แถลงการณ์ฟ้าเดียวกัน (2) : ผิดหวังนักวิชาการให้ความชอบธรรมรัฐประหาร

 แถลงการณ์ฉบับที่ 2
รัฐประหารผิดกฎหมาย ทำลายประชาธิปไตย หยุดให้ความชอบธรรม

 

ตามที่คณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ได้กระทำการรัฐประหารซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองแล้ว คณะรัฐประหารชุดนี้ยังได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น การห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน การปิดกั้นสื่อ

 

ขณะเดียวกันก็ได้ใช้ "ลูกไม้ตื้น ๆ" ของบรรดานักรัฐประหารที่นิยมใช้มาทุกยุคทุกสมัย คือการสร้างภาพสภาวะไร้ทางออกของสังคมเพื่อรองรับการกระทำของตนดังเช่นแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่ว่าได้เกิด "การบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมืองไม่สามารถสนองตอบต่อเจตนารมณ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง"

แต่อย่างที่รับทราบมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่คณะรัฐประหารจะสร้างพัฒนาการประชาธิปไตยขึ้นมาได้ ตรงข้ามเหตุการณ์เมื่อ 15 ปี ที่แล้วที่คณะรสช. รัฐประหารก็ได้ใช้ข้ออ้างเช่นเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายจบลงที่การนองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535

ลำพังเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของคณะรัฐประหารคงสำเร็จลงไม่ได้หากไม่ได้รับการเกื้อหนุนจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และพวกที่สมอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย ดังเช่น "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่ออกมาสนับสนุนการรัฐประหารในครั้งนี้


สิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดของการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างคามชอบธรรมให้กับการรัฐประหารคือ การสัมภาษณ์ของนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ว่า

"อย่างมองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม
ดังนั้นส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลังแต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์"

เหตุผลไม่ใช่เพราะท่านเป็นนักวิชาการอาวุโสที่ศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่เพราะตำแหน่งของท่านคือประธานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรซึ่งตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 199, 200 เพื่อหวังที่จะเป็นปากเสียงสำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่กลับมีพฤติกรรมตรงข้าม

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในฐานะเป็นสื่อมวลชนและสมาชิกในกองบรรณาธิการเป็นประชาชนไทยผู้ที่ยอมสละสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่มีมาแต่กำเนิดเพื่อมาอยู่ภายใต้กรอบกติกาของสังคมที่ถูกวางไว้โดยกรอบกติกากฎหมายรัฐธรรมนูญ ขอใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

1. เราขอเรียกร้องให้ กรรมการสิทธิมนุษยชนอีก 10 ท่านแสดงจุดยืนต่อการรัฐประหารครั้งนี้ และถ้าหากท่านมีความเห็นที่แตกต่างจากประธานฯ ก็ขอให้แจ้งต่อสาธารณะ หาไม่แล้วประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อท่านว่าเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความชอบธรรมการรัฐประหารครั้งนี้

2. เราขอเรียกร้องต่อบรรดานักวิชาการ และผู้ที่ถือว่าตัวเองเป็นภูมิปัญญาของสังคมว่าหยุดบิดเบือนหลักการทางวิชาการมาให้ความชอบธรรมกับคณะรัฐประหาร เพราะไม่มีตำรานิติศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์
ในทางประชาธิปไตยเล่มไหนที่ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารได้

3. เราขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชนให้แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่ไม่เพียงจะเปิดพื้นที่ให้กับความเห็นที่แตกต่างเท่านั้นแต่ยังต้องกล้าชี้ลงไปด้วยว่า "รัฐประหารผิดกฎหมาย ทำลายประชาธิปไตย"

สุดท้ายเพื่อที่จะไม่ให้การรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในนานาอารยะประเทศมีความชอบธรรม เราขอเรียกร้องให้ทุกคน/องค์กร ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือทุกชนิดกับคณะรัฐประหารครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูป หรือคณะกรรมการอะไรก็ตามที่คณะรัฐประหารจะจัดตั้งขึ้นมาฟอกตัวเอง รวมทั้งการพร้อมที่จะแสดงท่าที "อารยะขัดขืน" ต่อคำสั่งคณะปฏิรูปที่มุ่งไปสู่การลิดรอนสิทธิมนุษยชน


นายธนาพล อิ๋วสกุล

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
21 กันยายน 2549



-------------------------------

 

 

 

ข่าวประกอบแถลงการณ์

 


"เสน่ห์ จามริก" ชี้รัฐประหารคือทางออก

ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงเหตุการณ์การรัฐประหารที่ผ่านมาว่า มันเป็นทางออกที่เหลืออยู่ ความจริงเรื่องนี้ถูกพูดกันมานานแล้ว เพียงแต่สถานการณ์ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น และคณะผู้กระทำการก็คงตระหนักว่าสิ่งที่ทำเป็นอย่างไร เพราะจากคำแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อคืนนี้
ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ต้องการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ถอยหลังไปหรือไม่ นายเสน่ห์กล่าวว่า "อย่างมองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้นส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลังแต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ก็ขึ้นกับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"

นายเสน่ห์กล่าวถึงการคืนอำนาจให้ประชาชนว่า อย่ามองการคืนอำนาจแค่การเลือกตั้งหรือการแก้รัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น แต่เราต้องคืนอำนาจให้ท้องถิ่นให้รากหญ้าโดยกระจายอำนาจออกไป เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกระทอย่างนี้กระบวนการตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ

ส่วนที่คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ มีผลให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
อันเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งต้องพ้นจากสภาพนั้น ศ.เสน่ห์ระบุว่า จะมีการจัดตั้งกรรมการสิทธิขึ้นมาใหม่หรือไม่ก็เป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าเขายังอยากให้มีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังมีผู้ที่ทำงานอยู่ตามปกติ แม้วันนี้จะประกาศเป็นวันหยุด และมีการพูดคุยถึงสถานะของสำนักงานว่าจะยังคงอยู่หรือไม่

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวเนชั่น
ที่มา เว็บไซต์ประชาไท
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5020&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

-------------------------------------

แถลงการณ์ฟ้าเดียวกัน (1)

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5037&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท