Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ก.ย. 49 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นายสุวิทย์ เลิศไกรเมธี นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ประสานงานศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา เดินทางไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อถามถึงจุดยืนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่อการรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ และถามหาความเหมาะสมของนายเสนห์ จามริก ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์โดยมีเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า "รัฐประหารคือทางออก"


นายธนาพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐประหารมีเหตุผลมาตลอดในสิ่งที่ทำ สิ่งที่ทหารหรือสื่อพูดว่ารัฐประหารแบบสงบนั้น หากย้อนดูจากประวัติศาสตร์การรัฐประหารก็เป็นเช่นนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การรัฐประหารทำลายสิทธิมนุษยชน ทั้งฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ปิดกั้นสิทธิในการแสดงออก โดยมีกรณีตัวอย่างการจับนายฉลาด วรฉัตร และนายทวี ไกรคุปต์ ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร


นายธนาพล กล่าวอีกว่า ยอมรับว่า นายเสน่ห์สามารถแสดงความเห็นได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เราก็มีสิทธในการเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และหากแรงกว่านั้นก็มีสิทธิในการประณามด้วย


"คิดว่าจะเคาะตามห้องของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั้ง 10 คน ว่าเห็นอย่างไร " นายธนาพลกล่าว


นายสุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา ถ้านายเสน่ห์ไม่ใช่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่อ้างตัวเองว่าพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้กลับมาพิทักษ์คนที่ทำผิดต่อหลักการเหล่านั้น นายเสน่ห์ยังมองว่าการรัฐประหารเป็นทางออก และไม่ใช่การถอยหลัง นี่เป็นปัญหาเชิงหลักการที่ทำให้นายเสน่ห์เปลี่ยนไปจากคนซึ่งคุ้มครองสิทธิมากลายไปเป็นคนละเมิดสิทธิ์ ถือว่าหมดคุณสมบัติของการเป็นประธานองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิไปโดยปริยาย หากถ้าคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่แสดงออกว่าคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ถูกกระทำพร้อมกันทั่วประเทศ คณะกรรมการสิทธิฯ ทั้งชุดควรต้องลาออก
 
อย่างไรก็ตาม ในการเข้าพบช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. มีคณะกรรมการสิทธิฯ อยู่เพียง 2 คน คือนางสุนี ไชยรส และนายวสันต์ พานิช เป็นผู้ชี้แจงคำตอบ


นางสุนี ไชยรส กล่าวยอมรับว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการรัฐประหารใดๆ เลย แต่มีการคุยกันในวันนี้ว่า งานของคณะกรรมการสิทธิฯ จะยังดำเนินต่อไป แต่ใครจะยอมรับหรือไม่ เป็นเรื่องเชิงสังคม เพราะอาจจะมีการตีความหลากหลาย และไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ได้ คณะปฏิรูปฯ พูดเหมือนทุกอย่างยุติหมดแล้ว แต่ทุกคนมีสิทธิตีความยืนยันว่าจะทำงานทุกวันต่อไปเท่าที่ทำได้


ส่วนในแง่ความเห็นที่นายเสน่ห์ ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ พูดนั้น ไม่สามารถตอบแทนได้ทุกมุม แต่คิดว่ามีมุมหนึ่งที่อาจจะเห็นพ้องกันคือ ทุกวันนี้ ความแตกต่างทางความเห็นของคนมีมากมายต่างกันไป ในแง่กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างให้ได้สิทธิในการพูด และจากการทำงานที่ผ่านมาของนายเสน่ห์ จึงเข้าใจนายเสน่ห์ว่ามีจุดยืนร่วมกันคือ การพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ในเมื่อนายเสน่ห์ไม่อยู่ ขออธิบายเบื้องต้นโดยหลักการว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร


แต่ถามว่าควรจะต้องมาคัดค้านการรัฐประหารโดยตรงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องความเห็นที่หลากหลายได้ ซึ่งนางสุนีเห็นว่า ขณะนี้ ไม่ใช่เราเลือกหรือไม่เลือก แต่มันเกิดขึ้นมาแล้วเราไม่มีทางเลือก
ในส่วนที่จะพูดแทนนายเสน่ห์นั้น หากบอกว่านายเสน่ห์สนับสนุนการรัฐประหารหรือเปลี่ยนจุดยืนนั้น ไม่ใช่แน่นอน โดยสำนวน เป็นการพยายามพูดว่าสิ่งเหล่านี้ถูกกดดันมาถึงจุดนี้ หากเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นตีความไปทางอื่นแล้วจะประณาม ก็เป็นสิทธิที่ทำได้เช่นกัน


นางสุนีกล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว แต่ที่ฟังฐานเสียงจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 21 ก.ย. คิดว่าคงจะไม่ต่อต้านหรือลุกขึ้นมาชุมนุมคัดค้าน เพราะปัญหาของบ้านเมืองมีจริง สิ่งที่ต้องเรียกร้องคือการก้าวเดินต่อไปให้เร็วที่สุด ต้องคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนเร็วที่สุด


เมื่อถามต่อว่าหากมีการต่อต้านรัฐประหารแล้วถูกจับ คณะกรรมการสิทธิฯ จะเข้าพิทักษ์สิทธิฯ หรือไม่ นางสุนีตอบว่า ไม่รู้เขาจะฟังหรือไม่ มันพูดได้หลายรูปแบบ ถ้าจะใช้สิทธิการชุมนุมแล้วสุ่มเสี่ยงกับการที่คณะปฏิรูปฯ จะจัดการ คณะกรรมการสิทธิฯ คงจะออกมาพูดแน่ แต่จะช่วยได้แค่ไหนไม่รู้ และไม่รู้ว่าจะทันท่วงทีทุกครั้งหรือไม่ เช่น กรณีการจับกุมนายฉลาด มันเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง


ด้านนายวสันต์ กล่าวว่า  เขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ไม่ใช่มติของคณะกรรมการสิทธิฯ อีกความเห็นคือ ควรต้องยกเลิกคำประกาศไม่ให้ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนโดยเร็วที่สุด


ส่วนความเห็นต่อนายเสน่ห์ เขาคงไม่ก้าวล่วง เพราะต้องแปลความหมายในสิ่งที่พูดด้วย จะด่วนสรุปว่านายเสนห์เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ได้


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีการรัฐประหารนี้ ไม่สำคัญพอที่คณะกรรมการสิทธิฯ จะประชุมเพื่อเสนอท่าทีร่วมกันหรือ


นางสุนี ยอมรับว่าไม่มีอย่างเป็นทางการ แต่มิใช่ไม่สำคัญ จึงมีการให้สัมภาษณ์ในนามคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ละคน ซึ่งนางสุนีกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ถ้าพูดในเวลาคือ ต้องคืนอำนาจให้เร็ว ต้องเอาหลักการรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาใช้ แม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดและต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งยังสามารถทำตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ส. 2540 ได้ และเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าให้นำบางมาตรากลับมาใช้ได้เลย


นางสุนี บอกอีกว่า บทบาทของคณะกรรมการสิทธิฯ ยังอยู่ เพียงแต่ไม่ทราบว่ามีความชอบธรรมหรือมีการยอมรับการทำงานหรือไม่ วันนี้เชิญหน่วยงานเล็กๆ ให้ข้อเท็จจริง เขาก็ปฏิเสธโดยบอกว่าไม่มีคณะกรรมการสิทธิฯ แล้ว เราก็ไม่มีอำนาจอะไรไปบังคับ เราถือว่าเรายังอยู่ แต่ถ้าทุกฝ่ายไม่ยอมรับก็ทำอะไรไม่ได้


นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ประสานงานศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา มีข้อกังวลว่า กรณีที่ถูกละเมิดสิทธิจากการรัฐประหาร เช่น การปิดกั้นสื่อ การห้ามการชุมนุม ฯลฯ จะมีการคุ้มครองอย่างไร เพราะอาจมีการชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.ย. นางสุนีตอบว่าจะพูดเลยว่าจับเขาทำไม เพราะคณะปฏิรูปฯ มีประกาศมาว่า ยินดีให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมือง และหากถูกจับก็ยินดีไปเยี่ยมด้วย.



 


 


ข่าวประกอบ :


แถลงการณ์ฟ้าเดียวกัน (2) : ผิดหวังนักวิชาการให้ความชอบธรรมรัฐประหาร"เสน่ห์ จามริก" ชี้รัฐประหารคือทางออก


"เสน่ห์ จามริก" ชี้รัฐประหารคือทางออก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net