Skip to main content
sharethis

เรื่องราวมหัศจรรย์ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุย ได้รับการเปิดเผยจากรองศาสตราจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ในการเสวนาหัวข้อ "ประสบการณ์จริงจากฝ่าเท้า" เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน

 

 

ประมวล เพ็งจันทร์

นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุย

เพื่อตามหาสัจธรรมเป็นเวลากว่า 66 วัน

 

 

เชียงใหม่/ เปิดเผยการเดินทางของ "ประมวล เพ็งจันทร์" นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเดินเท้า 66 วันเต็ม แสวงหาสัจธรรมและประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย พบสังคมชนบทไทยยังเป็นสังคมเนื้อนาบุญ ผู้คนยังเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม

 

เรื่องราวมหัศจรรย์ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุย ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการเสวนาหัวข้อ "ประสบการณ์จริงจากฝ่าเท้า" โดยมีวิทยากรคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เดินเท้าจากเชียงใหม่กลับบ้านเกิดของตนคือเกาะสมุย โดยการเสวนาดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง

 

000

อธิการบดีมอเที่ยงคืนกล่าวนำเสวนา

ก่อนเริ่มการเสวนา รองศาสตราจารย์ สมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวเริ่มการเสวนาว่า "ทางคณาจารย์และลูกศิษย์ได้มีการจัดทำไดอารี่ฉบับหนึ่งให้ทุกคนเขียนชื่อที่อยู่ เพื่อจะได้สามารถติดต่อพวกเราได้เมื่อเกิดเหตุจำเป็นใดๆ เกิดขึ้น" และกล่าวต่อว่าในไดอารี่นี้ทุกคนก็ได้เขียนเหมือนเป็นการฝาก หรือเป็นการลาอาจารย์ประมวล เพราะเราไม่มั่นใจว่าสังคม ณ ปัจจุบันนี้อาจารย์จะเอาชีวิตกลับมาได้หรือไม่

 

อาจารย์สมเกียรติ ยังกล่าวต่อว่าอีกเรื่องที่พวกเราไม่รู้คืออาจารย์ประมวลไม่ได้เดินในฐานะผู้ขอ ตลอดทางอาจารย์จะไม่ขอความเมตตาแม้แต่อาหาร ซึ่งค่อนข้างเข้มงวดยิ่งกว่าพระ และนอกจากนี้การเดินของอาจารย์ประมวลอาศัยเพียงแผนที่ทางหลวงธรรมดา และการเดินนั้นไม่อาศัยถนนหลวงเลย แต่อาศัยทางสัญจรของชาวบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงผู้คน และแสวงหาสัจธรรมบางอย่าง ที่อาจารย์ประมวลจะพูดในรายละเอียดต่อไป อาจารย์สมเกียรติกล่าวก่อนเริ่มการเสวนา

 

อาจารย์ประมวลเผยที่มาการเดินทางไกล

โดยอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เปิดเผยในวงเสวนาว่าในการเดินทางตนได้นำไดอารี่ที่คณาจารย์และลูกศิษย์มาอ่านเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจของตนว่า ไม่ได้เดินเพียงฐานะปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียว แต่ได้เดินในฐานะตัวแทนของเพื่อนๆ ที่มีความคาดหวังปรารถนาว่าการเดินครั้งนี้จะได้พบอะไรบางสิ่งบางอย่าง และหากการเดินครั้งนี้ถือเป็นการวิจัย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ถือว่าเป็นผู้ให้ "ทุนทางสังคม" แก่ผม และวันนี้ผมเลยมารายงานว่าพบอะไรบ้าง และรายงานต่อเจ้าของทุนได้รับทราบ อาจารย์ประมวลกล่าว

 

อาจารย์ประมวลกล่าวว่าตนได้ตัดสินใจลาออกจากราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2548 โดยสาเหตุที่เลือกเอาวันนี้ เนื่องจากผมได้มอบอำนาจการตัดสินใจให้กับภรรยา โดยมีข้อตกลงกับภรรยาว่าจะไม่ทำสิ่งใดๆ ที่จะเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ความลำบาก ความยุ่งยากในจิตใจของภรรยา เพราะฉะนั้นถ้าตนจะทำอะไรก็ขอให้ภรรยาเป็นผู้อนุญาตก่อน "และวันหนึ่งภรรยาก็บอกว่าถ้าอยากจะเกิดใหม่ก็น่าจะเกิดในวันเดิมที่ผมได้เกิดบนโลกใบนี้ โดยผมเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2497 ภรรยาบอกว่าฤกษ์ในการเกิดวันนี้คงจะดี เพราะไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้พบกัน ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้ผมได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการใช้วันเดิมคือ 23 ตุลาคม 2548 จึงใช้วันนี้ลาออกจากราชการ" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

เพื่อให้ภรรยารู้สึกมั่นใจว่าคนอายุ 50 จะสามารถเดินได้ ตนจึงเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการก้าวเดินตั้งแต่ตีห้าของวันที่ 23 ตุลาคม 2548 โดยเดินออกจากบ้านเพื่อเป็นการฝึกเดิน จากบ้านของตนที่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งค่อนข้างทุลักทุเลเพราะเมื่อเดินลงมาจากดอยสุเทพแล้วกลับบ้านไม่ได้เพราะรถเยอะมากจนไม่สามารถข้ามถนนได้ จึงต้องโบกรถโดยสารให้มาส่งที่บ้าน เมื่อมาถึงภรรยาต้องอุ้มเข้าบ้านและนวดให้ทั้งคืน รุ่งเช้าตนเป็นไข้และเว้นไป 1 วัน แต่หลังจากนั้นก็ฝึกเดินต่อ จนกระทั่งเดินมาพอสมควรแล้ว และเชื่อว่าจะเดินได้ ภรรยาจึงอนุญาตให้ตนเดินออกจากบ้าน วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548

 

เส้นทางการเดินเชียงใหม่-สมุย ใช้เวลา 66 วัน

ตนจึงได้เดินออกนอกจังหวัดเชียงใหม่ ไปทาง อ.สันป่าตอง อ.จอมทองขึ้นดอยอินทนนท์ไป อ.ฮอด อ.ดอยเต่า เข้า อ.ลี้ (จ.ลำพูน) เดินผ่านอุทยานแห่งชาติแม่ปิงทะลุออก อ.แม่พริก จ.ลำปาง ไป อ.สามเงา จ.ตาก เมื่อไปถึงสามเงาก็เดินเลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงไปเรื่อยๆ ผ่าน อ.บ้านตาก อ.เมือง จ.ตาก อ.วังเจ้า อ.โกสัมภีนคร ไปเขต จ.กำแพงเพชร ก็เดินเลียบถนนเพราะไม่มีแม่น้ำปิง ไป อ.คลองขลุง อ.ขาณุวรลักษณ์ แล้วคิดว่าเป็นถนนที่ไม่เหมาะที่จะเดิน ก็เลยตัดอ้อมไปเดินในเขต อ.ลาดยาว เข้าสู่ จ.อุทัยธานี เข้าสู่ จ.ชัยนาท จ.สุพรรณบุรี เข้าสู่ จ.นครปฐม จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปถึงชุมพร และสุราษฎร์ธานี ไปถึงเกาะสมุย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 ใช้เวลาทั้งหมด 66 วัน

 

อาจารย์ประมวลบอกในวงเสวนาว่า "มักมีคนถามคำถามว่าทำไมจึงเดิน ผมก็อธิบายว่า การเดินเป็นวิถีที่ศักดิ์สิทธิ์ในความคิดของผม สามารถพาไปสู่สิ่งที่ผมคาดหวังได้ คือผมได้ศึกษาเรียนรู้ทางด้านวิชาการมามากแล้วแม้จะไม่มากที่สุดเพราะมีคนอื่นรู้มากกว่าผม แต่ผมคิดว่าเวลาที่ผมมีชีวิตอยู่มันเหลือไม่มากนัก และผมได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียที่ผมเคยอยู่มา เมื่อถึงวัยหนึ่งที่สำนึกรู้ว่าตนมีเวลาเหลืออยู่ในโลกไม่มากแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวที่จะละโลกนี้ไปที่อินเดียเรียกว่าเข้าสู่ยุค "วานปรัสถ์" ไปอยู่ในป่า หรือไม่ยึดติดในในสภาวะที่มีอยู่ ผมเลยใช้การเดินเพื่อออกจากสภาวะที่มีอยู่ ผมกำหนดสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการเดินว่าตนขอเดินไปเพื่อข้ามให้พ้นไปจากสภาวะที่มีอยู่ในใจผมคือความรู้สึกเสียดาย ความรู้สึกหวงแหนที่มีอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่เราครอบครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือทรัพย์สินภายนอก เดินไปจากความรู้สึกกลัว เกลียด รังเกียจ เคียดแค้นชิงชังอะไรบางสิ่งบางอย่าง"

 

ปรารถนาเดินออกจากความกลัวที่อยู่ในใจ และเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของชีวิต

"แล้วสุดท้ายที่ผมปรารถนาใฝ่ฝันเป็นที่สุดคือการเดินออกจากความกลัวที่อยู่ในใจผม โดยผมเลยเขียนไว้ในสมุดบันทึก ถ้ามีใครมาเห็นผมนอนสลบหมดสิ้นอยู่จะได้รู้เจตนาของผม ถ้าเขาจะกรุณาช่วยผม ผมนี้มีเจตนาที่เดินข้ามพ้นความเสียดาย ความเกลียด ความกลัว โดยผมหวังว่าจะข้ามให้พ้นไปพบกับความเสียสละ จาคะ ความรู้สึกซึ่งเป็นมิตรไมตรี ความมีเมตตา ความรู้สึกซึ่งเป็นความรู้ ที่ทำให้เราไม่หวาดกลัว คือปัญญา ซึ่งผมจะไปถึงเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ แต่ผมขอเพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะไป ไปสู้ฝั่งของจาคะ เมตตา และปัญญา" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

อาจารย์ประมวลกล่าวว่า "การตัดสินใจเลือกในการทำครั้งนี้เป็นการตัดสินใจเลือกที่ดีที่สุด เท่าที่ผมตัดสินใจเลือกมา และผมพบว่าสิ่งที่เราพบนั้นบางครั้งรู้อยู่แล้วด้วยเหตุผลที่เราฝึกฝนมาในการคิด แต่ว่ามันเป็นความคิด เป็นสิ่งที่เราคิดเอา แต่ขณะนี้เมื่อผมได้พบจริงๆ ซึ่งบางครั้งคิดไม่ได้หรือไม่ได้คิดเลยแต่ก็รู้"

 

เผยปฏิญญา 4 ข้อของการเดินทาง

โดยในการเดินทางของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ได้มีปฏิญญาของการเดินทางอยู่ 4 ข้อคือ

 

หนึ่ง จะไม่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลางให้เกิดความสะดวกสบาย หรือเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่น ผมต้องการที่จะให้ชีวิตของการเดินเป็นการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไม่ใช่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่เป็นระหว่างผู้ให้กับผู้รับ เมื่อผมสละทิ้งเงินตราได้ ผมก็สามารถทำลายความสัมพันธ์แบบซื้อ-ขาย ลงไปได้

 

สอง จะไม่เดินไปด้วยเจตนาว่า หวังพบเพื่อขอความช่วยเหลือจากคนรู้จัก ด้วยความเชื่อว่าคนรู้จักอย่างไรๆ ก็มีมิตรไมตรีเป็นมรดกตกทอดอยู่แล้ว ผมไม่ต้องการใช้มรดกตกทอด ผมไม่ต้องการใช้สมบัติเก่า ผมต้องการแสวงหาสมบัติใหม่ เพราะฉะนั้นจะไม่ไปหาคนรู้จัก

 

สาม ผมจะไม่ขอ เพราะการขอเป็นการบีบคั้นเบียดเบียนอารมณ์จิตใจของผู้ถูกขอ เพราะเราไปขอ เขาอาจจะไม่อยากให้ก็ได้ แต่ด้วยความรู้สึกว่าถ้าเขาไม่ให้ก็อาจกลายเป็นแล้งน้ำใจ ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดลำบาก

 

และถ้าหากกฎ 3 ข้อนี้ ไม่รอบคอบรัดกุมพอ มีอะไรเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ก็ขอให้ใช้ข้อที่ 4 คือก่อนจะทำอะไรให้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนว่า เป็นเพราะมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มาเป็นปัจจัยบังคับให้คิดเช่นนั้นหรือเปล่า

 

ประสบการณ์สุดทรหดในวันแรกของการเดินทาง

อาจารย์ประมวลกล่าวถึงวันแรกของการเดินทางว่า การเดินทางในวันแรกทำให้พบว่าอาหารมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากที่สุด โดยการเดินทางได้เดินทางออกจากบ้านที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพบว่าการเดินบนถนนสายหลักเป็นที่ๆ ไม่ค่อยมีความเอื้อเฟื้อ จึงเลี่ยงไปเดินบนถนนสายเลียบสายเลียบคลองชลประทาน ในเขตอำเภอสันป่าตอง เนื่องกระบอกน้ำที่ตนนำติดตัวไปมีขนาดเล็ก น้ำจึงหมดเร็ว ตนเดินไปจนกระทั่งร่างกายมันล้า รู้สึกเหมือนกับจะหน้ามืดเป็นลม คอแห้ง น้ำลายขม และรู้สึกว่าหูอื้อไม่ได้ยินเสียงอะไร เมื่อไปเห็นเพิงขายก๋วยเตี๋ยวซึ่งมีม้าหินขัดวางตั้งอยู่ ตอนนั้นไม่มีร่มไม้อยู่เลยเพราะเป็นทุ่งนา ตนเลยขออนุญาตเจ้าของเพิงขายก๋วยเตี๋ยว มาทราบชื่อว่าชื่ออัมพร ทับเกตุ ตนถามว่าขอนั่งตรงนี้สักหน่อยได้ไหม เขาบอกว่าได้ ตนเลยนั่งลง แล้วเขาก็มีน้ำใจเอาน้ำมาให้ดื่ม

 

อาจารย์ประมวลกล่าวต่อว่า เมื่อแม่ค้าเห็นว่าตนดื่มน้ำด้วยความหิวกระหาย จึงถามว่าไปไหนมายังไง ทั้งที่เก็บร้านไปบ้างแล้วเนื่องจากเป็นเวลาเย็น แต่เมื่อแม่ค้าทราบความเป็นมาของตนแล้ว จึงบอกว่าจะทำก๋วยเตี๋ยวให้ทาน จะทานไหม ตนก็ถามว่าจะลำบากไหม เขาบอกว่าเขาทำก๋วยเตี๋ยวขายให้คนอื่นอยู่แล้ว ไม่ลำบากหรอกที่จะทำก๋วยเตี๋ยวให้อีกสักชาม ตนบอกว่าถ้าไม่ลำบากและเต็มใจที่จะทำก๋วยเตี๋ยวให้ ตนก็จะทาน แล้วเขาก็ทำก๋วยเตี๋ยวให้ผม

 

อาหารมื้อแรกที่ได้รับเหมือนเป็นการต่อชีวิต

"ผมอยากจะพูดว่า ก๋วยเตี๋ยวชามนี้เป็นก๋วยเตี๋ยวชามที่วิเศษที่สุด ดุจดั่งเทพเจ้าประทานมาให้ เพราะชีวิตผมสดชื่น ฟื้นขึ้นมาได้อีก เพราะก๋วยเตี๋ยวชามนั้น หมายความว่าที่รู้สึกว่า ชีวิตเราจะขาดอยู่แล้วก็มีคนต่อให้อีก ผมพูดกับพี่คนนั้น แกเข้าใจหรือไม่เข้าใจผมยังไม่ทราบ ผมบอกว่า "พี่เป็นผู้ต่อชีวิตให้ผมอีก ขอบคุณมากๆ ผมจะใช้ชีวิตที่ต่อไว้ให้นี้ให้ดีที่สุด ให้คุ้มค่าที่สุด" เขาฟังผมเฉยๆ แกอาจฟังไม่รู้เรื่อง แกอาจว่าตาบ้าคนนี้กินก๋วยเตี๋ยวแล้วยังมาเทศน์อีก แต่เป็นความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ" อาจารย์ประมวลเผยความรู้สึก

 

"เมื่อเขียนหนังสือเสร็จ ผมตั้งใจจะนำหนังสือไปมอบให้แกหนึ่งเล่ม เพื่อให้แกได้เห็นว่าผมเขียนหนังสือเล่มนี้ได้เพราะก๋วยเตี๋ยวชามนั้นที่แกต่อชีวิตให้ผม" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

ประสบการณ์เฉียดตายที่ดอยอินทนนท์

อาจารย์ประมวลกล่าวต่อว่า "ผมเล่าตรงนี้เพียงเพื่อจะบอกว่า การที่เราทานอาหารกันทุกวันๆ ละ 3-4 มื้อ ผมก็ทำเช่นนั้นตลอดชีวิต แต่ผมพบว่าวันที่ผมกินก๋วยเตี๋ยวชามนั้น มันมีรสชาติชีวิตที่เอร็ดอร่อย มีความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเลยว่าทำไมผมไม่รู้สึกอย่างนี้มาก่อนหน้านี้ และความรู้สึกนี้มีอยู่ในใจผมตลอดเวลา ผมเดินไปแม้กระทั่งตอนที่ผมเดินขึ้นไปบนยอดดอยอินทนนท์ ผมก็รู้ว่าชีวิตที่กำลังจะขาดรอนๆ เป็นอย่างไร ผมใช้คำว่าเกือบปลงชีวิตเสียแล้ว ว่าผมคงได้แค่นี้แล้วชีวิตเพราะมันใจสั่น หน้ามืด จะเป็นลม ต้องล้มนอนลงที่ริมถนน บอกตัวเองว่าพอแล้วกับชีวิตใช้มาพอสมควร ขอบคุณพ่อแม่ที่ได้ให้ชีวิตนี้มา  วงศาคณาญาติที่ได้เกื้อกูลให้ผมเติบโต ญาติมิตร เพื่อนฝูง ได้เป็นเหตุปัจจัยให้ผมได้สำนึกรู้ต่างๆ มากมาย ขอแค่นี้แล้วก็ล้มตัวลงนอน ปรากฏว่าไม่ตาย" ซึ่งขณะนั้นเหลือระยะทาง 2 กิโลเมตรจะถึงยอดดอยอินทนนท์ก็มีรถปิคอัพทะเบียนชลบุรีมาจอดชวนอาจารย์ประมวลขึ้นดอยอินทนนท์

 

ซึ่งอาจารย์ประมวลเล่าถึงประสบการณ์การเดินลงดอยอินทนนท์ว่า ช่วงเดินลงเป็นช่วงที่มหัศจรรย์มาก โดยตนเป็นไข้เพราะอากาศหนาวและปวดหัว แต่ท่ามกลางความปวดหัวตนก็รู้สึกดีกับชีวิตมาก รู้สึกสนุกสนานเพราะไม่ต้องแบกน้ำหนักและเป็นความรู้สึกที่ดี "ทำให้ผมสำนึกรู้ได้ว่าผมกำลังเดินลง เป็นขาลงของชีวิต ผมแบกตัวผมเองเดินขึ้นมานานมากแล้วก็หนักมาก จวนเจียนจะสิ้นใจตายแล้ว ปัจจุบันนี้เป็นช่วงแล้ว ผมจะขอลงจากยอดดอยให้มันสวยงาม และมันก็สวยงามจริงๆ ทิวทัศน์ของยอดดอยสวยงามมาก"

 

ความงดงามของชีวิตขาลงที่แม่แจ่ม

อาจารย์ประมวลกล่าวถึงการเดินทางช่วงขาลงจากดอยอินทนนท์ไปอำเภอแม่แจ่มแทนว่า "ผมเห็นอำเภอแม่แจ่มแต่ไกล เลยตั้งใจว่าจะไปแม่แจ่ม ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะไปแม่แจ่ม เพราะผมควรจะเดินลงมาที่จอมทองแล้วเดินต่อไปอีก ผมรู้สึกว่าชีวิตช่วงขาลงของผมควรงดงามอย่างนี้ เป็นชีวิตที่เดินลงช้าๆ ได้สัมผัสรู้ความงดงาม ได้พบกับอะไรที่ดีๆ ผมหยุดตะไคร่น้ำหรือหยุดดูอะไรที่มันงดงาม ผมรู้สึกเลยว่าช่วงที่เดินเร็วๆ ผมมองไม่เห็น ไม่ต้องพูดถึงช่วงขับรถ ยิ่งไม่เห็น"

 

โดยระหว่างทางที่อาจารย์ประมวลเดินออกจากอำเภอแม่แจ่ม ก็ได้รับเชื้อเชิญให้พักกับหมู่บ้านชาวม้ง ซึ่งเป็นครอบครัวที่ให้เกียรติกับคนพเนจรอย่างมาก จัดที่นอนและอาหารให้ตนอย่างดี นอกจากนี้อาจารย์ประมวลยังกล่าวถึงเรื่องอาหารในการเดินทางว่า ในการเดินทางเรื่องอาหารก็เป็นเช่นนี้คือหากได้รับประทานอาหารสักมื้อก็เหมือนมีเทพเจ้าจากสรวงสวรรค์ประทานมาให้

 

ความยุ่งยากใจของชีวิตเมื่อมี "สตางค์"

อาจารย์ประมวลกล่าวต่อว่า มีเรื่องตลกเรื่องหนึ่งในการเดินทางคือ ในการเดินทางผมไม่มีสตางค์ แต่เมื่อระหว่างทาง อ.ขาณุวรลักษณ์ เข้าสู่กำแพงเพชร มีผู้ชายชื่อวิรัตน์ขับรถปิคอัพมาหยุดรถรับ ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นชาวญี่ปุ่นเลยหยุดรถรับ เพราะเขาทำงานที่ไร่พริกของชาวญี่ปุ่น ที่นำพริกไปทำยาลดความอ้วน พอตนพูดไทยได้ เขาก็ยังสนใจอยู่ดี ก็ถามว่าจะไปไหนตนก็ได้บอกไป เมื่อชายที่หยุดรถปิคอัพจึงชวนตนขึ้นรถ ตนจึงกล่าวว่าตนขอเดินเนื่องจากเป็นโอกาสที่ได้มายากฉะนั้นอย่าทำให้ตนต้องสูญเสียโอกาสนี้เลย แต่ชายคนดังกล่าวก็ยังไม่ยอมจึงถามตนว่าขอเลี้ยงอาหารได้ไหม ตนก็บอกว่าได้ จึงพาไปเลี้ยงอาหารมื้อหนึ่ง และก่อนไปชายคนดังกล่าวได้แอบเอาสตางค์ 200 บาท ใส่ไว้ในซอกเป้ของตน

 

"สตางค์ 200 บาท เป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสสำหรับผมมากเลย แต่ตอนนั้นยังไม่ออกฤทธิ์" อาจารย์ประมวลกล่าว ต่อมาเมื่ออาจารย์ประมวลเดินเท้ามาถึงสี่แยกสลกบาตรตอนนั้นน้ำหมดตั้งแต่ที่ อ.ขาณุวรลักษณ์แล้ว ไม่ได้ดื่มน้ำ ตอนที่เดินไปที่สี่แยกสลกบาตรหันหน้าไปทาง อ.ลาดยาว พบคิวมอเตอร์ไซค์ 3 คน ลุกขึ้นมาถาม แต่ตนบอกว่าตนอยากเดินจะไปข้ามถนน คนขับรถมอเตอร์ไซค์จึงชวนนั่งแก้เก้อ ตนจึงนั่นด้วยความเหนื่อย และใกล้ๆ กันนั้นเป็นร้านค้าที่มีตู้แช่ มีน้ำประเภทต่างๆ แช่อยู่เต็มเลย ทั้งน้ำดื่มประเภทขวดใสๆ พวกเครื่องดื่มๆ ต่างๆ "ตอนนั้นผมหิวน้ำทรมานมาก ชีวิตที่ขาดน้ำเป็นชีวิตที่ทรมานมาก และก็เลยนึกถึงเงิน 200 บาทที่คุณวิรัตน์ให้ไว้ มันทำให้ผมอ่อนแอมาก เพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่ไหวแล้ว ก็ลุกขึ้นว่าจะไปซื้อน้ำกิน"

 

พบกับกฤษณะ และสงคราม "ตู้แช่"

 "พอไปยืนหน้าร้านทำให้นึกถึงคืนก่อน ที่ อ.คลองขลุง ผมนอนกับคณะลิเกขอทาน ทีนี้คณะลิเกขอทานคนที่เป็นพระเอกชื่อกฤษณะ ชวนผมมาอยู่กับเขา และเขาจะเดินกับผมบ้าง จนกว่าเขาจะเลิกเล่นลิเก อะไรทำนองนี้ ผมก็บอกว่าไม่หรอกเขาเล่นลิเกต่อดีกว่า คนเดินอย่างผมหาง่าย แต่คนเล่นลิเกอย่างเขาหายาก ควรเล่นลิเกต่อ" อาจารย์ประมวลยังกล่าวต่อว่าเมื่อได้คุยกับกฤษณะ พระเอกลิเกแล้วรู้สึกประทับใจในความคิดของเขา ทั้งที่สามารถไปเล่นเป็นพระเอกที่คณะอื่นก็ได้ แต่เขาบอกว่าเขาไปอยู่คณะอื่นอาจไม่เด่นก็ได้ คณะนี้เขาเป็นพระเอกตลอดเขาเลยเล่น เมื่อตนถามว่าเล่นแล้วได้เงินได้ทองไหม เขาว่าบางคืนเล่นแล้วเกือบไม่มีค่าอาหารกินก็มี เพราะเล่นแล้วมีเด็กมาดูไม่กี่คน คือเวลาเล่นเสร็จเขาก็ถือขันไปขอผู้ดู ถ้ามีคนให้สักบาท-สองบาท ก็ถือว่าเขาได้แล้ว อาจารย์ประมวลกล่าวว่ารู้สึกชื่นชมเขามาก เพราะชีวิตของเขาไม่ต้องการมีเงิน ตนจึงกล่าวว่านี่เป็นชีวิตที่น่ายกย่อง เพราะถ้าเมื่อไหร่เป็นทาสเงินเราก็แย่

 

 "ดังนั้นเมื่อผมมายืนอยู่หน้าตู้แช่ ผมนึกถึงกฤษณะ พอนึกถึงกฤษณะผมนึกถึงคัมภีร์ภควคีตา  โอ้ พระวิษณุอวตารเป็นกฤษณะมาสอนผมแท้ๆ ผมรู้สึกว่าทำไมผมต้องพ่ายแพ้แค่นี้  สมรภูมิสลกบาตรมันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสมรภูมิคุรุเกษตร ที่พระกฤษณะสอนอรชุน" อาจารย์ประมวลกล่าว หลังจากนั้นจึงเดินออกไป เมื่อไฟแดงหยุดตนจึงข้ามถนน รู้สึกดีใจมากที่ชนะในการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่นี้ พอไปอีกฝั่งตนก็ยกมือขึ้นว่าชนะแล้ว แม้ว่าจะหิวน้ำเป็นที่สุด สำหรับเงิน 200 บาท นั้น ตนได้มอบให้กับขอทานพิการที่อำเภอสว่างอารมณ์ที่เอื้อเฟื้อที่นอนให้ตน โดยตนเห็นว่าเงิน 200 บาทหนักสำหรับตนแต่เบาสำหรับขอทาน

 

เผยประสบการณ์ เด็กวัดไร้บ้านให้นอนกับรูปยักษ์ ที่สุพรรณบุรี

อาจารย์ประมวลกล่าวต่อว่า เหตุการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ตนเจอตลอดในการเดินเราพบอะไรที่งดงาม ได้พบพื้นที่ๆ เราไม่เคยไปมาก่อน ได้พบกับคนที่ไม่สมบูรณ์ ปัญญาอ่อน แต่เขาเป็นคนที่มีน้ำจิตน้ำใจงดงามมาก  "เมื่อผมไปถึงที่วัดๆ หนึ่งที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี จะไปขอนอน แต่หลวงพ่อนอนอยู่บนกุฏิ ท่านไม่ยอมลงมาให้ผมได้ไหว้ได้กราบ พระก็ว่าต้องไปขออนุญาตจากหลวงพ่อแล้วจึงจะนอน ผมก็รอท่านอยู่ จะไปเคาะประตูก็ไม่ได้เพราะรู้สึกว่าเราเป็นคนต่ำมาก จะไปเคาะรบกวนไปขอนอนก็น่ากระไรอยู่ ถ้าท่านออกมาค่อยไปกราบท่านขอนอนตรงไหนก็ได้ ใต้ร่มไม้ตรงไหนก็ได้"

 

"ปรากฏว่าท่านปิดไฟนอน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็มีคนที่เฝ้าศาลาวิหารอยู่ในวัดมาชวนผมไปนอนด้วย และที่ดีมากๆ เลยคือเขาว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวไปขออนุญาตยักษ์ ยักษ์มีที่ให้นอน ปรากฏว่าเขาพาไปที่วิหารพระศรี มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ บุคคลผู้นี้ชื่อไอ้น้อยก็บอกว่า ที่ด้านหลังพระพุทธรูปมีภาพพระยามารที่เขาปั้นไว้เพื่อเป็นเครื่องอธิบายพุทธประวัติ (เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้ายังเป็นพระมหาสัตว์เสด็จออกมหาภิเนกษกรม แล้วมีท้าวสุรัสวดีมารซึ่งก็คือรูปยักษ์มาขัดขวาง) เขาให้ผมจุดธูป 3 ดอก ขออนุญาตยักษ์แล้วก็นอนได้ ผมก็เอาธูปไปนั่งคุกเข่าต่อหน้ารูปยักษ์และก็กล่าวดังๆ ให้เขาได้ยินว่า ท่านยักษ์ผมเดินมาเหนื่อยมากแล้วเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว ขอเมตตาท่านโปรดกรุณาให้ผมนอนกับท่านตรงนี้ด้วยครับแล้วก็ก้มกราบ เขาก็บอกว่ายักษ์อนุญาตแล้วนอนได้"

 

"และพอยักษ์อนุญาตให้ผมนอนแล้วรู้ไหมครับ หลังจากนั้นเขาไปขอข้าวสาร เขาก็ไปขอข้าวสาร ปลากระป๋อง ขอน้ำพริกจากพระมาหุงข้าวให้ผมกิน เป็นอะไรที่ดีมาก"

 

"และคนๆ นี้พอไปถามคนในวัด ว่าคนๆ นี้เป็นใครมาจากไหน ไม่มีใครรู้ครับ ตอนที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ มีคนไปพบเขาถูกทิ้งไว้ที่ตลาดท่าช้าง พอโตขึ้นมาเลี้ยงไม่ไหวก็ไว้ที่วัดต่อ และเขาก็โตที่ในวัดโดยที่ไม่รู้ว่าพ่อแม่ชื่ออะไร บ้านเดิมอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้จักครับ แต่คนเหล่านี้จิตใจงดงาม และคงไม่มีโอกาสได้พบกับเขาถ้าผมไม่เดิม และคนเหล่านี้คืออะไรที่มหัศจรรย์ที่เราไม่สามารถคิดเอาได้ ต้องไปสัมผัสกับเขา เขาจึงจะรู้" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

พบคู่สามี-ภรรยา เก็บขยะขาย เมตตาเลี้ยงอาหาร

นอกจากนี้อาจารย์ประมวลยังกล่าวถึงสองสามี-ภรรยา ซึ่งมีอาชีพเก็บขยะริมถนน ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเห็นสภาพของตนจึงสงสาร ประกอบกับวันดังกล่าวเป็นวันพระจึงอยากทำบุญ สองสามี-ภรรยาจึงเข้ามาถามตนว่า "ลุงกินอาหารหรือยัง" เมื่อทราบว่าตนยังไม่ได้กินอะไรจึงเสนอว่าจะซื้ออาหารให้ ตนจึงถามว่าแล้วมีสตางค์หรือ สองสามี-ภรรยาดังกล่าวจึงบอกว่ามีแล้วจึงควักสตางค์ออกมาให้ดู สองสามี-ภรรยาดังกล่าวจึงได้สั่งข้าวผัดมาให้ตนรับประทาน เมื่อตนชวนรับประทานอาหารด้วย สองสามี-ภรรยา ได้ตอบปฏิเสธว่า "วันนี้วันพระตน ถือศีล-กินเจ กินข้าวผัดเนื้อไม่ได้"

 

อาจารย์ประมวลได้เล่าถึงช่วงที่กำลังกินข้าวผัดว่า ตนได้ยินภรรยาพูดกับสามีซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า คนเก็บขยะ เก็บขวดพลาสติก พูดเพราะขนาดนี้ โดยฝ่ายภรรยาพูดกับสามีว่า "พ่อ เพราะวันนี้เราถือศีลกินเจ เราจึงมีบุญได้ให้อาหารลุงแก" ตนจึงได้กล่าวว่า "ผมต่างหากที่มีบุญได้พบเขา เพราะวันนี้ผมไม่มีสตางค์ เพราะวันนี้ผมเดินมา จึงเป็นบุญของผมที่ได้พบกับคุณ ถ้าผมขับรถมา ถ้าผมมีสตางค์ใช้ ผมไม่มีโอกาสได้พบหรอก" อาจารย์ประมวลนี่เป็นอะไรที่ดีมาก เมื่อตนจากเขา ตนได้ขอที่อยู่เพื่อที่ว่าเมื่อเขียนหนังสือเสร็จแล้วจะส่งมาให้ "ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เลยที่นี้ เพราะเขาไม่มีที่อยู่" อย่างไรก็ตามสองสามี-ภรรยา ให้ที่อยู่ของพ่อของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคู่สามี-ภรรยาดังกล่าวพูดว่า "เขียนสองที่เลย เพื่อที่จะได้ถึงแน่นอน" อาจารย์ประมวลกล่าวติดตลก

 

เผยความเป็นมนุษย์ที่เอื้อเฟื้อ พบได้ตลอดทาง

อาจารย์ประมวลกล่าวว่า "สิ่งที่ผมแสวงหาคือภาวะความเป็นมนุษย์ ผมเชื่อมั่นโดยตลอด และศรัทธาความเป็นมนุษย์มาก เพราะความเป็นมนุษย์ที่แท้มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน มีความห่วงใยที่ผมพบตลอดทาง"

 

ผมพบตลอดทาง เขาอาจจะกลัวผมแรกๆ ที่ผมโผล่เข้าไปในหมู่บ้าน กลัวถ้าผมกับเขาเผชิญกันคนต่อคน แต่เวลาผมไปนั่งอยู่และมีคนเริ่มมากขึ้นเขาก็คุย ยิ่งถ้าผมคุยให้เขาฟังและเขารู้ว่าผมไม่บ้า เขาดีมากจนไม่น่าเชื่อว่า คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจะดีมากขนาดนี้"

 

อาจารย์ประมวลกล่าวยกตัวอย่างว่า ที่หมู่บ้านหนึ่งตนไปนั่งริมน้ำและคุยกับเด็กๆ ก็มีผู้หญิงแก่ๆ เข้ามาฟังตนได้คุยกับเด็กๆ ก็เล่าให้ฟังว่าตนเดินมา ถ้าใครให้กินก็มีกิน

 

"พอคุณยายได้ยินถึงตรงนี้ก็ถามว่าแล้ววันนี้ได้กินหรือยัง ผมก็บอกว่ายังครับ แกบอกให้ผมนั่งก่อน และแกก็เดินกลับไปเลย สักพักแกก็เดินมาพร้อมจานข้าว 1 จาน แกบอกรอหน่อยๆ ข้าวสุกแล้วแต่แกงยังไม่สุก อีกครู่หนึ่งแกกลับมาพร้อมกับข้าวราดแกงปลาดุก แกบอกกินข้าวๆ ผมก็นั่งกินข้าวของแก"

 

ชาวบ้านบางแห่งนึกว่าเป็น "ต้นบุญ"

 "ขณะที่ผมกิน แกคงไปบอกเพื่อนบ้านมาด้วย มากันเต็มเลยนะครับทีนี้ มีขนม มีผลไม้ สารพัดมาให้ผม แล้วบางคนก็เอาขนมแห้ง ของแห้งใส่ถุงมาให้ ผมเลยอธิบายว่า "ผมเดินมาเพื่อเผชิญกับสิ่งที่เป็นความหวาดกลัว ผมขอไม่เอาอาหารเหล่านี้ไป เพราะถ้าเอาไปมันเท่ากับผมกลัวว่าจะไม่มีอาหารเหล่านี้กินในอนาคตข้างหน้า ผมเชื่อว่าน้ำใจเหล่านี้มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ขอโอกาสให้ผมได้ไปพบกับคนมีน้ำใจเหล่านั้น อย่าให้ผมต้องเอาอาหารเหล่านี้ไป" พอผมพูดอย่างนี้ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งนั่งลงแล้วพูดว่าอย่างนี้มัน "ต้นบุญ" แล้ว" พออาจารย์ประมวลพูดถึงตรงนี้ก็มีเสียงหัวเราะจากผู้ร่วมเสวนา

 

"ผู้ชายคนนี้บอกว่าตอนแรกนึกว่าลุงเป็นขอทาน แต่นี่มัน "ต้นบุญ" เพราะเมื่อคืนผมฝันเห็นพ่อมาบอกว่าผมจะได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์ ผมพบแล้ววันนี้" อาจารย์ประมวลเล่าถึงชายคนนั้น "ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกจริงๆ ของเขานะครับ แล้วแกก็มอบแจกันที่พันจากเถาวัลย์ให้ผม แกว่า "ช่วยรับแจกันของผมไป" ผมเลยว่า ผมรับแล้ว ความหมายที่ยิ่งใหญ่ของแจกันนี้คือน้ำใจคือความรู้สึก เขาทำแจกันนี้มาด้วยความยากลำบากขายได้เงินแล้วมายกให้ผม ผมรับคุณค่านั้นทั้งหมดทั้งสิ้น แต่แจกันที่เป็นวัตถุโปรดรับไว้ด้วยเถิด ในชีวิตนี้แบบรับสิ่งที่เป็นคุณค่าแค่นี้ก็มากพอแล้ว ผมยังจำชื่อเขาได้แม่นเขาชื่อคุณวิสุทธิ์"

 

เผยสังคมไทยมีน้ำใจ บางที่ขับมอเตอร์ไซค์ตามเอาเงินมาให้ก็มี

อาจารย์ประมวลกล่าวว่าน้ำใจของชาวบ้านมีตลอดจนตนรู้สึกว่าตนเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวเลยนะครับ "โดยบางหมู่บ้านคือโดยปกติถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวผมจะไม่ถาม เพราะถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวเขาจะกลัว ถ้ามี 2 คนยังดีหน่อย ผมเข้าไปถามเส้นทางนะครับ เขาถามว่าไปไหนมา ผมบอกว่าผมเดินมา แล้วเขาเอากล้วยแขกมาให้ผม ผมหยิบชิ้นหนึ่ง ผมบอกผมรับชิ้นเดียว ที่เหลือคุณกิน เขาบอกถือไปเถอะ ผมบอกเขาว่าผมกินชิ้นเดียว เราแบ่งกันกิน"

 

อาจารย์ประมวลกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นว่า "ผมเดินจากเขาไป 4-5 กิโล มีมอเตอร์ไซค์ขับซิ่งตามผมมานะครับและหนุ่มที่ขี่มอเตอร์ไซค์นี้เหงื่อโทรมเลย กำสตางค์เหรียญ กำแบงก์ยี่สิบมาให้ผม เขาพูดว่า "ให้ลุงๆ เป็นค่าเดินทาง" ผมบอกเขาว่าไม่ๆ ผมไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเลย ขอคืนไปเถอะ เขาว่า "แล้วจะเอาไปคืนเขาได้ยังไง ไม่ใช่เงินผม" ผมก็บอกว่าถ้าใครเป็นเจ้าของเงินก็เอาไปคืน ผมก็ไม่รู้เขาให้ผมเอามา ผมต้องไปจับมือเขาแล้วบอกว่าช่วยกลับไปบอกทุกคนจะเป็นใครก็ตามที ว่าลุงคนนี้ขอบคุณเป็นที่สุด เพียงแค่นี้ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์แล้วที่ผมได้รับ ขอให้เอาเงินนี้ไปทำบุญ หรือไปทำอะไรก็ได้

 

"นี่คือสิ่งที่ผมได้พบตลอดทาง แต่ผมซึ่งเป็นคนอ่อนไหว น้ำตาผมไหลตลอดทางเลย และเด็กหนุ่มคนนั้นก็ยังไม่ยอมที่จะกลับ ผมบอกเอาเงินคืนไปเถอะ เพียงแค่รู้ว่ามีคนจะช่วยผม ถ้าผมจะตายตอนนี้ผมก็ไม่รู้สึกเสียดายแล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตแล้ว เขาเห็นผมจะร้องไห้ เขาไม่รู้จะทำอย่างไร เขาเป็นเด็กหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรต่อดีเลยขี่มอเตอร์ไซค์กลับ" อาจารย์ประมวลกล่าว ซึ่งเรียกอมยิ้มปนซึ้งของผู้ร่วมเสวนาได้หลายคนทีเดียว

 

ถึงตรงนี้อาจารย์ประมวลกล่าวว่า "ผมไม่เคยรู้สึกด้วยใจของผมว่า ความดีมันเรียบง่าย งดงาม ไม่ซับซ้อน ทันทีที่เราได้พบคนที่เขาดีกับ เราสะเทือนใจทุกครั้ง ผมใช้ความรู้สึกว่ามันเหมือนกับน้ำทิพย์ที่ชำระล้างจิตใจให้เราสะอาด"

 

พบกับชาวมุสลิมที่ปราณบุรี

อาจารย์ประมวลกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้พบกับชาวมุสลิมที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า "วันนั้นผมเดินมาจากหัวหิน และคิดจะเดินไปตามชายทะเลคือไปออกปากน้ำปราณบุรี ผมหิวน้ำมากๆ เลยไปกินน้ำและล้างหน้าที่ก๊อกน้ำของปั๊มน้ำมัน ปตท.  และไปนั่งตรงม้าหินอ่อนหน้าเซเว่น-อีเลฟเว่นซึ่งมี 3 ตัว ตัวหนึ่งมีผู้ชายสูงอายุชาวมุสลิมสวมหมวกกาปิเยาะห์ 2 คนนั่งอยู่ก่อนแล้ว ผมไม่กล้านั่งตัวถัดไปเพราะผมตัวเหม็น จึงนั่งม้าหินตัวห่างออกไป"

 

"สักครู่หนึ่งก็มีสมาชิกของเขามาเพิ่มเป็นเด็กหนุ่ม เขาเลยมานั่งเก้าอี้ตัวกลาง เขายิ้มให้ผม ผมเลยยิ้มตอบ เขาถามผมว่าจะไปไหน ผมบอกว่าปลายทางผมอยู่ที่สุราษฏร์ธานี แต่วันนี้ไม่รู้จะเดินถึงไหน แล้วเขาก็ถามว่าจะไปถึงไหนอย่างไร พอเขาถามไปสักพัก เขาก็รู้ว่าผมไม่ได้กินอะไร เขาก็ควักสตางค์จะให้ผม ผมบอกไม่ผมไม่ต้องการสตางค์ เขาก็สนทนากับผมและถามว่าผมมีจุดหมายอย่างไรในการเดิน ผมใช้คำง่ายๆ ว่าผมเดินเพื่อฝึกฝนตนเอง เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์"

 

"ชาวมุสลิม 2 สูงอายุคนที่สวมหมวกพูดออกมาว่า เหมือนพวกเราๆ แล้วเขาก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ผู้ชายหนุ่มพูดว่าผมจะช่วยอย่างไรได้บ้าง เขาเสนอว่าถ้าซื้อให้รับได้ไหม ผมบอกว่ารับได้ เขารีบดึงสตางค์ให้เพื่อนเขาไปซื้อของในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น กลับออกมามีถุงพลาสติกสองใบ มีเครื่องดื่ม-น้ำผลไม้มาให้ผม แล้วลุงคนแก่เข้าไปในร้านไปซื้อยาใส่ถุงมาให้ผม"

 

"ผมจึงบอกว่าเครื่องดื่มของกินนี้ขอรับเท่าที่จะกินอิ่ม ไม่ขอถือไป ซึ่งเขาก็เข้าใจ และเวลานั้นเขาจะรีบไป จ.ยะลา เขาอวยพรว่า "ขอให้พระเจ้าทรงคุ้มครองคุณ" ผมก็ยกมือขึ้นและบอกว่า "ขอขอบพระคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเมตตา ทรงกรุณาต่อผมเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบกับบ่าวผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ ถ้าผมไม่มีโอกาสได้เดินมาผมคงไม่มีโอกาสได้พบกับพวกคุณ วันนี้เป็นโอกาสอันประเสริฐที่พระองค์อนุญาตให้ผมพบกับคุณได้ เราพบกันโดยพระประสงค์ของพระองค์ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง" และผมก็จากเขาไป" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

คำนับแผ่นดินเกิด เมื่อถึงเกาะสมุย

อาจารย์ประมวลกล่าวว่า ตนไปถึงเรือข้ามฟากจากบ้านดอน-เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2549 ซึ่งตนจำได้แม่นว่านาฬิกาในเรือข้ามฟากขณะนั้นเป็นเวลา 6.05 น. โดยที่คนยังผูกเชือกที่ท่ายังไม่เสร็จ ตนได้กระโดดขึ้นเรือเป็นคนแรก โดยที่ตนมีความรู้สึกที่ "ดีใจเป็นที่สุด เป็นล้นพ้น"  เมื่อเดินจากสะพานไปเหยียบแผ่นดินเกาะสมุย ผมก้มลงสัมผัสแผ่นดินที่เกาะสมุยด้วยความรู้สึกดีที่สุด ผมยังจำได้ว่าเป็นวันที่ฝนตก ก้มศีรษะลงไปไม่ถนัด จึงใช้มือจับแผ่นดินด้วยความรู้สึกที่ดีที่สุดแล้วเอามาวางที่กระหม่อมตัวเอง มือที่เปียกน้ำแล้วเอามาสัมผัสกับศีรษะของตนเอง มันสะดุ้งด้วยความรู้สึกที่มหัศจรรย์ จากนั้นตนจึงเดินกลับบ้านระยะทาง 5 กิโลเมตร เมื่อไปถึงบ้านก็คุกเข่าลงในที่ๆ เป็นบันไดบ้านเดิม จากนั้นตนก็นำดินที่เก็บมาจากใต้ถุนบ้านเมื่อตอนออกบ้านอายุ 18 ปี มาคืนยังที่เดิมนั้น ตนรู้สึกดีมากอย่างบอกไม่ถูกและร้องไห้ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต อาจารย์ประมวลกล่าว  

 

เผยความเปลี่ยนแปลงเชิงอารมณ์ หลังการเดินทาง

เมื่อมีผู้ถามว่าหลังจากเดินทาง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือไม่ อาจารย์ประมวลกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นกิจจะลักษณะไม่ชัด เพราะตนก็มีความคิดเช่นนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงเชิงอารมณ์ก็มีและมีมากด้วย แต่ไม่สามารถพูดบอกเล่าที่เป็นรูปธรรมชัดเจนได้ หมายความว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเชิงอารมณ์

 

"ก็คือสิ่งที่เราเคยคิดไว้นะครับ เช่น ผมเคยคิดเกลียดขี้หน้าคนๆ หนึ่ง ไม่ต้องบอกชื่อนะครับ คือผมเกลียดมาก ผมพยายามมานานแล้ว แผ่เมตตาก็แล้ว คิดในแง่ดีก็แล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่ยังมีความรู้สึกที่ว่า "เกลียด" อยู่ แต่พอผมเดินไป พอผมหยุดพัก ผมจะแผ่เมตตาให้คนๆ นี้ และมีอยู่ช่วงหนึ่ง ขณะที่ผมนึกแผ่เมตตา ผมน้ำตาไหลออกมาด้วยความรู้สึกเสียใจตัวเอง ที่ทำไมช่างโง่ ช่างด้อยปัญญาถึงขนาดนี้ เป็นความรู้สึกที่แปลกมากผมไม่รู้จะบอกได้อย่างไร"

 

รู้สึกชีวิต "เนียนขึ้น" หลังเดินทางไกล

อีกตัวอย่างที่อาจารย์ประมวลยกตัวอย่างคือ "ผมก็ทำในสิ่งที่คนทำด้วยความคิดเชิงเหตุผล เมื่อผมเป็นสามี ผมก็รู้ด้วยเหตุผลว่าเมื่อเป็นสามีก็ต้องรัก ต้องเอาใจ ต้องดูแลเธอให้ดีที่สุด แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมพบความเปลี่ยนแปลงในใจผม คือเมื่อก่อนอย่างเลิกงานเขาชอบชวนไปกินนั่นไหม ไปกินนี่ไหม แล้วเขาชวนไปกินอะไรที่มันไกลๆ แทนที่จะกินในเส้นทางกลับบ้านนี่นะครับ ผมก็ไป ไม่ใช่ไม่ไป เพราะเหตุว่าเราควรจะทำเป็นหน้าที่ของสามี แต่เวลาขับรถก็อยู่ในใจเราลึกๆ ว่า การกินไม่ใช่เรื่องใหญ่ กินตรงไหนก็ได้ประมาณนี้นะ ก็พูดเป็นเลศเป็นนัยอยู่เรื่อยว่ากินใกล้ๆ ก็ได้ แต่หลังจากที่ผมกลับมาจากเดินนะครับ ความรู้สึกแบบเดิมไม่มีเลย วันหนึ่งอาจารย์สมปองบอกว่าเราไปกินแหนมเนืองกันไหม ผมบอกไปสิๆ ผมรู้สึกว่ามันน่าไปเป็นที่สุด ผู้หญิงคนนี้เธอยอมอดทนให้ผมทำในสิ่งที่ยาก" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

อาจารย์ประมวลยกตัวอย่างต่อว่าช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาตนชวนภรรยาขับรถไปเที่ยวกว่า 21 วัน "ผมพาอาจารย์สมปองเที่ยวไปทั่วถึงอ่าวไทยที่สงขลาและไปออกฝั่งอันดามันเริ่มต้นที่สตูล อาจารย์สมปองอยากหยุดตรงไหนก็หยุด ที่เล่ามานี้ไม่ได้ต้องการจะโอ้อวดนะครับ แต่ต้องการจะบอกอะไรในเชิงนามธรรมว่า สิ่งที่เราคิดว่ามันดี และเราต้องทำ มันไม่เนียนมันยังรู้สึกขัดๆ เขินๆ เนี่ย หลังจากนั้นมามันเนียนนะครับ มันไม่หยาบ ไม่สาก" อาจารย์ประมวลกล่าว

 

ฝากบอกคนหนุ่มสาว "ชีวิตนี้อร่อย"

ในช่วงท้ายการเสวนามีการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้ร่วมเสวนากับอาจารย์ประมวล ซึ่งอาจารย์ประมวลกล่าวส่งท้ายว่า "ชีวิตนี้คืออาหารที่อร่อยมาก ผมบอกไม่ถูกนะครับ และรสชาติของอาหารที่อร่อยไม่ได้เกิดจากรสชาติใด รสชาติหนึ่งเพียงรสชาติเดียว เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม ล้วนแต่เป็นส่วนของความอร่อยทั้งนั้นเลย เราไม่สามารถบอกได้ว่ารสขมเป็นรสที่ไม่จำเป็นของอาหาร จริงๆ แล้วรสขมมันจำเป็นเราต้องหาอะไรขมๆ มาใส่ในอาหารเหมือนเรากินสะตอ"

 

"ผมอยากจะบอกว่าขอให้เราทุกคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวได้รับรู้ว่ารสสุข ทุกข์ ผิดหวัง สมหวัง ร้องไห้นี้ เราจะไม่รู้ความหมายของความสุขเลยถ้าเราไม่ทุกข์แสนสาหัส ถ้าผมไม่หิวเหมือนกับขาดใจตาย ผมจะไม่รู้เลยว่าก๋วยเตี๋ยวที่พี่อัมพรให้วิเศษสักปานใด ผมหิวเหมือนจะขาดใจตาย ก๋วยเตี๋ยวชามนั้นจึงอร่อยจนไม่รู้จะบอกว่าอะไร ดังนั้นอย่ารังเกียจที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด อย่ารังเกียจที่จะเผชิญกับความทุกข์ อย่ารังเกียจอย่ากลัวที่จะเผชิญกับความล้มเหลวความผิดหวัง" อาจารย์ประมวลกล่าวคล้ายกับจะส่งต่อความท้าทายนี้ให้กับคนหนุ่มสาวที่มาฟังการเผยประสบการณ์ของอาจารย์

 

ลูกศิษย์เผย การเดินทางของอาจารย์คือแรงบันดาลใจคนหนุ่มสาว

หลังจากการเสวนา "ประชาไท" ได้มีโอกาสไปสอบถามลูกศิษย์วิชาปรัชญาของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ โดย นางสาววริสรา สุกุมลจันทร์ อดีตนักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยเรียนกับอาจารย์ประมวลก่อนที่อาจารย์จะเกษียณกล่าวว่า ทราบข่าวว่าอาจารย์เดินเท้าก็รู้สึกเป็นห่วง เพราะอาจารย์อายุมากแล้วประกอบกับเดินเท้าเพียงลำพัง จึงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของอาจารย์ แต่ก็ไม่ได้ใครคิดห้ามเพราะเรื่องการเดินเท้านี้อาจารย์ประมวลได้พูดในชั้นเรียนมานานแล้วและเป็นความฝันของอาจารย์ด้วย การเดินเท้าของอาจารย์ทำให้เราคิดถึงตัวเองว่าเราก็มีความฝันอยากทำความฝันของตนให้เป็นจริงบ้าง อาจารย์ทำให้เรารู้สึกว่าการทำตามความฝันไม่มีวันสาย แม้แต่อาจารย์อายุ 50 กว่าปีก็ทำตามความฝันของตนได้ เมื่อได้ฟังเรื่องราวของอาจารย์ ก็รู้สึกมีความสุข พลอยยินดีไปกับเรื่องที่อาจารย์เล่า รู้สึกว่าคนดีๆ ที่อาจารย์ไปพบมีอยู่จริงๆ และเป็นคนธรรมดา ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แถมตัวเราเองก็อาจเจอคนดีๆ รอบตัวเรา ถ้าเรายิ้มให้เขาก่อน

 

ด้าน นางสาวปิยะมาศ ใจใฝ่ อดีตนักศึกษาเก่าภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยมีโอกาสเรียนกับอาจารย์ประมวลเช่นกัน กล่าวว่าความรู้สึกแรกเมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์เดินทางไกลนั้นตนเชื่อว่าอาจารย์ปลอดภัยแน่นอน เพราะอาจารย์เป็นคนดีต้องได้รับสิ่งดีๆ ลูกศิษย์ของอาจารย์ต่างลุ้นว่าอาจารย์จะเดินถึงเมื่อไหร่ และมีลูกศิษย์คอยไปสอบถามภรรยาของอาจารย์เป็นประจำ ซึ่งได้ข่าวจากไปรษณียบัตรที่อาจารย์ประมวลส่งมา เมื่ออาจารย์ประมวลเดินทางถึงเกาะสมุยและกลับมาเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้เรารู้สึกสนุกเหมือนได้เดินทางร่วมไปกับอาจารย์ และหลายเรื่องที่อาจารย์เล่า น้อยคนที่จะคิดในแง่มุมได้อย่างอาจารย์

 

โดยล่าสุด ขณะนี้อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ กำลังใช้ชีวิตในมุมสงบๆ ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนตลอดการเดินทางไกลดังกล่าว ซึ่งเตรียมปรากฏสู่บรรณพิภพเร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net