Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2549 โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายองค์กรครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงานเปิดตัว "ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้" มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน


 


นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดตัวศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการตั้งศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำงานเกาะติดสถานการณ์ภาคใต้นานหนึ่งปีเต็ม การตั้งศูนย์ข่าวอิศรา ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ เกิดการสะสมองค์ความรู้ต่างๆ ไว้มากมาย เพียงแต่ไม่มีการสังเคราะห์ ข้อมูลจึงยังนำไปใช้ไม่ได้ หลังจากได้รับความร่วมมือจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชมรมแพทย์ชนบท และองค์กรครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ข้อมูลที่เก็บไว้ได้รับการสังเคราะห์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก้ปัญหาได้


 


นายภัทระ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลในการตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ คือ ต้องการให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลจากพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาสื่อมวลชนนำเสนอข่าวขัดแย้งกับข้อมูลในพื้นที่ตลอด จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หลังจากเปิดศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้แล้ว ผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหา รวมทั้งผู้สนใจจะสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลงในที่สุด


 


จากนั้น มีการสัมมนาเรื่อง "30 เดือนสถานการณ์ไฟใต้ ครึ่งปี 49 วิกฤติ 4 จังหวัด" โดยผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อภิปรายว่า จากสถิติระหว่างเดือนมกราคม 2547 - เดือนสิงหาคม 2549 พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในภาพรวมยังเกิดต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ระดับความรุนแรงระหว่างเดือนมกราคม - สิงหาคม 2548 เกิดเหตุการณ์ 1,849 ครั้ง ขณะที่ช่วงเดียวกันปี 2549 เกิดเหตุการณ์ 1,202 ครั้ง เกิดขึ้นน้อยลง 647 ครั้ง


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ อภิปรายต่อไปว่า เมื่อมองตัวเลขการก่อเหตุในรอบ 32 เดือนพบว่า เกิดขึ้น 5,460 ครั้ง จังหวัดนราธิวาสก่อเหตุมากที่สุด 2,074 ครั้ง จังหวัดปัตตานี 1,656 ครั้ง จังหวัดยะลา 1,412 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,730 ราย บาดเจ็บ 2,513 ราย มีผู้ได้รับผลกระทบนับหมื่นคน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 มีผู้เสียชีวิต 418 ราย บาดเจ็บ 863 ราย ส่วน 8 เดือนแรกของปี 2549 มีผู้เสียชีวิต 422 ราย บาดเจ็บ 684 ราย แม้จำนวนครั้งของเหตุการณ์จะต่างกันอยู่ 647 ครั้ง แต่ผู้เสียชีวิตในปี 2549 กลับมีจำนวนมากกว่า แสดงให้เห็นถึงระดับความเข้มข้นของความรุนแรงของเหตุการณ์ในปี 2549 ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่า โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิดธนาคารที่เพิ่งเกิดขึ้นในจังหวัดยะลา ซึ่งนอกจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


"วิธีการของผู้ก่อความไม่สงบ ใช้ยุทธวิธีทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการยิง 2,087 ครั้ง หรือร้อยละ 40 วางระเบิดหรือโจมตีด้วยระเบิด 967 ครั้ง หรือร้อยละ 19 การวางเพลิง 721 ครั้ง หรือร้อยละ 14 นอกจากนั้น เป็นการเผายางรถยนต์ หรือใช้ตะปูเรือใบโปรยตามถนน เป็นต้น ประมาณ 701 ครั้ง หรือร้อยละ 14" รศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว


 


รศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุว่า เมื่อมองการใช้ยุทธวิธีก่อเหตุในรอบ 32 เดือนพบว่า มีการใช้ยุทธวิธียิงเป็นหลัก เกิดความเสียหายแก่ชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะการยิงรายวันตามพื้นที่ต่างๆ กระจายในวงกว้างทุกพื้นที่ และตั้งแต่กลางปี 2548 มีการใช้ระเบิดสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต การใช้ระเบิดโจมตีสูงสุด เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2549 รวม 88 ครั้ง สูงกว่าระดับความรุนแรงชนิดอื่นในเดือนเดียวกัน และเป็นการก่อเหตุ โดยใช้ระเบิดมากที่สุดในรอบ 3 ปี


 


"ก่อนหน้านี้พบว่า คนมุสลิมเสียชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าคนไทยพุทธ แต่ครึ่งปีแรกของปี 2549 พบว่า คนไทยพุทธตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น โดยปี 2547 พบว่า คนมุสลิมเสียชีวิต 924 ราย ชาวไทยพุทธ 697 ราย จะเห็นได้ว่า คนมุสลิมสูญเสียชีวิตมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน 2548 และช่วงเดียวกันของปี 2549 คนไทยพุทธมีแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยปี 2548 คนไทยพุทธเสียชีวิต 111 คน ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2549 คนไทยพุทธเสียชีวิต 141 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตมุสลิมใน 6 เดือนแรกของปี 2548 มี 208 คน และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 มี 183 คน แสดงว่าปี 2549 อัตราการเสียชีวิตของคนมุสลิมมีแนวโน้มลดลง ซึ่งน่าจับตาเพราะมีข่าวว่าบางพื้นที่ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายโจมตีคนไทยพุทธ" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยว่า เป้าหมายการก่อความรุนแรงกลุ่มหนึ่ง คือ ราษฎรทั่วไป ข้อมูลปี 2547 - 2549 แสดงให้เห็นว่ามีราษฎรเป็นเหยื่อหรือเป้าหมายการทำร้ายสูงถึง 1,462 คน หรือร้อยละ 47 ของเหยื่อความรุนแรงทั้งหมด รองลงมา คือ ตำรวจ 481 คน หรือร้อยละ 16 ทหารเสียชีวิต 373 นาย หรือร้อยละ 12 คนงานหรือลูกจ้างทางราชการเสียชีวิต 226 คน หรือร้อยละ 7 ส่วนกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต 185 คน หรือร้อยละ 6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 - เดือนสิงหาคม 2549 แบบแผนของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ มี 2 อย่าง คือ 1. การก่อเหตุรายวัน ที่ยังดำเนินอยู่โดยไม่มีทีว่าจะหยุด 2. คลื่นความรุนแรง ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการ และการประสานงานค่อนข้างเป็นระบบ ซึ่งจะมีผลต่อความได้เปรียบทางการเมืองด้วย เพราะการโจมตีและปฏิบัติการสามารถกระทำในวงกว้างหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก


 


"ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2549 นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง สำรวจความเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่อง "ค่านิยมประชาธิปไตย" เป็นความร่วมมือระหว่างนักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา กับนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากการสุ่มตัวอย่างประชากร 1,500 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองมากที่สุด ส่วนสถาบันราชการ ประชาชนไม่ไว้ใจตำรวจมากที่สุด สถาบันทางด้านยุติธรรม เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ได้รับความไว้วางใจสูงสุด สะท้อนได้ว่า ชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม แต่ข้าราชการพลเรือนไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว


 


นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสหพันธ์ครูจังหวัดยะลา  กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน บุคลากรในวิชาชีพครู ข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เสียชีวิตทั้งหมด 50 ราย บาดเจ็บ 47 ราย เป็นผู้บริหารสถานศึกษา 5 ราย นักเรียน 8 ราย บาดเจ็บ 32 ราย มีผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดนราธิวาส 29 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดปัตตานี 28 เปอร์เซ็นต์  และจังหวัดยะลา  41 เปอร์เซ็นต์ ครูใน 3 จังหวัด กลัวหวาดระแวงตลอดเวลา หากขวัญกำลังใจครูอยู่ในสภาพนี้ จะส่งผลต่อคุณภาพของเด็กนักเรียน


 


นายประสิทธิ์ เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นเงื่อนไขหลัก เป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่องมายาวนาน มีอุดมการณ์ปลดปล่อย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นอิสระจากการปกครองของรัฐไทยหรือสยาม โดยหยิบยกเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมจากฝีมือคนของรัฐ ชักจูงประชาชนให้สนับสนุน ยุทธศาสตร์ที่ผู้ก่อความไม่สงบใช้ คือ แยกคนไทยพุทธออกจากคนมุสลิม ทุกวันนี้คนไทยพุทธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหลืออยู่เพียง 9 หมื่นกว่าคน จากเดิมปี 2547 มีอยู่ 3 แสนกว่าคน หากยังเป็นเช่นนี้ เป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีความเป็นไปได้มากขึ้น


 


นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า จากข้อมูลในรอบ 32 เดือน มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบาดเจ็บ 15 คน เสียชีวิต 7 คน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านเสียชีวิต 23 คน บาดเจ็บ 8 คน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการเชิงรุก การลงพื้นที่ให้บริการและเยี่ยมเยียนผู้ป่วย ต้องใช้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านดูแลแทน เพราะเป็นคนในพื้นที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด


 


"ผลกระทบต่อบุคลากร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความไม่สบายใจของคนในครอบครัว และการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนสถานีอนามัยผู้รับบริการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยที่มีแนวโน้มลดลง สถานีอนามัยต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการ โดยเปิดให้บริการช้าและปิดเร็ว และปิดให้บริการในบางช่วง" นายแพทย์สุวัฒน์ กล่าว


 


นายแพทย์สุวัฒน์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการให้บริการของโรงพยาบาล มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก การให้บริการเชิงรุกด้านทันตกรรมลดลง 50% การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยลดลง 60% การส่งเสริมสุขภาพและควบคุมโรคลดลง 70% การรักษาพยาบาลลดลง 25% ปัจจุบันหมอที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เป็นคนพื้นที่ 66.7% ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ทำงานใช้ทุน หลังจากใช้ทุนครบก็ผลัดเปลี่ยนโยกย้ายไปตามที่ต่างๆ สำหรับแพทย์ที่ขาดแคลนในพื้นที่ คือ แพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะแพทย์ศัลยกรรม ขณะนี้กรมการแพทย์ทหารบกได้ส่งแพทย์ศัลกรรมมาอยู่ในพื้นที่ 3 คน


 

เอกสารประกอบ

32 เดือนแห่งความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ll

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net