Skip to main content
sharethis


 


โดย  มุทิตา เชื้อชั่ง


1


 


ป่านนี้ "อายุ นามเทพ" อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติแห่งมหาวิทยาลัยพายัพ คงกำลังพาลูกศิษย์คณะประสานเสียงเกือบ 30 ชีวิตของเธอขึ้นเวทีแสดงความสามารถต่อสายตานานาประเทศอยู่ที่เมืองจีน (22-26 ก.ค.-- Choir Olympics ครั้งที่4 ที่เมือง Xiamen สาธารณรัฐประชาชนจีน)


 


หวังว่าการขึ้นเวทีครั้งนี้ น่าจะจุดประกายความหวังบางอย่างในชีวิตเธอ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ซึ่งเธอเคยเขียนบรรยายความรู้สึกไว้ในhttp://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=230&d_id=229


 


"คุณเคยอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ยืนต่อหน้าคนนับพันและยังรู้สึกว่าตนเองเป็นมนุษย์ล่องหน ไม่มีตัวตนหรือไม่ นั่นแหละ คือตัวฉันล่ะ"


 


นั่นเพราะการไปแสดงดนตรีในต่างแดนครั้งนี้ เกิดจากความพยายาม การผลักดันของนักวิชาการ สื่อมวลชน และสังคมที่มีต่อรัฐบาลโดยตรงในการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคทั้งหลาย ให้อาจารย์ดนตรีฝีมือดีของประเทศไทยได้พาลูกศิษย์ไปโชว์ฝีมือยังต่างแดน หลังจากเธอพลาดโอกาสแสดงดนตรีในต่างประเทศมากว่า 50 ครั้งตลอดช่วงชีวิตของเธอ


 


มันเป็นการผลักดันในวงกว้าง ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการช่วยเหลือของสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน (เกอเธ่) สถานทูตเยอรมัน และผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเงียบๆ เหมือนการเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในต่างแดนครั้งก่อนสมัยที่อาจารย์อายุยังเป็นสาวแรกรุ่น


 


อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นเธอดีใจมาก แต่เหตุผลที่เธอดีใจออกจะฟังดูแปลกสักหน่อยสำหรับคนทั่วไป


 


"ในที่สุดฉันก็ได้รับหนังสือเดินทางพิเศษที่ออกให้พร้อมวีซ่าให้กลับเข้ามาในประเทศได้ 2 ครั้ง และฉันก็ได้ร่วมเป็นตัวแทนไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ที่ฮ่องกงและเบอร์ลินตะวันตกในเดือนตุลาคม 2521 กับคนอื่นในทีม เป็นเดือนที่ฉันมีความสุขที่สุด เพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันมีกระดาษหนึ่งแผ่นจากทางการไทยที่ระบุว่า ฉันเป็นคน"


 


สำหรับอาจารย์อายุ และบุคคลไร้สัญชาติ ไร้รัฐอีกนับล้านในประเทศไทย พวกเขารู้ดีว่า การต่อสู้เรื่องสัญชาติของพวกเขาไม่ใช่เพียงเรียกร้องสิทธิความเป็นคนไทยเท่านั้น แต่มันหมายถึง "สิทธิการเป็นคน" นั่นเลยทีเดียว


 


เพราะทันทีที่รัฐสมัยใหม่ลากเส้นแบ่งเขตแดนประเทศตัวเองอย่างชัดเจน แล้วชะตากรรมนำพาให้บางชีวิตกลายเป็นบุคคลที่รัฐไหนก็ไม่ต้องการ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลงี่เง่าขนาดไหนก็ตาม) นอกจากพวกเขาจะต้องประสบกับอาการไร้ตัวตนอย่างอาจารย์อายุแล้ว ถ้าโชคร้ายเป็นคนชายขอบ เป็นชาวบ้านยากจนในถิ่นฐานห่างไกลก็ยิ่งไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่างที่ชีวิตคนสามัญที่สุดคนหนึ่งพึงได้รับ ไม่ว่าการศึกษา การรักษาพยาบาล การมีอิสระในการประกอบอาชีพฯ


 


กรณีของอาจารย์อายุ เป็นภาพสะท้อนที่ดีถึงปัญหาคนไร้สัญชาติที่ยืดเยื้อและยุ่งยากอยู่มากในประเทศไทย เพราะจนบัดนี้ปัญหาของเธอก็ยังไม่คืบหน้า แม้ว่าเธอจะเป็นอาจารย์ที่มีฝีมือทางดนตรีอย่างสูง มีลูกศิษย์นับไม่ถ้วน (วงอีทีซี วงอะแคฟเปล่าเซเว่น จิ๋วเดอะสตาร์ ด็อจ(โบกี้-ด็อจ) ครรชิต-ทิตแหลม ล้วนผ่านมือเธอมาแล้ว) อยู่เมืองไทยมากว่า 50 ปี มีสามีชาวไทย และลูกชายอีก 2 คน รวมทั้งเคยทำเรื่องถึงหน่วยงานต่างๆ ไม่รู้กี่หน ตลอดจนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีก็แล้ว


 


 


2


 


อายุ โพ (นามสกุลเดิม) มีเชื้อสายกะเหรี่ยง เกิดในหมู่บ้านกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนพม่าเมื่อ พ.ศ.2489 ครอบครัวของเธอเป็นชนชั้นสูง มีอันจะกิน ยายจบจากอังกฤษ แม่เป็นนักเปียโน พ่อเป็นข้าราชการระดับสูง แต่เมื่อเธอเกิดมาไม่ถึง 1 ปี ผู้นำพม่าเกิดขัดแย้งกับผู้นำกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยต่างๆ จนเกิดสงครามกลางเมืองลุกลามทั่วประเทศ ในที่สุดพ่อจึงพาครอบครัวหนีตายเข้ามาในประเทศไทยทางด่าน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เธอจึงไม่ได้สัญชาติทั้งพม่าและไทย


 


ชีวิตในเมืองไทยดำเนินไปอย่างยากลำบากตามประสาคนพลัดที่นาคาที่อยู่ แต่เธอเรียนเก่ง และฉายแววอัจฉริยะทางดนตรีตั้งแต่เล็ก จึงมีโอกาสได้ศึกษาอย่างดีจนจบปริญญาตรีด้านดุริยางคศิลป์ที่มหาวิทยาลัยพายัพ โดยที่เอกสารยืนยัน "การมีตัวตน" อย่างเดียวของเธอคือ หนังสือผ่อนผันให้ลี้ภัยในประเทศไทยของบิดาเมื่อ พ.ศ.2502 นั่นทำให้เธอไม่สามารถได้รับสัญชาติไทยได้ แม้แต่งงานกับสามีชาวไทย เพราะไม่มีเอกสารแสดงตัวเบื้องต้น เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน


 


การเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่เพียงทำให้พลาดโอกาสดีๆ หลายครั้งในชีวิต หากแต่ยังสร้างความบอบช้ำให้กับเธอ ทั้งในฐานะที่เป็น "ลูก" และ "แม่" ด้วย


 


ความเจ็บปวดของลูกสาวคนหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้เป็นพ่อ พาเธอไปพบตำรวจสันติบาลเพื่อขออนุญาตให้ออกนอกประเทศไปแสดงละครกับสถาบันเกอเธ่ในต่างแดน พร้อมทั้งขอกลับเข้ามาพำนักในประเทศอีก เมื่อครั้งเธอเรียนอยู่ปี 4


 


"คำตอบที่ได้ก็คือ "ถ้าอยากออกไปก็ไปได้เลย เราไม่ได้ต้องการพวกคุณอยู่แล้ว" ….. "ประเทศไทยไม่มีใครเล่นฆ้องวง คนเดียว ทำไมจะต้องเลือกคนนี้ด้วย หาคนอื่นไปแทนสิ" ….."พูดตรงๆ คนอย่างพวกคุณน่ะไม่มีใครเขาเชิญให้เข้ามาเลยนะ พวกคุณหน้าด้านเข้ามาเอง แล้วจะมาเรียกร้องเอาอะไรอีก" ฉันรู้สึกจุกขึ้นมาถึงคอหอย น้ำตาจะไหลให้ได้ หันไปมองหน้าพ่อแล้วรู้สึกสงสารพ่อจับใจ นี่ฉันกำลังทำอะไร ฉันทำให้พ่อถูกนายตำรวจหนุ่มคนหนึ่งชี้หน้าด่าอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร ฉันไม่อยากไปไหนแล้ว..."


 


และอีกครั้งหนึ่งเมื่อลูกชายทั้งสองของเธอเดินบนเส้นทางเดียวกับเธอ มีความสามารถด้านดนตรีและมีโอกาสไปเรียนรู้เพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยเรมีย์ ลูกชายคนโตได้รับเสนอชื่อให้ไปเรียนดนตรีที่สหรัฐอเมริกาเมื่ออายุ 15 ปี แต่แม่ไม่มีสัญชาติ พ่อซึ่งเป็นคนไทยก็เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก จึงไม่มีใครสามารถเซ็นเอกสารรับรองการเดินทางให้เขาได้


 


"ฉันวิ่งเต้นไปหลายที่ ไปสันติบาลที่กรุงเทพฯ ทางนั้นก็แนะนำให้ไปเริ่มต้นที่ ตม.อ.แม่สะเรียง ฉันก็ไปตามที่เขาบอก แต่ ตม.อ.แม่สะเรียงก็บอกว่า พวกเราย้ายมาเชียงใหม่แล้ว ให้ไปติดต่อที่เชียงใหม่ พอไปติดต่อที่เชียงใหม่ ทาง ตม.ดูเอกสารของฉันแล้วก็บอกว่า ให้อยู่เฉยๆ เงียบๆ ดีกว่า รอให้ลูกบรรลุนิติ ภาวะ แล้วค่อยไปเมืองนอกเองทีหลังก็ได้ ออกมาโวยวายแบบนี้ ดีไม่ดีลูกอาจถูกถอนสัญชาติก็ได้ ฉันได้แต่ ร้องไห้ด้วยความคับข้องใจที่ไม่อาจทำอะไรให้ลูกได้เลย และในที่สุดเขาก็เสียโอกาสครั้งนั้นไป"


 


3


 


ถึงวันนี้เรื่องราวของอาจารย์อายุ ได้รับความสนใจจากสังคมวงกว้าง จนทำให้เธอได้รับเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Certificate) แทนหนังสือเดินทางเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันดนตรีระดับโลก ซึ่งมีประเทศต่างๆ เข้าร่วม 47 ประเทศ มีคณะนักร้องประสานเสียงกว่า 200 คณะ และกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าวก็ได้อนุมัติการออกวีซ่าให้ไปและกลับเข้าประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว


 


แต่ละครเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะเมื่อเธอกลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง เธอก็จะยังคงไร้ตัวตนเหมือนที่เคยเป็นมาตลอด 50 กว่าปี


 


"เมื่อวานดิฉันไปเข้าค่ายกับลูกศิษย์มาค่ะ มีลูกศิษย์ปี 1 เข้ามาหาและเล่าความฝัน


ที่อยากจะได้รับประสบการณ์ใหม่ในระดับโลกแบบพวกรุ่นพี่บ้าง พวกเขายังไม่รู้เรื่อง


ส่วนตัวของดิฉัน มองสายตาที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ฟังคำพูดที่เต็มไปด้วย


ความหวังแล้วแอบเศร้าใจ  มันยากเหลือเกินที่จะทำให้ความฝันของพวกเขาเกิดจริง


หากดิฉันยังมีปัญหาติดขัดอยู่เช่นนี้ ดิฉันจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ แบบนี้ไปอีกเท่าไร


 และมันจะสำเร็จอีกหรือเปล่า แค่ครั้งนี้ดิฉันก็ต้องอาศัยคนมากมายให้ความช่วยเหลือ


พวกเขาจะทนเหนื่อยช่วยดิฉันไปอีกตลอดชีวิตหรือ คำถามมากมายมันเข้ามาใน


สมอง  สถานภาพของดิฉันที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ตอนนี้เหมือนเป็นการปิดกั้น


โอกาสของเยาวชนอีกมากมาย  แล้วคนไทยบางคนจะมัวขัดขวางโอกาสของลูกหลาน


ตนเองไปอีกทำไม 


ดิฉันไม่ได้เกิดมาเพื่อทำตัวให้เป็นภาระสังคม ดิฉันได้รับพรสวรรค์


และอยากใช้พรสวรรค์นั้นให้บรรลุประโยชน์สูงสุดแก่แผ่นดินที่มีพระคุณต่อครอบครัว


ดิฉันแห่งนี้  ความสำเร็จแห่งชีวิตของดิฉันไม่ใช่เงินตราหรือเกียรติยศ แต่อยู่ที่การสร้าง


คนดนตรี อุดมการณ์และเป้าหมายนี้มันเลวร้ายหรือ  หรือมันสูงเกินอาจเอื้อมสำหรับ


คนไร้รัฐอย่างดิฉัน 


ดิฉันต้องทำอย่างไรจึงจะมีค่าพอให้ได้เป็นคนไทย


ได้โปรดรับดิฉันเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศไทยสักคนได้ไหม"


 


---- อายุ นามเทพ เมื่อ อ. 09 ก.ค. 2549 @ 21:11 -----


http://gotoknow.org/blog/tutorial/37774


 


 


นี่คือ "อายุ นามเทพ" แห่งมหาวิทยาลัยพายัพ


 


และเชื่อเถิดว่ายังมี "อายุ" อื่นๆ อีกไม่รู้เท่าไร ตลอดจนคนไร้สัญชาติที่อยู่ชายขอบของสังคมอีกนับไม่ถ้วน บางทีชาตินี้ทั้งชาติ พวกเขาก็อาจไม่มีโอกาสได้บอกกล่าวเรื่องราวให้โลกได้รับรู้.....


 


แล้ว "ราชอาณาจักรไทย" จะจัดการกับ "คน" เหล่านี้อย่างไร ?!!


 


 


-----------------------------------------


 


ข้อมูลจาก


www.archanwell.org


www.salaweennews.org


www.gotoknow.org


 


 


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่


ข่าวอาจารย์อายุ:ได้รับวีซ่ากลับเข้าประเทศไทยแล้วแต่ยังไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย


http://gotoknow.org/blog/chonruitai/38389


 


ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะให้สัญชาติไทยแก่คนหนีภัยความตายจากแผ่นดินพม่ามาสู่แผ่นดินไทย : กรณีอาจารย์อายุ นามเทพ


สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร


เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=128&d_id=128&page=1

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net