Skip to main content
sharethis

กฎอัยการศึกที่ครอบคลุมทั้งประเทศขณะนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ความหมายของศัพท์แสงบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างกันอย่างไร ประเทศไทยปฏิวัติ-รัฐประหารกันมากี่รอบ.....

นามพระราชบัญญัติ

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457"
[รก.2457/-/388/13 กันยายน 2457]

ใช้พระราชบัญญัติที่ใดเมื่อใดต้องประกาศ

มาตรา 2 เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย ปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มี ประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตรา หรือแต่บาง มาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่ง การใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่ว ราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความ ในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน
[ มาตรา 2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พุทธศักราช 2485]

ลักษณะประกาศ

มาตรา 3 ถ้าไม่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร ในประกาศนั้นจะได้แสดงให้ปรากฏว่า มณฑลใด ตำบลใด หรือเขตใดใช้ กฎอัยการศึก

ผู้มีอำนาจใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 4 เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชา ทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาล ทราบโดยเร็วที่สุด

เมื่อเลิกต้องประกาศ

มาตรา 5 การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น จะเป็นไปได้ต่อมี ประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ

อำนาจทหารเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 6 ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติ ตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
[ มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]

อำนาจศาลทหาร และอำนาจศาลพลเรือน เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 7 ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลพลเรือนคงมีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างปกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และ ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษา คดีอาญา ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่าง ที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ทุกข้อ หรือแต่บางข้อ และหรือบางส่วนของข้อใดข้อหนึ่งได้ ทั้งมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้นด้วย



ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้นจะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้นหรือภายหลังก็ได้ ประกาศ เช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย

นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ถ้าคดีอาญาใดที่เกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีเหตุพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญานั้นใน ศาลทหารก็ได้
[มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]

มาตรา 7ทวิ ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ตามความใน มาตรา 7 นั้น จะให้ศาลทหารในทุกท้องที่หรือแต่บางท้องที่มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามที่กล่าวในมาตรานั้นเท่ากันหรือมากน้อยกว่ากันก็ได้
[มาตรา 7ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487]

มาตรา 7ตรี เมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารคงมี อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น และให้มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกนั้นด้วย
[มาตรา 7ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2487]

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ

 

มาตรา 8 เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะ เข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่
การตรวจค้น

มาตรา 9 การตรวจค้นนั้น ให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้

(1) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจ ที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือ ที่ใด ๆ และไม่ว่าเวลาใด ๆ ทั้งสิ้น

(2) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่ง หรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก

(3) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์
[ มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]

การเกณฑ์

มาตรา 10 การเกณฑ์นั้นให้มีอำนาจที่จะเกณฑ์ได้ดังนี้

(1) ที่จะเกณฑ์พลเมืองให้ช่วยกำลังทหารในกิจการ ซึ่งเนื่องในการป้องกันพระราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือเกื้อหนุนราชการทหารทุกอย่าง ทุกประการ

(2) ที่จะเกณฑ์ยวดยาน สัตว์พาหนะ เสบียงอาหาร เครื่องศาตราวุธ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จากบุคคลหรือบริษัทใด ๆ ซึ่งราชการทหาร จะต้องใช้เป็นกำลังในเวลานั้นทุกอย่าง

การห้าม

มาตรา 11 การห้ามนั้น ให้มีอำนาจที่จะห้ามได้ดังนี้

(1) ที่จะห้ามมั่วสุมประชุมกัน

(2) ที่จะห้ามออก จำหน่าย จ่ายหรือแจก ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ บท หรือคำประพันธ์

(3) ที่จะห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุ กระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์

(4) ที่จะห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินด้วย

(5) ที่จะห้ามมีหรือใช้เครื่องมือสื่อสารหรืออาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของ อาวุธ และเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน หรือที่อาจนำไปใช้ทำเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณสมบัติ ดังกล่าวได้

(6) ที่จะห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด

(7) ที่จะห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ใดซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษา ความสงบเรียบร้อยและเมื่อได้ประกาศห้ามเมื่อใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตนั้น ออกไปจากเขตนั้นภายในกำหนดเวลาที่ได้ประกาศกำหนด

(8) ที่จะห้ามบุคคลกระทำหรือมีซึ่งกิจการหรือสิ่งอื่นใดได้ตามที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้ว่าควรต้องห้ามในเวลาที่ได้มีการประกาศ ใช้กฎอัยการศึก
[มาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]

การยึด

มาตรา 12 บรรดาสิ่งซึ่งกล่าวไว้ใน มาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการจำเป็น จะยึดไว้ชั่วคราว เพื่อมิให้เป็นประโยชน์แก่ราชศัตรู หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่ราชการทหาร ก็มี อำนาจยึดได้

การเข้าอาศัย

 

มาตรา 13 อำนาจการเข้าพักอาศัยนั้น คือ ที่อาศัยใด ๆ ซึ่งราชการ ทหารเห็นจำเป็นและใช้เป็นประโยชน์ในราชการทหารแล้ว มีอำนาจอาศัยได้ ทุกแห่ง

การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่

มาตรา 14 การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่นั้น ให้มีอำนาจกระทำ ได้ดังนี้

(1) ถ้าแม้การสงครามหรือรบสู้เป็นรองราชศัตรู มีอำนาจที่จะเผาบ้าน และสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู เมื่อกรมกองทหารถอยไปแล้ว หรือถ้า แม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกันการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น

(2) มีอำนาจที่จะสร้างที่มั่น หรือดัดแปลงภูมิประเทศหรือหมู่บ้าน เมือง สำหรับการต่อสู้ราชศัตรู หรือเตรียมการป้องกันรักษา ตามความเห็นชอบ ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ทุกอย่าง

การขับไล่

มาตรา 15 ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอาศัยเป็นหลักฐาน หรือเป็นผู้มาอาศัยในตำบลนั้นชั่วคราว เมื่อมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใด หรือ จำเป็นแล้ว มีอำนาจที่จะขับไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากเมืองหรือตำบลนั้นได้

มาตรา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อ คำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ ไม่เกินกว่า 7 วัน
[ มาตรา 15ทวิ เพิ่มความโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515]

ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้

มาตรา 16 ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วใน มาตรา 8 และ มาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่ง อย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ เป็นการสำหรับป้องกัน พระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหารให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรือง เป็นอิสรภาพและสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน

มอบอำนาจให้เจ้ากระทรวง
มาตรา 17 ในเวลาปรกติสงบศึก เจ้ากระทรวงซึ่งบังคับบัญชาทหาร มีอำนาจตรากฎเสนาบดีขึ้นสำหรับบรรยายข้อความ เพื่อให้มีความสะดวกและ เรียบร้อยในเวลาที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ตามสมควร ส่วนในเวลาสงครามหรือ จลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับบรรยายความเพิ่มเติม ให้การดำเนินไปตามความประสงค์ของกฎอัยการศึกนี้ และเมื่อได้ประกาศ กฎเสนาบดี หรือข้อบังคับของแม่ทัพในทางราชการแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชบัญญัตินี้

 

- - - - - - - - - - - - - - - -

 

ประวัติการปฏิวัติ - รัฐประหารในประเทศไทย

 

เว็บไซต์คมชัดลึกนำเสนอความหมายและรวบรวมสถิติของการก่อกบฏ-ปฏิวัติ-รัฐประหาร ในประเทศไทย โดยสรุปดังนี้

 

รูปแบบของการจลาจลกบฏ ปฏิวัติหรือรัฐประหารความหมายของคำเหล่านี้เหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจทางการเมืองแต่มีความหมายต่างกันในด้านผลของการใช้กำลังความรุนแรงนั้น

 

หากทำการไม่สำเร็จจะถูกเรียกว่า กบฏ จลาจล (rebellion) ถ้าการยึดอำนาจนั้นสัมฤทธิผล และเปลี่ยนเพียงรัฐบาลเรียกว่า รัฐประหาร (coupd etat) แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง ก็นับว่าเป็น การปฏิวัติ

         

การปฏิวัติครั้งสำคัญๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ การปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ค.ศ.1789 การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ.1917 การปฏิวัติของจีนในปี ค.ศ.1949 การปฏิวัติในคิวบา ค.ศ.1952 เป็นต้น

         

ในการเมืองไทยคำว่า ปฏิวัติ กับ รัฐประหาร มักใช้ปะปนกัน แล้วแต่ผู้ยึดอำนาจได้นั้นจะเรียกตัวเองว่าอะไร เท่าที่ผ่านมามักนิยมใช้คำว่า ปฏิวัติ เพราะเป็นคำที่ดูขึงขังน่าเกรงขามเพื่อความสะดวกในการธำรงไว้ซึ่งอำนาจที่ได้มานั้น ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การยึดอำนาจโดยวิธีการใช้กำลังครั้งต่อๆ มาในทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นเพียงการรัฐประหารเท่านั้น เพราะผู้ยึดอำนาจได้นั้นไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานของระบอบการปกครองเลย

         

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมทางการเมืองและมิให้สับสนกับการใช้ชื่อเรียกตัวเองของคณะที่ทำการยึดอำนาจทั้งหลาย อาจสรุปความหมายแคบๆ โดยเฉพาะเจาะจงสำหรับคำว่าปฏิวัติ และรัฐประหารในบรรยากาศการเมืองไทยเป็นดังนี้ คือ

         

"ปฏิวัติ" หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ อาจมีหรือไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลใหม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงมูลฐานระบอบการปกครอง เช่นเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือ คอมมิวนิสต์ ฯลฯ

         

"รัฐประหาร" หมายถึง การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก

         

ในประเทศไทยถือได้ว่ามีการปฏิวัติเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2547 โดยคณะราษฎร จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และมีการกบฏเกิดขึ้น 12 ครั้ง และรัฐประหาร 8 ครั้ง ดังนี้

         

          กบฏ 12 ครั้ง

          1.กบฏ ร.ศ.130

          2.กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม 2476)

          3.กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม 2478)

          4.กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือกบฏ 18 ศพ (29 มกราคม 2482)

          5. กบฏเสนาธิการ (1 ตุลาคม 2491)

          6.กบฏแบ่งแยกดินแดน (พฤศจิกายน 2491)

          7.กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์2492)

          8.กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน 2494)

          9.กบฏสันติภาพ (8 พฤศจิกายน 2497)

          10.กบฏ 26 มีนาคม 2520

          11.กบฏยังเติร์ก (1-3 เมษายน 2524)

          12.กบฏทหารนอกราชการ (9 กันยายน 2528)

         

          รัฐประหาร 8 ครั้ง

          1.พ.อ.พระยาพหลฯ ทำการรัฐประหาร (20 มิถุนายน 2476)

          2.พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และคณะนายทหารบก ทำการรัฐประหาร (8 พฤศจิกายน 2490)

          3.จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำการรัฐประหาร (29 พฤศจิกายน 2494)

          4.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร (16 กันยายน 2500)

          5.จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร (20 ตุลาคม 2501)

          6. จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร (17 พฤศจิกายน 2514)

          7.พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหาร (20 ตุลาคม 2520)

          8.พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหาร (23 กุมภาพันธ์ 2534)

          9.คณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. ทำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

         

          ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเลือกตั้ง 2549 เครือเนชั่น

          เว็บไซต์รากฐานไทย ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ

 

         

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net