Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 14.00น. ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา และนิตยสารนักศึกษา เควสชั่นมาร์ก (QUESTIONMARK) จัดเสวนาหัวข้อ "ความจริง ความคิด ชีวิต การต่อสู้: เสียงกระซิบจากชายขอบของสังคม" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ชวนคนชายขอบฝ่าด่านทัศนะ
จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อฯ เมื่อรู้ว่าติดเชื้อฯ ก็ทำใจยอมรับได้ลำบาก เพราะเมื่อ 15 ปีก่อน เชื่อกันว่า การติดเชื้อฯ คือความตาย


 


พ่อแม่พี่น้อง หรือคนในชุมชนก็คงมีทัศนคติไม่ต่างกัน ยกตัวอย่าง หากผู้ติดเชื้อฯ จะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว จะมีคนมากินไหม ไม่มี เพราะเกิดทัศนคติว่า ผู้ติดเชื้อเป็นคนไม่ดี และกลัวว่าจะติดเชื้อฯ ไปด้วย เท่ากับถูกทำให้ตายโดยปริยาย


 


ก่อนหน้านี้ การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ จะรวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจกัน ยังไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด จนต่อมาเมื่อรู้ว่ามียารักษาโรคฉวยโอกาส ซึ่งจะช่วยรักษาโรคฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นเมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายตก โดยเมื่อรักษาได้ก็จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ จึงมีการรณรงค์ให้ความรู้เพื่อนผู้ติดเชื้อให้รู้ว่ามียารักษาได้ จากเดิมที่มองชีวิตแค่ว่า 5 ปีข้างหน้าจะมีชีวิตอยู่ไหม ก็มองไปถึงว่า จะอยู่จนแก่เฒ่าจนได้เห็นหน้าหลาน


 


จารุณี กล่าวว่า ขณะนี้ คนชายขอบมีประเด็นร่วมกัน คือ ต้องฝ่าด่านทัศนะของคนทั่วไปไปด้วยกัน เพราะคนมีความเชื่อแบบเดิมอยู่ ครั้งหนึ่ง เคยสัมภาษณ์ผู้ที่เข้ามาสมัครงานกับองค์กร เมื่อถามว่า เคยเห็นผู้ติดเชื้อฯไหม ผู้สมัครตอบว่าเคยเห็นในทีวี เมื่อถามว่า แล้วคิดว่า กรรมการที่นั่งอยู่ตรงนี้ คิดว่าใครคือผู้ติดเชื้อฯ เขาก็ชี้มาที่ตนเอง โดยให้เหตุผลว่า เพราะผอมๆ ดำๆ น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อฯ


 


ดังนั้นจะเห็นว่า สื่อมีส่วนอย่างมาก เพราะทำให้คนเชื่ออย่างนี้ อย่างสมัยหนึ่งที่มีโฆษณาเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งเป็นภาพคนตัวผอมๆ นั่งกอดเข่า ก็ทำให้คนติดภาพนั้น แล้วเดี๋ยวนี้จะมารณรงค์ว่า เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะคนยังไม่เข้าใจ ว่าจะไม่ติดเชื้อฯ ก็ต้องป้องกันนะเวลามีเพศสัมพันธ์ เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นเสียที


 


สอง ผู้คนจะมองว่าคนไม่เท่ากัน ผู้ติดเชื้อฯ จะถูกมองว่า ทำได้เท่านี้แหละ คนพิการก็ได้เท่านี้ แต่คนมีการศึกษา ร่ำรวยทำได้มากกว่านี้ สะท้อนเรื่องความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพและคุณค่าของคนได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในภาคประชาชน เชื่อมั่นอย่างมากว่า คนที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ดีที่สุด


 


พนักงานบริการไม่ได้แพร่เชื้อฯ


วรรัตน์ หลอดคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง หรือ "เอ็มพาวเวอร์ ฟาวเดชั่น" ศูนย์พัฒพงศ์ กล่าวว่า พนักงานบริการมักถูกต่อว่าว่าเป็นคนแพร่เชื้อเอชไอวี เพราะทำงานอย่างนี้ ทั้งที่การได้รับเชื้อเอชไอวีนั้นไม่ขึ้นอยู่กับอาชีพ จะดารา นางงาม หรือหมอก็ติดเชื้อฯ ได้ทั้งนั้น หากไม่ป้องกัน


 


เมื่อเช้านี้ กาละแมร์ (พัชรศรี เบญจมาศ) ก็พูดในรายการ ผู้หญิงถึงผู้หญิง ว่า เพื่อนผู้ชาย 2-3 คนไปเที่ยวกลางคืน ก็ยังคิดอยู่ว่าจะติดเชื้อฯ ไหม นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างว่า สื่อสร้างความเชื่อว่า พนักงานบริการเป็นผู้แพร่เชื้อฯ


 


นอกจากนี้ พนักงานบริการยังประสบปัญหาป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อฯ ได้ยาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่า ถุงยางอนามัยซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำงานของพวกตน ว่าเป็นหลักฐานในการกระทำผิดกฎหมาย


 


อยากให้พนักงานบริการได้รับการคุ้มครองสวัสดิการจากกระทรวงแรงงาน โดยที่ไม่ต้องตีตรา เพราะถือเป็นแรงงานกลุ่มหนึ่งซึ่งทำเงินให้ประเทศปีละหลายล้านดอลล่าร์


 


อาชีพนี้ไม่ใช่ว่าต้องมีเซ็กส์เสมอไป บางทีออกไปกับลูกค้าก็พาไปเที่ยววัด พาทัวร์สถานที่ต่างๆ นักธุรกิจฝรั่งบางคนที่มีเรื่องไม่สบายใจไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ ก็มาคุยกับพวกตนก็มี


 


คนชายขอบที่อยู่ชายขอบ


เอ เคลน ตัวแทนจากสหภาพแรงงานข้ามชาติกะเหรี่ยง (MKLU) กล่าวว่า ตนเองมาทำงานที่เมืองไทย 14 ปีแล้ว ที่มาก็เพราะหนีภัยสงครามมา เคยคิดว่า ทำได้ 8-9 ปีจะกลับบ้าน แต่ปรากฏว่า พอกลับไปก็ถูกไล่ออกมาอีก เพราะในพม่ามีคนหลายเผ่าไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนพม่า


 


สำหรับสหภาพนี้ตั้งมา 7 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากไม่ใช่คนไทย นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติยังมีปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว โดยจะได้ทำหรือไม่ต้องขึ้นกับการตัดสินใจของนายจ้าง


 


แรงงานที่ทำงานในบ้าน บางทีก็ถูกกลั่นแกล้ง ถูกเจ้านายข่มขืน จนท้อง จนต้องฆ่าตัวตาย นอกจากนี้แรงงานยังไม่สามารถออกนอกเขตได้ หากออกนอกเขตอาจถูกจับแล้วเจ้านายไม่สนใจมาประกันตัว อาจถูกส่งกลับประเทศ


 


เพราะสลัมเป็นส่วนหนึ่งของเมือง


ประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ปัญหาของสลัมเกิดจากผู้ที่เข้ามาอยู่ในเมืองถูกกระทำโดยรัฐ เพราะการพัฒนาเมืองของรัฐมุ่งเน้นแต่อุตสาหกรรม ไม่ส่งเสริมด้านเกษตรกรรม ไม่สนับสนุนการส่งออกและการประกันราคา ทำให้ภาคเกษตรขาดทุน รายได้ไม่พอ ต้องกู้เงินทั้งจากธนาคารเพื่อการเกษตร และเงินกู้นอกระบบ จนล่มสลายเป็นหนี้เป็นสิน


 


เมื่อไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงต้องเข้าเมือง เพราะมองว่าเป็นแหล่งงาน มาตายเอาดาบหน้าดีกว่า ซึ่งมีทั้งที่เข้ามาเอง และถูกดึงเข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างซึ่งเกิดจากนโยบายสนับสนุนด้านเศรษฐกิจของรัฐ ที่ทำให้เกิดความต้องการแรงงานก่อสร้าง


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาเป็นแรงงานก็ไม่มีการจัดที่รองรับ หรือช่วยเหลือเลย เริ่มแรกก็มาเช่าบ้านอยู่บ้าง อาศัยกับพี่น้อง แต่ฐานะไม่ค่อยดี จะซื้อบ้านก็แพง เลยมองที่รกร้างว่างเปล่า เอาฝาไปสร้างบ้าน มีการดึงญาติพี่น้องเข้าไปอยู่จนกลายเป็นชุมชน


 


ปัญหาคือ อยู่ในที่ของใครก็ไม่รู้ จึงไม่มีความมั่นคงในที่อยู่ สอง เรื่องสาธารณูปโภค เนื่องจากไม่มีทะเบียนบ้าน ก็ไม่มีน้ำ ไฟฟ้าใช้ ถ้าไม่มีบ้านข้างเคียงให้สามารถขอซื้อต่อน้ำ ต่อไฟได้ ก็ต้องจุดตะเกียง หรืออย่างเมื่อก่อนก็ใช้น้ำคลอง


 


สลัมกลายเป็นชุมชนนอกสายตาของรัฐบาล เพราะไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นชุมชนเช่นเดียวกับชุมชนที่มีที่ดินของตัวเอง เพราะฉะนั้น บริการจากหน่วยงานต่างๆ ก็เข้าไม่ถึงด้วย


 


ปัญหาสำคัญคือ การถูกไล่ที่ ทั้งที่บางที่อยู่กันมากว่า 90 ปีแล้ว อยากเสนอว่า รัฐบาลต้องดูแล เพราะสลัมก็เป็นส่วนหนึ่งของเมือง คนขับรถเมล์ แรงงานก่อสร้างอยู่ที่นี่ แม่ค้าขายข้าวแกงราคาถูกก็อยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองอยู่ได้


 


กระเทย: ชายขอบของชายขอบ


วิโรจน์ ตั้งวานิชย์ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เขาแบ่งกระเทยเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ยังแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่เปิดเผยว่าตนเองเป็นกระเทย เช่น ตนเอง ซึ่งเมื่อประกาศตัวออกมาแล้ว ก็ไม่สามารถก้าวหน้าได้ อย่างอ.เสรี วงศ์มณฑา ทั้งที่มีความสามารถแต่ตอนนี้จะเห็นว่ามีรายการโทรทัศน์เพียงไม่กี่รายการเท่านั้น


 


สอง คือ กลุ่มที่แต่งตัวเป็นผู้หญิง ก็ทำได้เพียงอาชีพทำเล็บ ทำผม ทำอาหาร หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว อย่างครูลิลลี่ หรืออ.ปิง ดาวองก์ ถึงจะเป็นครูก็จริง แต่ก็เป็นครูนอกระบบ ตอนนี้ประเทศจีนก็ขึ้นบัญชีดำเจินเจิน ห้ามเขาเข้าประเทศ เพราะแม้จะแต่งหญิงแล้วสวยยังไง แต่ก็มีคำนำหน้าเป็น นาย


 


กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มอีแอบ ที่ไม่เปิดเผยตัว ซึ่งกลุ่มนี้จะไปได้ไกลกว่ากลุ่มอื่น เพราะไม่มีใครรู้ บางคนไปเป็นศาล เป็น ส.ว. หรืออาจเป็นนายกรัฐมนตรี


 


กระเทยกลายเป็นชายขอบของชายขอบ เพราะสังคมไม่เข้าใจว่า คนกลุ่มนี้คืออะไร สิทธิมนุษยชนของกลุ่มนี้ยังไม่เต็ม ทุกวันนี้ ถ้ากระเทย หรือเกย์จะทำประกันชีวิต จะไม่มีบริษัทไหนยอมทำให้ เพราะมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์


 


เรายังขาดองค์ความรู้กระเทย ตอนนี้เรื่องพนักงานบริการ เรื่องผู้ติดเชื้อฯ เรื่องสลัมมีแล้ว แต่เรื่องของกระเทยน้อยมาก ถ้าผู้ปกครองมีลูกตาบอด หรือเป็นใบ้จะรู้แล้วว่า จะเลี้ยงเขาอย่างไร เพราะมีองค์ความรู้ แต่ถ้าผู้ปกครองมีลูกเป็นกระเทยจะไม่เข้าใจเขา


 


ถ้าสร้างองค์ความรู้ ทำให้สังคมเข้าใจคนกลุ่มนี้ จะทำให้เขามีที่ยืนมากขึ้น ทำให้สังคมเห็นคุณค่าของเขา และทำให้เขาเกิดความภูมิใจในตัวเอง เมื่อนั้นปัญหาสังคมก็จะลดลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net