Skip to main content
sharethis

7 สิงหาคม 2549


สี่แยกเพลินจิต


 


ผู้คนหลายร้อยกำลังนั่งอยู่เต็มหน้าอาคารทันสมัยกลางแดดเที่ยง ดูแล้วขัดกับบรรยากาศย่านธุรกิจใจกลางเมืองอย่างไรชอบกล


 


ใครคนหนึ่งส่งเสียงผ่านไมโครโฟนพยายามสื่อสารกับ "แกล๊กโซ่" บริษัทผลิตยาชั้นนำของโลก ซึ่งสำนักงานประจำประเทศไทยตั้งอยู่ที่ไหนสักแห่งบนอาคารหลังนั้น


 


"คุณคิดว่ามันเป็นธรรมไหมที่เราต้องถูกบังคับอย่างไม่ชอบธรรมให้ซื้อยาของคุณราคาเม็ดละ 139 บาท ขณะที่องค์การเภสัชฯ ขายเม็ดละ 25 บาท"


 


ถ้าเดินอยู่แถวนั้นแล้วหยุดฟังสักพัก หรือคลิ๊กหน้านี้แล้วอ่านต่ออีกสักหน่อย ก็จะได้รู้ที่มาที่ไปของการเผชิญหน้าระหว่างคู่รักคู่แค้นคู่นี้ที่ต่อสู้กันมาเกือบ 10 ปี และมันยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนปัญหาของระบบสิทธิบัตรในประเทศไทยด้วย


 


วันนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับ "ยาของเขา" ไม่แน่ พรุ่งนี้อาจเป็นปัญหา "ยาของคุณไม่กินยาบ้างก็แล้วไป !


 


 


. . . . . . . .


 



 


 


พวกเขาเป็นใคร ?


เขาคือเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และเครือข่ายคนทำงานเอดส์


 


มาทำไม ?


มาเรียกร้องให้บริษัทแกล๊กโซ่ สมิทธ์ ไคล์ (ประเทศไทย) จำกัด (Glaxo Smith Kline/GSK) ถอนคำร้องการยื่นขอสิทธิบัตรยาต้านไวรัสแบบสองชนิดรวมกันเป็นเม็ดเดียว ภายใต้ชื่อการค้าว่า "คอมบิด" หรือในรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า "คอมบิเวีย" 


 


ทำไมจึงมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง "ยา" อยู่เรื่อย ?


ก็ผู้ติดเชื้อจัดเป็นมนุษย์ประเภทที่ต้องกินยาเยอะมาก ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องตรงเวลาทุกวันเพื่อควบคุมเชื้อเอชไอวีในร่างกายไม่ให้เพิ่มขึ้น และให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมีเวลาสร้างตัวเองขึ้นมาต่อต้านกับเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคฉวยโอกาส สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป


 


แล้วเกี่ยวอะไรกับการจดสิทธิบัตรยา "คอมบิด" ของแกล๊กโซ่ ?


มันคงไม่เกี่ยว ถ้าแกล๊กโซ่ไม่เอายาสูตรพื้นฐานสองตัว คือ ลามิวูดีน กับ ซิโดวูดีน เอามารวมกันโดยใช้สารทำให้ลื่นเข้ามาผสม เพื่อลดการแยกตัวของส่วนผสมต่างๆ ในช่วงการอัดเม็ด


 


บังเอิญว่ายาสองตัวนี้เป็นสูตรยาต้านฯ พื้นฐานที่องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้และจำหน่ายให้ผู้ติดเชื้อมานานแล้ว ทั้งยังส่งไปจำหน่ายให้ผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านด้วย


 


ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้บริษัทถอนคำร้องขอสิทธิบัตรยาคอมบิดนี้ เพราะยานี้ไม่มี "ความใหม่" ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการขอจดสิทธิบัตรตามกฎหมายไทย แถมยังขาดคุณสมบัติ "การประดิษฐ์ที่สูงขึ้น"อีกด้วย เพราะกรรมวิธีที่แกล๊กโซ่เอาสารทำให้ลื่นมาผสมนั้นมันเป็นวิธีทั่วไป หลักสูตรปริญญาตรีก็เรียนกัน นักวิชาการหลายคนมองว่านั่นไม่ถือเป็นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น


 


ประเทศอังกฤษเคยปฏิเสธคำขอทำนอง "เหมือนจะใหม่ เหมือนจะสูงขึ้น" แบบนี้มาแล้ว


 


ตอนนี้เรื่องไปถึงไหน ?


อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการในกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์


 


ถ้าแกล๊กโซ่ได้สิทธิบัตรจะเกิดอะไรขึ้น ?


องค์การเภสัชฯ ก็ไม่อาจผลิตยาสูตรพื้นฐานได้อีกต่อไป ผู้ติดเชื้อก็ต้องซื้อยาคอมบิดของแกล๊กโซ่


 


แล้วยังไง ?


ราคามันต่างกันนิดหน่อย แค่ 5-6 เท่าตัว


ยาขององค์การเภสัชฯ ตกประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน ยาของแกล๊กโซ่ 8,646 บาทต่อเดือน


 


มันจะกระทบกับคนมากแค่ไหน ?


มีคนต้องกินยาสูตรนี้อยู่ประมาณ 5,000 คน และแน่นอนว่าทั้งหมดนั้นไม่ใช่มหาเศรษฐี ที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็มีอยู่ไม่น้อย


 


นี่คือขั้นต่ำ อันที่จริงผลกระทบอาจไปไกลกว่านั้น


 


ทำไม ?


ถ้าแกล๊กโซ่ได้สิทธิบัตร มันอาจส่งผลกระทบทำให้องค์การเภสัชฯ ไม่สามารถผลิตยาจีพีโอ-เวีย ได้ ทั้งที่มันเพิ่งเข้าไปอยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปีที่แล้วซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อทุกคนสามารถเข้าถึงยาต้านฯ ได้ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อฯ ที่ต้องรักษาด้วยยาต้านฯ ประมาณ 80,000 คน


 


จีพีโอ-เวียเป็นยาที่มีการผสมของเม็ดยา 3 ชนิด และ 2 ชนิดที่แกล๊กโซ่ขอจดสิทธิบัตรก็รวมอยู่ในนี้ด้วย


 


เคยร้องเรียนหรือยัง ทำไมต้องมาถึงหน้าตึก ?


ก่อนหน้านี้เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นำโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) เคยยื่นคำร้องคัดค้านไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 หลังจากแกล๊กโซ่ประกาศโฆษณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน (ในกระบวนการขอจดสิทธิบัตรต้องประกาศโฆษณา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและอาจได้รับผลกระทบมาคัดค้านได้)


 


เหตุผลคือ ยา 2 ชนิดนี้ไม่ได้เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หรือมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และการขอสิทธิบัตรขัดต่อ มาตรา 9 (5) ของพ.ร.บ.สิทธิบัตร เพราะเป็นการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ถ้ามีการจดสิทธิบัตรจะส่งผลกระทบต่อราคายา ประชาชนเข้าไม่ถึงยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเสียเงินซื้อยาต้านฯ ในราคาแพง


 


แต่คำคัดค้านถูกปัดตก กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เหตุผลว่าไม่มีเอกสารฉบับใดที่ปรากฏให้เห็นว่ามีการเปิดเผยข้อมูลของสิ่งประดิษฐ์อย่างครบถ้วน และการนำยา 2 ชนิดมารวมกันก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าทำได้ง่ายแก่บุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญในระดับสามัญสำหรับงานด้านเภสัชกรรม


 


มสพ.และเครือข่ายจึงอุทธรณ์อีกครั้ง พร้อมกับให้ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในกระบวนการพิจารณา เพื่อให้มีการสอบสวนและเปลี่ยนตัวคณะอนุกรรมการคัดค้านและอุทธรณ์กรณียาคอมบิดทั้งชุด


 


ข้อสังเกตอะไร ?


1.ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาคำคัดค้านสิทธิบัตรคอมบิด (และปัดตกคำคัดค้านไป) มีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแกล็กโซ่สาขาประเทศไทย  เครือข่ายผู้ติดเชื้อได้ร้องเรียน รมว.พาณิชย์ จนในที่สุด มีการเปลี่ยนตัวประธาน


 


2.หนึ่งในคณะอนุกรรมการที่พิจารณาให้สิทธิบัตรคอมบิด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรมเป็นเวลา 2 เดือน เพราะแกล๊กโซ่ได้ว่าจ้างให้กรรมการคนดังกล่าวทำวิจัยเกี่ยวกับยาชนิดฉีดตัวหนึ่ง แต่ผลของข้อมูลรายงานสร้างความสับสนจนก่อให้เกิดความเสียหายทางการค้าแก่บริษัทยาอีกแห่งหนึ่ง จึงถูกร้องเรียนให้มีการตรวจสอบจริยธรรม


 


ถึงที่สุดถ้าแกล็กโซ่ไม่สนใจ ?


ไม่เป็นไร คงไปเจอกันที่โตรอนโต แคนาดา เพราะที่นั่นจะมีการประชุมเอดส์โลกกลางเดือนสิงหาคมนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จะไปพบแกล็กโซ่ถึงบูธของเขา !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net