัญญา


 


แต่ตอนนี้เราจะพูดยังไง ก็ได้แต่ดูพล.อ.สนธิ ดูจากสีหน้าท่าทางว่าเป็นประเภทที่ไม่เต็มใจ และทุกคนก็ดูแล้วว่าไม่พร้อม ติดๆ ขัดๆ ภาพล้มตั้งหลายครั้ง แต่เหตุผลที่ทำก็อาจจะมีหลายเรื่อง


 


เรื่องอะไรที่ทำให้ต้องตัดสินใจรัฐประหาร


จากประสบการณ์ ถ้าคุณทักษิณไม่แตะโผทหารจะอยู่ได้อีกนาน นี่ไม่ได้ดูถูกทหารนะ แต่คุณเล่นไปแตะหัวใจของเขาคือ เกียรติ ศักดิ์ศรี อิสระในการบริหารจัดการ แตะโผแล้วเอาพวกคุณเข้าไปอย่างนี้มันหมิ่นศักดิ์ศรีและแทรกแซง เหมือนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เลย คุณทักษิณไม่เรียนรู้เอง


 


มันไม่ดีหรอกที่ทหารทำอย่างนี้ แต่อยู่อย่างเดิม ผมก็ไม่ไหวเหมือนกัน


 


อยู่อย่างเดิมสื่อยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้มาก


ใช่ ก็วิพากษ์ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา เขาก็ไม่ไป จริงๆ แล้วตามหลักมันไม่ใช่เรื่องไปหรือไม่ไป แต่เขาต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นผู้นำที่ดี แต่มันไม่เปลี่ยน การไปหรือไม่ไปมันขึ้นอยู่กับการโหวตของประชาชน ซึ่งในใจผมก็ต่อว่าประชาชนเสมอว่ารู้ไม่ทัน เพราะผมติดตามคุณทักษิณมาตั้งแต่ยังไม่เป็นนายกฯ และรู้ว่าเขาทุจริต คดโกง มาถึงวันนี้ก็ยังคิดตลอดว่าไอ้คนอย่างนี้มันมาเป็นนายกฯ ได้ยังไง


 


เสรีภาพสื่อมวลชน แน่นอน เราห่วง แต่เวลานี้บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปชัดเจน ผมเห็นเขาขอความร่วมมือ ก็ยังดี


 


อาจารย์เรียกร้องให้สื่อต้องกล้าหาญเอง


ผมไม่ได้เรียกร้องอะไร มันดูแล้วเขาไม่ได้รุนแรง สถานการณ์อย่างนี้เราแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก เพราะเขายึดอำนาจ เราก็ได้แต่หวัง หวังว่าเขาจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้เต็มใจจริงๆ แล้วก็ทำในสิ่งที่ทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นแล้วออกไปเร็วๆ มันก็ได้แต่หวัง จะทำยังไง ไม่พอใจก็ออกแถลง ต่างคนต่างออกได้ทั้งนั้น ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าผมมีอำนาจในการคุมสื่อในส่วนของผม ผมก็ไม่สนใจ ทำไปตามปกติ ก็อยากรู้ว่าเขาจะว่ายังไง เขาจะสั่งยังไงก็เรื่องของเขา มันเป็นการสะท้อนนโยบายของเขา ส่วนของผมก็ทำตามปกติ ส่วนอื่นๆ ผมไม่เกี่ยว ใครจะจ๋อย จะกลัว อะไรก็เชิญ


 


สื่อจะมีบทบาทอะไรได้ไหมกับการทำให้ทหารลงจากอำนาจอย่างสันติตามสัญญา ไม่จบด้วยความรุนแรง


มันจะจบยังไงก็ไม่รู้ แต่เขาสัญญาว่าภายใน 1 ปีจะมีรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งใหม่ คนที่ยึดอำนาจทั่วโลกก็สัญญากันแบบนี้ไม่มีอะไรใหม่ ถึงเวลาก็คงไป แต่อาจจะเกิน 1 ปีไปสักนิด แล้วก็เลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองเดิม อาจจะเปลี่ยนชื่อใหม่กลับเข้ามาอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เหมือนเดิม เดี๋ยวผมก็ตาย แล้วลูกผมก็มาเริ่มที่เดิม ตั้งแต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ มันเป็นชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย


 


ถ้ามีทางเลือก ผมก็คิดว่าให้ประเทศชาติมันเสียหายอย่างยับเยินด้วยฝีมือทักษิณ ให้ประเทศก็เละเทะไปเลย ผมว่าสัก 12 ปีถ้าดูจากโบลิเวีย อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา แล้วก็สมน้ำหน้าประชาชนผู้โง่เขลา ทักษิณก็รวยเละและถูกอัปเปหิโดยฝูงชนให้ไปอยู่ลอนดอนอย่างทุกวันนี้ แต่วันนี้ไปด้วยกระบอกปืน ไม่ได้โดนประชาชนไล่ ฉะนั้น มันไม่จบลงแบบเป็นบทเรียนให้ทักษิณและประชาชน เขาอาจจะคอยจังหวะกลับมาอีก


 


โดยภาพรวมคนไทยคุณภาพต่ำในการรับรู้และการวิเคราะห์ข่าวสารบ้านเมือง ไม่รู้จักทักษิณ ไม่รู้ว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมันเลวร้ายมากในรัสเซีย จะโกรธก็ไม่ว่าเขาจะได้คิดกันจริงๆ


 


จะโทษชาวบ้านก็คงไม่ได้ โดยโครงสร้างมันทำให้เป็นแบบนั้น


ไม่ได้โทษชาวบ้าน ต้องโทษรัฐบาล ทุกอย่างเราต้องโทษรัฐบาล คุณทักษิณต้องรับโทษไปตามระเบียบที่ไม่ปรับปรุงความคิดอ่านของประชาชน ช่วงทักษิณเราก็ต้องโทษรัฐบาลทักษิณ ช่วงคณะปฏิรูปฯ ถ้าไม่ทำก็ต้องโทษคณะปฏิรูปฯ คณะปฏิรูปฯ จะเป็นใครไม่รู้ แต่ต้องวิจารณ์ได้


 


เขาห้ามวิจารณ์


วิจารณ์ได้ เขาจะมาทำอะไรกับเรา ถ้าพูดกันตามเหตุตามผล ถ้าเขาจะทำจะลงโทษก็แค่จับเราไปติดคุก เราต้องใช้วิจารณญาณ เพราะมนุษย์เราเกิดมาย่อมมีเสรีภาพติดตัวมาอย่างเท่าเทียมกัน เขามาช่วยให้เราโล่งใจที่ช่วยกำจัดทักษิณ แต่ถ้าเขาไม่คืนระบบที่ถูกที่ควรมาเราก็ต้องตำหนิ


 


ถ้าขยายไปมากกว่าเรื่องสื่อ การรัฐประหารกระทบสิทธิอื่นๆ ของประชาชนด้วย


กระทบหมดโดยหลักการ เมื่อล้มรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องสิทธิเสรีภาพ เมื่อเทียบกับคุณทักษิณแน่นอนเขาดีกว่า ส่วนคณะปฏิรูปฯ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งจะสั่งอะไรก็ได้ อันนี้ไม่ดี 100%


 


เราก็ต้องยอมรับไปก่อน รอให้เขาทำตามสัญญา


เราก็คงต้องพูดว่าคงต้องยอมรับ มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาบังคับทำเอามาให้ เรามีปฏิกิริยาเสมอ ได้ ทั้งในใจและทั้งการแสดงออก มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเมื่อทางคณะปฏิรูปยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ เราก็ยึดด้วย


 


ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของนักปฏิวัติทั้งหลายว่าจะถูกตำหนิเรื่องสิทธิเสรีภาพ  ถ้าเขาพูดดีๆ แล้วบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังใช้หมวด 4 และหมวด 5 อยู่ทุกประการว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐก็ยังได้


 


สรุปแล้วสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย


ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มันไม่มีอยู่แล้ว แม้กระทั่งอเมริกาก็ตาม คนที่บ่นบุช ก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะใช้อำนาจ งี่เง่า อ่อนแอ ภูมิปัญญาต่ำ แต่เขาดีกว่าเราเพราะมีคนชั้นกลางเยอะ จึงไม่ค่อยมีช่องว่างด้านฐานะ ความคิดอ่าน การรับรู้ คนชั้นกลางถือเป็นกำลังสำคัญ


 


โดยความกังวลส่วนตัว ถ้าการรัฐประหารครั้งนี้หากจบลงตามคำมั่นของพล.อ.สนธิ และทุกอย่างโปร่งใสเป็นที่ยอมรับของสังคมก็ดีไป แต่ถ้ามันจบแบบเดิมด้วยความสูญเสีย เราจะเสียใจไหมที่เรายอมรับมันตั้งแต่ต้น


ก่อนอื่นการยอมรับแบบที่ผมพูดมันมีเงื่อนไข คือพูดเมื่อเหตุมันเกิดขึ้นแล้ว และเหตุผลที่ยอมรับเมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างทักษิณที่เราเห็นแล้วกับสนธิที่เรายังไม่เห็น ยกเว้นใบหน้าและน้ำเสียงไม่กี่คำ เรายังไม่เห็นของแท้ แล้วเราก็หวังว่ามันจบลงด้วยดี สำหรับผมผมก็พูดได้แค่นี้


 


แต่ถ้าไม่จบลงอย่างนี้ จะเสียใจไหมกับคำพูดในตอนนี้ ทุกวันนี้มันก็เสียใจอยู่แล้ว แต่จะหาเงื่อนไขเพื่อปลอบประโลมใจว่าเรายอมรับได้ในเงื่อนไขอะไร ผมก็บอกว่าเรายอมรับได้ในเงื่อนไขที่ว่า หวังว่าเขาจะดีอย่างที่พูด แต่ผมคิดว่าผมไม่ใช่คนสำคัญที่จะมีความเห็นแล้วกลายเป็นตัวแปรสำคัญ มันไม่ได้มีค่าอะไรต่อการผันแปรของสังคม แล้วถ้าความเห็นผมผิดพลาดไปก็เป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งวิเคราะห์ผิดพลาดไป ซึ่งก็ผิดอยู่เสมอ


 


นี่ผม 58 ปีแล้ว ที่ทำมาก็พบว่ามันไปได้ไม่กี่ก้าวเลย และยังพบว่ามันถอยหลังด้วยซ้ำ เริ่มเหมือน 14 ตุลาแล้ว เดี๋ยวก็ต้องเรียกร้องรัฐธรรมนูญอีก เพราะเขียนแล้วไม่ถูกใจ เพราะฉะนั้น เราบอกว่าเสียดายรัฐธรรมนูญ ใช่ แต่ทักษิณอยู่ก็ไม่ใช่ มันเละพอกัน เสียดาย แต่เขียนใหม่ไม่ยาก เอานักวิชาการ 20 คนมานั่งเขียนใหม่แล้วบอกเอาตามเดิม ถ้าคุณสนธิให้ใช้ฉบับ 2540 เป็นหลักแล้วแก้บางส่วนที่คิดว่าไม่เหมาะสม เช่น ส.ว.ที่เละเทะจะทำยังไง แล้วก็เอาส่วนที่จะแก้มาถามชาวบ้านเสียหน่อย ถ้าเป็นแบบนี้มันก็ยังกลับมา แต่ถ้ามันไม่กลับมาเราก็จะเฮิร์ทมาก


 






 

รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์


คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  


 


บทบาทสื่อในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมืองควรเป็นอย่าไร


สื่อก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว แต่มันจะถูกกดดัน ถูกควบคุม ก็ต้องสู้ที่จะพูดความจริง


 


รัฐธรรมนูญฉบับเดิมถูกยกเลิกไป จะส่งผลกับการทำงานของสื่อหรือไม่


แน่นอน มันแปลว่าหลักประกันเรื่องสิทธิ เสรีภาพใดๆ เลย ถูกยกเลิกอยู่แล้ว ทางคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ก็มีแถลงการณ์ในเรื่องนี้อยู่ ขอให้คืนสิทธิเสรีภาพ อย่าปิดวิทยุชุมชนอะไรพวกนี้


 


รัฐธรรมนูญใหม่น่าจะได้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะของสื่อมวลชน เหมือนที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่


ไม่เคยเห็นว่าได้ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เขาไม่เรียกรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เขาเรียกธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ไม่เคยได้ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์มันจะเป็นเอกสารที่ห้ามสิทธิ เสรีภาพด้วยซ้ำ ก็ไม่ทราบว่าฉบับใหม่นี้จะมีทิศทางแตกต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด ตอบยาก


 


จะต้องเริ่มต้นรณรงค์เรื่องหลักประกันสิทธิ เสรีภาพสื่อกันใหม่เลยหรือไม่


คงต้องรอดูว่าหลังจาก 2 สัปดาห์ข้างหน้ามันจะไปทางไหน ตอนนี้คงต้องมีเสรีภาพพื้นฐานคืนมาก่อน


 


เห็นว่ามีการปิดวิทยุชุมชนทางเหนือหลายสิบสถานี อาจารย์มองยังไง


ไม่แน่ใจว่าข้อมูลจะเป็นยังไง บางส่วนก็ฟังดูเหมือนเป็นกลุ่มที่เป็นปากเสียงรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็สู้กันในฐานะอำนาจทางการเมืองของ 2 กลุ่มที่ขัดแย้งกันอยู่  แต่มันก็ไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพที่จะคัดค้าน รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมา


 


มองบทบาทสื่อมวลชนที่เป็นอยู่ตอนนี้อย่างไร


อยากให้พูดความจริง วิเคราะห์เจาะลึกที่มาที่ไปว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดจากอะไร และจะนำพาไปสู่อะไรบ้าง สื่อที่เขาทำหน้าที่อยู่ก็ยังพยายามทำหน้าที่ ยังไม่เลิกราที่จะไปถามความเห็นคนโน้นคนนี้ คิดว่าทุกคนก็พยายามอยู่ แต่การควบคุมมันมี เพราะการขึ้นมานี้ก็ต้องคุมสื่อเพื่อสร้างความชอบธรรม สร้างการยอมรับ ความมั่นใจให้ประชาชน


 


สิ่งที่จะต้องจับตา นำเสนอเป็นพิเศษหลังจากนี้สำหรับภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสื่อ


การควบคุมสื่อมวลชน เพราะเราไม่อยากให้มีการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน อยากให้สื่อสามารถทำงานได้ตามจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ปฏิบัติงานได้อย่างปกติ


 


สถานการณ์แบบนี้จะยาวนานขนาดไหน


ช่วงนี้เขาคงคุมไปสักพักหนึ่ง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองที่ยังไม่ลงตัว ยังต่อสู้กันอยู่


 


ในกรณีของต่างประเทศ เวลามีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง สื่อยังมีหลักประกันสิทธิ เสรีภาพไหม


ถ้าอยากพูดความจริงก็ลงใต้ดิน ในเมื่อพูดในสื่อที่ออกโดยปกติไม่ได้ ก็ต้องหาช่องทางใหม่ เปิดเว็บไซต์ใหม่ ออกสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กจ่ายแจกกันในคนรู้จัก  แต่ของเรามันก้ำกึ่ง เพราะมีความคิดต่อต้านรัฐบาลเดิมอยู่ การปฏิรูปฯ ครั้งนี้หลายฝ่ายก็ตอบรับ เพราะเชื่อว่าจะทำให้การต่อต้านรัฐบาลเดิมบรรลุผล แต่บางฝ่ายก็เห็นว่านี่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย มันมีหลากหลายความเห็นในสังคม


 


ทางออกควรจะเป็นอย่างไร 


มันยังคิดไม่ออก เกิดเหตุ 24 ชั่วโมง ทางออกมันไม่มี เพราะว่าถูกเขาบี้อยู่ จะไปออกทางไหน มันก็ได้แต่ถูกเขาจัดการ ดิ้นไปดิ้นมา ได้แต่ร้องโวยวายกันไปว่าไม่เห็นด้วย นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย


 


ข้อเรียกร้องเบื้องต้นสำหรับสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชน ที่คปส.เรียกร้องมีอะไรบ้าง


มาตรา 39 น่าจะคงอยู่อยู่แล้ว คือสิทธิในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน  ส่วนมาตรา 40 เรื่องคลื่น เรื่องทรัพยากรส่วนตัว เป็นหลักประกันที่สำคัญที่ขอให้คงอยู่ด้วย  มาตรา 41 ก็พิเศษคือให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพที่จะพูดความจริงสำหรับนักวิชาชีพ แต่ละมาตราในรัฐธรรมนูญ 40 มีความสำคัญ เราอยากเห็นทั้งตัวรัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแบบนี้ หรือมากกว่านี้ แต่หลายฝ่ายก็เกรงว่าจะมัวแต่ยึดถือกระดาษ ในทางปฏิบัติยังไม่มากพอ ดังนั้น แนวปฏิบัติต้องมีเจตนารมณ์ตามตัวเอกสารและเอาจริงเอาจัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net