Skip to main content
sharethis


อีกครั้ง กับ ธงชัย วินิจจะกูล กับความเห็นต่อขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมในห้วงเวลาที่ยังหาทางออกไม่เจอกันอยู่ขณะนี้ ครั้งนี้ เขาเสนอเป็นบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 2549 หน้า 6 ประชาไทขอนำมาเสนออีกครั้ง


 


000000000000000 


 


ทำไมการใช้การชุมนุมเดินขบวนเป็นมาตรการเด็ดขาดเพื่อกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้องมาแต่ต้น?


ทำไมการปฏิรูปการเมืองตามที่คิดกันอยู่ในขณะนี้จึงอาจพลาดเป้า?


ตอบ เพราะตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามาแต่ต้น แต่เรามองข้ามไป


 


ผู้เขียนขออธิบายตามลำดับเป็น 6 ส่วน ดังต่อไปนี้


@ หมดความชอบธรรม 3 ประเภท


สภาวะหมดความชอบธรรมของอำนาจบริหารมีอย่างน้อย 3 ประเภทหลัก คือ


ประเภทที่หนึ่ง นโยบาย อุดมการณ์ แนวคิด ไม่ได้รับการยอมรับ


ประเภทที่สอง ความนิยมเสื่อม ความน่าเชื่อถือหมดลง


ประเภทที่สาม กระทำความผิด (wrong doing)


 


มาตรการเพื่อตัดสินประเภทที่หนึ่งและสองคือการเลือกตั้งเท่านั้น ให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่านโยบายของรัฐบาลได้รับความยอมรับมากหรือน้อยกว่ากัน ความนิยมและความน่าเชื่อถือเสื่อมถอยลงขนาดไหน


 


ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร นั่นคือคำตัดสินของมหาชน เราอาจไม่เห็นด้วยแต่ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น (ในที่นี้ถือเอาว่าการทุจริตในการเลือกตั้งมิได้มีมากมายหรือหนักหนาถึงขนาดมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้งโดยรวม)


 


ข้ออ้างว่า ประชาชนไม่ได้รับข่าวสาร ยังขาดการศึกษา ยังโง่อยู่ ล้วนเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ต่อให้เป็นความจริงก็ตาม เพราะประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองของคนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะรู้ข่าวสารดีพอขนาดไหน โง่หรือฉลาดปานใด) ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ให้อภิสิทธิ์แก่คนฉลาด ผู้มีการศึกษา หรือคนเมืองเหนือคนอื่นๆ ที่ด้อยการศึกษาหรือฉลาดน้อยกว่า


 


(ขอไม่อภิปรายว่า ประชาชนโง่แบบไหน ไม่รู้ข่าวสารจริงหรือไม่)


 


อย่าลืมว่า ข้ออ้างทำนองนี้เป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการทุกยุคสมัย ที่จะยึดอำนาจไว้กับพวกของตนผู้อวดอ้างว่ารู้ดีกว่าฉลาดกว่าประชาชน ข้ออ้างพรรค์นี้ยังเป็นเหตุผลของการเซ็นเซอร์ปิดหูปิดตาประชาชนมาตลอดอีกด้วย


 


อย่าลืมว่า องค์กรภาคประชาชนเองโฆษณามาตลอดว่า ประชาชนฉลาด รู้ดีมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ชนชั้นกลางชาวเมืองไม่เข้าใจเข้าไม่ถึงเพราะถูกครอบงำจากฝรั่ง


 


มาคราวนี้ภาคประชาชนกลับดูถูกประชาชนเสียเอง และพึงพอใจกับมวลชนของตนซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางและสูงในเมืองกับผู้ดีมีสกุลทั้งหลายเป็นกำลังสำคัญ


 


แต่หากอำนาจบริหารสูญเสียความชอบธรรมเพราะกระทำความผิด ใช้อำนาจในทางที่ผิด ต่อให้ได้รับการเลือกตั้งท่วมท้นถล่มทลาย ก็ไม่สามารถอาศัยคะแนนเสียงมากลบล้างการกระทำความผิดได้


 


สมมุติว่า พรรคการเมืองหนึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 100% แต่วันถัดมาพบว่าพรรคนั้นกระทำการทุจริต หรือใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมายหรือหัวหน้าพรรคไปฆ่าคนตายมาก่อนการเลือกตั้ง คะแนนเสียง 100% ก็ช่วยพรรคนั้นหรือหัวหน้าพรรคคนนั้นไม่ได้


 


โดยปกติ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมักพยายามโมเมตีขลุมว่าปัญหาที่ตนกำลังประสบเป็นสองประเภทแรกเท่านั้น จึงมักเรียกร้องให้ไปอภิปรายกันในสภาแล้วมักโมเมตีขลุมว่าการเลือกตั้งเป็นมาตรการตัดสินทุกกรณี


 


เพื่อรวบหัวรวบหางกลบการกระทำความผิดให้กลายเป็นเรื่องของความนิยมและความน่าเชื่อถือไปเสียหมด


 


ทั้งๆ ที่เป็นการเสื่อมความชอบธรรมคนละประเภทกัน


 


แต่กระบวนการที่จะตัดสินว่า ฝ่ายบริหารกระทำความผิดจริงหรือไม่ คืออำนาจตุลาการตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น


 


ประชาชนมีสิทธิป่าวร้องโฆษณาว่ารัฐกระทำความผิด การชุมนุมเดินขบวนอย่างสันติเพื่อป่าวร้องโฆษณาเช่นนั้นจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรม การชุมนุมอาจส่งอิทธิพลต่อมติมหาชนและต่อปัจเจกชนผู้ทำหน้าที่ตุลาการ ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำได้


 


แต่การชุมนุมที่เป็นมาตรการเด็ดขาดในตัวเองเพื่อเอาชนะกำจัดรัฐบาลเท่ากับถือเอาการชุมนุมเป็นกระบวนการตัดสินความผิดของรัฐโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม


 


ยิ่งการชุมนุมที่พยายามอาศัยอำนาจพิเศษมาจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยถือว่าตนรู้ดีกว่าฉลาดกว่าคนส่วนใหญ่ (ต่อให้เป็นความจริงก็เถอะ) ย่อมเป็นวิธีการที่ผิด


 


เพราะปฏิเสธทั้งกระบวนการยุติธรรม และเสียงของคนส่วนใหญ่ หันไปหา "อภิชนาธิปไตย" อันจะมีผลให้ประชาธิปไตยไทยตกต่ำเสียหายครั้งใหญ่หลวง


 


@ อำนาจตุลาการในระบบปาลิเมนต์


 


เราไม่ต้องการระบบการเมืองแบบประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง และเลือกผู้แทนเข้าสภาเป็นอีกกระบวนการต่างหากจากกัน


 


ระบบปาลิเมนต์ของไทยเลือกผู้แทนเข้าสภา ฝ่ายบริหารมาจากผู้แทนในสภาอีกทอดหนึ่ง การแยกอำนาจบริหารกับสภาไม่เด็ดขาดจากกันอย่างในระบบแรก


 


การตรวจสอบถ่วงดุลโดยสภาในระบบนี้จึงไม่แข็งแรงเท่าระบบแรก


 


แต่เวลาเราคิดถึงระบบตรวจสอบถ่วงดุล เรากลับมักคาดหวังว่าสภาจะทำหน้าที่นี้ได้ดีตามแบบระบบประธานาธิบดี


 


ผิดฝาผิดตัวเป็นประจำ


 


เพราะในระบบที่ฝ่ายบริหารและสภาต่างมาจากประชาชนโดยตรง สภาย่อมมีอำนาจ โอกาส และความชอบธรรมในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารเต็มที่ โดยมากพรรคที่ชนะในสภา กับพรรคที่ได้อำนาจบริหารจะเป็นคนละพรรคกัน


 


ตัวอย่างเช่น ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา สภากับประธานาธิบดีมาจากคนละพรรคกันเป็นส่วนใหญ่ น้อยครั้งที่พรรคเดียวกันจะคุมอำนาจทั้งสองฝ่าย


 


ประชาชนตั้งใจเลือกให้เป็นแบบนั้น


 


ในระบบนี้ ยังมีอำนาจตุลาการเป็นอีกกระบวนการต่างหากทั้งจากสภาและฝ่ายบริหาร ศาลหลายระดับในสหรัฐอเมริกามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ศาลสูงของประเทศทุกระดับมาจากการยอมรับร่วมระหว่างฝ่ายบริหารและรัฐสภา


 


ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลโดยสภา มีพื้นฐานมาจากอำนาจของแต่ละฝ่ายมีแหล่งที่มาคนละกระบวนการกัน ต่างมีแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของตนเอง


 


ในระบบปาลิเมนต์แบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ ฝ่ายบริหารมาจากสภาเสมอ ตามหลักการแล้ว สภาจะไม่พยายามสั่นคลอนฝ่ายบริหาร ไม่มีบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารแข็งขันอย่างในระบบแรกเพราะย่อมเป็นพวกพรรคเดียวกัน


 


ในประวัติศาสตร์สั้นๆ ของระบบปาลิเมนต์ของไทย เราไม่เคยมีพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเด็ดขาดจนกระทั่งพรรคไทยรักไทยนี่เอง ฝ่ายบริหารที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลผสมที่เปราะบาง แตกคอกันง่าย บ่อนเซาะกันเองก็มี ในขณะที่ฝ่ายค้านในสภามักมีสัดส่วนใหญ่พอที่จะก่อปัญหาแก่ฝ่ายบริหาร


 


บทบาทตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยสภา จึงเกิดขึ้นได้ด้วยภาวะรัฐบาลผสมและฝ่ายค้านที่ใหญ่โตพอ แต่มิใช่ด้วยโครงสร้างตามระบบปาลิเมนต์


 


เราคาดหวังผิดๆ ว่าสภาต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้แข็งขัน เพราะเราเคยตัวกับรัฐบาลผสมตลอดมา จนเราลืมไปว่าตามโครงสร้างของระบบปาลิเมนต์นั้นสภากับฝ่ายบริหารเป็นพวกเดียวกัน


 


ในระบบปาลิเมนต์แบบนี้ มักออกแบบให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้สะดวกโดยไม่ขึ้นต่อจำนวนจนเกินไปนัก แต่ทว่าอำนาจหลักที่จะมาตรวจสอบฝ่ายบริหารมิให้กระทำการฉ้อฉล ใช้อำนาจในทางที่ผิด คือ สื่อมวลชน และอำนาจตุลาการ


 


เรียกว่าเป็นระบบตรวจสอบ (accountability system) แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ถ่วงดุลแต่อย่างใด


 


ตามระบบนี้ จึงต้องออกแบบและสร้างกฎหมายรองรับการตรวจสอบโดยตรงจากประชาชนและสื่อมวลชนที่สะดวก ไม่ยากจนเกินไป และมีประสิทธิภาพ เช่น สิทธิในการเรียกข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการรวมตัวฟ้องร้อง ยื่นเสนอกฎหมายและถอดถอนบุคคลที่มีอำนาจการเมือง


 


ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ตามระบบนี้อำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมจะต้องพัฒนาให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารด้วย แต่มิใช่ตามกระบวนการทางการเมือง


 


ประชาธิปไตยแบบปาลิเมนต์ในหลายประเทศเติบโตมาพร้อมกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและระบบศาลที่เป็นอิสระ เข้มแข็ง ไม่ขึ้นต่อการเมือง เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนพึ่งพิงตรวจสอบดำเนินคดีการใช้อำนาจรัฐฉ้อฉล


 


แต่ละประเทศพัฒนาระบบตรวจสอบที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมแต่ไม่ใช่ศาลตุลาการเสมอไป อาทิ คณะกรรมการเฉพาะกรณีเพื่อสอบสวนการกระทำความผิดของรัฐ (และสภา) โดยให้มีอำนาจในการสอบสวนสูงมาก สามารถเรียกเอกสารและบุคคลได้เต็มที่ เช่น ระบบ Royal Commission ในประเทศเครือจักรภพ (พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเลือกคณะกรรมการหรือยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการสอบสวน) ระบบ tribunal ในหลายประเทศ หรือผู้สอบสวนอิสระของรัฐสภาในสหรัฐอเมริกา ผู้สอบสวนสูงสุดเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรอิสระถาวร มักมีขอบเขตอำนาจจำกัดเฉพาะกรณีและมักไม่มีอำนาจเป็นตุลาการเสียเอง แต่มีอำนาจฟ้องร้องต่อศาลสูง อำนาจตัดสินคดียังคงเป็นของตุลาการ


 


ฝ่ายตุลาการในระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างไร


 


@ อำนาจตุลาการไทยไม่ตรวจสอบรัฐ?


 


นับจาก 14 ตุลา 2516 จนถึงบัดนี้ สังคมไทยทุ่มเททรัพยากรและพลังมหาศาลลงไปกับการพัฒนารัฐสภาและการเลือกตั้ง หวังขจัดอำนาจเงินและผู้มีอิทธิพลที่จะแสวงประโยชน์ส่วนตัวจากอำนาจทางการเมือง หวังจะได้คนดีวิเศษเข้าสภา เราเขียนรัฐธรรมนูญหลายฉบับเพื่อแสวงหารัฐสภาและรัฐบาลแบบอุดมคติ


 


แต่เราลืมอำนาจตุลาการ!


 


เราลืมไปสนิทว่ากระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญขนาดไหนในระบบปาลิเมนต์ เราไม่ได้คิดเลยว่าต้องพัฒนาอำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นฐานของระบบตรวจสอบการใช้อำนาจฉ้อฉล แต่ทว่าจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง


 


มิได้หมายความว่า ตุลาการไทยไม่มีการพัฒนาเลยใน 30 ปีที่ผ่านมา เป็นความจริงว่าวงการตุลาการไทยได้บุคลากรระดับยอดเยี่ยมของสังคมเข้าไปเสริมสร้างความเข้มแข็งขึ้นมากตลอดมา


 


แต่ผู้เขียนหมายความว่า สังคมไทยมิได้ให้ความสนใจถกเถียงทุ่มเทพัฒนาตุลาการและกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐเท่าไรนัก ยกเว้นการสร้างศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540


 


เราแทบไม่นึกถึงอำนาจตุลาการให้ทำหน้าที่นี้เลย เรานึกถึงแต่สภา


 


ในวิกฤตคราวนี้ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่า ทั้งสองศาลที่เกิดขึ้นใหม่มีความสำคัญขนาดไหน แต่ทว่ายังขาดประสบการณ์อย่างมาก


 


ที่สำคัญที่สุดก็คือ อำนาจตุลาการของไทยไม่เคยมีประวัติว่าทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐสักเท่าไรเลย


 


ฝ่ายตุลาการถูกมองในเชิงลบว่าอาจเอื้อต่ออำนาจฝ่ายบริหาร มีจารีต ธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่เอื้อรัฐมากกว่ารับใช้ประชาชน


 


อาทิ การยอมรับประกาศและอำนาจอธรรมของระบอบเผด็จการทุกชุด และลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับรัฐเผด็จการ


 


มีผู้วิจัยพบว่าการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐเหนือสิทธิของพลเมืองนั้น ศาลเข้าข้างรัฐเกินกว่า 90%


 


จารีตหรือวัฒนธรรมการใช้กฎหมายเพื่อรับใช้รัฐ เกี่ยวข้องกับประวัติการร่างกฎหมาย และโรงเรียนกฎหมายในประเทศไทยด้วย กล่าวคือ เราผลิต "เนติบริกร" มาแต่ไหนแต่ไร หมายความว่า เราผลิตนักเทคนิคทางกฎหมายที่ขาดความเข้าใจพลวัตของกฎหมายกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งๆ ที่ระบบตุลาการคือการผดุงความยุติธรรมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


 


การปล่อยปละละเลยไม่ต่อสู้เพื่อพัฒนาฝ่ายตุลาการ ทั้งเรื่องระบบโครงสร้างการบริหาร ตลอดจนถึงวัฒนธรรมการใช้กฎหมาย ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติลงมาจนถึงโรงเรียนกฎหมายทุกระดับ หมายถึง อำนาจตุลาการไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันกับภารกิจในระบอบประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไปมหาศาลใน 30 ปีที่ผ่านมา


 


จึงไม่แปลกที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จะลืมนึกถึงศาลแทบสนิท (ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงกว่าศาลอื่นๆ) จนกระทั่งมีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการเมื่อ 25 เมษายน 2549


 


@ สมควรมองข้ามอำนาจตุลาการและหลักการประชาธิปไตยหรือไม่?


 


ท่านทราบไหมว่า ท่ามกลางกระแสเปิดโปงความเลวร้ายของ "ระบอบทักษิณ" นับจากเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อปีที่แล้วจนถึงพันธมิตร ก่อน 25 เมษายนนั้น มีคดีฟ้องร้องเอาผิดกับรัฐบาล และนายกฯ ทักษิณกี่คดี?


 


ท่านทราบไหมว่า ท่ามกลางการกล่าวโทษเปิดโปงการขายหุ้นไม่เสียภาษีของนายกฯ มีใครไปฟ้องร้องเอาผิดหรือดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมบ้าง?


 


ลองหาคำตอบแล้วท่านจะตกใจ


 


ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้การชุมนุมเป็นมาตรการเด็ดขาด แต่กลับไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมเลย ไม่กี่คดีที่มีอยู่ในศาล มิได้ริเริ่มโดยผู้นำของพันธมิตรเลยสักกรณีเดียว


 


ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามโมเมตีขลุมให้ปัญหาทุกอย่างตัดสินด้วยการเลือกตั้ง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรวบหัวรวบหางเอาปัญหาทุกอย่างมาตัดสินด้วยการชุมนุมแสดงพลัง แล้วหวังใช้อำนาจพิเศษเพื่อเอาชนะ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียอนาคตของระบอบประชาธิปไตย


 


ฝ่ายต่อต้านเองไม่เคยตระหนักว่าการกระทำความผิดของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยต้องตัดสินตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องนโยบาย แนวคิด และความน่าเชื่อถือนั้น ต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง


 


ฝ่ายพันธมิตรอาจให้เหตุผลว่า ทุกอำนาจที่สามารถทัดทาน "ระบอบทักษิณ" ถูกซื้อไปหมดแล้ว หรืออยู่ใต้ความกลัวรัฐบาล จึงหวังพึ่งไม่ได้


 


ฝ่ายพันธมิตรอาจให้เหตุผลเพิ่มตามที่ผู้เขียนเองให้ไว้ข้างต้นว่า อำนาจตุลาการไทยถูกเข้าใจว่าไม่เคยมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐฉ้อฉล จึงไม่มีความเชื่อถือศรัทธาพอ (ในความเป็นจริงผู้เขียนเชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรมิได้คิดข้อนี้เลย เพราะเขาไม่สนใจอำนาจตุลาการ ไม่สนใจประวัติศาสตร์ และไม่สนใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย)


 


เหตุผลทั้งสองประการมีมูลอยู่ แต่เป็นเหตุผลเพียงพอหรือที่จะใช้การชุมนุมเดินขบวนตัดสินการกระทำความผิดของรัฐแทนกระบวนการยุติธรรม?


 


มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องต่อสู้กับอำนาจฉ้อฉลด้วยพลังของชนชั้นอภิสิทธิ์และด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย?


 


เหตุผลทั้งสองประการเพียงพอที่จะมองข้ามการต่อสู้เพื่อพัฒนาอำนาจตุลาการเชียวหรือ?


 


มีตัวอย่างมากมายชี้ว่าอำนาจตุลาการมิได้ย่ำแย่ขนาดพึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ผลักดันให้ตุลาการแสดงบทบาท และขึ้นอยู่กับการทำสำนวนฟ้องและตีความกฎหมาย


 


เอาเข้าจริงอำนาจตุลาการหวังพึ่งไม่ได้หรือฝ่ายพันธมิตรเองมักง่าย ต้องการเอาชนะจนไม่สนใจหลักการใดๆ ทั้งสิ้น?


 


ฝ่ายพันธมิตรเองตระหนักข้อนี้หลัง 25 เมษายน (แต่กลับ "ใช้" อำนาจตุลาการในทางที่ถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่อยู่ดี - ดังจะกล่าวต่อไป)


 


ฝ่ายพันธมิตรมักให้เหตุผลอีกชุดว่า สถานการณ์ในวิกฤตคราวนี้เป็นกรณีพิเศษของประเทศไทย จึงต้องใช้มาตรการพิเศษ (ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) จะมัวอาศัยช่องทางตามกระบวนการปกติไม่ได้


 


สถานการณ์พิเศษตามที่ฝ่ายต่อต้านมักกล่าวอ้าง ได้แก่ ความเลวร้ายของ "ระบอบทักษิณ" ราวกับประเทศไทยจะถูกธรณีสูบจนมอดไหม้หากปล่อยให้ "ระบอบทักษิณ" ดำรงอยู่นานขึ้นอีกวัน


 


ผู้เขียนยอมรับว่าการประเมินความเลวร้ายของระบอบที่ฉ้อฉลเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตัดสินชัดเจนได้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ เพราะข้อมูลท่วมหัวก็ยังขึ้นอยู่กับการประเมินตามจริตวิสัยของแต่ละคน และขึ้นอยู่กับการโฆษณาชวนเชื่อจากทุกฝ่าย ผู้เขียนคงทำได้เพียงฝากให้คิดสัก 3-4 ข้อเพื่อประกอบการประเมินความหายนะอันเกิดจากระบอบทักษิณ ดังต่อไปนี้


 


1.ทำไมฝ่ายต่อต้านทักษิณจึงไม่รู้สึกถึงหายนะนี้ตั้งแต่คราวที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน จากการ "ฆ่าตัดตอน" อันเนื่องมาจากมาตรการปราบยาเสพติด?


 


2.ทำไมฝ่ายต่อต้านทักษิณจึงไม่รู้สึกถึงหายนะตั้งแต่คราวที่มีผู้เสียชีวิตมากมายจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกว่า 70 คนที่ตายในรถบรรทุกในโศกนาฏกรรมที่ตากใบ?


 


3.ทำไมฝ่ายต่อต้านจึงเพิ่งรู้สึกว่าประเทศไทยหายนะแน่หลังจากกรณีขายหุ้นอื้อฉาวโดยไม่เสียภาษี? ถ้ากว่า 2,000 ชีวิตไม่ใช่หายนะ ทำไมภาษีหลายพันล้านที่เก็บไม่ได้จึงเป็นหายนะ?


 


4.ท่านคิดว่า "ระบอบทักษิณ" ก่อหายนะเท่ากับมาร์คอสและซูฮาร์โตหรือไม่?


 


ผู้เขียนขอตอบข้อ 4 ว่า ยังห่างไกลลิบลับ และขอเสริมว่า การมุ่งเอาชนะอย่างปราศจากหลักการจนบานปลายเป็นความมั่วเละเทะ เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์พิเศษที่เลวร้ายอยู่ในขณะนี้


 


สถานการณ์พิเศษแบบไหนกันถึงขนาดจำเป็นต้องใช้ความมั่ว ทิ้งหลักการและกระบวนการยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย?


 


หรือว่าขบวนการสนธิและฝ่ายพันธมิตรเองยึดมั่นผิดๆ มาแต่แรก ว่าจะใช้การชุมนุมเป็นมาตรการเพื่อเอาชนะและใช้อำนาจพิเศษเป็นทางออก จึงต้องสร้างปีศาจขึ้นมาเกินความจริง เพื่ออธิบายว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ เพียงเพื่อให้ความชอบธรรมแก่การยึดมั่นผิดๆ ของตนเองแต่ต้น


 


สถานการณ์พิเศษมิใช่เหตุนำไปสู่มาตรการพิเศษ


 


แต่การยึดมั่นผิดๆ กับมาตรการพิเศษแต่ต้นต่างหากเป็นที่มาของการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสถานการณ์พิเศษ


 


เหตุผลทั้งหลายเป็นแค่ข้ออ้างให้ความชอบธรรมแก่วิถีทางต่อสู้ผิดๆ ของตนมาแต่ต้น (อย่าลืมว่าขบวนการสนธิปักใจกับการต่อสู้เพื่อถวายพระราชอำนาจคืนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลายเดือนก่อนกรณีขายหุ้นของทักษิณ)


 


ข้ออ้างเพื่อละเลยหลักการ คือ การละเมิดหลักการที่ปะหน้าทาแป้งให้ดูดีขึ้น


 


แค่นั้นเอง


 


@ บทบาทขาดๆ เกินๆ ของฝ่ายตุลาการ?


 


ครั้นพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการเมื่อ 25 เมษายน กระตุ้นให้วงการตุลาการแสดงบทบาทของตนเพื่อขจัดปัญหา ทั้งฝ่ายพันธมิตรและวงการตุลาการกลับเผชิญปัญหาหนักเข้าไปอีก


 


กล่าวคือ แทนที่จะวินิจฉัยการกระทำความผิดของรัฐบาล อันเป็นมูลเหตุของปัญหาทั้งหมด


 


กลับไปสะสางปัญหาอันเกิดจากการเลือกตั้งและการชิงไหวพริบกันทางการเมืองของทั้งสองขั้วคู่ขัดแย้ง


 


มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิเสธเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง โดยอาจไม่มีหลักฐานชี้ชัดแต่อย่างใดว่าคูหาเจ้าปัญหาส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญอย่างไร


 


มีคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายร้อยคดี มีคดีฟ้องกันไปมาข้อหาหมิ่นประมาทหลายสิบคดี


 


แต่คดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายกฯ หรือรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลับมีอยู่ไม่กี่คดีตามเดิม


 


ฝ่ายพันธมิตรใช้อำนาจตุลาการจัดการปัญหาการเมือง แต่ยังคงละเลยอำนาจตุลาการในการตรวจสอบการกระทำความผิดของรัฐ


 


ขณะที่วงการตุลาการซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารเท่าใดนักจนถูกนักวิชาการด้านกฎหมายวิจารณ์และท้วงติงว่าระวังจะเผอเรอแสดงบทบาทเกินขอบเขตของตน


 


ตุลาการมีอำนาจสูง คำตัดสินถือเป็นสิ้นสุดทุกฝ่ายยังคงต้องยอมรับคำตัดสินของศาลด้วยเหตุนี้ อำนาจตุลาการทุกแห่งในโลกจึงถูกจำกัดอำนาจไว้อีกแบบ คือ มีอำนาจตัดสินตามคดีที่มีการฟ้องร้องกันขึ้นมาเท่านั้น


 


เกิดคำถามที่น่าพิจารณาว่าตุลาการมีหน้าที่จัดประชุมเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชนในฐานะอำนาจฝ่ายตุลาการหรือไม่และควรมีขอบเขตเพียงใด การแสดงความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งๆ ย่อมกระทำได้ แต่ในฐานะผู้ใช้อำนาจตุลาการควรมีหน้าที่วินิจฉัยคดีที่มาสู่ศาลเท่านั้นหรือไม่


 


ผู้ใดเห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิด กระทำความผิด ก็สมควรที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีเอากับรัฐบาลหรือนายกฯ ตุลาการใช้อำนาจตัดสินไปตามกฎหมายตามคดีที่มีขึ้นมา


 


ตุลาการไม่ควรออกมาแถลงความเห็นทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับคดีความในศาลใช่หรือไม่?


 


ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากในฝ่ายพันธมิตรกำลังฝากความหวังกับอำนาจตุลาการ แต่การแสดงออกของวงการตุลาการกลับมีผู้มองด้วยความห่วงใยว่ามีประสบการณ์เพียงพอหรือไม่กับบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร


 


มีแต่ขาดๆ กับเกินๆ หรือไม่??


 


ฝ่ายพันธมิตรก็ยังคงขาดความเคารพต่ออำนาจตุลาการเช่นเดิม เห็นเป็นแค่เครื่องมือเอาชนะคู่ต่อสู้ อาศัยศาลในการพันตูทางการเมือง แต่ยังคงมองไม่เห็นความสำคัญของอำนาจตุลาการในฐานะอำนาจต่างหากเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารตามกระบวนการประชาธิปไตยแบบปาลิเมนต์


 


ทั้งวงการตุลาการและสาธารณชนไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมฝ่ายตุลาการจึงไม่แสดงบทบาทด้วยการเร่งคดีที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอพระราชดำรัส?


 


ทั้งหมดนี้สะท้อนการพัฒนาของอำนาจตุลาการของไทย? และอำนาจตุลาการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามาแต่ต้น?


 


@ ปฏิรูปประชาธิปไตยไทยที่อำนาจตุลาการ


 


ผู้อ่านหลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าผู้เขียนเชียร์ทักษิณ


 


ภาวะแยกขั้ว มักทำให้คนที่เลือกข้างทั้งสองขั้วไม่สามารถเข้าใจอะไรได้โดยไม่ชี้ชัดว่าพวกเรา หรือพวกมัน


 


คนเหล่านี้เกลียดบุช แต่คิดไม่ต่างจากบุช


 


บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความห่วงใยเพียงประการเดียว


 


นั่นคือ เราไม่พึงต่อสู้กับการกระทำความผิดด้วยการทำผิดๆ หนักเข้าไปอีก


 


ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้ง (ครั้งแรกเมื่อกันยายน 2548 อีกครั้งเมื่อตุลาคม 2548) ว่าการต่อสู้กับรัฐซึ่งใช้อำนาจในทางที่ผิดไม่ควรใช้วิธีการผิดๆ


 


เพราะ ผิด+ไม่ถูก จะกลายเป็นถูกไปได้อย่างไรกัน


 


ผิด+ไม่ถูก = มั่ว คือการทำร้ายประชาธิปไตยซ้ำสอง


 


หลายเดือนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า การต่อสู้กับอำนาจที่ฉ้อฉลด้วยวิธีการผิดๆ ฉุดรั้งประชาธิปไตยจนอาการเพียบ จนการเมืองน่าเอือมระอา และคงอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัว


 


วิกฤตคราวนี้ช่วยให้เราเห็นปัญหาที่แฝงตัวอยู่เงียบๆ มานานหลายสิบปี


 


ทำอย่างไรจะให้อำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐฉ้อฉลได้ ถ้าไม่ได้ก็อย่าคาดหวังถึงการปฏิรูปการเมืองเลย


 


แต่การพัฒนาอำนาจตุลาการเป็นเรื่องใหญ่โตมาก กินความรวมทั้งศาลและกลไกอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม การจะพัฒนาให้มีความกล้าความสามารถตรวจสอบอำนาจบริหาร และให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้สะดวกคงต้องใช้เวลาไม่น้อยไปกว่าที่เราทุ่มเทลงไปกับการพัฒนาสภาและการเลือกตั้งที่ผ่านมา


 


และคงไม่ใช่แค่การพัฒนาอย่างราบๆ เรียบๆ ตามระบบราชการ แต่ต้องรวมถึงการต่อสู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของวงการตุลาการอย่างถึงราก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net